ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาสติปัฏฐานสูตร

หน้าต่างที่ ๔ / ๖.

               ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๖ วิธี อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสธัมมานุปัสสนา ๕ วิธี จึงตรัสว่า
               กถญฺจ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธัมมานุปัสสนาเป็นอย่างไรเล่า เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรูปกัมมัฏฐานล้วนด้วยกายานุปัสสนา ตรัสการกำหนดอรูปกัมมัฏฐานล้วนๆ ด้วยเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสนา. บัดนี้ เพื่อจะตรัสการกำหนดรูปกัมมัฏฐานกับอรูปกัมมัฏฐานผสมกัน จึงตรัสว่า
               กถญฺจ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธัมมานุปัสสนาเป็นอย่างไรเล่า เป็นต้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรูปขันธ์ด้วยกายานุปัสนา ตรัสการกำหนดเวทนาขันธ์ด้วยเวทนานุปัสสนา ตรัสการกำหนดวิญญาณขันธ์ด้วยจิตตานุปัสนา. บัดนี้ เพื่อจะตรัสแม้การกำหนดสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ จึงตรัสว่า
               กถญฺจ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธัมมานุปัสสนาเป็นอย่างไรเล่า เป็นต้น.

               นีวรณบรรพ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ มีอยู่ คืออยู่พร้อมด้วยอำนาจฟุ้งขึ้นเนืองๆ.
               บทว่า อสนฺตํ ไม่มีอยู่ คือไม่มีอยู่พร้อม เพราะไม่ฟุ้งขึ้น หรือเพราะละได้แล้ว.
               บทว่า ก็โดยประการใด ความว่า กามฉันท์เกิดขึ้นเพราะเหตุใด.
               บทว่า ตญฺจ ปชานาติ ก็รู้ชัดประการนั้น คือรู้ชัดเหตุนั้น.
               ทุกๆ บท พึงทราบความโดยนัยนี้นี่แล.

               เหตุเกิดกามฉันท์               
               ในนิมิตทั้งสองนั้น กามฉันท์ย่อมเกิดขึ้น เพราะมนสิการโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต. สิ่งที่งามก็ดี อารมณ์ที่งามก็ดี ชื่อว่าสุภนิมิต. การใส่ใจโดยไม่มีอุบาย การใส่ใจนอกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุข ในสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ชื่อว่าอโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยไม่แยบคาย).
               เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในสุภนิมิตนั้น กามฉันท์ย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำให้กามฉันท์ที่เกิดแล้วให้กำเริบยิ่งขึ้น
ดังนี้.

               เหตุละกามฉันท์               
               ส่วนกามฉันท์นั้นจะละได้ก็ด้วยโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยแยบคาย) ในอสุภนิมิต. สิ่งที่ไม่งามก็ดี อารมณ์ที่ไม่งามก็ดี ชื่อว่าอสุภนิมิต. การใส่ใจโดยอุบาย การใส่ใจถูกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าทุกข์ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ.
               เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในอสุภนิมิตนั้น ย่อมละกามฉันท์เสียได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากๆ ซึ่งโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตนั้นๆ นี้เป็นอาหาร เพื่อความไม่เกิดแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละกามฉันท์ที่เกิดแล้ว.

               ธรรมสำหรับละกามฉันท์               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ คือ
                         ๑. การถืออสุภนิมิตเป็นอารมณ์
                         ๒. การประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภภาวนา
                         ๓. การรักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
                         ๔. ความรู้จักประมาณในโภชนะ
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. พูดแต่เรื่องที่เป็นสัปปายะ (เป็นที่สบาย).
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุกำหนดอสุภนิมิต ๑๐ อย่างอยู่ ก็ละกามฉันท์ได้. เมื่อเจริญอสุภ ๑๐ ก็ดี เมื่อปิดทวารในอินทรีย์ทั้งหลายก็ดี รู้จักประมาณในโภชนะ เพราะเมื่อมีโอกาสจะบริโภค ๔-๕ คำมีอยู่ ก็ดื่มน้ำ ยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ ก็ย่อมละกามฉันท์ได้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ (ในขุททกนิกาย เถรคาถา) ว่า
                         จตฺตาโร ปญฺจ อาโลเป    อภุตฺวา ปิเว
                         อลํ ผาสุวิหาราย    ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน
                                  ภิกษุพึงเว้นคำข้าวเสีย ๔-๕ คำ เลิกฉันแล้ว
                         ดื่มน้ำเสีย นี้เป็นข้อปฏิบัติอันสมควรสำหรับภิกษุ
                         ผู้มีตนอันส่งไปแล้ว.

               แม้ภิกษุผู้เสพกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้ยินดีในการเจริญอสุภ เช่นพระติสสเถระ ผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐานก็ย่อมละกามฉันท์ได้. แม้ด้วยการเจรจาปรารภเรื่องเป็นที่สบาย อันอาศัยอสุภ ๑๐ ในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น ก็ย่อมละกามฉันท์ได้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ดังนี้. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็กามฉันท์ที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมไม่เกิดอีกต่อไปด้วยอรหัตมรรค.

               เหตุเกิดพยาบาท               
               ส่วนพยาบาทย่อมเกิด เพราะอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิต.
               ปฏิฆะ (ความขุ่นใจ) ก็ดี อารมณ์อันช่วยให้เกิดปฏิฆะก็ดี ชื่อว่าปฏิฆนิมิต ในคำว่า ปฏิฆนิมิต เป็นต้นนั้น.
               อโยนิโสมนสิการ มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันในธรรมทั้งปวง.
               เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ใน (ปฏิฆะ) นิมิตนั้น พยาบาทย่อมเกิด. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำให้พยาบาทที่เกิดแล้ว กำเริบเสิบสานขึ้น
ดังนี้.

               เหตุละพยาบาท               
               แต่พยาบาทนั้นจะละได้ก็ด้วยการใส่ใจโดยแยบคายในเมตตาเจโตวิมุตติ. ในคำว่า เมตตาเจโตวิมุตินั้น เมื่อพูดกันถึงเมตตา ย่อมควรทั้งอัปปนาทั้งอุปจาระ.
               บทว่า เมตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่อัปปนาโยนิโสมนสิการมีลักษณะดังกล่าวแล้ว. เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ย่อมละพยาบาทได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละพยาบาทที่เกิดแล้ว
ดังนี้.

               ธรรมสำหรับละพยาบาท               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละพยาบาท คือ
                         ๑. การกำหนดนิมิตในเมตตาเป็นอารมณ์
                         ๒. การประกอบเนืองๆ ซึ่งเมตตาภาวนา
                         ๓. การพิจารณาถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน
                         ๔. การทำให้มากซึ่งการพิจารณา
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. การพูดแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย.
               จริงอยู่ แม้เมื่อภิกษุกำหนดเมตตากัมมัฏฐาน ด้วยการแผ่เมตตาไปทั่วทิศโดยเจาะจง หรือไม่เจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมละพยาบาทได้. เมื่อภิกษุเจริญเมตตาโดยแผ่ไปทั่วทิศโดยเจาะจง ไม่เจาะจงก็ดี
               เมื่อพิจารณาถึงความที่ตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของๆ ตนอย่างนี้ว่า
               ท่านโกรธคนนั้น จะทำอะไรเขาได้
               ท่านอาจจักทำศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศได้หรือ
               ท่านมาแล้วด้วยกรรมของตน จักไปด้วยกรรมของตนนั่นแล
               ขึ้นชื่อว่าการโกรธผู้อื่น ก็เป็นเช่นเดียวกับผู้ปรารถนาจะจับถ่านไฟที่คุโชน ซี่เหล็กอันร้อนจัดและอุจจาระเป็นต้น ประหารผู้อื่นฉะนั้น
               หรือถึงคนนั้นโกรธท่าน จักทำอะไรได้
               เขาจักอาจทำศีลเป็นต้นของท่านให้พินาศได้หรือ
               เขามาด้วยกรรมของตน ก็จักไปตามกรรมของเขานั่นแหละ
               ความโกรธนั้นจักตกลงบนกระหม่อมของเขานั่นเอง เหมือนประหารผู้ไม่ประหารตอบ และเหมือนนำธุลีซัดไปในที่ทวนลมฉะนั้น ดังนี้ก็ดี
               เมื่อพิจารณากัมมัสสกตาทั้งสองหยุดอยู่ในการพิจารณาก็ดี
               คบกัลยาณมิตรผู้ยินดีในการเจริญเมตตา เช่นท่านพระอัสสคุตตเถระก็ดี ย่อมละพยาบาทได้.
               แม้ด้วยการเจรจาเรื่องที่เป็นที่สบายซึ่งอาศัยเมตตา ในอิริยาบถทั้งหลายมียืนนั่งเป็นต้น ก็ละพยาบาทได้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละพยาบาทดังนี้.
               ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็พยาบาทที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค.

               เหตุเกิดถีนมิทธะ               
               ถีนมิทธะย่อมเกิดด้วยอโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลาย มีอรติ เป็นต้น. ความไม่ยินดีด้วยกับเขา (ริษยา) ชื่อว่าอรติ. ความคร้านกาย ชื่อว่าตันที. ความบิดกาย (บิดขี้เกียจ) ชื่อว่าวิชัมภิตา. ความมึนเพราะอาหาร ความกระวนกระวายเพราะอาหาร ชื่อว่าภัตตสัมมทะ. อาการ คือความย่อหย่อนแห่งจิต ชื่อว่าความย่อหย่อนแห่งจิต.
               เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในอรติ เป็นต้นนี้ ถีนมิทธะย่อมเกิด. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความคร้านกาย ความบิดกาย ความเมาอาหาร ความหดหู่แห่งจิต มีอยู่. การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านี้ นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำถีนมิทธะที่เกิดแล้วให้กำเริบเสิบสานยิ่งขึ้น
ดังนี้.

               เหตุละถีนมิทธะ               
               แต่ถีนมิทธะนั้น จะละได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายมีอารภธาตุเป็นต้น. ความเพียรเริ่มแรก ชื่อว่าอารภธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังกว่าอารภธาตุนั้น เพราะออกไปพ้นจากความเกียจคร้านแล้ว ชื่อว่านิกกมธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังยิ่งกว่านิกกมธาตุแม้นั้น เพราะล่วงฐานอื่นๆ ชื่อว่าปรักกมธาตุ (ก้าวไปข้างหน้า, บากบั่น).
               เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในความเพียร ๓ ประเภทนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุคือความเริ่มความเพียร ธาตุคือความออกพ้นไปจากความเกียจคร้าน ธาตุคือความก้าวไปข้างหน้ามีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธาตุเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละถีนมิทธะที่เกิดแล้ว
ดังนี้.

               ธรรมสำหรับละถีนมิทธะ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ
                         ๑. การกำหนดนิมิตในโภชนะส่วนเกิน
                         ๒. การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
                         ๓. การใส่ใจถึงอาโลกสัญญา (คือความสำคัญว่าสว่างๆ)
                         ๔. การอยู่กลางแจ้ง
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย
               เพราะว่า เมื่อภิกษุบริโภคโภชนะ เหมือนพราหมณ์ที่ชื่ออาหารหัตถกะ ที่ชื่อตัตรวัฏฏกะ ที่ชื่ออลังสาฏกะ ที่ชื่อกากมาสกะ และที่ชื่อภุตตวมิตกะ นั่งในที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน กระทำสมณธรรมอยู่ ถีนมิทธะย่อมมาท่วมทับได้เหมือนช้างใหญ่
               แต่ถีนมิทธะนั้นจะไม่มีแก่ภิกษุที่เว้นโอกาสบริโภค ๔-๕ คำแล้ว ดื่มน้ำดื่มยังอัตตภาพให้เป็นไปเป็นปกติ เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุกำหนดนิมิตในโภชนะส่วนเกินอย่างนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้
               เมื่อภิกษุเข้าสู่ถีนมิทธะในอิริยาบถใด เปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่น จากอิริยาบถนั้นเสีย ก็ละถีนมิทธะได้.
               เมื่อภิกษุใส่ใจแสงจันทร์ แสงประทีป แสงคบเพลิง ในเวลากลางคืน แสงอาทิตย์เวลากลางวันก็ดี อยู่ในที่กลางแจ้งก็ดี เสพกัลยาณมิตรผู้ละถีนมิทธะได้ เช่นท่านพระมหากัสสปเถระก็ดี ก็ละถีนมิทธะได้.
               แม้ด้วยการเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย ที่อาศัยธุดงค์ในอิริยาบถทั้งหลาย มียืน นั่งเป็นต้น ก็ละถีนมิทธะได้. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ.
               ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะที่ละได้ด้วยธรรม ๖ ประการ จะไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตมรรคดังนี้.

               เหตุเกิดอุทธัจจกุกกุจจะ               
               อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดด้วยอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบแห่งใจ. อาการที่ไม่สงบ ชื่อว่าความไม่สงบ. คำนี้โดยอรรถ ก็คืออุทธัจจกุกกุจจะนั่นเอง.
               เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในความไม่สงบแห่งใจนั้น อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิด. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบแห่งใจมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบแห่งใจนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดแล้ว ให้กำเริบเสิบสานยิ่งขึ้น
ดังนี้.

               เหตุละอุทธัจจกุกกุจจะ               
               แต่อุทธัจจกุกกุจจะนั้นจะละได้ ก็ด้วยโยนิโสมนสิการในความสงบแห่งใจ กล่าวคือสมาธิ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสงบแห่งใจมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบแห่งใจนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดแล้ว
ดังนี้.

               ธรรมสำหรับละอุทธัจจกุกกุจจะ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ
                         ๑. ความสดับมาก
                         ๒. ความสอบถาม
                         ๓. ความชำนาญในวินัย
                         ๔. ความคบผู้เจริญ
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุแม้ร่ำเรียนทั้งบาลี ทั้งอรรถกถานิกายหนึ่ง สอง-สาม-สี่นิกาย หรือห้านิกาย ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. แม้ด้วยความเป็นพหูสูต (พาหุสัจจะ ความเป็นผู้สดับมาก).
               ภิกษุผู้มากด้วยการสอบถามสิ่งที่ควรและไม่ควรก็ดี ผู้ชำนาญเพราะมีความชำนาญอันสั่งสมไว้ในวินัยบัญญัติก็ดี ผู้เข้าหาพระเถระผู้แก่ผู้เฒ่าก็ดี คบกัลยาณมิตรผู้ทรงวินัย เช่น ท่านพระอุบาลีเถระก็ดี ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้.
               แม้ด้วยการเจรจา แต่เรื่องที่เป็นที่สบาย อันอาศัยสิ่งที่ควรและไม่ควร ในอิริยาบถทั้งหลายมียืนนั่งเป็นต้น ก็ละอุทธัจจกุกกุจจะได้. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ.
               ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ อุทธัจจะจะไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตมรรค กุกกุจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค.

               เหตุเกิดวิจิกิจฉา               
               วิจิกิจฉาย่อมเกิดได้ด้วยอโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา. ความเคลือบแคลง เพราะเป็นเหตุแห่งความสงสัยบ่อยๆ ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา.
               เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉานั้น วิจิกิจฉาย่อมเกิด. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉามีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉานั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำวิจิกิจฉาที่เกิดแล้วให้กำเริบเสิบสานยิ่งขึ้น
ดังนี้.

               เหตุละวิจิกิจฉา               
               แต่วิจิกิจฉานั้นจะละได้ก็ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมมีกุศลเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ธรรมที่มีโทษ ไม่มีโทษ ธรรมที่ควรเสพ ไม่ควรเสพ ธรรมที่ทรามประณีต ธรรมที่เทียบด้วยของดำของขาว มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละวิจิกิจฉาที่เกิดแล้ว
ดังนี้.

               ธรรมสำหรับละวิจิกิจฉา               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา คือ
                         ๑. ความสดับมาก
                         ๒. ความสอบถาม
                         ๓. ความชำนาญในวินัย
                         ๔. ความมากด้วยความน้อมใจเชื่อ
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย.
               จริงอยู่ แม้เมื่อภิกษุร่ำเรียนทั้งบาลี ทั้งอรรถกถานิกายหนึ่ง สอง-สาม-สี่ หรือห้านิกาย ย่อมละวิจิกิจฉาได้ ด้วยความเป็นพหูสูต.
               เมื่อภิกษุมากด้วยการปรารภพระรัตนตรัย สอบถามก็ดี มีความชำนาญอันสั่งสมไว้ในวินัยก็ดี มากไปด้วยความน้อมใจเชื่อ กล่าวคือศรัทธาที่ยังกำเริบได้ในพระรัตนตรัยก็ดี คบกัลยาณมิตร เช่นท่านพระวักกลิ ผู้น้อมใจไปในศรัทธาก็ดี ย่อมละวิจิกิจฉาได้.
               แม้ด้วยการเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย อันอาศัยคุณของพระรัตนตรัย ในอิริยาบถทั้งหลายมียืนนั่งเป็นต้น ก็ละวิจิกิจฉาได้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา.
               ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาที่ละได้ด้วยธรรมเหล่านี้ ย่อมไม่เกิดต่อไปด้วยโสดาปัตติมรรค ดังนี้.
               คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตน ในธรรมทั้งหลายของคนอื่น หรือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดนีวรณ์ ๕ อย่างนี้อยู่.
               ก็ความเกิดและความเสื่อม ในคำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดและความเสื่อม นี้ ที่กล่าวแล้วในนีวรณ์ ๕ ด้วยอำนาจอโยนิโสมนสิการและโยนิโสมนสิการ ในสุภนิมิตและอสุภนิมิตเป็นต้น บัณฑิตพึงนำมาเทียบเคียง.
               ข้อต่อไปนี้ ก็มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั้นแล.

               สติกำหนดนีวรณ์เป็นอริยสัจ ๔               
               แต่ในนีวรณบรรพนี้มีต่างกันอย่างเดียว คือพึงประกอบความว่า สติอันกำหนดนีวรณ์เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจ พึงทราบว่าเป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดนีวรณ์เป็นอารมณ์. คำที่เหลือก็เช่นนั้นนั่นแล.
               จบนีวรณบรรพ               

               ขันธบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกธัมมานุปัสสนา โดยนีวรณ์ ๕ อย่างนี้ บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยขันธ์ ๕ จึงตรัสว่า ปุน จปรํ ยังมีอีกข้อหนึ่งเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ในอุปาทานขันธ์ ๕ คือกองอุปาทาน ชื่อว่าอุปาทานขันธ์. อธิบายว่า กลุ่มธรรม คือกองธรรม อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน.
               ความสังเขปในที่นี้มีเท่านี้ ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้แล้วในขันธกถา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า อิติ รูปํ ดังนี้ รูป ความว่า นี้รูป รูปมีเท่านี้. ภิกษุย่อมรู้ชัดรูปโดยสภาพว่า รูปอื่นนอกจากนี้ไม่มี ดังนี้. แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ความสังเขปในที่นี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนรูปเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้วในขันธกถา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยพิสดาร.
               บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย นี้ความเกิดแห่งรูป ความว่า ความเกิดแห่งรูปด้วยอาการ ๕ โดยความเกิดแห่งอวิชชาเป็นต้นย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
               คำว่า อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม ความดับแห่งรูป ความว่า ความดับแห่งรูปด้วยอาการ ๕ โดยดับอวิชชาเป็นต้นย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ความสังเขปในที่นี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้แล้วในอุทยัพพยญาณกถา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํวา หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตน ในธรรมทั้งหลายของคนอื่น หรือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดขันธ์ ๕ อย่างนี้อยู่.
               ก็ความเกิดและความเสื่อมในคำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดและความเสื่อม บัณฑิตพึงนำมาเทียบเคียงโดยลักษณะ ๕๐ ที่กล่าวไว้ในขันธ์ ๕ ว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิดดังนี้เป็นต้น.
               คำอื่นนอกจากนี้ ก็มีนัยดังกล่าวมาแล้ว.

               สติกำหนดขันธ์ ๕ เป็นอริยสัจ ๔               
               แต่ในที่นี้ มีข้อต่างกันอย่างเดียว คือพึงประกอบความอย่างนี้ว่า สติกำหนดขันธ์เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจ ดังนี้แล้ว พึงทราบว่า เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดขันธ์เป็นอารมณ์.
               คำที่เหลือก็เช่นนั้นเหมือนกัน.
               จบขันธบรรพ               

               อายตนบรรพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกธัมมานุปัสสนาด้วยอำนาจขันธ์ ๕ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยอายตนะ จึงตรัสว่า ปุน จปรํ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉสุ อชฺฌตฺติกพาหิเรสุ อายตเนสุ ในอายตนะภายใน และภายนอก ๖ ความว่า ในอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านี้ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์.
               บทว่า จกฺขุญฺจ ปชานาติ รู้ชัดจักษุ ความว่า ย่อมรู้ชัดจักษุประสาท โดยลักษณะพร้อมด้วยกิจตามความเป็นจริง.
               บทว่า รูเป จ ปชานาติ รู้ชัดรูป ความว่า ย่อมรู้ชัดรูปอันเกิดแต่ ๔ สมุฏฐาน (กรรม ฤดู จิต อาหาร) ในภายนอกโดยลักษณะ พร้อมด้วยกิจตามความเป็นจริง.
               คำว่า ยญฺจ ตทุภยํ ปฏิจฺจ อุปฺปชฺชติ สํโยชนํ สังโยชน์ย่อมอาศัยอายตนะทั้งสองเกิดขึ้น ความว่า สังโยชน์ ๑๐ อย่าง คือกามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรมาส ภวราคะ อิสสา มัจฉริยะและอวิชชา สังโยชน์เกิดขึ้น เพราะอาศัยอายตนะทั้งสอง คือจักษุกับรูป. และย่อมรู้ชัดสังโยชน์ ๑๐ นั้น โดยลักษณะพร้อมด้วยกิจตามเป็นจริง.

               เหตุเกิดสังโยชน์               
               ถามว่า ก็สังโยชน์นั้นเกิดได้อย่างไร.
               ตอบว่า เกิดได้อย่างนี้ จะกล่าวในจักษุทวารก่อน เมื่อบุคคลยินดีเพลิดเพลินอิฏฐารมณ์ อันมาปรากฏทางจักษุทวารโดยความยินดีในกาม สังโยชน์ คือกามราคะ ก็เกิด. เมื่อบุคคลขัดเคืองในอนิฏฐารมณ์ สังโยชน์ คือปฏิฆะ ก็เกิด. เมื่อสำคัญว่า ยกเว้นเราเสีย ใครอื่นที่สามารถเสวยอารมณ์นั้นไม่มี ดังนี้ สังโยชน์ คือมานะ ก็เกิด. เมื่อยึดถือรูปารมณ์นั้นว่า เที่ยง ยั่งยืน สังโยชน์ คือทิฏฐิ ก็เกิด. เมื่อสงสัยรูปารมณ์นั้นว่า สัตว์หรือหนอ ของสัตว์หรือหนอ สังโยชน์ คือวิจิกิจฉา ก็เกิด. เมื่อปรารถนาภพว่า อารมณ์นี้ เราได้โดยง่ายในสมบัติภพแน่ สังโยชน์ คือภวราคะ ก็เกิด. เมื่อถือมั่นศีลและพรตว่า เราถือมั่นศีลและพรต อาจได้อารมณ์เห็นปานนี้ต่อไปอีก สังโยชน์ คือสีลัพพตปรามาส ก็เกิด. เมื่อเกียดกันอยู่ว่า คนเหล่าอื่นไม่พึงได้รูปารมณ์เห็นปานนี้กันเลย สังโยชน์ คืออิสสา ก็เกิด. เมื่อหวงแหนรูปารมณ์ที่ตนได้แล้วต่อผู้อื่น สังโยชน์ คือมัจฉริยะ ก็เกิด. เมื่อไม่รู้แจ้ง ด้วยอำนาจความไม่รู้สิ่งซึ่งเกิดพร้อมกับจักษุและรูปทั้งมวล สังโยชน์ คืออวิชชา ก็เกิด.

               ความรู้เหตุละสังโยชน์               
               คำว่า ยถา จ อนุปฺปนฺสส ที่ยังไม่เกิดด้วยเหตุใด ความว่า สังโยชน์แม้ ๑๐ อย่างนั้นที่ยังไม่เกิด โดยความไม่ฟุ้งขึ้น ย่อมเกิดเพราะเหตุใด ย่อมรู้ชัดเหตุนั้นด้วย.
               คำว่า ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส ที่เกิดแล้วเพราะเหตุใด ความว่า สังโยชน์แม้ ๑๐ อย่างนั้นที่เกิดแล้ว เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ หรือเพราะฟุ้งขึ้น ย่อมละได้ เพราะเหตุใด ย่อมรู้ชัดเหตุนั้นด้วย.
               คำว่า ยถา จ ปหีนสฺส ที่ละได้แล้ว เพราะเหตุใด ความว่าสังโยชน์ ๑๐ อย่างนั้นแม้ละได้แล้ว โดยตทังคปหาน และวิกขัมภนปหาน ย่อมไม่เกิดต่อไป เพราะเหตุใด ย่อมรู้ชัดเหตุนั้นด้วย.
               ถามว่า สังโยชน์ ๑๐ นั้นไม่เกิดต่อไป เพราะเหตุใด.
               ตอบว่า ก่อนอื่น สังโยชน์ ๕ คือทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อิสสาและมัจฉริยะ ไม่เกิดต่อไปด้วยโสดาปัตติมรรค. สังโยชน์ ๒ คือกามราคะ ปฏิฆะ อย่างหยาบ ไม่เกิดต่อไปด้วยสกทาคามิมรรค. อย่างละเอียด ไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค. สังโยชน์ ๓ คือมานะ ภวราคะและอวิชชา ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.
               แม้ในคำว่า โสตญฺ จ ปชานาติ สทฺเท จ ย่อมรู้ชัดโสตะนั้นด้วย เสียงด้วยเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง อายตนกถา ในที่นี้พึงทราบโดยพิสดาร ตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในอายตนนิทเทส คัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตน ด้วยการกำหนดอายตนะภายใน ในธรรมทั้งหลายของคนอื่น ด้วยการกำหนดอายตนะภายนอก หรือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล อย่างนี้อยู่.
               ก็ความเกิดและความเสื่อมในอายตนบรรพนี้ พึงนำมาเทียบรูปายตนะลงในรูปขันธ์ มนายตนะในอรูปายตนะทั้งหลายลงในวิญญาณขันธ์ ธัมมายตนะลงในขันธ์ที่เหลือ ไม่พึงถือว่า โลกุตตรธรรม.
               ข้อความต่อจากนี้ มีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.

               สติกำหนดอายตนะเป็นอริยสัจ ๔               
               ในบรรพนี้ มีข้อต่างกันอย่างเดียว คือพึงประกอบความอย่างนี้ว่า สติกำหนดอายตนะเป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจ ดังนี้เป็นต้นแล้ว พึงทราบว่า เป็นทางปฏิบัตินำทุกข์ออกไปของภิกษุผู้กำหนดอายตนะเป็นอารมณ์.
               คำที่เหลือก็เช่นกันแล.
               จบอายตนบรรพ               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=6257&Z=6764
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=9140
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=9140
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :