ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
รับภิกษุผู้ถูกยกเข้าหมู่
[๒๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น พิจารณาถึงธรรมและวินัยอยู่ ได้สำนึกข้อนี้ว่า นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ครั้นแล้วเข้าไปหาภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยก แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุ พวกนั้นว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิดท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ. ลำดับนั้น ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น พาภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น เข้าไปใน พุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ถูกยกรูปนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติ หามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิด ท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ ดังนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุนั่นไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้ว ภิกษุนั่นไม่ถูกยก

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๗๔.

หามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ เพราะภิกษุนั้นต้องอาบัติ ถูกยกแล้ว และเห็นอาบัติ ฉะนั้น พวกเธอจงรับภิกษุนั้นเข้าหมู่ จึงภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น รับภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้นเข้าหมู่แล้ว เข้าไป หาภิกษุพวกยกถึงที่อยู่ ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความ ทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้น ต้องอาบัติ แล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติ และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับ เรื่องนั้น. จึงภิกษุพวกยกเหล่านั้น เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้ว เพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติ แล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น ดังนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า?
พระพุทธานุญาตให้ทำสังฆสามัคคี
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้วถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เข้ารับหมู่แล้ว ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น.
วิธีทำสังฆสามัคคี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสังฆสามัคคีพึงทำอย่างนี้ คือภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่อาพาธ ทั้งที่ ไม่อาพาธ พึงประชุมพร้อมกันทุกๆ รูป รูปไหนจะให้ฉันทะไม่ได้ ครั้นประชุมกันแล้ว ภิกษุ ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาทำสังฆสามัคคี
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๗๕.

เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำ สังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น การทำ สังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้นแล้ว ความแตกแห่งสงฆ์ ถูกกำจัดแล้ว ความ ร้าวรานแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การถือต่างกันแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ถูกกำจัดแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ ไว้ด้วยอย่างนี้. สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ ในขณะนั้นเทียว.
สังฆสามัคคี ๒ อย่าง
[๒๕๙] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลี เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มี- *พระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธ- *เจ้าข้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไป ถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนั้น ไม่เป็นธรรม. อุ. พระพุทธเจ้าข้า ก็ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท แห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกัน แห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้นสาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำ สังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๗๖.

พ. อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นเป็นธรรม. อ. สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้า? พ. อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ ๑ สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ ๑ ๑. อุบาลี สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะเป็นไฉนเล่า? ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ. ๒. อุบาลี สังฆสามัคคี ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะเป็นไฉนเล่า? ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่า สังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถ ได้ทั้งพยัญชนะ อุบาลี สังฆสามัคคี ๒ อย่างนี้แล. ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสน์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ว่าดังนี้:-
อุบาลีคาถา
[๒๖๐] อุ. เมื่อกิจของสงฆ์ การปรึกษาวินัย การตีความ วินัย และการวินิจฉัยความแห่งวินัยเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นคนชนิดไร จึงมีอุปการะมาก เป็นคน ชนิดไร จึงควรยกย่อง ในพระธรรมวินัยนี้ พ. เบื้องต้น ภิกษุไม่ถูกตำหนิโดยศีล หมั่นตรวจตรา มารยาท และสำรวมอินทรีย์เรียบร้อย ศัตรูติเตียนไม่ได้ โดยธรรม เพราะเธอไม่มีความผิดที่ฝ่ายศัตรูจะพึงกล่าวถึง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๗๗.

เธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในศีลวิสุทธิ เป็นผู้แกล้วกล้า พูด จาฉาดฉาน เข้าที่ประชุมไม่สะดุ้ง ไม่ประหม่า กล่าว ถ้อยคำมีเหตุ ไม่ให้เสียความ ถึงถูกถามปัญหาในที่ประชุม ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่นิ่งอั้น ไม่เก้อ เธอเป็นผู้ เชี่ยวชาญ กล่าวถ้อยคำถูกกาล เหมาะแก่การพยากรณ์ ย่อมยังหมู่วิญญูชนให้พอใจ มีความเคารพในภิกษุทั้งหลาย ที่แก่พรรษากว่า เป็นผู้แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน สามารถเพื่อจะวิจารณ์ ชำนาญในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว ฉลาด จับข้อพิรุธของฝ่ายศัตรู เป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูถึงความถูก ปราบ และมหาชนก็ยินยอม อนึ่ง ภิกษุนี้ย่อมไม่ลบล้าง ลัทธิเป็นที่เชื่อถือ คืออาจริยวาทของตน แก้ปัญหาได้ ไม่ติดขัด สามารถในหน้าที่ทูต และยอมรับทำกิจของสงฆ์ ดุจรับบิณฑบาตของที่เขานำมาบูชาฉะนั้น ถูกคณะภิกษุส่ง ไปให้ทำหน้าที่เจรจา ก็ไม่ทะนงตัวว่า ตนทำได้ เพราะ การทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณ เท่าใด และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์ ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ในวิธีการออกจากอาบัติ อนึ่ง ภิกษุทำกรรมมีก่อความ บาดหมางเป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออก และถูกขับ ออก ด้วยเรื่องเช่นใด เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจ วิธีการรับเข้าหมู่ แม้นั้น ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตร นั้นเสร็จแล้ว มีความเคารพในพระผู้เจริญกว่า คือที่เป็น ผู้ใหญ่ ปานกลาง และผู้ใหม่ เป็นบัณฑิต ประพฤติ ประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้ ภิกษุผู้เช่นนั้นนั่น จึงควร ยกย่องในธรรมวินัยนี้แล.
โกสัมพิขันธกะ ที่ ๑๐ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๖๖๓๒-๖๗๕๕ หน้าที่ ๒๗๓-๒๗๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=6632&Z=6755&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=65              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=258              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [258-260] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=258&items=3              The Pali Tipitaka in Roman :- [258-260] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=258&items=3              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/brahmali#pli-tv-kd10:5.11.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/horner-brahmali#BD.4.509

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :