ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 37 / 6อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
ปุคคลกถา นิคหะ ๘ นิคหะที่ ๑

               ปรมัตถทีปนี               
               อรรถกถาปัญจปกรณ์               
               อรรถกถากถาวัตถุ               
               อารัมภกถา               
                         พระสัมมาสัมพุทธะผู้เป็นศาสดาของชาวโลก
               พร้อมทั้งเทวโลก ผู้หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ ผู้อันหมู่
               แห่งทวยเทพยกย่องแล้ว ทรงประทับนั่ง ณ เทวโลก.
               พระองค์ทรงเป็นผู้ฉลาดในบัญญัติทั้งปวง ทรงเป็น
               อุตตมบุคคลในโลก ครั้นตรัสคัมภีร์ปุคคลบัญญัติอัน
               แสดงถึงบัญญัติจบลงแล้ว จึงทรงแสดงกถาวัตถุปกรณ์
               โดยความเป็นเรื่องแห่งถ้อยคำ มีเรื่องบุคคลเป็นต้น
               อันใดไว้แล้วโดยสังเขป.
                         บัดนี้ ลำดับแห่งการสังวรรณนาเนื้อความที่
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้แล้วในสุราลัยเทวโลก
               โดยการเริ่มตั้งไว้แต่เพียงหัวข้อนั่นแหละ อันพระ
               โมคคัลลีบุตรติสสเถระเจ้าจำแนกแล้วในมนุษยโลก
               นั้นถึงพร้อมแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักพรรณนา
               กถาวัตถุปกรณ์นั้น ขอท่านทั้งหลายผู้มีจิตตั้งมั่นจง
               สดับตรับฟังพระสัทธรรมนั้นเทอญ.

               นิทานกถา               
               ความย่อว่า ในที่สุดลงแห่งการแสดงยมกปาฏิหาริย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าจำพรรษา ณ แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ที่โคนไม้ปาริชาตในเทวนคร ทรงกระทำพระมารดาให้เป็นองค์พยาน ตรัสอยู่ซึ่งพระอภิธรรมกถาแก่เทวบริษัท ครั้นทรงแสดงปกรณ์ธัมมสังคณีได้ ๑๐๐ ปี พวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ อันผิดจากพระธรรมวินัย คือ :-
               ๑. ภิกษุเก็บเกลือเหลือไว้ในกลักสำหรับฉันกับอาหาร เห็นว่าสมควร.
               ๒. ภิกษุฉันอาหารเมื่อตะวันบ่าย ๒ นิ้ว เห็นว่าสมควร.
               ๓. ภิกษุห้ามภัตแล้วเข้าไปในละแวกบ้าน แล้วฉันภัตที่ไม่ทำวินัยกรรมก่อน หรือไม่เป็นเดนภิกษุไข้ เห็นว่าสมควร.
               ๔. ภิกษุอยู่ในอาวาสเดียวกันจะแยกทำสังฆกรรม เห็นว่าสมควร.
               ๕. ภิกษุทำอุโบสถไม่รอฉันทานุมัติ เห็นว่าสมควร.
               ๖. ข้อปฏิบัติที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาผิดถูกอย่างไร ประพฤติตาม เห็นว่าสมควร.
               ๗. ภิกษุห้ามภัตแล้วฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้ม เห็นว่าสมควร.
               ๘. ภิกษุดื่มสุราอ่อนๆ เห็นว่าสมควร.
               ๙. ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชาย เห็นว่าสมควร.
               ๑๐. ภิกษุรับหรือยินดีเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน เห็นว่าสมควร.
               พระยสเถระผู้เป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อว่ากากัณฑกะ ฟังวัตถุ ๑๐ ประการนั้นแล้ว ได้ถือเอาพระเจ้าอโศกราชผู้เป็นโอรสของพระเจ้าสุสุนาคะ ให้เป็นพระสหาย แล้วคัดเลือกพระเถระ ๗๐๐ รูปในจำนวนภิกษุ ๑,๒๐๐,๐๐๐ รูป คือ ๑๒ แสน ย่ำยีวัตถุ ๑๐ ประการเหล่านั้นแล้วก็ยกสรีระ คือพระธรรมวินัยขึ้นสังคายนา.
               ก็ภิกษุวัชชีบุตรมีประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป ถูกพระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายข่มขู่แล้ว คือติเตียนแล้ว จึงแสวงหาพวก ครั้นได้พวกที่เป็นทุพพลวะ อันสมควรแก่ตนก็จัดตั้งสำนักตระกูลอาจารย์ใหม่ ชื่อว่ามหาสังฆิกะ แปลว่าพวกมาก ตระกูลอาจารย์ ๒ พวกอื่นอีกเกิดขึ้น คือโคกุลิกะและเอกัพโยหาริกะ ซึ่งแตกแยกมาจากตระกูลอาจารย์มหาสังฆิกะนั้น. ตระกูลอาจารย์ ๒ พวกอื่นอีก คือบัญญัตติวาทะและพหุลิยะ ซึ่งมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า พหุสสุติกะ แตกแยกมาจากนิกายโคกุลิกะ. อาจริยวาทอื่นอีกชื่อว่าเจติยวาท เกิดขึ้นแล้วในระหว่างนิกายพหุลิยะนั้น นั่นแหละ. ในร้อยแห่งปีที่ ๒ คือ ภายในพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปี ตระกูลอาจารย์ทั้ง ๕ ตระกูลเกิดขึ้นจากตระกูลอาจารย์มหาสังฆิกะด้วยประการฉะนี้. ตระกูลอาจารย์ทั้ง ๕ เหล่านั้น รวมกับมหาสังฆิกะเดิม ๑ ก็เป็น ๖ ตระกูลด้วยกัน.
               ในร้อยแห่งปีที่ ๒ นั้นนั่นแหละ อาจริยวาททั้ง ๒ คือมหิสาสกะและวัชชีปุตตกะเกิดขึ้น แตกแยกมาจากเถรวาท. ในบรรดาอาจริยวาททั้ง ๒ นั้น อาจริยวาททั้ง ๔ คือ :-
               ธัมมุตตริยะ ๑ ภัทรยานิกะ ๑ ฉันนาคาริกะ ๑ สมิติยะ ๑ เกิดขึ้นเพราะแตกแยกมาจากนิกายวัชชีปุตตกะ.
               ในร้อยแห่งปีที่ ๒ นั้นนั่นแหละ อาจริยวาท ๒ พวก คือ :-
               สัพพัตถิกวาทะและธัมมคุตติกะ เกิดขึ้นเพราะการแตกแยกมาจากตระกูลอาจารย์มหิสาสกะอีก. นิกายชื่อว่ากัสสปิกะ เกิดขึ้นเพราะแตกแยกจากตระกูล สัพพัตถิกวาทะอีก. เมื่อนิกายกัสสปิกะทั้งหลายแตกกันแล้วก็เป็นเหตุให้นิกายชื่อว่า สังกันติกะอื่นอีกเกิดขึ้น เมื่อนิกายสังกันติกะทั้งหลายแตกกันแล้ว นิกายชื่อว่าสุตตวาทะ ก็เกิดขึ้น. อาจริยวาท ๑๑ นิกายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะแตกแยกมาจากเถรวาทอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. อาจริยวาท ๑๑ นิกายเหล่านี้รวมกับเถรวาทเดิมก็เป็น ๑๒ นิกาย.
               ในร้อยแห่งปีที่ ๒ คือ ภายในพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปี อาจริยวาทคือลัทธิแห่งอาจารย์ ทั้งหมดรวม ๑๘ นิกาย คือ ๑๒ นิกายที่แยกมาจากเถรวาทเหล่านี้ และนิกายอาจริยวาท ๖ ที่แตกแยกมาจากตระกูลอาจารย์มหาสังฆิกะทั้งหลาย ฉะนี้แล.
               คำว่า นิกาย ๑๘ นิกายก็ดี ตระกูลอาจารย์ ๑๘ ตระกูลก็ดี เป็นชื่อของนิกายที่กล่าวมาแล้วเหล่านั้น นั่นแหละ. อนึ่งบรรดานิกาย ๑๘ นิกายเหล่านั้น ๑๗ นิกาย บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นนิกายที่แตกแยกกันมา ส่วนเถรวาท บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นนิกายที่ไม่แตกกัน.
               (โปรดดูแผนผังความเป็นมา ดังต่อไปนี้ :-)
               ๑. ภิกษุผู้ลามกทั้งหลาย ผู้เป็นชาววัชชีบุตรผู้เป็นอธรรมวาที ถูกพระเถระผู้เป็นธรรมวาทีทั้งหลายขับออกแล้ว ได้พวกอื่นจึงตั้งคณาขารย์ใหม่.
               ๒. ภิกษุ๑- เหล่านั้นมีประมาณหมื่นรูปได้ประชุมกันรวบรวม คือทำการร้อยกรองพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น การร้อยกรองพระธรรมวินัยนี้ ท่านจึงเรียกว่า "มหาสังคีติ" แปลว่า การร้อยกรองใหญ่.
____________________________
๑- ภิกษุประมาณหมื่นรูปเหล่านั้นในที่นี้หมายถึงภิกษุวัชชีบุตร แต่ในที่บางแห่งกล่าวว่าเป็นภิกษุพวกพระมหาเทพ ซึ่งให้กำเนิดนิกายมหาสิงฆิกวาที ปราวน ย่อว่า พระมหาเทพเป็นบุตรพ่อค้าขายเครื่องหอมในแคว้นอวันตี ท่านอุปสมบทที่เมืองปาฏลีแคว้นมคธ เป็นผู้เรียนพระไตรปิฎกแตกฉาน วันหนึ่ง ถึงวาระที่ท่านจะแสดงปาฏิโมกข์ ท่านได้เสนอความเห็น ๕ ข้อ คือทิฏฐิ ๕ ข้อ ต่อที่ประชุมสงฆ์ ดังนี้ :-
               ๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนในความฝันได้.
               ๒. พระอรหันต์ยังมีอัญญาณ.
               ๓. พระอรหันต์ยังมีความสงสัย.
               ๔. พระอรหันต์จะต้องรู้ว่าตนได้มรรคผลต้องอาศัยผู้อื่นอีก.
               ๕. มรรคผลเกิดขึ้นต้องอาศัยเปล่งคำว่า ทุกข์หนอๆ
               ข้อเสนอของท่านนี้ บางพวกไม่เห็นด้วยจึงทำสังฆกรรมไม่ได้ ครั้นทราบถึงพระเจ้ากาลาโศกราชๆ ก็เสด็จมาห้ามมิให้เกิดการแตกแยกกัน พระมหาเทพจึงชี้ขาดโดยให้ระงับอธิกรณ์ ด้วยมติของที่ประชุมสงฆ์ ในที่สุดฝ่ายพระมหาเทพชนะเพราะมีพวกมาก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นเป็นฝ่ายเถรวาท ต่อมาพวกมหาเทพได้จัดการทำสังคีติด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่ จึงเรียกว่ามหาสังคีติ และต่อมานิกายนี้เกิดแตกกันอีก.


               ๓. ภิกษุทั้งหลายผู้ทำมหาสังคีติ ได้ทำความขัดแย้งไว้ในพระศาสนา ทำลายสังคายนาเดิม แล้วทำการรวบรวมธรรมวินัยไว้เป็นอีกอย่างหนึ่ง.
               ๔. ภิกษุเหล่านั้นได้แต่งพระสูตรที่สังคายนาไว้แล้วให้เป็นอย่างอื่น และทำลายอรรถและธรรมในพระวินัยในนิกายทั้ง ๕ ด้วย.
               ๕. อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้แม้ซึ่งธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วโดยปริยายและทั้งโดยนิปปริยาย ไม่รู้อรรถที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำไว้แล้วและทั้งไม่รู้จักอรรถที่ควรแนะนำ.
               ๖. ภิกษุเหล่านั้นๆ ได้กำหนดอรรถไว้เป็นอย่างอื่นจากอรรถที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยหมายเอาอย่างหนึ่ง ได้ยังอรรถมากมายให้พินาศไปเพราะฉายาแห่งพยัญชนะ*.
____________________________
๑- บาลีว่า "พยญฺชนจฺฉายาย" มีความหมายเป็น ๒ นัยคือ
               พยญฺชน+ฉายา ก็ได้ พยญฺชน+อจฺฉายาย ก็ได้
               นัยแรกแปลว่า เพราะเงาพยัญชนะ หรือเพราะรูปพยัญชนะ
               นัยหลังแปลว่า เพราะไม่มีพยัญชนะ เพราะไม่มีรูปพยัญชนะ เพราะไม่รู้โรจน์ในพยัญชนะ เพราะไม่ฉลาดในพยัญชนะ.


               ๗. ภิกษุเหล่านั้นละทิ้งพระสูตรบางอย่างและพระวินัยอันลึกซึ้งเสีย แล้วแต่งพระสูตรเทียม พระวินัยเทียมทำให้เป็นอย่างอื่น.
               ๘. คัมภีร์บริวารอัตถุธาระก็ดี อภิธรรมทั้ง ๖ ปกรณ์ก็ดี ปฏิสัมภิทานิทเทสก็ดี ชาดกบางส่วนก็ดี.
               ๙. คัมภีร์มีประมาณเท่านี้ ถูกภิกษุเหล่านั้นจำแนกไว้ต่างๆ กันแล้วแต่งให้เป็นอย่างอื่นทั้งนาม ลิงค์ บริขารและอากัปปกรณียะ.
               ๑๐. ภิกษุผู้เป็นหัวหน้าคณะ ผู้มีวาทะอันแยกกันแล้ว ผู้ทำมหาสังคีติเหล่านั้นได้พากันละทิ้งซึ่งความเป็นปกตินั้นเสียแล้วแต่งให้เป็นอย่างอื่น.
               ๑๑. ก็โดยการเรียนแบบอย่างแห่งภิกษุเหล่านั้น ได้มีลัทธิอันแตกแยกกันขึ้นมากมาย และภายหลังแต่กาลนั้นมาได้เกิดแตกแยกกันขึ้นในมหาสังฆิกะนั้น ดังนี้คือ :-
               ๑๒. ภิกษุผู้มหาสังฆิกะได้แตกแยกกันเป็น ๒ พวก คือเป็นโคกุลิกะพวกหนึ่ง เป็นเอกัพโยหาริกะพวกหนึ่ง ต่อมาอีกนิกายโคกุลิกะแตกกันออกเป็น ๒ พวก คือ :-
               ๑๓. เป็นนิกายพหุสสุติกะพวกหนึ่ง เป็นนิกายบัญญัติพวกหนึ่ง แต่นิกายเจติยะนั้นแตกแยกมาจากพวกมหาสังคีติได้เป็นอีกพวกหนึ่ง.
               ๑๔. ก็นิกายทั้ง ๕ เหล่านี้ทั้งหมดมีมูลมาจากพวกทำมหาสังคีติที่ทำลายอรรถและธรรม และทำลายการสงเคราะห์ธรรมวินัยบางอย่าง.
               ๑๕. ภิกษุเหล่านั้นละทิ้งคัมภีร์บางคัมภีร์และกระทำให้เป็นอย่างอื่นทั้งนาม ลิงค์ บริขารและอากัปปกรณียะ.
               ๑๖. อนึ่ง ในเถรวาทผู้บริสุทธิ์ เหล่าภิกษุผู้ละทิ้งปกติภาวะและกระทำให้เป็นอย่างอื่นนั้น ได้เกิดการแตกแยกกันขึ้นอีก ดังนี้คือ :-
               ๑๗. เป็นมหิสาสกะพวกหนึ่ง เป็นวัชชีปุตตกะพวกหนึ่ง สำหรับพวกวัชชีปุตตกะนั้นได้แตกแยกออกไปอีก ๔ พวก คือ :-
               ๑๘. ธัมมุตตริกะ ๑. ภัทรยานิกะ ๑. ฉันนาคาริกะ ๑. สมิติยะ ๑. ในกาลต่อมา พวกมหิสาสกะแตกแยกกันเป็น ๒ พวกอีก คือ :-
               ๑๙. เป็นพวกสัพพัตถิกวาทะและธัมมคุตตวาทะ สำหรับสัพพัตถิวาทะยังแตกออกเป็นนิกายกัสสปิกะ ต่อมานิกายกัสสปิกะแตกแยกเป็นนิกายสังกันติกวาทะ.
               ๒๐. ต่อมาสังกันติกวาทะแตกกันเป็นสุตตวาที ได้แตกแยกกันมาโดยลำดับดังนี้ วาทะคือนิกายเหล่านี้ทั้ง ๑๑ นิกายแตกแยกออกไปจากเถรวาททั้งสิ้น.
               ๒๑. ภิกษุเหล่านั้นทำลายทั้งอรรถและธรรม ทำการรวบรวมอรรถธรรมไว้บางอย่าง และได้ทอดทิ้งคัมภีร์บางคัมภีร์ ทั้งกระทำให้เป็นอย่างอื่น.
               ๒๒. ตลอดทั้งนาม ลิงค์ บริขารและอากัปปกรณียะ ได้พากันละทิ้งความเป็นปกติเสียแล้ว.
               ๒๓. นิกายที่แตกแยกกัน ๑๗ นิกาย นิกายที่ไม่แตกแยกกันมี ๑ นิกาย คือเถรวาท รวมนิกายทั้งหมดเป็น ๑๘ นิกาย อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ตระกูลอาจารย์ ๑๘ ตระกูล.
               ๒๔. คำสั่งสอนของพระชินะเจ้าเป็นของบริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ยิ่งไม่หย่อน เป็นหลักมั่นคงสูงสุดของเถรวาททั้งหลาย ราวกะต้นไม้ใหญ่ ชื่อว่านิโครธ ฉะนั้น.
               ๒๕. นิกายที่เหลือ คือนอกจากเถรวาท เกิดขึ้นแล้วเป็นดุจกาฝากเกิดอยู่ที่ต้นไม้ นิกายที่แตกแยกกันมาทั้ง ๑๗ นิกายนี้ ไม่มีในร้อยปีแรก แต่ในระหว่างร้อยปีที่ ๒ คือภายในพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปี ได้เกิดขึ้นแล้วในศาสนาของพระชินะพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล.
               อนึ่ง อาจริยวาท ๖ แม้อื่นอีก คือ ๑. เหมวติกะ ๒. ราชคิริกะ ๓. สิทธัตถิกะ ๔. ปุพพเสลิยะ ๕. อปรเสลิยะ ๖. วาชิริยะ เกิดขึ้นแล้วในกาลอื่นๆ อีก อาจริยวาทเหล่านั้น พระคันถรจนาจารย์ท่านไม่ประสงค์จะกล่าวไว้ในที่นี้.

               พระราชาผู้ทรงธรรม               
               ก็พระราชาผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรมทรงพระนามว่าพระเจ้าอโศก ผู้มีศรัทธาอันได้เฉพาะแล้วในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายอาจริยวาททั้ง ๑๘ นิกายที่มีมาในกาลก่อน จึงทรงสละพระราชทรัพย์วันละห้าแสนทุกๆ วัน คือเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ๑ แสน เพื่อบูชาพระธรรมเจ้า ๑ แสน เพื่อบูชาพระสังฆเจ้า ๑ แสน เพื่ออาจารย์ของพระองค์ ชื่อว่านิโครธเถระ ๑ แสน และเพื่อให้สำเร็จประโยชน์จากยารักษาโรค ที่ประตูทั้ง ๔ อีก ๑ แสน ได้ให้ลาภสักการะอันมากมายเป็นไปในพระพุทธศาสนาแล้ว.
               เดียรถีย์ทั้งหลาย คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาได้เป็นผู้เสื่อมจากลาภสักการะทั้งปวง ไม่ได้อะไรเลยโดยที่สุด แม้แต่อาหารหรือผ้าสำหรับปกปิดร่างกาย เมื่อพวกเขาต้องการลาภสักการะอยู่ จึงพากันไปบวชในสำนักพระภิกษุทั้งหลายและแล้วก็แสดงทิฏฐิ คือความเห็นของตนๆ ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา ดังนี้ แม้เมื่อเขาเหล่านั้นไม่ได้การบรรพชาตามประสงค์ เขาก็พากันโกนผม นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เอาเองนั่นแหละ ได้พากันเที่ยวไปในวิหารทั้งหลาย และได้เข้าไปสู่ท่ามกลางสงฆ์ในกาลเป็นที่กระทำซึ่งอุโบสถกรรมเป็นต้น.
               พวกเดียรถีย์เหล่านั้น แม้ถูกภิกษุสงฆ์ติเตียนอยู่โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ คือคำสั่งสอนของพระศาสดา ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่พระธรรมวินัยได้ กลับยังเสนียดมลทินและเสี้ยนหนามมากมายให้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา คือบางพวกก็บำเรอไฟ บางพวกก็ย่างตนในความร้อน ๕ อย่าง บางพวกก็แหงนหน้าตามดูพระอาทิตย์เรื่อยไป บางพวกก็คิดมุ่งมาดว่า เราจักทำลายธรรมและวินัยของพวกท่าน ดังนี้ ต่างก็พากันพยายามแล้วโดยอาการนั้นๆ.
               ในกาลครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ไม่ยอมทำอุโบสถและปวารณาร่วมกับพวกเดียรถีย์เหล่านั้น. ในอโศการามขาดอุโบสถกรรมไปถึง ๗ ปี. พระราชาแม้ทรงพยายามอยู่ด้วยความปรารถนาว่า เราจักให้สงฆ์กระทำอุโบสถกรรมด้วยพระราชอาชญา ก็ไม่อาจเพื่อกระทำได้. ครั้นเมื่อพวกภิกษุมิใช่น้อย ถูกอำมาตย์ผู้เป็นพาล ผู้เห็นผิดประหารชีวิตแล้ว ความเร่าร้อนก็ได้เกิดแก่พระราชาผู้ทรงธรรม. พระองค์เป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะระงับความเดือดร้อนอันนั้น และเสนียดมลทินที่เกิดขึ้นในพระศาสนานั้น จึงตรัสถามพระสงฆ์ว่า ใครหนอเป็นผู้สามารถในคดีนี้ ทรงสดับว่า ข้าแต่มหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ทรงรับสั่งให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระมาจากอโธคงคาบรรพตตามคำของสงฆ์ ได้เป็นผู้หมดความสงสัยด้วยอานุภาพของพระเถระที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ จึงตรัสถามความรำคาญใจของพระองค์ ได้ยังความวิปฏิสารให้สงบระงับลงแล้ว. แม้พระเถระก็อยู่กับพระราชาในพระราชอุทยานนั่นแหละ ได้ให้พระราชาศึกษาลัทธิสมัยตลอด ๗ วัน.

               กุสโลบายการคัดเลือกลัทธิที่เป็นธรรมวาที               
               พระราชาผู้มีลัทธิที่ทรงศึกษาเสร็จแล้ว ก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายมาประชุมกันในอโศการามในวันที่ ๗. แล้วทรงรับสั่งให้กั้นม่านเป็นกำแพงรอบด้าน และทรงประทับนั่งภายในกำแพงม่าน ทรงให้รวมภิกษุทั้งหลายผู้มีลัทธิอย่างเดียวกันให้อยู่เป็นพวกๆ และรับสั่งให้ภิกษุเข้าไปเฝ้าทีละพวกๆ แล้วรับสั่งถามว่า ภนฺเต กึวาที สมฺมาสมฺพุทฺโธ แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร?
               ลำดับนั้น พวกสัสสตวาที คือผู้มีวาทะว่า อัตตาและโลกเที่ยง ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีวาทะว่า อัตตาและโลกเที่ยง.
               พวกเอกัจจสัสสตทิฏฐิ คือพวกที่มีความเห็นว่า บางอย่างเที่ยง ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีวาทะว่า เที่ยงแต่บางอย่าง.
               พวกอันตานันติกทิฏฐิ คือพวกที่มีความเห็นว่า โลกมีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า โลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด.
               พวกอมราวิกเขปิกาทิฏฐิ คือพวกที่มีความเห็นว่า มีวาทะดิ้นได้ไม่ตายตัว ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะดิ้นได้ไม่ตายตัว.
               พวกอธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ คือพวกที่มีความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเอง ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเอง.
               พวกสัญญีวาทะ คือพวกที่มีความเห็นว่า อัตตามีสัญญา ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า อัตตามีสัญญา.
               พวกอสัญญีวาทะ คือพวกที่มีความเห็นว่า อัตตาไม่มีสัญญา ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า อัตตาไม่มีสัญญา.
               พวกเนวสัญญีนาสัญญีวาทะ คือพวกที่มีความเห็นว่า อัตตามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า อัตตามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.
               พวกอุจเฉทวาทะ คือพวกที่มีความเห็นว่า ขาดสูญ ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า ขาดสูญ.
               พวกทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ คือพวกที่มีความเห็นว่า นิพพานมีในทิฏฐธรรม ก็ทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะว่า นิพพานมีในทิฏฐธรรม.
               พวกที่มีวาทะว่า นิพพานมีในทิฏฐธรรมหรือนิพพานปัจจุบันนี้ พวกเขาย่อมบัญญัติศัพท์ว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ :-
               ๑. สมณะหรือพราหมณ์บางพวกมีทิฏฐิว่า อัตตภาพนี้ต้องบริบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทั้ง ๕ จึงบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้.
               ๒. บางพวกมีทิฏฐิว่า อัตภาพที่บรรลุปฐมฌาน จึงบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้.
               ๓. บางพวกมีทิฏฐิว่า อัตภาพที่บรรลุทุติยฌาน จึงบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้.
               ๔. บางพวกมีทิฏฐิว่า อัตภาพที่บรรลุตติยฌาน จึงบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้.
               ๕. บางพวกมีทิฏฐิว่า อัตภาพที่บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีสุขและทุกข์มีแต่อุเบกขา อันเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ จึงบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้.
               พระราชาทรงทราบว่า "พวกนี้เป็นอัญญเดียรถีย์ไม่ใช่พระภิกษุ" เพราะพระองค์ได้ทรงศึกษาลัทธิมาก่อนนั่นแหละ จึงทรงพระราชทานผ้าขาวแก่พวกเดียรถีย์เหล่านั้นให้สึกไปเสีย. อัญญเดียรถีย์ทั้งหมดที่สึกออกไปมีถึง ๖๐,๐๐๐ คน.
               พระราชารับสั่งให้ภิกษุพวกอื่นเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร? ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชชวาที เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาจึงตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชชวาทีหรือ? พระเถระทูลว่า ใช่แล้ว มหาบพิตร.
               ลำดับนั้น พระราชารับสั่งว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ พระศาสนาบริสุทธิ์แล้ว ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด ทรงพระราชทานอารักขาแล้วเสด็จเข้าสู่พระนคร. พระสงฆ์ได้พร้อมเพรียงประชุมกันทำอุโบสถแล้ว. ในสันนิบาตนั้นได้มีภิกษุสงฆ์ถึง ๖,๐๐๐,๐๐๐ รูป.

               พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแสดงกถาวัตถุ               
               พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เมื่อจะห้ามวัตถุทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในครั้งนั้นและเรื่องที่จะเกิดขึ้นในกาลต่อไป จึงจำแนกมาติกาที่พระตถาคตทรงตั้งไว้แล้ว ด้วยสามารถแห่งนัยที่พระศาสดาทรงประทานไว้ แล้วก็นำพระสูตร ๑,๐๐๐ คือพระสูตร ๕๐๐ สูตรสำหรับสกวาทะ คือวาทะของตน และพระสูตร ๕๐๐ สูตรสำหรับปรวาทะ คือวาทะของผู้อื่น แล้วได้ภาษิตกถาวัตถุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะอันกว้างใหญ่ไพศาล ย่ำยีปรัปปวาทะ คือการโต้แย้งหรือการขัดแย้งของผู้อื่น นี้ในสมาคมนั้น.
               ลำดับนั้น ท่านได้คัดเลือกเอาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ผู้ทรงปริยัติ คือพระไตรปิฎกและผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ จำนวน ๑,๐๐๐ รูปในจำนวนภิกษุ ๖,๐๐๐,๐๐๐ รูป กระทำตติยสังคีติ คือการร้อยกรองพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ ชำระล้างมลทินในพระศาสนาเหมือนกับพระมหากัสสปเถระและพระยศเถระสังคายนาพระธรรมวินัย ฉันนั้น.
               ในปิฎกทั้ง ๓ นั้น เมื่อท่านสังคายนาพระอภิธรรมปิฎก ท่านได้ยกกถาวัตถุปกรณ์นี้ขึ้นสงเคราะห์ ตามที่ท่านได้ภาษิตไว้แล้ว.
               เตน วุตฺตํ ด้วยเหตุนั้น พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า :-
                         พระสัมมาสัมพุทธะ ผู้เป็นศาสดาของโลก
               พร้อมทั้งเทวโลก ผู้ฉลาดในบัญญัติทั้งปวง เป็น
               บุคคลผู้สูงสุด ได้ทรงแสดงกถาวัตถุปกรณ์โดย
               ความเป็นเรื่องแห่งกถาทั้งหลาย มีปุคคลกถาเป็น
               ต้น อันใดไว้โดยสังเขป
                         บัดนี้ ถึงลำดับการสังวรรณนากถาวัตถุปกรณ์
               ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้แล้วโดยการตั้งไว้แต่
               เพียงมาติกา ณ สุราลัยเทวโลก อันพระโมคคัลลีบุตร
               ติสสเถระจำแนกในมนุษยโลกนั้นแล้ว ฉะนั้น ข้าพเจ้า
               จักพรรณนาคัมภีร์นั้น ขอท่านทั้งหลาย ผู้มีจิตตั้งมั่น
               จงสดับรับรสพระสัทธรรมนั้นเทอญ.
               นิทานกถาแห่งอรรถกถา จบ.               

               ปุคคลกถา               
               อนุโลมปัญจกะ               
               ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกฏฺฐปรฏฺเฐน สกวาทีถามว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถะ คืออรรถอันเป็นจริง และปรมัตถะ คืออรรถอย่างยิ่ง หรือ?
               อามนฺตา (ปรวาทีตอบว่า) ใช่. ปรวาทีหมายเอาอุปาทาบัญญัติ ซึ่งเป็นสมมติสัจจะตามลัทธิที่ท่านได้ตั้งไว้ ส่วนสกวาทีมุ่งเอาปรมัตถสัจจะ จึงได้ซักเพื่อพิสูจน์ความเป็นปรมัตถ์ต่อไป.
               สกวาทีซักว่า สภาวธรรมใดมีอรรถอันเป็นจริง. มีอรรถอย่างยิ่งมีอยู่ ท่านหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอย่างยิ่งนั้น หรือ? คำว่า สภาวธรรมใด มีอรรถอันเป็นจริงมีอรรถอย่างยิ่ง นั้น ได้แก่ สภาวธรรม ๕๗ ประเภท คือขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ และพระนิพพาน หรือสังขตธรรมและอสังขตธรรมเป็นต้น ธรรมเหล่านี้บัณฑิตไม่พึงถือเอาโดยสมมติสัจจะ.
               ปรวาทีปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               สกวาทีจึงกล่าวว่า ท่านจงรู้นิคคหะ คือการผิดพลาด หากว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะไซร้ ด้วยเหตุนั้นแหละ ท่านพึงกล่าวว่า สภาวะใดที่เป็นสัจฉิกัตถะเป็นปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น ดังนี้ ที่ท่านกล่าวในปัญหานั้น พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลด้วยสัจฉิกัตถปรมัตถะแต่ไม่พึงกล่าวว่า สภาวะใดเป็นสัจฉิกัตถะเป็นปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นด้วยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น ดังนี้ คำของท่านจึงผิด.
               แต่ถ้าไม่พึงกล่าวว่า สภาวะใดเป็นสัจฉิกัตถะเป็นปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ ด้วยสัจฉิกัตถประมัตถะนั้นไซร้ ท่านก็ไม่พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นโดยสัจฉิกัตถปรมัตถะที่ท่านกล่าวในปัญหานั้นว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลโดยสัจฉิกัตถปรมัตถะ แต่ไม่กล่าวว่า สภาวะใดเป็นสัจฉิกัตถะเป็นปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นโดยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น ดังนี้ คำของท่านจึงผิด.

               อนุโลมปัญจกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               หมายเหตุ คำว่า อนุโลมปัญจกะ คือหมวด ๕ แห่งอนุโลม เป็นแบบแผนที่ท่านจะต้องดำเนินการเช่นนี้เสมอไป หรือเรียกว่า เป็นหลัก คำโต้ตอบในลักษณะที่เรียกว่า อนุโลมปฏิโลม ดังเช่นในเรื่องนี้ ท่านได้ยกเอาเรื่องบุคคลขึ้นเป็นประธาน เช่นคำถามของสกวาทีว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตปรมัตถะหรือ (ปัญหาแรก)
               ปรวาทีตอบว่าใช่ เพราะท่านถือลัทธิฝ่ายสมมติสัจจะ
               ฝ่ายสกวาทีผู้ถือลัทธิฝ่ายปรมัตถสัจจะเห็นว่าไม่ถูกโดยปรมัตถะอันเป็นสภาวะที่แท้จริง จึงซักต่อไปอีกว่า สภาวะใดมีอรรถอันเป็นจริงมีอรรถอย่างยิ่งมีอยู่ ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยอรรถอันเป็นจริง และอรรถอย่างยิ่งนั้นหรือ (ปัญหาหลัง)
               ปรวาทีตอบปฏิเสธไปเพราะความจริงเป็นเช่นนั้น
               แต่ว่าปัญหาเดียวกัน ปัญหาแรกตอบรับรอง ปัญหาหลังปฏิเสธเช่นนี้ ท่านสกวาทีพึงตำหนิ คำตำหนินี้แหละท่านเรียกว่า นิคคหะ ดุจคำเขาพูดกันว่า ท่านรับรองแล้วก็กลับปฏิเสธเป็นผู้ไม่มีสัจจะ
               คำว่า นิคคหะ นี้ ท่านจัดเป็นองค์หนึ่งในคำว่า อนุโลมปัญจกะ.
               คำต่อไป สกวาทีกล่าวว่า หากว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะไซร้ เพียงเท่านี้ท่านเรียกว่า อนุโลมฐปนา คือการตั้งอนุโลม ท่านต้องการจะกล่าวคำนั้นไปอีกว่า ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า สภาวะใดที่เป็นสัจฉิกัตถะเป็นปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น แม้คำเพียงเท่านั้น ท่านเรียกว่า อนุโลมปาปนา คือการให้ถึงอนุโลม คือหมายความว่า ให้อนุโลมคือปัญหาแรกไว้นั้นปรากฏอีก เพื่อแสดงว่า ปัญหามีเนื้อความอย่างเดียวกัน ปัญหาแรกตอบรับรอง ปัญหาหลังก็ต้องตอบรับรองจึงจะถูกต้อง ก็คำว่า อนุโลมฐปนาและอนุโลมปาปนา นี้ท่านจัดไว้เป็นองค์หนึ่งในคำว่า อนุโลมปัญจกะ.
               คำต่อไป สกวาทีกล่าวว่า คำที่ท่านกล่าวรับรองในปัญหาแรกนั้นว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะ แต่ท่านไม่รับรองปัญหาหลังว่า สภาวะใดเป็นสัจฉิกัตถปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น ดังนี้ คำของท่านผิด คำเพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า อนุโลมอาโรปนา คือการยกอนุโลม เพื่อให้เห็นความบกพร่อง คือไม่สมเหตุสมผล ฉะนั้นคำว่า อนุโลมอาโรปนา นี้ ท่านก็จัดเป็นองค์หนึ่งในคำว่า อนุโลมปัญจกะ.
               คำต่อไป สกวาทีกล่าวว่า แต่ถ้าท่านไม่พึงกล่าวว่า สภาวะใดเป็นสัจฉิกัตถปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้นไซร้ เพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า ปฏิโลมฐปนา คือการตั้งปฏิโลม เพื่อต้องการจะกล่าวคำต่อไปว่า ท่านก็ไม่พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะ และคำเพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า ปฏิโลมปาปนา คือการให้ถึงปฏิโลม หมายความว่ายกเอาปัญหาหลังเป็นปัญหาแรกบ้าง ถึงอย่างไรความหมายก็เป็นเช่นเดียวกัน คำว่า ปฏิโลมฐปนาและปฏิโลมปาปนา นี้ ท่านจัดเป็นองค์อันหนึ่งในคำว่า อนุโลมปัญจกะ.
               คำต่อไป สกวาทีกล่าวว่า ที่ท่านกล่าวในปัญหานี้ว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถ์ แต่ไม่กล่าวว่า สภาวะใดเป็นสัจฉิกัตถปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น คำเพียงเท่านี้ท่านเรียกว่า ปฏิโลมาโรปนา คือการยกปฏิโลม คำว่า ปฏิโลมาโรปนา นี้ ท่านก็จัดเป็นองค์อันหนึ่งในคำว่า อนุโลมปัญจกะ รวมทั้ง ๕ ข้อนี้เรียกว่า อนุโลมปัญจกะ คือหมวด ๕ แห่งอนุโลม ดังนี้.
               อนึ่ง เนื้อความใดๆ ที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกโดยพิสดาร ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวในที่นี้ทั้งหมด จะกล่าวแต่ที่เห็นว่าเหมาะสม ส่วนเนื้อความอรรถกถาจะนำมาทั้งหมดเพื่อเป็นแนวทางค้นคว้าของผู้สนใจต่อไป.

               อรรถกถาปัญจปกรณ์               
               อรรถกถา ปุคคลกถา               
               ว่าด้วยบุคคลจะกล่าวว่าสัจฉิกัตถะก่อน               
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลด้วยสัจฉิกัตถปรมัตถะ นี้เป็นคำถาม.
               คำว่า "อามนฺตา" นี้ เป็นคำตอบรับรอง.
               ถามว่า ก็คำถามที่กล่าวว่า "ท่านหยั่งเห็นบุคคลด้วยสัจฉิกัตถปรมัตถะ" และคำตอบรับรองที่ว่า "อามนฺตา" นี้ เป็นของใคร?
               ตอบว่า คำถามและคำตอบรับรองนี้ ใครๆ ไม่ควรจะกล่าวว่าเป็นของบุคคลอื่น เพราะว่าในปกรณ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกา คือหัวข้อธรรมไว้สำหรับเป็นแบบฉบับ เพื่อชำระล้างลัทธิอันเห็นผิดทั้งหลายมีประการต่างๆ. พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ท่านตั้งมาติกานี้ตามนัยที่พระศาสดาทรงประทานไว้ และแล้วก็จำแนกความตามแบบที่พระองค์ทรงแสดงไว้นั้น.
               อนึ่ง วาทมรรค คือทางแห่งวาทะที่พระศาสดาทรงแสดงแนะไว้ในปกรณ์นี้มีประมาณเท่าใด พระเถระท่านมิได้แสดงวาทมรรคอันเป็นถ้อยคำที่โต้เถียงกันกับวาทะด้วยวาทะมีประมาณเท่านั้น.
               ก็ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนี้ เพื่อประโยชน์แก่การกำหนดจดจำอรรถแห่งถ้อยคำเหล่านั้นได้โดยง่าย ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) จักแสดงวิภาค คือการจำแนกความอย่างนี้ คือเป็นคำถามของพระสกวาที ๑ เป็นคำตอบของพระปรวาที ๑ เป็นคำถามของพระปรวาที ๑ และเป็นคำตอบของพระสกวาที ๑ แล้วจักพรรณนาความต่อไป.
               ก็คำว่า ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกฏฺฐปรมฏฺเฐน นี้เป็นคำถามของสกวาที. ด้วยคำถามนั้นท่านแสดงว่า ชนเหล่าใดผู้เป็นปุคคลวาทีมีความเห็นอย่างนี้ว่า บุคคลมีอยู่ บัณฑิตควรถามชนเหล่านั้นอย่างนี้.
               ถามว่า ชนเหล่าไหนเป็นปุคคลวาที คือผู้มีวาทะว่าบุคคลมีอยู่โดยแท้จริง.
               ตอบว่า ๑-พวกภิกษุวัชชีปุตตกะ ภิกษุนิกายสมิติยะในพระพุทธศาสนา และอัญญเดียรถีย์เป็นอันมากภายนอกพระพุทธศาสนา.
____________________________
๑- ทั้ง ๒ นิกายนี้มีความเห็นว่า บุคคลมีอยู่โดยปรมัตถะ โดยอธิบายว่าบุคคลของเขาไม่ใช่ขันธ์ ๕ และไม่นอกจากขันธ์ ๕ เหมือนไม่ใช่เชื้อไฟแต่ไม่นอกไปจากเชื้อไฟ ผิดหลักอนัตตาของพระพุทธศาสนา ลัทธินี้ถูกพระมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระโจมตีมากกว่าลัทธิอื่นๆ.

               บรรดาคำว่า ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกฏฺฐปรมฏฺเฐน เหล่านั้น คำว่า ปุคฺคโล แปลว่า บุคคลได้แก่อัตตา สัตว์และชีวะ.
               คำว่า อุปลพฺภติ ท่านอธิบายว่า ผู้เข้าถึงแล้วย่อมรู้ได้ คือย่อมรู้ได้ด้วยปัญญา.
               คำว่า สจฺฉิกฏฺโฐ ในคำว่า สจฺฉิกฏฺฐปรมฏฺเฐน นี้ ได้แก่อรรถอันเป็นจริงที่บัณฑิตไม่พึงถือเอาด้วยอาการอันไม่เป็นจริง ดุจพยับแดดอันเป็นมายา เป็นต้น.
               คำว่า ปรมฏฺโฐ ได้แก่ อรรถอันอุดม อันบัณฑิตไม่พึงถือเอาด้วยสามารถแห่งคำที่เล่าลือกันมาเป็นต้น.
               อธิบายว่า สกวาทีถามว่า ประเภทแห่งธรรม ๕๗ อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ และอินทรีย์ ๒๒ ด้วยอรรถทั้ง ๒ คือสัจฉิกัตถะและปรมัตถะนั้นว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้โดยสัจฉิกัตถปรมัตถะ ดุจหยั่งเห็นรูปปรมัตถะหรือ เป็นต้นข้างหน้าประเภทแห่งธรรมนั้น บัณฑิตย่อมหยั่งเห็นได้ด้วยความเป็นจริงด้วยอรรถอันเป็นจริงฉันใด ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ตามความเห็นของท่านฉันนั้นหรือ?
               ปรวาทีตอบรับรองว่า อามนฺตา แปลว่า ใช่ หรือ ถูกแล้ว.
               ก็คำรับรองที่มาในที่อื่นๆ ท่านใช้คำว่า อาม ภนฺเต แปลว่า ใช่ครับ และใช้คำว่า อาม ซึ่งแปลว่า ใช่ เป็นต้น แต่ในพระอภิธรรมนี้ คำรับรอง ท่านใช้คำว่า อามนฺตา.
               อธิบายในคำว่า อามนฺตา ต่อไป :-
               ก็ปรวาทีบุคคล คือผู้มีวาทะว่าบุคคลมีอยู่ ถือเอาพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่า บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนมีอยู่ แล้วจึงถือเอาความเห็นว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นสัจวาที ผู้มีวาทะอันหาโทษมิได้ย่อมไม่ทรงแสดงธรรมด้วยสามารถแห่งคำที่ได้ยินได้ฟังต่อๆ กันมา ก็เพราะเหตุที่พระองค์ทรงกระทำโลกนี้กับทั้งเทวโลกให้แจ่มแจ้งด้วยพระองค์เองแล้วประกาศพระศาสนา เพราะเหตุนั้น คำว่าบุคคลใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนมีอยู่ บุคคลนั้นต้องมีอยู่โดยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะ#- ดังนั้น จึงตอบรับรองว่า ใช่.
               ทีนั้น สกวาทีเมื่อไม่ให้โอกาสแก่ปรวาทีผู้มีข้ออ้างอันพลั้งพลาดเช่นนั้น จึงกล่าวว่าสภาวะใดมีอรรถอันเป็นจริง เป็นปรมัตถะมีอยู่ ท่านหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอย่างยิ่งอันนั้น หรือ?
____________________________
#- คำว่า สัจฉิกัตถะ และปรมัตถะ ว่าโดยอรรถแล้วก็เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงพยัญชนะ คือหมายถึงจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน. ส่วนคำว่า บุคคล เป็นเพียงอุปาทาบัญญัติเท่านั้น.

               พึงทราบคำอธิบายในคำว่า สัจฉิกัตถะและปรมัตถะ ต่อไป :-
               ประเภทแห่งธรรม ๕๗ อย่างมีรูปเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่าธรรมใดมีปัจจัย ไม่มีปัจจัย เป็นสังขตะ เป็นอสังขตะ เป็นของเที่ยง ไม่เที่ยง มีนิมิต ไม่มีนิมิต ธรรมเหล่านั้นบัณฑิตไม่พึงถือเอาด้วยสมมติสัจจะและไม่พึงถือเอาตามคำเล่าลือกันมาเป็นต้น. ประเภทแห่งธรรม ๕๗ อย่างนี้แหละ ชื่อว่าสัจฉิกัตถะ เพราะความที่ตนคือสภาวะแต่ละอย่างนั้น เป็นสภาพมีอยู่จริงนั่นแหละ และได้ชื่อว่าปรมัตถะ เพราะความประจักษ์ชัดแก่ตนเอง คือแก่ตัวสภาวะนั้น โดยมิต้องเชื่อตามคำเล่าลือกัน. พระสกวาทีหมายเอาอรรถทั้ง ๒ อย่างนี้ จึงซักว่า สภาวธรรมใดที่เป็นสัจฉิกัตถะและปรมัตถะมีอยู่ ท่านหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะนั้น หรือ.
               คำว่า ตโต เป็นตติยาวิภัตติ เพราะฉะนั้นในที่นี้ จึงอธิบายว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้นหรือข้อนี้ ท่านอธิบายไว้ว่า พระสกวาทีถามว่า สภาวธรรมใดที่เป็นสัจฉิกัตถะมีอยู่ โดยอาการอันต่างด้วยลักษณะ มีรุปปนลักขณะ๓- เป็นต้น หรืออันต่างด้วยสภาวธรรม มีธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นต้น ท่านหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยอาการอันนั้น หรือ?
____________________________
๓- คำว่า ลักษณะ มีหลายอย่าง เช่น รุปปนลักขณะ ได้แก่ ลักษณะที่ย่อยยับไปเพราะวิโรธิปัจจัย เป็นต้น. ปัตจัตตลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่มีเฉพาะตน. สามัญญลักขณะ ได้แก่ ลักษณะที่เสมอกัน มีความไม่เที่ยงเป็นต้น.

               ข้อว่า ไม่พึงกล่าว นี้เป็นคำหมิ่นของพระปรวาที.
               อธิบายว่า ก็เมื่อปรวาทีนั้นไม่ปรารถนาคำที่สกวาทีนั้นกล่าว คือไม่เห็นด้วย จึงกล่าวปฏิเสธ คำพระบาลีว่า น เหวํ วตฺตพฺเพ นี้ แยกบทเป็น นหิ เอวํ วตฺตพฺเพ หรือเป็น นห เอวํ ดังนี้ก็สมควร ถึงอย่างนั้นบททั้ง ๒ นั้นก็แปลว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เช่นเดียวกัน.
               ข้อว่า ท่านจงรู้นิคคหะ คือ ความผิดพลาดเถิด เป็นคำของสกวาที.
               อธิบายว่า สกวาทีกล่าวว่า ท่านกล่าวรับรองปัญหาก่อนว่า ใช่ แต่กลับปฏิเสธในปัญหาหลังว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น คำก่อนไม่สมกับคำหลัง เพราะเหตุนั้น ท่านจงถึงนิคคหะ จงรับนิคคหะนั้นๆ
               ครั้นพระสกวาทีให้ปรวาทีรับนิคคหะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทำนิคคหะนั้นให้ปรากฏด้วยสามารถแห่งฐปนาคือการตั้ง ปาปนาคือการให้ถึง และอาโรปนาคือการยกขึ้น จากอนุโลมและปฏิโลม จึงกล่าวคำว่า หากว่าบุคคล เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า "หากว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคล" อธิบายว่า ถ้าว่าท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอย่างยิ่งไซร้.
               ข้อว่า หญฺจิ ปุคฺคโล อุปลพฺภติ เบื้องต้นนี้ ชื่ออนุโลมปฐปนา เพราะเป็นลักษณะแห่งการให้ถึงนิคคหะและการยกนิคคหะขึ้นจากการตั้งไว้ของฝ่ายปรวาที.
               ข้อว่า เตน วต เร เป็นต้น ชื่อว่าอนุโลมปาปนา เพราะความที่นิคคหะอันท่านให้ถึงแล้วในฝ่ายแห่งอนุโลม. บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เตน เป็นคำแสดงถึงเหตุ. คำว่า วต เป็นคำแสดงถึงความเชื่อมั่น. คำว่า เร เป็นคำสำหรับร้องเรียก. ท่านอธิบายคำว่า เตน วต เร วตฺตพฺเพ นี้ไว้ว่า ดูก่อนเธอผู้มีหน้าอันเบิกบาน ผู้เจริญ เพราะเหตุนั้นแล ข้าพเจ้าจึงกล่าวนั่นเทียว.
               ข้อว่า ยํ ตตฺถ วเทสิ เป็นต้น ชื่อว่าอนุโลมอาโรปนา เพราะความที่นิคคหะอันท่านยกขึ้นแล้วในส่วนแห่งอนุโลม.
               อนึ่ง บทว่า มิจฺฉา ในบทที่สุดแห่งอนุโลมนั้น นักศึกษาพึงนำคำว่า อิทนฺเต มาประกอบไว้ข้างหน้าแห่งคำว่า มิจฺฉา นั้น. ก็ในคำนี้ ท่านอธิบายว่า "นี้เป็นความผิดของท่าน" และข้อความนี้มีในพระบาลีข้างหน้านั้นแหละ.
               ข้อว่า โน เจ ปน วตฺตพฺเพ เป็นต้น ชื่อว่าปฏิโลมฐปนา เพราะเป็นลักษณะแห่งการให้ถึงและการยกนิคคหะขึ้นจากปฏิโลม เพราะท่านตั้งไว้ในคำปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               ข้อว่า โน วต เร เป็นต้น ชื่อว่าปฏิโลมปาปนา เพราะความที่นิคคหะอันท่านให้ถึงแล้วในส่วนแห่งปฏิโลม.
               ข้อว่า ยํ ตตฺถ วเทสิ เป็นต้นอีก ชื่อว่าปฏิโลมอาโรปนา เพราะท่านยกนิคคหะในฝ่ายแห่งปฏิโลมขึ้น ฯ
               บทว่า มิจฺฉา ในที่สุดแม้นี้ ก็พึงนำคำว่า อิทนฺเต มาไว้ข้างหน้าเหมือนกัน.
               ในฐานะทั้งหลายที่มีรูปอย่างนี้แม้ข้างหน้าก็นัยนี้นั่นแหละ.
               บัณฑิตพึงสรุปเนื้อความจำเดิมแต่ต้นในคำว่า หญฺจิ ปุคฺคโล ฯลฯ สจฺฉิกฏฺฐปรมฏฺเฐน นั้น ดังต่อไปนี้ว่า
               ถ้าว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลได้ด้วยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะไซร้ ด้วยเหตุนั้นแลจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยสัจฉิกัตถปรมัตถะนั้น. ก็ท่านกล่าวคำใดในปัญหาแรกนั่นแหละว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลได้ด้วยสัจฉิกัตถ์ปรมัตถะ แต่ในปัญหาที่ ๒ ท่านไม่กล่าวว่า สภาวธรรมใดเป็นสัจฉิกัตถปรมัตถะมีอยู่ ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยสภาวะนั้น.
               คำว่า อิทนฺเต มิจฺฉา ได้แก่ เป็นการตั้ง การให้ถึง และการยกขึ้นแต่อนุโลม ดังพรรณนามาฉะนี้ก่อน.
               อนึ่ง ปรวาทีไม่ได้กล่าวในปัญหาที่ ๒ ว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยอรรถอันเป็นจริงและอรรถอย่างยิ่งนั้น. แม้ในปัญหาแรกก็ไม่ควรกล่าวรับรองเช่นกัน. ในปัญหาแรกนั่นแหละท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลด้วยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะ แต่ในปัญหาที่ ๒ ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าหยั่งเห็นบุคคลนั้นได้ด้วยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะนั้น ดังนี้ คำว่า อิทนฺเต มิจฺฉา ได้แก่การตั้ง การให้ถึง การยกขึ้นแต่ปฏิโลมอย่างนี้.
               คำว่า ย่อมหยั่งเห็น เป็นต้น ชื่อว่าอนุโลมปัญจกะ เพราะเป็นคำที่ท่านกล่าวถึงนิคคหะ กล่าวถึงปาปนา และอาโรปนา แต่อนุโลมและปฏิโลม ๔ รวมเป็น ๕ ด้วยประการฉะนี้.
               ในธรรมเหล่านั้น นิคคหะท่านทำไว้ ๒ อย่าง คือ นิคคหะหนึ่งทำด้วยปาปนาและอาโรปนาแต่อนุโลม นิคคหะอีกหนึ่งทำด้วยปาปนาและอาโรปนาแต่ปฏิโลม.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่านิคคหะอันหนึ่งนี้ อาศัยวาทะแรกว่า ท่านย่อมหยั่งเห็นบุคคลได้ ในปัญหานั้นแห่งคำว่า ท่านจงรู้นิคหะ ดังนี้ นั่นแหละแล้วจึงยกนิคคหะแรกขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น นิคหะนี้จึงชื่อว่าเป็นนิคคหะที่ ๑ สำหรับนิคคหะที่ ๒ นั้น ปรวาทีเป็นผู้ทำกับสกวาที เพราะอาศัยเลศนัยว่า ท่านไม่หยั่งเห็นบุคคล ฯลฯ ที่จะมีข้างหน้า.
               ปุคคลกถา อนุโลมปัญจกะ จบ.               

               อรรถกถาปฏิกัมมจตุกกะ ข้อ [๒]               
               หมวด ๔ แห่งการทำตอบ               
               บัดนี้ สกวาทีย่อมรับรองคำต้น เพราะหยั่งเห็นบุคคลไม่ได้ด้วยปรมัตถสัจจะ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นในปัญหาหลังท่านก็ปฏิเสธด้วยสามารถแห่งสมมติสัจจะ หรือด้วยสามารถแห่งมิสสกสัจจะ. แต่ปรวาทีอาศัยวาทะเลศนัยสักว่า ย่อมหยั่งเห็นไม่ได้ ดังนี้ จึงกระทำตอบคือทำคืน นิคคหกรรมที่สกวาทีทำแล้วแก่ตน แล้วกล่าวว่า ท่านจงรับรู้ปฏิกรรม คือการทำตอบ เหมือนการด่าตอบของผู้ด่าอยู่ด้วยคำว่า ท่านรับคำก่อนแล้วภายหลังปฏิเสธ.
               บัดนี้ นิคคหะอันสกวาทีทำการตั้งวาทะไว้ในอนุโลมปัญจกะแก่ปรวาทีนั้นให้ปรากฏด้วยปาปนา อาโรปนาแต่อนุโลมและปฏิโลมโดยวิธีใด ปรวาทีนั้นเมื่อจะทำปฏิกรรมนั้นให้ปรากฏโดยวิธีนั้น จึงกล่าวคำว่า "หากว่าบุคคล" เป็นต้น.
               ข้อนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ก็ในข้อนี้ชื่อว่าฐปนา เพราะการตั้งไว้ซึ่งส่วนของปรวาทีอันเป็นคำสักว่าการตั้งไว้เท่านั้น เพื่อแสดงว่า นี้เป็นโทษของท่าน ไม่ได้กระทำนิคคหะหรือปฏิกัมมะให้ปรากฏ แต่การกระทำที่ปรากฏแก่สกวาทีนั้นย่อมมีด้วยปาปนาด้วย ด้วยอาโรปนาด้วย เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงชื่อว่าปฏิกัมมจตุกกะ เพราะปฏิกรรมคือการทำตอบ หรือการทำคืน อันท่านทำแล้วด้วยอาการ ๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่งปาปนาและอาโรปนา แต่อนุโลมและปฏิโลม ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบจตุกกะหมวด ๔ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อรรถกถาปฏิกัมมจตุกกะ จบ.               

               อรรถกถานิคคหจตุกกะ ข้อ [๓]               
               หมวด ๔ แห่งนิคคหะ               
               ครั้นทำปฏิกรรมอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ปรวาทีใดที่ถูกสกวาทีทำนิคคหะในอนุโลมปัญจกะแก่ตนได้อาศัยวาทะอันมีเลศนัยนั้นๆ นั่นแหละแห่งปัญหานั้น แสดงความกระทำที่ไม่ชอบ โดยกล่าวคำเป็นต้นว่า ตฺวญฺเจ ปน มญฺญสิ ดังนี้. บรรดาคำเหล่านั้นคำว่า ตฺวญฺเจ ปน มญฺญสิ แปลว่า ก็ท่านยังจะยืนยัน.
               คำว่า พึงกล่าว นี้ ท่านกล่าวหมายเอาคำรับรองว่า "ใช่" ในปัจจนิก.
               ก็ข้อว่า ไม่พึงกล่าว นี้ ท่านกล่าวหมายเอาคำหมิ่น คือคำปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ข้อว่า เตน ตฺวํ ตตฺถ ได้แก่ ด้วยเหตุนั้น ท่านนั่นแหละย่อมมีในฝักใฝ่ที่หยั่งเห็นไม่ได้.
               คำว่า เมื่อรับรองอยู่ ได้แก่รับรองอยู่ว่า ใช่ อย่างนี้ ดังนี้.
               คำว่า พึงนิคคหะอย่างนี้ ความว่า เมื่อหมิ่นอยู่ด้วยคำว่า ไม่พึงกล่าวอีกชื่อว่า พึงนิคคหะอย่างนี้.
               คำว่า ดังนั้น เราจึงนิคคหะท่าน ความว่า ที่นั้นพวกเราย่อมนิคคหะซึ่งท่านอันควรแก่การนิคหะทีเดียว. คำว่า ท่านเป็นผู้อันเรานิคคหะดีแล้ว ความว่า ท่านชื่อว่าเป็นผู้อันเรานิคหะชอบแล้ว เพราะความเป็นนิคหะตามมติของตน.
               ปรวาทีนั้น ครั้นแสดงซึ่งภาวะอันตนพึงนิคคหะอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะนิคคหะสกวาทีนั้น จึงกล่าวคำว่า หากว่า เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบฐปนา ปาปนาและอาโรปนา โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ก็ในบทที่สุด คำว่า นี้เป็นความผิดของท่าน อธิบายว่า คำของท่านนี้ผิด. ข้อนี้ชื่อว่านิคคหะจตุกกะ เพราะปรวาทีทำนิคคหะโดยอาการ ๔ อย่าง ด้วยวาทะอันมีเลศนัย.
               อรรถกถานิคคหจตุกกะ จบ.               

               อรรถกถาอุปนยนจตุกกะ ข้อ [๔]               
               หมวด ๔ แห่งการน้อมไป               
               ครั้นปรวาทีทำนิคคหะอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะแสดงว่า ถ้านิคคหะอันเราทำแก่ท่านนี้เป็นนิคหะชั่วไซร้ นิคคหะอันใดที่ท่านทำแล้วแก่ข้าพเจ้าในอนุโลมปัญจกะในหนหลัง นิคคหะแม้นั้นก็เป็นนิคหะชั่ว ดังนี้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า หากนิคคหะที่เราทำแก่ท่านนี้เป็นนิคหะชั่วไซร้.
               ในข้อนี้อธิบายว่า ถ้าวาทะนี้เป็นวาทะอันเรานิคคหะชั่วไซร้.
               อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้านิคคหะอันเราทำแก่ท่านนี้เป็นนิคคหะชั่วไซร้.
               ข้อว่า ท่านจงเห็นอย่างเดียวกันนั่นแหละในนิคคหะที่ท่านได้ทำแก่เรา ความว่า นิคคหะอันท่านทำแล้วแก่เราในหนหลัง ในนิคคหะแม้นั้นท่านจงเห็นนิคคหะนั้นนั่นแหละ.
               บัดนี้ นิคคหะอันใดที่สกวาทีทำแล้วแก่ปรวาทีนั้นในหนหลัง ปรวาทีนั้นจึงแสดงซึ่งคำนั้นด้วยคำเป็นต้นว่า พึงกล่าว ดังนี้ เมื่อจะน้อมไปซึ่งนิคคหะนั้นให้ไม่มีนิคคหะอีก จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ก็เราผู้ปฏิญาณอยู่อย่างนี้ ด้วยปฏิญญานี้อันท่านไม่พึงนิคคหะอย่างนี้
               ในคำว่า โน จ มยํ ตยา ตตฺถ เหตาย ปฏิญฺญาย เป็นต้นนี้ อธิบายว่า นิคคหะนั้น ท่านทำแก่เราเป็นนิคคหะชั่วเหตุใด เพราะเหตุนั้น ในอนุโลมปัญจกะนั้น เราจึงรับรองอย่างนี้ ด้วยคำปฏิญญานั้นว่า อามนฺตา ใช่ เมื่อคำปฏิเสธแม้เราทำแล้วว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้นอีก ก็ถูกท่านนิคคหะอย่างนี้ว่า ท่านจงรับรู้นิคหะนั่นเทียว ท่านนิคคหะเราแม้ผู้ไม่ควรนิคคหะ ก็พวกเราถูกท่านนิคคหะชั่วแล้ว ด้วยนิคหะอย่างนี้.
               บัดนี้ ปรวาทีนั้นอาศัยนิคคหะอันใดได้กล่าวว่า พวกเราเป็นผู้อันท่านนิคหะชั่วแล้ว ดังนี้ เพื่อแสดงนิคหะอันนั้น จึงกล่าวคำว่า หญฺจิ ปุคฺคโล ฯเปฯ อิทนฺเต มิจฺฉา เป็นต้น นี้ชื่อว่าอุปนยนจตุกกะ เพราะนิคคหะอันปรวาทีนั้นน้อมไปแล้วด้วยปาปนา อาโรปนา ๔ จากอนุโลมและปฏิโลม ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อรรถกถาอุปนยนจตุกกะ จบ.               

               อรรถกถานิคคมจตุกกะ ข้อ [๕]               
               หมวด ๔ แห่งนิคม คือบทสรุปนิคคหะที่ ๑-๘               
               บัดนี้ ชื่อว่านิคคมจตุกกะ มีคำว่า เราไม่พึงถูกนิคคหะ อย่างนี้เป็นต้น.
               ในข้อว่า เราไม่พึงถูกนิคคหะอย่างนี้ ถ้าว่า ความเป็นแห่งนิคคหะนี้เป็นนิคคหะชั่วอันเราให้สำเร็จแล้วไซร้ ท่านก็ไม่พึงนิคคหะเราอย่างนี้. คำว่า ด้วยเหตุนั้นแหละ อธิบายว่า ด้วยเหตุนั้น นิคคหะนี้เป็นนิคคหะชั่ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงนิคคหะอันใดกะเราว่า ถ้าว่า บุคคล ฯลฯ นี้เป็นความผิดของท่าน ดังนี้ การนิคคหะของท่านนี้ผิด.
               ข้อว่า ด้วยเหตุนั้นแหละนิคคหะที่ท่านทำแล้ว อธิบายว่า นิคคหะใดที่ท่านทำแล้ว นิคคหะนั้นเป็นการทำที่ไม่ดีด้วยเหตุใด เป็นความผิดด้วยเหตุนั้นแหละ. ปฏิกรรมใดเราทำแล้ว ปฏิกรรมนั้นนั่นแหละเราทำดีแล้ว.
               ก็การยังกถามรรคให้สำเร็จนี้ท่านทำแล้วทำดีแล้วด้วยสามารถแห่งปฏิกัมมจตุกกะเป็นต้น. ข้อนี้พึงทราบว่า ชื่อว่าอนุโลมปัจจนิกปัญจกะ อันท่านชี้แจงแล้วด้วยสามารถแห่งปฏิกัมมะ นิคคหะ อุปนยนะและนิคคมจตุกกะทั้งหลาย มีคำว่า หยั่งเห็นไม่ได้ เป็นต้นแห่งอนุโลมปัญจกะมีคำว่า ย่อมหยั่งเห็นบุคคล เป็นต้นดังนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

               อรรถกถานิคคมจตุกกะ จบ.               
               อรรถกถานิคคหะที่ ๑ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ ปุคคลกถา นิคหะ ๘ นิคหะที่ ๑ จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 37 / 6อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=1&Z=98
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=2701
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=2701
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :