ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้จีวรที่ไม่ตัด
[๑๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ใช้จีวรที่ย้อมน้ำฝาด มีสีเหมือนงาช้าง ประชาชนจึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวร ที่มิได้ตัด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญชาให้แต่งจีวร
[๑๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นใน ระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัด กันไป ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดิน ขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยมพูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนา สั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่? อา. เห็นตามพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า. ภ. เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่? อา. สามารถ พระพุทธเจ้าข้า. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระ- *พุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสสรรเสริญท่านพระอานนท์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ ได้ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อ อัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อ อนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้ จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด.
เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล
[๑๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครเวสาลี พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลระหว่าง พระนครราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูป หอบผ้า พะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอว เดินมาอยู่ ครั้นแล้ว ได้ทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่าน ระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ เขตพระนครเวสาลีนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงผ้าจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตอน กลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สอง ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวร ผืนที่สาม ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่ง ราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึง ทรงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราพึงอนุญาตผ้าสามผืน.
พระพุทธานุญาตไตรจีวร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลในระหว่างพระนคร ราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุหลายรูปในธรรมวินัยนี้ หอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอว เดินมาอยู่ ครั้นแล้วเราได้ดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก ไฉนหนอเราจะ พึงกั้นเขตตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราครองผ้าผืนเดียว นั่งอยู่กลางแจ้ง ณ ตำบลนี้ตอนกลางคืน ขณะ น้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับระหว่างเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่ สอง ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวได้มีแก่เรา เราจึง ห่มจีวรผืนที่สาม ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรี อันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาว มิได้มีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อ ความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอ เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้า แก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว.
พระพุทธบัญญัติอดิเรกจีวร
[๑๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไตรจีวร จึงใช้จีวรสำรับหนึ่งสำหรับเข้าบ้าน สำรับหนึ่งสำหรับอยู่ในอาราม สำรับหนึ่งสำหรับลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ทรง อดิเรกจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร รูปใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ และท่านประสงค์จะถวายจีวรนั้น แด่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต จึงท่านพระอานนท์ได้มีความปริวิตก ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร ก็อดิเรกจีวรนี้บังเกิดแก่เรา และเราก็ใคร่จะถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ถึงเมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติ อย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อานนท์ ยังอีกนานเท่าไร สารีบุตรจึงจะกลับมา? ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ยังอีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน พระพุทธเจ้าข้า. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.
พระพุทธานุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร
สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พวกเราจะพึงปฏิบัติในอดิเรกจีวรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร.
พระพุทธานุญาตผ้าปะเป็นต้น
[๑๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ พระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนคร พาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีนั้น สมัยนั้น ผ้าอันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ และท่านได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว ก็ผ้าอันตรวาสกของเรานี้ขาดทะลุ ไฉนหนอ เราพึงดามผ้าปะ โดยรอบจักเป็นสองชั้น ตรง กลางจักเป็นชั้นเดียว ดังนี้แล้ว ดามผ้าปะทันที พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปตาม เสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังดามผ้าปะ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุนั้น ได้ ตรัสถามว่า เธอกำลังทำอะไร ภิกษุ? ภิ. กำลังปะผ้า พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดีละ ดีละ ภิกษุ เป็นการชอบแท้ ภิกษุ ที่เธอดามผ้าปะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิด นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าใหม่มีกับปะใหม่ ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ ๒ ชั้น อันตรวาสก ๒ ชั้น สำหรับผ้าที่เก็บไว้ล่วงฤดู พึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลจนพอต้องการ หรือทำอุตสาหะในผ้าที่ตกจากร้านตลาด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้มั่น.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๘๙๙-๔๐๐๔ หน้าที่ ๑๕๙-๑๖๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=3899&Z=4004&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=38              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=148              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [148-152] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=148&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4867              The Pali Tipitaka in Roman :- [148-152] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=148&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4867              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:11.2.11 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#Kd.8.12.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :