ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 58อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 84อ่านอรรถกถา 36.2 / 104อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
บุคคลบัญญัติ ติกนิทเทส

               อรรถกถาติกนิทเทส               
               อธิบายบุคคล ๓ จำพวก               
               อรรถกถาบุคคลผู้ไม่มีความหวังเป็นต้น               
               บทว่า "ทุสฺสีโล" ได้แก่ ผู้ไม่มีศีล.
               บทว่า "ปาปธมฺโม" ได้แก่ ผู้มีธรรมอันลามก.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้ทุศีล เพราะความวิบัติแห่งศีล ชื่อว่าผู้มีธรรมอันลามก เพราะความวิบัติแห่งทิฏฐิ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้ทุศีล เพราะขาดความสำรวมทางกายทวารและวจีทวาร ชื่อว่าผู้มีธรรมอันลามก เพราะขาดความสำรวมทางมโนทวาร. ชื่อว่าผู้ทุศีล เพราะความเป็นผู้ประกอบการงานอันไม่สะอาด. ชื่อว่าผู้มีธรรมอันลามก เพราะความเป็นผู้มีอัธยาศัยอันไม่สะอาด. ชื่อว่าผู้ทุศีล เพราะเว้นจากกุศลศีล ชื่อว่าผู้มีธรรมอันลามก เพราะประกอบด้วยอกุศลศีล.
               บทว่า "อสุจิ" แปลว่า ไม่สะอาด ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยกรรมอันไม่สะอาดทั้งหลาย มีกายกรรมเป็นต้น.
               บทว่า "สงฺกสฺสรสมาจาโร" ได้แก่ ผู้มีสมาจารอันผู้อื่นพึงระลึกได้ด้วยความระแวง.
               อธิบายว่า ผู้มีสมาจารอันผู้อื่นเห็นโทษอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่สมควรแล้วระแวงอย่างนี้ กรรมนี้จักเป็นของอันภิกษุนี้กระทำแล้ว หรือมีสมาจารอันตนพึงระลึกได้ด้วยความระแวงของตนนั่นแหละ ชื่อว่าผู้มีสมาจารอันน่าระแวง. ก็เพราะเขาเห็นพวกภิกษุประชุมปรึกษากันถึงกิจอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นแหละ ในที่เป็นที่พักกลางวันเป็นต้น เขาจึงมีสมาจารอันน่าระแวงสงสัยอย่างนี้ว่า พวกภิกษุเหล่านี้รู้กรรมที่เรากระทำหรือ จึงปรึกษากันอยู่.
               บทว่า "ปฏิจฺฉนฺนกมฺมนฺโต" ได้แก่ ประกอบด้วยธรรมอันลามก อันสมควรแก่การปกปิด.
               สองบทว่า "อสฺสมโณ สมณปฏิญฺโญ" ความว่า ผู้มิได้เป็นสมณะเลย แต่ปฏิญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นสมณะ เพราะเป็นผู้มีคุณธรรมอันควรแก่ความเป็นสมณะ.
               สองบทว่า "อพฺรหฺมจารี พฺรหฺมจารีปฏิญฺโญ" ความว่า ก็ภิกษุผู้ทุศีลนั้นเห็นเพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นพรหมจารี ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ นุ่งห่มเรียบร้อย ทรงบาตรงดงามเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้าน (คาม) นิคมชนบท และราชธานีทั้งหลายแล้วสำเร็จการเลี้ยงชีพอยู่ แม้ตนเองก็ปฏิบัติเช่นนั้น โดยอาการเช่นนั้น ย่อมเป็นเหมือนกับให้ปฏิญญาว่า "ข้าพเจ้าเป็นพรหมจารี" กล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นภิกษุแล้วเข้าไปสู่โรงอุโบสถเป็นต้น ย่อมปฏิญญาว่าตนเป็นพรหมจารีบุคคล นั่นแหละ. บุคคลผู้ถือเอาลาภอันเป็นของสงฆ์ก็เหมือนกัน.
               บทว่า "อนฺโตปูติ" ได้แก่ ผู้มีกรรมอันกรรมเน่าตามเข้าไปในภายใน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้เน่าใน เพราะเว้นจากสาระแห่งคุณ โดยความเป็นผู้ไม่มีคุณ.
               บทว่า "อวสฺสุโต" ได้แก่ ผู้อันราคะเป็นต้นชุ่มแล้ว.
               บทว่า "กสมฺพุชาโต"๑- ได้แก่ ผู้มีหยากเยื่อมีราคะเป็นต้นเกิดแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง น้ำปฏิกูลที่ซึมเข้าไปสู่ซากศพอันชุ่ม พระองค์ก็ตรัสเรียกว่า กสัมพุ. ก็บุคคลชื่อว่าผู้ทุศีลในพระศาสนานี้ เป็นเช่นกับน้ำเหลืองอันชุ่มในซากศพ เพราะความที่ตนเป็นผู้อันบัณฑิตพึงรังเกียจ เพราะฉะนั้น บุคคลใดเป็นเหมือนน้ำเหลืองซากศพ บุคคลนั้นจึงชื่อว่ากสัมพุชาต.
____________________________
๑- บาลีว่า กสมฺพุกชาโต

               ข้อว่า "ตสฺส น เอวํ โหติ" ความว่า เพราะเหตุไร เธอจึงไม่มีความคิดอย่างนั้น?
               เพราะศีลที่เธอตั้งอยู่แล้วพึงอาจเพื่อจะได้พระอรหัต เธอก็ทำลายเสียแล้ว. เหมือนอย่างว่า ลูกคนจัณฑาลแม้ได้ยินว่า ขัตติยกุมารชื่อโน้น เขาอภิเษกในราชสมบัติแล้วก็เพราะชนทั้งหลายผู้เกิดในภายหลังในตระกูลใดย่อมถึงการอภิเษก ตนมิได้เกิดในตระกูลนั้นจึงมิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "แม้ชื่อว่าเรานั้น ก็จักพึงถึงการอภิเษก เหมือนขัตติยกุมารโดยแน่แท้" ฉันใด ภิกษุผู้ทุศีล แม้ฟังว่า "พระภิกษุชื่อโน้นบรรลุพระอรหัตดังนี้ เพราะความที่ศีลที่ตนตั้งอยู่แล้วนั้นไม่มี จึงไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า "แม้ชื่อว่าเรานั้น จักพึงบรรลุพระอรหัต เหมือนภิกษุผู้มีศีลโดยแน่แท้" ฉันนั้นเหมือนกัน.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า นิราโส ผู้ไม่มีความหวัง เพราะไม่มีความหวังที่จะได้พระอรหัต.
               ข้อว่า "ตสฺส เอวํ โหติ" ความว่า เพราะเหตุที่ศีลที่เธอตั้งอยู่แล้ว สามารถเพื่อบรรลุพระอรหัตเป็นสภาพมั่นคง. เหมือนอย่างว่า กุมารผู้สุชาติคือเกิดดีแล้ว พอสดับคำว่า "ขัตติยกุมารชื่อโน้น เขาอภิเษกแล้ว" เพราะเหตุที่ตนก็เกิดในตระกูลนั้นจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า "แม้เราก็พึงถึงการอภิเษกเหมือนกุมารนั้นโดยแน่แท้" ฉันใด ภิกษุผู้มีศีล พอได้ยินว่า "ภิกษุชื่อโน้นบรรลุพระอรหัตแล้ว" เพราะเหตุที่ศีลอันเธอตั้งอยู่แล้วควรจะบรรลุพระอรหัตเป็นธรรมชาติมั่นคง จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า "แม้เราก็พึงบรรลุพระอรหัต เหมือนกับภิกษุผู้มีศีลโดยแน่แท้" ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ข้อว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อาสํโส คือผู้มีความหวัง เพราะว่าเธอนั้นหวังอยู่ คือปรารถนาอยู่ซึ่งพระอรหัต เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า อาสํโส. บุคคลผู้มีความหวัง
               ข้อว่า "ยา หิสฺส ปุพฺเพ อวิมุตฺตสฺส" ความว่า ความหวังในการหลุดพ้นอันใด ของพระขีณาสพผู้ยังมิได้หลุดพ้นด้วยการหลุดพ้นด้วยอรหัตมรรคในกาลก่อน ความหวังอันนั้นของท่านสงบระงับแล้ว เพราะฉะนั้น พระขีณาสพท่านจึงไม่มีความคิดอย่างนั้น. เหมือนอย่างว่า กษัตริย์ผู้อภิเษกแล้ว พอทรงสดับคำว่า "ขัตติยกุมารชื่อโน้น เขาอภิเษกในราชสมบัติแล้ว" เพราะพระราชาองค์เดียวมิได้มีการอภิเษก ๒ ครั้ง มิได้มีเศวตฉัตร ๒ ครั้ง จึงมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า "แม้เราก็พึงถึงการอภิเษกเหมือนขัตติยกุมารนั้นโดยแน่แท้" ฉันใด พระขีณาสพพอได้ยินว่า "พระภิกษุชื่อโน้นบรรลุพระอรหัตแล้ว" เพราะความเป็นพระอรหัต ๒ ครั้งไม่มี ท่านจึงมิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "แม้เราก็จะพึงบรรลุพระอรหัต เหมือนพระภิกษุนั้นโดยแน่แท้" ฉันนั้นนั่นเทียว.
               ข้อว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า วิคตาโส คือผู้ปราศจากความหวัง เพราะท่านปราศจากความหวังในความเป็นพระอรหัต.

               อรรถกถาคิลานูปมบุคคลเป็นต้น               
               ชนเหล่านั้น ท่านเรียกว่า คิลานูปมา คือ ผู้เปรียบด้วยคนไข้ ด้วยอุปมาใดเพื่อจะแสดงอุปมานั้นก่อน ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "ตโย คิลานา" ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "สปฺปายานิ" ได้แก่ อันเป็นประโยชน์เกื้อกูล คือกระทำให้เจริญ.
               บทว่า "ปฏิรูปํ" ได้แก่ อันเหมาะสม.
               ด้วยคำว่า "เนว วุฏฺฐาติ ตมฺหา อาพาธา" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงบุคคลผู้เป็นไข้ที่ถึงที่สุดแล้ว ที่ประกอบด้วยโรคทั้งหลายมีโรคลม และโรคลมบ้าหมูเป็นต้น ที่แก้ไขไม่ได้.
               ด้วยคำนี้ว่า "วุฏฺฐาติ ตมฺหา อาพาธา" พระองค์ตรัสถึงอาพาธเล็กน้อยอันต่างด้วยโรคทั้งหลายมีโรคจาม โรคหิดเปื่อย โรคตกกระ โรคฝีและโรคชราเป็นต้น. ก็ความผาสุกของชนเหล่าใดย่อมมีได้ด้วยการปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงบุคคลผู้อาพาธเหล่านั้นแม้ทั้งหมดด้วยคำนี้ว่า ลภนฺโต สปฺปายานิ โน อลภนฺโต.
               ก็ในที่นี้ บุคคลผู้อุปัฏฐากคนไข้ ต้องประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลาย คือเป็นบัณฑิต ๑ เป็นผู้ขยัน ๑ ไม่เกียจคร้าน ๑ พึงทราบว่า ชื่อว่าอุปัฏฐากที่เหมาะสม.
               ข้อว่า "คิลานุปฏฺาโก อนุญฺญาโต" ความว่า บุคคลใดอันภิกษุสงฆ์พึงให้ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า อนุญฺญาโต แปลว่า ผู้อันภิกษุสงฆ์อนุญาตแล้ว. ก็บุคคลผู้เป็นไข้นั้นเมื่อไม่สามารถเพื่อจะยังอัตภาพให้เป็นไปตามธรรมดาของตน ภิกษุสงฆ์พึงอปโลกน์แล้วให้ถ้อยคำว่า "ขอให้ภิกษุหรือสามเณรรูปหนึ่ง จงปฏิบัติบำรุงภิกษุผู้อาพาธนี้" ก็ถ้าภิกษุหรือสามเณรนั้นยังปฏิบัติภิกษุผู้อาพาธนั้นอยู่ตราบใด คนไข้ก็ดี ภิกษุหรือสามเณรก็ดี มีความต้องการด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นภาระแก่สงฆ์เท่านั้น.
               ข้อว่า "อญฺเญปิ คิลานา อุปฏฺฐาตพฺพา" ความว่า บุคคลผู้เป็นคนไข้ ๒ จำพวก แม้นอกจากนี้ ภิกษุสงฆ์ก็ควรอุปัฏฐากด้วย.
               ถามว่า " เพราะเหตุไร?"
               ตอบว่า "ก็บุคคลใดเป็นไข้ถึงที่สุดแล้ว ผู้นั้นเมื่อไม่มีใครอุปัฏฐาก พึงเสียใจว่า "ถ้าหากว่า ภิกษุหรือสามเณรพึงปฏิบัติเรา ความผาสุกจะพึงมีแก่เรา แต่พวกเขาไม่ปฏิบัติเรา" ดังนี้แล้วพึงไปเกิดในอบาย. ก็เมื่อคนไข้นั้น เมื่อภิกษุสามเณรบำรุงปฏิบัติอยู่ เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า "กิจใดที่ภิกษุสงฆ์พึงกระทำ กิจนั้นทั้งหมด ภิกษุสงฆ์ก็กระทำแล้ว แต่กรรมวิบากของเราเป็นเช่นนี้" ภิกษุผู้อาพาธนั้นยังเมตตาจิตให้ตั้งขึ้นในภิกษุสงฆ์แล้ว ย่อมเกิดในสวรรค์.
               อนึ่ง ภิกษุใดมีอาพาธเล็กน้อยได้อุปัฏฐากก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ย่อมหายจากโรคได้ ภิกษุผู้อาพาธเล็กน้อยนั้น แม้เว้นจากเภสัช พยาธิก็เข้าไปสงบระงับได้ แต่ถ้าเขาทำเภสัชให้ฉัน อาพาธเล็กน้อยนั้นก็ย่อมสงบระงับได้โดยเร็วพลัน. ลำดับนั้น คนไข้ที่หายจากโรคแล้วนั้น เขาอาจเพื่อเรียนพระพุทธวจนะหรือกระทำสมณธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "ภิกษุสงฆ์พึงอุปัฏฐากคนไข้แม้พวกอื่น"
               ข้อว่า "เนว โอกฺกมติ" ได้แก่ ไม่เข้าไป.
               ข้อว่า "นิยามํ กุสเลสุ ธมฺเมสุ สมฺมตํ" ได้แก่ สัมมตธรรม กล่าวคือมรรคนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงบุคคลผู้มีบทอย่างยิ่ง (ปทปรม) ด้วยธรรมข้อนี้. ทรงถือเอาอุคฆฏิตัญญูบุคคล ผู้เช่นกับพระนาลกเถระในพระศาสนาด้วยวาระที่ ๒ และทรงถือเอาอุคฆฏิตัญญูบุคคลผู้มีปัจเจกโพธิญาณ ซึ่งท่านได้โอวาทในสำนักแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายครั้งหนึ่งในพุทธันดรแล้วจึงแทงตลอดสัจธรรม คือบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า. พระองค์ทรงกล่าวถึงวิปจิตัญญูบุคคล ด้วยวาระที่ ๓. ก็เนยยบุคคล ย่อมเป็นผู้อาศัยวิปจิตัญญูบุคคลนั่นเทียว.
               ข้อว่า "ธมฺมเทสนา อนุญฺญาตา" ความว่า พระองค์ทรงอนุญาตพระธรรมเทศนาเดือนละ ๘ ครั้ง.
               ข้อว่า "อญฺเญสมฺปิ ธมฺโม เทเสตพฺโพ" ความว่า พระธรรมกถึกควรกล่าวธรรมแก่ชนทั้งหลายแม้นอกจากนี้.
               ถามว่า "เพราะเหตุไร?"
               ตอบว่า "เพราะปทปรมบุคคล แม้ไม่สามารถแทงตลอดธรรมในอัตภาพนี้ แต่ก็จะเป็นปัจจัยไปในกาลข้างหน้า.
               อนึ่ง คนไข้ใดได้เห็นรูปพระตถาคตก็ดี ไม่ได้เห็นก็ดี และได้พระธรรมวินัยก็ดี ไม่ได้ก็ดี เขาย่อมตรัสรู้ธรรมได้ คนไข้นั้นเมื่อไม่ได้ตรัสรู้ก่อน แต่เมื่อได้ปัจจัยที่สมควรก็จักตรัสรู้ได้โดยเร็วพลันนั่นเทียว เพราะฉะนั้น พระธรรมกถึกทั้งหลายพึงแสดงธรรมแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นด้วยเหตุที่กล่าวมานี้.
               แต่ว่าความแสดงธรรมแก่บุคคลที่ ๓ บ่อยๆ ทีเดียว.

               อรรถกถากายสักขีบุคคลเป็นต้น               
               บุคคลทั้งหลายที่ชื่อว่า กายสักขี ทิฏฐิปัตตะและสัทธาวิมุต ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.

               อรรถกถาคูถภาณีบุคคลเป็นต้น               
               บทว่า "สภคฺโค" ได้แก่ อยู่ในสภา คือที่ประชุม.
               บทว่า "ปริสคฺคโต" ได้แก่ อยู่ในบริษัทชาวบ้าน.
               บทว่า "คามมชฺฌคฺคโต" ได้แก่ อยู่ในท่ามกลางแห่งชาวชนบททั้งหลาย.
               บทว่า "ญาติมชฺฌคฺคโต" ได้แก่ อยู่ในท่ามกลางแห่งทายาททั้งหลาย (ผู้รับมรดกเรียก ทายาท)
               บทว่า "ปูคมชฺฌคฺคโต" ได้แก่ อยู่ในท่ามกลางแห่งอำมาตย์ทั้งหลาย.
               บทว่า "ราชกุลมชฺฌคฺคโต" ได้แก่ อยู่ในโรงมหาวินิจฉัย ในท่ามกลางราชตระกูล.
               บทว่า "อภินีโต" ได้แก่ ถูกเขานำไปเพื่อประโยชน์แก่การซักถาม.
               บทว่า "สกฺขิ ปุฏฺโฐ" ได้แก่ ถูกเขากระทำให้เป็นพยานแล้วซัก.
               คำว่า "เอหมฺโภ ปุริส" นี้ เป็นคำอาลปนะ คือคำสำหรับร้องเรียก.
               คำว่า "อตฺตเหตุ วา ปรเหตุ วา" ได้แก่ เพราะเหตุแห่งอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้น หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์ของตนหรือของผู้อื่น.
               ในคำนี้ว่า "อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ วา" ลาภ ท่านประสงค์เอาว่า "อามิส" คือสิ่งของต่างๆ.
               คำว่า "กิญฺจิกฺขํ" ได้แก่ สินจ้างใดๆ ก็ตามที่มีประมาณเล็กน้อย. อธิบายว่า เพราะเหตุแห่งสินจ้างมีประมาณเล็กน้อย โดยที่สุดมีนกกระทา, นกคุ่ม, ก้อนเนยใสและก้อนเนยข้นเป็นต้น.
               สองบทว่า "สมฺปชานมุสาภาสิตา โหติ" ความว่า กระทำการกล่าวมุสาวาททั้งที่รู้อยู่นั่นแหละ.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า คูถภาณี คือผู้มีวาทะเหมือนคูถ เพราะมีวาจาเช่นกับด้วยคูถ (อุจจาระ) ท่านอธิบายไว้ว่า เหมือนอย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคูถย่อมไม่เป็นที่ชอบใจแก่มหาชนฉันใด คำพูดของบุคคลกล่าวเท็จนี้ ก็ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า ปุบผภาณี คือผู้มีวาจาเหมือนดอกไม้. เหมือนอย่างว่า ดอกมะลิทั้งหลายทั้งที่กำลังตูมหรือกำลังบาน ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่ปรารถนาของมหาชน ฉันใด, วาจาของบุคคลผู้นี้ก็ย่อมเป็นที่ชอบใจรักใคร่ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
               โทโส คือ โทษ ท่านเรียกว่า เอลํ ซึ่งแปลว่า ความชั่ว ในคำว่า "เนลา" วิเคราะห์ว่า โทษของวาจานั้นไม่มี เพราะฉะนั้น วาจานั้นจึงเรียกว่า เนลา แปลว่า วาจาไม่มีโทษ.
               อธิบายว่า หมดโทษ ดุจโทษที่ท่านกล่าวไว้ในคำนี้ว่า "เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท"๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕๑.

               บทว่า "กณฺณสุขา" ได้แก่ ชื่อว่าสบายแก่หูทั้งสอง เพราะเป็นวาจาที่ไพเราะโดยพยัญชนะ. อธิบายว่า ไม่ทำการเสียดแทงหูให้เกิดขึ้น ดุจการแทงด้วยเข็มทั้งหลาย.
               พึงทราบวิเคราะห์ต่างๆ ดังนี้
               วาจาใดไม่ยังความโกรธให้เกิดขึ้นในสรีระทั้งสิ้น ย่อมยังความรักให้เกิดเพราะเป็นวาจาที่ไพเราะโดยอรรถ เพราะฉะนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า เปมนียา แปลว่า วาจาอันยังความรักให้เกิดขึ้น.
               วาจาใดย่อมไปสู่หทัย ไม่มีอะไรๆ กระทบกระเทือน เข้าไปสู่จิตโดยสบาย เพราะฉะนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า หทยงฺคมา แปลว่า วาจาจับใจ.
               วาจาใดเป็นของมีอยู่ในเมือง เพราะเป็นวาจาที่สมบูรณ์ด้วยคุณ เพราะฉะนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า โปรี แปลว่า วาจาชาวเมือง. วาจาใดที่กล่าวเรียกว่า ดูก่อนกุมารผู้ดี ดุจนารีผู้มีวัฒนธรรมอันดี วาจาแม้นั้นก็เรียกว่า โปรี. วาจานี้ใดเป็นของมีอยู่แก่ชาวเมือง แม้วาจานั้น ก็ชื่อว่า โปรี.
               อธิบายว่า เป็นถ้อยคำของชาวนคร.
               จริงอยู่ ชาวนครทั้งหลายมีถ้อยคำอันควร คือเหมาะสม ย่อมกล่าวเรียกบุคคลผู้สมควรเป็นพ่อว่า พ่อ เรียกผู้สมควรเป็นแม่ว่า แม่ และกล่าวเรียกผู้สมควรเป็นพี่ชายน้องชายว่า พี่ชาย น้องชาย ดังนี้.
               ถ้อยคำใด (ที่กล่าวมาแล้ว) เห็นปานนี้ ย่อมเป็นที่รักใคร่ชอบใจแก่ชนเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า พหุชนกนฺตา แปลว่า วาจาเป็นที่ชอบใจของคนเป็นจำนวนมาก.
               วาจาใดเป็นที่ยังใจให้ชุ่มชื่น คือกระทำความเจริญแก่จิตของชนเป็นจำนวนมากโดยความเป็นวาจาอันชอบใจนั่นแหละ เพราะฉะนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า พหุชนมนาปา แปลว่า วาจาเป็นที่ชอบใจแก่ชนเป็นจำนวนมาก.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า มธุภาณี แปลว่า ผู้มีวาจาเหมือนน้ำผึ้ง. บาลีว่า "มุทุภาณี แปลว่า มีวาจาอ่อนโยน" ดังนี้บ้าง.
               อธิบายว่า เป็นวาจาไพเราะแม้ทั้ง ๒ อย่าง เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่า จตุมธุรส คือรส ๔ อย่างมีน้ำมันเนย น้ำมันงา น้ำผึ้ง น้ำตาลโตนด เมื่อระคนปนกันแล้วเป็นของประณีต ฉันใด ถ้อยคำของบุคคลผู้นี้ก็เป็นของไพเราะแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน.

               อรรถกถาอรุกูปมาจิตตบุคคลเป็นต้น               
               บทว่า "อภิสชฺชติ" ได้แก่ ย่อมข้อง.
               บทว่า "กุปฺปติ" ได้แก่ ย่อมกำเริบ ด้วยอำนาจความโกรธ.
               บทว่า "พฺยาปชฺชติ" ได้แก่ ย่อมละปกติภาวะ จึงชื่อว่าเป็นผู้เน่า.
               บทว่า "ปติตฺถิยติ" ได้แก่ ย่อมถึงความเป็นผู้กระด้างและความเป็นผู้หยาบช้า.
               บทว่า "โกปํ" ได้แก่ ความโกรธที่มีกำลังอ่อน.
               บทว่า "โทสํ" ได้แก่ โทสะที่มีกำลังมากกว่า กว่าความโกรธนั้นด้วยอำนาจการประทุษร้าย.
               บทว่า "อปฺปจฺจยํ" ได้แก่ โทมนัส คือความเสียใจที่มีอาการอันไม่ยินดี.
               บทว่า "ทุฏฺฐารุโก" ได้แก่ แผลเรื้อรัง.
               บทว่า "กฏฺเฐน" ได้แก่ ด้วยปลายท่อนไม้.
               บทว่า "กถลาย" ได้แก่ ด้วยกระเบื้อง.
               บทว่า "อาสวํ เทติ" ได้แก่ ย่อมไหลออกมากมาย. ก็ตามธรรมดาแผลเรื้อรังนั้น ย่อมไหลออกซึ่งสิ่งปฏิกูล ๓ อย่าง คือ ปุพฺพํ น้ำหนอง โลหิตํ น้ำเลือด ยูสํ น้ำเหลือง ก็แผลนั้น อะไรๆ กระทบแล้ว สิ่งปฏิกูลเหล่านั้นย่อมไหลออกมามากมาย.
               คำว่า "เอวเมว โข" นี้มีการเปรียบเทียบด้วยอุปมา ดังต่อไปนี้.
               ก็บุคคลผู้มักโกรธ ท่านเปรียบเหมือนแผลเรื้อรัง (แผลเน่า) ความประพฤติแม้ของผู้มักโกรธ เปรียบเหมือนการไหลออกของสิ่งปฏิกูล ๓ อย่างมีน้ำหนองเป็นต้นตามธรรมดาของตน ความประพฤติดุร้าย เปรียบเหมือนซากศพที่บวมพองขึ้นตามธรรมดาของตน ถ้อยคำของผู้มักโกรธนั้น แม้มีประมาณเล็กน้อย ท่านก็เปรียบเหมือนการกระทบกระทั่งด้วยท่อนไม้หรือกระเบื้อง บัณฑิตพึงเห็นภาวะ คือการพองขึ้นโดยประมาณมากมายของผู้มักโกรธนั้น ด้วยความคิดอย่างนี้ว่า "บุคคลนี้พูดอย่างนี้ ชื่อผู้เช่นกับเรา" ท่านเปรียบเหมือนการไหลออกมากมายแห่งปฏิกูลทั้งหลาย.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อรุกูปมจิตฺโต แปลว่า ผู้มีจิตเปรียบด้วยแผลเรื้อรัง. อธิบายว่า ผู้มีจิตเช่นกับแผลเก่า (แผลเน่า)
               บทว่า "รตฺตนฺธการติมิสาย" ความว่า ในความมืดทึบอันกระทำความมืดโดยห้ามการเกิดขึ้นแห่งจักขุวิญญาณในเวลากลางคืน.
               บทว่า "วิชฺชนฺตริกาย" ได้แก่ ในขณะแห่งฟ้าแลบเป็นไป.
               แม้ในคำว่า วิชฺชนฺตริกาย นี้ พึงทราบการเปรียบเทียบด้วยอุปมา ดังต่อไปนี้.
               พระโยคาวจร คือผู้หยั่งลงสู่ความเพียร บัณฑิตพึงเห็นเหมือนบุรุษผู้มีจักษุดี กิเลสทั้งหลายที่พระโสดาปัตติมรรคพึงประหาน เปรียบเหมือนความมืด การเกิดขึ้นแห่งโสดาปัตติมรรคญาณ เปรียบเหมือนฟ้าแลบ การเห็นพระนิพพานในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค เปรียบเหมือนการเห็นรูปโดยรอบของบุรุษผู้มีจักษุในระหว่างฟ้าแลบ.
               กิเลสทั้งหลายที่พระสกทาคามิมรรคพึงประหาน เปรียบเหมือนการท่วมท้น คือการปกคลุมแห่งความมืดอีก, ความเกิดขึ้นแห่งสกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนฟ้าแลบเป็นไปอีก, การเห็นพระนิพพานในขณะแห่งสกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนการเห็นรูปโดยรอบของบุรุษผู้มีจักษุในระหว่างฟ้าแลบ.
               กิเลสทั้งหลายที่พระอนาคามิมรรคพึงประหาน เปรียบเหมือนกับการท่วมท้น คือการปกคลุมด้วยความมืดอีก, ความเกิดขึ้นแห่งอนาคามิมรรคญาณ เปรียบเหมือนฟ้าแลบเป็นไปอีก, การเห็นพระนิพพานในขณะแห่งอนาคามิมรรคเปรียบเหมือนการเห็นรูปโดยรอบของบุรุษผู้มีจักษุในระหว่างฟ้าแลบ.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า วิชฺชูปมจิตฺโต แปลว่า ผู้มีจิตเปรียบด้วยฟ้าแลบ. อธิบายว่า ผู้มีจิตเช่นกับฟ้าแลบเพราะความสว่างในเวลาที่ประหานมีเล็กน้อย.
               ในความที่บุคคลมีจิตเปรียบด้วยฟ้าผ่า มีการเปรียบเทียบด้วยอุปมาดังต่อไปนี้
               ก็บัณฑิตพึงเห็นญาณในอรหัตตมรรค เปรียบเหมือนฟ้าผ่า, กิเลสทั้งหลายที่อรหัตมรรคพึงประหาน เปรียบเหมือนปุ่มแก้วมณีหรือปุ่มก้อนหิน, บัณฑิตพึงเห็นความที่กิเลสทั้งหลายถูกตัดขาดไปด้วยอรหัตมรรคญาณ เปรียบเหมือนการไม่มีแห่งภาวะที่ปุ่มแก้วมณีหรือปุ่มก้อนหินที่ถูกฟ้าผ่าเจาะทำลายตัดขาดแล้วไม่เจริญขึ้น, บัณฑิตพึงเห็นความที่กิเลสทั้งหลายถูกอรหัตมรรคตัดขาดแล้วไม่เกิดขึ้นอีก เปรียบเหมือนปุ่มแก้วมณีหรือปุ่มก้อนหินที่ถูกฟ้าผ่าเจาะทำลายขาดไปแล้วไม่บริบูรณ์ได้อีก.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า วชิรูปมจิตฺโต แปลว่า ผู้มีจิตอุปมาด้วยฟ้าผ่า. อธิบายว่า ผู้มีจิตเช่นกับด้วยฟ้าผ่า เพราะความเป็นผู้สามารถเพื่อการกระทำการเพิกถอนขึ้นซึ่งกิเลสทั้งหลาย.

               อรรถกถาอันธบุคคลคือบุคคลผู้บอดเป็นต้น               
               ข้อว่า "ตถารูปํ จกฺขุํ น โหติ" ความว่า จักษุ คือปัญญาที่มีชาติอย่างนั้น มีสภาวะอย่างนั้น ย่อมไม่มีแก่เขา.
               สองบทว่า "ผาตึ กเรยฺย" ได้แก่ พึงกระทำการเผยแผ่ คือทำให้เจริญ.
               บทว่า "สาวชฺชานวชฺเช" ได้แก่ ธรรมที่มีโทษและหาโทษมิได้.
               บทว่า "หีนปณีเต" ได้แก่ ไม่ยิ่งและไม่สูงสุด.
               บทว่า "กณฺหสุกฺกสปฺปฏิภาเค" ความว่า ธรรมทั้งฝ่ายดำทั้งฝ่ายขาวนั่นแหละ ท่านเรียกว่า สัปปฏิภาค แปลว่า มีส่วนเปรียบด้วยสามารถแห่งอันปฏิปักษ์ เพราะมีการห้ามซึ่งกันและกัน.
               ก็ในที่นี้มีข้อสังเขปดังนี้ว่า บุคคลควรรู้กุศลธรรมทั้งหลายว่าเป็นกุศลธรรมทั้งหลายเป็นต้น ด้วยปัญญาจักษุใด, ควรรู้อกุศลธรรมทั้งหลายว่า เป็นอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นต้น ด้วยปัญญาจักษุนั้น แม้ในธรรมที่มีโทษเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแม้ในภาวะที่เหลือโดยนัยนี้ว่า บุคคลพึงทราบด้วยปัญญาจักษุใดว่า "บรรดาธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว สำหรับธรรมฝ่ายดำมีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายขาว สำหรับธรรมฝ่ายขาวก็มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำ" ดังนี้ จักษุ คือปัญญา แม้เห็นปานนี้ย่อมไม่มีแก่เขา.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อนฺโธ แปลว่า ผู้บอด เพราะไม่มีปัญญาจักษุอันเป็นเครื่องรวบรวมโภคทรัพย์อันเป็นไปในทิฏฐธัมมิกภพ คือภพนี้ และไม่มีปัญญาจักษุอันเป็นเครื่องยังประโยชน์ให้สำเร็จในสัมปรายิกภพ คือภพหน้า.
               บุคคลจำพวกที่ ๒ ท่านเรียกว่า เอกจกฺขุ แปลว่า ผู้มีตาข้างเดียว เพราะมีปัญญาจักษุอันเป็นเครื่องรวบรวมหาโภคทรัพย์ได้ในภพนี้ แต่ไม่มีปัญญาจักษุอันเป็นเครื่องยังประโยชน์ให้สำเร็จในภพหน้า.
               บุคคลจำพวกที่ ๓ ท่านเรียกว่า ทฺวิจกฺขุ แปลว่า ผู้มีตาทั้ง ๒ ข้าง เพราะมีปัญญาจักษุอันเป็นเครื่องยังประโยชน์ให้สำเร็จในภพเบื้องหน้า.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีปัญญาเพียงดังหม้อคว่ำเป็นต้น               
               สองบทว่า "ธมฺมํ เทเสนฺติ" ความว่า ภิกษุทั้งหลายละการงานของตนแล้วแสดงธรรมด้วยการคิดว่า "อุบาสกมาเพื่อต้องการฟังธรรม"
               บทว่า "อาทิกลฺยาณํ" ความว่า ย่อมแสดงธรรมให้งาม ให้เจริญ คือให้ไม่มีโทษ คือปราศจากโทษในเบื้องต้น แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในคำว่า "อาทิ" นี้ได้แก่เป็นคำเริ่มต้นครั้งแรก.
               บทว่า "มชฺฌํ" ได้แก่ เป็นการกล่าวในท่ามกลาง.
               บทว่า "ปริโยสานํ" ได้แก่ เป็นคำสุดท้าย.
               ภิกษุทั้งหลายเมื่อแสดงธรรมแก่เรา ย่อมแสดงธรรมให้งาม ให้เจริญ ให้ไม่มีโทษนั่นเทียว ทั้งในคำที่เริ่มต้นครั้งแรก ทั้งในคำที่มีในท่ามกลาง ทั้งในคำที่กล่าวไว้ในที่สุด
               อนึ่ง ในที่นี้ ความงามแห่งพระธรรมเทศนาอันเป็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดมีอยู่ และความงามทั้ง ๓ อย่างนั้นแห่งศาสนาก็มีอยู่. ในบรรดาความงามแห่งเทศนา และความงามแห่งพระศาสนานั้น พึงทราบความงามแห่งเทศนาก่อน คือ
               พระคาถา ๔ บทแห่งเทศนา บทแรกเรียกว่า เป็นความงามในเบื้องต้น สองบทต่อมาเรียกว่า เป็นความงามในท่ามกลาง บทสุดท้ายเรียกว่า เป็นความงามในที่สุด. สำหรับพระสูตรที่มีเรื่องเดียว นิทานเป็นความงามในเบื้องต้น อนุสนธิ คือการสืบต่อ เป็นความงามในท่ามกลาง วาจาที่กล่าวสุดท้ายว่า "อิทมโวจ" เป็นความงามในที่สุด. สำหรับพระสูตรที่มีอนุสนธิมาก คือมีเรื่องมาก (อเนกานุสนธิ) อนุสนธิแรกเป็นความงามในเบื้องต้น ต่อจากนั้นอนุสนธิหนึ่งก็ดี หลายๆ อนุสนธิก็ดี เป็นความงามในท่ามกลาง อนุสนธิสุดท้ายเป็นความงามในที่สุด. พึงทราบนัยแห่งพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ก่อน.
               ก็สำหรับนัยแห่งพระศาสนา ศีลจัดเป็นความงามในเบื้องต้น สมาธิจัดเป็นความงามในท่ามกลาง วิปัสสนาจัดเป็นความงามในที่สุด. อีกอย่างหนึ่ง สมาธิเป็นความงามในเบื้องต้น วิปัสสนาเป็นความงามในท่ามกลาง มรรคเป็นความงามในที่สุด. อีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนาเป็นความงามในเบื้องต้น มรรคเป็นความงามในท่ามกลาง ผลเป็นความงามในที่สุด. อีกอย่างหนึ่ง มรรคเป็นความงามในเบื้องต้น ผลเป็นความงามในท่ามกลาง นิพพานเป็นความงามในที่สุด. อีกอย่างหนึ่ง (ท่านจัดเป็นคู่) คือ ศีลกับสมาธิจัดเป็นความงามในเบื้องต้น วิปัสสนากับมรรคจัดเป็นความงามในท่ามกลาง ผลกับพระนิพพานจัดเป็นความงามในที่สุด.
               บทว่า "สาตฺถํ" ได้แก่ แสดงธรรมให้เป็นไปกับด้วยประโยชน์.
               บทว่า "สพฺยญฺชนํ" ได้แก่ แสดงธรรมให้มีอักขระบริบูรณ์.
               บทว่า "เกวลปริปุณฺณํ" ได้แก่ แสดงธรรมกระทำให้บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง คือไม่ให้บกพร่อง.
               บทว่า "ปริสุทฺธํ" ได้แก่ แสดงธรรมให้บริสุทธิ์ ให้หายรกชัฏ คือให้หายความฟันเฝือ.
               สองบทว่า "พฺรหฺมจริยํ ปกาเสนฺติ" ความว่า ก็เมื่อแสดงธรรมอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าย่อมประกาศอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ อันสงเคราะห์ด้วยไตรสิกขา คือศีล สมาธิและปัญญา อันท่านผู้ประเสริฐประพฤติแล้ว.
               ข้อว่า "เนว อาทึ มนสิกโรติ" ได้แก่ ไม่มนสิการถ้อยคำที่ตั้งไว้ในเบื้องต้น.
               บทว่า "กุมฺโภ" ได้แก่ หม้อ.
               บทว่า "นิกุชฺชิโต" ได้แก่ หม้อที่เขาตั้งคว่ำปากไว้.
               ในคำนี้ว่า "เอวเมว" ความว่า บัณฑิตพึงเห็นบุคคลผู้มีปัญญาที่เปรียบด้วยหม้อคว่ำ ก็เหมือนกับหม้อที่เขาคว่ำปากไว้. บัณฑิตพึงเห็นเวลาที่เขาได้ฟังพระธรรมเทศนา เปรียบเหมือนเวลาที่รดด้วยน้ำ. พึงเห็นเวลาที่เขานั่ง ณ อาสนะนั้นแล้วไม่สามารถเพื่อเรียนธรรมได้ เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำไหลออกไปจากหม้อ. พึงทราบว่าเวลาที่เขาลุกขึ้นจากอาสนะแล้วกำหนดธรรมไม่ได้ เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำไม่ขังอยู่ในหม้อ.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อวกุชฺชปญฺโญ แปลว่า ผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำ.
               อธิบายว่า มีปัญญาเหมือนหม้อน้ำที่เขาตั้งคว่ำปากไว้.
               บทว่า "อากิณฺณานิ" ได้แก่ ใส่เข้าแล้ว.
               สองบทว่า "สติสมฺโมสา ปกิเรยฺย" ความว่า เพราะเผลอสติ สิ่งของทั้งหลายจึงกระจัดกระจายไป. บัณฑิตพึงเห็นบุคคลผู้มีปัญญาดังหน้าตัก (ชายพก) ก็เหมือนกับหน้าตักที่ท่านตรัสไว้ในคำว่า "เอวเมว" นี้. บัณฑิตพึงเห็นพุทธพจน์มีประการต่างๆ เหมือนอาหารที่เคี้ยวกินนานาชนิด. พึงทราบว่า เวลาที่เขานั่ง ณ อาสนะนั้นแล้วเรียนพุทธพจน์ เหมือนเวลาที่เขานั่งเคี้ยวกินของที่ควรเคี้ยวกินต่างๆ ชนิดอยู่บนหน้าตัก. พึงทราบว่า เวลาที่เขาลุกจากอาสนะนั้นแล้วเดินไปไม่สามารถกำหนดธรรมได้ เปรียบเหมือนเวลาที่เขาเผลอลืมสติลุกขึ้นทำให้ของเคี้ยวกินกระเด็นกระจัดกระจายไป.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อุจฺฉงฺคปญฺโญ แปลว่า มีปัญญาเพียงดังหน้าตัก. อธิบายว่า มีปัญญาเช่นกับหน้าตัก.
               บทว่า "อุกฺกุชฺโช" ได้แก่ หม้อที่เขาตั้งหงายปากขึ้นเบื้องบน.
               บทว่า "สณฺฐาติ" ได้แก่ น้ำที่ขังอยู่.
               ในคำว่า "เอวเมว โข" นี้ บัณฑิตพึงเห็นบุคคลผู้มีปัญญามาก เหมือนหม้อที่เขาตั้งหงายปากขึ้นเบื้องบน พึงทราบว่า เวลาที่เขาได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว เหมือนเวลาที่เขารดน้ำ (เทน้ำใส่หม้อ). พึงทราบว่า เวลาที่เขานั่งเรียนพุทธพจน์ในที่นั้น เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำขังอยู่. พึงทราบว่า เวลาที่ลุกขึ้นจากอาสนะเดินไปยังสามารถกำหนดพุทธพจน์ได้ เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำไหลออกไป.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้เรียกว่า ปุถุปญฺโญ แปลว่า ผู้มีปัญญามาก. อธิบายว่า มีปัญญากว้างขวาง.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีราคะยังไม่ไปปราศเป็นต้น               
               พระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังไม่ปราศจากราคะในกามคุณทั้ง ๕ และภพทั้ง ๓ ฉันใด แม้ปุถุชนก็ฉันนั้น. แต่สำหรับปุถุชนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงถือเอาเพราะไม่เป็นทัพพบุคคล. เหมือนอย่างว่า นายช่างไม้ผู้ชาญฉลาด เข้าไปสู่ป่าเพื่อต้องการทัพพสัมภาระ เขาย่อมไม่ตัดต้นไม้ที่มาพบแล้วและพบแล้วจำเดิมแต่ต้น แต่ว่าไม้เหล่าใดที่เข้าถึงความเป็นทัพพสัมภาระได้ เขาย่อมตัดต้นไม้เหล่านั้นนั่นแหละฉันใด พระอริยสาวกทั้งหลายผู้มีทัพพชาติเหล่านั้น (ผู้มีชาติแห่งความสามารถ) พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงถือเอาแล้วแม้ในที่นี้ ฉันนั้น ส่วนปุถุชน บัณฑิตพึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงถือเอาเพราะความไม่มีทัพพชาติ คือผู้ไม่มีความสามารถเพื่อจะตรัสรู้ธรรม. (คำว่า "ทพฺพ" ศัพท์นี้ แปลได้หลายอย่าง เช่น ควร, สมควร, สามารถ, ปัญญา, ทรัพย์สมบัติ สิ่งที่มีค่า)
               สองบทว่า "กาเมสุ วีตราโค" ได้แก่ ผู้ปราศจากราคะในเบญจกามคุณ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่ารักใคร่ น่าปรารถนา.
               สองบทว่า "ภเวสุ อวีตราโค" ได้แก่ ผู้ยังไม่ปราศจากราคะ คือผู้ยินดีในรูปภพและอรูปภพ.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดในหินเป็นต้น               
               บทว่า "อนุเสติ" ได้แก่ ความโกรธย่อมนอนเนื่องอยู่ เพราะยังละอนุสัยไม่ได้.
               ข้อว่า "น ขิปฺปํ ลุชฺชติ" ได้แก่ ความโกรธนั้นย่อมไม่สูญหายไปในระหว่าง คือว่าโดยเวลาเกิดขึ้นมาตลอดกัปก็ไม่สูญหาย.
               ข้อว่า "เอวเมว" ความว่า ความโกรธของบุคคลแม้นั้น ย่อมไม่ดับไปในระหว่าง คือในวันรุ่งขึ้น หรือในวันต่อๆ ไปก็ไม่ดับ (คงหมายถึงการดับไม่เกิดอีก) ฉันนั้น. อธิบายว่า ก็ความโกรธนั้นย่อมมีอยู่เป็นเวลายาวนาน แต่ย่อมดับไปเพราะการมรณะ๑- นั่นเทียว.
____________________________
๑- คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี สัจจวิภังคนิทเทส อธิบายคำว่า มรณะ นี้ไว้ ๓ อย่าง คือ ๑. ขณิกมรณะ แปลว่าตายทุกขณะ ก็คือ ภังคขณะของรูปและนาม ๒. สมฺมติมรณะ แปลว่า ตายโดยสมมติ ได้แก่คนตาย สัตว์ตาย ๓. สมุจเฉทมรณะ ตายไม่เกิด ได้แก่พระอรหันต์ปรินิพพาน

               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า ปาสาณเลขูปโม แปลว่า ผู้เปรียบด้วยรอยขีดเขียนที่หิน อันเป็นรอยติดอยู่ตลอดกาลนาน โดยความเป็นดุจการโกรธ เหมือนรอยขีดเขียนที่หิน.
               ข้อว่า "โส จ ขฺวสฺส โกโธ" ความว่า ความโกรธของผู้มักโกรธนั้น มีความโกรธเร็ว แม้เหตุเล็กน้อย.
               ข้อว่า "น จิรํ" ความว่า ความโกรธ ย่อมนอนเนื่องไม่นาน เพราะเขายังละความโกรธไม่ได้. อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า รอยขีดที่บุคคลทำการขีดที่แผ่นดินย่อมลบเลือนไปด้วยลมเป็นต้นโดยเร็ว ฉันใด ความโกรธของเขา แม้เกิดขึ้นแล้วเร็ว ก็ย่อมดับไปโดยเร็วพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า ปฐวีเลขูปโม แปลว่า ผู้เปรียบด้วยรอยขีดเขียนที่แผ่นดินซึ่งตั้งอยู่ไม่นานโดยภาวะ คือความโกรธเหมือนรอยขีดเขียนที่แผ่นดิน.
               บทว่า "อาคาฬฺเหน" ได้แก่ ถ้อยคำอันหยาบช้า คือได้แก่ถ้อยคำอันแข็งกระด้าง อันเชือดเฉือนหทัย.
               บทว่า "ผรุเสน" ได้แก่ ถ้อยคำอันไม่สบายหู.
               บทว่า "อมนาเปน" ได้แก่ ถ้อยคำอันไม่สบายจิต.
               บทว่า "สํสนฺทติ" ได้แก่ เป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า "สนฺธิยติ" ได้แก่ การสืบต่อ.
               บทว่า "สมฺโมทติ" ได้แก่ ไม่มีระหว่างคั่น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า "สํสนฺทติ" อธิบายว่า ย่อมถึงการประชุมลงในการกระทำของจิตด้วยจิต คือว่าย่อมเข้าถึงเอกีภาวะ คือความเป็นอันเดียวกัน ดุจขีโรทกคือน้ำกับนม.
               บทว่า "สนฺธิยติ" อธิบายว่า ย่อมถึงการประชุมลงในการกระทำทางกายด้วยกายเป็นต้น ซึ่งมีการยืนและการเดินเป็นต้น คือว่า ย่อมเข้าถึงความเป็นของปะปนกันดุจงากับข้าวสาร (ที่ใส่รวมกันอยู่.)
               บทว่า "สมฺโมทติ" อธิบายว่า ย่อมถึงการประชุมลงในการกระทำทางวาจาด้วยวาจามีการสอบถามอุทเทสเป็นต้น ชื่อว่าย่อมเข้าถึงความเป็นที่รักยิ่ง เหมือนสหายที่รักผู้มาจากสถานที่ต่างๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เมื่อเข้าถึงความเป็นผู้กระทำโดยความเป็นอันเดียวกันแต่ต้นกับด้วยสหายเหล่านั้นในกิจที่ควรทำทั้งหลาย จึงชื่อว่าสนิทสนมกัน. บัณฑิตพึงทราบว่า การสนิทสนมกันนั้นว่า ยังคงสืบต่อเป็นไปอยู่ตั้งแต่ต้นจนถึงท่ามกลางและไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงที่สุด ดังนี้บ้าง.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อุทกเลขูปโม แปลว่า ผู้เปรียบด้วยรอยขีดในน้ำ เพราะสนิทกันเร็วดุจรอยขีดในน้ำ.

               อรรถกถาบุคคล ๓ จำพวกที่อุปมาด้วยผ้าป่าน               
               บุคคล ๓ จำพวกเหล่านั้นท่านเรียกว่า โปตฺถกูปมา แปลว่า ผู้เปรียบด้วยผ้าป่าน ด้วยอุปมาใด เพื่อจะแสดงคำอุปมานั้นก่อน ท่านจึงกล่าวคำว่า "ตโย โปตฺถกา" เป็นต้น.
               บรรดาบททั้งหลายเหล่านั้น บทว่า "นโว" ได้แก่ ผ้าที่ทอใหม่.
               บทว่า "โปตฺถโก" ได้แก่ ผ้าที่ทอด้วยเปลือกป่าน.
               บทว่า "ทุพฺพณฺโณ" ได้แก่ ผ้าที่มีสีทราม.
               บทว่า "ทุกฺขสมฺผสฺโส" ได้แก่ ผ้าที่มีสัมผัสกระด้าง.
               บทว่า "อปฺปคฺโฆ" ได้แก่ ผ้าที่มีราคาไม่แพง คือมีราคาประมาณหนึ่งกหปาปณะ (หนึ่งกหาปณะ = ๔ บาท)
               บทว่า "มชฺฌิโม" ได้แก่ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่.
               อธิบายว่า ผ้านั้นล่วงเลยความเป็นของใหม่แต่ยังไม่ถึงความเป็นของเก่าคร่ำคร่า แม้ในเวลาใช้สอยก็มีสีไม่สวยมีสัมผัสไม่สบายมีค่าน้อย เมื่อตีราคาขายแพงก็ได้ราคาเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ในเวลาที่ผ้านั้นเก่าแล้วก็มีราคาเพียงหนึ่งมาสก (๑๐ สตางค์) หรือเพียง ๑ กากณิก (กากณิกา = ราคาเนื้อที่กากลืนกินครั้งหนึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในสมัยนั้น)
               บทว่า "อุกฺขลิปริมชฺชนํ" ได้แก่ ผ้าเช็ดหม้อข้าว.
               บทว่า "นโว" ความว่า ว่าโดยการอุปสมบท นับแต่ ๕ พรรษาลงมาภิกษุนั้นแม้มีอายุ ๖๐ ปี ก็ชื่อว่านวะ คือผู้ใหม่ทั้งนั้น.
               บทว่า "ทุพฺพณฺณตาย" ความว่า เพราะมีวรรณะไม่งามด้วยวรรณะแห่งสรีระบ้าง ด้วยวรรณะแห่งคุณงามความดีบ้าง. ก็วรรณะแห่งสรีระของผู้ทุศีลผู้นั่งในท่ามกลางบริษัทย่อมไม่รุ่งเรือง เพราะความที่ตนไม่มีอำนาจ สำหรับในวรรณะคือคุณงามความดีของผู้ทุศีลนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเลย.
               ข้อว่า "เย โข ปนสฺส" ความว่า ก็ชนเหล่าใดแลเป็นผู้อุปัฏฐาก หรือเป็นญาติและเป็นมิตร เป็นต้นของผู้ทุศีลนั้น เขาย่อมเสพบุคคลคนหนึ่ง.
               บทว่า "เตสนฺตํ" ความว่า การเสพนั้นแห่งบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน เหมือนพวกมิจฉาทิฏฐิผู้เสพครูทั้ง ๖ หรือเหมือนโกกาลิกภิกษุเป็นต้นผู้เสพพระเทวทัต ฉันนั้น.
               บทว่า "มชฺฌิโม" ความว่า ว่าโดยการอุปสมบท นับตั้งแต่ ๕ พรรษาจนถึง ๙ พรรษา#- ชื่อว่ามัชฌิมภิกษุ.
               บทว่า "เถโร" ความว่า ตั้งแต่ ๑๐ พรรษาไปชื่อว่า พระเถระ.
               บทว่า "เอวมาหํสุ" ได้แก่ ย่อมกล่าวอย่างนี้
               ข้อว่า "กินฺนุ โข ตุยฺหํ" ความว่า มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า จะมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยคำกล่าวของคนพาล.
               บทว่า "ตถารูปํ" ได้แก่ อันเป็นเหตุอุกเขปนียกรรม ที่มีชาติอย่างนั้น มีสภาวะอย่างนั้น.
____________________________
#- ในที่อื่นตั้งแต่ ๕-๑๐ พรรษา.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวก               
               ผ้าเนื้อละเอียดที่เขาทอด้วยด้ายที่เขาถือเอาฝ้าย ๓ ชนิด แล้วกรอเข้าด้วยกันว่า ผ้าแคว้นกาสี. ผ้านั้นที่ทอใหม่นับค่ามิได้ ที่ใช้สอยกลางเก่ากลางใหม่มีราคาพันบ้าง ๓๐ พันบ้าง แต่ในเวลาที่เก่าแล้วยังมีราคาถึง ๘ พันก็มี ๑๐ พันก็มี.
               สองบทว่า "เตสนฺตํ โหติ" ความว่า การเสพนั้นของบุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน เหมือนบุคคลทั้งหลายผู้เสพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว แล้วหลุดพ้นจากอาสวกิเลสจนถึงสมัยทุกวันนี้นับประมาณมิได้ สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานเถระและพระอสีติมหาสาวก แล้วไปสู่สวรรค์ก็หาประมาณมิได้เหมือนกัน แม้สัตว์ผู้ดำเนินไปตามทิฏฐานุคติ คือตามเยี่ยงอย่างของพระอริยะเหล่านั้นจนถึงสมัยทุกวันนี้ก็หาประมาณมิได้เหมือนกัน.
               สองบทว่า "อาเธยฺยํ คจฺฉติ" ความว่า คำของพระเถระนั้นอาศัยอรรถย่อมถึงซึ่งความเป็นของอันบุคคลพึงเก็บรักษาไว้ คือวางไว้บนศีรษะอันเป็นอวัยวะอันสูงสุด และในหัวใจ เหมือนกันกับผ้าแคว้นกาสีอันนับค่ามิได้ ย่อมถึงซึ่งความเป็นของบุคคลพึงเก็บรักษาไว้ คือวางไว้ในโถสำหรับใส่ของหอม ฉะนั้น.
               คำที่เหลือในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบตามแนวแห่งนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ.

               อรรถกถาบุคคลผู้ประมาณได้ง่ายเป็นต้น               
               ผู้ใดอันเขาพึงประมาณได้โดยง่าย เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สุปฺปเมยฺโย แปลว่า ผู้ประมาณได้โดยง่าย.
               บทว่า "อิธ" ได้แก่ ในสัตว์โลกนี้.
               บทว่า "อุทฺธโต" ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน
               บทว่า "อุนฺนโฬ" ได้แก่ ผู้มีมานะเพียงดังไม้อ้ออันบุคคลยกขึ้นแล้ว.
               อธิบายว่า ผู้ยกมานะอันเปล่าแล้วดำรงอยู่.
               บทว่า "จปโล" ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความหวั่นไหว มีการประดับบาตรเป็นต้น.
               บทว่า "มุขโร" ได้แก่ ผู้มีปากกล้า.
               บทว่า "วิกิณฺณวาโจ" ได้แก่ ผู้มีวาจาอันบุคคลอื่นสังเกตไม่ได้.
               บทว่า "อสมาหิโต" ได้แก่ ผู้เว้นจากความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น.
               บทว่า "วิพฺภนฺตจิตฺโต" ได้แก่ ผู้มีจิตอันหมุนไป คือว่าผู้มีส่วนเปรียบด้วยแม่โคที่หมุนไป และแม่เนื้อที่หมุนไป.
               บทว่า "ปากฏินฺทฺริโย" ได้แก่ ผู้มีอินทรีย์อันเปิดเผย.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า สุปฺปเมยฺโย เหมือนอย่างว่า ใครๆ ย่อมถือประมาณแห่งน้ำ มีจำนวนเล็กน้อยได้ ฉันใด ใครๆ ก็ย่อมถือประมาณบุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ที่มิใช่คุณได้โดยง่ายฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลนี้ท่านจึงเรียกว่า สุปฺปเมยฺโย ผู้ประมาณได้โดยง่าย.
               บุคคลใดอันเขาพึงประมาณได้โดยยาก เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงเรียกว่า ทุปฺปเมยฺโย แปลว่า ผู้ประมาณได้โดยยาก. การงานที่มีจิตฟุ้งซ่านเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งนัยอันตรงกันข้ามจากคำที่กล่าวแล้ว.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า ทุปฺปเมยฺโย เหมือนอย่างว่า ใครๆ ย่อมประมาณน้ำในมหาสมุทรได้โดยยาก ฉันใด ใครๆ ก็ย่อมถือประมาณแห่งบุคคลผู้ประกอบด้วยองค์แห่งคุณเหล่านี้ได้โดยยาก ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมถึงซึ่งภาวะอันใครๆ พึงกล่าวว่า "ผู้นี้เป็นพระอนาคามี หรือว่าเป็นพระขีณาสพหนอ" เพราะฉะนั้น บุคคลนี้ท่านจึงเรียกว่า ทุปฺปเมยฺโย ผู้ประมาณได้ยาก.
               ข้อว่า "น สกฺกา ปเมตุํ" ความว่า บุคคลใดอันใครๆ ไม่อาจเพื่อประมาณได้ เหมือนอย่างว่าใครๆ ไม่อาจเพื่อประมาณอากาศได้ ฉันใด ใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อถือประมาณแห่งพระขีณาสพได้ ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า อปฺปเมยฺโย ผู้อันใครๆ ประมาณไม่ได้.

               อรรถกถาบุคคลผู้ไม่ควรซ่องเสพเป็นต้น               
               บทว่า "น เสวิตพฺโพ" ได้แก่ ผู้อันใครๆ ไม่ควรเข้าไปหา.
               บทว่า "น ภชิตพฺโพ" ได้แก่ ผู้อันใครๆ ไม่พึงติดต่อ.
               บทว่า "น ปยิรุปาสิตพฺโพ" ได้แก่ ผู้อันใครๆ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้บ่อยๆ ด้วยสามารถเข้าไปนั่งในสำนัก. บัณฑิตพึงทราบความเป็นคนเลวด้วยการถือเอาการเปรียบเทียบในคำเป็นต้นว่า "หีโน โหติ สีเลน". ก็บุคคลใดรักษาศีล ๕ เขาผู้นั้นอันบุคคลผู้รักษาศีล ๑๐ ไม่พึงเสพ ส่วนบุคคลใดรักษาศีล ๑๐ เขาผู้นั้นอันบุคคลผู้รักษาจตุปาริสุทธิศีลไม่พึงเสพ.
               ข้อว่า "อญฺญตฺร อนุทยา อญฺญตฺร อนุกมฺปา" ความว่า เว้นจากความเอ็นดูและความอนุเคราะห์. อธิบายว่า ก็บุคคลผู้เห็นปานนี้ อันใครๆ ไม่ควรซ่องเสพเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่ว่าการเข้าไปหาเขาด้วยสามารถแห่งความเอ็นดูและความอนุเคราะห์ก็สมควร.
               ข้อว่า "สทิโส โหติ" ได้แก่ เป็นผู้เสมอกัน.
               ข้อว่า "สีลสามญฺญคตานํ สตํ" ความว่า สัตบุรุษทั้งหลายถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล.
               ข้อว่า "สีลกถา จ โน ภวิสฺสติ" ความว่า ถ้อยคำที่ปรารภศีลนั้นจักมีแก่พวกเราผู้มีศีลเสมอกันอย่างนี้.
               ข้อว่า "สา จ โน ผาสุ ภวิสฺสติ" ความว่า ก็ศีลกถานั้น (การพูดถึงศีล) จักเป็นการอยู่ผาสุก จักเป็นการอยู่อย่างสบายแก่พวกเรา.
               ข้อว่า "สา จ โน ปวตฺตินี ภวิสฺสติ" ความว่า ถ้อยคำของพวกเราผู้กล่าวอยู่จักเป็นไปแม้ตลอดวันตลอดคืนก็จะไม่ทำให้สะเทือนใจ.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลทั้งสองมีศีลเสมอกัน เมื่อคนหนึ่งกล่าวพรรณนาถึงศีล อีกคนหนึ่งย่อมยินดี เพราะเหตุนั้นถ้อยคำของเขาเหล่านั้นย่อมจะมีความผาสุกและเป็นไปตลอด ไม่ขัดกัน. ก็เมื่อมีผู้ทุศีลอยู่ ถ้อยคำที่กล่าวพูดถึงศีลกับบุคคลผู้ทุศีล ย่อมเป็นถ้อยคำที่กล่าวยาก เพราะฉะนั้นศีลกถาก็ย่อมมีไม่ได้ ความผาสุกก็มีไม่ได้ ความเป็นไปไม่ได้ตลอด. แม้ถ้อยคำที่กล่าวถึงสมาธิและปัญญา ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ภิกษุ ๒ รูปผู้ได้สมาธิย่อมกล่าวพรรณนาคุณของสมาธิ ผู้มีปัญญาก็ย่อมกล่าวพรรณนาคุณแห่งปัญญา เขาทั้งสองเหล่านั้นย่อมไม่รู้สึกถึงการก้าวล่วงตลอดราตรีหรือตลอดวัน.
               ข้อว่า "สกฺกตฺวา ครุํ กตฺวา" ได้แก่ กระทำสักการะหรือทำความเคารพ.
               สองบทว่า "อธิโก โหติ" ได้แก่ เป็นผู้ยิ่ง.
               บทว่า "สีลกฺขนฺธํ" ได้แก่ กองแห่งศีล.
               บทว่า "ปริปูเรสฺสามิ" ความว่า เราอาศัยบุคคลผู้มีศีลอันยิ่งนั้นแล้วจักกระทำศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์.
               ในคำว่า "ตตฺถ ตตฺถ ปญฺญาย อนุคฺคเหสฺสามิ" นี้ พึงทราบเนื้อความว่า บุคคลเว้นธรรมอันไม่เป็นอุปการะ อันไม่เป็นสัปปายะแก่ศีลแล้ว จึงเสพธรรมอันมีอุปการะอันมีสัปปายะแก่ศีล ชื่อว่าย่อมถือเอาศีลขันธ์ในที่นี้ด้วยปัญญา. แม้ในสมาธิขันธ์และปัญญาขันธ์ทั้งหลายก็นัยนี้เหมือนกัน.

               อรรถกถาบุคคลที่ควรรังเกียจเป็นต้น               
               บทว่า "ชิคุจฺฉิตพฺโพ" ได้แก่ บุคคลที่เขารังเกียจเหมือนกับคูถ.
               ข้อว่า "อถ โข นํ" แก้เป็น อถ โข อสฺส แปลว่า ครั้งนั้นแล กิตติศัพท์ก็ย่อมมี.
               บทว่า "กิตฺติสทฺโท" ได้แก่ เสียงที่พูดกัน.
               บัณฑิตพึงเห็นผู้ทุศีลเหมือนหลุมคูถ ในข้อว่า "เอวเมว" นี้ พึงเห็นบุคคลผู้ทุศีล เหมือนกับงูที่น่ารังเกียจที่ตกไปในหลุมคูถ. พึงเห็นภาวะ คือการไม่ทำตามกิริยาของบุคคลผู้เสพซึ่งบุคคลผู้ทุศีลนั้นเหมือนกับงูที่บุคคลยกขึ้นจากหลุมคูถ แม้เขายกขึ้นสู่สรีระแห่งบุรุษแต่ยังไม่กัด. พึงทราบการฟุ้งขจรไปแห่งกิตติศัพท์อันลามกของบุคคลผู้เสพผู้ทุศีล เหมือนกับงูที่มีสรีระเปื้อนคูถแล้วก็ไป.
               บทว่า "ตินฺทุกาลาตํ" ได้แก่ ใบแห้งของต้นมะพลับ.
               ข้อว่า "ภิยฺโยโส มตฺตาย จิจฺจิฏายติ" ความว่า ก็ใบแห่งต้นมะพลับนั้นเมื่อถูกเผาอยู่แม้ตามธรรมดาย่อมมีเสียงสะเก็ดระเบิดดัง จิฏิจิฏะ. อธิบายว่า เมื่อมีอะไรๆ มากระทบแล้วย่อมมีเสียงดังมาก.
               ข้อว่า "เอวเมว" ความว่า บุคคลผู้มักโกรธแม้ตามธรรมดาของตนก็เป็นผู้ดุร้าย เพราะเขามีจิตฟุ้งซ่าน และย่อมประพฤติฉันนั้นนั่นแหละ. อนึ่ง เมื่อผู้อื่นกล่าวคำเล็กน้อย คนผู้มักโกรธนั้นก็กระทำความดุร้าย เพราะตนเป็นผู้มีความฟุ้งซ่านหนักขึ้นว่า "บุคคลนี้ย่อมกล่าวอย่างนี้กะบุคคลชื่อผู้เช่นกับด้วยเรา".
               บทว่า "คูถกูโป" ได้แก่ หลุมอันเต็มไปด้วยคูถ. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ กองแห่งคูถนั่นเอง. ก็บัณฑิตพึงทราบการเปรียบเทียบด้วยความอุปมาในคำว่า "คูถกูโป" นี้ โดยนัยก่อนนั่นแหละ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เห็นปานนี้อันบุคคลพึงวางเฉย ไม่ควรซ่องเสพ บุคคลผู้มักโกรธนั้น เมื่อผู้อื่นเสพมากเกินไปบ้าง เข้าไปหามากเกินไปบ้าง ย่อมโกรธทั้งนั้น แม้เมื่อผู้อื่นหลีกไปก็โกรธอีกนั่นแหละว่า "ประโยชน์อะไรกับบุคคลผู้นี้เล่า" ฉะนั้น เขา (ผู้มักโกรธนั้น) บุคคลพึงวางเฉยเสีย ไม่ควรซ่องเสพ เหมือนไฟไหม้ฟาง. ้
               ข้อนี้มีคำอธิบายไว้อย่างไร?
               มีคำอธิบายว่า ผู้ใดเข้าไปใกล้ไฟไหม้ฟางมากเกินไปย่อมเร่าร้อน สรีระของตนก็ย่อมจะถูกไฟไหม้ ผู้ใดไม่ถอยห่างออกมา ก็ย่อมเร่าร้อน ความเย็นย่อมไม่เกิดแก่เขา เมื่อผู้นั้นไม่เข้าไปใกล้ไม่หลีกไป เพ่งอยู่ด้วยความวางเฉย ความเย็นของผู้นั้นย่อมมี แม้กายเขาก็ไม่ถูกไหม้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มักโกรธนั้นอันบุคคลพึงวางเฉย ไม่ควรซ่องเสพ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ดุจไฟไหม้ฟาง ฉะนั้นแล.
               บทว่า "กลฺยาณมิตฺโต" ได้แก่ มีมิตรสะอาด.
               บทว่า "กลฺยาณสหาโย" ได้แก่ มีสหายสะอาด
               บทว่า "สหาโย" ได้แก่ ผู้ไปพร้อมกัน คือเที่ยวไปด้วยกัน.
               บทว่า "กลฺยาณสมฺปวงฺโก" ได้แก่ ผู้ร่วมวง ในบุคคลผู้สะอาด ผู้มีธรรมเจริญ.
               อธิบายว่า ผู้มีใจน้อมไป คือยินดี พอใจในมิตรผู้มีกัลยาณธรรมนั้น.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีลเป็นต้น               
               ข้อว่า "สีเลสุ ปริปูริการิโน" ความว่า พระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านี้ เพราะความที่ท่านไม่ก้าวล่วงมหาศีลสิกขาบท คืออาบัติปาราชิก ๔ อันเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ คืออันเป็นอาทิพรหมจรรย์ และเพราะเหตุที่ท่านออกจากอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านต้อง พระอริยสาวกเหล่านั้นย่อมกระทำสิกขาบทที่ตนควรกระทำให้บริบูรณ์ คือให้สมบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมเรียกว่า "สีเลสุ ปริปูริการิโน" ซึ่งแปลว่า ผู้มีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย.
               ก็เพราะเหตุที่ท่านยังถอนกามราคะและพยาบาททั้งหลาย อันเป็นข้าศึกต่อสมาธิและโมหะอันปกปิดซึ่งสัจธรรม อันเป็นข้าศึกต่อปัญญาไม่ได้ ท่านเหล่านั้นแม้เจริญอยู่ซึ่งสมาธิและปัญญา ย่อมกระทำกิจอันบุคคลพึงกระทำพอประมาณพอสมควร ได้เพียงบางส่วนในสมาธิและปัญญาทั้งหลายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกเหล่านั้นท่านจึงเรียกว่า "สมาธิสฺมึ ปญฺญาย จ มตฺตโส การิโน" ซึ่งแปลความว่า ผู้กระทำพอประมาณในสมาธิและปัญญา. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในนัยทั้งสอง แม้นอกจากนี้โดยอุบายนี้.
               แม้ในนัยทั้งสองนั้น นัยแห่งพระสูตรอื่นอีก คือ
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เป็นผู้กระทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้กระทำแต่พอประมาณในปัญญา เธอนั้นย่อมต้องอาบัติบ้าง ย่อมออกจากอาบัติอันเป็นสิกขาบทน้อยใหญ่บ้าง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร? ก็เพราะว่า ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นไปไม่ได้ เราได้กล่าวไว้แล้ว แต่ก็สิกขาบทเหล่าใดแลอันเป็นอาทิพรหมจรรย์ อันสมควรแก่พรหมจรรย์ บรรดาสิกขาบทอันเป็นผู้มีปกติมั่นคง มีปกติตั้งมั่น สมาทานแล้วย่อมศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย เธอนั้นชื่อว่าพระโสดาบัน เพราะการสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ เป็นผู้ไม่ตกไปสู่อบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้มีการจะตรัสรู้พร้อมในภายหน้า.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ฯลฯ เธอนั้นชื่อว่าพระสกทาคามี เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ ๓ และเพราะการกระทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง เธอมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย กระทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ แต่กระทำพอประมาณในปัญญา เธอยังศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอนั้นชื่อว่าพระอนาคามี เพราะการสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ เป็นผู้ไม่กลับมาจากเทวโลกนั้น.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในปัญญา เธอย่อมศึกษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ฯลฯ ย่อมศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย เธอนั้นชื่อว่าผู้เข้าถึงอยู่ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งหลายดังนี้ (พระอรหันต์).

               อรรถกถาศาสดา ๓ จำพวก               
               สองบทว่า "ปริญฺญํ ปญฺญเปติ" ได้แก่ ย่อมบัญญัติการละ คือการก้าวล่วง.
               ข้อว่า "ตตฺร" ได้แก่ ในศาสดา ๓ จำพวกนั้น.
               สองบทว่า "เตน ทฏฺฐพฺโพ" ความว่า ศาสดานั้น บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นผู้มีปกติได้รูปาวจรสมาบัติด้วยบัญญัตินั้น.
               แม้ในวาระที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ข้อว่า "สมฺมาสมฺพุทฺโธ สตฺถา เตน ทฏฺฐพฺโพ" ความว่า พระศาสดาองค์ที่ ๓ ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ บัณฑิตพึงเห็นด้วยการบัญญัติ อันไม่สาธารณะกับเดียรถีย์นั้น.
               จริงอยู่ พวกเดียรถีย์เมื่อบัญญัติการละกามทั้งหลาย ย่อมกล่าวอ้างถึงรูปภพ เมื่อบัญญัติการละรูปทั้งหลาย ย่อมกล่าวอ้างถึงอรูปภพ เมื่อบัญญัติการละเวทนาทั้งหลาย ย่อมกล่าวอ้างถึงอสัญญภพ เมื่อเขาจะบัญญัติโดยชอบพึงบัญญัติอย่างนี้ ชื่อว่าย่อมไม่สามารถเพื่อบัญญัติได้โดยชอบ.
               ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมบัญญัติการละ (ปหานปริญญา) กามทั้งหลายด้วยอนาคามิมรรค ย่อมบัญญัติการละรูปและเวทนาทั้งหลายด้วยอรหัตมรรค.
               ข้อว่า "อิเม ตโย สตฺถาโร" ความว่า ชนทั้ง ๒ จำพวกนี้เป็นศาสดาภายนอกพระพุทธศาสนา กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ จำพวก ฉะนั้นในโลกนี้ จึงมีศาสดา ๓ จำพวก.
               ในนิทเทสแห่งศาสดาพวกที่ ๒
               สองบทว่า "ทิฏฺเฐว ธมฺเม" ได้แก่ ในอัตภาพนี้เท่านั้น.
               ข้อว่า "อตฺตานํ สจฺจโต เถตโตปญฺญเปติ" ความว่า ย่อมบัญญัติโดยความมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืนว่า ชื่อว่าอัตตาอันหนึ่ง เป็นของเที่ยง เป็นของยั่งยืน เป็นของแน่นอน มีอยู่.
               บทว่า "อภิสมฺปรายญฺเจ" ได้แก่ ย่อมบัญญัติในอัตภาพแม้อื่นอีกเหมือนกันนั่นแหละ.
               คำที่เหลือในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยแห่งคำที่กล่าวไว้แล้วเทียวดังนี้แล.

               จบอรรถกถาติกนิทเทส ว่าด้วยบุคคล ๓ จำพวก เพียงนี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์ บุคคลบัญญัติ ติกนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 58อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 84อ่านอรรถกถา 36.2 / 104อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=3225&Z=3658
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1461
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1461
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :