ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
โคปาลกสูตร
[๒๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลาย องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลในโลกนี้ ย่อมไม่รู้จักรูป ๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ ๑ ไม่กำจัดไข่ขัง ๑ ไม่ปกปิดแผล ๑ ไม่สุมไฟ ๑ ไม่รู้ท่าน้ำ ๑ ไม่รู้ว่าโค ดื่มน้ำแล้วหรือยัง ๑ ไม่รู้ทาง ๑ ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑ รีดนมไม่ให้มีเหลือ ๑ ไม่บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโคเป็นผู้นำฝูงโคด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑ ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถจะ เลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลาย ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็เป็นผู้ไม่สามารถจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรม ๑๑ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้จักรูป ๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ ๑ ไม่กำจัดไข่ขัง ๑ ไม่ปกปิดแผล ๑ ไม่สุมไฟ ๑ ไม่รู้ท่าน้ำ ๑ ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๑ ไม่รู้ทาง ๑ ไม่ฉลาดในโคจร ๑ รีดนมไม่ให้มีเหลือ ๑ ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นรัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่รู้จักรูปอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า มหาภูตรูป ๔ และรูป อันอาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่รู้จักรูปอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่ฉลาดในลักษณะอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ บัณฑิตมีกรรม เป็นลักษณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่ฉลาดในลักษณะอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่กำจัดไข่ขังอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมให้กามวิตกที่บังเกิดขึ้นครอบงำ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่กระทำให้สิ้นสุด ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วถึงความไม่มี ย่อมให้ พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ ... ย่อมให้วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ ... ย่อมให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ กระทำให้สิ้นสุด ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ไม่ให้อกุศลธรรมที่เกิด ขึ้นแล้วถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่กำจัดไข่ขังอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่ปกปิดแผลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมถือเอาโดยนิมิต ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมไม่ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอัน- *ลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่าย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่า ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรส ด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ ถือเอาโดยนิมิต ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำ ชื่อว่าย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าย่อมไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ปกปิดแผลอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่สุมไฟอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เรียนมาแล้ว แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าไม่สุมไฟอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่รู้ท่าน้ำอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้ชำนาญนิกาย ผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามเวลาอันสมควร ย่อมไม่สอบถาม ย่อมไม่ไต่ถามว่า ท่านผู้เจริญ พระพุทธ- *พจน์นี้เป็นอย่างไร อรรถแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมไม่ เปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมไม่ทำให้ตื้นข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น และไม่ บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมากอย่าง แก่ภิกษุนั้น ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่รู้ท่าน้ำอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เมื่อธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลอื่นแสดงอยู่ ย่อมไม่ได้ ความรู้อรรถ ไม่ได้ความรู้ธรรม ไม่ได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้วอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่รู้ทางอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รู้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ตามความจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้ทางอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่ฉลาดในโคจรอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ฉลาด ในโคจรอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรีดนมไม่ให้เหลืออย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมไม่รู้ประมาณเพื่อการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ที่คฤหบดีผู้มีศรัทธาปวารณาเพื่อนำไปได้ตามพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรีดนมไม่ให้เหลืออย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่บูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ย่อมไม่เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรม ย่อมไม่เข้าไปตั้งเมตตามโนกรรม ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมไม่บูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้ เป็นผู้ไม่ สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลายได้ องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน คือ นายโคบาลในโลกนี้ ย่อมรู้จักรูป ๑ ฉลาดในลักษณะ ๑ กำจัดไข่ขัง ๑ ปกปิดแผล ๑ สุมไฟ ๑ รู้ท่าน้ำ ๑ รู้โคว่าดื่มน้ำแล้วหรือยัง ๑ รู้ทาง ๑ ฉลาดในที่หากิน ๑ รีดนมให้เหลือ ๑ บูชาโคผู้ที่เป็นพ่อโคเป็นผู้นำฝูงโค ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญแพร่หลายได้ ฉันใด ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรม ๑๑ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักรูป ๑ ฉลาดในลักษณะ ๑ กำจัดไข่ขัง ๑ ปกปิดแผล ๑ สุมไฟ ๑ รู้ท่าน้ำ ๑ รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๑ รู้ทาง ๑ ฉลาด ในโคจร ๑ รีดให้เหลือ ๑ บูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้จักรูปอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้รูป อย่างใดอย่างหนึ่งตามเป็นจริงว่า มหาภูตรูป ๔ และรูปอาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้จักรูปอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมฉลาดในลักษณะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ตามเป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉลาดในลักษณะอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมกำจัดไข่ขังอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ให้กามวิตกที่บังเกิดขึ้นครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้มีความ สิ้นสุด ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วถึงความไม่มี ย่อมไม่ให้พยาบาทวิตกที่บังเกิดขึ้นครอบงำ ... ย่อมไม่ให้วิหิงสาวิตกที่บังเกิดขึ้น ครอบงำ ... ย่อมไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้มีความสิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้วๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุกำจัดไข่ขังอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมปกปิดแผลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความ สำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือเอา โดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อ ไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่าย่อมรักษามนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมปกปิดแผล อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมสุมไฟอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ- *ในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงธรรมตามที่ตนฟังมาแล้ว ตามที่ตนเรียนมาแล้ว แก่คน เหล่าอื่นโดยพิสดาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมสุมไฟอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ท่าน้ำอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้ชำนาญนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา โดยกาลอันสมควร ย่อมสอบถามไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้ เป็นอย่างไร อรรถแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยสิ่ง ที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื้นสิ่งที่ยังไม่ทำให้ตื้น และย่อมบรรเทาซึ่งความสงสัย ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมากอย่าง แก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ท่าน้ำอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ธรรมที่ดื่มแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เมื่อธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงอยู่ ย่อมได้ความ รู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ธรรมที่ดื่มแล้วอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ทางอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ ซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ ทางอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมฉลาดในโคจรอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้สติปัฏฐาน ๔ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมฉลาดในโคจร อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรีดให้เหลืออย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ประมาณเพื่อการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่คฤหบดีผู้มีศรัทธาปวารณา เพื่อนำไปได้ตามพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรีดให้เหลืออย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมบูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าไปตั้งเมตตากายกรรม ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ย่อม เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ในภิกษุผู้เป็น พระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุย่อมบูชาภิกษุผู้เป็นพระเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ สามารถถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๘๔๕๒-๘๕๙๓ หน้าที่ ๓๖๗-๓๗๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=8452&Z=8593&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=24&siri=213              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=224              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [224] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=24&item=224&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8703              The Pali Tipitaka in Roman :- [224] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=24&item=224&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8703              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i218-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an11/an11.018.than.html https://suttacentral.net/an11.17/en/sujato https://suttacentral.net/an11.17/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :