ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 284อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 7 / 294อ่านอรรถกถา 7 / 664
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ
เรื่องภิกษุแจกของที่ไม่ควรแจก เป็นต้น

               [ว่าด้วยครุภัณฑ์]               
               บทว่า ปญฺจิมานิ มีความว่า ครุภัณฑ์ทั้งหลายว่าด้วยอำนาจหมวดมี ๕ หมวด. ก็ครุภัณฑ์เหล่านี้ว่าด้วยอำนาจรวม ย่อมมีมากหลาย.
               บรรดาครุภัณฑ์เหล่านั้น สวนดอกไม้หรือสวนผลไม้ ชื่ออาราม. โอกาสที่เขากำหนดตั้งไว้ เพื่อประโยชน์แก่อารามเหล่านั้นเอง หรือเมื่ออารามเหล่านั้นร้างไปแล้ว ภูมิภาคเก่าแห่งอารามนั้น ชื่ออารามวัตถุ.
               เสนาสนะมีปราสาทเป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อวิหาร.
               โอกาสเป็นที่ประดิษฐานเสนาสนะ มีปราสาทเป็นต้นนั้น ชื่อวิหารวัตถุ.
               บรรดาเตียง ๔ ชนิดที่กล่าวแล้วในหนหลังเหล่านี้ คือ เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา, เตียงมีปลายเท้าร้อยด้วยไม้สลัก, เตียงมีขาอดังก้ามปู, เตียงมีขาจดแม่แคร่, ชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่าเตียง.
               บรรดาตั่ง ๔ ชนิด มีตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในขาเป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่าตั่ง.
               บรรดาฟูก ๕ ชนิด มีฟูกที่ยัดด้วยขนสัตว์เป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่าฟูก.
               บรรดาหมอนมีประการดังกล่าวแล้ว ชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่าหมอน.
               หม้อที่ทำด้วยโลหะ ชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นเหล็กก็ตาม เป็นทองแดงก็ตาม ชื่อว่าหม้อโลหะ. แม้ในอ่างโลหะเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกัน. ก็ในอ่างโลหะเป็นต้นนี้ ไหเรียกว่าอ่าง, หม้อน้ำเรียกว่าขวด. กระทะนั้นเองเรียกว่ากระทะ. ในเครื่องมือมีพร้าโต้เป็นต้น และในเครื่องใช้มีเถาวัลย์เป็นต้น ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่รู้จักยาก ย่อมไม่มี.
               พระโลกนาถผู้มีจักษุปราศจากมลทิน ๕ ดวง ทรงประกาศครุภัณฑ์ ๒๕ อย่าง โดยหมวด ๕ อย่างนี้ คือ ๒ หมวดสงเคราะห์ครุภัณฑ์ หมวดละ ๒ สิ่ง, หมวดที่ ๓ นับครุภัณฑ์ได้ ๔ สิ่ง หมวดที่ ๔ มี ๙ สิ่ง, หมวดที่ ๕ จำแนกเป็น ๘ สิ่ง ด้วยประการฉะนี้.
               วินิจฉัยกถาในครุภัณฑ์นั้น พึงทราบดังต่อไปนี้ :-
               ก็ครุภัณฑ์แม้ทั้งปวงนี้ แม้ในเสนาสนักขันธกะนี้ ท่านกล่าวว่า ไม่ควรแจก. ส่วนในคัมภีร์ปริวารมาแล้วว่า :
               ครุภัณฑ์ ๕ หมวด พระพุทธเจ้าผู้แสวงคุณใหญ่ตรัสว่า ไม่ควรสละ ไม่ควรแจก, แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้สละ ผู้ใช้สอย ; ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
               เพราะเหตุนั้น พึงทราบอธิบายในคำนี้ อย่างนี้ว่า ครุภัณฑ์นี้ ที่ว่าไม่ควรสละ ไม่ควรแจก ด้วยอำนาจขาดตัวนั้น แต่เมื่อภิกษุผู้สละและใช้สอยด้วยอำนาจการแลกเปลี่ยน ไม่เป็นอาบัติ.
               อนุปุพพีกถาในครุภัณฑ์นั้น ดังนี้ :-
               ไม่ควรน้อมครุภัณฑ์แม้ทั้ง ๕ ชนิดนี้เข้าไป เพื่อประโยชน์แก่จีวรบิณฑบาตและเภสัชก่อน. แต่จะเอาถาวรวัตถุแลกกับถาวรวัตถุและเอาครุภัณฑ์แลกกับครุภัณฑ์ ควรอยู่.
               ส่วนในถาวรวัตถุ, ถาวรวัตถุเห็นปานนี้ คือ นา ที่นา บึงเหมือง ภิกษุจะจัดการหรือจะรับหรือจะอนุมมัติแทนสงฆ์ ไม่ควร.
               ถาวรวัตถุนั้น อันกัปปิยการกนั่นแลจัดการ, กัปปิยภัณฑ์ได้มาจากถาวรวัตถุเห็นปานนั้น ควรอยู่. อนึ่ง จะเอาอารามแลกกถาวรวัตถุทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ อาราม อารามวัตถุ วิหาร วิหารวัตถุ ควรอยู่.

               [ปริวัตนนัย]               
               ปริวัตนนัยในครุภัณฑ์ ๔ อย่างมีอารามเป็นต้นนั้น ดังนี้ :-
               สวนมะพร้าวของสงฆ์อยู่ไกล, ทั้งพวกกัปปิยการกกินเสียมากกว่ามาก, แม้ที่ไม่ได้กินก็ต้องชักออกให้ค่าจ้างเกวียนเสีย นำมาถวายน้อยเต็มที.
               ส่วนคนเหล่าอื่นที่อยู่ในบ้านซึ่งไม่ไกลสวนนั้น มีสวนอยู่ใกล้วัด. เขาเข้าไปหาสงฆ์ขอเอาสวนของตนแลกเอาสวนนั้น สงฆ์พึงอปโลกน์ว่า สงฆ์เห็นชอบ แล้วรับเถิด.
               ถึงแม้ว่า สวนของพวกภิกษุมีต้นไม้ตั้งพันต้น, สวนของชาวบ้านมีต้นไม้ห้าร้อย ; (ถ้ามีผลมากกว่า) ก็ไม่ควรเกี่ยงว่า สวนของท่านเล็ก. เพราะสวนนี้เล็กก็จริง, แต่ที่แท้ สวนนี้ย่อมให้ผลมากกว่าสวนนอกจากนี้.
               ถึงแม้ว่า สวนนี้จะให้ผลเท่าๆ กัน. แม้อย่างนั้นจะยอมรับด้วยมุ่งหมายว่า สามารถบริโภคได้ทุกขณะที่ต้องการ ก็ควร.
               แต่ถ้า สวนของพวกชาวบ้านมีต้นไม้มากกว่า, พึงกล่าวว่า ต้นไม้ของพวกท่านมีมากกว่ามิใช่หรือ? ถ้าเขาตอบว่า ส่วนที่เกินเลยไป จงเป็นบุญของพวกข้าพเจ้าๆ ถวายสงฆ์. สมควรให้ภิกษุสงฆ์ทราบแล้วจึงรับไว้.
               ต้นไม้ของพวกภิกษุมีผล, ต้นไม้ของพวกชาวบ้านยังไม่ทันเผล็ดผล, พึงยอมรับแท้ ด้วยเล็งเห็นว่า ต้นไม้ของพวกชาวบ้าน ยังไม่เผล็ดผลก็จริง แต่ไม่นานก็จักเผล็ดผล.
               ต้นไม้ของพวกชาวบ้านมีผล, ต้นไม้ของพวกภิกษุยังไม่ทันเผล็ดผล พึงกล่าวว่า ต้นไม้ของพวกท่านมีผลมิใช่หรือ? ถ้าเขาถวายว่า รับเถิด ท่านผู้เจริญ จักเป็นบุญแก่พวกข้าพเจ้า. สมควรให้ภิกษุสงฆ์ทราบแล้วรับไว้. อารามกับอารามพึงแลกกันด้วยประการฉะนี้. อารามวัตถุก็ดี วิหารก็ดี วิหารวัตถุก็ดี กับอารามพึงแลกกัน โดยนัยนี้แล.
               อนึ่ง อาราม อารามวัตถุ วิหาร และวิหารวัตถุ ก็พึงแลกกับอารามวัตถุ ที่ใหญ่ก็ตาม เล็กก็ตาม โดยนัยนี้เหมือนกันฉะนี้แล.
               วิหารกับวิหารจะแลกกันอย่างไร? เรือนของสงฆ์อยู่ภายในบ้าน ปราสาทของชาวบ้านอยู่กลางวัด ทั้ง ๒ อย่างว่าโดยราคาเป็นของเท่ากัน. หากว่า ชาวบ้านขอเอาปราสาทนั้นแลกเรือนนั้นสมควรรับ.
               เรือนของพวกภิกษุมีราคามากกว่า. และเมื่อภิกษุกล่าวว่า เรือนของพวกเรามีราคามากกว่า, เขาตอบว่า เรือนของพวกท่านมีราคามากกว่าก็จริง แต่ไม่สมควรแก่บรรพชิต บรรพชิตไม่สามารถอยู่ในเรือนนั้นได้ ; ส่วนเรือนนี้สมควร ขอท่านทั้งหลายจงรับเถิด ; แม้อย่างนี้ ก็ควรรับ.
               ถ้าเรือนของชาวบ้าน มีราคามาก, ภิกษุพึงกล่าวว่า เรือนของพวกท่าน มีราคามากมิใช่หรือ? แต่เมื่อเขาตอบว่า ช่างเถิดท่านผู้เจริญ, จักเป็นบุญแก่พวกข้าพเจ้า, โปรดรับเถิด ดังนี้สมควรรับ.
               วิหารกับวิหาร พึงแลกกันอย่างนี้. วิหารวัตถุก็ดี อารามก็ดี อารามวัตถุก็ดี พึงแลกกับวิหาร โดยนัยนี้แล. อนึ่ง วิหาร วิหารวัตถุ อารามและอารามวัตถุ ก็พึงแลกกับวิหารวัตถุ ที่มีราคามากก็ตาม มีราคาน้อยก็ตาม โดยนัยนี้เหมือนกันฉะนี้แล.
               พึงทราบการแลกถาวรวัตถุกับถาวรวัตถุอย่างนี้ก่อน.
               ส่วนวินิจฉัยในการแลกครุภัณฑ์กับครุภัณฑ์ พึงทราบดังต่อไปนี้ :-
               เตียงตั่งจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม โดยที่สุดมีเท้าเพียง ๔ นิ้ว แม้ที่พวกเด็กชาวบ้านซึ่งยังเล่นในโรงฝุ่นทำ ย่อมเป็นครุภัณฑ์ จำเดิม แต่เวลาที่ถวายสงฆ์แล้ว.
               แม้ถ้าพระราชาและราชมหาอมาตย์เป็นต้น ถวายเพียงคราวเดียวเท่านั้น ตั้งร้อยเตียงหรือพันเตียง, เตียงที่เป็นกัปปิยะทั้งหมดพึงรับไว้. ครั้นรับแล้วพึงแจกตามลำดับผู้แก่ ว่า ท่านจงใช้สอยโดยเป็นเครื่องใช้ของสงฆ์. อย่าให้เป็นส่วนตัวบุคคล. แม้จะตั้งเตียงที่เกินไว้ในเรือนคลังเป็นต้นแล้วเก็บบาตรจีวร ก็ควร.
               เตียงที่เขาถวายนอกสีมา ว่า ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ดังนี้ พึงให้ไว้ในสถานที่อยู่ของพระสังฆเถระ. ถ้าในสถานที่อยู่ของพระสังฆเถระนั้น มีเตียงมาก, ไม่มีการที่ต้องใช้เตียง ; ในสถานที่อยู่ของภิกษุใด มีการที่ต้องใช้เตียง, พึงให้ไว้ในสถานที่อยู่ของภิกษุนั้นสั่งว่า ท่านจงใช้สอยเป็นเครื่องใช้สอยของสงฆ์.
               เตียงมีราคามาก คือ ตีราคาตั้งร้อยหรือพันกหาปณะ จะแลกเตียงอื่น ย่อมได้ตั้งร้อยเตียง ควรแลกเอาไว้. มิใช่แต่เตียงเดียวเท่านั้น แม้อาราม อารามวัตถุ วิหาร วิหารวัตถุ ตั่ง ฟูกและหมอน ก็ควรแลก. แม้ในตั่งฟูกและหมอนก็นัยนี้. แม้ในเตียงตั่งฟูกหมอนเหล่านี้ สิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ มีนัยดังกล่วแล้วนั่นแล.
               ในกัปปิยะและอกัปปิยะนั้น ที่เป็นอกัปปิยะไม่ควรใช้สอย. ที่เป็นกัปปิยะ พึงใช้สอยเป็นเครื่องใช้ของสงฆ์. ที่เป็นอกัปปิยะหรือที่เป็นกัปปิยะมีค่ามาก พึงแลกเอาวัตถุที่กล่าวแล้วไว้. ขึ้นชื่อว่าฟูกและหมอน ที่ไม่จัดเป็นครุภัณฑ์ ย่อมไม่มี.
               ครุภัณฑ์ ๓ อย่างนี้ คือ หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระทะโลหะจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม โดยที่สุดแม้จุน้ำเพียงฟายมือหนึ่ง ย่อมเป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน.
               ส่วนขวดโลหะที่ทำด้วยเหล็ก ทองแดง สำริด ทองเหลืองอย่างใดอย่างหนึ่ง จุน้ำได้บาทหนึ่ง ในเกาะสิงหล แจกกันได้.
               ที่ชื่อว่าบาทหนึ่ง จุน้ำประมาณ ๕ ทะนานมคธ. ที่จุน้ำเกินกว่านั้น เป็นครุภัณฑ์, ภาชนะโลหะที่มาในบาลีเท่านี้ก่อน.
               ส่วนน้ำเต้าทอง กระโถน กระบวย ทัพพี ช้อน ถาด จาน ชาม ผอบ อั้งโล่และทัพพีตักควันเป็นต้น แม้มิได้มาในบาลี จะเล็กหรือใหญjก็ตาม เป็นครุภัณฑ์หมดทุกอย่าง. แต่ภัณฑะเหล่านี้ คือ บาตรเล็ก ภาชนะทองแดง เป็นของควรแจกกันได้ ภาชนะกาววาวที่ทำด้วยสำริดหรือทองเหลือง ควรใช้สอยเป็นเครื่องใช้ของสงฆ์ หรือเป็นคิหิวิกัติ ไม่ควรใช้สอย เป็นเครื่องใช้ส่วนตัวบุคคล.
               ในมหาปัจจรีแก้ว่า ภาชนะสำริดเป็นต้น ที่เขาถวายสงฆ์จะรักษาไว้ใช้เองไม่ควร, พึงใช้สอยโดยทำนองคิหิวิกัติเท่านั้น ส่วนในส่งขอโลหะที่เป็นกัปปิยะแม้อื่น ยกเว้นภาชนะกาววาวเสีย กล่องยาตา ไม้ป้ายยาตา ไม้ควักหู เข็ม เหล็กจาร มีดน้อย เหล็ก หมาด กุญแจ ลูกดาล ห่วงไม้เท้า กล้องยานัตถุ์ สว่าน รางโลหะ แผ่นโลหะ แท่งโลหะ สิ่งของโลหะที่ทำค้างไว้แม้อย่างอื่น เป็นของควรแจกกันได้.
               ส่วนกล้องยาสูบ ภาชนะโลหะ โคมมีด้าม โคมตั้ง โคมแขวน รูปสตรี รูปบุรุษ และรูปสัตว์เดียรัจฉานหรือสิ่งของโลหะเหล่าอื่น พึงติดไว้ตามฝาหรือหลังคาหรือบานประตูเป็นต้น, สิ่งของโลหะทั้งปวง โดยที่สุดจนกระทั่งตะปู ย่อมเป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน แม้ตนเองได้มาก็ไม่ควรเก็บไว้ใช้อย่างเครื่องใช้ส่วนตัวบุคคล. ควรใช้อย่างเครื่องใช้ของสงฆ์ หรือใช้เป็นคิหิวิกัติ.
               แม้ในสิ่งของดีบุก ก็มีนัยเหมือนกัน. จานและขันเป็นต้นที่ทำด้วยหินอ่อน เป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน, ส่วนหม้อหรือภาชนะน้ำมันที่ใหญ่ เกินกว่าจุน้ำมันบาทหนึ่งขึ้นไปเท่านั้น เป็นครุภัณฑ์.
               ภาชนะทองคำ เงิน นาก และแก้วผลึก และเป็นคิหิวิกัติ ก็ไม่ควร, ไม่จำต้องกล่าวถึงใช้อย่างเครื่องใช้ของสงฆ์ หรืออย่างเครื่องใช้ส่วนตัวบุคคล. แต่ด้วยเครื่องใช้สำหรับเสนาสนะ สิ่งของทุกอย่างทั้งที่ควรจับต้อง ทั้งที่ไม่ควรจับต้อง จะใช้สอยก็ควร.
               ในมีดเป็นต้น มีดที่ไม่อาจใช้ทำการใหญ่อย่างอื่นได้ ยกการตัดไม้สีฟัน หรือการปอกอ้อยเสีย เป็นของควรแจกกันได้. มีดที่ทำด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งใหญ่กว่านั้น เป็นครุภัณฑ์.
               ส่วนขวาน โดยที่สุดแม้เป็นขวานสำหรับตัดเอ็นของพวกแพทย์ย่อมเป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน.
               ในผึ่งมีวินิจฉัยเช่นขวานนั่นเอง. ส่วนผึ่งที่ทำโดยสังเขปว่า เป็นอาวุธ เป็นอนามาส.
               จอบโดยที่สุด แม้ขนาด ๔ นิ้ว ย่อมเป็นครุภัณฑ์แท้.
               สิ่ว มีปากเป็นเหลี่ยมก็ดี มีปากเป็นรางก็ดี โดยที่สุดแม้เหล็กเจาะด้ามไม้กวาด เป็นของเข้าด้ามไว้ เป็นครุภัณฑ์แท้. แต่เหล็กเจาะด้ามไม้กวาด ไม่มีด้าม มีแต่ตัวเท่านั้น เป็นของอาจใส่ฝักรักษาไว้ได้ เป็นของควรแจก. แม้เหล็กแหลมก็สงเคราะห์ด้วยสิ่งนั่นเอง.
               มีดเป็นต้น เป็นของที่ชนเหล่าใดถวายไว้ในวิหาร, ถ้าชนเหล่านั้น เมื่อถูกไฟไหม้เรือน หรือถูกโจรปล้น จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญจงให้เครื่องมือแก่พวกข้าพเจ้าเถิด, แล้วจักคืนให้อีก, ควรให้. ถ้าเขานำมาส่ง. อย่าพึงห้าม, แม้เขาไม่นำมาส่งก็ไม่พึงทวง.
               เครื่องมือที่ทำด้วยโลหะทุกอย่าง มีทั่ง ค้อน คีมและคันชั่งเป็นต้น ของช่างไม้ ช่างกลึง ช่างสาน ช่างแก้วและช่างบุบาตร เป็นครุภัณฑ์ จำเดิมแต่กาลที่ถวายสงฆ์แล้ว. แม้ในเครื่องมือของช่างดีบุก ช่างหนังก็มีนัยเหมือนกัน.
               ส่วนความที่แปลกกันดังนี้ :-
               เครื่องมือเหล่านี้ คือ ในพวกเครื่องมือของช่างดีบุกเล่า มีดตัดดีบุก ในพวกเครื่องมือของช่างทอง มีดตัดทอง ในพวกเครื่องมือของช่างหนัง มีดเล็กสำหรับตัดหนังที่ฟอกแล้ว เป็นสิ่งที่ควรแจก.
               แม้ในเครื่องมือของกัลบกและช่างชุน เว้นกรรไกรใหญ่ แหนบใหญ่และมีดใหญ่เสีย ควรแจกทุกอย่าง. กรรไกรใหญ่เป็นต้น เป็นครุภัณฑ์.
               วินิจฉัยในเถาวัลย์เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง มีหวายเป็นต้น ประมาณเพียงครึ่งแขน ที่เขาถวายสงฆ์ก็ตาม ที่เกิดขึ้นในธรณีสงฆ์นั้นก็ตาม ซึ่งสงฆ์รักษาปกครองไว้ เป็นครุภัณฑ์.
               เถาวัลย์นั้น เมื่อการงานของสงฆ์และการงานที่เจดีย์ทำเสร็จแล้ว ถ้าเป็นของเหลือ, จะน้อมเข้าไปในการงานส่วนตัวบุคคลบ้าง ก็ควร. แต่ถ้าเถาวัลลิ์ที่สงฆ์ไม่รักษา ไม่เป็นครุภัณฑ์เลย.
               เชือกหรือพวนที่ทำเสร็จด้วยด้าย ปอ ป่าน เสี้ยนมะพร้าวและหนังก็ดี เชือกเกลียวเดียวหรือ ๒ เกลียว ที่เขาฟั่นป่านหรือเสี้ยนมะพร้าวทำก็ดี ย่อมเป็นครุภัณฑ์ จำเดิมแต่เวลาที่เขาถวายสงฆ์แล้ว.
               ส่วนด้ายที่เขามิได้ฟั่นถวาย และปอป่านแลเสี้ยนมะพร้าวแจกกันได้. อนึ่ง เชือกและพวนเป็นต้นเหล่านั้น เป็นของที่ชนเหล่าใดถวาย, ชนเหล่านั้นจะยืมไปด้วยกรณียกิจของตน ไม่ควรหวงห้าม.
               ไม้ไผ่ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยที่สุดแม้ขนาดเท่าเข็มไม้#- ยาว ๘ นิ้ว ที่เขาถวายสงฆ์ หรือที่เกิดในธรณีสงฆ์นั้น ซึ่งสงฆ์รักษาปกครองไว้ เป็นครุภัณฑ์.
____________________________
#- สุจิทณฺฑก เข็มไม้ (สำหรับเย็บของใหญ่ เช่นใบเรือ) ไม้กลัด (?).

               เมื่อการงานของสงฆ์และการงานที่เจดีย์ทำเสร็จแล้ว แม้ไม้ไผ่นั้นยังเหลือ จะใช้ในการงานเป็นส่วนตัวบุคคล ก็ควร.
               ก็ในภัณฑะ คือ ไม้ไผ่นี้ ของเช่นนี้ คือ กระบอกน้ำมันจุน้ำมันบาทหนึ่ง ไม้เท้า คานรองเท้า คันร่ม ซี่ร่ม เป็นของแจกันได้.
               พวกชาวบ้านผู้ถูกไฟไหม้เรือนฉวยเอาไป ไม่ควรห้าม. เมื่อภิกษุจะถือเอาไม้ไผ่ที่สงฆ์รักษาปกครอง ต้องทำถาวรวัตถุที่เท่ากัน หรือเกินกว่าโดยที่สุดทำผาติกรรมถือเอา ต้องใช้สอยในวัดนั้นเท่านั้น. ในเลาที่จะไป ต้องเก็บไว้ในที่อยู่ของสงฆ์ก่อน จึงค่อยไป. ภิกษุผู้ถือเอาไปด้วยความหลงลืม ต้องส่งคืน. ไปสู่ประเทศอื่นแล้ว พึงเก็บไว้ในที่อยู่ของสงฆ์ในวัดที่ไปถึงเข้า.
               หญ้านั้น คือ หญ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่นอกจากหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง. ก็ในที่ใด ไม่มีหญ้า, ในที่นั้น เขามุงด้วยใบไม้ เพราะฉะนั้น แม้ใบไม้ก็สงเคราะห์ด้วยหญ้าเหมือนกัน.
               ในหญ้ามุงกระต่ายเป็นต้น หญ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง แม้มีประมาณกำมือหนึ่ง แม้ในใบไม้มีใบตาลเป็นต้น แม้ใบเดียว ที่เขาถวายสงฆ์หรือที่เกิดในธรณีสงฆ์นั้น หรือเป็นหญ้าที่เกิดแต่สวนหญ้าของสงฆ์ภายนอกอาราม ซึ่งสงฆ์รักษาปกครอง เป็นครุภัณฑ์.
               เมื่อการงานของสงฆ์ หรือการงานที่เจดีย์ทำเสร็จแล้ว หญ้าแม้นั้นยังเหลือ จะใช้ในการงานเป็นส่วนตัวบุคคล ก็ควร. พวกชาวบ้านผู้ถูกไฟไหม้ เรือนฉวยเอาไป ไม่ควรห้าม.
               ในลานเปล่า แม้ขนาดเพียง ๘ นิ้ว ก็เป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน,
               ดินเหนียว จะเป็นดินธรรมดาหรือดิน ๕ สี หรือปูนขาวก็ตามที หรือบรรดายางสนและชันเป็นต้น ยางชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เขานำมาถวายในที่ซึ่งหาได้ยากก็ดี ที่เกิดในธรณีสงฆ์นั้นก็ดี ขนาดเท่าผลตาลสุก ซึ่งสงฆ์รักษาปกครองไว้ เป็นครุภัณฑ์.
               เมื่อการงานของสงฆ์ หรือการงานของเจดีย์ทำเสร็จแล้ว ยางแม้นั้นที่เหลือ จะใช้ในการงานเป็นส่วนตัวบุคคล ก็ควร.
               ส่วนหิงคุ รง หรดาล มโนศิลาและแร่พลวง เป็นของควรแจกกัน.
               วินิจฉัยในสิ่งของคือไม้ พึงทราบดังนี้ :-
               ในกรุนทีแก้ว่า ภัณฑะไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แม้ขนาดเท่าเข็มไม้ยาว ๘ นิ้ว เขาถวายสงฆ์ในที่ซึ่งหาได้ยาก หรือเกิดในธรณีสงฆ์นั้น ซึ่งสงฆ์รักษาคุ้มครอง นี้เป็นครุภัณฑ์.
               ส่วนในมหาอรรถกถา สงเคราะห์ของแปลกที่ทำด้วยวัตถุเป็นต้นว่า ไม้จริง ไม่ไผ่ หนัง และศิลา แม้ทุกอย่างด้วยภัณฑะไม้ แล้วกล่าววินิจฉัยแห่งภัณฑะไม้ จำเดิมแต่บาลีนี้ว่า เตน โข ปน สมเยน สงฺฆสฺส อาสนฺทิโก อุปฺปนฺโน โหติ.
               ในมหาอรรถกถานั้น ไขความดังนี้ :-
               ในของเหล่านี้ก่อน คือ ตั่ง ๔ เหลี่ยมจตุรัส ตั่งมีพนัก ๓ ด้าน ตั่งหวาย ตั่งสามัญ ตั่งขาทราย ตั่งก้านมะขามป้อม ตั่งมีพนักด้านเดียว ตั่งกระดาน เก้าอี้ ตั่งยัดฟาง ชนิดใดชนิดหนึ่ง เล็กหรือใหญ่ก็ตาม ที่เขาถวายสงฆ์แล้ว เป็นครุภัณฑ์.
               อนึ่ง แม้ตั่งที่ยัดด้วยใบตองเป็นต้น สงเคราะห์ในตั่งเหล่านั้นด้วยตั่งยัดฟาง.
               เก้าอี้ที่หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งก็ดี บุด้วยรูปสัตว์ร้ายก็ดี ขลิบด้วยรัตนะก็ดี เป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน.
               ในของเหล่านั้น คือ กระดานจงกรม กระดานยาว กระดานซักจีวร กระดานรองทุบ ตลุมพุกสำหรับทุบ เขียงรองตัดไม้สีฟัน ไม้ค้อน ถังไม้ รางย้อม กระโถน สมุกไม้จริง หรือสมุกงา หรือสมุกไม้ไผ่ มีเท้าก็ตาม ไม่มีเท้าก็ตาม หีบ ขวดมีขนาดไม่เกินจุน้ำ บาทหนึ่ง รางน้ำ ไหน้ำ กระบวย ทัพพี ขันน้ำ สังข์ตักน้ำ ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ถวายสงฆ์แล้ว เป็นครุภัณฑ์, ส่วนภาชนะที่ทำด้วยสังข์แจกกันได้. หม้อน้ำที่ทำด้วยไม้ ก็เหมือนกัน.
               เสวียนเช็ดเท้า จะทำด้วยไม้หรือทำด้วยใบตาลเป็นต้นก็ตามที เป็นครุภัณฑ์ทั้งหมด.
               ในของเหล่านี้ คือ เชิงบาตร ฝาบาตร พัดใบตาล พัดวีชนี ผอบ กระเช้า ไม้กวาดด้ามยาว ไม้กวาดด้ามสั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ทำด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่ง มีไม้จริง ไม้ไผ่ ใบไม้และหนังเป็นต้น เป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน.
               บรรดาเครื่องมือเรือนมีเสา ขื่อ บันได และกระดานเป็นต้น เครื่องเรือนอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำด้วยไม้ก็ตาม ทำด้วยศิลาก็ตาม เสื่อลำแพนชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาถวายสงฆ์แล้ว เป็นครุภัณฑ์สมควรทำให้เป็นเครื่องลาดพื้น.
               ส่วนหนังแพะ ซึ่งแม้มีคติอย่างเครื่องปูลาด ก็เป็นครุภัณฑ์เหมือนกัน. หนังที่เป็นกัปปิยะ เป็นของควรแจกกันได้.
               แต่ในกุรุนทีแก้ว่า หนังทุกชนิดมีขนาดเท่าเตียง เป็นครุภัณฑ์. ครก สาก กระด้ง หินบด ลูกหินบด รางศิลา อ่างศิลา ภัณฑะของช่างหูกเป็นอาทิทุกอย่างมีกระสวย ฟึมและกระทอเป็นต้น เครื่องทำนาทุกอย่าง ล้อเลื่อนทุกอย่าง เป็นครุภัณฑ์ทั้งนั้น.
               เท้าเตียง แม่แคร่เตียง เท้าตั่ง แม่แคร่ตั่ง ด้ามมีดและสว่านเป็นต้น ในของเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งถากค้างไว้ยังไม่ทันเสร็จ แจกกันได้ แต่ที่ถากเกลี้ยงเกลาแล้ว เป็นครุภัณฑ์.
               อนึ่ง ของเช่นนี้ คือ ด้ามมีดที่ทรงอนุญาต ด้ามลแะปีกกลด ไม้เท้า รองเท้า ไม้สีไฟ กระบอกกรอง กระติกน้ำทรงมะขามป้อม หม้อน้ำทรงมะขามป้อม กระติกน้ำลูกน้ำเต้า หม้อน้ำหนัง หม้อน้ำทรงน้ำเต้า กระติกน้ำทำด้วยเขา จุน้ำไม่เกินบาทหนึ่ง แจกกันได้ทุกอย่าง เขื่องกว่านั้นเป็นครุภัณฑ์.
               งาช้างหรือเขาชนิดใดชนิดหนึ่ง ยังมิได้เกลา คงอยู่อย่างเดิม แจกกันได้.
               ในเท้าเตียงเป็นต้น ที่ทำด้วยงาช้างและเขาเหล่านั้น มีวินิจฉัยเช่นกับที่มีมาแล้วในหนหลังนั่นเอง.
               ของเช่นนี้ คือ กลักใส่หิงคุ กลักใส่ยาตา แม้ถากเกลาเสร็จแล้ว ลูกดุม รังดุม แท่นยาตา ด้ามยาตา กราดกวาดน้ำ ทุกอย่างแจกันได้ทั้งนั้น.
               วินิจฉัยในของที่ทำด้วยดิน พึงทราบดังนี้ :-
               เครื่องอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ทั้งปวง คือภาชนะดิน มีหม้อฝาละมีเป็นต้น กระถางสำหรับระบมบาตร เชิงกราน ปล่องควัน โคมมีด้าม โคมตั้ง อิฐสำหรับก่อ กระเบื้องสำหรับมุง กระเบื้องหลบ เป็นครุภัณฑ์ จำเดิมแต่เวลาที่ถวายสงฆ์แล้ว.
               ก็ในของที่ทำด้วยดินนี้ ของเช่นนี้ คือ หม้อ บาตร ภาชนะ คนโทปากกว้าง คนโทสามัญ ขนาดเขื่องไม่เกินกว่าจุน้ำบาทหนึ่ง เป็นของที่แจกกันได้. อนึ่ง แม้ในของโลหะ พึงทราบวินิจฉัยเหมือนในของดิน. คนโทน้ำบวกเข้ากับส่วนที่แจกกันได้เหมือนกัน.
               อนุปุพพีกถาในครุภัณฑ์นี้ เท่านี้.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ เรื่องภิกษุแจกของที่ไม่ควรแจก เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 284อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 7 / 294อ่านอรรถกถา 7 / 664
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=2537&Z=2629
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=7797
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=7797
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :