ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสิงคาลมาตาเถรี
(พระสิงคาลมาตาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๘๒] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๘๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลอำมาตย์ ที่รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ เป็นตระกูลมั่งคั่ง เจริญ มีทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี [๘๔] หม่อมฉันมีมหาชนห้อมล้อมไปกับบิดา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว บวชเป็นบรรพชิต [๘๕] ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย ละวจีทุจริต ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์ [๘๖] มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรม และมีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน

ขวนขวายในการฟังพระสัทธรรม มีการได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ [๘๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ฝ่ายสัทธาธิมุต จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นแล้วบำเพ็ญไตรสิกขา๑- ให้บริบูรณ์ [๘๘] ครั้งนั้น พระสุคตผู้มีพระอัธยาศัย ประกอบด้วยพระกรุณา ตรัสกับหม่อมฉันว่า ‘บุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวตั้งมั่นดีในพระตถาคต มีศีลดีงามที่พระอริยเจ้าใคร่และสรรเสริญ [๘๙] มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์’ [๙๐] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อมาระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ(ความเลื่อมใส) และความเห็นที่ชอบธรรม [๙๑] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ ได้ทูลถามถึงความปรารถนาของหม่อมฉัน ในครั้งนั้น พระสุคตผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นวิเศษ ทรงมีปัญญาไม่ต่ำต้อย มีพระคุณนับไม่ถ้วน ทรงพยากรณ์ว่า ‘เธอเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีธรรมอันงาม จักได้ตำแหน่งนั้นที่เธอปรารถนาไว้แล้ว [๙๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชตระกูลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก @เชิงอรรถ : @ ไตรสิกขา หมายถึงศีล สมาธิ และปัญญา (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๗๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน

[๙๓] สตรีผู้นี้จักมีนามว่าสิงคาลมาตา เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’ [๙๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา ปรนนิบัติพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำ ด้วยการปฏิบัติทั้งหลายจนตลอดชีวิต [๙๕] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๙๖] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี มีความเจริญรุ่งเรือง สั่งสมรัตนะไว้เป็นอันมาก ในกรุงราชคฤห์ ที่ประเสริฐสุด [๙๗] บุตรของหม่อมฉันชื่อสิงคาลมาณพ มีความเห็นผิด แล่นไปสู่มิจฉาทิฏฐิ มุ่งแต่การบูชาทิศ [๙๘] นอบน้อมทิศต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำวิเศษ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร ทอดพระเนตรเห็นเขาแล้ว ประทับยืนโอวาทที่หนทาง [๙๙] เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม บุตรของหม่อมฉัน ส่งเสียงร้อง น่าประหลาดใจ บุรุษสตรี ๒ โกฏิได้บรรลุธรรม [๑๐๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เข้าไปยังที่ประชุมนั้น ฟังภาษิตของพระสุคตแล้ว ได้บรรลุโสดาปัตติผล ออกบวชเป็นบรรพชิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน

[๑๐๑] ได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ เจริญพุทธานุสสติอยู่ไม่นาน ก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๑๐๒] หม่อมฉันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นประจำ เห็นพระรูปซึ่งเป็นที่เพลิดเพลินนัยนาก็ยังไม่เบื่อ [๑๐๓] หม่อมฉันไม่เบื่อพระรูปที่เกิดจากบารมีทั้งปวง เป็นที่อยู่อาศัยแห่งสิริที่ประเสริฐ พรั่งพร้อมด้วยความงามทุกอย่าง [๑๐๔] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งหม่อมฉันผู้เป็นมารดาของสิงคาลมาณพไว้ ในเอตทัคคะว่า ‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุต’ [๑๐๕] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ [๑๐๖] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี [๑๐๗] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่ ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ [๑๐๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๕. สุกกาเถริยาปทาน

[๑๐๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ทราบว่า ท่านพระภิกษุณีมารดาสิงคาลมาณพได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สิงคาลมาตาเถริยาปทานที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๓๐-๕๓๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=33&siri=185              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=33&A=6367&Z=6421                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=174              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=174&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=174&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap34/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :