ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 120อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 26 / 122อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ลำดับนั้น เปรตเมื่อจะทูลบอกเหตุนั้นแก่พระราชา จึงได้กล่าวคาถาว่า :-
               ในนครเวสาลีนี้ ยังมีภิกษุรูปหนึ่งนามว่ากัปปิตกะ เป็นผู้ได้ฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว สำรวมในพระปาติโมกข์ เยือกเย็น บรรลุผลอันสูงสุด มีวาจาน่าคบเป็นสหาย รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย มีหน้าเบิกบาน เป็นผู้มาดีไปดี พูดจาโต้ตอบดี เป็นเนื้อนาบุญของโลก มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เป็นทักขิไณยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตก ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา หลุดพ้นแล้ว ปราศจากลูกศร ไม่ถือเราถือเขา ไม่คดกายวาจาใจ ไม่มีอุปธิ สิ้นกิเลสเครื่องเนิ่นช้าทั้งปวง ได้บรรลุวิชชา ๓ มีความรุ่งเรือง ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ เพราะเป็นผู้มีคุณวิเศษอันปกปิดไว้ แม้ใครๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นคนดี ในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่ามุนี รู้กันว่าท่านเป็นผู้ประเสริฐ หนักแน่นไม่หวั่นไหว มีธรรมอันดีงาม เที่ยวไปในโลก
               ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่ภิกษุนั้น แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงถวายแล้วและท่านรับผ้านั้นแล้ว พระองค์ก็จะทรงเห็นข้าพระองค์ผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย.

               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า กปฺปิตโก นาม เปรตกล่าวหมายเอาพระอุปัชฌายะของท่านพระอุบาลีเถระภายในชฏิล ๑,๐๐๐ องค์.
               บทว่า อิธ ได้แก่ ในที่ใกล้นครเวสาลีนี้.
               บทว่า ฌายี ได้แก่ ผู้ได้ฌาน ด้วยฌานอันสัมปยุตต์ด้วยอรหัตตผล.
               บทว่า สีติภูโต ได้แก่ ผู้ถึงความเยือกเย็น ด้วยการเข้าไปสงบความกระวนกระวายและความเร่าร้อนแห่งกิเลสทั้งปวง.
               บทว่า อุตฺตมทิฏฺฐิปตฺโต ได้แก่ ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิอันเป็นผลสูงสุด คืออรหัตตผล.
               บทว่า สขิโล แปลว่า ผู้มีวาจาอ่อนหวาน.
               บทว่า สุวโจ แปลว่า ผู้ว่าง่าย.
               บทว่า สฺวาคโม แปลว่า ผู้มาดีไปดี.
               บทว่า สุปฺปฏิมุตฺตโก แปลว่า ผู้มีวาจาหลุดพ้นด้วยดี. อธิบายว่า ผู้มีปกติกล่าวหลุดพ้น.
               บทว่า อรณวิหารี แปลว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตาวิหารธรรม.
               บทว่า สนฺโต แปลว่า ผู้สงบกิเลส.
               บทว่า วิธูโม ได้แก่ ผู้ปราศจากควัน คือมิจฉาวิตก.
               บทว่า อนีโฆ แปลว่า ผู้ไม่มีทุกข์.
               บทว่า นิราโส แปลว่า ผู้ไม่มีตัณหา.
               บทว่า มุตฺโต แปลว่า ผู้หลุดพ้นจากภพทั้งปวง.
               บทว่า วิสลฺโล แปลว่า ผู้ปราศจากลูกศรมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า อมโม แปลว่า ผู้ปราศจากการถือว่าเราว่าเขา.
               บทว่า อวงฺโก ได้แก่ ผู้ปราศจากการคด มีคดกายเป็นต้น.
               บทว่า นิรูปธี แปลว่า ผู้ละอุปธิมีกิเลสเครื่องปรุงแต่งเป็นต้น.
               บทว่า สพฺพปปญฺจขีโณ แปลว่า ผู้สิ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้ามีตัณหาเป็นต้น.
               บทว่า ชุติมา ได้แก่ ผู้รุ่งเรืองด้วยญาณอันยอดเยี่ยม.
               บทว่า อปฺปญฺญาโต ได้แก่ ชื่อว่าผู้ไม่ปรากฏเพราะเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง และเพราะเป็นผู้ปกปิดคุณ.
               บทว่า ทิสฺวาปิ น จ สุชาโน ความว่า แม้เห็นโดยความลึกซึ้ง ก็ไม่เข้าใจได้ดีว่า มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้.
               บทว่า ชานนฺติ ตํ ยกฺขภูตา อเนชํ ความว่า ก็ท่านผู้ประเสริฐย่อมรู้จักท่านผู้หนักแน่น คือผู้ปราศจากตัณหาว่าเป็นพระอรหันต์.
               บทว่า กลฺยาณธมฺมํ ได้แก่ ผู้มีคุณมีศีลดีงามเป็นต้น.
               บทว่า ตสฺส โยคว่า แก่ท่านพระกัปปิตกมหาเถระนั้น.
               บทว่า เอกยุคํ ได้แก่ คู่ผ้าคู่หนึ่ง.
               บทว่า ทุเว วา ได้แก่ หรือว่าคู่ผ้าสองคู่.
               บทว่า มมุทฺทิสิตฺวาน ได้แก่ อุทิศข้าพระองค์.
               บทว่า ปฏิคฺคหีตานิ จ ตานิ อสฺสุ ความว่า และคู่ผ้าเหล่านั้นพึงเป็นของอันพระเถระนั้นรับแล้ว.
               บทว่า สนฺนทฺธทุสฺสํ ได้แก่ ผู้ทำการนุ่งห่มผ้า. อธิบายว่า ได้ผ้าแล้วคือนุ่งห่มผ้าแล้ว.

               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามถึงที่อยู่ของพระเถระว่า :-
               บัดนี้ พระสมณะนั้นอยู่ประเทศไหน เราจักไปพบท่านได้ที่ไหน ใครจักพึงแก้ไขความสงสัยสนเท่ห์อันเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นของเราได้ในวันนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสฺมึ ปเทเส แปลว่า ในประเทศไหน.
               บทว่า โย มชฺช ตัดเป็น โย อชฺช. อักษรทำการเชื่อมบท.

               ลำดับนั้น เปรตจึงกล่าวคาถาว่า :-
               ท่านอยู่ที่เมืองกปินัจจนา มีหมู่เทวดาเป็นอันมากห้อมล้อม เป็นผู้มีนามจริงแท้ และเป็นผู้ไม่ประมาท แสดงธรรมีกถาอยู่ในหมู่ของตน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปินจฺจนายํ ได้แก่ ในประเทศอันได้โวหารว่า กปินัจจนา เพราะเป็นที่ฟ้อนรำของพวกลิง.
               บทว่า สจฺจนาโม ได้แก่ ผู้มีนามตามเป็นจริง คือผู้มีนามไม่ผิดแผกด้วยคุณนามมีอาทิว่า ผู้ได้ฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้หลุดพ้น.

               เมื่อเปรตกล่าวอย่างนั้น พระราชามีพระประสงค์จะเสด็จไปยังสำนักของพระเถระในขณะนั้นทีเดียว จึงตรัสคาถาว่า :-
               เราจักไปทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้ จักให้พระสมณะนั้นครองผ้า ขอท่านจงดูคู่ผ้าเหล่านั้นอันพระสมณะนั้นรับประเคนแล้ว และเราจักคอยดูท่านนุ่งห่มผ้าเป็นอันดี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสฺสามิ แปลว่า จักกระทำ.
               ลำดับนั้น เปรตเมื่อจะแสดงว่า พระเถระย่อมแสดงธรรมแก่เทพยดาทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปหา จึงกล่าวคาถาว่า :-
               ข้าแต่พระเจ้าลิจฉวี ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์อย่าเสด็จเข้าหาบรรพชิตในเวลาไม่ควร การเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควรนี้ ไม่เป็นธรรมเนียมที่ดีของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ก็เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาในเวลาอันสมควร ก็จักทรงเห็นภิกษุนั้นนั่งอยู่ในที่สงัด ในที่นั้นเอง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าทูลขอร้อง.
               บทว่า โว ลิจฺฉวิ เนส ธมฺโม ความว่า ข้าแต่พระเจ้าลิจฉวี การเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาอันไม่สมควรนี้ ไม่เป็นธรรมเนียมของพระองค์ผู้เป็นพระราชา.
               บทว่า ตตฺเถว คือ ในที่นั้นนั่นเอง.
               เมื่อเปรตกล่าวอย่างนี้ พระราชาทรงรับคำแล้วเสด็จไปพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ให้คนถือคู่ผ้า ๘ คู่ในเวลาอันสมควรอีกแล้วเข้าไปหาพระเถระ ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงกระทำปฏิสันถารแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงรับคู่ผ้า ๘ คู่นี้.
               พระเถระได้ฟังดังนั้น เพื่อจะสั่งสนทนาด้วย จึงทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร เมื่อก่อนพระองค์ไม่ทรงบำเพ็ญทาน มีแต่จะเบียดเบียนสมณพราหมณ์เท่านั้น มีพระประสงค์จะถวายผ้าอันประณีตอย่างไรได้.
               พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่ท่าน จึงได้ตรัสบอกถึงการที่เปรตมาและเรื่องที่เปรตกับพระองค์กล่าว แก่พระเถระ จึงได้ถวายผ้าแล้วอุทิศเปรต.
               ด้วยเหตุนั้น เปรตจึงนุ่งห่มผ้าอันเป็นทิพย์ ประดับตกแต่ง ขึ้นม้าได้ปรากฏข้างหน้าพระเถระและพระราชา.
               พระราชาครั้นทรงเห็นดังนั้นแล้ว ทรงพอพระทัย เบิกบานพระหฤทัย เกิดปีติโสมนัส ตรัสว่า เราเห็นผลแห่งกรรมโดยประจักษ์หนอ บัดนี้ เราจักไม่กระทำความชั่ว จักกระทำแต่บุญเท่านั้น ดังนี้แล้ว ได้ทรงกระทำสักขีพยานกับเปรตนั้น.
               และเปรตนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระเจ้าลิจฉวี ตั้งแต่วันนี้ ถ้าพระองค์ละอธรรม ประพฤติธรรมไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์จักเป็นสักขีพยานแก่พระองค์ และข้าพระองค์จักมายังสำนักของพระองค์ และขอพระองค์จงให้บุรุษผู้ที่ถูกหลาวเสียบ หลุดจากหลาวโดยเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นก็จักรอดชีวิต ประพฤติธรรมพ้นจากทุกข์ และพระองค์จงเข้าไปหาพระเถระตามกาลอันควร ฟังธรรม บำเพ็ญบุญดังนี้แล้วก็ไป.
               ลำดับนั้น พระราชาไหว้พระเถระแล้ว เข้าไปยังพระนคร รีบให้ประชุมบริษัทลิจฉวี ให้คนเหล่านั้นอนุญาตให้บุรุษนั้นพ้นจากหลาว รับสั่งพวกพยาบาลว่า จงทำบุรุษนี้ให้หายโรค.
               ก็แล ครั้นเข้าไปหาพระเถระแล้ว จึงตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้ที่ทำกรรมอันเป็นเหตุไปสู่นรกแล้ว ดำรงอยู่ จะพึงพ้นจากนรกหรือไม่หนอ.
               พระเถระทูลว่า พึงพ้นได้ มหาบพิตร ถ้าผู้นั้นทำบุญให้มากก็พ้นได้. จึงให้พระราชาตั้งอยู่ในสรณะและศีล. พระราชาตั้งอยู่ในสรณะและศีลนั้นแล้ว ตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระ ได้เป็นพระโสดาบัน.
               ฝ่ายบุรุษผู้ถูกหลาวเสียบเป็นผู้หายโรค เกิดความสังเวช บวชในหมู่ภิกษุ ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัตต์.
               พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะแสดงเรื่องนั้นจึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า :-
               พระเจ้าลิจฉวีตรัสอย่างนั้นแล้ว ก็แวดล้อมไปด้วยหมู่ข้าราชบริพาร เสด็จไปในพระนครนั้น ครั้นเสด็จเข้าไปยังพระนครนั้นแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังที่ประทับในนิเวศน์ของพระองค์ ทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย ทรงสรงสนานและทรงดื่มน้ำแล้ว ได้เวลาอันสมควรจึงทรงเลือกผ้า ๘ คู่จากหีบ รับสั่งให้หมู่ข้าราชบริพารถือไป
               พระราชาครั้นเสด็จเข้าไปในประเทศนั้นแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่งผู้มีจิตสงบระงับกลับจากที่โคจร เป็นผู้เยือกเย็น นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ครั้นได้ตรัสถามสมณะนั้น ถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย การอยู่สำราญ และตรัสบอกนามของพระองค์ให้ทรงทราบว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นกษัตริย์ลิจฉวีอยู่ในเมืองเวสาลี ชาวลิจฉวีเรียกดิฉันว่าอัมพสักขระ ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของดิฉัน ดิฉันขอถวายท่าน ดิฉันมาในที่นี้ด้วยความประสงค์เพียงเท่านี้ ดิฉันมีความปลาบปลื้มใจนัก.
               พระเถระทูลถามว่า :-
               สมณะพราหมณ์ทั้งหลายพากันละเว้นพระราชนิเวศน์ของมหาบพิตร แต่ที่ไกลทีเดียว เพราะพระราชนิเวศน์ของมหาบพิตร บาตรย่อมแตก แม้สังฆาฏิก็ถูกเขาฉีกทำลาย เมื่อก่อน สมณะทั้งหลายมีศีรษะห้อยลง ตกลงไปจากเขียงเท้า มหาบพิตรได้เบียดเบียนบรรพชิตเช่นนี้ สมณะทั้งหลายเคยถูกมหาบพิตรทำการเบียดเบียนแล้ว มหาบพิตรไม่เคยพระราชทานแม้แต่น้ำมันสักหยดหนึ่งเลย ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง ชิงเอาไม้เท้าจากมือคนตาบอดเสียเอง มหาบพิตรเป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้ แต่บัดนี้ เพราะเหตุอะไร มหาบพิตรทรงเห็นผลอะไร จึงทรงจำแนกแจกจ่ายกับอาตมภาพทั้งหลายเล่า.
               พระราชาตรัสว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันขอรับผิด ดิฉันได้เบียดเบียนสมณะทั้งหลาย ดังคำที่ท่านพูด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีความประสงค์จะล้อเล่น ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย แต่กรรมอันชั่วช้านี้ดิฉันทำแล้ว. เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะน้อย ได้สั่งสมบาปเพื่อจะล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์ ก็ทุกข์อะไรเล่าที่เป็นทุกข์แก่ความเปลือยกาย ย่อมมีแก่เปรตนั้น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเห็นเหตุอันน่าสังเวชและเศร้าหมองนั้นแล้ว จึงให้ทาน เพราะเหตุนั้นเป็นปัจจัย ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ ทักษิณาที่ดิฉันถวายนี้จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้น.
               พระเถระทูลว่า :-
               เพราะการให้ทาน นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญไว้โดยมากแท้ และเมื่อพระองค์ถวายทานวัตถุ จงอย่ามีความหมดเปลืองไปเป็นธรรม อาตมภาพรับผ้า ๘ คู่ของมหาบพิตร ขอทักษิณาทานเหล่านี้จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้น.
               ลำดับนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงชำระพระหัตถ์และพระบาทแล้ว ทรงถวายผ้า ๘ คู่แก่พระเถระ พอพระเถระรับประเคนผ้าเหล่านั้นแล้ว พระราชาทรงเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย ลูบไล้ด้วยจุณจันทน์แดง มีผิวพรรณเปล่งปลั่งประดับประดา นุ่งผ้าดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวารห้อมล้อม สำเร็จมหิทธิฤทธิ์ของเทวดา ครั้นทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัย เกิดปีติปราโมทย์ มีพระหฤทัยร่าเริง เบิกบาน.
               พระเจ้าลิจฉวีได้ทรงเห็นกรรมและวิบากแห่งกรรม แจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงเสด็จเข้าไปใกล้แล้วตรัสกะเปรตนั้นว่า เราจักให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เราควรให้ทานทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่. ดูก่อนเปรต ท่านมีอุปการะแก่เรามาก.
               เปรตนั้นกราบทูลว่า :-
               ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี ก็พระองค์ได้พระราชทานแก่ข้าพระองค์ส่วนหนึ่ง แต่การพระราชทานนั้นมิได้ไร้ผล ข้าพระองค์เป็นเทวดาจักทำความเป็นสหายกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์.
               พระราชาตรัสว่า :-
               ท่านเป็นคติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นมิตรและเป็นเทวดาของเรา ดูก่อนเปรต เราขอทำอัญชลีท่าน ปรารถนาเพื่อจะเห็นท่านแม้อีก.
               เปรตกราบทูลว่า :-
               ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใส พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์และข้าพระองค์ก็จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เจรจากับพระองค์อีก ถ้าพระองค์จักทรงเคารพธรรม ทรงยินดีในการบริจาคทาน ทรงสงเคราะห์ ทรงเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ พระองค์ก็จักได้ทรงเห็นข้าพระองค์ และข้าพระองค์จักได้เห็น ได้เจรจากับพระองค์.
               ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาวโดยเร็วเถิด เพราะการปล่อยบุรุษนี้ เราทั้งสองจักได้เป็นสหายกัน ข้าพระองค์เข้าใจว่า เราทั้งสองจักได้เป็นสหายกันและกัน เพราะเหตุแห่งบุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ ก็บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้อันพระองค์ทรงรีบปล่อยแล้ว ถึงเป็นผู้ประพฤติธรรมโดยเคารพ พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน พึงพ้นจากกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุแล้ว ทรงจำแนกทานกะท่านในเวลาที่สมควร จงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามด้วยพระองค์เอง ท่านจักกราบทูลเนื้อความนั้นแก่พระองค์ ก็พระองค์ทรงพระประสงค์บุญ มีจิตไม่ประทุษร้าย ก็เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นเถิด ท่านจักแสดงธรรมทั้งปวงที่ทรงสดับแล้ว และยังไม่ได้ทรงสดับแก่พระองค์ ตามความรู้เห็น พระองค์ได้ทรงฟังธรรมนั้นแล้ว จักทรงเห็นสุคติ.
               พระเจ้ารหัส ทรงเจรจาทำความเป็นสหายกับเทวดานั้นแล้ว เสด็จไป ส่วนเปรตนั้นได้กล่าวกะบริษัทแห่งกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย พร้อมกับบุตรของตน ซึ่งนั่งประชุมกันอยู่ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอจงฟังคำอย่างหนึ่งของเรา เราจักเลือกพร จักได้ประโยชน์ บุรุษที่ถูกเสียบด้วยหลาว มีกรรมอันหยาบช้า มีอาชญาอันตั้งไว้แล้ว ถูกหลาวร้อยจะตายหรือไม่ตาย ประมาณ ๒๐ ราตรีเท่านั้น เดี๋ยวนี้ เราจักปล่อยเขาตามความชอบใจของเรา ขอหมู่ท่านจงอนุญาต จงรีบปล่อยบุรุษนั้นและบุรุษอื่นที่พระราชารับสั่งให้ลงอาชญาโดยเร็วเถิด ใครพึงบอกท่านผู้ทำกรรมอย่างนั้น ท่านรู้อย่างไร จึงทำอย่างนั้น หมู่ท่านย่อมอนุญาตตามชอบใจ พระเจ้าลิจฉวีเสด็จเข้าไปสู่ประเทศนั้นแล้ว รีบปล่อยบุรุษที่ถูกเสียบด้วยหลาวโดยเร็ว และได้ตรัสกะบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวเลยเพื่อน และรับสั่งให้หมอพยาบาล แล้วเสด็จไปหากัปปิตกภิกษุแล้ว ทรงถวายทานกับท่านในเวลาอันสมควร มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยพระองค์เองว่า บุรุษผู้ถูกเสียบด้วยหลาว มีกรรมอันหยาบช้า มีอาชญาอันตั้งไว้แล้ว ถูกหลาวร้อย จักตายหรือไม่ตาย ประมาณ ๒๐ ราตรีเท่านั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ ดิฉันปล่อยเขาไปแล้ว เขาไปบอกเปรตนั้น เหตุอะไรๆ ที่จะไม่ต้องไปสู่นรกนั้น พึงมีหรือหนอ ถ้ามีขอท่านโปรดบอกแก่ดิฉัน ดิฉันรอฟังเหตุที่ควรเชื่อถือจากท่าน.
               กัปปิตกภิกษุทูลว่า :-
               ความพินาศแห่งกรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี ความพินาศในโลกนี้ เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้แจ้ง ถ้าเขาพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมทั้งหลายโดยเคารพตลอดคืนและวัน เขาพึงพ้นจากนรกนั้นได้แน่ กรรมอันเว้นจากการให้ผลพึงมี.
               พระราชาตรัสว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้มีปัญญากว้างขวาง ประโยชน์ของบุรุษนี้ ดิฉันรู้ทั่วถึงแล้ว บัดนี้ ขอท่านอนุเคราะห์ดิฉันบ้าง ขอท่านได้กล่าวตักเตือนพร่ำสอนดิฉันโดยวิธีที่ดิฉันจะไม่พึงไปสู่นรกด้วยเถิด.
               กัปปิตกภิกษุทูลว่า :-
               วันนี้ ขอมหาบพิตรจงมีพระหทัยเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ จงทรงสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดและด่างพร้อย จงทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทรงยินดีด้วยพระมเหสีของพระองค์ ไม่ทรงพูดเท็จ ไม่ทรงดื่มน้ำจัณฑ์ และทรงสมาทานอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร จงทรงพระราชทานจีวร บิณฑบาต ที่นอนและที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของกิน ผ้า เสนาสนะ ในภิกษุผู้มีจิตซื่อตรงทั้งหลาย บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำ ด้วยข้าวและน้ำ บุญย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ เมื่อบุคคลเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมโดยเคารพ ตลอดคืนและวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น กรรมที่เว้นจากการให้ผลพึงมี.
               พระราชาตรัสว่า :-
               วันนี้ ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ ไม่ให้ขาด ไม่ให้ด่างพร้อย ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่กล่าวคำเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา และจักสมาทานอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร จักถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าวน้ำ ของเคี้ยวของกิน ผ้าและเสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต จักไม่กำหนัด ยินดีแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               พระเจ้าลิจฉวีทรงพระนามว่าอัมพสักขระ ได้เป็นอุบาสกคนหนึ่ง ในเมืองเวสาลี ทรงมีศรัทธา มีพระหทัยอ่อนโยน ทรงทำอุปการะแก่ภิกษุ ทรงบำรุงสงฆ์ โดยความเคารพ
               ในกาลนั้น บุรุษผู้ถูกเสียบด้วยหลาวหายโรค เป็นสุขสบายดี เข้าถึงบรรพชา แม้ชนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญญผล
               การคบหาสัปบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากตั้งร้อยแก่วิญญูชนผู้รู้แจ้ง บุรุษผู้ถูกเสียบด้วยหลาวได้บรรลุผลอันยอดเยี่ยม ส่วนพระเจ้าอัมพสักขระได้บรรลุโสดาปัตติผล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาสูปคจฺฉิตฺถ แปลว่า เข้าไปยังที่ประทับ.
               บทว่า คิหิกิจฺจานิ ได้แก่ กิจแห่งขุมทรัพย์ที่ผู้ครองเรือนพึงกระทำ.
               บทว่า วิเจยฺย ได้แก่ พึงเลือกถือเอาผ้าดีๆ.
               บทว่า ปฏิกฺกนฺตํ แปลว่า กลับจากบิณฑบาต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่ากลับจากโคจร.
               บทว่า อโวจ ความว่า ได้ตรัสคำมีอาทิว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเจ้าลิจฉวีในเมืองเวสาลี.
               บทว่า วิทาลยนฺติ แปลว่า ย่อมฉีกทำลาย.
               บทว่า ปาทกุฐาริกาหิ ได้แก่ จากเขียง คือเท้า.
               บทว่า ปาตยนฺติ แปลว่า ย่อมตกลง.
               บทว่า ติเณน แปลว่า แม้ด้วยปลายหญ้า.
               บทว่า มูฬฺหสฺส มคฺคมฺปิ น ปาวทาสิ ความว่า พระองค์ไม่ได้บอกแม้ทางแก่คนหลงทางว่า ด้วยคิดว่า บุรุษนี้จงวนเวียนไปทางโน้นทางนี้ ด้วยอาการอย่างนี้. จริงอยู่ พระราชานี้เป็นผู้มักล้อเล่น.
               บทว่า สยมาทิยาสิ ความว่า ตนเองชิงเอาไม้เท้าจากมือของคนตาบอด.
               บทว่า สํวิภาคํ กโรสิ ความว่า ทรงแบ่งส่วนหนึ่งจากวัตถุที่ตนบริโภคให้ไป.
               ด้วยบทว่า ปจฺเจมิ ภนฺเต ยํ ตฺวํ วเทสิ นี้ พระราชาทรงแสดงว่า ท่านผู้เจริญ ดิฉันรู้เฉพาะคำที่ท่านกล่าวโดยนัยมีอาทิว่า บาตรแตก สิ่งนั้นทั้งหมดนั่นแหละ ดิฉันทำและให้ผู้อื่นทำ.
               บทว่า เอตมฺปิ ได้แก่ สิ่งนี้ดิฉันแม้ทำก็โดยประสงค์จะล้อเล่น.
               บทว่า ขิฑฺฑา แปลว่า ด้วยการล้อเล่น.
               บทว่า ปสวิตฺวา แปลว่า ก่อแล้ว.
               บทว่า เวเทติ แปลว่า ย่อมเสวย.
               บทว่า อสมตฺตโภคี แปลว่า ผู้มีโภคะไม่บริบูรณ์. เพื่อจะแสดงว่า เปรตเป็นผู้มีโภคะไม่บริบูรณ์นั้นนั่นแหละ จึงตรัสว่า เด็กหนุ่ม เป็นต้น.
               บทว่า นคฺคนิยสฺส แปลว่า เป็นคนเปลือย.
               บทว่า กึ สุ ตโต ทุกฺขตรสฺส โหติ ความว่า ก็ทุกข์อะไรเล่าที่เป็นทุกข์กว่าความเป็นคนเปลือยของเปรตนั้น.
               บทว่า ยกฺขสฺสิมา คจฺฉนฺตุ ทกฺขิณาโย ความว่า ขอทักษิณาคือผ้าที่ดิฉันให้นี้ จงสำเร็จแก่เปรต.
               บทว่า พหุธา ปสตฺถํ ความว่า อันบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นพรรณนาไว้โดยประการมากมาย.
               บทว่า อกฺขยธมฺมมตฺถุ แปลว่า ขอทานวัตถุนี้ จงอย่าสิ้นไปเป็นธรรม.
               บทว่า อาจมยิตฺวา ได้แก่ บ้วนปากก่อนล้างมือและล้างเท้า.
               บทว่า จนฺทนสารลิตฺตํ แปลว่า ลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์.
               บทว่า อุฬารวณฺณํ แปลว่า มีรูปอันประเสริฐ.
               บทว่า ปวาริตํ แปลว่า แวดล้อมด้วยบริพารผู้มีความประพฤติคล้อยตาม.
               บทว่า ยกฺขมหิทฺธิปตฺตํ ได้แก่ ผู้มียักขฤทธิ คือเทพฤทธิ์ใหญ่.
               บทว่า ตเมนมโวจ ตัดเป็น ตเมนํ อโวจ ได้ตรัสคำนี้นั้น.
               ด้วยบทว่า เอกเทสํ อทาสิ ท่านกล่าวหมายถึงการให้ผ้าอันเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาปัจจัย ๔.
               บทว่า สกฺขึ ได้แก่ ความเป็นพยาน.
               บทว่า มมาสิ ตัดเป็น เม อาสิ.
               บทว่า เทวตา เม มีวาจาประกอบความว่า ท่านได้เป็นเทวดาของเรา.
               บทว่า วิปฺปฏิปนฺนจิตฺโต ได้แก่ ผู้มีจิตดำเนินตามมิจฉาทิฏฐิ. อธิบายว่า ผู้ละปฏิปทาอันชอบธรรม แล้วดำเนินปฏิปทาอันไม่ชอบธรรม.
               บทว่า ยโตนิทานํ ได้แก่ มีสิ่งใดเป็นนิมิต คือมายังสำนักของผู้ใดเป็นเหตุ.
               บทว่า สํวิภชิตฺวา แปลว่า ทำการจำแนกทาน.
               บทว่า สยํ มุเขนูปนิสชฺช ปุจฺฉ ความว่า ท่านจงอย่าส่งคนอื่นไป จงเข้าไปนั่งถามเฉพาะหน้าเลย.
               บทว่า สนฺนิสินฺนํ แปลว่า นั่งประชุมกัน.
               บทว่า ลภิสฺสามิ อตฺถํ ความว่า เราจักได้ประโยชน์แม้ที่เราปรารถนา.
               บทว่า ปณิหิตทณฺโฑ แปลว่า ได้ตั้งอาญาในตัวไว้.
               บทว่า อนุสตฺตรูโป ได้แก่ มีสภาวะเกี่ยวข้องในราชา.
               บทว่า วีสติรตฺติมตฺตา ความว่า ล่วงไปประมาณ ๒๐ ราตรี.
               บทว่า ตาหํ ตัดเป็น ตํ อหํ.
               บทว่า ยถามตึ แปลว่า ตามความชอบใจของเรา.
               บทว่า เอตญฺจ อญฺญญฺจ ความว่า บุรุษนี้ที่ถูกเสียบหลาวและบุรุษอื่นที่ถูกลงราชอาชญา.
               บทว่า ลหุํ ปมุญฺจ แปลว่า ปล่อยโดยเร็ว.
               บทว่า โก ตํ วเทถ ตถา กโรนฺตํ ความว่า ใครในแคว้นวัชชีนี้พึงบอกผู้ทำกรรมอันชอบธรรมนั้นว่า จงอย่าปล่อย. อธิบายว่า ถึงใครๆ ก็ไม่ได้เพื่อจะกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า ติกิจฺฉกานญฺจ ได้แก่ ผู้เยียวยา.
               บทว่า ยกฺขสฺส วโจ ได้แก่ คำของเปรต. ท่านแสดงว่า ท่านผู้เจริญ ดิฉันได้กระทำอย่างนั้นตามคำของเปรตนั้น.
               บทว่า ธมฺมานิ ได้แก่ ธรรมคือบุญอันสามารถครอบงำกรรมชั่วที่ได้กระทำไว้ในกาลก่อน.
               บทว่า กมฺมํ สิยา อญฺญตฺร เวทนียํ ได้แก่ กรรมที่อำนวยผลให้เกิดในกรรมชั่วนั้น ชื่อว่าเป็นอโหสิกรรม. ส่วนกรรมที่อำนวยผลให้เกิดในภพต่อๆ ไป ย่อมเป็นผลที่จะพึงเสวยในภพอื่น คือภพต่อๆ ไป ในเมื่อยังเป็นไปในสังสารวัฏ.
               บทว่า อิมญฺจ พระเถระกล่าวเพราะกระทำ. อธิบายว่า คำที่ตนกล่าว ใกล้หรือประจักษ์แก่สิกขานั้น.
               บทว่า อริยํ อฏฺฐงฺควเรนุเปตํ ความว่า อุโบสถศีลอันสูงสุดอันเข้าถึง คือประกอบด้วยองค์ ๘ มีเจตนาอันงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าประเสริฐ เพราะอรรถว่าบริสุทธิ์.
               บทว่า กุสลํ ได้แก่ ไม่มีโทษ.
               บทว่า สุขุทฺริยํ แปลว่า มีสุขเป็นผล.
               บทว่า สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ ความว่า เมื่อบุคคลทำบุญคราวเดียวแล้วไม่อิ่มใจว่า พอละด้วยบุญเพียงเท่านี้ แล้วจึงบำเพ็ญสุจริตต่อๆ ไป บุญของเขาย่อมเจริญยิ่งตลอดกาล หรือเมื่อเขาบำเพ็ญสุจริตต่อๆ มา ผลบุญคือบุญย่อมเจริญ คือเต็มเปี่ยมยิ่งๆ ขึ้น.
               เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้ พระราชามีพระหทัยสะดุ้งจากทุกข์ในอบาย มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และบุญธรรมเจริญยิ่ง ต่อแต่นั้นจึงสมาทานสรณะและศีล จึงตรัสคำมีอาทิว่า ดิฉันขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะในวันนี้แหละ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตาทิโส ได้แก่ มีรูปตามที่กล่าวแล้วนี้.
               บทว่า เวสาลิยํ อญฺญตโร อุปาสโก ความว่า เป็นอุบาสกคนหนึ่ง ในบรรดาอุบาสกหลายพันคนในเมืองเวสาลี.
               บทว่า สทฺโธ เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงความที่พระเจ้าอัมพสักขระนั้นเป็นโดยประการอื่นจากภาวะที่มีในก่อน เพราะอาศัยกัลยาณมิตร.
               จริงอยู่ ในกาลก่อน พระเจ้าอัมพสักขระนั้นเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนหยาบช้า ด่าภิกษุทั้งหลาย และไม่ใช่เป็นอุปัฏฐากของสงฆ์ แต่บัดนี้เป็นผู้มีศรัทธาอ่อนโยน และอุปัฏฐากภิกษุสงฆ์ในกาลนั้น โดยเคารพ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า การกโร ได้แก่ ผู้กระทำอุปการะ.
               บทว่า อุโภปิ ได้แก่ ชนทั้ง ๒ คน คือบุรุษผู้ถูกหลาวเสียบและพระราชา.
               บทว่า สามญฺญผลานิ อชฺฌคุํ ได้แก่ ผู้บรรลุสามัญญผลตามสมควร. เพื่อจะแสดงตามสมควร ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบได้บรรลุพระอรหัตตผล ส่วนพระเจ้าอัมพสักขระได้บรรลุผลน้อยกว่า ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ผลํ กนิฏฺฐํ ท่านกล่าวหมายถึงโสดาปัตติผล แต่ในที่นี้ เมื่อว่าโดยอรรถ คำที่ท่านไม่ได้จำแนกไว้ รู้ได้ง่ายทีเดียว.
               ท่านพระกัปปิตกได้ไปถึงกรุงสาวัตถี เพื่อถวายบังคมพระศาสดา จึงได้กราบทูลความที่พระราชา เปรตและตนกล่าวแล้วอย่างนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระศาสดาทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แล้วแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 120อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 26 / 122อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4323&Z=4585
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5073
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5073
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :