ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ุด ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
เอกกะ - หมวด 1
Groups of One
(including related groups)
[1] กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (external factor; environmental factor)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
       “อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

S.V.2-30;
A.I.14-18;
It.10.
สํ.ม. 19/5/2, 129/36;
องฺ.เอก. 20/72/16, 128/25;
ขุ.อิติ. 25/195/237

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[3] อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย การทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป - earnestness; diligence; heedfulness) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน (internal factor; personal factor) และเป็น ฝ่ายสมาธิ (a factor belonging to the category of concentration)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอารยอัษฎางคิกมรรคที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”
       “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด, รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
       “ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยอาศัยธรรมเอกข้อนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย”
       “ธรรมเอกอันจะทำให้ยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์สามัญของชีวิต เช่น ทรัพย์ ยศ กามสุข เป็นต้น) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจหรือคุณธรรม) ก็คือความไม่ประมาท”
       “สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
       “ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

D.II.156;
S.I.86-89;
S.V.30-45;
A.I.11-17;
A.III.365;
A.V.21
ที.ม. 10/143/180;
สํ.ส. 15/378-384/125-129;
สํ.ม. 19/135/37, 262/66;
องฺ.เอก. 20/60/13, 116/23;
อํ.ฉกฺก. 22/324/407;
องฺ.ทสก. 24/15/23

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[12] ทาน 2 (การให้ - gift; giving; alms-giving; offering; charity; liberality; generosity; benevolence; donation; benefaction)
       1. ปาฏิบุคลิกทาน (การให้จำเพาะบุคคล, ทานที่ให้เจาะจงตัวบุคคลหรือให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง - offering to a particular person; a gift designated to a particular person)
       2. สังฆทาน (การให้แก่สงฆ์, ทานที่ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือให้แก่บุคคล เช่น พระภิกษุหรือภิกษุณีอย่างเป็นกลางๆ ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ โดยอุทิศต่อสงฆ์ ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง - offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole)

       ในบาลีเดิม เรียก ปาฏิบุคลิกทาน ว่า “ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณา” (ขอถวายหรือของให้ที่จำเพาะบุคคล) และเรียกสังฆทาน ว่า “สงฺฆคตา ทกฺขิณา” (ขอถวายหรือของให้ที่ถึงในสงฆ์)
       ในทาน 2 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นเลิศ มีผลมากที่สุด ดังพุทธพจน์ว่า “เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ” และได้ตรัสชักชวนให้ให้สังฆทาน

M.III. 254-6;
A.III. 392
ม.อุ. 14/710-713/459-461;
อ้างใน มงฺคล. 2/16;
องฺ.ฉกฺก. 22/330/439

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[15] ที่สุด หรือ อันตา 2 (ข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ผิดพลาดไปจากทางอันถูกต้อง คือมัชฌิมาปฏิปทา - the two extremes)
       1. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข - the extreme of sensual indulgence; extreme hedonism)
       2. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง, การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน - the extreme of self-mortification; extreme asceticism)

Vin.I.10;
S.V. 420
วินย. 4/13/18;
สํ.ม. 19/1664/528.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[27] นิพพาน 2 (สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์ - Nirvana; Nibbana)
       1. สอุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานยังมีอุปาทิเหลือ - Nibbana with the substratum of life remaining)
       2. อนุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ - Nibbana without any substratum of life remaining)

       หมายเหตุ: ตามคำอธิบายนัยหนึ่งว่า
       1. = ดับกิเลส ยังมีเบญจขันธ์เหลือ ( = กิเลสปรินิพพาน - extinction of the defilements)
       2. = ดับกิเลส ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ( = ขันธปรินิพพาน - extinction of the Aggregates)
หรือ
       1. = นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจทางอินทรีย์ 5 รับรู้สุขทุกข์อยู่
       2. = นิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว

It.38. ขุ.อิติ. 25/222/258.

       อีกนัยหนึ่งกล่าวถึงบุคคลว่า
       1. สอุปาทิเสสบุคคล = พระเสขะ
       2. อนุปาทิเสสบุคคล = พระอเสขะ

A.IV.379. องฺ.นวก. 23/216/394.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[37] ภาวนา 4 (การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา : cultivation; training; development)
       1. กายภาวนา (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)
       2. สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)
       3. จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)
       4. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

       ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา 4 นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์

A.III.106 องฺ.ปญฺจก. 22/79/121

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (the Four Primary Elements; primary matter)
       1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน : element of extension; solid element; earth)
       2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ : element of cohesion; fluid element; water)
       3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ : element of heat or radiation; heating element; fire)
       4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม : element of vibration or motion; air element; wind)

       สี่อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธาตุ 4

D.I.214;
Vism. 443;
Comp. 154.
ที.สี. 9/343/277;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 33

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[43] วิมุตติ 2 (ความหลุดพ้น : deliverance; liberation; freedom)
       1. เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ : deliverance of mind; liberation by concentration)
       2. ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง : deliverance through insight; liberation through wisdom)

A.I.60 องฺ.ทุก. 20/276/78

[**] เวทนา 2 ดู [110] เวทนา 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[47] สมาธิ 3 (ความตั้งมั่นแห่งจิต หมายถึงสมาธิในวิปัสสนา หรือตัววิปัสสนานั่นเอง แยกประเภทตามลักษณะการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ ข้อที่ให้สำเร็จความหลุดพ้น — concentration)
       1. สุญญตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ — concentration on the void)
       2. อนิมิตตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ — concentration on the signless)
       3. อัปปณิหิตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ : concentration on the desireless or non-hankering)

       ดู [107] วิโมกข์ 3

D.III.219;
A.I.299;
Ps.I.49.
ที.ปา. 11/228/231;
องฺ.ติก. 20/599/385;
ขุ.ปฏิ. 31/92/70.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[50] สัจจะ 2 (ความจริง : truth)
       1. สมมติสัจจะ (ความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ถือตามความกำหนดตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น : conventional truth)
       2. ปรมัตถสัจจะ (ความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น : absolute truth)

AA.I.95;
KvuA.34
องฺ.อ. 1/100;
ปญฺจ.อ. 153,182,241; ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[63] อริยบุคคล 7 (บุคคลผู้ประเสริฐ — noble individuals) เรียงจากสูงลงมา
       1. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และสิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมบัติมาก่อนที่จะได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       2. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือ ท่านที่มิได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย แต่สิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้ปัญญาวิมุตติก็สำเร็จเลยทีเดียว — one liberated by understanding)
       3. กายสักขี (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือ ผู้ประจักษ์กับตัว คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — the body-witness)
       4. ทิฏฐิปปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one attained to right view)
       5. สัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านทีเข้าในอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one liberated by faith)
       6. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ — the truth-devotee)
       7. สัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต — the faith devotee)

       กล่าวโดยสรุป
       บุคคลที่ 1 และ 2 (อุภโตภาควิมุต และปัญญาวิมุต) ได้แก่พระอรหันต์ 2 ประเภท
       บุคคลที่ 3, 4 และ 5 (กายสักขี ทิฏฐิปปัตตะ และสัทธาวิมุต) ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค จำแนกเป็น 3 พวกตามอินทรีย์ที่แก่กล้า เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ สมาธินทรีย์ หรือปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์
       บุคคลที่ 6 และ 7 (ธัมมานุสารีและสัทธานุสารี) ได้แก่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จำแนกตามอินทรีย์ที่เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ ปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์

       อย่างไรก็ตาม ข้อความที่อธิบายมาเกี่ยวกับบุคคลประเภทที่ 3-4-5 บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นการแสดงโดยนิปปริยาย คือ แสดงความหมายโดยตรงจำเพาะลงไป แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ท่านแสดงความหมายโดยปริยาย เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีสัทธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น สัทธาวิมุต ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ปฏิบัติโดยมีสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น กายสักขี ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรค ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีปัญญินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น ทิฏฐิปปัตตะ ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; โดยนัยนี้ จึงมีคำเรียกพระอรหันต์ว่า สัทธาวิมุต หรือกายสักขี หรือทิฏฐิปปัตตะได้ด้วย แต่ถ้าถือศัพท์เคร่งครัด ก็มีแต่ อุภโตภาควิมุต กับปัญญาวิมุต เท่านั้น
       ในฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์คือปรมัตถมัญชุสา มีคำอธิบายว่า ผู้ไม่ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นสัทธาวิมุต หรือ ทิฏฐิปปัตตะ จนได้สำเร็จอรหัตตผล จึงเป็น ปัญญาวิมุต; ผู้ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือ ธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นกายสักขี เมื่อสำเร็จอรหัตตผล เป็น อุภโตภาควิมุต
       นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า บุคคลประเภทกายสักขีนี่เองที่ได้ชื่อว่า สมยานิก; ส่วนคำว่า ปัญญาวิมุต บางแห่งมีคำจำกัดความแปลกออกไปจากนี้ว่า ได้แก่ผู้ที่บรรลุอรหัต โดยไม่ได้โลกียอภิญญา 5 และอรูปฌาน 4 (สํ.นิ. 16/283-289/147-150; S.II.121.)
       อริยบุคคล 7 นี้ ในพระสุตตันตปิฎก นิยมเรียกว่า ทักขิไณยบุคคล 7.

D.III. 105,254;
A.I.118;
Ps.II.52;
Pug.10.73;
Vism.659.
ที.ปา. 11/80/115; 336/266;
องฺ.ติก. 20/460/148;
ขุ.ปฏิ. 31/493-495/380-383;
อภิ.ปุ. 36/13/139;
วิสุทธิ. 3/302;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/562-568.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[65] อุปัญญาตธรรม 2 (ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติเห็นคุณประจักษ์กับพระองค์เอง คือ พระองค์ได้ทรงอาศัยธรรม 2 อย่างนี้ดำเนินอริยมรรคจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ สัมมาสัมโพธิญาณ — two virtues realized or ascertained by the Buddha himself)
       1. อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ (ความไม่สันโดษในกุศลธรรม, ความไม่รู้อิ่มไม่รู้พอในการสร้างความดีและสิ่งที่ดี — discontent in moral states; discontent with good achievements)
       2. อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ (ความไม่ระย่อในการพากเพียร, การเพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ยอมถอยหลัง — perseverance in exertion; unfaltering effort)

D.III.214;
A.I.50,95;
Dhs.8,234.
ที.ปา. 11/227/227;
องฺ.ทุก. 20/251/64; 422/119;
อภิ.สํ. 34/15/8; 875/339

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[75] ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด — the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยมี 45 เล่ม
       1. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ — the Basket of Discipline) แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 8 เล่มคือ
           ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhanga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ
               1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offenses) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม
               2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offenses) จัดเป็น 2 เล่ม
           วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ
               1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น 2 เล่ม
               2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น 1 เล่ม
           ข. ขันธกะ (khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่าขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ ปันเป็น 2 วรรค คือ
               3. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่ — Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
               4. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก — Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
           ค. 5. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ; คู่มือ — Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม

       2. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมและเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส — the Basket of Discourses) แบ่งเป็น 5 นิกาย (แปลว่าประมวล หรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ
           1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว — Collection of long Discourses จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร
           2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง — collection of Middle-length Discourses จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร
           3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน — collection of Connected Discourses จัดเป็น 56 สังยุต แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7762 สูตร
           4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม — Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึง หมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9557 สูตร
           5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด — Smaller Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้นมีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 ล) ชาดก (2 ล.) นิทเทส (มหานิทเทส 1 ล., จูฬนิทเทส 1 ล.) ปฏิสัมภิทามรรค (1 ล.) อปทาน (1 2/3 ล.) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 ล.)

       3. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล — the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ
           1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ — Enumeration of the Dhammas (1 ล.)
           2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด — Analysis of the Dhammas (1 ล.)
           3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ — Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)
           4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ — Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)
           5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา — Subjects of Discussion (1 ล.)
           6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ — Book of Pairs (2 ล.)
           7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร — Book of Relation (6 ล.)

       อนึ่ง 3 ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าในปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย

Vin. V.86. วินย. 8/826/224.

[**] ไตรรัตน์ ดู [100] รัตนตรัย.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[83] เทวทูต 3 (ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิตอันมีความตายเป็นที่สุด เพื่อจะได้เกิดความสังเวชและเร่งขวนขวายทำความดี ด้วยความไม่ประมาท — divine messengers; messengers of death)
       1. ชิณณะ (คนแก่ — old men)
       2. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ, ผู้ป่วย — sick men)
       3. มตะ (คนตาย — dead men)

A.I.138. องฺ.ติก. 20/475/175.

[**] เทวทูต 4 ดู [150] นิมิต 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[91] ปปัญจะ, ปปัญจธรรม 3 (กิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา — diversification; diffuseness; mental diffusion)
       1. ตัณหา (ความทะยานอยาก, ความปรารถนาที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตน, ความอยากได้อยากเอา — craving; selfish desire)
       2. ทิฏฐิ (ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่างๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงายหรือโดยอาการเชิดชูว่าอย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น เป็นต้น ทำให้ปิดตัวแคบ ไม่ยอมรับฟังใคร ตัดโอกาสที่จะเจริญปัญญา หรือคิดเตลิดไปข้างเดียว ตลอดจนเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่นที่ไม่ถืออย่างตน, ความยึดติดในทฤษฎี ฯลฯ ถือความคิดเห็นเป็นความจริง — view; dogma; speculation)
       3. มานะ (ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น, ความอยากเด่นอยากยกชูตนให้ยิ่งใหญ่ — conceit)

       ในคัมภีร์วิภังค์ เรียกปปัญจะ 3 นี้เป็น ฉันทะ (คือตัณหา) มานะ ทิฏฐิ

Ndi 280;
Vbh.393;
Nett. 37-38
ขุ.ม. 29/505/337;
อภิ.วิ. 35/1034/530;
เนตฺติ. 56-57

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[99] ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
       1. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
       3. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage) ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หักอนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุววัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และกายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)

       ดู [87] นิมิต 3

Comp.203. สงฺคห. 51.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[100] รัตนตรัย (รัตนะ 3, แก้วอันประเสริฐ หรือสิ่งล้ำค่า 3 ประการ, หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน 3 อย่าง — the Triple Gem; Three Jewels)
       1. พระพุทธเจ้า (พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม — the Buddha; the Enlightened One)
       2. พระธรรม (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความจริงและหลักความประพฤติ — the Dhamma; Dharma; the Doctrine)
       3. พระสงฆ์ (หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า — the Sangha; the Order)

Kh.1. ขุ.ขุ. 25/1/1.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[107] วิโมกข์ 3 (ความหลุดพ้น, ประเภทของความหลุดพ้น จัดตามลักษณะการเห็นไตรลักษณ์ ข้อที่ให้ถึงความหลุดพ้น — liberation; aspects of liberation)
       1. สุญญตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยเห็นความว่างหมดความยึดมั่น ได้แก่ ความหลุดพ้น ที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนัตตา คือ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตา แล้วถอนความยึดมั่นเสียได้ — liberation through voidness; void liberation) = อาศัยอนัตตานุปัสสนา ถอนอัตตาภินิเวส.
       2. อนิมิตตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิต ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตา แล้วถอนนิมิตเสียได้ — liberation through signlessness; signless liberation) = อาศัยอนิจจานุปัสสนา ถอนวิปัลลาสนิมิต.
       3. อัปปณิหิตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นทุกข์ คือ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกขตาแล้วถอนความปรารถนาเสียได้ — liberation through dispostionlessness; desireless liberation) = อาศัยทุกขานุปัสสนา ถอนตัณหาปณิธิ.

       ดู [47] สมาธิ 3.

Ps.II.35.
Vism.657;
Comp.211
ขุ.ปฏิ. 31/469/353;
วิสุทธิ. 3/299;
สงฺคห. 55.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ุด&detail=on&nextseek=121
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D8%B4&detail=on&nextseek=121


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]