ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 374อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 442อ่านอรรถกถา 29 / 519อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส

               อรรถกถากลหวิวาทสุตตนิทเทสที่ ๑๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในกลหวิวาทสุตตนิทเทสที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า กุโต ปหูตา กลหวิวาทา ความทะเลาะความวิวาทมีมาแต่อะไร ได้แก่กิเลสเหล่านี้ คือความทะเลาะและความวิวาทอันเป็นส่วนเบื้องต้นของความทะเลาะนั้น เกิดมาแต่อะไร.
               บทว่า ปริเทวโสกา สหมจฺฉรา จ ความรำพันความโศก ความตระหนี่ เกิดมาแต่อะไร.
               บทว่า มานาติมานา สหเปสุณา จ ความถือตัว ความดูหมิ่นและคำพูดส่อเสียด เกิดมาแต่อะไร.
               บทว่า เต ได้แก่ กิเลส ๘ อย่างทั้งหมดเหล่านั้น.
               บทว่า ตทิงฺฆ พฺรูหิ ขอเชิญพระองค์ตรัสบอกเถิด คือพระพุทธนิมิตทูลว่า ข้าพระองค์ขอทูลวิงวอน ขอพระองค์จงตรัสบอกความที่ข้าพระองค์ทูลถามนั้นเถิด.
               บทว่า อิงฺฆ เป็นนิบาต มีความว่าขอร้อง.
               บทว่า เอเกน อากาเรน คือ โดยอาการอย่างเดียวกัน.
               บทว่า อปเรน อากาเรน คือ โดยอาการอื่น.
               บทว่า อาคาริกา ทณฺฑปสุตา๑- ผู้ครองเรือนหาโทษใส่กัน คือคหบดีเบียดเบียนกัน.
____________________________
๑- บาลีเป็น รนฺธปสุตา.

               บทว่า ปพฺพชิตา อาปตฺตึ อาปชฺชนฺตา คือ บรรพชิตต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในกองอาบัติ ๗ กอง.
               บทว่า กุโต ปหูตา คือ มีมาแต่ไหน.
               บทว่า กุโต ชาตา เกิดมาแต่ไหน คือได้อัตภาพมาแต่ไหน. เพิ่มอุปสัคลงไปเป็น กุโต สญฺชาตา คือเกิดพร้อมมาแต่ไหน.
               บทว่า กุโต นิพฺพตฺตา บังเกิดมาแต่ไหน คือถึงลักษณะพร้อมที่จะเกิดมาแต่ไหน. เพิ่มอุปสัคลงไปเป็น กุโต อภินิพฺพตฺตา คือบังเกิดเฉพาะมาแต่ไหน.
               บทว่า ปาตุภูตา คือ ปรากฏมาแต่ไหน.
               พึงทราบความในบทว่า กึนิทานา มีอะไรเป็นนิทานเป็นต้นต่อไปนี้
               ชื่อว่านิทานะ เพราะมอบผลของตน. ชื่อสมุทยะ เพราะเป็นเหตุตั้งขึ้นแห่งผล. ชื่อว่าชาติ เพราะเป็นเหตุเกิดผล. ชื่อว่าปภวะ เพราะเป็นแดนเกิดแห่งผล.
               บทว่า มูลํ ปุจฺฉติ พระพุทธนิมิตทูลถามถึงมูลแห่งการทะเลาะ. เพราะการณะ ชื่อว่ามูละ เพราะเป็นที่ตั้ง. ชื่อว่าเหตุ เพราะอรรถว่าปรารถนา คือเป็นไปเพื่อสำเร็จผลแก่ตน. ชื่อว่านิทาน เพราะมอบผลของตนดุจแสดงว่า ขอเชิญท่านรับผลนั้นเถิด. ชื่อว่าสัมภวะ เพราะเป็นเหตุเกิดแห่งผล. ชื่อว่าปภวะ เพราะเป็นแดนเกิดแห่งผล. ชื่อว่าสมุฏฐานะ เพราะเป็นที่เกิดแห่งผล หรือเป็นเครื่องเกิดแห่งผล. ชื่อว่าอาหาระ เพราะนำมาซึ่งผลของตน. ชื่อว่าอารัมมณะ เพราะยังผลของตนให้ยินดี. ชื่อว่าปัจจยะ เพราะไม่ปฏิเสธผลที่เป็นไปเพราะอาศัยสิ่งนั้น. ชื่อว่าสมุทยะ เพราะเป็นเหตุตั้งขึ้นแห่งผล.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบคำบรรยายแห่งบทเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               พระสังคีติกาจารย์กล่าวแสดงโดยนัยมีอาทิว่า พระพุทธนิมิตทูลถามมูลแห่งการทะเลาะและวิวาท หมายถึงสมุทัย เหตุแห่งความทะเลาะวิวาทนั้น.
               บทว่า ปิยปฺปหูตา คือ เกิดจากวัตถุเป็นที่รัก.
               บทว่า มจฺเฉรยุตฺตา กลหาวิวาทา ความทะเลาะวิวาทประกอบด้วยความตระหนี่.
               ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแสดงถึงความตระหนี่วัตถุอันเป็นที่รักอย่างเดียวเท่านั้น ว่าเป็นเหตุแห่งความทะเลาะวิวาท. พึงทราบว่าธรรมทั้งหมดเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยหัวข้อกลหวิวาทะ. ความวิวาทเป็นเหตุแห่งคำพูดส่อเสียด เหมือนความตระหนี่เป็นเหตุแห่งความวิวาทฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อความวิวาทกันเกิดขึ้นแล้ว คำพูดส่อเสียดก็มี.
               การชี้แจ้งคาถานี้มีความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า ปิยา สุ โลกสฺมึ กุโตนิทานา เย วาปิ โลภา วิจรนฺติ โลเก พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สิ่งที่รักทั้งหลายในโลกนี้มีอะไรเป็นเหตุ และชนเหล่าใดแลย่อมเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ ความว่า สิ่งที่รักทั้งหลายเหล่าใดที่ท่านกล่าวไว้ในบทนี้ว่า ความทะเลาะเกิดแต่สิ่งที่รักดังนี้. สิ่งที่รักทั้งหลายเหล่านั้น ในโลกมีอะไรเป็นเหตุ มิได้กล่าวถึงสิ่งที่รักอย่างเดียว แม้กษัตริย์เป็นต้นยังเที่ยวไปเพราะความโลภ ถูกความโลภครอบงำ ย่อมเที่ยวไปเพราะความโลภเป็นเหตุ.
               พระพุทธนิมิตทูลถามสองความด้วยคาถาเดียวว่า ก็ความโลภนั้นของชนเหล่านั้นมีอะไรเป็นเหตุ.
               อนึ่ง ในบทว่า กุโตนิทานา นี้ พึงทราบว่า แปลง โต เป็นปฐมาวิภัตติว่า กึนิทานา กึเหตุกา. แต่ในสมาสไม่มีลบ โต นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า นิทานา แปลว่า เกิดแล้ว ความว่า เกิดขึ้นแล้ว. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กุโตนิทานา จึงมีความว่า เกิดจากอะไร เกิดขึ้นแล้วจากอะไร.
               บทว่า อาสา จ นิฏฺฐา จ ได้แก่ ความหวังและความสำเร็จความหวังนั้น.
               บทว่า เย สมฺปรายาย นรสฺส โหนฺติ ได้แก่ ความหวังและความสำเร็จ ความหวังที่มีแก่นรชนเพื่อโลกหน้า ท่านอธิบายว่า เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. นี้เป็นคำถามข้อหนึ่งเท่านั้น.
               บทว่า ทีปา โหนฺติ เป็นเกาะ คือเป็นที่พึ่ง.
               บทว่า สรณา โหนฺติ เป็นที่ระลึก คือเป็นที่ให้ทุกข์พินาศไป.
               บทว่า นิฏฺฐาปรายโน โหติ คือ เป็นผู้มีความสำเร็จเป็นเบื้องหน้า.
               บทว่า ฉนฺทานิทานานิ มีฉันทะเป็นนิทาน ได้แก่ มีฉันทะ มีความพอใจในกามเป็นต้นเป็นนิทาน.
               บทว่า เย วาปิ โลภา วิจรนฺติ คือ ชนเหล่าใดมีกษัตริย์เป็นต้นเที่ยวไปเพราะความโลภ แม้ความโลภของชนเหล่านั้นก็มีฉันทะเป็นนิทาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ความทั้งสองรวมกัน.
               บทว่า อิโตนิทานา มีฉันทะที่เป็นนิทานเท่านั้น. ท่านอธิบายว่า มีฉันทะเป็นนิทานอย่างเดียว. เพราะบทว่า อิโตนิทานา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงฉันทะ. ด้วยว่าความโลภเป็นต้นมีฉันทะเป็นนิทาน.
               อนึ่ง พึงทราบความสำเร็จรูปศัพท์ ในบทว่า อิโตนิทานา นี้ โดยนัยดังกล่าวแล้ว. ในบทว่า กุโตนิทานา นี้นั่นแล ความสำเร็จด้วยความหวัง ท่านเรียกว่า นิฏฺฐา เพราะเหตุนั้น ความสำเร็จแห่งอัธยาศัย. ท่านกล่าวว่า เป็นการได้เฉพาะ.
               บทว่า วินิจฺฉยา ความตัดสินใจ ได้แก่ ตัณหาวินิจฉัยและทิฏฐิวินิจฉัย.
               บทว่า เย จาปิ ธมฺมา สมเณน วุตฺตา ธรรมเหล่าใดแลอันพระสมณะตรัสไว้ คือธรรมแม้อื่นเหล่าใดแล หรืออกุศลธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น ประกอบด้วยความโกรธเป็นต้น อันพระพุทธสมณะตรัสไว้แล้ว ธรรมเหล่านั้นมีมาแต่อะไร.
               บทว่า อญฺญชาติกา กิเลสทั้งหลายมีชาติเป็นอย่างอื่น คือมีสภาพเป็นอย่างอื่น.
               บทว่า อญฺญวิหิตกา คือ ตั้งอยู่แล้วโดยอาการอื่น.
               บทว่า สมิตปาเปน ผู้มีบาปอันระงับแล้ว คือมีบาปอันดับแล้ว.
               บทว่า พาหิตปาปธมฺเมน มีบาปธรรมอันลอยแล้ว คือมีธรรมอันลามกละได้แล้ว.
               บทว่า ภินฺนกิเลสมูเลน มีมูลแห่งกิเลสอันทำลายแล้ว คือตัดรากเหง้าแห่งกิเลสได้แล้วดำรงอยู่.
               บทว่า สพฺพากุสลพนฺธนา ปมุตฺเตน ผู้พ้นขาดจากอกุศลมูลเป็นเครื่องผูกทั้งปวง คือปล่อยเครื่องผูกคืออกุศลมูล ๑๒ อย่าง แล้วดำรงอยู่.
               บทว่า วุตฺตา คือ อันพระสมณะตรัสไว้แล้ว.
               บทว่า ปวุตฺตา ตรัสโดยทั่ว คือตรัสทุกสิ่งทุกอย่าง.
               บทว่า ตมูปนิสฺสาย ปโหติ ฉนฺโท ฉันทะย่อมมีเพราะอาศัยธรรมนั้น คือฉันทะย่อมมี ด้วยความปรารถนาอยู่ร่วมกันและพรากจากกัน เพราะอาศัยความดีใจและความเสียใจ กล่าวคือทั้งสองอย่างนั้น อันได้แก่สุขเวทนาและทุกขเวทนา. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันพระพุทธสมณะทรงแก้ปัญหานี้ว่า ฉันทะในโลกมีอะไรเป็นนิทาน.
               บทว่า รูเปสุ ทิสฺวา วิภวํ ภวญฺจ เห็นความไม่มีและความมีในรูปทั้งหลาย คือเห็นความเสื่อมและความเกิดในรูปทั้งหลาย.
               บทว่า วินิจฺฉยํ กูรุเต ชนฺตุ โลเก สัตว์เกิดย่อมทำความตัดสินในโลก คือสัตว์เกิดนี้ย่อมทำความตัดสินด้วยตัณหาเพื่อให้ได้ลาภ และความตัดสินด้วยทิฏฐิ โดยนัยมีอาทิว่า อัตตาของเราเกิดแล้วดังนี้. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันพระพุทธสมณะทรงแก้ปัญหานี้ว่า แม้ความตัดสินเกิดมาแต่ไหน ดังนี้.
               บทว่า สาตาสาตํ นิสฺสาย อาศัยความยินดีและความเสียใจ คือทำอุปนิสัยให้ชุ่มชื่นและร่วงโรย.
               บทว่า อิฏฺฐานิฏฺฐํ ได้แก่ อารมณ์น่าปรารถนา และอารมณ์ไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า สุรา ในบทนี้ว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานานุโยคํ ประกอบเนืองๆ ในเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทในเพราะการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
               สุรามี ๕ อย่าง คือสุราทำด้วยแป้ง ๑ สุราทำด้วยขนม ๑ สุราทำด้วยข้าวสุก ๑ สุราใส่น้ำเชื้อ ๑ สุราผสมด้วยเครื่องปรุง ๑.
               บทว่า เมรยํ ได้แก่ น้ำดอง ๕ อย่าง คือน้ำดองดอกไม้ ๑ น้ำดองผลไม้ ๑ น้ำดองดอกมะซาง ๑ น้ำดองน้ำอ้อยงบ ๑ น้ำดองผสมเครื่องปรุง ๑. แม้ทั้งหมดนั้นก็เป็นน้ำเมา ด้วยทำผู้อื่นให้เมา.
               บทว่า ปมาทฏฺฐานํ คือ เป็นเหตุแห่งความประมาท. บทนี้เป็นชื่อของเจตนาของผู้ที่ดื่มน้ำเมานั้น.
               บทว่า อนุโยคํ ได้แก่ ประกอบเนืองๆ ในเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทในเพราะการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยนั้น คือทำบ่อยๆ, ก็เพราะเมื่อเราประกอบเนืองๆ ซึ่งเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท โภคสมบัติที่เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมเสื่อมไป และที่ยังไม่เกิดจึงไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ย่อมรู้ว่า โภคสมบัติของเราย่อมถึงความเสื่อมสิ้นไป.
               ในบททั้งปวงก็เหมือนอย่างนี้.
               บทว่า วิกาลวิสิขาจริยานุโยคํ ประกอบเนืองๆ ในการเที่ยวมากไปในถนนในเวลาค่ำคืน คือในเวลาไม่สมควร.
               บทว่า สมชฺชาภิจรณํ เที่ยวดูมหรสพบ่อยๆ คือไปดูมหรสพ เช่นดูการฟ้อนรำเป็นต้นบ่อยครั้ง.
               บทว่า อาลสฺสานุโยคํ ประกอบเนืองๆ ในความเป็นคนเกียจคร้าน คือขวนขวายมุ่งแต่อยู่ในความเป็นคนเกียจคร้าน.
               บทว่า อปายมุขานิ น เสวติ ไม่เสพทางแห่งความฉิบหาย คือไม่เสพประตูแห่งความฉิบหายแห่งโภคสมบัติทั้งหลาย.
               บทว่า กสิยา วา คือ ด้วยกสิกรรมบ้าง.
               บทว่า วณิชฺชาย วา คือ ด้วยพาณิชยกรรมอันเป็นธรรมบ้าง.
               บทว่า โครกฺเขน วา ด้วยโครักขกรรม คือการเลี้ยงโคบ้าง.
               บทว่า อิสฺสตฺเถน วา คือ ด้วยธนูศิลป์บ้าง.
               บทว่า ราชโปริเสน วา คือ ด้วยรับราชการบ้าง.
               บทว่า สิปฺปญฺญตเรน วา คือ ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาศิลปะมีช่างทำหม้อเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิปชฺชติ คือ ประกอบการงาน.
               บทว่า จกฺขุสฺมึ อุปฺปนฺเน ชานาติ คือ เมื่อจักษุเกิดขึ้น สัตว์ก็รู้ คือยึดถือทิฏฐิว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า จกฺขุสฺมึ อนฺตรหิเต คือ เมื่อจักษุนั้นหายไป.
               บทว่า อตฺตา เม อนฺตรหิโต อัตตาของเราหายไปแล้ว คือยึดถือทิฏฐิว่า อัตตาของเราหายไปแล้ว.
               บทว่า วิคโต เม อตฺตา คือ อัตตาของเราล่วงไปแล้ว.
               แม้ในบทมีอาทิว่า โสตสฺมึ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เอเตปิ ธมฺมา ทฺวยเมว สนฺเต ธรรมแม้เหล่านี้ เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ คือธรรมมีความโกรธเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มีมาคือเกิดขึ้น. ด้วยเหตุเพียงนี้ก็เป็นอันพระพุทธสมณะทรงแก้แม้ปัญหาข้อที่ ๓ แล้ว.
               พระพุทธสมณะเมื่อจะทรงแสดงถึงอุบายละความสงสัย ของผู้ที่ยังมีความสงสัยในปัญหาที่พระองค์แก้แล้วอย่างนี้ จึงตรัสว่า กถํกถี ญาณปถาย สิกฺเข ผู้มีความสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ ดังนี้.
               ท่านอธิบายไว้ว่า พึงศึกษาสิกขา ๓ เพื่อบรรลุญาณคือญาณทัสสนะ. เพราะเหตุไร. เพราะธรรมอันพระสมณะทราบแล้ว จึงตรัสไว้ คือเพราะว่าพระพุทธสมณะทรงรู้ธรรมทั้งหลายแล้วจึงตรัสไว้. ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายมิได้มีแก่พระสมณะนั้น แต่บุคคลผู้มีความสงสัยไม่รู้ธรรมเหล่านั้น เพราะความที่ตนไม่มีญาณก็ไม่พึงรู้ คือไม่พึงรู้ด้วยโทษแห่งการแสดงก็หาไม่ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ผู้สงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ เพราะธรรมอันพระสมณะทรงรู้แล้วจึงตรัสไว้.
               บทว่า ปกฺเขปพนฺธเนน วา พนฺโธ คือ ถูกเขาจำด้วยการขังไว้ในเรือนจำ.
               บทว่า ปริกฺเขปพนฺธเนน วา พนฺโธ ถูกเขาจำด้วยเครื่องจำคือล้อมรั้ว.
               ในบทมีอาทิว่า คามพนฺธเนน ด้วยเครื่องจำคือบ้าน. มีอธิบายว่า เมื่อไม่ได้เพื่อจะออกไปจากที่นั้นๆ ก็ชื่อว่าถูกเขาจำด้วยเครื่องจำคือบ้านเป็นต้น.
               บทว่า ตสฺส พนฺธนสฺส โมกฺขตฺถาย คือ เพื่อพ้นจากเครื่องจำดังที่กล่าวแล้วนั้น.
               บทว่า ญาณมฺปิ ญาณปโถ แม้ญาณก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ คือญาณที่เกิดขึ้นก่อนเป็นสื่อของญาณที่เกิดต่อๆ มา เพราะเหตุนั้น แม้ญาณก็เป็นทางแห่งญาณ.
               บทว่า ญาณสฺส อารมฺมณมฺปิ ญาณปโถ แม้อารมณ์แห่งญาณก็ชื่อว่าเป็นทางแห่งญาณ คือแม้ปัจจัยแห่งญาณ ก็ชื่อว่าเป็นทางแห่งญาณ เพราะหน่วงอารมณ์นั้นแล้วเกิดขึ้น.
               บทว่า ญาณสหภูโนปิ ธมฺมา ญาณปโถ แม้ธรรมทั้งหลายอันเกิดร่วมกับญาณ ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ คือแม้ธรรมทั้งหลายที่เป็นจิตเจตสิกอันเหลือ เกิดร่วมกับญาณก็เป็นทางแห่งญาณ.
               บัดนี้ พระพุทธสมณะเมื่อจะทรงให้แจ่มแจ้งด้วยอุปมา จึงตรัสว่า ยถา อริยมคฺโค อริยปโถ เปรียบเหมือนอริยมรรคก็ชื่อว่าทางแห่งอริยะ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า กถํกถี ปุคฺคโล คือ บุคคลผู้มีความสงสัย.
               บทว่า สกงฺโข คือ มีความเคลือบแคลง.
               บทว่า สวิเลโข มีความลังเล คือมีความขัดแย้งในจิต.
               บทว่า สเทฺวฬฺหโก เป็นสองทาง คือกังขาอยู่.
               บทว่า สวิจิกิจฺโฉ คือ ไม่แน่ใจ.
               บทว่า ญาณาธิคมาย คือ เพื่อได้ญาณ.
               บทว่า ญาณทสฺสนาย เพื่อเห็นญาณ คือเพื่อแทงตลอดญาณ. อีกอย่างหนึ่ง เพื่อประสบญาณ.
               บทว่า ญาณสจฺฉิกิริยาย คือ เพื่อทำให้แจ่มแจ้งซึ่งญาณ.
               บทว่า สนิทานาหํ เราแสดงธรรมมีเหตุ คือเรา (พระพุทธสมณะ) แสดงธรรมมีเหตุมีปัจจัย.
               บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ เราแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์คือนำสัตว์ให้พ้นทุกข์.
               บทว่า โน อปฺปาฏิหาริยํ เราไม่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ คือแสดงธรรมไม่ทำให้สัตว์พ้นจากทุกข์.
               บทว่า สาตาสาตํ ในบทว่า สาตํ อสาตญฺจ กุโตนิทานา ความดีใจและความเสียใจมีอะไรเป็นนิทาน นี้ท่านประสงค์เอาสุขเวทนาและทุกขเวทนานั่นเอง.
               บทว่า น ภวนฺติ เหเต คือ ความดีใจและเสียใจเหล่านั้นย่อมไม่มี.
               บทว่า วิภวํ ภวญฺจาปิ ยเมตมตฺถํ เอตมฺเม ปพฺรูหิ ยโตนิทานํ ความว่า อรรถนั้นใดคือความไม่มีและความมีแห่งความดีใจและความเสียใจ ขอพระองค์จงตรัสบอกอรรถนั้นว่า มีสิ่งใดเป็นนิทานแก่ข้าพระองค์ ในบทนี้ เปลี่ยนรูปลิงค์. ควรจะเป็นดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า สาตาสาตานํ วิภโว ภโว จาติ โย เอส อตฺโถ เอตมฺมํ ปพฺรูหิ. ความอย่างเดียวกับที่กล่าวแล้ว.
               ในบทว่า ยโตนิทานํ นี้ พึงทราบโดยอรรถว่า ความไม่มีและความมี คือความเห็นว่าไม่มีและมีนั่นเองอันเป็นวัตถุแห่งความดีใจและความเสียใจ. เป็นความจริงดังนั้นในฝ่ายแก้ปัญหานี้ แม้ความเห็นว่ามี ก็มีผัสสะเป็นนิทาน แม้ความเห็นว่าไม่มีก็มีผัสสะเป็นนิทาน เพราะเหตุนั้นจักกล่าวในนิเทศต่อไป. ในนิเทศแห่งคาถานี้ไม่มีข้อที่ควรกล่าว.
               บทว่า อิโตนิทานํ คือ มีผัสสะเป็นนิทาน.
               บทว่า กิสฺมึ วิภูเต น ผุสนฺติ ผสฺสา เมื่ออะไรไม่มีผัสสะจึงไม่ถูกต้อง คือเมื่ออะไรล่วงไปแล้ว ผัสสะ ๕ มีจักษุสัมผัสเป็นต้น จึงไม่ถูกต้อง แม้คาถานี้ก็ไม่มีอะไรควรกล่าว.
               บทว่า นามญฺจ รูปญฺจ ปฏิจฺจ ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนามและรูป คือเพราะอาศัยนามที่ประกอบกัน และรูปคือวัตถุเป็นอารมณ์.
               บทว่า รูเป วิภูเต น ผุสนฺติ ผสฺสา เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้องคือเมื่อรูปล่วงแล้ว ผัสสะ ๕ จึงไม่ถูกต้อง.
               บทว่า ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส ประชุมธรรม ๓ ประการ ผัสสะจึงเกิดขึ้น. คือผัสสะย่อมเกิดขึ้นเพราะประชุมธรรม ๓ ประการ คือจักษุ รูปและวิญญาณ.
               บทว่า จกฺขุญฺจ รูปา จ รูปสฺมึ จักษุรูป ในส่วนรูปคือ ประสาทจักษุ รูปารมณ์ อารมณ์ตั้งไว้ในส่วนรูป.
               บทว่า จกฺขุสมฺผสฺสํ ฐเปตฺวา เว้นจักษุสัมผัส คือปล่อยผัสสะอันเกิดขึ้นเพราะประชุมธรรม ๓ ประการ.
               บทว่า สมฺปยุตฺตกา ธมฺมา นามสฺมึ สัมปยุตธรรมในส่วนนาม ธรรมในส่วนนามเกิดพร้อมกับผัสสะ มีเวทนาเป็นต้นที่เหลือ.
               แม้ในบทว่า โสตญฺจ ปฏิจฺจ อาศัยหูเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า จตูหิ การเณหิ รูปํ วิภูตํ โหติ คือ รูปล่วงไปด้วยเหตุ ๔ อย่าง (โดยการรู้ โดยการพิจารณา โดยการละ โดยการก้าวล่วง).
               บทว่า ญาตวิภูเตน โดยการรู้ คือทำให้ปรากฏแล้วก้าวล่วง.
               บทว่า ตีรณวิภูเตน โดยการพิจารณา คือพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วก้าวล่วง.
               บทว่า ปหานวิภูเตน โดยการละ คือโดยการล่วงไป เพราะละฉันทราคะ.
               บทว่า สมติกฺกมวิภูเตน โดยการก้าวล่วง คือโดยการก้าวล่วงด้วยสามารถการได้อรูปสมาบัติ ๔.
               บทว่า กถํ สเมตสฺส คือ ปฏิบัติอย่างไร.
               บทว่า วิโภติ รูปํ รูปจึงไม่มี หรือไม่พึงมี.
               บทว่า สุขํ ทุกฺขํ วา ความว่า พระพุทธนิมิตทูลถามถึงรูปที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนานั่นเอง.
               บทว่า ชาเนยฺยาม คือ จักรู้.
               บทว่า อาชาเนยฺยาม คือ จักรู้ทั่วถึง.
               บทว่า วิชาเนยฺยาม คือ จักรู้แจ้งหลายๆอย่าง.
               บทว่า ปฏิวิชาเนยฺยาม จักรู้แจ่มแจ้ง คือจักรู้โดยชอบ.
               บทว่า ปฏิวิชฺเฌยฺยาม จักแทงตลอด คือจักตรัสรู้ด้วยจิต.
               บทว่า น สญฺญสญฺญี บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ คือบุคคลนั้นไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ เมื่อบุคคลปฏิบัติอย่างนี้ รูปจึงไม่มี.
               บทว่า น วิสญฺญสญฺญี บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ คือไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ แม้ไม่มีสัญญา ได้แก่คนบ้าหรือคนมีจิตฟุ้งซ่าน.
               บทว่า โนปิ อสญฺญี ไม่เป็นผู้ไม่มีสัญญา คือแม้เว้นจากสัญญาก็ไม่ใช่. ได้แก่ ท่านผู้เข้านิโรธ หรือสัตว์ไม่มีสัญญา.
               บทว่า น วิภูตสญฺญี ไม่เป็นผู้ปราศจากสัญญา คือไม่เป็นผู้มีสัญญาก้าวล่วงแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ แห่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง คือได้อรูปฌาน.
               บทว่า เอวํ สเมตสฺส วิโภติ รูปํ เมื่อปฏิบัติอย่างนี้รูปจึงไม่มี คือบุคคลนั้นเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ ไม่ตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญานี้แล้ว ฯลฯ ย่อมนำจิตที่ท่านกล่าวไว้แล้วนั้นไป เพื่อได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ เพราะเหตุนั้นเมื่อบุคคลปฏิบัติอย่างนี้คือมีความพร้อมในอรูปมรรค รูปจึงไม่มี.
               บทว่า สญฺญานิทานา หิ ปปญฺจสงฺขา เพราะส่วนแห่งธรรมที่เนิ่นช้ามีสัญญาเป็นนิทาน ท่านแสดงไว้ว่า แม้เมื่อบุคคลปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ธรรมที่เนิ่นช้ามีตัณหาเป็นต้นอันมีสัญญานั้นเป็นนิทานเป็นอันยังละไม่ได้เลย.
               บทว่า อสญฺญิโน วุจฺจนฺติ นิโรธสมาปนฺนา ผู้เข้านิโรธท่านเรียกว่าเป็นผู้ไม่มีสัญญา คือผู้เข้านิโรธเพราะดับสัญญาและเวทนา ท่านกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีสัญญา เพราะสัญญาไม่มี.
               บทว่า อสญฺญสตฺตา เป็นอสัญญีสัตว์ คือเกิดในอสัญญีภพ เพราะไม่มีสัญญาโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า โส ใน บทนั้นว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ได้แก่ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิอยู่อย่างนี้.
               บทว่า เอวํ นี้ แสดงถึงการก้าวไปสู่จตุตถฌาน. อธิบายว่า ได้จตุตถฌานตามลำดับนี้.
               บทว่า สมาหิเต คือ จิตเป็นสมาธิด้วยสมาธิในจตุตถฌานนี้.
               อนึ่ง ในบทว่า ปริสุทฺเธ เป็นต้น ได้แก่ จิตบริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์แห่งอุเบกขาและสติ.
               ชื่อว่าจิตผุดผ่อง เพราะเป็นจิตบริสุทธิ์นั่นเอง. อธิบายว่า ผ่องใส.
               ชื่อว่าจิตไม่มีกิเลส เพราะกิเลสมีราคะเป็นต้น ถูกกำจัดออกไปด้วยการทำลายปัจจัยมีสุขเวทนาเป็นต้น.
               ชื่อว่าจิตปราศจากอุปกิเลส เพราะไม่มีกิเลสนั่นเอง. จิตเศร้าหมองด้วยกิเลส.
               ชื่อว่าจิตอ่อน เพราะอบรมดีแล้ว. อธิบายว่า จิตถึงความชำนาญ. เพราะจิตเป็นไปในอำนาจ จึงเรียกว่าจิตอ่อน.
               ชื่อว่าจิตควรแก่การงานเพราะจิตอ่อนนั่นเอง. ท่านอธิบายว่า ควรแก่การงาน เหมาะแก่การงาน. เพราะว่าจิตอ่อนเป็นจิตที่ควรแก่การงาน เหมือนทองคำบริสุทธิ์. แม้จิตทั้งสองอย่างนั้นก็เป็นจิตที่อบรมดีแล้วนั่นเอง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างเดียว เหมือนจิตที่อบรมแล้วทำให้มากแล้วเป็นจิตอ่อนควรแก่การงานนี้เลย.
               ในบรรดาจิตเหล่านั้น ชื่อว่าจิตตั้งมั่น เพราะตั้งมั่นอยู่ในความบริสุทธิ์เป็นต้น. ชื่อว่าจิตถึงความไม่หวั่นไหว เพราะเป็นจิตตั้งมั่นนั่นเอง. อธิบายว่า ไม่หวั่น ไม่ไหว.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าจิตตั้งมั่น เพราะตั้งอยู่ในอำนาจของตนโดยความเป็นจิตอ่อนและควรแก่การงาน. ชื่อว่าจิตถึงความไม่หวั่นไหว เพราะกำหนดไว้ด้วยศรัทธาเป็นต้น.
               จริงอยู่ จิตที่กำหนดไว้ด้วยศรัทธาย่อมไม่หวั่นเพราะความไม่เชื่อ. จิตที่กำหนดไว้ด้วยความเพียรย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน. จิตที่กำหนดไว้ด้วยสติย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความประมาท. จิตที่กำหนดไว้ด้วยสมาธิย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความฟุ้งซ่าน. จิตที่กำหนดไว้ด้วยปัญญาย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอวิชชา. จิตที่กำหนดไว้ด้วยแสงสว่าง ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความมืดคือกิเลส.
               เป็นอันว่าจิตถึงความไม่หวั่นไหว กำหนดแล้วด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้.
               จิตประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นจิตควรแก่อภินิหาร (อำนาจบุญกุศล) เพราะได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ.
               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าจิตมีสมาธิ เพราะมีสมาธิในจตุตถฌาน. ชื่อว่าจิตบริสุทธิ์ เพราะไกลจากนิวรณ์. ชื่อว่าจิตผ่องแผ้ว เพราะก้าวล่วงวิตกเป็นต้น. ชื่อว่าจิตไม่มีกิเลส เพราะไม่มีความเคลื่อนไหวไปในความปรารถนาลามกอันเป็นข้าศึกแก่การได้ฌาน.
               บทว่า อิจฺฉาวจรานํ มีอธิบายว่า เคลื่อนไปในความปรารถนา คือหยั่งลงเป็นไปด้วยอำนาจความปรารถนาเป็นปัจจัยแห่งความโกรธมีประการต่างๆ.
               อนึ่ง ชื่อว่าจิตปราศจากอุปกิเลส เพราะปราศจากอุปกิเลสแห่งจิตมีอภิชฌาเป็นต้น. พึงทราบแม้ทั้งสองอย่างนั้นโดยทำนองเดียวกันกับอนังคณสูตรและวัตถุสูตร.
               ชื่อว่าจิตอ่อน เพราะถึงความชำนาญ. ชื่อว่าจิตควรแก่การงาน เพราะเข้าถึงอิทธิบาท. ชื่อว่าจิตตั้งมั่นถึงความไม่หวั่นไหว เพราะเข้าถึงความประณีตด้วยการบำเพ็ญภาวนาให้บริบูรณ์. อธิบายว่า จิตตั้งมั่นโดยอาการที่จิตไม่มีความหวั่นไหว ไม่ถึงความหวั่นไหว.
               จิตประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้เป็นจิตควรแก่อภินิหาร เป็นบาทคือเป็นปทัฏฐานเพื่อได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ.
               บทว่า อรูปมคฺคสมงฺคี เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรมเป็นทางแห่งอรูปสมาบัติ คือเป็นผู้ไม่เสื่อมจากธรรมเป็นทางให้ถึงอรูปสมาบัติ.
               บทว่า ปปญฺจาเยว ปปญฺจสงฺขา ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีตัณหาเป็นต้น ชื่อว่าธรรมเป็นส่วนแห่งความเนิ่นช้า.
               บทว่า เอตฺตาวตคฺคํ โน ฯลฯ วทนฺติ เอตฺโต ก็สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนเป็นบัณฑิตในโลกนี้ ย่อมกล่าวความหมดจดแห่งยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเพียงเท่านี้ หรือว่าเป็นธรรมอันเลิศ หรือว่าสมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจดอย่างอื่นกว่าอรูปสมาบัตินี้ คือพระพุทธนิมิตทูลถามว่า สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตในโลกนี้ ย่อมกล่าวความหมดจดของสัตว์ด้วยอรูปสมาบัติเพียงเท่านี้ หรือว่าเป็นธรรมอันเลิศ หรือว่ากล่าวความหมดจดแม้อย่างอื่นยิ่งกว่าอรูปสมาบัตินี้.
               บทว่า เอตฺโต อรูปสมาปตฺติโต คือ กว่าอรูปสมาบัตินี้.
               บทว่า เอตฺตาวตคฺคมฺปิ วทนฺติ เหเก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่าเที่ยง บางพวกสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตย่อมกล่าวความหมดจดแห่งยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเพียงเท่านี้ว่า เป็นธรรมอันเลิศ.
               บทว่า เตสํ ปุเนเก สมยํ วทนฺติ คือ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกบางพวกมีวาทะว่าสูญย่อมกล่าวความสงบว่าเป็นความสูญ.
               บทว่า อนุปาทิเสเส กุสลาวทานา คือ สมณพราหมณ์อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด ย่อมกล่าวความสงบในอนุปาทิเสส.
               บทว่า ภวตชฺชิตา กลัวต่อภพ.
               บทว่า วิภวํ อภินนฺทนฺติ ย่อมยินดีความไม่มีภพ คือยินดีเพราะอาศัยความขาดสูญ.
               บทว่า เตสตฺตสฺส สมํ สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมกล่าวถึงความสงบแห่งสัตว์ คือสมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีวาทะว่าสูญ ย่อมกล่าวถึงความสงบ คือความไม่เกิดของบุคคล.
               บทว่า อุปสมํ ความเข้าไปสงบ คือความสงบอย่างยิ่ง.
               บทว่า วูปสมํ ความเงียบ คือสันติ.
               บทว่า นิโรธํ ความดับ คือความไม่เกิด.
               บทว่า ปฏิปสฺสทฺธํ ความระงับ คือไม่เกิดอีกต่อไป.
               บทว่า เอเต จ ญตฺวา อุปนิสฺสิตา มุนีรู้สมณพราหมณ์นั้นว่าเป็นผู้อันทิฏฐิเข้าไปอาศัย คือรู้ว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีทิฏฐิอาศัยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ.
               บทว่า ญตฺวา มุนิ นิสฺสเย โส วิมํสี มุนีนั้นมีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา รู้ว่าสมณพราหมณ์เป็นผู้มีทิฏฐิเป็นที่อาศัย คือมุนีนั้นเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เป็นบัณฑิต เป็นพระพุทธมุนี รู้ว่าสมณพราหมณ์เป็นผู้มีทิฏฐิเป็นที่อาศัย.
               บทว่า ญตฺวา วิมุตฺโต รู้แล้ว พ้นวิเศษแล้ว คือรู้ธรรมทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์และไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วพ้นวิเศษ.
               บทว่า ภวาภวาย น สเมติ ไม่ถึงพร้อมในภพน้อยภพใหญ่ คือไม่ถึงพร้อมด้วยการเกิดบ่อยๆ.
               บทว่า อปรามสํ ความว่า ภิกษุนั้นมิได้ถือมั่น คือไม่ถึงความถือมั่น.

               จบอรรถกถากลหวิวาทสุตตนิทเทสที่ ๑๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 374อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 442อ่านอรรถกถา 29 / 519อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=5617&Z=6384
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=8151
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=8151
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :