ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 324อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 325อ่านอรรถกถา 26 / 326อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต
๓. สภิยเถรคาถา

               อรรถกถาสภิยเถรคาถาที่ ๓               
               คาถาของท่านสภิยเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปเร จ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ได้สร้างบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน เมื่อสั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันธะ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเห็นพระศาสดาเสด็จไปเพื่อประทับอยู่พระสำราญในกลางวัน มีจิตเลื่อมใสได้ถวายรองเท้า.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ปรินิพพานแล้ว เมื่อสุวรรณเจดีย์ประดิษฐานแล้ว พร้อมด้วยกุลบุตร ๖ คนมีตนเป็นที่ ๗ บวชในพระศาสนา เรียนพระกรรมฐานอยู่ในป่า เมื่อไม่สามารถให้คุณวิเศษบังเกิดได้ จึงกล่าวกะกุลบุตรนอกนี้ว่า พวกเราเมื่อเที่ยวไปบิณฑบาต ยังมีความอาลัยในชีวิต และเพราะมีความอาลัยในชีวิต พวกเราก็ไม่สามารถจะบรรลุโลกุตรธรรมได้, และการกระทำกาละอย่างปุถุชนย่อมเป็นทุกข์ เอาเถอะพวกเราจะผูกบันไดขึ้นสู่ภูเขา ไม่อาลัยในกายและชีวิต กระทำสมณธรรม. ภิกษุเหล่านั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น พระมหาเถระได้อภิญญา ๖ ในวันนั้นนั่นเอง เพราะความที่ตนเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัย นำบิณฑบาตจากอุตตรกุรุทวีปเข้าไปให้แก่ภิกษุเหล่านั้น.
               ภิกษุนอกนี้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทำกิจเสร็จแล้ว กิจเพียงเจรจาปราศรัยกับท่านเป็นการเนิ่นช้า, พวกเราจะกระทำเฉพาะสมณธรรมเท่านั้น ขอท่านจงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขวิหารธรรมในธรรมที่ท่านเห็นแล้วเถิดดังนี้แล้วได้ห้ามบิณฑบาต.
               พระเถระเมื่อไม่สามารถเพื่อจะให้ภิกษุเหล่านั้นรับได้ จึงได้ไปแล้ว.
               ลำดับนั้น โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งทำให้แจ้งพระอนาคามิผลมีอภิญญาเป็นเครื่องแวดล้อม ได้กล่าวอย่างนั้นนั่นแล ถูกภิกษุเหล่านั้นห้ามแล้วก็ได้ไป.
               ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น พระขีณาสพเถระปรินิพพานแล้ว. ภิกษุผู้อนาคามีเกิดในชั้นสุทธาวาส. ภิกษุนอกนั้นกระทำกาลกิริยาอย่างปุถุชนนั่นเอง เสวยทิพยสมบัติโดยอนุโลมและปฏิโลมในกามาพจรสวรรค์ ๖ ชั้น.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา จุติจากเทวโลกแล้ว คนหนึ่งถือปฏิสนธิในมัลลราชตระกูล, คนหนึ่งถือปฏิสนธิในคันธารราชตระกูล, คนหนึ่งถือปฏิสนธิในภายนอกประเทศ, คนหนึ่งถือปฏิสนธิในท้องของนางกุลทาริกาคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์, ฝ่ายสภิยะถือปฏิสนธิในท้องของนางปริพาชิกาคนหนึ่ง.
               ได้ยินว่า นางปริพาชิกานั้นเป็นธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง มารดาบิดาจึงได้มอบธิดานั้นให้แก่ปริพาชกคนหนึ่ง ด้วยพูดว่า ขอธิดาของเราจงรู้ลัทธิอื่นเถิด. ลำดับนั้น ปริพาชกคนหนึ่งปฏิบัติผิดกับนาง. นางตั้งครรภ์กับปริพาชกนั้น ปริพาชกเห็นนางมีครรภ์ได้ออกไปแล้ว นางไปในที่อื่นคลอดบุตรในสภาในระหว่างทาง. เพราะเหตุนั้น เขาจึงได้นามว่า สภิยะ นั่นเอง.
               เขาเจริญวัยแล้ว บวชเป็นปริพาชก เรียนศาสตร์ต่างๆ เป็นมหาวาที เที่ยวขวนขวายในวาทะ ไม่เห็นบุคคลผู้เสมือนกับตน จึงให้สร้างอาศรมใกล้ประตูพระนคร ให้ขัตติยกุมารเป็นต้นศึกษาศิลปะอยู่ ถือเอาปัญหา ๒๐ ข้อที่มารดาของตนผู้เกลียดความเป็นหญิงยังฌานให้เกิดขึ้นแล้วเกิดในพรหมโลกปรุงแต่งให้ถามสมณพราหมณ์เหล่านั้นๆ. ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่อาจพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นของเขาได้
               แต่ในอรรถกถาสภิยสูตรมาแล้วว่า สุทธาวาสพรหมได้แต่งปัญหาเหล่านั้น.
               ก็ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จมายังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร ท่านสภิยะได้ไปในที่นั้น เขาไปเฝ้าพระศาสดา ถามปัญหาเหล่านั้น.
               พระศาสดาได้ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นของเขา เพราะฉะนั้น เรื่องทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่มาแล้วในสภิยสูตร.
               ส่วนท่านสภิยะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นแล้ว ท่านก็ได้ศรัทธาบวชแล้ว เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวในอปทานว่า๑-
               เราได้ถวายการเหยียบแด่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นนักปราชญ์ มีบาปอันลอยเสียแล้ว ทรงอยู่จบพรหมจรรย์ ซึ่งกำลังเสด็จดำเนินไปสู่ที่พักกลางวัน ในกัปนี้เอง เราได้ถวายทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่ได้รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการเหยียบ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๔๕

               ก็ท่านเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระเทวทัตพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นฝักฝ่ายแห่งพระเทวทัต จึงแสดงธรรม ๔ คาถาเหล่านี้ว่า
                         พวกอื่นเว้นบัณฑิตย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราที่ทะเลาะ
               วิวาทกันนี้ จะพากันยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ พวกใดมารู้
               ชัดในท่ามกลางสงฆ์นั้นว่า พวกเราพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุ
               ราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไม่ได้จากสำนักของพวก
               นั้น เมื่อใดเขาไม่รู้ธรรมอันเป็นอุบายระงับการทะเลาะวิวาท
               ตามความเป็นจริง ประพฤติอยู่ดุจไม่แก่ไม่ตาย เมื่อนั้นความ
               ทะเลาะวิวาทก็ไม่สงบลงได้
                         ก็ชนเหล่าใดมารู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง เมื่อสัตว์
               ทั้งหลายพากันเร่าร้อนอยู่ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เร่าร้อน ความ
               ทะเลาะวิวาทของพวกเขา ย่อมระงับไปได้โดยส่วนเดียว
               การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน วัตรอันเศร้าหมอง และ
               พรหมจรรย์อันบุคคลพึงระลึกด้วยความสงสัย กรรม ๓ อย่าง
               นั้นย่อมไม่มีผลมาก ผู้ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์
               ทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ห่างไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับ
               ดินฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเร ความว่า ชนเหล่าอื่นเว้นจากบัณฑิตนั้น เป็นผู้ขวนขวายด้วยอำนาจแสดงวัตถุอันกระทำความแตกแยก มีอาทิว่า แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม และแสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ชื่อว่าชนเหล่าอื่น.
               คนเหล่านั้นก่อวิวาทในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมไม่รู้ว่าพวกเรายุบยับ คือป่นปี้ ฉิบหาย ได้แก่ไปยังสำนักของมัจจุราชเนืองๆ.
               บทว่า เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ ความว่า ในที่ประชุมนั้น บัณฑิตย่อมรู้ว่าพวกเราไปยังที่ใกล้มัจจุราช.
               บทว่า ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ความว่า ก็ชนเหล่านั้น เมื่อรู้อย่างนี้ยังโยนิโสมนสิการให้เกิด ย่อมปฏิบัติเพื่อความสงบความบาดหมางคือความทะเลาะ. เมื่อเช่นนั้นความบาดหมางเหล่านั้นของชนเหล่านั้น ย่อมสงบด้วยการปฏิบัติของชนเหล่านั้น.
               บทว่า อถวา ปเร จ ความว่า ชนเหล่าใด ชื่อว่า ปเร เหล่าอื่น เพราะเป็นผู้อยู่ภายนอกแต่พระศาสนา โดยไม่รับโอวาทานุสาสนีของพระศาสดา
               ชนเหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่าพวกเราถือผิด ย่อมยุบยับคือย่อมพยายามในการสละคืนพระศาสนาในโลกนี้ตราบใด ความวิวาทย่อมไม่สงบเพียงนั้น.
               ก็ในกาลใด เมื่อว่าด้วยอำนาจการสละการยึดถือพระศาสนานั้น และชนเหล่าใดย่อมรู้ตามความเป็นจริงซึ่งสภาวะมีอธรรมและธรรมเป็นต้น โดยสภาวะมีอธรรมและธรรมเป็นต้น ในเมื่อชนเหล่านั้นขวนขวายในการวิวาทในท่ามกลางสงฆ์นั้น
               ในกาลนั้น ความหมายมั่นกล่าวคือความวิวาทย่อมสงบ เพราะอาศัยบุรุษผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้น จากสำนักของบัณฑิตเหล่านั้น
               ในข้อนี้พึงทราบความดังว่ามาฉะนี้.
               บทว่า ยทา แปลว่า ในกาลใด.
               บทว่า อวิชานนฺตา ความว่า เมื่อไม่รู้ในการสงบวิวาท หรือไม่รู้ธรรมและอธรรม โดยความเป็นจริง.
               บทว่า อิริยนฺตฺยมรา วิย ความว่า มีความอวดดี มีความโลเล มีปากกล้า มีวาจาพล่อยๆ เป็นผู้มีความฟุ้งซ่าน เป็นไปอยู่ คือประพฤติอยู่ ได้แก่เที่ยวไปอยู่เหมือนชนผู้จะไม่ตาย หรือเหมือนผู้ก้าวล่วงความแก่ความตายได้ฉะนั้น
               ในกาลนั้น วิวาทไม่สงบเลย.
               บทว่า วิชานนฺติ จ เย ธมฺมํ อาตุเรสุ อนาตุรา ความว่า ก็ชนเหล่าใดย่อมรู้ตามความเป็นจริงซึ่งศาสนธรรมของพระศาสดา ชนเหล่านั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายพากันเดือดร้อนเพราะโรคคือกิเลส เป็นผู้ไม่เดือดร้อนหมดกิเลส ไม่มีทุกข์อยู่. อธิบายว่า ความวิวาทย่อมสงบโดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งชนเหล่านั้น.
               บทว่า ยํ กิญฺจิ สิถิลํ กมฺมํ ความว่า กุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอันกระทำการถือเอาโดยการกระทำย่อหย่อน คือกระทำแล้วประกอบด้วยความย่อหย่อน.
               บทว่า สงฺกิลิฏฺฐํ ได้แก่ การสมาทานวัตรอันเศร้าหมอง ด้วยการเที่ยวไปในที่อโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น หรือด้วยมิจฉาชีพมีการล่อลวงเป็นต้น.
               บทว่า สงฺกสฺสรํ ความว่า พึงระลึกด้วยความรังเกียจ คือคนอื่นพึงได้ยินกรรมอันไม่สมควรอย่างใดอย่างหนึ่งในวิหารแล้ว ไม่รังเกียจว่าคนโน้นทำมิใช่หรือ หรือเห็นสงฆ์แม้ประชุมกันด้วยอำนาจกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกิจคืออุโบสถเป็นต้นแล้วระลึก รังเกียจ ระแวงด้วยความ ระแวงของตนอย่างนี้ว่า ชนเหล่านี้รู้ความประพฤติของเราเป็นแน่ มีความประสงค์จะยกวัตรเราจึงประชุมกัน.
               บทว่า น ตํ โหติ ความว่า พรหมจรรย์คือการกระทำสมณธรรมนั้น คือเห็นปานนั้น ไม่มีผลมากแก่บุคคลนั้นคือไม่มีผลมากโดยภาวะ ไม่มีผลมากแก่บุคคลนั้นนั่นเอง ไม่มีผลมากแม้แก่บุคคลผู้ให้ปัจจัยแก่บุคคลนั้น.
               เพราะฉะนั้น พึงเป็นผู้มีความประพฤติขัดเกลา.
               อธิบายว่า ก็ผู้ที่มีความประพฤติขัดเกลา ก็ไม่มีโอกาสวิวาทกันเลย.
               บทว่า คารโว นูปลพฺภติ ความว่า บุคคลใดไม่มีความเคารพ คือไม่มีการกระทำความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้ควรเคารพ โดยไม่ยึดถืออนุสาสนีโดยเคารพ.
               บทว่า อารกา โหติ สทฺธมฺมา ความว่า บุคคลนั้นคือเห็นปานนั้น ย่อมอยู่ในที่ไกลจากปฏิบัติสัทธรรมบ้าง จากปฏิเวธสัทธรรมบ้าง ก็ครูทั้งหลายย่อมไม่ให้เขาศึกษาแม้ปฏิบัติสัทธรรมและปฏิเวธสัทธรรมนั้น,
               เขาเมื่อไม่ศึกษา ไม่ถือเอา เขาก็ไม่ปฏิบัติ เมื่อไม่ปฏิบัติ ก็จักแทงสัจจะได้จากไหน. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม.
               ถามว่า เหมือนอะไร? แก้ว่า เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น.
               อธิบายว่า อยู่ในที่ไกลจากสภาวะความเป็นจริงแห่งธาตุ เหมือนฟ้าคืออากาศกับแผ่นดินฉะนั้น. คือไม่มีสภาวะเจือกันในบางคราว.
               ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง ท่านจึงกล่าวว่า๒-
                         นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าฟ้ากับดินไกลกัน
                         ฝั่งมหาสมุทรทั้งสองก็ไกลกัน
                         ธรรมของอสัตบุรุษยังไกลกว่านั้นนะ พระราชา ดังนี้.
____________________________
๒- ขุ. ชา. อสีติ. เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๔๒  เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๖๓

               จบอรรถกถาสภิยเถรคาถาที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต ๓. สภิยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 324อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 325อ่านอรรถกถา 26 / 326อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6214&Z=6227
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=127
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=127
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :