ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๘๐.

๑๐. อปัณณกสูตร
เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา
[๑๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงพราหมณคามนามว่าศาลา ของชนชาวโกศล. พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาได้ สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรผู้เจริญ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาใน โกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงบ้านศาลาแล้ว. ก็กิตติศัพท์อันงามแห่ง พระโคดมผู้เจริญนั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนี้ ย่อมเป็นความดี. ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวาย บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๑.

อปัณณกธรรม
[๑๐๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของท่านทั้งหลาย เป็นที่ให้ ท่านทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุ มีอยู่หรือ? พราหมณ์และคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็น ที่ชอบใจของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นที่ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุ หามีไม่. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทาน อปัณณกธรรมนี้แล้วประพฤติ ด้วยว่าอปัณณกธรรมที่ท่านทั้งหลายสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว จักเป็น ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลายสิ้นกาลนาน ดูกรพราหมณ์และคฤหบดี ทั้งหลาย ก็อปัณณกธรรมนั้นเป็นไฉน?
วาทะที่เป็นข้าศึกกัน
[๑๐๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบาก แห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลก ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การ บวงสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำชั่วทำดีมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี อุปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และ โลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว มีอยู่ในโลก ดูกรพราหมณ์และ คฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็น ข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๒.

[๑๐๖] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์สองพวกนั้น สมณ- *พราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลกดังนี้ เป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่าน สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็น อานิสงส์ในเนกขัมมะเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่า โลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าววาจาว่า โลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขากล่าวว่า โลกหน้าไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตน เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังผู้อื่นให้เข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้นเป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรมนั้นด้วย. เขาละคุณ คือ เป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะ แต่โทษ คือ ความเป็นคนทุศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการฉะนี้. อกุศลธรรมอันลามก เป็นอเนก เหล่านี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่น เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการ ฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
[๑๐๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้สวัสดีได้ ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ เป็นผู้อันวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๓.

เป็นบุรุษบุคคลทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท. ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษ บุคคลนี้ ปราชัยในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบัน ถูกวิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยประการฉะนี้. อปัณณกธรรมนี้ ที่ผู้นั้นถือไว้ชั่ว สมาทานชั่ว ย่อม แผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุแห่งกุศลเสีย ด้วยประการฉะนี้. [๑๐๘] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ- *พราหมณ์เหล่าใด มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง. แล้วประกาศ ให้รู้ทั่ว มีอยู่ในโลก สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรมทั้ง ๓ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จักสมาทานกุศลธรรมทั้ง ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม. ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้ามีอยู่ ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นชอบ. ก็โลกหน้ามีจริง เขาดำริว่า โลกหน้ามีจริง ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริชอบ. ก็โลกหน้า มีจริง เขากล่าวว่าโลกหน้ามีจริง วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ. ก็โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า โลกหน้ามีจริง ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกหน้า. ก็โลกหน้ามีจริง เขาให้ผู้อื่นเข้าใจว่า โลกหน้ามีจริง การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้น เป็นการให้ผู้อื่นเข้าใจโดย สัทธรรม และเขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยการที่ให้ผู้อื่นเข้าใจโดยสัทธรรมนั้นด้วย. เขาละ โทษ คือ ความเป็นคนทุศีล ตั้งไว้เฉพาะแต่คุณ คือ ความเป็นคนมีศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการ ฉะนี้. กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็น ข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่น เข้าใจโดยสัทธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่บุคคลถือไว้ดี
[๑๐๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๔.

จักเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์. อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลผู้นี้ ก็เป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลมีศีล มีสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาท ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความมีชัยในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบันวิญญูชนสรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ด้วยประการฉะนี้. อปัณณกธรรมที่ผู้นั้นถือไว้ดี สมาทานดีนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสอง ย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย ด้วยประการฉะนี้.
วาทะเป็นข้าศึกกัน
[๑๑๐] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือให้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ลัก ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการ ปล้นเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ แม้หากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็น กองเนื้อกองเดียวกัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปซึ่งมีการทำสัตว์ให้เป็นลานเนื้อ แห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึง ถึงแม้บุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เองหรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ตัดเองหรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเองหรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปซึ่งมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึง ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้าย แห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเองหรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเองหรือใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญอันมีการให้ทาน เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี บุญย่อมไม่มีมาถึง บุญย่อมไม่มี บุญย่อมไม่มาถึง เพราะการให้ เพราะการข่มใจ เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ตัดเองหรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเองหรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๕.

ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือให้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือให้ผู้อื่น ให้ทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือให้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือ ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ให้ผู้อื่นลักทรัพย์ ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการปล้นเรือน หลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็น อันทำ แม้หากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียว กัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปซึ่งมีการทำสัตว์ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง ถึงแม้บุคคลนั้นจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่น ให้ฆ่า ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปซึ่งมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญอันมีการให้ทานเป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง บุญย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง เพราะการให้ทาน เพราะการฝึกฝน เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกแก่กันและกันโดยตรงมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ความเห็นที่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๑] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ- *พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ตัดเอง หรือ ใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือให้ผู้อื่นให้เผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ผู้อื่น ให้ลัก ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการปล้นในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของ ผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ ถึงหากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียวกัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปซึ่งมีการทำสัตว์ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึง ถึงแม้บุคคล จะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๖.

เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปซึ่งมีการฆ่าสัตว์เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ไม่มี บาปมาถึง ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง หรือใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญอันมีการให้ทานเป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี บุญย่อมไม่มีมาถึง บุญย่อม ไม่มี บุญไม่มีมาถึง เพราะการให้ เพราะการข่มใจ เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์ ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขวาแห่ง กุศลธรรม. ก็ความทำมีอยู่ แต่ผู้นั้นมีความเห็นว่า ความทำไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็น ความเห็นผิด. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นดำริว่าความทำไม่มี ความดำริของเขานั้น เป็นความดำริผิด. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นกล่าววาจาว่าความทำไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นกล่าวว่าความทำไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้มีวาทะว่า กรรมที่บุคคล ทำอยู่ เป็นอันทำ. ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นให้บุคคลอื่นสำคัญผิดว่าความทำไม่มี การที่ให้ผู้อื่น สำคัญผิดของเขานั้น เป็นการให้ผู้อื่นสำคัญผิดโดยไม่ชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิด โดยไม่เป็นธรรมนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น. เขาละคุณคือความเป็นผู้มีศีล ตั้งไว้แต่โทษ คือ ความเป็นผู้ทุศีลขึ้นก่อนทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. ส่วนอกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ กิริยาที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิด โดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการ ฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
[๑๑๒] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าแลความทำไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้เป็นผู้มีความสวัสดีได้. ถ้าแลความทำมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๗.

ตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อนึ่ง ความทำอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์ เหล่านั้นจงเป็นคำจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบัน ว่า เป็นบุรุษบุคคลทุศีล มีความเห็นผิด มีวาทะว่า กรรมที่บุคคลทำอยู่ไม่เป็นอันทำ. ถ้าแล ความทำมีอยู่จริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความปราชัยในโลกทั้งสอง คือ ในปัจจุบัน วิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลถือไว้ชั่ว สมาทานชั่วอย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุแห่งกุศลเสีย.
ความเห็นที่ไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๓] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ- *พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง หรือใช้ผู้อื่น ให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ลำบาก ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์ ตัดช่อง ปล้นใหญ่ ทำการปล้นในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ บาปที่บุคคล ทำอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็นอันทำ แม้หากผู้ใดพึงทำสัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียวกัน ด้วยจักรมีคมโดยรอบเช่นคมมีดโกน บาปอันมีกรรมทำสัตว์ให้เป็น ลานเนื้อแห่งเดียวกันเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง แม้บุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ตัดเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตัด เผาผลาญเอง หรือใช้ผู้อื่นให้เผาผลาญ บาปอันมีการฆ่าสัตว์เป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บาปย่อมมีมาถึง ถ้าแม้บุคคลจะพึงไปยังฝั่งซ้าย แห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง หรือใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญอันมีการให้ ทานเป็นต้นเป็นเหตุ ย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง บุญย่อมมี บุญย่อมมีมาถึง เพราะการให้ เพราะ การข่มใจ เพราะความสำรวม เพราะกล่าวคำสัตย์ ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวัง ข้อนี้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จักสมาทาน กุศล ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๘.

เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม ย่อมเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขาว แห่งกุศลธรรม. ก็ความทำมีอยู่จริง และ เขามีความเห็นว่า ความทำมีอยู่ ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นชอบ ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้น ดำริว่า ความทำมีอยู่ ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริชอบ. ก็ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าว วาจาว่า ความทำมีอยู่ วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ. ก็ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่า ความทำ มีอยู่ ผู้นี้ย่อมไม่ทำตนให้เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้มีวาทะว่ากรรมที่บุคคลทำอยู่เป็นอันทำ. ก็ ความทำมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญว่าความทำมีอยู่ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญของเขานั้น เป็นกิริยา ที่ให้สำคัญโดยชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยชอบธรรมนั้น เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น. เขาละโทษคือความเป็นผู้ทุศีล ตั้งไว้แต่คุณ คือความเป็นผู้มีศีลก่อนทีเดียว ด้วย ประการฉะนี้. และกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ความไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้แล.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ดี
[๑๑๔] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษ ผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าแลความทำมีอยู่จริง ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึง สุคติ โลก สวรรค์. หากความทำอย่าได้มี คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง และ เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมเป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษ บุคคลมีศีล มีความเห็นชอบ มีวาทะว่า กรรมที่บุคคลทำอยู่เป็นอันทำ ดังนี้. ถ้าแลความทำมี อยู่จริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้อย่างนี้ เป็นความชนะในโลกทั้ง ๒ คือ ในปัจจุบัน วิญญูชนสรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์. อปัณณกธรรมที่บุคคลนั้นถือดี สมาทานดี อย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วน ๒ ย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย.
วาทะที่เป็นข้าศึกกัน
[๑๑๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๙.

ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง กำลังไม่มี ความเพียรไม่มี เรี่ยวแรงของ บุรุษไม่มี ความบากบั่นของบุรุษไม่มี สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร เป็นแต่แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และ ตามภาวะ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ ๑- เท่านั้น ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าว อย่างนี้ว่า เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย จึงเศร้าหมอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย จึงบริสุทธิ์ กำลังมีอยู่ ความเพียรมีอยู่ เรี่ยวแรงของบุรุษมีอยู่ ความบากบั่นของบุรุษมีอยู่ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง มีอำนาจ มีกำลัง มีความเพียร แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และตามภาวะ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ความเห็นที่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๖] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น สมณ- *พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มีเพื่อความเศร้าหมองของ สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง กำลังไม่มี ความเพียรไม่มี เรี่ยวแรงของบุรุษไม่มี ความบากบั่นของบุรุษไม่มี สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรปรวนไป โดยความแยก ความผสม และตามภาวะ ย่อมเสวยสุข และทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น @๑. อภิชาติ ๖ คือ กัณหาภิชาติ นีลาภิชาติ โลหิตาภิชาติ หลิททาภิชาติ สุกกาภิชาติ ปรมสุกกาภิชาติ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๐.

สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรม ฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม. ก็เหตุมีอยู่จริง แต่ผู้นั้นมีความเห็นว่า เหตุไม่มี ความเห็นของเขานั้น เป็นความเห็นผิด. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นดำริว่าเหตุไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริผิด. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าววาจาว่า เหตุไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นวาจาผิด. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่าเหตุไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้กล่าวเหตุ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญผิดว่าเหตุไม่มี การให้ผู้อื่นสำคัญของเขานั้น เป็นกิริยาที่ให้สำคัญโดยไม่ ชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยไม่ชอบธรรมนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น. เขาละคุณ คือความเป็นผู้มีศีล ตั้งไว้แต่โทษ คือความเป็นผู้ทุศีลขึ้นก่อนทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. อกุศลธรรมอันลามก เป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ความเป็น ข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะ มิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ชั่ว
[๑๑๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น บุรุษผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าแลว่าเหตุไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อนึ่ง หากเหตุอย่ามีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์นั้น จงเป็นคำจริง ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ อันวิญญูชนพึงติเตียนได้ในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลทุศีล มีความเห็นผิด มีวาทะว่าหาเหตุมิได้. ถ้าแลเหตุมีอยู่จริง ความยึดถือ ของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความปราชัยในโลกทั้งสอง คือ ในปัจจุบัน วิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นถือชั่ว สมาทานชั่ว อย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุแห่งกุศลเสีย.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๑.

ความเห็นที่ไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
[๑๑๘] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น สมณพราหมณ์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของ สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง กำลังมีอยู่ ความเพียรมีอยู่ เรี่ยวแรงของบุรุษมีอยู่ ความบากบั่นของบุรุษมีอยู่ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง มีอำนาจ มีกำลัง มีความเพียร แปรปรวนไปโดยความแยก ความผสม และตามภาวะ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จักสมาทานกุศลกรรม ๓ ประการนี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วประพฤติ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของอกุศลธรรม ย่อมเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขาว แห่งกุศลธรรม. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้น มีความเห็นว่า เหตุมี ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นชอบ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นดำริว่า เหตุมี ความดำริของเขานั้น เป็นความดำริชอบ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าววาจาว่า เหตุมี วาจาของเขานั้นเป็นวาจาชอบ. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นกล่าวว่า เหตุมี ผู้นี้ย่อมไม่ทำตนให้เป็นข้าศึก ต่อพระอรหันต์ผู้มีวาทะว่า เหตุมี. ก็เหตุมีอยู่จริง ผู้นั้นให้ผู้อื่นสำคัญว่า มีเหตุ การที่ให้ผู้อื่น สำคัญของเขานั้น เป็นการที่ให้สำคัญโดยชอบธรรม และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยชอบธรรม นั้น เขาย่อมไม่ยกตน ย่อมไม่ข่มผู้อื่น. เขาละโทษ คือความเป็นผู้ทุศีล ตั้งไว้เฉพาะแต่ความ เป็นผู้มีศีลก่อนทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ความไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การที่ให้ผู้อื่นสำคัญโดยชอบธรรม การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัยด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ถือไว้ดี
[๑๑๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น บุรุษผู้เป็น วิญญูย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๒.

จะเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์. ก็ถ้าเหตุอย่าได้มีจริง วาจาของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นจงเป็น คำสัตย์ ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมเป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล มีความเห็นชอบ มีวาทะว่ามีเหตุ. และถ้าเหตุมีอยู่จริง ความยึดถือของ ท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้ เป็นความชนะในโลกทั้งสอง คือ ในปัจจุบัน ย่อมเป็นผู้อันวิญญูชน สรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์. อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นยึดถือดี สมาทานดี อย่างนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วน ๒ ย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย.
วาทะว่าอรูปพรหมไม่มี
[๑๒๐] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมย่อมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ เป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์พวกนั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์ เหล่านี้มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์นั้น บุรุษผู้เป็นวิญญู ย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ข้อที่ว่าท่านสมณพราหมณ์มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่เห็น แม้ข้อที่ว่า ท่านสมณพราหมณ์ มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่รู้ ส่วนเราเองเล่า เมื่อไม่รู้ เมื่อไม่เห็น จะพึงถือเอาโดยส่วนเดียวแล้วกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ข้อนั้นพึงเป็นการสมควรแก่เราหามิได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็น อย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดา ที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะ มีได้ อนึ่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การตัวต่อตัว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๓.

การกล่าวส่อเสียดและมุสาวาท ซึ่งมีรูปเป็นเหตุ ย่อมปรากฏ แต่ข้อนี้ ย่อมไม่มี ในอรูปพรหม ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้. บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งรูปอย่างเดียว.
วาทะว่าความดับแห่งภพไม่มี
[๑๒๑] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ ไม่มีด้วยอาการทั้งปวง. สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น เขากล่าวอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ ด้วยอาการทั้งปวง. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้ มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกันมิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น บุรุษผู้เป็นวิญญู ย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ข้อที่ท่านสมณพราหมณ์มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความ ดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่เห็นแม้ข้อที่ท่านสมณพราหมณ์มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เราไม่รู้ ส่วนเราเองเล่า เมื่อไม่รู้ เมื่อไม่เห็น จะพึงถือเอาโดยส่วนเดียว แล้วกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ข้อนั้นพึงเป็นการสมควรแก่เราหามิได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มี ความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจัก เกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิดนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ อนึ่ง ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบันนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้. ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ ไม่มีด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบ สัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๔.

ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่ง ภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรม ประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้ ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติ เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งภพเท่านั้น.
บุคคล ๔ จำพวก
[๑๒๒] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและประกอบการขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวายใน การทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็น ผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว. [๑๒๓] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบ ความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อนเป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปาก กระเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๕.

ภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลัง ให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาใน ที่ที่เขาเลี้ยงสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๓ หลัง เยียวยา อัตภาพด้วยข้าว ๓ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๔ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๔ คำบ้าง รับภิกษา ที่เรือน ๕ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๕ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๖ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วย ข้าว ๖ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วย ภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๓ ใบบ้าง ๔ ใบบ้าง ๕ ใบบ้าง ๖ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กิน อาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตลอดกึ่งเดือนแม้เช่นนี้ ด้วยประการฉะนี้ เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าว เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีข้าวไหม้เป็น ภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภค ผลไม้หล่น เยียวยาอัตภาพ. เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผม และหนวด คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือ ห้ามอาสนะ เป็นผู้กระโหย่ง คือ ประกอบความเพียรในการกระโหย่ง (คือ เดินกระโหย่งเหยียบพื้นไม่เต็มเท้า บ้าง) เป็นผู้นอนบนหนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบการขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทำให้กายเดือดร้อน เร่าร้อนหลายอย่างเห็นปานนี้อยู่ ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๖.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าแพะเลี้ยงชีวิต ฆ่าสุกร เลี้ยงชีวิต ฆ่านกเลี้ยงชีวิต ฆ่าเนื้อเลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็น คนฆ่าโจร เป็นคนปกครองเรือนจำ หรือบุคคลเหล่าอื่นบางพวกเป็นผู้ทำการงานอันทารุณ ดูกร พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความ ขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้วก็ดี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็ดี พระราชาหรือพราหมณ์นั้นโปรดให้ทำโรงที่ บูชายัญขึ้นใหม่ทางด้านบูรพาแห่งพระนคร แล้วทรงจำเริญพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่ง หนังเสือทั้งเล็บ ทรงทาพระกายด้วยเนยใสและน้ำมันงา ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้า ไปยังโรงที่บูชายัญใหม่ พร้อมด้วยพระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นดินอันมิได้ ลาดด้วยเครื่องลาด ทาด้วยโคมัยสด น้ำนมในเต้าที่หนึ่ง แห่งโคแม่ลูกอ่อนตัวเดียวมีเท่าใด พระราชาทรงเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๒ มีเท่าใด พระมเหสีทรงเยียวยา อัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๓ มีเท่าใด พราหมณ์ปุโรหิตย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย น้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๔ มีเท่าใด ก็บูชาไฟด้วยน้ำนมเท่านั้น ลูกโคเยียวยาอัตภาพ ด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชาหรือพราหมณ์นั้นตรัสอย่างนี้ว่า เพื่อต้องการบูชายัญ จงฆ่าโค ผู้ประมาณเท่านี้ ลูกโคผู้ประมาณเท่านี้ ลูกโคเมียประมาณเท่านี้ แพะประมาณเท่านี้ แกะ ประมาณเท่านี้ ม้าประมาณเท่านี้ จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการทำเป็นเสายัญ จงเกี่ยว หญ้าประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการลาดพื้น ชนเหล่าใดที่เป็นทาสก็ดี เป็นคนใช้ก็ดี เป็นกรรมกร ก็ดี ของพระราชาหรือพราหมณ์นั้น ชนเหล่านั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๗.

ร้องไห้ทำการงานตามกำหนด ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็บุคคลไม่เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อนและไม่ประกอบ ความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและไม่ประกอบความขวนขวาย ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันทีเดียว เป็นไฉน? ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้ แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์แล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต. เขาบวชอย่างนี้แล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย ๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มี ความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๘.

๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่ เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่. ๓. ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน. ๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก. ๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตก ร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อม เพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้ คนพร้อมเพรียงกัน. ๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ. ๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิง อรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ ตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและรับเงิน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๙.

๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อและการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก. เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็น ภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง. ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่น ด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๐.

จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อ ว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้ เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน. ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง. ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติและสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้ แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ ไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากความเพ่งเล็ง ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความ เคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา. ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ อันทำปัญญาให้ทุรพลได้ แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่ วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปิติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๑.

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบ ชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วไม่มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอัน มาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของ สัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๒.

ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี. ดูกรพราหมณ์คฤหบดีทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบ ความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุขมีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว.
พราหมณ์และคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๑๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีและชาวบ้านศาลาทั้งหลาย ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ขอถึงท่าน พระโคดม พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ อปัณณกสูตร ที่ ๑๐.
จบ คหปติวรรค ที่ ๑.
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๓.

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กันทรกสูตร ๒. อัฏฐกนาครสูตร ๓. เสขปฏิปทาสูตร ๔. โปตลิยสูตร ๕. ชีวกสูตร ๖. อุปาลิวาทสูตร ๗. กุกกุโรวาทสูตร ๘. อภัยราชกุมารสูตร ๙. พหุเวทนิยสูตร ๑๐. อปัณณกสูตร
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๑๘๓๓-๒๓๘๒ หน้าที่ ๘๐-๑๐๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1833&Z=2382&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=10              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=103              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [103-124] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=13&item=103&items=22              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2181              The Pali Tipitaka in Roman :- [103-124] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=13&item=103&items=22              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2181              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i103-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.060.than.html https://suttacentral.net/mn60/en/sujato https://suttacentral.net/mn60/en/horner https://suttacentral.net/mn60/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :