ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๑๐. นาคิตสูตร
[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่ออิจฉานังคละ ได้ ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้ บ้านพราหมณคาม ชื่ออิจฉานังคละ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จถึง บ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่อ อิจฉานังคละ ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น ขจรไป แล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๙.

ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์ เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรง ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น เป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีไป จึงพากันถือของเคี้ยว ของฉันเป็นจำนวนมาก เข้าไปทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ครั้นแล้ว ได้ยืน ชุมนุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอก ส่งเสียงอื้ออึง สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็น อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูกร นาคิตะ ก็พวกใครส่งเสียงอื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่าน พระนาคิตะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน อิจฉานังคละเหล่านั้น พากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมาก มายืนประชุม กันที่ซุ้มประตูด้านนอก เพื่อถวายพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฯ พ. ดูกรนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิด แต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความ ตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้น พึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะ และการ สรรเสริญ ฯ นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับ ขอ พระสุคตจงทรงรับ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะทรงรับ พระผู้มีพระภาค จักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหล ไปทางนั้นๆ เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉันใด พระผู้มีพระภาคจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศีลและปัญญาของ พระผู้มีพระภาค ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐.

พ. ดูกรนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตาม ความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่ เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความ ตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้น พึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะ และการ สรรเสริญ ดูกรนาคิตะ อาหาร ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมมีอุจจาระและ ปัสสาวะเป็นผล นี้เป็นผลแห่งอาหารนั้น ความรักมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่นเป็นผล นี้เป็น ผลแห่งความรักนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอสุภนิมิต ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้ขวน ขวายการประกอบตามอสุภนิมิต นี้เป็นผลแห่งการประกอบตามอสุภนิมิตนั้น ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงใน ผัสสายตนะ ๖ อยู่ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอุปาทาน ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความเกิด และ ความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นความเกิดและความดับใน อุปาทานขันธ์นั้น ฯ
จบปัญจังคิกวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คารวสูตรที่ ๑ ๒. คารวสูตรที่ ๒ ๓. อุปกิเลสสูตร ๔. ทุสสีลสูตร ๕. อนุคคหสูตร ๖. วิมุตติสูตร ๗. สมาธิสูตร ๘. อังคิก สูตร ๙. จังกมสูตร ๑๐. นาคิตสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๖๓๖-๖๙๕ หน้าที่ ๒๘-๓๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=636&Z=695&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=30              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=30              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [30] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=22&item=30&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=277              The Pali Tipitaka in Roman :- [30] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=22&item=30&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=277              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i021-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an05/an05.030.than.html https://suttacentral.net/an5.30/en/sujato https://suttacentral.net/an5.30/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :