ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 112อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 113อ่านอรรถกถา 26 / 114อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓
๓. รถการีเปตวัตถุ

               อรรถกถารถการีเปติวัตถุที่ ๓               
               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ทรงปรารภนางเปรตตนหนึ่ง จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า เวฬุริยถมฺภํ รุจิรํ ปภสฺสรํ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ หญิงคนหนึ่งสมบูรณ์ด้วยศีลและอาจาระ มีกัลยาณมิตรเป็นที่อิงอาศัย เลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา ได้สร้างอาวาสไว้แห่งหนึ่งน่าดูยิ่ง มีฝา เสา บันไดและพื้นภูมิอันวิจิตรอันจำแนกไว้ด้วยดี นิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้นั่งในอาวาสนั้น อังคาสด้วยอาหารอันประณีต แล้วมอบถวายแด่ภิกษุสงฆ์.
               สมัยต่อมา นางทำกาละแล้วเกิดเป็นนางวิมานเปรต อาศัยสระชื่อรถการะที่ขุนเขาหิมพานต์ ด้วยอำนาจบาปกรรมอย่างหนึ่ง. ด้วยอานุภาพบุญที่นางถวายอาวาสแก่สงฆ์ วิมานอันล้วนด้วยรัตนะทุกอย่างกว้างขวางโดยรอบ น่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ใจอย่างยิ่ง งดงามเสมือนนันทนวัน ณ สระโบกขรณี ย่อมเกิดขึ้นแก่นางและนางเองก็มีผิวพรรณดังทองคำ งดงามน่าชมน่าเลื่อมใส.
               นางเว้นจากพวกบุรุษเสีย เสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อนางไม่มีบุรุษอยู่ในที่นั้นเป็นเวลานานก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้น นางรำคาญขึ้นแล้วคิดว่า อุบายนี้ใช้ได้ จึงทิ้งมะม่วงสุกอันเป็นทิพย์ลงในแม่น้ำ.
               คำทั้งหมดพึงทราบโดยนัยอันมาแล้วในเรื่องนางกรรณมุณฑเปรตนั่นแหละ.
               ก็ในเรื่องนี้ ยังมีมาณพคนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี เห็นผลมะม่วงผลหนึ่งในบรรดามะม่วงสุกเหล่านั้น ในแม่น้ำคงคา จึงไปสู่ที่อยู่ของนางโดยทำนองนั้น นางเห็นดังนั้นจึงนำเขาไปยังที่อยู่ของตน กระทำปฏิสันถารแล้วนั่ง.
               เขาเห็นความสมบูรณ์ของสถานที่อยู่ของนาง เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               ดูก่อนนางเทวีผู้มีอานุภาพมาก ท่านขึ้นสู่วิมานมีเสาเป็นวิการแห่งแก้วไพฑูรย์ งามผุดผ่อง มีรูปภาพอันวิจิตรต่างๆ อยู่ในวิมานนั้น ดุจพระจันทร์เพ็ญลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้า ฉะนั้น.
               อนึ่ง รัศมีของท่านมีสีดังทองคำ ท่านมีรูปอันอุดมน่าดูน่าชมยิ่งนัก นั่งอยู่แต่ผู้เดียวบนบัลลังก์อันประเสริฐ มีค่ามาก สามีของท่านไม่มีหรือ
               ก็สระโบกขรณีของท่านเหล่านี้มีอยู่โดยรอบ มีบัวต่างๆ เป็นอันมาก มีบัวขาวมากเกลื่อนกล่นด้วยทรายทองโดยรอบ.
               ในสระโบกขรณีนั้นหาเปือกตมและจอกแหนมิได้ มีหงส์น่าดูน่าชมน่ารื่นรมย์ใจ เที่ยวแวะเวียนไปในน้ำทุกเมื่อ หงส์ทั้งปวงนั้นมีเสียงไพเราะ พากันมาประชุมร่ำร้องอยู่ เสียงร่ำร้องของหงส์ในสระโบกขรณีของท่านมิได้ขาดเสียง ดุจเสียงกลอง ท่านมียศงามรุ่งเรือง ลงนั่งอยู่ในเรือ ท่านมีคิ้วโก้งดำดี มีหน้ายิ้มแย้ม พูดจาน่ารักใคร่ มีอวัยวะทั้งปวงงามรุ่งเรืองยิ่งนัก.
               วิมานนี้ปราศจากละอองธุลี ตั้งอยู่ที่ภาคพื้นอันราบเรียบ มีสวนนันทนวันอันให้เกิดความยินดี เพลิดเพลินเจริญใจ ดูก่อนนารีผู้มีร่างน่าดูน่าชม เราปรารถนาเพื่อจะอยู่บันเทิงกับท่าน ในสวนนันทนวันของท่านนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ โยคว่าในวิมานนั้น.
               บทว่า อจฺฉสิ ได้แก่ ท่านนั่งอยู่ในเวลาที่ปรารถนาแล้วๆ.
               มาณพเรียกนางเปรตนั้นว่า เทวิ.
               บทว่า มหานุภาเว ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยอานุภาพทิพย์อันใหญ่.
               บทว่า ปถทฺธนิ ได้แก่ ทางไกลอันเป็นทางของตน. อธิบายว่า ทางพื้นอากาศ.
               บทว่า ปณฺณรเสว จนฺโท ความว่า โชติช่วงอยู่ ดุจพระจันทร์อันมีดวงบริบูรณ์ในวันเพ็ญ.
               บทว่า วณฺโณ จ เต กนกสฺส สนฺนิโภ ความว่า ก็ผิวพรรณของท่านดุจทองสิงคีอันสุกปลั่ง น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก. ด้วยเหตุนั้น มาณพจึงกล่าวว่า มีรูปอันอุดมน่าดูน่าชมยิ่งนัก.
               บทว่า อตุเล ได้แก่ อันควรค่ามาก.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อตุเล เป็นคำเรียกเทวดา. อธิบายว่า มีรูปไม่มีใครเหมือน.
               บทว่า นตฺถิ จ ตุยฺห สามิโก ความว่า ก็สามีของท่านไม่มีหรือ.
               บทว่า ปหูตมลฺยา ได้แก่ มีดอกไม้หลายชนิดมีดอกบัวเป็นต้น.
               บทว่า สุวณฺณจุณฺเณหิ แปลว่า ด้วยทรายทอง.
               บทว่า สมนฺตโมตฺถตา แปลว่า เกลื่อนกล่นโดยรอบ.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในสระโบกขรณีทั้งหลายนั้น.
               บทว่า ปงฺโก ปณโก จ ความว่า ไม่มีเปือกตมหรือจอกแหนในน้ำ.
               บทว่า หํสา จิเม ทสฺสนียา มโนรมา ความว่า หงส์เหล่านี้ดูน่าเป็นสุข น่ารื่นรมย์ใจ.
               บทว่า อนุปริยนฺติ ได้แก่ ท่องเที่ยวไป.
               บทว่า สพฺพทา ได้แก่ ในทุกฤดูกาล.
               บทว่า สมยฺย แปลว่า ประชุมกัน.
               บทว่า วคฺคู แปลว่า ไพเราะ.
               บทว่า อุปนทนฺติ แปลว่า เพรียกร้องอยู่.
               บทว่า พินฺทุสฺสรา ได้แก่ มีเสียงไม่แตกพร่า คือมีเสียงกลมกล่อม.
               บทว่า ทุนฺทุภีนํ ว โฆโส ความว่า เสียงร้องของพวกหงส์ในสระโบกขรณีของท่าน ดุจเสียงกลอง เพราะเป็นเสียงไพเราะและกลมกล่อม.
               บทว่า ททฺทลฺลมานา ได้แก่ รุ่งเรืองอย่างยิ่ง.
               บทว่า ยสสา ได้แก่ ผู้มีเทพฤทธิ์.
               บทว่า นาวาย ได้แก่ ในเรือโกรน.
               จริงอยู่ มาณพเห็นนางเปรตนั่งอยู่บนบัลลังก์อันมีค่ามากในเรือทองคำ กำลังเล่นกีฬาในน้ำ ณ สระโบกขรณีอันมีกอปทุม จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อวลมฺพ ความว่า ลงนั่งไม่อิงพนัก.
               คำว่า ติฏฺฐสิ นี้ เป็นคำห้ามการไป เพราะฐานะศัพท์ มีอันห้ามการไปเป็นอรรถ. บาลีว่า นิสชฺชสิ ดังนี้ก็มี พึงเห็นความแห่งบทว่า นิสชฺชสิ เป็น นิสีทสิ นั่นเอง.
               บทว่า อาฬารปมฺเห ได้แก่ มีขนตาดำ ยาวงอน.
               บทว่า หสิเต แปลว่า มีหน้ายิ้มแย้มร่าเริงยิ่งนัก.
               บทว่า ปิยํวเท แปลว่า พูดจาน่ารักใคร่.
               บทว่า สพฺพงฺคกลฺยาณิ แปลว่า งามด้วยอวัยวะทั้งปวง คือมีอวัยวะทุกส่วนงดงาม.
               บทว่า วิโรจสิ แปลว่า รุ่งเรืองยิ่งนัก.
               บทว่า วิรชํ แปลว่า ปราศจากธุลี คือไม่มีโทษ.
               บทว่า สเม ฐิตํ ได้แก่ ตั้งอยู่ที่ภาคพื้นอันราบเรียบ หรือตั้งอยู่ที่ภาคพื้นอันเสมอ เพราะงดงามทั้ง ๔ ด้าน. อธิบายว่า งามรอบด้าน.
               บทว่า อุยฺยานวนฺตํ ได้แก่ ประกอบด้วยสวนนันทนวัน.
               บทว่า รตินนฺทิวฑฺฒนํ ความว่า ชื่อว่ารตินันทิวัฑฒนะ เพราะทำความยินดีและความเพลิดเพลินใจให้เจริญ. อธิบายว่า ทำสุขและปีติให้เจริญ.
               คำว่า นาริ เป็นคำร้องเรียกนางเปรตนั้น.
               บทว่า อโนมทสฺสเน ได้แก่ เห็นเข้าไม่น่าติเตียน เพราะมีอวัยวะน้อยใหญ่บริบูรณ์.
               บทว่า นนฺทเน ได้แก่ ผู้กระทำความบันเทิงใจ.
               บทว่า อิธ แปลว่า ในสวนนันทนวันนี้ หรือในวิมานนี้.
               บทว่า โมทิตุํ มีวาจาประกอบความว่า เราปรารถนาเพื่อจะอภิรมย์.
               เมื่อมาณพนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว วิมานเปติเทวดานั้นเมื่อจะให้คำตอบแก่มาณพนั้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
               ท่านจงกระทำกรรมอันจะให้ท่านได้เสวยผลในวิมานของเรานี้ และจิตของท่านจงน้อมมาในวิมานนี้ด้วย ท่านทำกรรมอันบันเทิงในที่นี้แล้ว จักได้อยู่ร่วมกับเราสมความประสงค์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรหิ กมฺมํ อิธ เวทนียํ ความว่า ท่านจงทำ คือพึงได้ประสบกุศลกรรมอันเผล็ดผล คือให้ผลในทิพยสถานนี้.
               บทว่า อิธ นิหิตํ ได้แก่ น้อมนำจิตเข้าไปในวิมานนี้. บาลีว่า อิธ นินฺนํ ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า จิตของท่านจงน้อม โอนเอื้อมไปในที่นี้.
               บทว่า มมํ แปลว่า ซึ่งเรา. บทว่า ลจฺฉสิ แปลว่า จักได้.
               มาณพนั้นได้ฟังคำของนางวิมานเปรตนั้นแล้ว จากที่นั้นไปยังถิ่นมนุษย์ ตั้งจิตนั้นไว้ในที่นั้น กระทำบุญกรรมอันเกิดแต่จิตนั้น ไม่นานนัก กระทำกาละแล้วบังเกิดในวิมานนั้น เข้าถึงความเป็นสหายกับนางเปรตนั้น.
               พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
               มาณพนั้นรับคำของนางเปรตนั้นแล้ว ได้กระทำกรรมอันเป็นกุศลส่งผลให้เกิดในวิมานนั้น ครั้นแล้วได้เข้าถึงความเป็นสหายของนางเวมานิกเปรตนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ เป็นนิบาตใช้ในอรรถสัมปฏิจฉนัตถะ.
               บทว่า ตสฺสา ได้แก่ นางเวมานิกเปรตนั้น.
               บทว่า ปฏิสฺสุณิตฺวา ได้แก่ รับคำของนางเวมานิกเปรตนั้น.
               บทว่า ตหึ เวทนียํ ได้แก่ กุศลกรรมอันมีผลเป็นสุขที่จะพึงได้รับกับนางเวมานิกเปรตนั้น ในวิมานนั้น.
               บทว่า สหพฺยตํ คือ ซึ่งความอยู่ร่วมกัน. มีวาจาประกอบความว่า มาณพนั้นเข้าถึงความเป็นสหายกับนางเวมานิกเปรตนั้น.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น.
               เมื่อคนเหล่านั้นเสวยทิพยสมบัติในวิมานนั้นตลอดกาลนานอย่างนี้ เพราะสิ้นกรรม บุรุษจึงกระทำกาละ แต่หญิงเพราะบุญ กรรมของตนถึงเขตสมบัติจึงอยู่จนครบอายุในวิมานนั้นตลอดพุทธันดรหนึ่ง.
               ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารโดยลำดับ วันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจาริกไปบนภูเขา เห็นวิมานและนางเวมานิกเปรตนั้น จึงถามด้วยคาถามีอาทิว่า วิมานมีเสาแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์งดงามผุดผ่องและนางเวมานิกเปรตนั้นได้เล่าประวัติของตนทั้งหมดแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ตั้งแต่ต้น.
               พระเถระได้ฟังดังนั้นมายังกรุงสาวัตถี กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. มหาชนได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้เป็นผู้ยินดีในบุญธรรมมีทานเป็นต้นฉะนี้แล.

               จบอรรถกถารถการีเปติวัตถุที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓ ๓. รถการีเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 112อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 113อ่านอรรถกถา 26 / 114อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4108&Z=4133
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=4361
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=4361
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :