ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271975อรรถกถาชาดก 271990
เล่มที่ 27 ข้อ 1990อ่านชาดก 271994อ่านชาดก 272519
อรรถกถา มหาวาณิชชาดก
ว่าด้วย โลภมากจนตัวตาย

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภพวกพ่อค้าชาวพระนครสาวัตถี ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า วาณิชา สมิตึ กตฺวา ดังนี้.
เรื่องมีว่า พ่อค้าเหล่านั้นเมื่อจะไปค้าขาย ถวายมหาทานแด่พระศาสดา ดำรงมั่นในสรณะและศีล กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกข้าพระองค์จักไม่มีโรคกลับมาได้ จักขอบังคมพระบาทยุคลของพระองค์อีกพระเจ้าข้า ออกเดินทางไปกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ถึงแดนกันดาร กำหนดหนทางไม่ได้ เลยพากันหลงทางท่องเที่ยวไปในป่า ขาดน้ำขาดอาหาร เห็นต้นไทรซึ่งนาคยึดครองต้นหนึ่ง ก็ชวนกันปลดเกวียน นั่งที่โคนต้น.
พวกนั้นเห็นไทรใบเขียวชอุ่ม ประหนึ่งตะไคร้น้ำ กิ่งไทรเล่าก็เป็นเหมือนอิ่มด้วยน้ำ จึงคิดกันว่า ในต้นไม้นี้ปรากฏเหมือนมีน้ำเอิบอาบ พวกเราตัดกิ่งตะวันออกของต้นไม้นี้เถอะเพื่อจะหลั่งน้ำดื่มให้ได้ ครั้นแล้วคนหนึ่งก็ขึ้นสู่ต้นไม้ตัดกิ่งขาด ท่อน้ำขนาดลำตาลไหลพรั่ง พวกนั้นพากันอาบพากันดื่ม ณ ที่นั้น แล้วพากันตัดกิ่งทางใต้ โภชนะมีรสเลิศต่างๆ พรั่งพรูออกจากนั้น พากันบริโภค แล้วตัดกิ่งตะวันตก เหล่าสตรีผู้ตกแต่งร่างกายแล้ว พากันออกมาจากกิ่งนั้น พากันอภิรมย์กับหมู่สตรีนั้น แล้วตัดกิ่งทางเหนือ แก้ว ๗ ประการหลั่งไหลออกจากกิ่งนั้น พากันเก็บแก้วเหล่านั้นบรรทุกเต็มเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม
กลับมาสู่พระนครสาวัตถี เก็บงำทรัพย์แล้ว ชวนกันถือของหอมและมาลาเป็นต้นไปสู่พระมหาวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา บูชาแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ฟังธรรมกถาแล้ว ทูลนิมนต์ถวายมหาทาน ในวันรุ่งขึ้นพากันให้ส่วนบุญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในทานครั้งนี้ แก่รุกขเทวดาผู้ให้ทรัพย์แก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาทรงฉันเสร็จ ตรัสถามว่า พวกเธอให้ส่วนบุญแก่รุกขเทวดาองค์ไหน.
พวกพ่อค้าพากันกราบทูลเหตุที่พวกตนได้ทรัพย์ในต้นไทรแด่พระตถาคต.
พระศาสดาตรัสว่า พวกเธอมิได้ลุอำนาจตัณหา เพราะเป็นผู้รู้จักประมาณดอกนะจึงได้ทรัพย์ แต่ในครั้งก่อน พวกที่ลุอำนาจตัณหา เพราะไม่รู้จักประมาณ พากันละทิ้งเสียทั้งทรัพย์และชีวิต
พ่อค้าเหล่านั้นพากันกราบทูลอาราธนา ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล ทางกันดารนั้นเอง ต้นไทรก็ต้นนั้นแหละ แต่เมืองเป็นพระนครพาราณสี พ่อค้าพ่อค้าหลงทางพบต้นไทรนั้นเหมือนกัน.
พระศาสดาตรัสรู้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงข้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาทั้งหลายว่า
พวกพ่อค้าพากันมาจากรัฐต่าง ๆ กระทำการประชุมกันในเมืองพาราณสี ตั้งพ่อค้าคนหนึ่งให้เป็นหัวหน้า แล้วพากันขนเอาทรัพย์กลับไป พ่อค้าเหล่านั้นมาถึงแดนกันดาร ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ได้เห็นต้นไทรใหญ่มีร่มเงาเย็นสบาย น่ารื่นรมย์ใจ ก็พากันไปนั่งพักที่ร่มต้นไทรนั้น
พ่อค้าทั้งหลายเป็นคนโง่เขลาถูกโมหะครอบงำ คิดร่วมกันว่า ไม้ต้นนี้บางทีจะมีน้ำไหลซึมอยู่ เชิญพวกเราเหล่าพ่อค้ามาช่วยกันตัดกิ่งข้างทิศตะวันออกแห่งต้นไม้นั้นดูทีเถิด พอกิ่งนั้นถูกตัดขาดออก น้ำใสไม่ขุ่นมัวไหลออกมา พ่อค้าเหล่านั้นก็พากันอาบและดื่ม ที่สายน้ำนั้นจนสมปรารถนา
พ่อค้าทั้งหลายผู้โง่เขลา ถูกโมหะครอบงำ ร่วมคิดกันเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ขอให้พวกเราช่วยกันตัดกิ่ง ข้างทิศใต้แห่งต้นไม้นั้นอีกเถิด พอกิ่งนั้นถูกตัดขาดออก ข้าวสาลี เนื้อสุก ขนมถั่ว ซึ่งมีสีเหมือนข้าวปราศจากน้ำแกงอ่อม ปลาดุก ก็ไหลออกมามากมาย พ่อค้าเหล่านั้นพากันบริโภคเคี้ยวกินจนสมปรารถนา
พ่อค้าทั้งหลายผู้โง่เขลา ถูกโมหะครอบงำ ร่วมคิดเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ขอให้พวกเราช่วยกันตัดกิ่งข้างทิศตะวันตก แห่งต้นไม้นั้นอีกเถิด พอกิ่งนั้นถูกตัดขาดออก เหล่านารีแต่งตัวงามสมส่วน มีผ้าและเครื่องอาภรณ์อันวิจิตร ใส่ต่างหูแก้วมณี พากันออกมา นารีทั้งหลายต่างแยกกันบำเรอพ่อค้าคนละนาง นารี ๒๕ นางต่างก็แวดล้อมพ่อค้าผู้เป็นหัวหน้าอยู่โดยรอบ ที่ร่มแห่งต้นไทรนั้น พ่อค้าเหล่านั้น แวดล้อมด้วยนารีเหล่านั้นจนสมปรารถนา
พ่อค้าทั้งหลายผู้โง่เขลา ถูกโมหะครอบงำ ร่วมคิดเป็นครั้งที่ ๔ ว่า ขอให้พวกเราช่วยกันตัดกิ่งข้างทิศเหนือ แห่งต้นไม้อีกเถิด พอกิ่งนั้นถูกตัดขาดออก แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ เงิน ทอง เครื่องประดับ เครื่องปูลาด ผ้ากาสิกพัสตร์และผ้ากัมพลชื่ออุทธิยะ ก็พรั่งพรูออกมาเป็นอันมาก พ่อค้าเหล่านั้นพากันขนบรรทุกใส่ในเกวียนเหล่านั้นจนสมปรารถนา
พ่อค้าเหล่านั้นเป็นคนโง่เขลาถูกโมหะครอบงำ ร่วมคิดกันเป็นครั้งที่ ๕ ว่า ขอให้พวกเราช่วยกันตัดโคนต้นไม้นั้นเสียทีเดียว บางทีจะได้ของมากไปกว่านี้อีก ทันใดนั้น นายกองเกวียนจึงลุกขึ้น ประคองอัญชลีร้องขอว่า
ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลาย ต้นไทรทำผิดอะไรหรือ(จึงพากันทำร้าย) ขอให้ท่านจงมีความเจริญเถิด
ดูก่อนพ่อค้าทั้งหลาย กิ่งทางทิศตะวันออกก็ให้น้ำ กิ่งทางทิศใต้ก็ให้ข้าวและน้ำ กิ่งทางทิศตะวันตกก็ให้นารี กิ่งทางทิศเหนือก็ให้สิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง ต้นไทรทำผิดอะไรหรือ (จึงพากันจะทำร้าย) ขอให้ท่านจงมีความเจริญเถิด
บุคคลพึงนั่งหรือนอน ที่ร่มเงาแห่งต้นไม้ใด ก็ไม่ควรหักรานก้านแห่งต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม แต่พ่อค้าเหล่านั้นมากด้วยกันไม่เชื่อถือคำของนายกองเกวียนผู้เดียว ต่างก็ถือขวานที่ลับแล้ว พากันเข้าไปหมายจะตัดต้นไทรนั้นที่โคน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมิตึ กตฺวา ความว่า จัดเป็นสมาคม คือมากคนรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวในกรุงพาราณสี.
บทว่า ปกฺกมึสุ ความว่า บรรทุกสิ่งของที่มีในกรุงพาราณสีด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มเดินทางไป.
บทว่า คามณึ ความว่า ตั้งผู้มีปัญญาผู้หนึ่งให้เป็นนายกองเกวียน.
บทว่า ฉาทิยา แปลว่า ที่ร่มเงา.
บทว่า อลฺลายเต คือ ปรากฏเป็นเหมือนเต็มด้วยน้ำ.
บทว่า ฉินฺนาว ปคฺฆรติ พระศาสดาทรงแสดงว่า ผู้ฉลาดในการขึ้นต้นไม้คนหนึ่ง ขึ้นไปตัดกิ่งนั้น พอกิ่งนั้นถูกตัดขาดน้ำใสก็ไหลพลั่ง. แม้ข้างหน้าก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อปฺโปทกวณฺเณ กุมฺมาเส คือ ขนมกุมมาสที่เป็นเสมือนกับข้าวปายาสที่มีน้ำน้อย.
บทว่า สิงฺคิ คือ แกงอ่อมมีแกงที่ใส่ขิงเป็นต้น.
บทว่า วิทลสุปิโย คือ แกงถั่วเขียวเป็นต้น.
บทว่า วาณิชา เอกา คือ แก่พ่อค้าแต่ละคน พ่อค้ามีจำนวนเท่าใด ในจำนวนนั้นคนละ ๑ นางแต่ในสำนักของนายกองเกวียนมีอยู่ถึง ๒๕ นาง.
บทว่า ปริกรึสุ ความว่า แวดล้อม ก็แลพร้อมๆ กันกับนางเหล่านั้น ยังมีเพดานและที่นอนเป็นต้นเหล่านั้น ไหลออกมาด้วยอานุภาพแห่งพญานาค.
บทว่า กุตฺติโย ได้แก่ ถุงมือเป็นต้น.
บทว่า ปฏิยานิ จ ได้แก่ เครื่องปูลาด มีเครื่องปูลาดอันสำเร็จด้วยขนแกะอันฟูเป็นต้น. บางอาจารย์ท่านกล่าวว่า ผ้ากัมพลขาวก็มี.
บทว่า อุฏฺฏิยาเนว กมฺพลา คือผ้ากัมพลชนิดที่ชื่อว่าอุฏฏิยานะมีอยู่.
บทว่า เต ตตฺถ ภาเร พนฺธิตฺวา ความว่า ต้องการเท่าใดก็ขนเอาในที่นั้นเท่านั้น บรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม.
บทว่า วาณิชา ภทฺทมตฺถุ เต ความว่า นายกองเกวียนร้องเรียกพ่อค้าแต่ละคน จึงกล่าวว่า ความเจริญจงมีแก่ท่านเถิด.
บทว่า อนฺนปานญฺจ ความว่า ได้ให้ข้าวและน้ำ.
บทว่า สพฺพกาเม จ ความว่า ได้ให้สิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง.
บทว่า มิตฺตทุพฺโภ ความว่า เพราะว่าผู้ทำลายมิตรทั้งหลายคือบุรุษผู้มุ่งร้ายต่อมิตรทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นคนชั่วช้าลามก.
บทว่า อนาทิยิตฺวา ความว่า ไม่ยึดถือ คือไม่ขอรับถ้อยคำของนายกองเกวียนนั้น.
บทว่า อุปกฺกมุํ ความว่า เตรียมการโค่น คือเริ่มจะตัดเพราะโมหะ.

ครั้งนั้น พญานาคเห็นพ่อค้าเหล่านั้นพากันเข้าไปใกล้ต้นไม้เพื่อที่จะตัด ดำริว่า เราบันดาลน้ำดื่มแก่พวกนี้ผู้กำลังกระหาย จากนั้นให้โภชนะอันเป็นทิพย์ มิหนำซ้ำยังให้ที่นอนและนางบำเรอแก่เขา จากนั้นเล่ายังให้รัตนะเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน แต่ว่าบัดนี้พวกนี้พูดกันว่า จักตัดต้นไม้เสียทั้งโคนเลย ละโมบเหลือเกิน ควรที่เราจะฆ่าเสียให้หมดเว้นแต่นายกองเกวียน. พญานาคนั้นจึงตระเตรียมเสนาสั่งว่า ทหารหุ้มเกราะจำนวนเท่านี้จงเคลื่อนออกไป ทหารแม่นธนูจำนวนเท่านี้จงเคลื่อนออกไป ทหารโล่จำนวนเท่านี้จงเคลื่อนออกไป.

พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ต่อจากนั้น นาคทั้งหลายก็พากันออกไป พวกสวมเกราะ ๒๕ พวกถือธนู ๓๐๐ พวกถือโล่ ๖,๐๐๐ นาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺนทฺธา คือ พวกที่คลุมร่างกายด้วยเกราะหนัง อันประดับด้วยทองและแก้วเป็นต้น.
บทว่า ธนุคฺคหานํ ติสตา ความว่า พวกทหารที่ถือธนูอันทำด้วยเขาแกะมีประมาณ ๓๐๐.
บทว่า จมฺมิโน คือ พวกทหารที่ถือแผ่นโล่ทำด้วยหนังมีประมาณ ๖,๐๐๐ นาย.

ท่านทั้งหลายจงจับพวกนี้มัดฆ่าเสีย อย่าไว้ชีวิตเลย เว้นไว้แต่นายกองเกวียนเท่านั้น นอกนั้นจงสังหารมันทุกคนให้เป็นภัสมธุลีไป.

นี้เป็นคาถาที่พญานาคกล่าว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา โว มุญฺจิตฺถ ชีวิตํ ความว่า ท่านทั้งหลายอย่าปล่อยชีวิตแก่ใครๆ แม้สักคนเดียวเลย.
นาคทั้งหลายกระทำตามนั้น แล้วขนเอาสิ่งของมีเครื่องปูลาดชนิดดีๆ เป็นต้น บรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม ชวนนายกองเกวียนพากันขับเกวียนเหล่านั้นด้วยตนเองไปสู่กรุงพาราณสี เก็บทรัพย์ทั้งปวงไว้ในกองเกวียนของท่านแล้ว ชวนกันอำลาท่านไปสู่นาคพิภพของตนดังเดิม.

พระศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของตน ไม่ควรลุอำนาจแห่งความโลภ พึงกำจัดใจอันประกอบด้วยความโลภเสีย ภิกษุรู้โทษอย่างนี้ และรู้ตัณหาว่าเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีความถือมั่น พึงเป็นผู้มีสติละเว้นโดยรอบเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่พวกพ่อค้าที่ลุอำนาจความโลภพากันถึงความวอดวายอย่างใหญ่หลวง. อธิบายว่า นายกองเกวียนบรรลุสมบัติอันอุดม.
บทว่า หเนยฺย ทิสกํ มนํ ความว่า บัณฑิตพึงกำจัดใจ คือจิตที่ประกอบด้วยโลภะที่เป็นของฝูงสัตว์ผู้มีความโลภมีอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตน.
บทว่า เอวมาทีนวํ ความว่า ภิกษุทราบโทษในความโลภอย่างนี้แล้ว.
บทว่า ตณฺหา ทุกฺขสฺส สมฺภวํ ความว่า และทราบว่าตัณหานั้นเป็นเหตุเกิดพร้อมแห่งทุกข์มีชาติเป็นต้น คือทุกข์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เพราะตัณหานั้น ตัณหานั่นแหละเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์อย่างนี้ ภิกษุรู้แล้วพึงระลึกไว้ด้วยสติอันมาแล้วโดยมรรคเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น.
บทว่า ปริพฺพเช ความว่า พึงประพฤติอิริยาบถ.

พระศาสดาทรงถือเอายอดเทศนาด้วยพระอรหัต.
ก็และครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย พวกพ่อค้าที่ลุอำนาจความโลภ พากันถึงความพินาศใหญ่หลวงในปางก่อนอย่างนี้ เหตุนั้น พึงเป็นผู้ไม่ลุอำนาจความโลภทั่วกัน
ตรัสประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะ พ่อค้าเหล่านั้นพากันดำรงในโสดาปัตติผล
แล้วทรงประชุมชาดกว่า
พญานาคในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระสารีบุตร
ส่วนนายกองเกวียนได้มาเป็น เราตถาคต แล.

จบอรรถกถามหาวาณิชชาดกที่ ๑๐
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา มหาวาณิชชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271975อรรถกถาชาดก 271990
เล่มที่ 27 ข้อ 1990อ่านชาดก 271994อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=7711&Z=7757
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]