ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ุท ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยหมดสงสัยในนามรูป คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ว่า เพราะอะไรเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กายมุทุตา ความอ่อนโยนแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้นุ่มนวลอ่อนละมุน
       (ข้อ ๑๒ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กาฬุทายี อำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ
       เป็นสหชาติและเป็นพระสหายสนิทของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
       พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์
       กาฬุทายีไปเฝ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์
       ท่านได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชัน น้ำตาไหล
       (ข้อ ๑ ในปีติ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
จักษุทิพย์ ตาทิพย์ คือดูอะไรเห็นได้หมด ดู ทิพพจักขุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
จิตตมุทุตา ความอ่อนแห่งจิต, ธรรมชาติทำจิตให้นมนวลอ่อนละมุน
       (ข้อ ๑๓ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือได้ฝึกอบรมจิตจนเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา
       (ข้อ ๒ ในวิสุทธิ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
จูฬสุทธันตปริวาส สุทธันตปริวาสอย่างเล็ก
       หมายความว่า ปริวาสที่ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายคราวด้วยกัน จำจำนวนอาบัติและวันที่ปิดได้บ้าง อยู่ปริวาสไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
ชาติสุททะ พวกสุททะ, คนพวกวรรณะศูทร เป็นคนชั้นต่ำในชมพูทวีป;
       ดู ศูทร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
ญาณจริต คนที่มีพื้นนิสัยหนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วย แนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ
       (เป็นอีกชื่อหนึ่งของพุทธิจริต)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค ๔;
       ดู วิสุทธิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น
       คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้
       (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
ทิศานุทิศ ทิศน้อยทิศใหญ่, ทิศทั่วๆ ไป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึง ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
       เรียกสั้นๆ ว่า สมุทัย (ข้อ ๒ ในอริยสัจจ์ ๔)
       เรียกเต็มว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
ทูต ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนทางราชการแผ่นดิน, ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปเจรจาแทน

ทูตานุทูต ทูตน้อยใหญ่, พวกทูต

ทูตานุทูตนิกร หมู่พวกทูต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
เทสนาปริสุทธิ ความหมดจดแห่งการแสดงธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
นิปปริยายสุทธิ ความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ไม่มีการละและการบำเพ็ญอีก
       ได้แก่ ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์;
       ตรงข้ามกับ ปริยายสุทธิ;
       ดู สุทธิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
บรมพุทโธบาย อุบาย คือ วิธีของพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม จากศัพท์ว่า
       บรม (ปรม) + พุทธ (พุทฺธ) + อุบาย (อุปาย)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
บริสุทธ์, บริสุทธิ์ สะอาด, หมดจด, ปราศจากมลทิน, ผุดผ่อง;
       ครบถ้วน, ถูกต้องตามระเบียบอย่างบริบูรณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
บาลีพุทธอุทาน คำอุทานที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งเป็นบาลี เช่นที่ว่า
       ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
       อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
       อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
           ฯ เป ฯ
(“ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งพิจารณา ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป ...”)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ
       ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙
       (ข้อ ๖ ในวิสุทธิ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
ปริยายสุทธิ ความบริสุทธิ์โดยปริยาย
       คือ จัดเป็นความบริสุทธิ์ได้บางแง่บางด้าน ยังไม่บริสุทธิ์สิ้นเชิง ยังมีการละ และการบำเพ็ญอยู่;
       ตรงข้ามกับ นิปปริยายสุทธิ;
       ดู สุทธิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
ปัจจุทธรณ์ ถอนคืน คือถอนคืนผ้าที่อธิษฐานไว้ เช่น
       อธิษฐานสบง คือ ตั้งใจกำหนดไว้ให้เป็นสบงครอง ภายหลังไม่อยากให้เป็นสบงครอง ก็ถอนคืนสบงนั้น เรียกว่า ปัจจุทธรณ์สบง,
       ตัวอย่าง ปัจจุทธรณ์สบงว่า “อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทฺธรามิ”
       (เปลี่ยน อนฺตรวาสกํ เป็น สงฺฆาฏึ เป็น อุตฺตราสงฺคํ เป็นต้น สุดแต่ว่าจะถอนอะไร)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
ปัจเจกพุทธะ พระพุทธเจ้าประเภทหนึ่งซึ่งตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น;
       ดู พุทธะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
ปาจิตติยุทเทส หมวดแห่งปาจิตติยสิกขาบท ที่ยกขึ้นแสดง คือ ที่สวดในปาฏิโมกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
ปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์ของภิกษุ;
       เป็นธรรมเนียมว่า ถ้ามีภิกษุอาพาธอยู่ในสีมาเดียวกัน เมื่อถึงวันอุโบสถไม่สามารถไปร่วมประชุมได้ ภิกษุผู้อาพาธต้องมอบปาริสุทธิแก่ภิกษุรูปหนึ่งมาแจ้งแก่สงฆ์ คือให้นำความมาแจ้งแก่สงฆ์ว่า ตนมีความบริสุทธิ์ทางพระวินัย ไม่มีอาบัติติดค้าง
       หรือในวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่เพียงสองหรือสามรูป (คือเป็นเพียงคณะ) ไม่ครบองค์สงฆ์ที่จะสวดปาฏิโมกข์ได้ ก็ให้ภิกษุสองหรือสามรูปนั้นบอกความบริสุทธิ์แก่กันแทนการสวดปาฏิโมกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
ปาริสุทธิศีล ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์, ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีลมี ๔ อย่าง คือ
       ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์
       ๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
       ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
       ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
ปาริสุทธิอุโบสถ อุโบสถที่ภิกษุทำปาริสุทธิ
       คือแจ้งแต่ความบริสุทธิ์ของกันและกัน ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์
       ปาริสุทธิอุโบสถนี้ กระทำเมื่อมีภิกษุอยู่ในวัดเพียงเป็นคณะ คือ ๒-๓ รูป ไม่ครบองค์สงฆ์ ๔ รูป
       ถ้ามีภิกษุ ๓ รูปพึงประชุมกันในโรงอุโบสถแล้ว รูปหนึ่งตั้งญัตติดังนี้ :
           “สุณนฺตุ เม ภนฺเต อายสฺมนฺตา, อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, มยํ อญฺญมญฺญํ ปาริสุทฺธิอุโปสถํ กเรยฺยาม”
       แปลว่า:
           “ท่านทั้งหลาย อุโบสถวันนี้ที่ ๑๕ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงทำปาริสุทธิอุโบสถด้วยกัน”
       (ถ้ารูปที่ตั้งญัตติแก่กว่าเพื่อนว่า อาวุโส แทน ภนฺเต, ถ้าเป็นวัน ๑๔ ค่ำ ว่า จาตุทฺทโส แทน ปณฺณรโส)
       ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าเฉวียงบ่านั่งกระหย่งประนมมือ บอกปาริสุทธิว่า :
           “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธ มํ ธาเรถ” (๓ หน)
       แปลว่า:
           “ฉันบริสุทธิ์แล้วเธอ ขอเธอทั้งหลายจงจำฉันว่าผู้บริสุทธิ์แล้ว”
       อีก ๒ รูปพึงทำอย่างเดียวกันนั้น ตามลำดับพรรษา
           คำบอกเปลี่ยนเฉพาะ อาวุโส เป็น ภนฺเต
           แปลว่า “ผมบริสุทธิ์แล้วขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่าผู้บริสุทธิ์แล้ว”
       ถ้ามี ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ พึงบอกปาริสุทธิแก่กัน
           ผู้แก่กว่า: “ปริสุทโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรหิ” (๓ หน)
           ผู้อ่อนว่า: “ปริสุทฺโธ อหํ ภนฺเต, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” (๓ หน)
       ดู อุโบสถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
พระพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม, ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ;
       พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุดและคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม;
       พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัปป์ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอารยเมตไตรย);
       พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑. พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔. พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโนมทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙. พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑. พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒. พระกกุสันธะ ๒๓. พระโกนาคมน์ ๒๔. พระกัสสปะ ๒๕. พระโคตมะ
       (เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก);
       ดู พุทธะ ด้วย
       ข้อควรทราบบางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ตามที่ตรัสไว้ในคัมภีร์พุทธวงส์ คือ
       พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม (โคตมพุทธ) เจริญในศากยสกุล พระนครอันเป็นถิ่นกำเนิดชื่อกบิลพัสดุ์ พระบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดามีพระนามว่า มายาเทวี ทรงครองฆราวาสอยู่ ๒๙ ปี มีปราสาท ๓ หลัง ชื่อ สุจันทะ โกกนุท และโกญจะ มเหสีพระนามว่ายโสธรา โอรสพระนามว่าราหุล ทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยม้าเป็นพระราชยาน บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี ประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
       พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระอุปติสสะ (พระสารีบุตร) และพระโกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ)
       พุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระอานนท์
       พระอัครสาวิกาทั้ง ๒ คือ พระเขมา และพระอุบลวรรณนา
       อุบาสก ๒ ผู้เป็นอัครอุปัฏฐากคือ จิตตคฤหบดี และหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
       อุบาสิกา ๒ ผู้อัครอุปัฏฐายิกาคือ นันทมารดา และอุตตราอุบาสิกา
       บรรลุสัมโพธิญาณที่ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ (คือต้นโพธิ์ได้แก่ไม้อัสสัตถะ)
       มีสาวกสันนิบาต (การประชุมสาวก) ครั้งใหญ่ ครั้งเดียว ภิกษุผู้เข้าร่วมประชุม ๑,๒๕๐ รูป
       คำสั่งสอนของพระองค์ผู้เป็นศากยมุนี เจริญแพร่หลายกว้างขวางงอกงามเป็นอย่างดี บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมาก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
พระสัมพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้เอง หมายถึงพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
พุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้แล้ว, ผู้รู้อริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้
       ตามอรรถกถาท่านแบ่งเป็น ๓ คือ
           ๑. พระพุทธเจ้า ท่านผู้ตรัสรู้เองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม (บางทีเรียกพระสัมมาสัมพุทธะ)
           ๒. พระปัจเจกพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้เองจำเพาะผู้เดียว
           ๓. อนุพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า (เรียกอีกอย่างว่า สาวกพุทธะ);
       บางแห่งจัดเป็น ๔ คือ
           ๑. สัพพัญญูพุทธะ
           ๒. ปัจเจกพุทธะ
           ๓. จตุสัจจพุทธะ (=พระอรหันต์) และ
           ๔. สุตพุทธะ (=ผู้เป็นพหูสูต)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
พุทธการกธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ตามปกติหมายถึง บารมี ๑๐ นั่นเอง
       (ในคาถาบางทีเรียกสั้นๆ ว่า พุทธธรรม)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
พุทธกาล ครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
พุทธกิจ กิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ, การงานที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
พุทธกิจประจำวัน ๕ พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวัน มี ๕ อย่าง คือ
       ๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ
               เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
       ๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
               เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
       ๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ
               เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
       ๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
               เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
       ๕. ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
               จวนสว่าง ทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่
       (สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว
               พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการนี้ให้หมดจด)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
พุทธกิจ ๔๕ พรรษา ในระหว่างเวลา ๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งท่านได้ประมวลไว้ พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอันควรสังเกต ดังนี้
       พรรษาที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี (โปรดพระเบญจวัคคีย์)
       พ.๒-๓-๔ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ (ระยะประดิษฐานพระศาสนา เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ได้อัครสาวก ฯลฯ เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวัน พรรษาที่ ๓ น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)
       พ.๕ กูฎาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี (โปรดพุทธบิดาปรินิพพานที่กรุงกบิลพัสดุ์ โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี มหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์)
       พ.๖ มกุลบรรพต (ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี)
       พ.๗ ดาวดึงสเทวโลก (แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา)
       พ.๘ เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมาคีรี แคว้นภัคคะ (พบนกุลบิดาและนกุลมารดา)
       พ.๙ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
       พ.๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
       พ.๑๑ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา
       พ.๑๒ เมืองเวรัญชา
       พ.๑๓ จาลิยบรรพต
       พ.๑๔ พระเชตวัน (พระราหุลอุปสมบทคราวนี้)
       พ.๑๕ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์
       พ.๑๖ เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์)
       พ.๑๗ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์
       พ.๑๘-๑๙ จาลิยบรรพต
       พ.๒๐ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ โปรดมหาโจรองคุลิมาล, พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ)
       พ.๒๑-๔๔ ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวันกับบุพพาราม พระนครสาวัตถี (รวมทั้งคราวก่อนนี้ด้วย อรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เชตวนาราม ๑๙ พรรษา ณ บุพพาราม ๖ พรรษา)
       พ.๔๕ เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
พุทธคารวตา ดู คารวะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
พุทธคุณ คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ คือ
           ๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์
           ๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ
           ๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
           ๔. สุคโต เสด็จไปดีแล้ว
           ๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
           ๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า
           ๗. สตฺถาเทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
           ๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว
           ๙. ภควา เป็นผู้มีโชค
       พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อ มี ๒ คือ
           ๑. พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา
           ๒. พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา
       หรือตามที่นิยมกล่าวกันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ
           ๑. พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา
           ๒. พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์
           ๓. พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
พุทธโฆษาจารย์ ดู วิสุทธิมรรค;
       พุทธโฆสาจารย์ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
พุทธจริยา พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า, การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้า มี ๓ คือ
       ๑. โลกัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก
       ๒. ญาตัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ
       ๓. พุทธัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
พุทธจักขุ จักษุของพระพุทธเจ้า
       ได้แก่ ญาณที่หยั่งรู้อัธยาศัย อุปนิสัยและอินทรีย์ที่ยิ่งหย่อนต่างๆ กันของเวไนยสัตว์
       (ข้อ ๔ ในจักขุ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
พุทธจักร วงการพระพุทธศาสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
พุทธจาริก การเสด็จจาริกคือเที่ยวไปประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
พุทธเจ้า ๕, ๗, ๒๕ ดู พระพุทธเจ้า และ พุทธะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
พุทธธรรม
       1. ธรรมของพระพุทธเจ้า, พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คัมภีร์มหานิทเทศระบุจำนวนไว้ว่ามี ๖ ประการ แต่ไม่ได้จำแนกข้อไว้ อรรถกถาโยงความให้ว่าได้แก่
           ๑. กายกรรมทุกอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามพระญาณ (จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจ)
           ๒. วจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๓. มโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต
           ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต
           ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน;
       คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย จำแนกพุทธธรรมว่ามี ๑๘ อย่าง คือ
           ๑. พระตถาคตไม่ทรงมีกายทุจริต
           ๒. ไม่ทรงมีวจีทุจริต
           ๓. ไม่ทรงมีมโนทุจริต
           ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต
           ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต
           ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน
           ๗. ทรงมีกายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๘. ทรงมีวจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๙. ทรงมีมโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๑๐. ไม่มีความเสื่อมฉันทะ (ฉันทะไม่ลดถอย)
           ๑๑. ไม่มีความเสื่อมวิริยะ (ความเพียรไม่ลดถอย)
           ๑๒. ไม่มีความเสื่อมสติ (สติไม่ลดถอย)
           ๑๓. ไม่มีการเล่น
           ๑๔. ไม่มีการพูดพลาด
           ๑๕. ไม่มีการทำพลาด
           ๑๖. ไม่มีความผลุนผลัน
           ๑๗. ไม่มีพระทัยที่ไม่ขวนขวาย
           ๑๘. ไม่มีอกุศลจิต
       2. ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่พุทธการกธรรม คือบารมี ๑๐
       3. ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ มรรคมีองค์ ๘ ขันธ์ ๕ ปัจจัย ๒๔ เป็นอาทิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
พุทธบริวาร บริวารของพระพุทธเจ้า, ผู้เป็นบริวารของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
พุทธบริษัท หมู่ชนที่นับถือพระพุทธศาสนามี ๔ จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
พุทธบัญญัติ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้, วินัยสำหรับพระ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
พุทธบาท รอยเท้าของพระพุทธเจ้า
       อรรถกถาว่า ทรงประทับแห่งแรกที่บนหาดทรายฝั่งแม่น้ำนันมทา แห่งที่สองที่ภูเขาสัจจพันธคีรี
       นอกจากนี้ ตำนานสมัยต่อๆ มาว่ามีที่ภูเขาสุมนกูฏ (ลังกาทวีป) สุวรรณบรรพต (สระบุรี ประเทศไทย) และเมืองโยนก
       รวมเป็น ๕ สถาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
พุทธปฏิมา รูปเปรียบของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
พุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้า;
       ลำดับกาลในพุทธประวัติตามที่ท่านแบ่งไว้ในอรรถกถา จัดได้เป็น ๓ ช่วงใหญ่ คือ
           ๑. ทูเรนิทาน เรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติในอดีต จนถึงอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต
           ๒. อวิทูเรนิทาน เรื่องราวตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงตรัสรู้
           ๓. สันติเกนิทาน เรื่องราวตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว จนเสด็จปรินิพพาน
       ในส่วนของสันติเกนิทานนั้นก็คือ โพธิกาล นั่นเอง ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น ๓ ช่วงได้แก่
           ๑. ปฐมโพธิกาล คือตั้งแต่ตรัสรู้ จนถึงได้พระอัครสาวก
           ๒. มัชฌิมโพธิกาล คือตั้งแต่ประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธ จนถึงปลงพระชนมายุสังขาร
           ๓. ปัจฉิมโพธิกาล คือตั้งแต่ปลงพระชนมายุสังขาร จนถึงปรินิพพาน
       ต่อมาภายหลัง พระเถระผู้เล่าพระพุทธประวัติใด้กล่าวถึงเรื่องราวในชมพูทวีป ก่อนถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเรียกเวลาช่วงนี้ว่า ปุริมกาล กับทั้งเล่าเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพาน เช่นการถวายพระเพลิงและสังคายนา และเรียกเวลาช่วงนี้ว่า อปรกาล;
       ในการแบ่งโพธิกาล ๓ ช่วงนี้ อรรถกถายังมีมติแตกต่างกันบ้าง เช่น พระอาจารย์ธรรมบาลแบ่ง ๓ ช่วงเท่ากัน ช่วงละ ๑๕ พรรษา แต่บางอรรถกถานับ ๒๐ พรรษาแรกของพุทธกิจเป็นปฐมโพธิกาล โดยไม่ระบุช่วงเวลา ๒ โพธิกาลที่เหลือ (ได้แก่ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงมีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ และยังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสงฆ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
พุทธปรินิพพาน การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า, การตายของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
พุทธพจน์ พระดำรัสของพระพุทธเจ้า, คำพูดของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
พุทธภาษิต ภาษิตของพระพุทธเจ้า, คำพูดของพระพุทธเจ้า, ถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าพูด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
พุทธมามกะ “ผู้ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา”, ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน, ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา;
       พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเรียบเรียงตั้งเป็นแบบไว้ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดจะส่งเจ้านายคณะหนึ่งออกไปศึกษาในทวีปยุโรป ทรงถือตามคำแสดงตนเป็นอุบาสกของเดิม แต่แก้บท อุบาสก ที่เฉพาะผู้ใหญ่ผู้ได้ศรัทธาเลื่อมใสด้วยตนเอง เป็น พุทธมามกะ และได้เกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะสืบต่อกันมา โดยจัดทำในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะ
           ๑. เมื่อบุตรหลานพ้นวัยทารก อายุ ๑๒-๑๕ ปี
           ๒. เมื่อจะส่งบุตรหลานไปอยู่ในถิ่นที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
           ๓. โรงเรียนประกอบพิธีให้นักเรียนที่เข้าศึกษาใหม่แต่ละปีเป็นหมู่
           ๔. เมื่อบุคคลผู้เคยนับถือศาสนาอื่นต้องการประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา;
       ท่านวางระเบียบพิธีไว้สรุปได้ดังนี้
       ก. มอบตัว (ถ้าเป็นเด็กให้ผู้ปกครองนำตัวหรือครูนำรายชื่อไป) โดยนำดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปถวายพระอาจารย์เป็นอย่างน้อย ๔ รูป
       ข. จัดสถานที่ ในอุโบสถ หรือวิหาร ศาลาการเปรียญ หรือ หอประชุมที่มีโต๊ะบูชามีพระพุทธรูปประธาน และจัดอาสนะสงฆ์ให้เหมาะสม
       ค. พิธีการ ให้ผู้แสดงตน จุดธูปเทียนเปล่งวาจาบูชาพระรัตนตรัยว่า
           “อิมินา สกฺกาเรน, พุทฺธํ ปูเชมิ”
           (แปลว่า) “ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
           “อิมินา สกฺกาเรน, ธมฺมํ ปูเชมิ”
           (แปลว่า) “ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
           “อิมินา สกฺกาเรน, สงฺฆํ ปูเชมิ”
           (แปลว่า) “ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
       จากนั้นเข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ ถวายพานเครื่องสักการะแก่พระอาจารย์ กราบ ๓ ครั้งแล้ว คงนั่งคุกเข่า กล่าวคำปฏิญาณว่า:
           “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (๓ หน)
           “ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น” (๓ หน)
           “เอสาหํ ภนฺเต, สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ, พุทฺธมามโกติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ”
           แปลว่า
           “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ
           ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า”
           (ถ้าเป็นหญิงคนเดียวเปลี่ยน พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ;
           ถ้าปฏิญญาณพร้อมกันหลายคน ชายเปลี่ยน เอสาหํ เป็น เอเต มยํ หญิงเป็น เอตา มยํ;
           และทั้งชายและหญิงเปลี่ยน คจฺฉามิ เป็น คจฺฉาม, พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ, มํ เป็น โน)
       จากนั้นฟังพระอาจารย์ให้โอวาท จบแล้วรับคำว่า “สาธุ”
       ครั้นแล้วกล่าวคำอาราธนาเบญจศีลและสมาทานศีลพร้อมทั้งคำแปล จบแล้วกราบ ๓ หน ถวายไทยธรรม (ถ้ามี) แล้วกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา รับพรเสร็จแล้ว คุกเข่ากราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
พุทธรูป รูปพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
พุทธฤทธานุภาพ ฤทธิ์และอานุภาพของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
พุทธเวไนย ผู้ที่พระพุทธเจ้าควรแนะนำสั่งสอน, ผู้ที่พระพุทธเจ้าพอแนะนำสั่งสอนได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
พุทธศักราช ปีนับแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
พุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า,
       อย่างกว้างในบัดนี้ หมายถึง ความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติ และกิจการทั้งหมดของหมู่ชนผู้กล่าวว่า ตนนับถือพระพุทธศาสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
พุทธศาสนิก ผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
พุทธศาสนิกมณฑล วงการของผู้นับถือพระพุทธศาสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
พุทธสรีระ ร่างกายของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
พุทธสาวก สาวกของพระพุทธเจ้า, ศิษย์ของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
พุทธอาณา อำนาจปกครองของพระพุทธเจ้า, อำนาจปกครองฝ่ายพุทธจักร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
พุทธอาสน์ ที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
พุทธอิทธานุภาพ ฤทธิ์และอานุภาพของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
พุทธอุปฐาก ผู้คอยรับใช้พระพุทธเจ้า
       ในครั้งพุทธกาล มีพระอานนท์พุทธอนุชาเป็นผู้เลิศในเรื่องนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
พุทธโอวาท คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีหลักใหญ่ ๓ ข้อ คือ
       ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง
       ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้เพียบพร้อม
       ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นพระโยชน์แก่สัตว์โลก โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่น
       ทรงแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์และบัญญัติวินัยขึ้นบริหารหมู่คณะ
       ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมาตราบเท่าทุกวันนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
พุทธาณัติ คำสั่งของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
พุทธาณัติพจน์ พระดำรัสสั่งของพระพุทธเจ้า, คำสั่งของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
พุทธาทิบัณฑิต บัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น (พุทธ + อาทิ + บัณฑิต)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
พุทธาธิบาย พระประสงค์ของพระพุทธเจ้า, พระดำรัสชี้แจงของพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
พุทธานุญาต ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
พุทธานุพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
พุทธานุสติ ตามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
       เขียนอย่างรูปเดิมในภาษาบาลีเป็น พุทธานุสสติ
       (ข้อ ๑ ในอนุสติ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
พุทธิจริต พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ
       (ข้อ ๕ ในจริต ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
พุทธุปบาทกาล กาลเป็นที่อุบัติของพระพุทธเจ้า, เวลาที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
พุทฺโธ ทรงเป็นผู้ตื่น ไม่หลงงมงายเองด้วย และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นพ้นจากความหลงงมงายนั้นด้วย ทรงเป็นผู้เบิกบาน มีพระทัยผ่องแผ้ว บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ุท
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D8%B7


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]