อุปาสกวรรคที่ ๓
๑. สารัชชสูตร
[๑๗๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มี-
*พระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มี-
*พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วย
ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้หยั่งลงสู่ความครั่นคร้าม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ เป็นผู้ลักทรัพย์ ๑ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๑
เป็นผู้กล่าวคำเท็จ ๑ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้หยั่ง
ลงสู่ความครั่นคร้าม ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้
แกล้วกล้า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑
เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน ๑ เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ๑ เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท ๑
เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. วิสารทสูตร
[๑๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม
เป็นผู้ไม่แกล้วกล้าครองเรือน ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่า-
*สัตว์ ฯลฯ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่แกล้วกล้า
ครองเรือน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีความ
แกล้วกล้าครองเรือน ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจาก
ปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าครองเรือน ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. นิรยสูตร
[๑๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือน
ถูกนำมาวางไว้ในนรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ
เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือนถูกนำมาวางไว้ในนรก ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกเชิญ
มาอยู่ในสวรรค์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณา-
*ติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ
ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือน
ถูกเชิญมาอยู่ในสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. เวรสูตร
[๑๗๔] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้ทุศีลด้วย
ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์
การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียก
ว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย ฯ
ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อม
เข้าถึงสุคติด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การดื่มน้ำเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕
ประการนี้แล เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้าถึงสุคติด้วย ฯ
ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบันทั้ง
ในสัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใดแม้ทางจิตเพราะเหตุฆ่าสัตว์ อุบาสกผู้
งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ
ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสนั้นแม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
ย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้ อุบาสกผู้ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดในกาม ...
พูดคำเท็จ ... ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประ-
*สบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใดแม้ทาง
จิต เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
อุบาสกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ ย่อมไม่เสวยทุกข-
*โทมนัสนั้นแม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา
และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้ ฯ
นรชนใดย่อมฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
คบชู้ภรรยาของผู้อื่น กล่าวคำเท็จ และประกอบการดื่มสุรา
เมรัยเนืองๆ นรชนนั้นไม่ละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียกว่า
เป็นผู้ทุศีล มีปัญญาทราม ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงนรก นรชน
ใดไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ไม่
คบชู้ภรรยาของผู้อื่น ไม่กล่าวคำเท็จ และไม่ประกอบการ
ดื่มสุราและเมรัย นรชนนั้นละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียก
ว่าเป็นผู้มีศีล มีปัญญา เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. จัณฑาลสูตร
[๑๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม
เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ เป็นผู้ทุศีล ๑ เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคล
ไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑ ทำการสนับสนุนในที่นอก
ศาสนานั้น ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็น
อุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม
ไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑ ทำการสนับสนุนใน
ศาสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็น
อุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. ปีติสูตร
[๑๗๖] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แวดล้อมด้วยอุบาสก
ประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ท่าน
ทั้งหลายได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัช-
*บริขาร ท่านทั้งหลายไม่ควรทำความยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า เราได้บำรุงภิกษุสงฆ์
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้นแหละ
ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเราพึงเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ตามกาล
อันสมควร ด้วยอุบายเช่นไร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว ตามที่
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านทั้งหลายได้บำรุงภิกษุสงฆ์
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้นแหละ
ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเราพึงเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ตามกาล
อันสมควร ด้วยอุบายเช่นไร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕
ประการ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น คือ สมัยนั้น ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วย
กาม ๑ สุข โสมนัสอันประกอบด้วยกาม ๑ ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วย
อกุศล ๑ สุข โสมนัสอันประกอบด้วยอกุศล ๑ ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วย
กุศล ๑ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อม
เข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการนี้ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวก
นั้น ฯ
พ. ดีละๆ สารีบุตร สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวก
อยู่ ... ดูกรสารีบุตร สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น
ฐานะ ๕ ประการนี้ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. วณิชชสูตร
[๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึง
กระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ การค้าขายศาตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การ
ค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. ราชสูตร
[๑๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละปาณาติบาต
งดเว้นจากปาณาติบาต พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำ
ตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาต ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า มิได้
เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็น มิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้
เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ
เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาต แต่ว่า
บาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิงหรือชายตาย
พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุ
แห่งปาณาติบาต ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรมเห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ
ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และ
จักได้ฟังต่อไป ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่าคนผู้นี้เป็นผู้ละอทินนาทาน
งดเว้นจากอทินนาทาน พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำ
ตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากอทินนาทาน ฯ
ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็น มิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้
เป็นผู้ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ
เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากอทินนาทาน แต่ว่า
บาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ลักทรัพย์เขามาจากบ้านหรือ
จากป่า พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย
เพราะเหตุแห่งอทินนาทาน ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรมเห็นปานนี้
บ้างหรือไม่ ฯ
ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และ
จักได้ฟังต่อไป ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละ
กาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ
เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯ
ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็น
ผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ
เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ละเมิดประเพณีในหญิง
หรือบุตรีของผู้อื่น พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตาม
ปัจจัย เพราะเหตุแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรม
เห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ
ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และ
จักได้ฟังต่อไป ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละมุสาวาท
งดเว้นจากมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตาม
ปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากมุสาวาท ฯ
ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็น
ผู้ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ
หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากมุสาวาท แต่ว่าบาปกรรมของ
เขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ทำลายประโยชน์ของคฤหบดี หรือบุตร
คฤหบดีด้วยมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำ
ตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งมุสาวาท ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรม
เห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ
ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และ
จักได้ฟังต่อไป ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละการดื่ม
น้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชาจับเขามาประหาร
จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากการการดื่ม
น้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯ
ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้
เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้น
จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชา
จับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการ
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่ว่า
บาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ประกอบการดื่มน้ำเมา คือ
สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แล้วฆ่าหญิงหรือชายตาย ลักทรัพย์
เขามาจากบ้านหรือจากป่า ละเมิดประเพณีในหญิงหรือบุตรีของผู้อื่น ทำลายประ-
*โยชน์ของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีด้วยมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร
จองจำ เนรเทศ กระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและ
เมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรม
เห็นปานนี้บ้างหรือไม่ ฯ
ภิ. พระเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และ
จักได้ฟังต่อไป ฯ
จบสูตรที่ ๘
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๔๗๒๕-๔๙๒๑ หน้าที่ ๒๐๖-๒๑๔.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=4725&Z=4921&pagebreak=0
ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=171
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=171
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-
[171-178] http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=22&item=171&items=8
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=1499
The Pali Tipitaka in Roman :-
[171-178] http://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=22&item=171&items=8
The Pali Atthakatha in Roman :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=1499
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒
http://84000.org/tipitaka/read/?index_22
อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :-
https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i171-e.php#
https://suttacentral.net/an5.171/en/sujato
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]