ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๓. สีวิราชชาดก
ว่าด้วยการให้ดวงตาเป็นทาน
[๒๐๖๖] ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนชรา ไม่แลเห็นในที่ไกล มาเพื่อจะทูลขอ พระเนตร ข้าพระพุทธเจ้ามีตาข้างเดียว ข้าพระพุทธเจ้าทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า เถิด. [๒๐๖๗] ดูกรวณิพก ใครเป็นผู้แนะนำท่านจึงมาขอดวงตาฉัน ณ ที่นี้ บัณฑิต ทั้งหลายกล่าวดวงตาใดว่า ยากที่บุรุษจะสละได้ ท่านมาขอดวงตานั้น อันเป็นอวัยวะเบื้องสูง ยากที่เราจะสละได้ง่ายๆ. [๒๐๖๘] ในเทวโลก เขาเรียกท่านผู้ใดว่า สุชัมบดี ในมนุษยโลก เขาเรียกท่าน ผู้นั้นว่า มฆวา ข้าพระพุทธเจ้าเป็นวณิพก ท่านผู้นั้นแนะนำให้มา ขอพระเนตร ณ ที่นี้. ข้าพระพุทธเจ้าเป็นวณิพก การขอของข้าพระ- พุทธเจ้าไม่มีสิ่งใดยิ่งไปกว่า ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระเนตร แก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้มาขอเถิด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ดวงตาใดยาก ที่บุรุษจะสละได้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานดวงเนตรนั้นที่ไม่มีสิ่ง อื่นจะยิ่งกว่าแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด. ท่านมาด้วยประโยชน์อันใด ปรารถนาประโยชน์สิ่งใด ความดำริ เหล่านั้นเพื่อประโยชน์นั้นๆ ของท่านจงสำเร็จเถิด ดูกรพราหมณ์ ท่านจงได้ดวงตาเถิด. เมื่อท่านขอข้างเดียว เราจะให้ทั้งสองข้าง ขอท่านนั้นจงเป็นผู้มีนัยน์ตาไปเถิด ท่านปรารถนาสิ่งใดจากเราผู้มุ่งหมาย ขอสิ่งนั้นจงสำเร็จแก่ท่านเถิด. [๒๐๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์อย่าทรงพระราชทานดวงพระเนตรเลย อย่าทรงทอดทิ้งข้าพระ- พุทธเจ้าทั้งปวงเลย ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พระราชทาน ทรัพย์เถิด แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ มีเป็นอันมาก ข้าแต่พระ- มหาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์จะพระราชทานรถ ทั้งหลายที่เทียมแล้วม้าอาชาไนย ช้างตัวประเสริฐที่ตบแต่งแล้ว ที่อยู่ และเครื่องบริโภคที่ทำด้วยทองคำเถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอ พระองค์ทรงพระราชทานเหมือนกับชาวสีพีทั้งปวง ที่มีเครื่องใช้สอย สีรถ แวดล้อมพระองค์อยู่โดยรอบทุกเมื่อ ฉะนั้นเถิด. [๒๐๗๐] ผู้ใดแลพูดว่าจักให้ แล้วมากลับใจว่าไม่ให้ ผู้นั้นเหมือนกับสวมบ่วง ที่ตกลงยังพื้นดินไว้ที่คอ. ผู้ใดแล พูดว่าจักให้ แล้วมากลับใจว่าไม่ให้ ผู้นั้นเป็นคนลามกกว่าผู้ที่ลามก ทั้งจะต้องเข้าถึงสถานที่ลงอาชญาของ พญายม. ความจริงผู้ขอได้ขอสิ่งใดไว้ ผู้ให้ก็ควรจะให้สิ่งนั้นแหละ ผู้ขอยังไม่ได้ขอสิ่งใดไว้ ผู้ให้ก็อย่าพึงให้สิ่งนั้น พราหมณ์ได้ขอ สิ่งใดไว้กะเรา เราก็จักให้สิ่งนั้นนั่นแหละ. [๒๐๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ทรงปรารถนาพระชนมายุ วรรณะ สุขะ และพละอะไรหรือ จึงทรงพระราชทานพระเนตร พระองค์ทรงเป็นราชาแห่งชาวสีพี ไม่มีใครจะประเสริฐยิ่งไปกว่า ทรง พระราชทานพระเนตร เพราะเหตุปรโลกหรืออย่างไร? [๒๐๗๒] เราให้ดวงตาเป็นทานนั้น เพราะยศก็หาไม่ เราจะได้ปรารถนาบุตร ทรัพย์หรือแว่นแคว้น เพราะผลแห่งการให้ดวงตานี้ก็หาไม่ อีก ประการหนึ่ง ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ท่านได้ประพฤติกันมาแล้ว แต่โบราณ เพราะเหตุนี้แหละ ใจของเราจึงยินดีในทาน. [๒๐๗๓] ดวงตาทั้ง ๒ ข้างจะได้เป็นที่เกลียดชังของเราก็หาไม่ ตนของตนเอง ก็หาได้เป็นที่เกลียดชังของเราไม่ พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้ดวงตา. [๒๐๗๔] ดูกรนายสีวิกะ ท่านเป็นมิตรสหายของเรา ท่านเป็นคนศึกษามาดีแล้ว จงกระทำตามถ้อยคำของเราให้ดี จงควักดวงตาทั้ง ๒ ของเราผู้ปรารถนา อยู่แล้ววางลง ในมือของพราหมณ์วณิพกเถิด. [๒๐๗๕] พระเจ้าสีวิราชทรงเตือนให้หมอสีวิกะกระทำตามพระราชดำรัสแล้ว หมอ สีวิกะควักดวงพระเนตรของพระราชาส่งให้แก่พราหมณ์ พราหมณ์เป็น ผู้มีจักษุ พระราชาเป็นคนตาบอดเสด็จเข้าที่ประทับ. [๒๐๗๖] ตั้งแต่นั้นมาสองสามวัน เมื่อพระเนตรทั้ง ๒ มีเนื้องอกขึ้นเต็มแล้ว พระราชาผู้บำรุงสีพีรัฐ จึงตรัสเรียกนายสารถีผู้เฝ้าอยู่นั้นว่า ดูกรนายสารถี ท่านจงเทียมยานเถิด เสร็จแล้วจงบอกให้เราทราบ เราจะไปยังอุทยาน จะไปยังสระโบกขรณี และราวป่า. พอพระเจ้าสีวิราชเข้าไปประทับขัด สมาธิริมขอบสระโบกขรณีแล้ว ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราชก็ปรากฏแก่ พระเจ้าสีวิราชนั้น. [๒๐๗๗] หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมแห่งเทพ มาในสำนักของพระองค์แล้ว ข้าแต่พระราชฤาษี ขอพระองค์จงเลือกเอาพรตามที่พระทัยปรารถนาเถิด. [๒๐๗๘] ข้าแต่ท้าวสักกะ ทรัพย์ กำลังของหม่อมฉันมีพอแล้ว อนึ่ง คลังของ หม่อมฉันก็มีเป็นอันมาก บัดนี้ หม่อมฉันเป็นคนตาบอด พอใจ ความตายเท่านั้น. [๒๐๗๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ผู้เป็นใหญ่กว่าสัตว์สองเท้า พระองค์จง ตรัสถ้อยคำที่เป็นสัจจะ เมื่อพระองค์ตรัสแต่ถ้อยคำที่เป็นสัจจะ พระ- เนตรจักเกิดขึ้นอีก. [๒๐๘๐] บรรดาวณิพกทั้งหลายผู้มีโคตรต่างๆ กัน มาขอหม่อมฉัน แม้วณิพกใด มาขอหม่อมฉัน แม้วณิพกนั้นก็เป็นที่รักแห่งใจของหม่อมฉัน ด้วยการ กล่าวคำสัตย์นี้ ขอจักษุจงบังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันเถิด. [๒๐๘๑] พราหมณ์ผู้ใด มาขอหม่อมฉันว่า ขอจงพระราชทานพระเนตรเถิด หม่อมฉันได้ให้ดวงตาทั้งสองแก่พราหมณ์ผู้นั้นซึ่งเป็นวณิพก. ปีติและ โสมนัสเป็นอันมากเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันยิ่งนัก ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอจักษุจงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันเถิด. [๒๐๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงสีพีรัฐ พระองค์ตรัสพระคาถาแล้วโดยธรรม พระเนตรทั้งสองของพระองค์ จะปรากฏเป็นตาทิพย์เห็นได้ทะลุภาย นอกฝา ภายนอกกำแพง และภูเขาตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ. [๒๐๘๓] ใครหนอในโลกนี้ ถูกขอทรัพย์อันน่าปลื้มใจแล้ว แม้จะเป็นของ พิเศษ แม้จะเป็นของที่รักอย่างดีของตน จะไม่พึงให้ ฉันขอตักเตือน ท่านทั้งหลายผู้เป็นชาวสีพีรัฐทุกๆ คนที่มาประชุมกัน จงดูดวงตาทั้งสอง อันเป็นทิพย์ของเราในวันนี้. ตาทิพย์ของเราเห็นได้ทะลุภายนอกฝา ภายนอกกำแพง และภูเขาตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ. ในโลกที่เป็นอยู่ ของสัตว์ทั้งหลายนี้ ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่าการบริจาคทาน เราได้ให้ จักษุที่เป็นของมนุษย์แล้ว เราได้จักษุทิพย์. ดูกรชาวสีพีรัฐทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นจักษุทิพย์ที่เราได้นี้แล้ว จงให้ทานเสียก่อนจึงค่อย บริโภคเถิด ท่านทั้งหลายได้ ให้ทานตามสติกำลังและได้บริโภคทานแล้ว ไม่มีใครติเตียนได้ ย่อมเข้าถึงสัคคสถาน.
จบ สีวิราชชาดกที่ ๓.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๘๑๕๖-๘๒๔๓ หน้าที่ ๓๖๑-๓๖๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=8156&Z=8243&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=499              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2066              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [2066-2083] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=27&item=2066&items=18              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=738              The Pali Tipitaka in Roman :- [2066-2083] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=27&item=2066&items=18              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=738              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja499/en/rouse

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :