ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 91อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 97อ่านอรรถกถา 13 / 103อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
พหุเวทนิยสูตร เรื่องช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ

               ๙. อรรถกถาพหุเวทนิยสูตร               
               พหุเวทนิยสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ปัญจกังคะ ในคำว่า ปญฺจกงฺโค ถปติ เป็นชื่อของนายช่างไม้นั้น. เขารู้กันทั่วไปว่า ปัญจกังคะ ก็เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องมือ ๕ อย่าง กล่าวคือ มีด ขวาน สิ่ว ค้อน และสายบรรทัด.
               คำว่า นายช่างไม้ คือ เป็นหัวหน้าช่างไม้. คำว่า อุทายี คือท่านพระอุทายีเถระผู้เป็นบัณฑิต. คำว่า ปริยายํ แปลว่า เหตุ. คำว่า เทฺวปานนฺท แยกสนธิว่า เทฺวปิ อานนฺท. คำว่า ปริยาเยน คือ ด้วยเหตุ.
               ก็บรรดาเวทนาเหล่านั้น พึงทราบว่า เวทนามี ๒ คือ เวทนาที่เป็นไปทางกาย และเป็นไปทางใจ. มี ๓ มีสุขเวทนาเป็นต้น. ว่าโดยอินทรีย์มี ๕ มีสุขินทรีย์เป็นต้น. ว่าโดยทวารมี ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น. ว่าโดยอุปวิจารมี ๑๘ เป็นต้นว่า เห็นรูปด้วยจักษุแล้วก็ตามพิจารณารูป ที่เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ดังนี้. มี ๓๖ อย่างนี้คือ โสมนัสที่อาศัยเรือน ๖ โสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสที่อาศัยเรือน ๖ อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ ๖.
               พึงทราบว่าเวทนาเหล่านั้น คือ อดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็น ๑๐๘.
               พระวาจาว่า ปญฺจ โข อิเม อานนฺท กามคุณา นี้เป็นอนุสนธิ แยกคนละส่วน แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่ทรงบัญญัติเวทนาตั้งต้นเพียง ๒ เท่านั้น ยังตรัสเวทนาแม้เพียง ๑ ไว้โดยปริยายก็มี เมื่อจะทรงแสดงเวทนานั้น จึงทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อสนับสนุนวาทะของนายช่างไม้ที่ชื่อปัญจกังคะ.
               คำว่า อภิกฺกนฺตตรํ แปลว่า ดีกว่า.
               คำว่า ปณีตตรํ แปลว่า สมควรกว่า. ในเวทนาเหล่านั้นนั่นแลตรัสเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา ตั้งแต่จตุตถฌาน. อทุกขมสุขเวทนาแม้นั้น ตรัสเรียกว่าสุข เพราะอรรถว่าสงบ และเพราะอรรถว่าประณีต. โสมนัสที่อาศัยเรือน ๖ ตรัสเรียกว่า สุข. นิโรธ ชื่อว่าสุข โดยเป็นสุขที่ไม่มีผู้เสวย. แท้จริง สุขที่เกิดด้วยอำนาจกามคุณ ๕ และด้วยอำนาจสมาบัติ ๘ ชื่อว่าสุขที่มีผู้เสวย. นิโรธ จึงชื่อว่า สุขที่ไม่มีผู้เสวย. ดังนั้น ไม่ว่าสุขที่มีผู้เสวยก็ตาม สุขที่ไม่มีผู้เสวยก็ตาม ก็จัดว่าสุขอย่างหนึ่งนั่นเอง เพราะอรรถว่าเป็นสุข กล่าวคือภาวะที่ไม่มีทุกข์.
               คำว่า ยตฺถ ยตฺถ แปลว่า ในที่ใดๆ. คำว่า สุขํ อุปลพฺภติ ความว่า ย่อมเกิดสุขที่มีผู้เสวยบ้าง สุขที่ไม่มีผู้เสวยบ้าง.
               คำว่า ตถาคตย่อมบัญญัติสุขนั้นๆ ไว้ในสุข คือ ตถาคตย่อมบัญญัติภาวะที่ไม่มีทุกข์ทั้งหมดนั้นไว้ในสุขอย่างเดียว.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำนิโรธสมาบัติให้เป็นประธาน แล้วจบเทศนาลงด้วยยอดธรรม คือพระอรหัต ด้วยอำนาจเวไนยบุคคล ดังนี้.

               จบอรรถกถาพหุเวทนียสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค พหุเวทนิยสูตร เรื่องช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 91อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 97อ่านอรรถกถา 13 / 103อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1726&Z=1832
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2147
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2147
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :