ปัณณาสก์
สัมโพธวรรคที่ ๑
สัมโพธิสูตร
[๒๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส
เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
พึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อะไรเป็นเหตุ ให้ธรรมอันเป็นฝัก
ฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้วพึงพยากรณ์
แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่าอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อะไรเป็นเหตุ
ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว
พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็น
เหตุข้อที่ ๑ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ เจริญ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๒ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่าย
แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่
ลำบาก ซึ่งกถาเห็นปานนั้น อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นที่สบายในการเปิด
จิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา
ทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๓ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้
เจริญ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความ
ถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระใน
กุศลธรรม ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๔ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่ง
ธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา
เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๕ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่อง
ตรัสรู้เจริญ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้
คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล จักสำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ฯ
จักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็น
ไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา
ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา
วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสนกถา ฯ
จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่ง
กุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ฯ
จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและ
ความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึง
เจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญ
เมตตาเพื่อละความพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติเพื่อเข้าไปตัดวิตก พึงเจริญ
อนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่
ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่ง
อัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๑
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๗๔๖๐-๗๕๑๔ หน้าที่ ๓๒๓-๓๒๕.
https://84000.org/tipitaka/v.php?B=23&A=7460&Z=7514&pagebreak=0
ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
https://84000.org/tipitaka/m_siri.php?B=23&siri=164
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=205
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓
https://84000.org/tipitaka/read/?index_23