ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 898อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 899อ่านอรรถกถา 19 / 901อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อินทริยสังยุตต์ ฉฬินทริยวรรคที่ ๓
๔. เอกาภิญญาสูตร

               อรรถกถาเอกาภิญญาสูตรที่ ๔               
               สูตรที่ ๔. พึงทราบความคละปนกันโดยวิปัสสนาด้วยคำว่า ตโต มุทุตเรหิ คือ อินทรีย์ทั้ง ๕ อย่างที่สมบูรณ์แล้ว ก็ย่อมชื่อว่าวิปัสสนานินทรีย์ของอรหัตมรรค. อ่อนกว่านั้นก็เป็นของอันตราปรินิพพายี ฯลฯ ชื่อว่าเป็นวิปัสสนานินทรีย์ของอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี.
               แม้ในฐานะนี้ ก็พึงชักเอาแต่ความเจือปนกันทั้งห้าอย่างที่ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคออกตามนัยก่อนเหมือนกัน. และในที่นี้ต้องชักเอาความเจือปนห้าอย่างออกมาเหมือนที่ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ต้องชักเอาความเจือปนสามอย่างออกมาตามนัยก่อนนั่นแหละ. ก็วิปัสสนินทรีย์แห่งโสดาปัตติมรรคอ่อนกว่าวิปัสสนินทรีย์ของสกทาคามิมรรค และวิปัสสนินทรีย์ของมรรคของเอกซีพีเป็นต้น ก็อ่อนกว่าวิปัสสนินทรีย์เหล่านั้นของโสดาปัตติมรรค.
               และก็พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เอกพีซี มีพืชเดียว นี้ต่อไป
               บุคคลใดได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ละเพียงอัตภาพเดียวเท่านั้น แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ บุคคลนี้ชื่อเอกพีซี.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ก็แล เอกพีซีบุคคล เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ หมดไปอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นพระโสดาบัน ซึ่งไม่มีความตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ มุ่งหน้าแต่จะตรัสรู้ ท่องเที่ยวไปสู่ภพมนุษย์อีกครั้งเดียวเท่านั้นแล้ว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า เอกพีซี.
____________________________
๑- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๙

               ส่วนบุคคลใดท่องเที่ยวไปสองสามภพแล้ว จึงจะทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลนี้ชื่อโกลังโกละ ผู้ออกจากตระกูลไปสู่ตระกูล.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
               ก็แล โกลังโกลบุคคล เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ หมดไปอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นพระโสดาบัน ซึ่งไม่มีความตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนมุ่งหน้าแต่จะตรัสรู้ เขาเที่ยววิ่งไปอีกสองหรือสามตระกูลแล้ว จึงจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า โกลังโกละ.
____________________________
๒- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๘

               พึงทราบว่า ตระกูล ในพระพุทธดำรัสนั้น ได้แก่ ภพ. และคำว่า สองหรือสาม นี้สักว่าเป็นการแสดงในที่นี้เท่านั้น เพราะผู้ท่องเที่ยวไปจนถึงภพที่ ๖ ก็ยังเป็นโกลังโกละอยู่นั่นเอง.
               ผู้ที่เกิดขึ้นอีกอย่างมากก็แค่เจ็ดครั้ง ไม่ถือเอาภพที่แปด นี้ชื่อสัตตักขัตตุปรมะ มีเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง.
               สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
               ก็แล สัตตักขัตตุปรมบุคคล เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไปอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นพระโสดาบันที่ไม่มีความตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอน มุ่งหน้าแต่จะตรัสรู้ เขาท่องเที่ยวไปสู่เทพและมนุษย์ อีก ๗ ครั้งแล้ว จึงจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า สัตตักขัตตุปรมะ.
____________________________
๓- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๗

               ก็แล ฐานะของท่านเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยอำนาจชื่อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาแล้ว คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาชื่อของท่านเหล่านี้ว่า ผู้ถึงฐานะเท่านี้เป็นเอกพีซี เท่านี้เป็นโกลังโกละ เท่านี้เป็นสัตตักขัตตุปรมะ. ส่วนที่กำหนดตายตัวลงไปว่า นี้เป็นเอกพีซี นี้เป็นโกลังโกละ นี้เป็นสัตตขัตตุปรมะ ไม่มี.
               ถามว่า ก็ใครกำหนดประเภทเท่านั้นเท่านี้ของท่านเหล่านั้นลงไป.
               ตอบว่า ก็พระเถระบางท่านกล่าวว่า บุรพเหตุกำหนดลงไป บ้างก็ว่าปฐมมรรค บ้างก็ว่ามรรค ๓ ข้างบน บ้างก็ว่าวิปัสสนาแห่งมรรคทั้ง ๓ กำหนดลงไป.
               ในวาทะที่ว่า บุรพเหตุกำหนดลงไปนั้น อุปนิสัยแห่งปฐมมรรคย่อมชื่อเป็นอันท่านได้กระทำไว้แล้ว ย่อมพ้องกับคำว่า มรรค ๓ ข้างบน ก็เป็นอุปนิสัยที่เกิดแล้ว.
               ในวาทะที่ว่า ปฐมมรรคกำหนดลงไป ก็จะไปติดกับข้อที่ว่ามรรค ๓ ข้างบนหาประโยชน์อะไรไม่ได้. ในวาทะที่ว่า มรรค ๓ ข้างบนกำหนดลงไป ก็จะไปพ้องกับข้อว่า เมื่อปฐมมรรคยังไม่เกิดขึ้นเลย มรรค ๔ ข้างบนก็เกิดขึ้นแล้ว.
               ส่วนวาทะที่ว่า วิปัสสนาแห่งมรรคทั้งสามย่อมกำหนดลงไป ถูก.
               เพราะว่า หากวิปัสสนาแห่งสามมรรคข้างบนมีกำลังพอ ก็ย่อมชื่อว่าเป็นเอกพีซี. ที่อ่อนกว่านั้นก็เป็นโกลังโกละ. ที่อ่อนกว่านั้นอีกก็เป็นสัตตักขัตตุปรมะ ด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ พระโสดาบันบางท่านยังมีอัธยาศัยในวัฏฏะ ชอบวัฏฏะจึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะนั่นแหละอยู่ร่ำไป. อนาถปิณฑิกเศรษฐี วิสาขาอุบาสิกา จุลลรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร อเนกวรรณเทพบุตร ท้าวสักกเทวราช นาคทัตตเทพบุตร ท่านเหล่านี้เท่านี้แหละยังมีอัธยาศัยในวัฏฏะ ชอบวัฏฏะ ต้องชำระเทวโลกหกชั้นตั้งแต่ต้น แล้วดำรงอยู่ในชั้นอกนิฏพรหมโลก จึงจะปรินิพพาน ท่านเหล่านี้ไม่ถือเอาในกรณีนี้. ไม่ใช่แต่ท่านเหล่านี้เท่านั้นผู้ที่ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์เท่านั้น ครบเจ็ดครั้งแล้ว จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี ผู้ที่เกิดในเทวโลกแล้วเที่ยวไปเที่ยวมาแต่ในเทวโลกเท่านั้นจนครบเจ็ดครั้ง แล้วจึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี แม้ท่านพวกนี้ก็ไม่ถือเอาในที่นี้ แต่ในที่นี้ถือเอาแต่ผู้ที่บางทีก็ท่องเที่ยวไปในมนุษย์ บางทีก็ในเทวดาแล้วสำเร็จเป็นพระ อรหันต์เท่านั้น
               เพราะฉะนั้น คำว่า สัตตักขัตตุปรมะ นี้ พึงทราบว่า ในที่นี้ทรงแสดงชื่อของพระโสดาบันประเภทสุกขวิปัสสกที่ปะปนอยู่ในพระอริยบุคคลทั้ง ๘ หมวด.
               สำหรับในบทว่า ธมฺมานุสารี ผู้ไปตามธรรม สทฺธานุสารี ผู้ไปตามความเชื่อถือ นี้หมายความว่า ในศาสนานี้ มีธุระสองอย่าง คือศรัทธาธุระ ปัญญาธุระ ความตั้งมั่นสองอย่างคือ ตั้งมั่นในศรัทธา ตั้งมั่นในปัญญา สำหรับผู้ที่จะให้โลกุตรธรรมเกิดขึ้น.
               ในธุระและความตั้งมั่นเหล่านั้น ภิกษุใด ถ้าอาจให้เกิดขึ้นด้วยศรัทธาได้ แล้วทำศรัทธาธุระว่า เราจะให้โลกุตรธรรมเกิดขึ้น แล้วยังโสดาปัตติมรรคให้เกิดขึ้นมาได้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสัทธานุสารี ผู้ไปตามความเชื่อถือในขณะแห่งมรรค.
               ส่วนในขณะแห่งผลก็ชื่อว่า สัทธาวิมุต เป็นผู้หลุดพ้นด้วยความเชื่อถือ แบ่งเป็นสามพวกคือ เอกพีซี เป็นผู้มีพืช (การเกิด) ครั้งเดียว โกลังโกละ ผู้จากตระกูลสู่ตระกูล สัตตักขัตตุปรมะ ผู้อย่างมากก็เจ็ดครั้ง.
               ในบุคคลเหล่านี้ บุคคลแต่ละคนย่อมถึงสี่พวกด้วยอำนาจแห่งทุกขาปฏิปทาเป็นต้น ฉะนั้น ด้วยศรัทธาธุระจึงมีอยู่ ๑๒ พวก.
               ส่วนภิกษุใด ถ้าอาจให้เกิดด้วยปัญญาได้แล้วทำปัญญาธุระว่า เราจะให้โลกุตรธรรมเกิดขึ้น แล้วยังโสดาปัตติมรรคให้เกิดขึ้นมาได้
               ภิกษุนั้น ในขณะแห่งมรรค ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าธัมมานุสารี ผู้ไปตามธรรม. ส่วนในขณะแห่งผล ก็ชื่อว่าปัญญาวิมุต เป็นผู้หลุดพ้นด้วยความรู้แจ่มชัด ซึ่งแบ่งเป็น ๑๒ พวกต่างด้วยพระอริยบุคคลมีเอกพีซีเป็นต้นด้วยประการฉะนี้ พระโสดาบันที่ดำรงอยู่ในมรรค ๒ ก็รวมเป็น ๒๔ พวกไปในขณะแห่งผล.
               เล่ากันมาว่า พระติสสเถระผู้ชำนาญพระไตรปิฎก คิดว่า เราจะชำระปิฎกทั้งสาม จึงไปสู่ฝั่งอื่น. มีกุฏุมพีคนหนึ่ง บำรุงท่านด้วยปัจจัย ๔ พระเถระกล่าวว่า อุบาสก เราจะไปในเวลามา.
               กุฏุมพี. ที่ไหนครับ.
               เถระ. สำนักอาจารย์และอุปัชฌาย์ของอาตมา.
               กุฏุมพี. กระผมไปด้วยไม่ได้หรอกครับ ก็แล กระผมรู้คุณพระศาสนาได้ ก็เพราะอาศัยพระคุณท่าน ลับหลังท่านแล้วกระผมจะเข้าไปหาภิกษุแบบไหนได้เล่า.
               ลำดับนั้น พระเถระได้บอกเขาว่า ภิกษุใดที่สามารถเพื่อจะชี้พระโสดาบัน ๒๔ พวก พระสกทาคามี ๑๒ พวก พระอนาคามี ๔๘ พวก พระอรหันต์ ๑๒ พวก แล้วแสดงธรรมได้ ท่านควรบำรุงภิกษุเห็นปานนั้นเถิด.
               ดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นอันว่าในพระสูตรนี้ พระองค์ได้ทรงแสดงวิปัสสนาไว้ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาเอกาภิญญาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อินทริยสังยุตต์ ฉฬินทริยวรรคที่ ๓ ๔. เอกาภิญญาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 898อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 899อ่านอรรถกถา 19 / 901อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=5357&Z=5374
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=6833
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=6833
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :