ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ปฐมกสคาถวรรคที่ ๑
สมาธิสูตร
[๓๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็น ไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา- *๓ เหล่านี้แล ฯ [๓๖๐] สาวกของพระพุทธเจ้ามีจิตมั่นคงดีแล้ว มีสัมปชัญญะ มี สติ ย่อมรู้ชัดซึ่งเวทนาและเหตุเกิดแห่งเวทนาทั้งหลาย อนึ่ง เวทนาเหล่านี้จะดับไปในที่ใด ย่อมรู้ชัดซึ่งที่นั้น (คือ นิพพาน) และทางดำเนินให้ถึงความสิ้นไปแห่งเวทนาเหล่า นั้น เพราะสิ้นเวทนา ภิกษุเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพาน แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑
สุขสูตร
[๓๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล ฯ [๓๖๒] ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกมีอยู่ ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นทุกข์ มีความ พินาศเป็นธรรมดา มีความทำลายเป็นธรรมดา ถูกต้องความ สิ้นไปอยู่ ย่อมคลายความยินดีในเวทนาเหล่านั้น ด้วย ประการอย่างนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๒
ปหานสูตร
[๓๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงละราคานุสัยในสุขเวทนา พึงละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัยใน อทุกขมสุขเวทนา เพราะเหตุที่ภิกษุละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยใน ทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคา นุสัย มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้ กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ ฯ [๓๖๔] ราคานุสัยนั้น ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนาไม่รู้สึกตัว อยู่ มีปรกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก ปฏิฆานุสัย ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัว มีปรกติไม่เห็น ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก บุคคลเพลิดเพลิน อทุกขมสุข เวทนาซึ่งมีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาประดุจปฐพีทรง แสดงแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์เลย เพราะเหตุที่ ภิกษุผู้มีความเพียรละทิ้งเสียได้ด้วยสัมปชัญญะ เธอชื่อว่า เป็นบัณฑิต ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งปวง ครั้นกำหนด รู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวท เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่า เป็นผู้ กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้หลง ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๓
ปาตาลสูตร
[๓๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมพูดอย่างนี้ว่า ในมหาสมุทรมีบาดาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมพูดวาจา อันไม่มีไม่ปรากฏอย่างนี้ว่าในมหาสมุทรมีบาดาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า บาดาล นี้เป็นชื่อของทุกขเวทนาที่เป็นไปในสรีระแล ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับถูกทุกขเวทนา อันเป็นไปในสรีระถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เรากล่าวว่า ไม่ปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่ง ไม่ถึงอีกด้วย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ถูกทุกขเวทนาอันเป็นไปในสรีระถูกต้อง ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมไม่ถึงความงมงาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วนี้ เรากล่าวว่า ย่อมปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่งถึงอีกด้วย ฯ [๓๖๖] นรชนใดถูกทุกขเวทนาเหล่านี้ อันเป็นไปในสรีระ เครื่องนำชีวิตเสีย บังเกิดขึ้น ถูกต้องแล้ว อดกลั้นไม่ได้ ย่อมหวั่นไหว เป็นผู้ทุรพล กำลังน้อย ย่อมคร่ำครวญ ร่ำไร นรชนนั้นย่อมไม่ปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่งไม่ถึงอีกด้วย ส่วน นรชนใดถูกทุกขเวทนาเหล่านี้ อันเป็นไปในสรีระ เครื่อง นำชีวิตเสีย บังเกิดขึ้น ถูกต้อง อดกลั้นไว้ได้ ย่อมไม่ หวั่นไหว นรชนนั้นแล ย่อมปรากฏในบาดาล ทั้งหยั่งถึง อีกด้วย
จบสูตรที่ ๔
ทัฏฐัพพสูตร
[๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ภิกษุทั้งหลาย พึงเห็นสุขเวทนา โดยความเป็นทุกข์ พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร พึงเห็นอทุกขมสุข เวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นสุขเวทนา โดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง ภิกษุนี้เรากล่าวว่า มีความเห็นโดยชอบ ตัดตัณหา ได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละ มานะได้ โดยชอบ [๓๖๘] ถ้าภิกษุใดเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกข์โดยความ เป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขซึ่งมีอยู่นั้นโดยความเป็นของไม่ เที่ยง ภิกษุนั้นเป็นผู้เห็นโดยชอบ ย่อมกำหนดรู้เวทนา ทั้งหลายได้ ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวท เมื่อตายไปย่อมไม่ เข้าถึงความนับว่าเป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้งมงาย ฯ
จบสูตรที่ ๕
สัลลัตถสูตร
[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนา บ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อม เสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความ งมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ ฯ [๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วย ลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวย เวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา นั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะ ทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจาก ทุกขเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะ สุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบาย เป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตาม ความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุข เวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็น ผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็น ผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้ สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์ ฯ [๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูก ต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความ งมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ฯ [๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูพึงยิงบุรุษด้วย ลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อม เสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ฉัน นั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ ได้เสวยเวทนาทางใจ อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะ ทุกขเวทนา เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออก จากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะ สุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และ อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเธอรู้ชัดซึ่ง เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง ถ้าเธอ เสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อม เป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ [๓๗๓] อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่ เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แล เป็นความ แปลกกันระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน ธรรมส่วนที่ น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรม อันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้า อยู่ ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์ อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดี และไม่ยินร้าย อริยสาวกนั้นรู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลี และหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ ฯ
จบสูตรที่ ๖
เคลัญญสูตรที่ ๑
[๓๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า มหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจาก ที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังศาลาคนไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มี สัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ ฯ [๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมเป็นผู้มีปรกติ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสีย ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็นธรรมในธรรม อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างนี้แล ฯ [๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการก้าว ไป ในการถอยกลับ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกในการแล ในการเหลียว ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า เหยียดออก ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำ ความรู้สึกตัวในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้ สึกตัวในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ ฯ [๓๗๗] ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนา นี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เราแล ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นอาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิด ขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกัน เกิดขึ้น ก็สุขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและสุขเวทนาอยู่ ย่อมละราคานุสัยในกายและในสุขเวทนา เสียได้ ฯ [๓๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอ ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนานี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่ เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็ทุกขเวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัย ปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อม พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืน ในกายและในทุกขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่ ย่อมละ ปฏิฆานุสัยในกายและในทุกขเวทนาเสียได้ ฯ [๓๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าอทุกขมสุข เวทนานั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็อทุกขมสุขเวทนาอาศัย กายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและ ในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมละอวิชชานุสัยในกายและในอทุกขมสุขเวทนา เสียได้ ฯ [๓๘๐] ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ ถ้าเธอเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่า เพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอ เสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ภิกษุ นั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ ทีเดียว ฯ [๓๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมัน และไส้จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เรา เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลินจัก เป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๗
เคลัญญสูตรที่ ๒
[๓๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่า มหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังศาลาคนไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ ฯ [๓๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ ในจิต ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติอย่างนี้แล ฯ [๓๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ฯลฯ ในการพูด ในการนิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ มีสัมปชัญญะอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะรอกาล เวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ ฯ [๓๘๕] ถ้าเมื่อภิกษุมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนา เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็สุขเวทนานั้นแล อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัย อะไร อาศัยผัสสะนี้เอง ก็แต่ว่าผัสสะนี้ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัย เกิดขึ้น ก็สุขเวทนาซึ่งอาศัยผัสสะอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วแก่เรา จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เธอย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความ ดับไป พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา เห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความดับไป พิจารณา เห็นความสละคืน ในผัสสะและในสุขเวทนาอยู่ ย่อมละราคานุสัยในผัสสะและ ในสุขเวทนาเสียได้ ฯ [๓๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นมีสติ มีสัมปชัญญะ เป็นผู้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนาย่อมเกิดขึ้น ฯลฯ อทุกขมสุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้เกิดขึ้น แล้วแก่เรา ก็อทุกขมสุขเวทนานั้นแล อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยผัสสะนี้แลบังเกิดขึ้น ก็ผัสสะนี้แลไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ฯลฯ ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนา นั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ ถ้า เสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่า หมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวย ทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวย อทุกขมสุขเวทนานั้น ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวย เวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด รู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จัก เป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว ฯ [๓๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมัน และไส้จึงติดอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อม รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๘
อนิจจสูตร
[๓๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุง แต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับเป็นธรรมดา เวทนา ๓ เป็นไฉน เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ นี้แล ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัย เกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา ฯ
จบสูตรที่ ๙
ผัสสมูลกสูตร
[๓๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ นี้เกิดแต่ผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา ๓ เป็นไฉน เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะ อาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น ชื่อว่า สุขเวทนา เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้น ย่อมดับไป สงบไป เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ความ เสวยอารมณ์ อันเกิดแต่ผัสสะนั้น ชื่อว่าทุกขเวทนา เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นตั้งแห่งทุกขเวทนานั้น ย่อมดับไป สงบไป เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง ทุกขเวทนานั้นแลดับไป อทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอัน เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ความเสวยอารมณ์อันเกิดแก่ผัสสะนั้น ชื่อว่า อทุกขมสุขเวทนา เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา นั้นย่อมดับไป สงบไป เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแล ดับไป ฯ [๓๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันเสียดสีกัน เพราะการ เสียดสีกันจึงเกิดไออุ่น จึงเกิดไฟ เพราะแยกไม้สองอันนั้นแหละออกจากกัน ไออุ่นที่เกิดเพราะการเสียดสีนั้นย่อมดับไป สงบไป ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เกิดแต่ผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็น เหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาอันเกิดแต่ผัสสะ เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะที่เกิด แต่ปัจจัยนั้น ย่อมดับเพราะผัสสะที่เกิดแต่ปัจจัยนั้นดับไป ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบเวทนาสังยุตต์ ปฐมกสคาถวรรค
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สมาธิสูตร ๒. สุขสูตร ๓. ปหานสูตร ๔. ปาตาลสูตร ๕. ทัฏฐัพพสูตร ๖. สัลลัตถสูตร ๗. เคลัญญสูตรที่ ๑ ๘. เคลัญญ- *สูตรที่ ๒ ๙. อนิจจสูตร ๑๐. ผัสสมูลกสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
รโหคตวรรคที่ ๒
รโหคตสูตร
[๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจ เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มี- *พระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความ เสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัส นี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูกรภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ ดูกรภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอา ความที่สังขารทั้งหลายนั่นเองไม่เที่ยง ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละ มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ฯ [๓๙๒] ดูกรภิกษุ ก็ลำดับนั้นแล เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขาร ทั้งหลายโดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมดับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมดับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะ ปัสสาสะย่อมดับ เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้า วิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าอากิญจัญญายตน ฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนา ย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมดับ ฯ [๓๙๓] ดูกรภิกษุ ลำดับนั้นแล เรากล่าวความสงบแห่งสังขารทั้งหลาย โดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจาร ย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมสงบ ฯ [๓๙๔] ดูกรภิกษุ ปัสสัทธิ ๖ อย่างนี้ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมระงับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อม ระงับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมระงับ เมื่อเข้าสัญญาเวท- *ยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุขีณาสพย่อม ระงับ ฯ
จบสูตรที่ ๑
วาตสูตรที่ ๑
[๓๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปแม้ใน อากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลม ทิศใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมอ่อนบ้าง ลมแรงบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนา บ้าง ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๓๙๖] เปรียบเหมือนลมมากมายหลายชนิด พัดไปในอากาศ คือ บางครั้งลมทิศตะวันออกบ้าง บางครั้งทิศตะวันตกบ้าง บางครั้งทิศเหนือบ้าง บางครั้งทิศใต้บ้าง บางครั้งมีธุลีบ้าง บางครั้งไม่มีธุลีบ้าง บางครั้งลมหนาวบ้าง บางครั้งลมร้อน บ้าง บางครั้งลมแรงบ้าง บางครั้งลมอ่อนบ้าง ฉันใด เวทนา ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง เมื่อใดภิกษุมีความ เพียร รู้สึกอยู่ เข้านิโรธ เมื่อนั้น เธอผู้เป็นบัณฑิตย่อม กำหนดรู้เวทนา ได้ทุกอย่าง ภิกษุนั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ตั้งอยู่ในธรรม เรียนจบพระเวทในปัจจุบัน เพราะกายแตกย่อมไม่เข้าถึงซึ่งบัญญัติ ฯ
จบสูตรที่ ๒
วาตสูตรที่ ๒
[๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ฯลฯ ลมแรงบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนา บ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ฯ
จบสูตรที่ ๓
นิวาสสูตร
[๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนพักคนเดินทาง ชนทั้งหลาย มาจากทิศตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจาก ทิศใต้บ้าง เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง มาพักในเรือนนั้น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง สุขเวทนามีอามิสบ้าง ทุกขเวทนามีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนามีอามิสบ้าง สุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง ทุกขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส บ้าง ฯ
จบสูตรที่ ๔
อานันทสูตรที่ ๑
[๓๙๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา เป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา เป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบาย เครื่องสลัดออกแห่งเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เวทนามี ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรอานนท์ เหล่านี้ เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดขึ้นเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่อง ให้ถึงความดับแห่งเวทนา สุข โสมนัส ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาใด นี้เป็น คุณแห่งเวทนา เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้ เป็นโทษแห่งเวทนา การกำจัด การละฉันทราคะในเวทนาใด นี้เป็นอุบายเครื่อง สลัดออกแห่งเวทนา ฯ [๔๐๐] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความดับแห่งสังขารทั้งหลาย โดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญา- *เวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมดับ ฯ [๔๐๑] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความสงบแห่งสังขารทั้งหลาย โดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญา- *เวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมสงบ ฯ [๔๐๒] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความระงับแห่งสังขาร ทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ ฯลฯ เมื่อ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะของ ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมระงับ ฯ
จบสูตรที่ ๕
อานันทสูตรที่ ๒
[๔๐๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เวทนามีเท่าไร ความ เกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่- *พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาค เท่านั้นเถิด ภิกษุทั้งหลายฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มี- *พระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์ นี้ว่า ดูกรอานนท์ เวทนา ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุข เวทนา ดูกรอานนท์ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ฯลฯ ราคะ โทสะ โมหะของ ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมระงับ ฯ
จบสูตรที่ ๖
สัมพหุลสูตรที่ ๑
[๔๐๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดขึ้น แห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับ แห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไร เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนามี ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดขึ้นเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับไป เวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา สุข โสมนัส ย่อมเกิดขึ้นเพราะ อาศัยเวทนาใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความ แปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา การกำจัด การละฉันทราคะใน เวทนาใด นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ [๔๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ เราได้กล่าวความดับแห่งสังขาร ทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ ฯลฯ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมดับ ฯ [๔๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ เราได้กล่าวความสงบแห่งสังขาร ทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ ฯลฯ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมสงบ ฯ [๔๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัสสัทธิ ๖ ประการนี้ คือ เมื่อภิกษุเข้า ปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมระงับ เข้าตติยฌาน ปีติ ย่อมระงับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมระงับ เมื่อเข้าสัญญา- *เวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุผู้ ขีณาสพย่อมระงับ ฯ
จบสูตรที่ ๗
สัมพหุลสูตรที่ ๒
[๔๐๘] ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย เวทนามีเท่าไร ฯลฯ อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ภิกษุ เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มี พระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้า กระนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มี- *พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ฯลฯ (พึงขยายความให้พิสดารเหมือน สูตรต้นๆ )
จบสูตรที่ ๘
ปัญจกังคสูตร
[๔๐๙] ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ไหว้ท่านพระอุทายีแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุทายี ว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไรหนอ ท่านพระอุทายี ตอบว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างนี้แล ฯ [๔๑๐] เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าว กะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง ตรัสไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุข เวทนาอันเป็นไปฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ไว้ ๒ อย่างเลย พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๒ ช่างไม้ ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกข- *เวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า ดูกร คฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๓ ช่างไม้ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้ช่างไม้ ตกลงได้ ฝ่ายช่างไม้ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายีตกลงได้ ฯ [๔๑๑] ท่านพระอานนท์ ได้ฟังการสนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายี กับช่างไม้ ครั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลการสนทนาปราศรัยแม้นั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ ของภิกษุอุทายี ส่วนภิกษุอุทายีก็ไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ของช่างไม้ ฯ [๔๑๒] ดูกรอานนท์ โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดย ปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน เกิดความทะเลาะกัน วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดง แล้วโดยปริยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่ง คำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำเจือ ด้วยน้ำนม มองกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ ฯ [๔๑๓] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ดูกรอานนท์ สุข โสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่ากามสุข ฯ [๔๑๔] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุข นั่น มีอยู่ ฯ [๔๑๕] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๑๖] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌานอันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ดูกร อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๑๗] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไปเข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวย สุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ [๔๑๘] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ฯ [๔๑๙] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อม เสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๐] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า อากาศ ไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย เพราะความดับสูญแห่งปฏิฆสัญญา ทั้งหลาย เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญาทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าว อย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๑] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด นี้แลเป็นสุข อื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชน ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตาม คำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๒] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานโดยบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มี นี้แลเป็น สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอม ตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๓] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๔] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็น ไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนั่น ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าว สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข ข้อนี้นั้นเพราะ เหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์มี วาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคไม่ได้ ทรงหมายเอาสุขเวทนาบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุขเลย บุคคลย่อมได้สุขใน ฐานะใดๆ พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุข ทุกแห่ง ฯ
จบสูตรที่ ๙
ภิกขุสูตร
[๔๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ เมื่อเราแสดงธรรมโดยปริยายอย่างนี้ แล้ว ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรา กล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน จักเกิดความทะเลาะกัน วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเราแสดง แล้วโดยปริยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้มีอยู่ ชน เหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจา ดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้อันชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือพวกเขาจักพร้อมเพรียง กัน จักชื่นบานต่อกัน จักไม่วิวาทกัน จักเป็นดุจน้ำเจือด้วยน้ำนม จักมองกัน และกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ ฯ [๔๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้ ฯลฯ (เหมือนข้อ ๔๑๓ ถึงข้อ ๔๒๔) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ใน ความสุข ข้อนี้นั้นเพราะเหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุ ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงหมายเอาสุขเวทนาบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความ สุข บุคคลย่อมได้สุขในฐานะใดๆ พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อัน เป็นสุขไว้ในความสุขทุกแห่ง ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบรโหคตวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. รโหคตสูตร ๒. วาตสูตรที่ ๑ ๓. วาตสูตรที่ ๒ ๔. นิวาสสูตร ๕. อานันทสูตรที่ ๑ ๖. อานันทสูตรที่ ๒ ๗. สัมพหุลสูตรที่ ๑ ๘. สัมพหุล สูตรที่ ๒ ๙. ปัญจกังคสูตร ๑๐. ภิกขุสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
อัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓
สิวกสูตร
[๔๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล โมฬิยสิวกปริพาชกเข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการ ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมี วาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ได้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใด อย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งมวลนั้น มีการกระทำไว้ในปางก่อน เป็นเหตุ ก็ในข้อนี้ท่านพระโคดมตรัสอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกร สิวกะ เวทนาบางอย่างมีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่เวทนา บางอย่างซึ่งมีดีเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นในโลกนี้ บุคคลพึงทราบได้เองอย่างนี้ก็มี โลก สมมติว่าเป็นของจริงก็มีในข้อนั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิ อย่างนี้ว่า บุคคลนี้ได้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งมวลนั้น มีการกระทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ ย่อมแล่นไปสู่สิ่ง ที่รู้ด้วยตนเอง และแล่นไปสู่สิ่งที่สมมติกันว่าเป็นความจริงในโลก เพราะฉะนั้น เรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เวทนาบางอย่างมีเสมหะเป็น สมุฏฐานก็มี ฯลฯ มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ มีร่วมกันเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิดแต่เปลี่ยนฤดูก็มี ฯลฯ เกิดแต่รักษาตัวไม่สม่ำเสมอก็มี ฯลฯ เกิดจากการถูก ทำร้ายก็มี ฯลฯ เวทนาบางอย่างเกิดแต่ผลของกรรมก็มี ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่เวทนาบางอย่างซึ่งเกิดแต่ผลของกรรมเกิดขึ้นในโลกนี้ บุคคลพึงทราบได้เอง อย่างนี้ก็มี โลกสมมติว่าเป็นของจริงก็มี ในข้อนั้นสมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะ อย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ได้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งมวลนั้น มีการกระทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ ย่อม แล่นไปสู่สิ่งที่รู้ด้วยตนเอง และแล่นไปสู่สิ่งที่สมมติกันว่าเป็นความจริงในโลก เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ฯ [๔๒๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โมฬิยสิวกปริพาชกได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอท่านพระโคดมโปรด ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ [๔๒๙] เรื่องดี ๑ เสมหะ ๑ ลม ๑ ดี เสมหะ ลม รวมกัน ๑ ฤดู ๑ รักษาตัวไม่สม่ำเสมอ ๑ ถูกทำร้าย ๑ ผลของกรรม ๑ เป็นที่ ๘ ฯ
จบสูตรที่ ๑
อัฏฐสตปริยายสูตร
[๔๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น ก็ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ฯ [๔๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๒ เป็นไฉน เวทนา ๒ คือ เวทนาทางกาย ๑ เวทนาทางใจ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒ ฯ [๔๓๒] ก็เวทนา ๓ เป็นไฉน เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ เหล่านี้เรียกว่า เวทนา ๓ ฯ [๔๓๓] ก็เวทนา ๕ เป็นไฉน เวทนา ๕ คือ สุขินทรีย์ ๑ ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเบกขินทรีย์ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕ ฯ [๔๓๔] ก็เวทนา ๖ เป็นไฉน เวทนา ๖ คือจักขุสัมผัสสชาเวทนา ๑ โสตสัมผัสสชาเวทนา ๑ ฆานสัมผัสสชาเวทนา ๑ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ๑ กายสัมผัสสชาเวทนา ๑ มโนสัมผัสสชาเวทนา ๑ เหล่านี้เรียกว่าเวทนา ๖ ฯ [๔๓๕] ก็เวทนา ๑๘ เป็นไฉน เวทนา ๑๘ คือ เวทนาที่สหรคตด้วย โสมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๑๘ ฯ [๔๓๖] ก็เวทนา ๓๖ เป็นไฉน เวทนา ๓๖ คือ เคหสิตโสมนัส ๖ เนกขัมมโสมนัส ๖ เคหสิตโทมนัส ๖ เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ เคหสิตอุเบกขา ๖ เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๓๖ ฯ [๔๓๗] เวทนา ๑๐๘ เป็นไฉน เวทนา ๑๐๘ คือ เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖ ที่เป็นอนาคต ๓๖ ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๑๐๘ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ แม้นี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
ภิกขุสูตร
[๔๓๘] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนา เป็นไฉนหนอ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความเกิดขึ้น แห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับ แห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไร เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เราเรียก ว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดเวทนาจึงเกิด ตัณหาเป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงเหตุเกิด แห่งเวทนา เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาอันใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา เวทนาอันใด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา ความ กำจัด ความละฉันทราคะในเวทนา นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ
จบสูตรที่ ๓
ปุพพสูตร
[๔๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งยังมิได้ตรัสรู้ ยัง เป็นโพธิสัตว์อยู่ เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นไฉนหนอ ความเกิดขึ้น แห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ความ ดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไร เป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออก แห่งเวทนา เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เวทนา ๓ นี้ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิด เวทนา จึงเกิด ตัณหาเป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ฯลฯ ความกำจัด ความละฉันทราคะในเวทนา นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ
จบสูตรที่ ๔
ญาณสูตร
[๔๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้เวทนา ... นี้ความเกิดขึ้น แห่งเวทนา... นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความเกิดขึ้นแห่งเวทนา... นี้ความดับแห่ง เวทนา... นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา... นี้เป็นคุณแห่งเวทนา... นี้เป็นโทษแห่งเวทนา... นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ
จบสูตรที่ ๕
ภิกขุสูตร
[๔๔๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนา เป็นไฉนหนอ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความเกิดขึ้น แห่งเวทนาเป็นไฉน ฯลฯ อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ ฯลฯ ความกำจัด ความละฉันทราคะในเวทนา นี้ เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ
จบสูตรที่ ๖
สมณพราหมณสูตรที่ ๑
[๔๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ยังไม่นับว่าเป็นสมณะ ในหมู่สมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำ ให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น นับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ ของความเป็นสมณะหรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
สมณพราหมณสูตรที่ ๒
[๔๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ ของความเป็นสมณะ หรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๘
สมณพราหมณสูตรที่ ๓
[๔๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้เวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาเครื่องให้ ถึงความดับแห่งเวทนา ฯลฯ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๙
สุทธิกสูตร
[๔๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
นิรามิสสูตร
[๔๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปีติมีอามิสมีอยู่ ปีติไม่มีอามิสมีอยู่ ปีติที่ ไม่มีอามิสกว่าปีติที่ไม่มีอามิสมีอยู่ สุขมีอามิสมีอยู่ สุขไม่มีอามิสมีอยู่ สุขไม่มี อามิสกว่าสุขไม่มีอามิสมีอยู่ อุเบกขามีอามิสมีอยู่ อุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่ อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มี อามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่ ฯ [๔๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติมีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่า พอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ปีติเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เรา เรียกว่า ปีติมีอามิส ฯ [๔๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิสเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัย นี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและ สุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็น ธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่ สมาธิอยู่ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิส ฯ [๔๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิสเป็นไฉน ปีติที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส ฯ [๔๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขมีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอ ใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกายอันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้ สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่า สุขมีอามิส ฯ [๔๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขไม่มีอามิสเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ฯลฯ เธอมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนาม กาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข นี้เราเรียกว่า สุขไม่มีอามิส ฯ [๔๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิสเป็นไฉน สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จาก โทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่าสุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิส ฯ [๔๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขามีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือรูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วย กายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้แล อุเบกขาเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า อุเบกขามีอามิส ฯ [๔๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาไม่มีอามิสเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับ โสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เราเรียกว่า อุเบกขาไม่มีอามิส [๔๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส เป็นไฉน อุเบกขาเกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจาก ราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส ฯ [๔๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิโมกข์มีอามิสเป็นไฉน วิโมกข์ที่ปฏิสังยุต ด้วยรูป ชื่อว่าวิโมกข์มีอามิส วิโมกข์ที่ไม่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่าวิโมกข์ไม่มี อามิส ฯ [๔๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส เป็นไฉน วิโมกข์เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
จบอัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
๑. สิวกสูตร ๒. อัฏฐสตปริยายสูตร ๓. ภิกขุสูตร ๔. ปุพพสูตร ๕. ญาณสูตร ๖. ภิกขุสูตร ๗. สมณพราหมณสูตรที่ ๑ ๘. สมณพราหมณ สูตรที่ ๒ ๙. สมณพราหมณสูตรที่ ๓ ๑๐. สุทธิกสูตร ๑๑. นิรามิสสูตร ฯ
จบเวทนาสังยุตต์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๕๔๙๓-๖๒๙๔ หน้าที่ ๒๓๗-๒๗๒. https://84000.org/tipitaka/v.php?B=18&A=5493&Z=6294&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/m_siri.php?B=18&siri=195              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=359              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย