ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ อน ”             ผลการค้นหาพบ  10  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 10
[60] อนาคามี 5 (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก — Non-Returner)
       1. อันตราปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน — one who attains Parinibbana within the first half life-span)
       2. อุปหัจจปรินิพพายี (ผู้จวนจะถึงจึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน — one who attains Parinibbana after the first half life-span)
       3. อสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก — one who attains Parinibbana without exertion)
       4. สสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก — one who attains Parinibbana with exertion)
       5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน — one who goes upstream bound for the highest realm; up-streamer bound for the Not-Junior Gods)

A.I. 233;
IV. 14,70,380;
V. 120;
Pug.16
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129;
อภิ.ปุ. 36/52-56/148.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 10
[126] อนุตตริยะ 3 (ภาวะอันยอดเยี่ยม, สิ่งที่ยอดเยี่ยม — excellent states; highest ideal; greatest good; unsurpassable experiences)
       1. ทัสสนานุตตริยะ (การเห็นอันเยี่ยม ได้แก่ ปัญญาอันเห็นธรรม หรืออย่างสูงสุดคือเห็นนิพพาน — ideal sight, supreme or unsurpassable vision)
       2. ปฏิปทานุตตริยะ (การปฏิบัติอันเยี่ยม ได้แก่ การปฏิบัติธรรมที่เห็นแล้ว กล่าวให้ง่ายหมายเอามรรคมีองค์ 8 — ideal course; supreme way)
       3. วิมุตตานุตตริยะ (การพ้นอันเยี่ยม ได้แก่ ความหลุดพ้นอันเป็นผลแห่งการปฏิบัตินั้น คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง หรือนิพพาน — ideal freedom; supreme deliverance)

D.III.291;
M.I.235.
ที.ปา. 11/228/231;
ม.มู. 12/402/435.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 10
[127] อนุตตริยะ 6 (ภาวะอันเยี่ยม, สิ่งที่ยอดเยี่ยม — excellent, supreme or unsurpassable experiences)
       1. ทัสสนานุตริยะ (การเห็นอันเยี่ยม ได้แก่ การเห็นพระตถาคต และตถาคตสาวกรวมถึงสิ่งทั้งหลายที่จะให้เกิดความเจริญงอกงามแห่งจิตใจ — supreme sight)
       2. สวนานุตตริยะ (การฟังอันเยี่ยม ได้แก่ การสดับธรรมของพระตถาคต และ ตถาคตสาวก — supreme hearing)
       3. ลาภานุตตริยะ (การได้อันเยี่ยม ได้แก่ การได้ศรัทธาในพระตถาคตและตถาคตสาวก หรือการได้อริยทรัพย์ — supreme gain)
       4. สิกขานุตตริยะ (การศึกษาอันเยี่ยม ได้แก่ การฝึกอบรมในอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา — supreme training)
       5. ปาริจริยานุตตริยะ (การบำเรออันเยี่ยม ได้แก่ การบำรุงรับใช้พระตถาคตและตถาคตสาวก — supreme service or ministry)
       6. อนุสสตานุตตริยะ (การระลึกอันเยี่ยม ได้แก่ การระลึกถึงพระตถาคต และตถาคตสาวก — supreme memory)

       โดยสรุปคือ การเห็น การฟัง การได้ การศึกษา การช่วยรับใช้ และการรำลึกที่จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ล่วงพ้นโสกะปริเทวะ ดับสูญทุกข์โทมนัส เพื่อการบรรลุญายธรรม ทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

D.III.250,281;
A.III.284,325,452.
ที.ปา. 11/321/262; 430/307;
องฺ.ฉกฺก. 22/279/316; 301/363.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 10
[134] อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน 3 (ลักษณะการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้คำสอนของพระองค์ ควรแก่การประพฤติปฏิบัติตาม และทำให้เหล่าสาวกเกิดความมั่นใจเคารพเลื่อมใสในพระองค์อย่างแท้จริง — the Three Aspects of the Buddha’s Teaching; the Buddha’s manners of teaching)
       1. อภิญญายธัมมเทสนา (ทรงแสดงธรรมด้วยความรู้ยิ่ง, ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงเองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่น เพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงตาม ในธรรมที่ควรรู้ยิ่งเห็นจริง — Having himself fully comprehended, he teaches others for the full comprehending of what should be fully comprehended; teaching with full comprehension)
       2. สนิทานธัมมเทสนา (ทรงแสดงธรรมมีเหตุผล, ทรงสั่งสอนชี้แจงให้เห็นเหตุผล ไม่เลื่อนลอย — He teaches the doctrine that has a causal bias; teaching in terms of or with reference to causality)
       3. สัปปาฏิหาริยธัมมเทสนา (ทรงแสดงธรรมให้เห็นจริงได้ผลเป็นอัศจรรย์, ทรงสั่งสอนให้มองเห็นชัดเจนสมจริงจนต้องยอมรับ และนำไปปฏิบัติได้ผลจริงเป็นอัศจรรย์ — He teaches the doctrine that is wondrous as to its convincing power and practicality; teaching in such a way as to be convincing and practical)

       ข้อ 1 บางท่านแปลว่า ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง

M.II.9;
A.I.276.
ม.ม. 13/330/322;
องฺ.ติก. 20/565/356.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 10
[172] ลีลาการสอน หรือ พุทธลีลาในการสอน หรือ เทศนาวิธี 4 (การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง แม้ที่เป็นเพียงธรรมีกถา หรือการสนทนาทั่วไป ซึ่งมิใช่คราวที่มีความมุ่งหมายเฉพาะพิเศษ ก็จะดำเนินไปอย่างสำเร็จผลดีโดยมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ 4 ประการ - the Buddha's style or manner of teaching)
       1. สันทัสสนา (ชี้แจงให้เห็นชัด คือ จะสอนอะไร ก็ชี้แจงจำแนกแยกแยะอธิบายและแสดงเหตุผลให้ชัดเจน จนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นจริงเห็นจัง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา - elucidation and verification)
       2. สมาทปนา (ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรปฏิบัติหรือหัดทำ ก็แนะนำหรือบรรยายให้ซาบซึ้งในคุณค่า มองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝนบำเพ็ญ จนใจยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ - incitement to take upon oneself; inspiration towards the Goal)
       3. สมุตเตชนา (เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า คือ ปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้น เกิดความอุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ สู้งาน ไม่หวั่นระย่อไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวยาก - urging; encouragement; animation; filling with enthusiasm)
       4. สัมปหังสนา (ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง คือ บำรุงจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป ทำให้ผู้ฟังมีความหวังและร่าเริงเบิกบานใจ - gladdening; exhilaration; filling with delight and joy)

       อรรถกถาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อ 1 ปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว ข้อ 2 ปลดเปลื้องความประมาท ข้อ 3 ปลดเปลื้องความอืดคร้าน ข้อ 4 สัมฤทธิ์ การปฏิบัติ จำ 4 ข้อนี้สั้นๆ ว่า ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริง หรือ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

D.I.126; ete.;
DA.II.473;
UdA.242,361, 384
ที.สี. 9/198/161; ฯลฯ,
ที.อ. 2/89;
อุ.อ. 304,457,490

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 10
[245] อนันตริยกรรม 5 (กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที — immediacy-deeds; heinous crimes which bring immediate results)
       1. มาตุฆาต (ฆ่ามารดา — matricide)
       2. ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา — patricide)
       3. อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์ — killing an Arahant)
       4. โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป — causing a Buddha to suffer a contusion or to bleed)
       5. สังฆเภท (ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์ — causing schism in the Order)

A.III.146 องฺ.ปญฺจก. 22/129/165

[***] อนาคามี 5 ดู [60] อนาคามี 5

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 10
[246] อนุปุพพิกถา 5 (เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ, ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ — progressive sermon; graduated sermon; subjects for gradual instruction)
       1. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน — talk on giving, liberality or charity)
       2. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม — talk on morality or righteousness)
       3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น — talk on heavenly pleasures)
       4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ — talk on the disadvantages of sensual pleasures)
       5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น — talk on the benefits of renouncing sensual pleasures)

       ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจจ์ 4 เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่างๆ ได้ด้วยดี

Vin.I.15;
D.I.148.
วินย. 4/27/32;
ที.สี. 9/237/189.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 10
[288] อนุสัย 7 (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน — latent tendencies)
       1. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความอยากได้ติดใจในกาม — lust for sense-pleasure)
       2. ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคืองคือโทสะ — repulsion; irritation; grudge)
       3. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด, การถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง — wrong view; speculative opinion)
       4. วิจิกิจฉา (ความลังเล, ความสงสัย — doubt; uncertainty)
       5. มานะ (ความถือตัว — conceit)
       6. ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ, ความอยากเป็น อย่างยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน — lust for becoming)
       7. อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ — ignorance)

       อนุสัย 7 นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ 7

D.III.254,.282;
A.IV. 8;
Vbh;383
ที.ปา. 11/337/266;
องฺ.สตฺตก. 23/11/8;
อภิ.วิ. 35/1005/517.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 10
[313] อนุบุพพวิหาร 9 (ธรรมเครื่องอยู่ที่ประณีตต่อกันขึ้นไปโดยลำดับ — progressive abidings; mental states of gradual attainment)
       รูปฌาน 4 (the Four Absorptions of the Form-Sphere)
       อรูปฌาน 4 (the Four Absorptions of the Formless Sphere)
       สัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา — extinction of perception and feeling) เรียกอีกอย่างว่า นิโรธสมาบัติ (attainment of extinction)

       สมาบัติข้อที่ 9 นี้ เฉพาะแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์ผู้ชำนาญในสมาบัติ 8 ข้างต้นแล้วเท่านั้น จึงจะเข้าได้
       อนุบุพพวิหารนี้ เรียกอีกอย่างว่า อนุบุพพนิโรธ (graded stages of cessation) เพราะต้องดับขั้นต้นๆ และขั้นไปตามลำดับ จึงจะเข้าถึงขั้นสูงที่อยู่ถัดขึ้นไปได้

       ดู [9] ฌาน 4; [207] อรูป 4.

D.III.265, 190;
A.IV.410.
ที.ปา. 11/355/279; 463/332;
องฺ.นวก. 23/236/424.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 10
[335] อนุสติ 10 (ความระลึกถึง, อารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ — recollection; constant mindfulness)
       1. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ — recollection of the Buddha; contemplation on the virtues of the Buddha)
       2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues the Doctrine)
       3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)
       4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย — recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
       5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — recollection on liberality; contemplation on one’s own liberality)
       6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)
       7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — mindfulness of death; contemplation on death)
       8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
       9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — mindfulness on breathing)
       10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbana)

       ดู [354] กรรมฐาน 40

A.I.30, 41;
Vism.197.
องฺ.เอก. 20/179-180/39-40; 224/54;
วิสุทธิ. 1/251.

[***] อภิณหปัจจเวกขณ์ 10 ดู [248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10.
[***] อเสขธรรม 10 ดู [333] สัมมัตตะ 10.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อน
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CD%B9


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]