ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัต ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
เอกกะ - หมวด 1
Groups of One
(including related groups)
[1] กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (external factor; environmental factor)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
       “อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

S.V.2-30;
A.I.14-18;
It.10.
สํ.ม. 19/5/2, 129/36;
องฺ.เอก. 20/72/16, 128/25;
ขุ.อิติ. 25/195/237

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[2] โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย - reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
       ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่ อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท - earnestness; diligence), วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น - instigation of energy; energetic effort), อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้ - fewness of wishes; paucity of selfish desire), สันตุฏฐี (ความสันโดษ - contentment), สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา - awareness; full comprehension); กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม - pursuit of virtue); ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ - possession of will), อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว - self-possession; self-realization), ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ - possession of right view), และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ - possession of earnestness)

S.V.2-30;
A.I.11-31;
It.9.
สํ.ม. 19/136-137/34, 154-155/41
องฺ.เอก. 20/68/15, 124/24;
ขุ.อิติ. 25/194/236

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[3] อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย การทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป - earnestness; diligence; heedfulness) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน (internal factor; personal factor) และเป็น ฝ่ายสมาธิ (a factor belonging to the category of concentration)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอารยอัษฎางคิกมรรคที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”
       “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด, รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
       “ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยอาศัยธรรมเอกข้อนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย”
       “ธรรมเอกอันจะทำให้ยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์สามัญของชีวิต เช่น ทรัพย์ ยศ กามสุข เป็นต้น) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจหรือคุณธรรม) ก็คือความไม่ประมาท”
       “สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
       “ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

D.II.156;
S.I.86-89;
S.V.30-45;
A.I.11-17;
A.III.365;
A.V.21
ที.ม. 10/143/180;
สํ.ส. 15/378-384/125-129;
สํ.ม. 19/135/37, 262/66;
องฺ.เอก. 20/60/13, 116/23;
อํ.ฉกฺก. 22/324/407;
องฺ.ทสก. 24/15/23

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[5] กาม 2 (ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา - sensuality)
       1. กิเลสกาม (กิเลสที่ทำให้ใคร่, ความอยากที่เป็นตัวกิเลส - subjective sensuality)
       2. วัตถุกาม (วัตถุอันน่าใคร่, สิ่งที่น่าปรารถนา, สิ่งที่อยากได้, กามคุณ -objective sensuality)

Ndi2 ขุ. มหา. 29/2/1

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[7] ฌาน 2 (การเพ่ง, การเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ - meditation; scrutiny; examination)
       1. อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และ อรูปฌาน 4 - object-scrutinizing Jhana)
       2. ลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล - characteristic-examining Jhana)

       วิปัสสนา ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะพินิจสังขารโดยไตรลักษณ์
       มรรค ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะยังกิจแห่งวิปัสสนานั้นให้สำเร็จ
       ผล ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเพ่งนิพพานอันมีลักษณะเป็นสุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ อย่างหนึ่ง และเพราะเห็นลักษณะอันเป็นสัจจภาวะของนิพพาน อย่างหนึ่ง
       ฌานที่แบ่งเป็น 2 อย่างนี้ มีมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา.

       ดู [8] [9] [10] ฌาน ต่างๆ และ [47] สมาธิ 3

AA. II. 41;
PsA.281;
DhsA. 167.
องฺ.อ. 1/536;
ปฏิสํ.อ. 221;
สงฺคณี.อ. 273

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[13] ทิฏฐิ 2 (ความเห็น, ความเห็นผิด - view; false view)
       1. สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง, ความเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป - eternalism)
       2. อุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ, ความเห็นว่าอัตตาและโลกซึ่งจักพินาศขาดสูญหมดสิ้นไป - annihilationism)

S.III.97. สํ.ข. 17/179-180/120.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[14] ทิฏฐิ 3 (ความเห็น, ความเห็นผิด - view; false view)
       1. อกิริยทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล - view of the inefficacy of action)
       2. อเหตุกทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มีเหตุ, เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุปัจจัย - view of non-causality)
       3. นัตถิกทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มี, เห็นว่าไม่มีการกระทำหรือสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักได้ - nihilistic view; nihilism)

M.I.404. ม.ม. 13/105/111.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[15] ที่สุด หรือ อันตา 2 (ข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ผิดพลาดไปจากทางอันถูกต้อง คือมัชฌิมาปฏิปทา - the two extremes)
       1. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข - the extreme of sensual indulgence; extreme hedonism)
       2. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง, การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน - the extreme of self-mortification; extreme asceticism)

Vin.I.10;
S.V. 420
วินย. 4/13/18;
สํ.ม. 19/1664/528.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[18] เทศนา 2 (การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า, การชี้แจงแสดงความ - preaching: exposition; teaching)
       1. สมมติเทศนา (เทศนาโดยสมมติ, แสดงตามความหมายที่รู้ร่วมกัน หรือตกลงยอมรับกันของชาวโลก เช่นว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น - conventional teaching)
       2. ปรมัตถเทศนา (เทศนาโดยปรมัตถ์, แสดงตามความหมายของสภาวธรรมแท้ๆ เช่นว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น - absolute teaching)

       ผู้ฟังจะเข้าใจความ สำเร็จประโยชน์ด้วยเทศนาอย่างใด ก็ทรงแสดงอย่างนั้น
       ใน ที.อ. 1/436; สํ.อ. 2/98 และ ปญฺจ.อ. 182 เป็นต้น กล่าวถึง กถา 2 คือ สมมติกถา และ ปรมัตถกถา พึงทราบความหมายตามแนวความอย่างเดียวกันนี้

       ดู [50] สัจจะ 2

AA.I.94; etc องฺ.อ. 1/99, ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[28] บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

Pug.A.171;
COMP.198
ปญฺจ.อ. 32;
สงฺคห. 49;
สงฺคห.ฏีกา 253

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[30] บูชา 2 (worship; acts of worship; honoring)
       1. อามิสบูชา (บูชาด้วยสิ่งของ - worship or honoring with material thing; material worship)
       2. ปฏิบัติบูชา (บูชาด้วยการปฏิบัติ - worship or honoring with practice; practical worship)

       ในบาลีที่มา ปฏิบัติบูชา เป็น ธรรมบูชา

A.I.93;
D.I.138.
องฺ.ทุก. 20/401/117;
นัย ที.ม. 10/129/160.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[35] ปาพจน์ 2 (วจนะอันเป็นประธาน, พุทธพจน์หลัก, คำสอนหลักใหญ่ : fundamental text; fundamental teaching)
       1. ธรรม (คำสอนแสดงหลักความจริงที่ควรรู้ และแนะนำหลักความดีที่ควรประพฤติ : the Doctrine)
       2. วินัย (ข้อบัญญัติที่วางไว้เป็นหลักกำกับความประพฤติให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอกัน : the Discipline)

       ดู [75] ไตรปิฎก ด้วย.

D.II.154. ที.ม. 10/141/178

[**] พุทธคุณ 2 ดู [304] พุทธคุณ 2
[**] พุทธคุณ 3 ดู [305] พุทธคุณ 3
[**] ไพบูลย์ 2 ดู [44] เวปุลละ 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[37] ภาวนา 4 (การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา : cultivation; training; development)
       1. กายภาวนา (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)
       2. สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)
       3. จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)
       4. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

       ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา 4 นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์

A.III.106 องฺ.ปญฺจก. 22/79/121

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[38] รูป 2, 28 (สภาวะที่แปรปรวนแตกสลายเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุพร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน, ส่วนที่เป็นร่างกับทั้งคุณและอาการ : corporeality; materiality; matter)
       1. มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (สภาวะอันปรากฏได้เป็นใหญ่ๆ โตๆ หรือเป็นต่างๆ ได้มากมาย, รูปที่มีอยู่โดยสภาวะ, รูปต้นเดิม ได้แก่ ธาตุ 4 : primary elements)
       2. อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (รูปอาศัย, รูปที่เป็นไปโดยอาศัยมหาภูต, คุณและอาการแห่งมหาภูต : derivative materiality)

M.II.262;
Ps.I.183
ม.อุ. 14/83/75;
ขุ.ปฏิ. 31/403/275.

       รูป 28 ก็คือรูป 2 หมวดข้างต้นนี้เอง แต่นับข้อย่อย กล่าวคือ
       1. มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (รูปใหญ่, รูปเดิม : primary elements; great essentials) ดู [39]
       2. อุปาทายรูป 24 (รูปอาศัย, รูปสืบเนื่อง : derived material qualities) ดู [40]

Comp.157. สงฺคห. 33.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[42] ฤทธิ์ 2 (อิทธิ คือความสำเร็จ ความรุ่งเรือง : achievement; success; prosperity)
       1. อามิสฤทธิ์ (อามิสเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางวัตถุ : achievement of carnality; material or carnal prosperity)
       2. ธรรมฤทธิ์ (ธรรมเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางธรรม : achievement of righteousness; doctrinal or spiritual prosperity)

A.I.93. องฺ.ทุก. 20/403/117.

[**] โลกบาลธรรม 2 ดู [23] ธรรมคุ้มครองโลก 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[47] สมาธิ 3 (ความตั้งมั่นแห่งจิต หมายถึงสมาธิในวิปัสสนา หรือตัววิปัสสนานั่นเอง แยกประเภทตามลักษณะการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ ข้อที่ให้สำเร็จความหลุดพ้น — concentration)
       1. สุญญตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ — concentration on the void)
       2. อนิมิตตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ — concentration on the signless)
       3. อัปปณิหิตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ : concentration on the desireless or non-hankering)

       ดู [107] วิโมกข์ 3

D.III.219;
A.I.299;
Ps.I.49.
ที.ปา. 11/228/231;
องฺ.ติก. 20/599/385;
ขุ.ปฏิ. 31/92/70.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[50] สัจจะ 2 (ความจริง : truth)
       1. สมมติสัจจะ (ความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ถือตามความกำหนดตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น : conventional truth)
       2. ปรมัตถสัจจะ (ความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น : absolute truth)

AA.I.95;
KvuA.34
องฺ.อ. 1/100;
ปญฺจ.อ. 153,182,241; ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[51] สาสน์ หรือ ศาสนา 2 (คำสอน : teaching; dispensation)
       1. ปริยัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปริยัติ, คำสอนอันจะต้องเล่าเรียนหรือจะต้องช่ำชอง ได้แก่ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ — teaching to be studied or mastered; textual or scriptural teaching; dispensation as text) = [302] นวังคสัตถุสาสน์
       2. ปฏิบัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปฏิบัติ, คำสอนที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ สัมมาปฏิปทา อนุโลมปฏิปทา อปัจจนีกปฏิปทา (ปฏิปทาที่ไม่ขัดขวาง) อันวัตถปฏิปทา (ปฏิปทาที่เป็นไปตามความมุ่งหมาย) ธัมมานุธัมมปฏิปทา (ปฏิบัติธรรมอันถูกหลัก) กล่าวคือ การบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์, [128] ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค สติสัมปชัญญะ, [182] สติปัฏฐาน 4, [156] สัมมัปปธาน 4, [213] อิทธิบาท 4, [258] อินทรีย์ 5, [228] พละ 5, [281] โพชฌงค์ 7, [293] มรรคมีองค์ 8, — teaching to be practised; practical teaching; dispensation as practice) ที่เป็นสำคัญในหมวดนี้ ก็คือ [352] โพธิปักขิยธรรม 37.

Nd1 143. ขุ.ม. 29/232/175.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[53] สุข 2 (ความสุข — pleasure; happiness)
       1. สามิสสุข (สุขอิงอามิส, สุขอาศัยเหยื่อล่อ, สุขจากวัตถุคือกามคุณ — carnal or sensual happiness)
       2. นิรามิสสุข (สุขไม่อิงอามิส, สุขไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ, สุขปลอดโปร่งเพราะใจสงบ หรือได้รู้แจ้งตามเป็นจริง — happiness independent of material things or sensual desires; spiritual happiness)

A.I.80. องฺ.ทุก. 20/313/101.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัต&detail=on&nextseek=54
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%B5&detail=on&nextseek=54


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]