ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๘-๒๙. ลักษณะพระชิวหาใหญ่ยาวและพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม

๒๘-๒๙. ลักษณะพระชิวหาใหญ่ยาวและพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม๑-
[๒๓๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็น คำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ได้ลักษณะ มหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระชิวหาใหญ่ยาว (๒) มีพระสุรเสียงดุจเสียง พรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี พระวาจาอันชนทั้งหลายยอมรับ ชนทั้งหลาย คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร ยอมรับพระดำรัสของพระองค์ เมื่อเป็นพระราชา จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อทรงเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็น พระพุทธเจ้าจะมีพระวาจาอันชนทั้งหลายยอมรับ ชนทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ยอมรับพระดำรัสของ พระองค์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความ นี้ไว้แล้ว [๒๓๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสคำหยาบรุนแรง คือ ที่ก่อให้เกิดการด่า การบาดหมาง และการเบียดเบียนกัน ที่ก่อให้เกิดความเจ็บแค้น ที่ทำลายชนจำนวนมาก ตรัสแต่คำอ่อนหวาน นุ่มนวล มีประโยชน์ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๗,๒๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์

มหาบุรุษนั้น ตรัสแต่คำเป็นที่ถูกใจ จับใจ เสนาะโสต จึงทรงได้รับผลอันเกิดจากความประพฤติดี เสวยผลบุญในสวรรค์ทั้งหลาย ครั้นเสวยผลอันเกิดจากความประพฤติดีแล้ว เสด็จมาในโลกนี้ ได้ความเป็นผู้มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม เป็นผู้มีพระชิวหาใหญ่ หนา เป็นผู้มีพระดำรัสอันชนทั้งหลายยอมรับ ผลนั้นย่อมสำเร็จแก่มหาบุรุษผู้ตรัสอยู่ แม้เมื่อทรงเป็นคฤหัสถ์ ฉันใด ถ้ามหาบุรุษนั้นทรงออกผนวช หมู่ชนจะเชื่อถือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ตรัสสุภาษิตหลากหลายแก่คนหมู่มาก ฉันนั้น”
๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์๑-
[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกกาล พูดแต่คำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ เหมาะแก่เวลา ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทว- โลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระหนุดุจคางราชสีห์ มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะไม่มีข้าศึกศัตรู ที่เป็นมนุษย์คนใดกำจัดพระองค์ได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่มีข้าศึกศัตรูภายในหรือ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์

ภายนอก คือ ราคะ โทสะ หรือโมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลกกำจัดพระองค์ได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระ ผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๓๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อ ไม่ตรัสคำปราศจากหลักฐาน มีครรลองแห่งพระดำรัสไม่สับสน ทรงกำจัดคำที่ไม่เป็นประโยชน์ ตรัสแต่คำที่เป็นประโยชน์ และคำที่เป็นสุขแก่คนหมู่มาก ครั้นทรงทำกรรมนั้นแล้วจุติจากมนุษยโลก เข้าสู่เทวโลก เสวยผลวิบากแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว จุติแล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก ได้ความเป็นผู้มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์สี่เท้า ถ้าเป็นพระราชาจะทรงเป็นจอมมนุษย์ เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ เป็นผู้มีอานุภาพมาก เป็นผู้ที่ใครกำจัดได้ยากยิ่ง เป็นผู้เสมอกับเทพผู้ประเสริฐในเมืองไตรทิพย์ ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทพ ฉะนั้น ผู้มีสภาวะเช่นนั้นเป็นผู้ที่คนธรรพ์ อสูร ท้าวสักกะ และยักษ์ผู้กล้าหาญ กำจัดไม่ได้ง่าย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

ผู้มีพระลักษณะเช่นว่านั้น ย่อมจะเป็นใหญ่ในทิศทั้งหลาย คือทั้งทิศใหญ่และทิศเฉียง ในโลกนี้”
๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม๑-
[๒๔๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ละมิจฉาอาชีวะแล้ว ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ คือ เว้นขาดจากการโกง ด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม การโกงด้วยเครื่องตวงวัด การรับสินบน การ ล่อลวง การตลบตะแลง การตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน ทำให้กรรมนั้น ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพ เหล่าอื่นในเทวโลกนั้น ด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นใหญ่ทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (๒) มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วย แก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว และมีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้ มีสาครเป็นขอบเขต ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีเขตหมาย ไม่มีรั้วหนาม มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ปลอดภัยสงบ ไร้เสี้ยนหนาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงมีบริวารสะอาด บริวารที่สะอาดของพระองค์ คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๔,๒๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มี กิเลสในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมี บริวารสะอาด บริวารที่สะอาดของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๔๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษนั้นทรงละมิจฉาอาชีวะ ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ อันสะอาดเป็นธรรม ทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทรงประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นสุขแก่คนหมู่มาก เสวยสิ่งที่มีผลเป็นสุข ที่สัตบุรุษผู้มีปัญญาละเอียด ผู้ฉลาดสรรเสริญแล้ว เป็นผู้เสมอกับเทพผู้ประเสริฐในเมืองไตรทิพย์ เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความยินดีและความเพลิดเพลิน อภิรมย์อยู่ในสวรรค์ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้น ได้ภพที่เป็นมนุษย์ ทรงได้รับผลวิบากแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว คือ มีพระทนต์เรียบ เสมอ สะอาด ขาวผ่อง ด้วยวิบากแห่งกรรมที่เหลือ พวกมนุษย์ผู้ทำนายลักษณะ ที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้ละเอียดรอบคอบจำนวนมาก ประชุมกันแล้วทำนายมหาบุรุษนั้นว่า ‘พระกุมารนี้ จะมีหมู่ชนที่สะอาดเป็นบริวาร มีพระทนต์ที่เกิดทั้ง ๒ ครั้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

สม่ำเสมอ ขาว สะอาด งดงาม เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินใหญ่ จะทรงมีคนหมู่มากเป็นบริวารที่สะอาด และไม่มีการข่มขี่ให้เดือดร้อนในราชอาณาจักร คนทั้งหลายต่างประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นความสุขแก่คนหมู่มาก ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นสมณะ จะปราศจากบาปธรรม มีกิเลสเพียงดังธุลีระงับไป เป็นผู้ไม่มีกิเลส ปราศจากความกระวนกระวายและความลำบาก จะทรงเห็นโลกนี้และโลกอื่น คฤหัสถ์จำนวนมากและพวกบรรพชิต ผู้ที่ทำตามโอวาทของพระองค์ จะกำจัดบาปธรรมที่ไม่สะอาดอันบัณฑิตติเตียนแล้ว มีบริวารที่สะอาด กำจัดสนิมตะปู๑- โทษและกิเลสเสียได้แวดล้อมพระองค์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
ลักขณสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ สนิมตะปู คำ สนิมในที่นี้หมายถึงอกุศลมูลคือราคะ โทสะ โมหะ ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ส่วนคำ ตะปู @หมายถึงอกุศลมูล คือ ราคะ โทสะ โมหะ ที่ตรึงจิตไว้ (ที.ปา.อ. ๒๔๑/๑๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๘}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๙๓-๑๙๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=11&A=5579&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=11&siri=7              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3182&Z=3922&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=130              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=11&item=130&items=42              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=11&item=130&items=42              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu11

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]