ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๕๑. อยากทราบเรื่องภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ที่ไม่เจริญในพระธรรมวินัย
          ถาม  ได้ฟังรายการธรรมะรายการหนึ่ง ผู้บรรยายได้กล่าวถึงพระสูตรๆ หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ว่าไม่อาจถึงความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยได้ โดยเปรียบเทียบกับนายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ว่าไม่อาจรักษาฝูงโคได้ ฟังแล้วยังไม่เข้าใจดี
          ขอความกรุณาคณะสหายธรรมช่วยอธิบายให้แจ่มแจ้งด้วย

          ตอบ  พระสูตรที่คุณกล่าวถึงนั้น เข้าใจว่าจะเป็นมหาโคปาลสูตร ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๘๓-๓๘๗ เพราะมีใจความตรงกับที่คุณเล่ามา ดังนั้นก็จะขอยกเอามหาโคปาลสูตรมาเล่าให้ฟัง พร้อมทั้งคำอธิบายของท่านอรรถกถา
          ใจความในพระสูตรมีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ไม่ควรจะครอบครองฝูงโค ไม่ควรทำฝูงโคให้เจริญ
          องค์ ๑๑ คือ
                    ๑. นายโคบาลไม่รู้จักรูป
                    ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
                    ๓. ไม่ค่อยเขี่ยไข่ขัง
                    ๔. ไม่ปิดบังแผล
                    ๕. ไม่สุมควันให้
                    ๖. ไม่รู้จักท่า
                    ๗. ไม่รู้จักให้โคดื่ม
                    ๘. ไม่รู้จักทาง
                    ๙. ไม่ฉลาดในสถานที่โคเที่ยวหากิน
                    ๑๐. รีดน้ำนมมิได้เหลือไว้
                    ๑๑. ไม่บูชาโคที่เป็นพ่อฝูงด้วยการบูชาเป็นอดิเรก
          นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ เหล่านี้ ไม่ควรครอบครองฝูงโค ไม่ควรทำฝูงโคให้เจริญ
          ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรเพื่อจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
          องค์ ๑๑ คือ
                    ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้รูป
                    ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
                    ๓. ไม่คอยเขี่ยไข่ขัง
                    ๔. ไม่ปิดบังแผล
                    ๕. ไม่สุมควัน
                    ๖. ไม่รู้จักท่า
                    ๗. ไม่รู้จักดื่ม
                    ๘. ไม่รู้จักทาง
                    ๙. ไม่ฉลาดในสถานที่โคจร
                    ๑๐. รีดเสียหมดมิได้เหลือไว้
                    ๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก
          นี่เป็นใจความสำคัญในพระสูตรนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงขยายความให้แจ่มแจ้งต่อไปอีกว่า องค์ ๑๑ แต่ละองค์หมายความว่าอย่างไร
          ก่อนจะถึงคำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอกล่าวถึงคำอธิบายของท่านอรรถกถาเสียก่อน เพราะพระพุทธองค์มิได้ทรงอธิบายเรื่ององค์ ๑๑ ของนายโคบาลไว้ ทรงอธิบายแต่องค์ ๑๑ ของภิกษุ เพราะฉะนั้น ก็จะขอพูดถึงองค์ ๑๑ ของนายโคปาลตามอรรถกถาให้ทราบเสียก่อน
          องค์ ๑๑ ของนายโคบาลนี้หมายถึงองค์ประกอบที่ไม่เป็นประโยชน์แก่นายโคบาล ๑๑ อย่าง
          องค์ที่ ๑ นายโคบาลไม่รู้จักรูปนั้น คือไม่รู้จักว่าโคของตนมีมากน้อยเท่าไร เมื่อฝูงโคหายไปจึงไม่ติดตามหา เมื่อฝูงโคของผู้อื่นพลัดเข้ามาในฝูงของตนก็ไม่ทราบจึงไม่ไล่ออกไป ครั้นเจ้าของเขาตามมาพบเข้าเขาก็หาว่าขโมยโคของเขาไป เป็นอันว่าโคของเขาก็หายไป ทั้งยังถูกกว่าหาว่าเป็นขโมยด้วย
          อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่านายโคบาลไม่รู้จักรูปนั้น หมายถึงไม่รู้จักสีของโค คือไม่รู้ว่าโคของตนมีสีขาวเท่าไร สีแดงเท่าไร สีน้ำตาลเท่าไร โคด่างเท่าไรเป็นต้น เมื่อไม่รู้ โคของตนหายไปก็ไม่ทราบ นายโคบาลที่ไม่รู้จักรูปโคโดยการนับและโดยสี อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฉลาด ไม่อาจรักษาฝูงโคไว้ได้
          ภิกษุที่ไม่รู้จักรูปก็ฉันนั้น ย่อมไม่รู้ว่ารูปนั้นได้แก่มหาภูตรูป ๔ และอุปาทารูป ๒๔ ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นั้น ในเรื่องภิกษุไม่รู้จักรูปนี้ อรรถกถาท่านว่าไม่รู้จักรูปโดยอาการ ๒ อย่าง คือโดยการนับและโดยสมุฏฐาน
          ที่ว่าไม่รู้จักรูปโดยการนับนั้น คือไม่ทราบจำนวนและชื่อของรูปว่ามีรูปอะไรบ้าง รูปใดมีชื่อว่าอะไร
          คำว่าไม่รู้จักรูปโดยสมุฏฐานนั้น คือไม่รู้ว่ารูปเกิดจากสมุฏฐานใด คือเกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือจากอาหาร เมื่อไม่รู้อย่างนี้ก็ไม่อาจแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เมื่อไม่อาจแยกรูปแยกนามออกพิจารณาเป็นส่วนๆ ไป ก็ไม่อาจเจริญกรรมฐานให้ถึงที่สุด คือให้ถึงมรรคผลนิพานได้ ภิกษุที่ไม่รู้จักรูปจึงไม่อาจเพื่อถึงความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ได้ เพราะฉะนั้นนายโคบาลที่ไม่รู้จักรูปก็ดี ภิกษุที่ไม่รู้จักรูปก็ดี ย่อมไม่ถึงความเจริญในธุระของตน นี่เป็นคำอธิบายในองค์ที่ ๑ ที่ว่าไม่รู้จักรูป
          องค์ที่ ๒ พระพุทธองค์ทรงเทียบนายโคบาลที่ไม่รู้จักลักษณะว่าเช่นเดียวกับภิกษุที่ไม่รู้จักลักษณะ ข้อนี้หมายถึงนายโคบาลไม่รู้จักลักษณะของโคของตนว่าโคตัวใดมีลักษณะเช่นไร ส่วนภิกษุที่ไม่รู้จักลักษณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่าไม่ฉลาด คือไม่รู้จักตามความเป็นจริงว่า คนพาลนั้นมีกรรมเป็นเครื่องหมาย
          กล่าวคือ คนพาลมีทุจริตกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิตมีสุจริตกรรมเป็นเครื่องหมาย เมื่อไม่รู้จักลักษณะของคนพาลและบัณฑิต ก็ไม่รู้จักละเว้นคนพาลแล้วคบบัณฑิต ไม่รู้จักอะไรควร อะไรไม่ควร ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เมื่อไม่รู้จักก็ไม่อาจบำเพ็ญกุศลให้เจริญได้ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ที่ไม่รู้จักลักษณะของคนพาลและบัณฑิต จึงไม่อาจเจริญงอกงามในธรรมวินัยได้
          องค์ที่ ๓ คือไม่ค่อยเขี่ยไข่ขัง นายโคบาลที่ไม่รู้จักเขี่ยไข่ขัง คือไม่รู้จักเขี่ยไข่ดังที่เกิดขึ้นที่แผลของโค หมายความว่าเมื่อโคเป็นแผล แมลงวันชอบไปไข่ไว้ที่แผลนั้น ถ้านายโคบาลไม่เขี่ยไข่ขังนั้นออก ไข่นั้นก็จะกลายเป็นหนอนชอนไชเข้าไปในร่างกายของโค ทำให้โคถึงแก่ความตายได้ฉันใด ภิกษุที่ไม่รู้จักเขี่ยไข่ขังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าภิกษุมิได้ละ มิได้บรรเทากามวิตก หรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ให้ดับสูญไป ปล่อยให้อกุศลวิตกเหล่านั้นกลุ้มรุมจิตได้ ภิกษุที่ไม่รู้จักเขี่ยไข่ขังคืออกุศลวิตก ๓ ประการให้ออกไปจากจิต ก็ย่อมไม่อาจสำเร็จคุณวิเศษได้ฉันนั้น
          องค์ที่ ๔ ของนายโคบาลคือไม่ยอมปิดบังแผล หมายความว่าเมื่อโคเกิดเป็นแผลขึ้นก็ไม่รู้จักทำยาปิดแผลโค โคย่อมไม่เป็นสุข เพราะถูกแมลงวันตอมบ้าง ไข่ไว้บ้าง ในที่สุดก็ถึงแก่ความตายฉันใด ภิกษุที่ไม่รู้จักปิดบังแผลคือทวารทั้ง ๖ ย่อมถือเอานิมิตและอนุพยัญชนะในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่มาปรากฎทางทวารทั้ง ๖ มีตาเป็นต้น เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่อาจงอกงามในพระธรรมวินัยได้
          องค์ที่ ๕ ที่ว่านายโคบาลไม่สุมควันให้นั้น คือไม่รู้จักสุมไฟให้เกิดควันเพื่อไล่ยุงและแมลงที่จะมารุมกัดกินเลือดโคของตนในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในฤดูฝน ยุงและแมลงก็จะกันกินเลือดโคตามสบาย เมื่อโคนอนไม่สบายเพราะถูกแมลงรบกวนก็หลบจากที่ไปนอนในป่าหรือตามโคนต้นไม้ รุ่งเช้าก็เที่ยวไปหาน้ำและหญ้ากินเองตามความต้องการ แล้วอาจจะหลงฝูงหายไป นายโคบาลที่ไม่ฉลาดไม่รู้จักสุมไฟให้โค ก็ย่อมได้รับความเดือดร้อนเพราะการหายไปของโคของตน
          ภิกษุที่ไม่สุมควันนั้น ได้แก่ภิกษุไม่แสดงธรรมตามที่ตนได้เรียนได้ฟังมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ซึ่งมีอรรถาธิบายว่าภิกษุเมื่อไม่แสดงธรรมให้คนทั้งหลายฟัง คนทั้งหลายย่อมไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ จึงไม่สงเคราะห์ภิกษุนั้นด้วยปัจจัย ๔ ภิกษุนั้นได้รับความลำบากเพราะปัจจัย ๔ ก็ไม่อาจเล่าเรียนและเจริญสมณธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่อาจถึงความงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ได้ นี่ก็เป็นคำอธิบายที่ว่านายโคบาลและภิกษุไม่สุมควัน
          องค์ที่ ๖ นายโคบาลไม่รู้จักท่า คือไม่รู้จักท่าน้ำที่โคควรจะลงไปกินน้ำ ต้อนโคไปยังท่าที่ไม่ควรฉันใด ภิกษุที่ไม่รู้จักท่าก็ฉันนั้น ย่อมไม่เข้าไปหาแล้วไต่ถามข้อความที่ยังสงสัยหรือลี้ลับกะพระเถระผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรมทรงวินัย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่อาจก้าวล่วงความสงสัยในธรรมเสียได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ภิกษุนั้นจะเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร (คำว่าท่าในที่นี้หมายถึงพระเถระผู้เป็นพหูสูต)
          องค์ที่ ๗ นายโคบาลผู้ไม่ฉลาดย่อมไม่รู้จักให้โคดื่ม อรรถกถาท่านอธิบายว่านายโคบาลที่ไม่ฉลาดเลี้ยงโคอยู่ในป่าตลอดวันแล้ว ก็ต้อนฝูงโคลงไปกินน้ำที่แม่น้ำหรือที่เหมืองน้ำ ฝูงโคก็ชิงกันลงไป ตัวไหนที่เก่งกล้าก็ลงไปกินน้ำใสในที่ลึกได้ ตัวที่ไม่เก่งก็กินน้ำขุ่นที่อยู่ริมฝั่ง บางตัวก็ไม่ได้กินน้ำ ครั้นแล้วนายโคบาลก็ต้อนฝูงโคกลับเข้าป่าอีก โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่าโคตัวใดยังไม่ได้กินน้ำบ้าง โคตัวที่ไม่ได้กินน้ำก็หิวกระหายไม่อาจหาหญ้ากินได้ ฝูงโคก็ย่อยยับไปเพราะมีนายโคบาลที่ไม่ฉลาดดังกล่าวนี้ แม้ภิกษุที่ไม่รู้จักดื่มก็ฉันนั้น ไม่รู้จักธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศแล้ว เมื่อไปฟังธรรมก็ส่งใจไปอื่นไม่ฟังโดยเคารพ จึงไม่เข้าถึงอรรถถึงธรรม ไม่ได้ความปีติปราโมทย์ในธรรม กรรมฐานของภิกษุนั้นจึงไม่เจริญ ภิกษุนั้นจึงไม่ได้ความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศแล้ว
          องค์ที่ ๘ คือนายโคบาลผู้ไม่ฉลาดย่อมไม่รู้จักทาง คือไม่รู้ว่าทางไหนปลอดภัย ทางไหนมีภัย ได้ต้อนฝูงโคไปในที่มีภัยจึงถูกเสือกัดบ้าง โจรลักพาไปบ้าง นายโคบาลที่ไม่รู้จักทางย่อมทำความพินาศให้แก่ฝูงโคฉันใด ภิกษุที่ไม่รู้จักทางก็ฉันนั้น คือไม่รู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่อาจยังโลกุตตรธรรมให้เกิดได้
          องค์ที่ ๙ คือนายโคบาลไม่ฉลาดในสถานที่โคเที่ยวหากิน เช่นต้อนโคไปหากินในสถานที่หนึ่ง ๕-๖ วันแล้ว ก็ไม่ควรจะต้อนไปที่เดิมอีกเพราะหญ้าก็หมด น้ำก็ขุ่น ควรต้อนไปยังที่อุดมสมบูรณ์แห่งใหม่ ถ้าจะกลับมาที่เก่า ก็ควรรอเวลาให้หญ้าขึ้นเขียว น้ำใสหายขุ่นเสียก่อน นายโคบาลที่ไม่ฉลาดในที่โคจรก็เช่นเดียวกับภิกษุที่ไม่ฉลาดในที่โคจร คือไม่รู้จักในสติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรมตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ก็ไม่อาจเข้าถึงธรรมได้ เหตุนั้นภิกษุผู้ไม่ฉลาดในโคจรคือสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่อาจงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ได้
          องค์ที่ ๑๐ คือนายโคบาลผู้ไม่ฉลาดย่อมรีดน้ำนมมิได้เหลือไว้ หมายความว่านายโคบาลรีดนมโคเสียหมด มิได้เหลือไว้ให้ลูกโคได้กินบ้าง เมื่อลูกโคไม่ได้กินนมก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ถึงความตายในที่สุด เมื่อลูกโคตาย แม่โคก็เศร้าโศก ไม่กินหญ้ากินน้ำ ถึงแก่ความตายในที่สุด ฝูงโคก็ร่อยหรอน้อยลง นายโคบาลนั้นก็สูญเสียโคไปเพราะความไม่ฉลาดของตน ภิกษุที่ไม่ฉลาดรีดเสียหมดก็ฉันนั้น กล่าวคือภิกษุไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับปัจจัย ๔ ที่คหบดีที่มีศรัทธาปวารณาไว้ เขาปวารณาเท่าใดก็รับจนหมด ไม่เหลือไว้ให้เขาเกิดศรัทธาว่าภิกษุนี้เป็นผู้มักน้อยสันโดษ แม้จะให้มากก็รับแต่พอควรพอใช้สอย ไม่โลภมาก ภิกษุที่ไม่รู้จักประมาณคือรีดเสียไม่เหลือ ย่อมทำลายศรัทธาของทายกผู้ถวาย ย่อมไม่อาจงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ได้
          องค์ที่ ๑๑ คือนายโคบาลไม่บูชาโคที่เป็นพ่อฝูงนำฝูงด้วยการบูชาเป็นอเนก ข้อนี้หมายความถึงว่าไม่ให้อาหารและไม่ดูแลโคตัวที่เป็นหัวหน้าให้ยิ่งกว่าโคตัวอื่น เรียกว่าไม่เห็นความสำคัญของโคที่เป็นผู้นำฝูงที่สามารถนำฝูงโคไปสู่ที่ปลอดภัย ภิกษุก็ฉันนั้นไม่บูชาภิกษุที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญูบวชมานาน มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก คือไม่เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตาในภิกษุทั้งหลายที่เป็นพระเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ เมื่อภิกษุไม่บูชาพระเถระทั้งหลายที่มีความสำคัญดังกล่าว พระเถระทั้งหลายเหล่านั้นเห็นว่าภิกษุนั้นไม่เคารพยำเกรงท่าน ท่านก็ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือบอกกล่าวสั่งสอน หรือไม่สงเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น ภิกษุนั้นก็ไม่อาจอยู่ในพระศาสนาด้วยความผาสุกได้ ด้วยเหตุนี้ ภิกษุที่ฉลาดจึงต้องบูชาภิกษุที่เป็นพระเถระ เป็นหัวหน้า เป็นผู้มีพรรษามาก บวชมานานด้วยการบูชาให้ยิ่งกว่าภิกษุรูปอื่น
          ทั้งหมดนี้ คือองค์ ๑๑ ประการของภิกษุที่ไม่ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงาม ในพระธรรมวินัยนี้ได้ แต่ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ที่มีเนื้อความตรงข้ามกับที่กล่าวแล้ว ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ คือรู้จักรูป ๑ รู้จักลักษณะ ๑ คอยเขี่ยไข่ขัง ๑ ปิดบังแผล ๑ สุมควัน ๑ รู้จักท่า ๑ รู้จักดื่ม ๑ รู้จักทาง ๑ ฉลาดในที่โคจร ๑ รีดให้เหลือไว้ ๑ บูชาภิกษุที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นหัวหน้า เป็นผู้มีพรรษามาก บวชมานาน ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก ๑
          เป็นอันว่า ในมหาโคปาลสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงภิกษุที่ไม่ฉลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ ย่อมไม่อาจเจริญงอกงามในพระศาสนานี้ โดยทรงเปรียบเทียบกับนายโคบาลที่ไม่ฉลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ที่ไม่ควรจะเป็นผู้ครอบครองฝูงโค แล้วทรงแสดงภิกษุที่ฉลาดเป็นบัณฑิตที่ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ว่าย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนานี้ โดยทรงเปรียบเทียบกับนายโคบาลที่ฉลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ที่สมควรจะครอบครองฝูง
          ทั้งหมดนี้ คือเรื่องที่คุณผู้ถามอยากถาม
________________________________________

ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔
          มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
          มหาโคปาลสูตร ว่าด้วยองค์แห่งนายโคบาลกับของภิกษุ
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=12&A=7106&Z=7246

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
          สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
          สกุณัคฆีสูตร ว่าด้วยอารมณ์โคจร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=19&A=3987&Z=4018

          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า อดิเรก
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อดิเรก
          คำว่า โพธิปักขิยธรรม 37
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โพธิปักขิยธรรม_37
          คำว่า มหาภูต หรือ ภูตรูป 4
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มหาภูต
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มหาภูต
          คำว่า อุปาทายรูป 24
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อุปาทายรูป_24

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]