ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
๑๓. เตวิชชสูตร
------------------
[๓๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่อว่ามนสากตะ ได้ยินว่า ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อัมพวันใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ทิศเหนือแห่งมนสากตคาม เขต พราหมณคามชื่อว่ามนสากตะ.
วาเสฏฐะและภารทวาชมาณพเข้าเฝ้า
[๓๖๖] สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงอาศัยอยู่ในมนสากตคามมากด้วยกัน คือ วังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสณีพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ อีก. ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารทวาชมาณพเดิน เที่ยวเล่นตามกันไป ได้พูดกันขึ้นถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง วาเสฏฐมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้. ฝ่ายภารทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่าน ตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไป ตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้. วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่าย ภารทวาชมาณพก็ไม่อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้. [๓๖๗] ครั้งนั้น เวเสฏฐมาณพบอกภารทวาชมาณพว่า ดูกรภารทวาชะ ก็พระสมณโคดม นี้แล เป็นโอรสของเจ้าศากยะ ทรงผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่ ณ อัมพวันใกล้ฝั่งแม่น้ำ อจิรวดีเขตพราหมณคามชื่อมนสากตะทางทิศเหนือ และกิตติศัพท์อันงามของท่านสมณโคดมนั้น ขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษ ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม มาไปกันเถิดภารทวาชะ เราจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจักกราบทูลถามความข้อนี้กะพระสมณโคดม พระสมณโคดมจักทรงพยากรณ์แก่เราทั้งสอง อย่างใด เราจักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพแล้วพากันไป. [๓๖๘] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารทวาชมาณพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอเป็นที่ให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. เวเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอประทานโอกาส เมื่อข้าพระองค์ทั้งสองเดินเล่นตามกันไป ได้พูดกันขึ้นถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง ข้าพระองค์พูด อย่างนี้ว่า ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทาง นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ภารทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า หนทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องทางและมิใช่ทางนี้ ยังมีการถือผิดกันอยู่หรือ ยังมีการ กล่าวผิดกันอยู่หรือ ยังมีการพูดต่างกันอยู่หรือ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า ท่านพูดว่า หนทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ภารทวาชมาณพพูดว่า หนทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ดูกรวาเสฏฐะ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่าน จะถือผิดกันในข้อไหน จะกล่าวผิดกันในข้อไหน จะพูดต่างกันในข้อไหน. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องทางและมิใช่ทาง พราหมณ์ทั้งหลาย คือ พราหมณ์ พวกอัทธริยะ พราหมณ์พวกติตติริยะ พราหมณ์พวกฉันโทกะ พราหมณ์พวกพัวหริธ ย่อม บัญญัติหนทางต่างๆ กันก็จริง ถึงอย่างนั้น ทางเหล่านั้นทั้งมวล เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนิน ไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ เปรียบเหมือนในที่ใกล้บ้านหรือนิคม แม้หากจะมี ทางต่างกันมากสาย ที่แท้ทางเหล่านั้นทั้งมวลล้วนมารวมลงในบ้าน ฉะนั้น. พ. ดูกรวาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ? ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูด. ดูกรวาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูด. ดูกรวาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูด.
ทรงซักวาเสฏฐมานพ
[๓๖๙] ดูกรวาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา พราหมณ์แม้คนหนึ่งที่เห็นพรหม มีเป็นพยานอยู่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ อาจารย์แม้คนหนึ่งของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาที่เห็นพรหม มีเป็นพยาน อยู่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาที่เห็นพรหม มีเป็นพยาน อยู่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาที่เห็นพรหม มีเป็นพยานอยู่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ พวกฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้พวกพราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชา ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ที่ท่านขับมาแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ได้กล่าวไว้ บอกไว้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็น พรหมนั้นว่า พรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด ดังนี้ มีอยู่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. [๓๗๐] ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา แม้พราหมณ์สักคนหนึ่ง ที่เห็นพรหมเป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ แม้อาจารย์สักคนหนึ่งของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็นพรหมเป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ แม้ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็นพรหมเป็น พยาน ไม่มีเลยหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบมาแต่เจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็นพรหม เป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า พวกฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้พวกพราหมณ์ ที่ได้ไตรวิชชา ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ที่ท่านขับมาแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ได้กล่าวไว้ บอกไว้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่า พรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด ดังนี้ มีอยู่หรือ? พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเรา แสดงหนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมนั้นว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้. [๓๗๑] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิต ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์แน่นอน. ดีละ วาเสฏฐะ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดง หนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทาง นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกร วาเสฏฐะ เหมือนแถวคนตาบอดเกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คน ท้ายก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีอุปมาเหมือนแถวคนตาบอด ฉันนั้น เหมือนกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนท้ายก็ไม่เห็น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชาเหล่านั้น ถึงความเป็นคำน่าหัวเราะทีเดียว ถึงความเป็นคำต่ำช้าอย่างเดียว ถึงความ เป็นคำเปล่า ถึงความเป็นคำเหลวไหลแท้ๆ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็นพระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นไปเมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ นอบน้อม เดินเวียนรอบ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เป็นอย่างนั้น. [๓๗๒] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็น ก็พระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นไป เมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ นอบน้อม เวียนรอบ พราหมณ์ได้ไตรวิชชา สามารถแสดงทางเพื่อไปอยู่ร่วมกับพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้เหล่านั้นว่า ทางนี้แหละเป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตาม ทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ ดังนี้ ได้หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็น พระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นไปเมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ นอบน้อม เดินเวียนรอบ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่สามารถ แสดงทางเพื่อไปอยู่ร่วมกับพระจันทร์และพระอาทิตย์แม้เหล่านั้นว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคา ตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพระจันทร์และ พระอาทิตย์ ก็จะกล่าวกันทำไม พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชามิได้เห็นพรหมเป็นพยาน แม้พวก อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาก็มิได้เห็น แม้พวกปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชาก็มิได้เห็น แม้พวกอาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ก็มิได้เห็น แม้พวกฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับมาแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ได้กล่าวไว้ บอกไว้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็นว่าพรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้นแหละพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราแสดงหนทางเพื่อความ เป็นสหายแห่งพรหมที่พวกเราไม่รู้ ที่พวกเราไม่เห็นนั้นว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้. [๓๗๓] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิต ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึง ความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ แน่นอน. ดีละ วาเสฏฐะ ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดง หนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมนั้นว่า ทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทาง นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
อุปมาด้วยนางงามในชนบท
[๓๗๔] ดูกรวาเสฏฐะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราปรารถนารักใคร่ นางชนปทกัลยาณีในชนบทนี้ ชนทั้งหลายพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปทกัลยาณี ที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้จักหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนาง ศูทร์ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงถามเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปทกัลยาณีที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้จักหรือว่านางมีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูง ต่ำ หรือพอสันทัด ดำ คล้ำ หรือมีผิวสีทอง อยู่ในบ้าน นิคม หรือนครโน้น เมื่อเขาถูกถาม ดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ท่านปรารถนารักใคร่หญิงที่ท่าน ไม่รู้จักไม่เคยเห็นนั้นหรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า ถูกแล้ว ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำ ไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มี ปาฏิหาริย์. ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาก็ดี อาจารย์ ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์พวกนั้นก็ดี อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่ว อาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี เหล่าฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ต่างก็มิได้เห็น พรหมเป็นพยาน ...
อุปมาด้วยพะองขึ้นปราสาท
[๓๗๕] ดูกรวาเสฏฐะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงทำพะองขึ้นปราสาทในหนทางใหญ่ สี่แพร่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านทำพะองขึ้นปราสาทใด ท่านรู้จักปราสาทนั้นหรือว่าอยู่ในทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ สูง ต่ำ หรือพอปานกลาง เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ท่านจะทำพะองขึ้นปราสาทที่ท่านไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า ถูกแล้ว ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำไม่มี ปาฏิหาริย์. ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาก็ดี อาจารย์ ของพวกพราหมณ์นั้นก็ดี ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพวกพราหมณ์นั้นก็ดี อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่ว อาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี เหล่าฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ต่างก็มิได้ เห็นพรหมเป็นพยาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็น ภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์แน่นอน. ดีละ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดง หนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมนั้นว่า ทางนี้แหละเป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทาง นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
อุปมาด้วยแม่น้ำอจิรวดี
[๓๗๖] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีนี้ น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขายืนที่ฝั่งนี้ ร้องเรียก ฝั่งโน้นว่า ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้ ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝั่งโน้นของแม่น้ำอจิรวดีจะพึงมาสู่ฝั่งนี้ เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุ ปรารถนา หรือเพราะเหตุยินดีของบุรุษนั้นหรือหนอ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย. ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็น พราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรา ร้องเรียกพระอินทร์ พระจันทร์ พระวรุณ พระอีศวร พระประชาบดี พระพรหม พระมหินทร์ ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาอย่างนั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งพรหม เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา หรือเพราะยินดี ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. [๓๗๗] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขามัดแขนไพร่หลัง อย่างแน่น ด้วยเชือกอย่างเหนียวที่ริมฝั่งนี้ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นพึงไปสู่ฝั่งโน้นจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำอจิรวดีได้แลหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน กามคุณ ๕ เหล่านี้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เรียกว่า ขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ เสียงที่พึงรู้ ด้วยโสต กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เกี่ยวด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้ ในวินัย ของพระอริยเจ้า เรียกว่าขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้อยู่ ก็พราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคล ให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ พัวพันในกามฉันท์อยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็น สหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. [๓๗๘] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขากลับนอนคลุมตลอด ศีรษะเสียที่ฝั่ง ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นพึงไปสู่ฝั่งโน้นจากฝั่งนี้ แห่งแม่น้ำอจิรวดีได้หรือหนอ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน นิวรณ์ ๕ อย่างเหล่านี้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน? คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ นิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล ในวินัยของพระอริยเจ้า เรียกว่าเครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่อง รัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง. [๓๗๙] ดูกรวาเสฏฐะ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ถูกนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ปกคลุม หุ้มห่อ รัดรึง ตรึงตราแล้ว ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ ถูกนิวรณ์ ๕ ปกคลุม หุ้มห่อ รัดรึง ตรึงตราแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. [๓๘๐] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเคยได้ยินพราหมณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่ากระไรบ้าง พรหมมีเครื่องเกาะคือสตรีหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. มีจิตจองเวรหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. มีจิตเบียดเบียนหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. มีจิตเศร้าหมองหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่ได้? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีเครื่องเกาะ คือสตรีหรือไม่มี. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี. มีจิตจองเวรหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี. มีจิตเบียดเบียนหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี. มีจิตเศร้าหมองหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี. ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่ได้? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. [๓๘๑] ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีเครื่องเกาะคือสตรี แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังมีเครื่องเกาะ คือสตรี กับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี ได้แลหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. ดีละ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีเครื่องเกาะคือสตรี เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี ข้อนี้ไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีจิตจองเวร แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาซึ่งยังมีจิตจองเวรกับพรหมผู้ไม่มีจิตจองเวรได้แลหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีจิตเบียดเบียน แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังมีจิตเบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่มีจิตเบียดเบียนได้แล หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้. ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีจิตเศร้าหมอง แต่พรหมไม่มี จะ มาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังมีจิตเศร้าหมอง กับพรหมผู้ไม่มีจิตเศร้าหมอง ได้แลหรือ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ได้. ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ แต่ พรหมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังจิตให้เป็นไป ในอำนาจไม่ได้ กับพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ ได้แลหรือ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ได้. ถูกละ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ ได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้นในโลกนี้จมลง แล้ว ยังจมอยู่ ครั้นจมลงแล้วย่อมถึงความย่อยยับ สำคัญว่าข้ามได้ง่าย เพราะฉะนั้น ไตรวิชชานี้ เราเรียกว่า ป่าใหญ่คือไตรวิชชาบ้าง ว่าดงกันดารคือไตรวิชชาบ้าง ว่าความพินาศคือไตรวิชชา บ้าง ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา. [๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบทางเพื่อความเป็นสหาย แห่งพรหม. ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มนสากตคามอยู่ในที่ใกล้แค่นี้ ไม่ไกล จากนี้มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มนสากตคามอยู่ในที่ใกล้แค่นี้ ไม่ไกลจากนี้ พระเจ้าข้า. ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้เกิดแล้ว เติบโตแล้วใน มนสากตคามนี้ ออกไปจากมนสากตคามในทันใด พึงถูกถามหนทางแห่งมนสากตคาม ดูกร วาเสฏฐะ จะพึงมีหรือที่บุรุษนั้นผู้เกิดแล้ว เติบโตแล้วในมนสากตคาม ถูกถามถึงหนทางแห่ง มนสากตคามแล้ว จะชักช้าหรืออ้ำอึ้ง? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้นเกิดแล้ว เติบโต แล้วในมนสากตคาม เขาต้องทราบหนทางแห่งมนสากตคามทั้งหมดได้เป็นอย่างดี. ดูกรวาเสฏฐะ เมื่อบุรุษนั้นเกิดแล้ว เติบโตแล้วในมนสากตคาม ถูกถามถึงทางแห่ง มนสากตคาม จะพึงมีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งบ้าง ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาอันจะ ยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก ไม่มีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งเลย เรารู้จักพรหม รู้จักพรหมโลก รู้ปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก และรู้ถึงว่าพรหมปฏิบัติอย่างไร จึงเข้าถึงพรหมโลกด้วย. [๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระ- *โคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมย่อมแสดงทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระองค์จงแสดงทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม ขอพระองค์จง อุ้มชูพราหมณประชา. ดูกรวาเสฏฐะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าววาเสฏฐมาณพทูล รับพระผู้มีพระภาคแล้ว.
ทางไปพรหมโลก
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรวาเสฏฐะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้วอยู่ ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อย ใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัย ในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่ เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
ดูกรวาเสฏฐะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าว กัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียง กัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวคำที่ทำให้คน พร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบจุลศีล
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคน จัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัด กระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะ และเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทอง และเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ อันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับการตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับ วิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉัน โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไป แล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติ ผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรกล่าว ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะ เสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบมัชฌิมศีล
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอ แมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอ ทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายใน จักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทร- *คราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็น อย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะ ศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้นภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอัน ปราศจากโทษในภายใน ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล.
จบมหาศีล.
อินทรียสังวร-สติสัมปชัญญะ-สันโดษ
ดูกรวาเสฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุ- *พยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมใน จักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและ โทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วย อินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ดูกรวาเสฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ? ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ใน การแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ใน การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ. ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย ด้วย บิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรวาเสฏฐะ นกมี ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรวาเสฏฐะ ด้วย ประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็น อริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ อยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์ ๕
ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึง สำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขา จะพึงมี เหลืออยู่ สำหรับเลี้ยงภริยา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบ การงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และ ทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความ โสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบากเจ็บหนัก บริโภค อาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้และมี กำลังกาย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และ มีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้น เป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาจะพึงพ้น จากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเรา ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลยดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจาก เรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตาม ความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้น แล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภค สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความ โสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล. เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อ ปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ ทุกเหล่าในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้งสี่ทิศ โดยไม่ ยากเลย ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณอันใดในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจรและอรูปาพจรนั้นฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรวาเสฏฐะ แม้นี้แล ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม.
อัปปมัญญา ๔
[๓๘๔] ดูกรวาเสฏฐะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา ... ประกอบด้วย มุทิตา ... ประกอบด้วยอุเบกขา ... ดูกรวาเสฏฐะ นี้แล เป็นทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีเครื่องเกาะคือ สตรีหรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. มีจิตจองเวรหรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. มีจิตเบียดเบียนหรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. มีจิตเศร้าหมองหรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. ยังจิตให้ไปในอำนาจได้หรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า ภิกษุไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี พรหมก็ไม่มี จะเปรียบเทียบ ภิกษุผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรีกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรีได้หรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ดีละ ภิกษุนั้นไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี เบื้องหน้าแต่ตายไปเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้. ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุมีจิตไม่จองเวร พรหมก็มีจิตไม่จองเวร ... ภิกษุมีจิตไม่เบียดเบียน พรหมก็มีจิตไม่เบียดเบียน ... ภิกษุมีจิตไม่เศร้าหมอง พรหมก็มีจิตไม่เศร้าหมอง ... ภิกษุยังจิต ให้เป็นไปในอำนาจได้ พรหมก็ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ยังจิตให้เป็น ไปในอำนาจได้กับพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ ได้หรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้. ดูกรวาเสฏฐะ ดีละ ก็ภิกษุผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้นั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้.
วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
[๓๘๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระองค์ กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบเตวิชชสูตร ที่ ๑๓.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคนี้มี ๑๓ สูตร คือ
๑. พรหมชาลสูตร ๒. สามัญญผลสูตร ๓. อัมพัฏฐสูตร ๔. โสณทัณฑสูตร ๕. กูฏทันตสูตร ๖. มหาลิสูตร ๗. ชาลิยสูตร ๘. มหาสีหนาทสูตร ๙. โปฏฐปาทสูตร ๑๐. สุภสูตร ๑๑. เกวัฏฏสูตร ๑๒. โลหิจจสูตร ๑๓. เตวิชชสูตร.
จบสีลขันธวรรค.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๘๕๔๙-๙๑๕๐ หน้าที่ ๓๕๘-๓๘๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=8549&Z=9150&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=9&siri=13              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=365              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [365-385] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=9&item=365&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=8660              The Pali Tipitaka in Roman :- [365-385] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=9&item=365&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=8660              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i365-e.php# https://suttacentral.net/dn13/en/sujato https://suttacentral.net/dn13/en/tw_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :