ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
โยธาชีววรรคที่ ๔
[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ จึงเป็นผู้ควรแก่ พระราชา เป็นผู้ควรที่พระราชาใช้สอย ย่อมถึงซึ่งการนับว่าเป็นอังคาพยพของ พระราชาทีเดียว องค์ ๔ เป็นไฉน คือ นักรบในโลกนี้เป็นผู้ฉลาด ๑ เป็นผู้ยิง ได้ไกล ๑ เป็นผู้ยิงได้เร็ว ๑ ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่พระราชา เป็นผู้ควรที่ พระราชาใช้สอย ย่อมถึงการนับว่าเป็นอังคาพยพของพระราชาทีเดียว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อม เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉลาดในฐานะ ๑ เป็นผู้ยิงได้ไกล ๑ เป็นผู้ยิงได้เร็ว ๑ ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในฐานะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในฐานะอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ เป็นผู้ยิงได้ไกลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตาม ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งไกลและใกล้ รูปทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใด อย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็น อดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว หรือประณีต ทั้งไกลและใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยิงได้ไกลอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ยิงได้เร็วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความ เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับ ทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยิงได้เร็วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ภิกษุเป็นผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำลายกอง อวิชชาใหญ่เสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้อย่างนี้ แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควร ของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ [๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครๆ จะเป็นสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ที่จะรับรองธรรม ๔ ประการได้ ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือไม่มีใครๆ ... ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่ ไม่มีใครๆ ... ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้ ไม่มี ใครๆ ... ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตาย อนึ่ง ไม่มี ใครๆ ... ที่จะรับรองว่า วิบากแห่งกรรมอันลามก เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก มีชาติ ชราและมรณะต่อไป อย่าบังเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้หนึ่งผู้ใดในโลก ที่จะรับรองธรรม ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ผู้เป็น มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามี วาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนทราบ (ทางจมูก ลิ้น กาย) ว่า เราทราบอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้ง (ทางใจ) ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟัง ทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่ กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควร กล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมด ว่า ไม่ควรกล่าว ดูกรพราหมณ์ แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศล- *ธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว ดูกรพราหมณ์ เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ ฟังมาอันใด ... สิ่งที่ได้ทราบอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็น ปานนั้น ... สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟัง มาอันใด ... สิ่งที่ได้ทราบมาอันใด ... สิ่งที่รู้แจ้งอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น ... สิ่งที่ได้ทราบมาเห็น ปานนั้น ... สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก อาสนะแล้วหลีกไป ฯ [๑๘๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึง กันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตาย เป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ ดูกรพราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตาย เป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน บุคคลบางคน ในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตก อย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอัน เป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหล ดูกรพราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อม กลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความ กำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจาก ความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในกาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใด อย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไป ละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก...ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรค หนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำ ความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง ดูกรผู้เจริญ คติของคนไม่ได้ทำ ความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรม ที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีประมาณเท่าใด เราละไปแล้วย่อมไปสู่ คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก...ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตาย เป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามี ความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก ...ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความ สะดุ้งต่อความตาย ดูกรพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ ดูกรพราหมณ์ บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความ สะดุ้งต่อความตาย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจาก ความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใด อย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และ เราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูกรพราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็น- *ธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความ เร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อ เขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอัน เป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักนี้ไป เขาย่อม ไม่เศร้าโศก...ดูกรพราหมณ์ บุคคลแม้นี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อม ไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาป ไม่ได้ ทำกรรมที่หยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อ เขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ ได้ทำกรรมอันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคล ผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรม ดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้ว จักไปสู่คตินั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก...ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนั้นแล มีความ ตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มี ความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตก อย่างนี้ว่า เราไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระ สัทธรรม เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ ถึงความหลงใหล ดูกรพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อม ไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ดูกรพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ พราหมณ์ชานุโสณีได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของ- *พระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ [๑๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้ พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงมากด้วยกัน คือ ปริพาชก ชื่ออันนภาระ ชื่อวธระ ชื่อสกุลุทายี และปริพาชกผู้มีชื่อเสียงเหล่าอื่น อาศัย อยู่ในปริพาชการามริมฝั่งแม่น้ำสัปปินี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจาก ที่เร้นในเวลาเย็น แล้วเสด็จเข้าไปทางปริพาชการามริมฝั่งแม่น้ำสัปปินี สมัยนั้น แล ปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ว่า สัจจะ ของพราหมณ์แม้อย่างนี้ๆ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาปริพาชกเหล่า นั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามปริพาชกเหล่านั้น ว่า ดูกรปริพาชกทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่อง อะไรหนอ และท่านทั้งหลายกำลังนั่งสนทนาอะไรกันค้างอยู่ ปริพาชกเหล่านั้น กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายกำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ว่า สัจจะของพราหมณ์ แม้อย่างนี้ๆ ฯ พ. ดูกรปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้ อันเรา กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ๔ ประการเป็นไฉน คือ พราหมณ์ บางคนในโลกนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาไม่สำคัญตัวว่า เรา เป็นสมณะ เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เราเป็นผู้เสมอกับเขา เราเป็นผู้เลวกว่าเขา อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ เอ็นดูอนุเคราะห์เหล่าสัตว์นั้นแหละ ฯ อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า กามทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่ กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ ... อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อ คลายกำหนัด เพื่อดับกามทั้งหลายนั่นแหละ ฯ อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ภพทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อพราหมณ์กล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่ กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ ... อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัตินั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับภพทั้งหลายนั่นแหละ ฯ อีกประการหนึ่ง พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า เราย่อมไม่มีในอะไรๆ เราย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ อนึ่ง ใครๆ ย่อมไม่มีในอะไรๆ ความเป็นอะไรๆ ของใครๆ ย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆ ของเรา เมื่อเขากล่าว ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวจริง มิใช่กล่าวเท็จ และด้วยการกล่าวจริงนั้น เขาย่อมไม่ สำคัญตัวว่า เราเป็นสมณะ เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เราเป็นผู้เสมอเขา เราเป็นผู้เลวกว่าเขา อนึ่ง เขารู้ยิ่งสัจจะในความปฏิบัติ นั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ดำเนินปฏิปทาอันหาความกังวลมิได้ทีเดียว ดูกรปริพาชก ทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้แล อันเราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ฯ [๑๘๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอัน อะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอัน อะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้หรือ ฯ ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุ อำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว ฯ ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็น- *พหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร หนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ ฯ ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ...เวทัลละ ถ้า แม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ฯ พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้หรือ ฯ ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า นี้ทุกข์ และเห็นแจ้ง แทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขสมุทัย และ ได้เห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกข นิโรธ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วย ปัญญา ดูกรภิกษุ บุคคลเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลสอย่างนี้แล ฯ ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้เป็น- *บัณฑิตมีปัญญามาก ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ฯ พ. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอ ดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้หรือ ฯ ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ คิดเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียน ตนและผู้อื่น เมื่อคิด ย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตน และผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว ดูกรภิกษุ บุคคลเป็นบัณฑิต มีปัญญามากอย่างนี้แล ฯ [๑๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน- *กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหา อำมาตย์ของแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ- *พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันได้หรือหนอว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ พระผู้มี พระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันว่า ท่าน ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้เลย ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษได้หรือหนอว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นสัต- *บุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสจะพึงเป็นได้ ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษพึงรู้สัตบุรุษด้วยกันได้หรือหนอแลว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้สัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็น สัตบุรุษ ดังนี้ เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้ ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษพึงรู้อสัตบุรุษได้หรือหนอว่า ท่าน ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ พ. ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้ ฯ ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ ข้อที่พระโคดมตรัส ชอบแล้วว่า ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วย กันว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่ อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส ที่จะเป็นได้ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้ และข้อที่สัตบุรุษ จะพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ในบริษัทของโตเทยยพราหมณ์ พวกบริษัทกล่าวติเตียนผู้อื่นว่า พระเจ้าเอเฬยยะ ผู้ทรงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร เป็นพาล ทรงกระทำความเคารพอย่างยิ่ง เห็นปานนี้ คือ ทรงอภิวาท ทรงลุกรับ ทรงกระทำอัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร แม้ข้าราชบริพารของพระเจ้าเอเฬยยะเหล่านี้ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ และอัคคิเวสสะ ผู้เลื่อมใสยิ่งนักใน สมณรามบุตร ก็เป็นพาล และกระทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ อภิวาท ลุกรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร ส่วนโตเทยยพราหมณ์- *แนะนำบริษัทเหล่านั้นโดยนัยนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็น ไฉน พระเจ้าเอเฬยยะเป็นบัณฑิต ทรงสามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถ เล็งเห็นประโยชน์ ในกิจที่ควรทำและกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ ควรพูดอันยิ่ง พวกบริวารรับว่า เป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญ โตเทยยพราหมณ์ กล่าวต่อไปว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เพราะเหตุที่สมณรามบุตรเป็นผู้ฉลาดกว่า พระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่า ฉะนั้น พระเจ้า เอเฬยยะจึงทรงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร และทรงกระทำความเคารพอย่างยิ่ง เห็นปานนี้ คือ ทรงอภิวาท ทรงลุกรับ ทรงทำอัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร ท่านผู้เจริญทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้าราชบริพาร ของพระเจ้าเอเฬยยะ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ อัคคิเวสสะ เป็นผู้ฉลาดสามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็น ประโยชน์ ในกิจที่ควรทำและกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูด อันยิ่ง พวกบริวารรับว่าเป็นอย่างนั้นท่านผู้เจริญ โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า เพราะเหตุที่สมณรามบุตร เป็นบัณฑิตยิ่งกว่าข้าราชบริพารผู้เป็นบัณฑิตของพระเจ้า เอเฬยยะ เป็นผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ใน กิจที่ควรทำและกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูดอันยิ่ง ฉะนั้น พวกข้าราชบริพารของพระเจ้าเอเฬยยะ จึงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร และ กระทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ อภิวาท ลุกรับ อัญชลีกรรม และ สามีจิกรรม ในสมณรามบุตร ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา แล้ว ข้อที่พระโคดมผู้เจริญตรัสนั้นชอบแล้ว...ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอทูลลาไป ข้าพระองค์ทั้งหลายมีกิจมาก มีกรณียะมาก ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านจงรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ [๑๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิ อย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมดย่อมไม่อาจให้กุศลกรรม เกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน พระผู้ มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุปกะ ถ้าบุคคล กล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียน ผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียนไซร้ ดูกรอุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อม ไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูก ครหาติเตียน ฯ อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอผุดขึ้นเท่านั้นด้วยแห ใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอเอ่ยขึ้นเท่านั้น พระผู้มีพระภาค ก็ทรงจับด้วยบ่วงคือวาทะอันใหญ่ ฯ พ. ดูกรอุปกะ เราบัญญัติแล้วว่า นี้เป็นอกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า อกุศลนี้นั้นแล ควรละเสีย บท พยัญชนะ ธรรมเทศนา ของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ อกุศลนี้ควรละเสีย อนึ่ง เราบัญญัติไว้แล้วว่า นี้เป็นกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนา ของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เรา บัญญัติว่า กุศลนี้นั้นแลควรบำเพ็ญ บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตใน ข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า กุศลนี้ควรบำเพ็ญแม้เพราะเหตุนี้ ฯ ลำดับนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน มคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ครั้นแล้วได้กราบทูลการสนทนาปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาคทั้งหมดนั้น แก่พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร เมื่ออุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตรทรงกริ้ว ไม่ทรงพอพระทัย ได้ตรัสกะอุปกมัณฑิกาบุตรว่า เจ้าเด็ก ลูกชาวนาเกลือนี่อวดดี ปากกล้า บังอาจ จักสำคัญพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่าควรรุกราน เจ้าอุปกะจงหลีกไป จงพินาศ ฉัน อย่าได้เห็นเจ้าเลย ฯ [๑๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยกายก็มี ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยสติก็มี ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยจักษุก็มี ที่ควรกระทำให้ แจ้งด้วยปัญญาก็มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยกายเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิโมกข์ ๘ ควรกระทำให้แจ้งด้วยกาย ก็ธรรมที่ควรกระทำให้ แจ้งด้วยสติเป็นไฉน ปุพเพนิวาสควรกระทำให้แจ้งด้วยสติ ก็ธรรมที่ควรกระทำ ให้แจ้งด้วยจักษุเป็นไฉน การจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ควรกระทำให้แจ้ง ด้วยจักษุ ก็ธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาเป็นไฉน ความสิ้นอาสวะ ทั้งหลาย ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกระทำ ให้แจ้ง ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาท ของมิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งในวันอุโบสถ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นิ่งเงียบแล้ว ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บริษัทนี้เงียบ ปราศจากเสียงสนทนา บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทเช่นใดที่บุคคลหาได้ยาก แม้เพื่อจะเห็น ในโลก ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทเช่นใดเป็นผู้ ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ ก็เป็นเช่นนั้น แม้ของน้อยที่เขาให้ในบริษัทเช่นใด ย่อมเป็นของมาก ของมากที่เขา ให้ในบริษัทเช่นใด ย่อมเป็นของมากยิ่งกว่า ภิกษุสงฆ์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บริษัทนี้ก็ เป็นเช่นนั้น การไปเพื่อจะดูบริษัทเช่นใด แม้จะนับด้วยโยชน์ ถึงจะต้องเอาเสบียง ทางไปก็ควรภิกษุสงฆ์นี้ ก็เป็นเช่นนั้น ภิกษุสงฆ์นี้เห็นปานนั้น คือ ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นเทพก็มี ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นพรหมก็มี ภิกษุ ทั้งหลายที่ถึงชั้นอเนญชาก็มี ภิกษุทั้งหลายที่ถึงความเป็นอริยะก็มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุ จตุตถฌาน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นเทพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็ เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่ว สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็น ใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วย กรุณา...มีใจประกอบด้วยมุทิตา...มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบ ด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มี ความเบียดเบียนอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่า ถึงชั้นอเนญชา ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับสิ้นปฏิฆสัญญา เพราะไม่ มนสิการถึงนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่าอากาศ ไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญ- *จายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่าวิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อะไรๆ ไม่มี เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตน- *ฌาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้นอเนญชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความ จริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ ฯ
จบโยธาชีววรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๔๖๑๗-๔๙๙๐ หน้าที่ ๑๙๘-๒๑๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=4617&Z=4990&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=135              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=181              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [181-190] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=21&item=181&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=9280              The Pali Tipitaka in Roman :- [181-190] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=21&item=181&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=9280              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_21              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i181-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i181-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.181.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.183.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.184.than.html https://suttacentral.net/an4.181/en/sujato https://suttacentral.net/an4.181/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.182/en/sujato https://suttacentral.net/an4.183/en/sujato https://suttacentral.net/an4.183/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.184/en/sujato https://suttacentral.net/an4.184/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.185/en/sujato https://suttacentral.net/an4.186/en/sujato https://suttacentral.net/an4.187/en/sujato https://suttacentral.net/an4.188/en/sujato https://suttacentral.net/an4.189/en/sujato https://suttacentral.net/an4.190/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :