บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
อัตตาทานวรรคที่ ๕ หน้าที่ของโจทก์ [๑๑๘๓] อุ. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้ว โจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น. ธรรม ๕ อย่าง อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีความ ประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราเป็นผู้ประกอบด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวนหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นผู้ประกอบ ด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวน จะมีผู้ว่ากล่าวต่อเธอว่า เชิญท่าน ศึกษาความประพฤติทางกายก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ๒. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราเป็น ผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราเป็นผู้ประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวนหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นผู้ประกอบด้วย ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวน จะมีผู้ว่ากล่าวต่อเธอว่า เชิญทาน ศึกษาความประพฤติทางวาจาก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ๓. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เมตตาจิต ไม่มีอาฆาต เราเข้าไปตั้งไว้แล้วในหมู่เพื่อนสพรหมจารีหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ได้เข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่มีอาฆาตในหมู่เพื่อนสพรหมจารี จะมีผู้ กล่าวต่อเธอว่า เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิตในหมู่เพื่อนสพรหมจารีก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้ ๔. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราเป็น ผู้มีสุตะมาก ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะหรือหนอ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรม เห็นปานนั้นเราได้ฟังมาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ธรรมนั้น ของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น เธอหาได้ฟังมาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญาไม่ จะมีผู้กล่าวต่อเธอว่า เชิญท่านเรียนคัมภีร์ก่อน จะมีคน ว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ๕. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราจำ ปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี โดยพิสดาร สวดไพเราะคล่องแคล่วดี วินิจฉัยเรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้จำปาติโมกข์ทั้งสอง โดยพิสดาร สวดไพเราะคล่อง แคล่วดี วินิจฉัยเรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะไม่ได้ มีผู้ถามว่า ท่าน สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ที่ไหน เธอถูกถามดังนี้ ย่อมตอบไม่ถูกต้อง จะมีผู้ว่ากล่าวต่อเธอว่า เชิญ ท่านเรียนวินัยก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์โจทผู้อื่น พึงกำหนดธรรม ๕ อย่างนี้ไว้ในตน แล้ว โจทผู้อื่นเถิด.เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๑๑๑๗๘-๑๑๒๑๘ หน้าที่ ๔๒๙-๔๓๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=11178&Z=11218&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=8&siri=110 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1183 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1183] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=8&item=1183&items=1 The Pali Tipitaka in Roman :- [1183] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=8&item=1183&items=1 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_8 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr17/en/brahmali#pli-tv-pvr17:87.0 https://suttacentral.net/pli-tv-pvr17/en/horner-brahmali#Prv.17.5
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]