ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 63อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 64อ่านอรรถกถา 23 / 65อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มหาวรรคที่ ๒
๓. นครสูตร

               อรรถกถานคโรปมสูตรที่ ๓               
               นครสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ยโต แปลว่า ในกาลใด.
               บทว่า ปจฺจนฺติมํ ได้แก่ นครอันตั้งอยู่ในที่สุดแห่งรัฐ คือปลายเขตรัฐ. ก็การรักษานครในมัชฌิมประเทศ ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงไม่ทรงถือเอากิจ คือรักษานครนั้น.
               บทว่า นครปริกฺขาเรหิ ปริกฺขิตฺตํ ความว่า ประดับตกแต่ง ด้วยเครื่องประดับพระนคร.
               บทว่า อกรณียํ ความว่า อันข้าศึกภายนอกพึงกระทำไม่ได้ คือเอาชนะไม่ได้.
               บทว่า คมฺภีรเนมา ได้แก่ หลุมลึก.
               บทว่า สุนิขาตา ได้แก่ ฝังไว้ดีแล้ว.
               ก็ชาวพระนครย่อมสร้างเสาระเนียดนั้นด้วยอิฐบ้าง ด้วยหินบ้าง ด้วยไม้แก่นมีไม้ตะเคียนเป็นต้นบ้าง เมื่อสร้างเสาระเนียดนั้น เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองพระนคร ก็สร้างไว้ภายนอกพระนคร เมื่อสร้างเพื่อประโยชน์แก่การตกแต่ง ก็สร้างไว้ภายนอกพระนคร. เมื่อทำเสาระเนียดนั้นให้สำเร็จด้วยอิฐ ก็ขุดหลุมใหญ่ ฝังลงไป ในเบื้องบนทำเป็น ๘ เหลี่ยม ฉาบด้วยปูนขาว.
               เมื่อใดช้างเอางาแทงก็ไม่หวั่นไหว เมื่อนั้น เสาระเนียดนั้นย่อมชื่อว่าฉาบดีแล้ว. เสาระเนียด แม้จะสำเร็จด้วยเสาหินเป็นต้น เป็นเสามีแปดเหลี่ยมเท่านั้น. ถ้าเสาเหล่านั้นยาว ๘ ศอกไซร้ ก็ฝังลงในหลุมลึกประมาณ ๔ ศอก ข้างบนประมาณ ๔ ศอก. แม้ในเสาระเนียดยาว ๑๖ ศอกหรือ ๒๐ ศอกก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็เสาระเนียดทั้งหมดฝังลงไปข้างล่างครึ่งหนึ่ง อยู่ข้างบนครึ่งหนึ่ง เสาเหล่านั้นคดคล้ายเยี่ยวโค เพราะเหตุนั้น บุคคลย่อมอาจทำงานได้โดยใช้ไม้เรียบในระหว่างเสาเหล่านั้น
               อนึ่ง เสาเหล่านั้น เขาทำลวดลายไว้ ยกธงไว้ด้วย.
               บทว่า ปริกฺขา ได้แก่ เหมืองที่จัดล้อมไว้.
               บทว่า อนุปริยายปโต ได้แก่ หนทางใหญ่ที่เลียบไปกับภายในกำแพง ซึ่งทหารทั้งหลายตั้งอยู่ รบกับเหล่าทหารที่ตั้งอยู่ภายนอกกำแพง.
               บทว่า สลากํ ได้แก่ อาวุธซัดมีศรและโตมร เป็นต้น.
               บทว่า เชวนิกํ ได้แก่ อาวุธที่เหลือมีอาวุธมีคมข้างเดียวเป็นต้น.
               บทว่า หตฺถาโรหา ได้แก่ ชนทั้งปวงมีอาจารย์ฝึกช้าง หมอรักษาช้างและคนเลี้ยงช้างเป็นต้น.
               บทว่า อสฺสาโรหา ได้แก่ ชนทั้งปวงมีอาจารย์ผู้ฝึกม้า หมอรักษาม้าและคนเลี้ยงม้าเป็นต้น.
               บทว่า ธนุคฺคาหา ได้แก่ ทหารยิงธนู.
               บทว่า เจลกา ได้แก่ เหล่าทหารผู้ถือธงชัยนำหน้าในสนามรบ.
               บทว่า จลกา ความว่า ผู้จัดกระบวนทัพอย่างนี้ว่า ตำแหน่งพระราชาอยู่ที่นี่ ตำแหน่งมหาอำมาตย์ ชื่อโน้นอยู่ที่นี่.
               บทว่า ปิณฺฑทายกา ได้แก่ ทหารใหญ่หน่วยจู่โจม.
               อธิบายว่า ได้ยินว่า ทหารเหล่านั้นเข้าไปยังกองทัพแห่งปรปักษ์ ตัดเอาเป็นท่อนๆ แล้วนำไปเหมือนนำก้อนข้าวไปเป็นก้อนๆ แล้วโดดหนีไป.
               อีกนัยหนึ่ง ทหารเหล่าใดถือเอาข้าวและน้ำดื่มเข้าไปให้แก่กองทหารในกลางสงครามได้. คำว่า บิณฑทายกา นั่นเป็นชื่อของทหารแม้เหล่านั้น.
               บทว่า อุคฺคา ราชปุตฺตา ได้แก่ เหล่าทหารผู้เป็นลูกเจ้ามีสกุลสูงๆ ชำนาญสงคราม.
               บทว่า ปกฺขนฺทิโน ได้แก่ เหล่าทหารที่ถามกันว่า พวกเราจะไปนำเอาศีรษะหรืออาวุธของใครมา ได้รับคำตอบว่า ของทหารคนโน้น ดังนี้แล้วก็โลดแล่นเข้าสู่สงครามนำเอาศีรษะหรืออาวุธนั้นมาได้. ทหารเหล่านี้ย่อมโลดแล่นเข้าไปเหตุนั้นจึงชื่อว่าปักขันที หน่วยกล้าตาย.
               ทหารเหล่านั้น ชื่อว่ากล้าหาญมากมาก เหมือนพระยาช้างฉะนั้น.
               บทว่า มหานาคา นี้ เป็นชื่อของทหารผู้ไม่ยอมถอยกลับ ในเมื่อช้างเป็นต้น มาเผชิญหน้ากันอยู่.
               บทว่า สูรา ได้แก่เหล่าทหารผู้ที่แกล้วกล้าเป็นเอก แม้สวมตาข่ายก็สามารถข้ามสมุทรไปได้.
               บทว่า จมฺมโยธิโน ได้แก่ ทหารผู้ที่สวมเกราะหนัง หรือถือโล่หนังทำการรบ.
               บทว่า ทาสกปุตฺตา ได้แก่ ทหารทาสในเรือนเบี้ย ผู้มีความรักนายอย่างรุนแรง.
               บทว่า โทวาริโก แปลว่า ทหารรักษาประตู.
               บทว่า วาสนเลปนสมฺปนฺโน ความว่า กำแพงอันประกอบด้วยการก่ออิฐด้วยการปิดช่องทั้งปวง ด้วยการฉาบปูนขาว. อีกอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยก่ออิฐกล่าวคือกำแพงติดขวากหนาม และฉาบด้วยปูนขาวเป็นแท่งทึบเกลี้ยง ทำลวดลายแสดงแถวหม้อเต็มน้ำ ยกธงขึ้นไว้.
               บทว่า ติณกฏฺโฐทกํ ความว่า หญ้าที่นำมาเก็บไว้ในที่มากแห่งเพื่อประโยชน์ของสัตว์มีช้างม้าเป็นต้น และเพื่อประโยชน์แก่การมุงบ้าน ไม้ที่นำมากองไว้เพื่อประโยชน์ทำบ้าน และฟืนหุงต้นเป็นต้น น้ำที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์สูบเข้าเก็บไว้ในสระโบกขรณี.
               บทว่า สนฺนิจิตํ โหติ ความว่า ย่อมเป็นอันสะสมไว้เป็นอย่างดีในที่หลายแห่ง เตรียมไว้ล่วงหน้าก่อน.
               บทว่า อพฺภนฺตรานํ รติยา ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ความอุ่นใจของพวกผู้คนที่อยู่ในเมือง.
               บทว่า อปริตสฺสาย ความว่า เพื่อประโยชน์ไม่ให้ต้องหวาดสะดุ้ง.
               บทว่า ติลมุคฺคมาสาปรณฺณํ ได้แก่ งา ถั่วเขียว ถั่วเหลืองและอปรัณณชาตที่เหลือ.
               บัดนี้เพราะเหตุที่กิจกรรมในพระนครของพระตถาคตไม่มี แต่อุปมามาแล้วอย่างนี้ว่า ก็เราจะแสดงพระอริยสาวกให้เป็นเสมือน สัทธรรม ๗ เสมือนเครื่องแวดล้อมพระนคร และฌาน ๔ เสมือนอาหาร ๔ แล้วจำเราจักยักเยื้องเทศนาใส่พระอรหัตเข้าในฐานะ ๑๑ ฉะนั้นเพื่อจะประกาศเทศนานั้น จึงทรงเริ่มคำมีอาทิว่า เอวเมว โข ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธมฺเมหิ แปลว่า ด้วยธรรมอันดี.
               บทว่า สทฺโธ ได้แก่ ประกอบด้วยความปักใจเชื่อ และด้วยการเชื่อโดยผลประจักษ์.
               ในความเชื่อ ๒ อย่างนั้น การเชื่อผลแห่งทานและศีลเป็นต้นแล้ว เชื่อในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ชื่อว่าโอกัปปนสัทธา ปักใจเชื่อ. ศรัทธาอันมาแล้วโดยมรรค ชื่อว่าปัจจักขสัทธา การเชื่อโดยผลประจักษ์.
               แม้ในบทว่า ปสาทสัทธา ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               พึงชี้แจงลักษณะเป็นต้นของศรัทธานั้นให้แจ่มแจ้ง
               ความเชื่อนี้ ตามบาลีว่า ดูก่อนมหาบพิตร ศรัทธามีการแล่นไปเป็นลักษณะ และมีการผ่องใสเป็นลักษณะ ชื่อว่าลักษณะของศรัทธา แต่ความเชื่อที่ตรัสโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พึงทราบบุคคลผู้มีศรัทธาเลื่อมใสแล้ว โดยฐานะ ๓ ฐานะ ๓ คือเป็นผู้ใคร่เห็นบุคคลผู้มีศีลทั้งหลาย ชื่อว่านิมิตของศรัทธา.
               ก็อาหารคืออะไร? ก็อาหารตามบาลีนี้ว่า พึงเป็นคำที่ควรกล่าวว่า การฟังพระสัทธรรม ย่อมมีด้วยศรัทธา ชื่อว่าอาหารของศรัทธานั้น.
               บาลีนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจักเป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่ายในรูปอยู่ฉันใด ธรรมนี้ชื่อว่าเป็นธรรมสมควรแก่ภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา นี้ชื่อว่าอนุธรรม ธรรมสมควรแก่ภิกษุนั้น ก็ความที่ศรัทธานั้นมีกิจอย่างมาก โดยภาวะที่จะเห็นสมด้วยห่อข้าวที่มัดรวมกันไว้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศไว้แล้วในพระสูตรทั้งหลายมีอาทิว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง สิริเป็นที่มานอนของโภคทรัพย์ทั้งหลาย ศรัทธาเป็นเพื่อนสองของบุรุษ บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ฝนคือตปะย่อมทำพืชคือศรัทธาให้งอกงาม. พระยาช้างคือพระอรหันต์ มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาสะอาด.
               แต่ในนคโรปมสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงศรัทธานี้ให้เป็นเสมือนเสาระเนียด เพราะตั้งอยู่ด้วยดีไม่หวั่นไหว. พึงกระทำการเป็นเครื่องประกอบใหม่ ทุกบทโดยนัยมีอาทิว่า บทว่า สทฺเธสิโก ความว่า พระอริยสาวกกระทำศรัทธาให้เป็นดุจเสาระเนียด ย่อมละอกุศลได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในพระสูตรนี้ สังวร คือความสำรวมในทวารทั้ง ๓ ย่อมสำเร็จผลด้วยหิริและโอตตัปปะ สังวร คือความสำรวมนั้น จึงจัดเป็นปาริสุทธิศีล ๔. ดังนั้น ในพระสูตรนี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใส่พระอรหัตเข้าไว้ในฐานะ ๑๑ แล้วทรงถือเอาเป็นยอดแห่งเทศนา.

               จบอรรถกถานคโรปมสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มหาวรรคที่ ๒ ๓. นครสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 63อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 64อ่านอรรถกถา 23 / 65อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=2260&Z=2384
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4465
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4465
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :