ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
เหมกเถราปทานที่ ๗ (๔๐๗)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๔๐๙] ในกาลนั้น เราเป็นดาบสชื่ออโนมะ ทำอาศรมอย่างสวยงาม ไว้ใกล้ยอด เงื้อมเขา อยู่ในบรรณศาลา กรรมคือตบะของเรานั้นสำเร็จแล้ว เราถึง ความสำเร็จในกำลังของตน กล้าหาญในสามัญของตน มีความเพียร มี ปัญญา เป็นมุนี แกล้วกล้าในลัทธิสมัยของตน ฉลาดในการโต้ตอบ ไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ ฉลาดในลางร้ายดี ปราศจากความ เศร้าโศก ไม่แข่งดี มีอาหารน้อย ไม่โลภจัด ยินดีด้วยลาภ และความ เสื่อมลาภมีปกติเพ่ง ยินดีในฌาน เป็นมุนี ในกาลนั้น พระสัมพุทธเจ้า พระนามว่าปิยทัสสี ผู้เลิศ มีพระกรุณา เป็นมุนี พระองค์ทรงประสงค์ จะขนสัตว์ให้ข้าม จึงทรงแผ่พระกรุณาไป พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ทรงพิจารณาเห็นคนผู้ควรตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประทานโอวาทในพันแห่ง จักรวาฬ พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยเหลือเรา จึงเสด็จเข้ามาสู่อาศรมเรา พระชินเจ้าเราไม่เคยเห็นมาก่อนและไม่เคยได้ฟังมาแต่ใครๆ แม้แต่การฝัน เห็นก็ไม่เคยเกิดแก่เรา แต่ลักษณะทั้งหลายเรารู้ดี เราไปได้ทั้งบนพื้นดิน และในอากาศ ฉลาดในบทนักษัตร เรานั้นได้ฟังข่าวพระพุทธเจ้าแล้ว ยัง จิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ จะยืนหรือนั่งอยู่ก็ตาม ย่อมระลึกถึงเป็น นิตยกาล เมื่อเราระลึกอยู่อย่างนี้ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงระลึกถึง เมื่อ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ปีติย่อมมีแก่เราทุกขณะ พระมหามุนีทรงรอเวลา อีกหน่อยแล้ว จึงเสด็จเข้ามาหาเรา แม้เมื่อพระองค์เสด็จถึง เราก็ไม่รู้ว่า ผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้ามหามุนี พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสีผู้สงเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณาทรงยังตน (เรา) ให้ทราบว่า เราเป็นพระพุทธเจ้า ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ครั้นเรารู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี ผู้มหามุนีแล้ว ยังจิตของตนให้เลื่อมใส ได้กราบทูลดังนี้ว่า ขอ ภิกษุทั้งปวงจงนั่งบนตั่ง บนบัลลังก์ และบนอาสันทิ ส่วนพระองค์ผู้มี พระกรุณาในสัตว์ทั้งปวง เชิญประทับบนอาสนะทอง ในขณะนั้น เรา นิรมิตตั่งอันสำเร็จด้วยแก้วล้วนๆ แล้ว นิรมิตอาสนะด้วยฤทธิถวายแด่ พระมุนีพระนามว่าปิยทัสสี เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนตั่งแก้วที่เรา นิรมิตด้วยฤทธิแล้ว เราได้ถวายผลหว้าโต ประมาณเท่าหม้อข้าวทันที พระมหามุนีทรงยังความยินดี ให้เกิดแก่เราแล้ว เสวยผลหว้าในกาลนั้น เรายังจิตให้เลื่อมใสแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ก็พระผู้มีพระภาคพระนาม ว่าปิยทัสสี เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ ประทับนั่งอยู่บนอาสนะ แก้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใด ได้ถวายตั่งแก้วและผลหว้าแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ใน เทวโลกตลอด ๗๗ กัลป จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้ง จักได้เป็น เทวดาเสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๓๒ ครั้ง จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอัน ไพบูลย์โดยคณานับมิได้ จักได้บัลลังก์ทองคำ และบัลลังก์อันงาม บัลลังก์ แก้วทับทิม และบัลลังก์รัตนะ เป็นอันมาก ที่ทำอย่างสวยงาม บัลลังก์ มากมายอันเป็นที่ชอบใจจักแวดล้อมผู้นี้ ผู้พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม แม้ เดินอยู่ ทุกเมื่อ ปราสาทอันเป็นเรือนยอดและที่นอนอันควรค่ามาก ดัง จะรู้จิตของผู้นี้ จักบังเกิดขึ้นทุกเมื่อ ช้างพลาย ๖ หมื่น ประดับด้วย เครื่องอลังการทั้งปวง มีสายประคนพานหน้าและพานหลัง แล้วด้วยทอง ประกอบด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายล้วนเป็นทอง อันควาญช้างผู้ถือ หอกซัดและขอขึ้นอยู่บนคอ ช้างเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้ นี้เป็นผลแห่งการ ถวายตั่งแก้ว ม้าสินธพอาชาไนยโดยกำเนิด ๖ หมื่นม้า เป็นพาหนะวิ่งเร็ว อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันหมอม้ามีมือถือธนูสวมเกราะหนัง ขึ้นขี่อยู่ ม้าเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว รถ ๖ หมื่น อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองบ้าง หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งบ้าง สอดใส่เครื่องรบ ปักธงหน้ารถ อันนายสารถี มีมือถือธนูสวมเกราะขึ้นประจำรถอยู่ จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็น ผลแห่งการถวายตั่งแก้ว แม่โคนมและโคผู้ตัวงาม ๖ หมื่นตัว จักยังลูกโค ให้เกิด นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว หญิง ๑๖๐๐๐ คน อันประดับ ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร ประดับประดาด้วยมณี และกุณฑล มีหน้าเบิกบาน ยิ้มแย้ม ตะโพกผึ่งผาย เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว ในกัลปที่ ๑๘๐๐๐ จักมีพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมผู้มีจักษุ กำจัดความมืดมน อันธการในโลก ผู้นี้อาศัยการได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักตัดความ กังวลออกบวช จักยังพระศาสดาให้โปรดปรานแล้ว ยินดียิ่งอยู่ในศาสนา ได้ฟังธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว จักเผากิเลสทั้งหลาย จัก กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะนิพพาน ความเพียรของเรา เป็นเครื่องนำไปซึ่งธุระ นำมาซึ่งความเกษมจากโยคะ เราปรารถนาประโยชน์ อันสูงสุด อยู่ในพระศาสนา ภพนี้เป็นภพที่สุดของเรา ภพสุดท้ายย่อม เป็นไป เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่อง ผูกดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่เราได้มาในสำนัก พระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้วโดย ลำดับ พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำ เสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระเหมกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เหมกเถราปทาน.
จบ ภาณวารที่ ๑๘.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๙๑๙๖-๙๒๖๖ หน้าที่ ๔๑๕-๔๑๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=9196&Z=9266&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=32&siri=409              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=409              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [409] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=32&item=409&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5446              The Pali Tipitaka in Roman :- [409] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=32&item=409&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5446              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap409/en/walters

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :