ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๗. ลักขณสูตร
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
[๑๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส ดังนี้ว่า [๑๙๙] “ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ๑- ประการ มีคติเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์ โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีร- กษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้อง ใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต ๒. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก [๒๐๐] ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อะไรบ้าง จึงมีคติ ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ ๒. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๔-๓๕/๑๖-๒๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

คือ มหาบุรุษในโลกนี้ ๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีฝ่าพระบาทราบเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของมหาบุรุษ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่พื้นฝ่าพระบาท ทั้งสองของมหาบุรุษมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และ มีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่มหาบุรุษมีส้นพระบาทยื่นยาวออกไปนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่มหาบุรุษมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษ ๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่มหาบุรุษมีพระหัตถ์และพระ บาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย ข้อที่มหาบุรุษมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกัน เป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่มหาบุรุษมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษ ๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่มหาบุรุษมีพระชงฆ์เรียวดุจแข้ง เนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วย ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่มหาบุรุษเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๐. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่มหาบุรุษมีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝักนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๑๑. มีพระฉวีสีทอง คือคล้ายทองคำ ข้อที่มหาบุรุษมีพระฉวีสีทอง คือ คล้ายทองคำนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๒. มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่มหา- บุรุษมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่มหาบุรุษ มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดัง กุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระโลมชาติปลาย งอนขึ้น คือพระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑลสีครามเข้ม ดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่มหาบุรุษมีพระวรกายตั้งตรง ดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระมังสะใน ที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่ มหาบุรุษมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีร่องพระปฤษฎางค์ เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร พระวรกายสูง เท่ากับ ๑ วา ของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระ วรกาย ข้อที่มหาบุรุษมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่ง ต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์ เท่ากับส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่มหาบุรุษมีลำพระศอกลมเท่ากัน ตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่มหาบุรุษมีเส้นประสาท รับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์เรียบเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่มหาบุรุษมีพระเขี้ยวแก้วขาวงามนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่มหาบุรุษมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก ข้อที่ มหาบุรุษมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวกนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๒๙. มีดวงพระเนตรดำสนิท ข้อที่มหาบุรุษมีดวงพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่มหาบุรุษมีดวง พระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ มหาบุรุษ ๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น ข้อที่มหาบุรุษ มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่นนี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระเศียร ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้ จึงมีคติเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ ๒. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกฤๅษีภายนอก ก็อาจจำลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้ ของมหาบุรุษได้ แต่ฤๅษีเหล่านั้นไม่ทราบว่า ‘เพราะมหาบุรุษทรงทำกรรมนี้จึงได้ ลักษณะนี้’
๑. ลักษณะพระบาทราบเสมอกัน
[๒๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน๑- กำเนิดก่อน๒- ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์สมาทานในกุศลธรรม๓- สมาทานมั่นคงในกายสุจริต(ประพฤติชอบด้วยกาย) ในวจีสุจริต(ประพฤติชอบด้วยวาจา) ในมโนสุจริต(ประพฤติชอบด้วยใจ) ในการ จำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในความเกื้อกูลมารดา ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูลพราหมณ์ ในความ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรม๔- อันยิ่งอื่นๆ อีก เพราะ ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำกรรมนั้นให้ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพเหล่าอื่นในเทวโลกนั้นด้วยฐานะ ๑๐ @เชิงอรรถ : @ ชาติก่อน ภพก่อน หมายถึงชาติที่เคยเกิดมาก่อน (ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๐๘) @ กำเนิดก่อน หมายถึงที่อยู่อาศัยในชาติก่อน (ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๐๘) @ กุศลธรรม หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๐๙) @ กุศลธรรมอันยิ่ง มีความหมายต่อไปนี้ คือ (๑) กามาวจรกุศล (๒) รูปาวจรกุศล (๓) อรูปาวจรกุศล @(๔) สาวกบารมีญาณ (๕) ปัจเจกโพธิญาณ (๖) สัพพัญญุตญาณ ในที่นี้หมายถึงสัพพัญญุตญาณ @(ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นใหญ่ทิพย์ รูปทิพย์ เสียง ทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็น อย่างนี้๑- จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกันขณะเหยียบลง พื้นฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ยกฝ่าพระบาทขึ้นก็ยังเสมอกัน ขณะจดฝ่าพระบาทลง ทุกส่วนก็แตะพื้นพร้อมกัน [๒๐๒] มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วย แก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ ทรงชนะ โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็น ขอบเขต ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีเขตหมาย ไม่มีรั้วหนาม มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย สงบ ไร้เสี้ยนหนาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา ไม่มีมนุษย์ คนใดที่เป็นข้าศึกศัตรูข่มได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้า มหาบุรุษออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลส ในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่มีข้าศึก ศัตรูภายในหรือภายนอก คือ ราคะ โทสะ หรือโมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทพ มาร พรหม ใครๆ ในโลกนี้จะพึงข่มได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าว มานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว [๒๐๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า @เชิงอรรถ : @ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

“มหาบุรุษทรงยินดีในสัจจะ๑- ในธรรม๒- ในการฝึก๓- ในความสำรวม๔- ในความสะอาด๕- ในศีลที่เป็นอาลัย ในอุโบสถกรรม ในความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในกรรมอันไม่สาหัส ทรงสมาทานมั่น ทรงประพฤติอย่างรอบคอบ เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงไปสู่โลกทิพย์ เสวยสุขและสมบัติที่น่าเพลิดเพลินยินดี จุติจากโลกทิพย์แล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก ทรงเหยียบปฐพีด้วยพระบาททั้งสองอันราบเสมอกัน พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะมาประชุมกันทำนายว่า ‘พระกุมารนี้ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน เป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิตก็ไม่มีใครข่มได้ พระลักษณะนั้นเป็นนิมิตส่องความนั้น พระกุมารนี้ เมื่ออยู่ครองเรือน ไม่มีใครข่มได้ มีแต่ครอบงำพวกปรปักษ์ เหล่าข้าศึกศัตรูข่มมิได้ ใครๆ ที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้ หาข่มได้ไม่ เพราะผลแห่งกรรมนั้น ถ้าพระกุมารผู้มีพระลักษณะเช่นนั้น ทรงออกผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง เป็นอัครบุคคล ไม่มีใครๆ ข่มได้แน่นอน เป็นผู้สูงสุดกว่านรชน’ นี้เป็นธรรมดาของพระกุมารนั้น” @เชิงอรรถ : @ สัจจะ ในที่นี้หมายถึงคำสัตย์ (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒) @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒) @ การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกอินทรีย์ (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒) @ ความสำรวม ในที่นี้หมายถึงความสำรวมในศีล (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒) @ ความสะอาด ในที่นี้หมายถึงสุจริต ๓ ประการ คือ (๑) กายสุจริต (ประพฤติชอบด้วยกาย) (๒) วจีสุจริต @(ประพฤติชอบด้วยวาจา) (๓) มโนสุจริต (ประพฤติชอบด้วยใจ) (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒. ลักษณะของจักรบนพื้นฝ่าพระบาท

๒. ลักษณะของจักรบนพื้นพระบาท
[๒๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ได้นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความ หวาดสะดุ้ง จัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและให้ทานพร้อมทั้งของที่ เป็นบริวาร เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตครอบงำเทพเหล่าอื่นใน เทวโลกนั้นด้วยฐานะ ๑๐ ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างและจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงมีบริวาร มาก คือ มีพราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมารเป็นบริวาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ ทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีบริวารมาก คือ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์เป็นบริวาร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๐๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดสะดุ้ง ขวนขวายในการคุ้มครองรักษาป้องกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓-๕. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น

เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงเสด็จเข้าไปสู่โลกทิพย์ เสวยความสุขและสมบัติอันน่าเพลิดเพลินยินดี ครั้นจุติจากโลกทิพย์แล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก ทรงได้ลายจักรทั้งหลายที่ฝ่าพระบาททั้งสอง มีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง โดยรอบ พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะ มาประชุมกันแล้ว เห็นพระกุมารมีลักษณะ อันเกิดแต่บุญเป็นร้อยๆ แล้วทำนายว่า ‘พระกุมารนี้จักมีบริวาร จักย่ำยีศัตรู เพราะจักรทั้งหลายมีกงโดยรอบอย่างนั้น ถ้าพระกุมารนั้นไม่ทรงออกผนวช จะหมุนจักรให้เป็นไปและปกครองแผ่นดิน จะมีกษัตริย์ผู้มียศมากติดตามห้อมล้อมพระองค์ ถ้าทรงออกผนวชจะ ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง พวกเทพ มนุษย์ อสูร ท้าวสักกะ ยักษ์ คนธรรพ์ นาค นก และสัตว์สี่เท้าจะแวดล้อม พระองค์ผู้มียศมาก ผู้มีเทพและมนุษย์บูชาไม่มีใครยิ่งกว่า”
๓-๕. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น๑-
[๒๐๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน กรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๓ ประการนี้ คือ (๑) มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป (๒) มีพระ องคุลียาว (๓) มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๓,๔,๑๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓-๕. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี พระชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุไว้ได้นาน ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็น มนุษย์คนใดสามารถปลงพระชนมชีพในระหว่างได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดัง กล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะมีพระ ชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุไว้ได้นาน ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็น สมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกสามารถปลงพระชนมชีพใน ระหว่าง๑- ได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส เนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๐๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษทรงทราบว่าการฆ่าสัตว์เป็นภัยแก่ตน ได้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์อื่น แล้วได้เสด็จไปสู่สวรรค์ เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น เสวยวิบากอันเป็นผลแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว จุติแล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก ได้ลักษณะ ๓ ประการในโลกนี้ คือ (๑) มีส้นพระบาทสมส่วนยื่นยาวออกไป (๒) มีพระวรกายเกิดดี งดงามตั้งตรงดุจกายพรหม มีทรวดทรงดี สมส่วนแลดูหนุ่มเสมอ (๓) มีพระองคุลีอ่อนนุ่มยาว พระชนกเป็นต้น ทรงบำรุงพระกุมาร ให้มีพระชนมายุยืนยาว เพราะพระองค์สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓ ประการ @เชิงอรรถ : @ ในระหว่าง ในที่นี้หมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิ(เกิด) จนถึงจุติ (ดับ) (ที.ปา.อ. ๒๐๖/๑๑๕, @ที.ปา.ฏีกา ๒๐๖/๑๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๖. ลักษณะพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์

ถ้าพระกุมารทรงครองเรือน ก็จะมีพระชนมายุยืนยาว ถ้าออกผนวชก็จะให้พระชนมายุยืนยาวกว่านั้น เพื่อให้มีความชำนาญในการเจริญอิทธิบาท นั้นเป็นนิมิตแห่งความเป็นผู้มีพระชนมายุยืนยาว ด้วยประการฉะนี้”
๖. ลักษณะพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์๑-
[๒๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ให้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีตและมีรสอร่อย เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรม นั้นไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ฯลฯ จุติจาก เทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระมังสะ ในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ ได้แก่ ที่หลังพระหัตถ์ ทั้งสองมีพระมังสะพูนเต็ม ที่หลังพระบาททั้งสองมีพระมังสะพูนเต็ม ที่จะงอยบ่า ทั้งสองมีพระมังสะพูนเต็ม ที่ลำพระศอมีพระมังสะพูนเต็ม มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีต มีรสอร่อย เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของ ที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีต มีรสอร่อย เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๐๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อ ๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๗-๘. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

“มหาบุรุษเป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม และน้ำที่ควรดื่ม มีรสอันเลิศ เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น มหาบุรุษนั้น จึงบันเทิงยิ่งตลอดกาลนานในสวนนันทวัน เสด็จมาในโลกนี้อีก ทรงได้พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ ได้ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม บัณฑิตผู้ฉลาดในพยัญชนะและนิมิต ทำนายมหาบุรุษนั้นว่า เป็นผู้ได้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันมีรส ลักษณะนี้ใช่ว่าจะบ่งบอกถึงการได้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภค เฉพาะเมื่อมหาบุรุษเป็นคฤหัสถ์เท่านั้น แม้เมื่อทรงออกผนวช ก็จะได้ของควรเคี้ยวของควรบริโภคนั้นเหมือนกัน บัณฑิตทั้งหลายทำนายมหาบุรุษผู้ได้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคที่มีรสอันเลิศว่า พระองค์ จะเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์ทั้งปวงได้”
๗-๘. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม
และมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย๑-
[๒๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ (๑) ทาน (การให้) (๒) เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก) (๓) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) (๔) สมานัตตตา (การวางตน @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๕,๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๗-๘. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

สม่ำเสมอ) เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระหัตถ์และ พระบาทอ่อนนุ่ม (๒) มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็น รูปตาข่าย มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี บริวารชน อันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชน คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมารอันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี เมื่อเป็น พระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็น พระพุทธเจ้าจะทรงมีบริวารชน อันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ อันพระองค์ สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มี พระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๑๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษทรงกระทำ และประพฤติสังคหธรรมอย่างดีแก่คนหมู่มาก คือ (๑) ทาน (๒) เปยยวัชชะ๑- (๓) อัตถจริยา (๔) สมานัตตตา ไปสู่สวรรค์ด้วยคุณที่ใครๆ ดูหมิ่นไม่ได้ จุติจากสวรรค์แล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก ก็เป็นพระกุมารยังหนุ่มแน่น งดงาม ทรงได้พระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม @เชิงอรรถ : @ บาลีเป็นปิยวาทิตะ แปลว่า การกล่าววาจาเป็นที่รัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๙-๑๐. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น

ที่ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท มีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย งามอย่างยิ่ง เลอเลิศ และน่าชม ถ้าพระองค์ครอบครองแผ่นดินนี้ ก็จะมีบริวารอันพระองค์ตรวจตรา และสงเคราะห์ดี ตรัสวาจาเป็นที่รัก แสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้ ทรงประพฤติคุณงามความดีที่พระองค์โปรดยิ่ง ถ้าพระองค์ทรงละการบริโภคกามทั้งปวง เป็นพระชินสีห์ ตรัสธรรมกถาแก่ประชุมชน ชนทั้งหลายก็จะสนองพระดำรัสของพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนัก ครั้นฟังธรรมแล้ว ย่อมจะพากันประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม”
๙-๑๐. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น๑-
[๒๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วยธรรม แนะนำคน หมู่มาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมเป็น ปกติ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์ ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีข้อพระบาทสูง (๒) มีพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ดีกว่าหมู่ชนผู้บริโภคกาม @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๗,๑๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๙-๑๐. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น

เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ดี กว่าสรรพสัตว์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส เนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๑๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “ในชาติก่อน มหาบุรุษ เมื่อจะกล่าวแสดงวาจาอันประกอบด้วยประโยชน์ และประกอบด้วยธรรม แก่คนหมู่มาก จึงเป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ตระหนี่ ได้เสียสละบูชาธรรมแล้ว พระองค์ไปสู่สุคติ บันเทิงอยู่ในสุคตินั้น เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น เสด็จมาในโลกนี้อีก ได้พระลักษณะ ๒ ประการ อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นประมุขสูงสุด มหาบุรุษนั้นมีพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น และมีข้อพระบาทได้สัดส่วนอย่างดี มีพระมังสะและพระโลหิตเต็ม ห่อหุ้มด้วยพระตจะ และมีพระชานุส่วนบนสง่างาม มหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะถึงความเป็นผู้เลิศกว่าพวกที่บริโภคกาม ไม่มีใครๆ ยิ่งกว่า พระองค์จะทรงครอบครองทั่วทั้งชมพูทวีป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๑. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

อนึ่ง ถ้าพระองค์ทรงออกผนวช ก็จะทรงมีพระวิริยะไม่ย่อหย่อน ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง ไม่มีใครๆ ยิ่งกว่าพระองค์ ทรงครอบครองโลกทั้งปวงอยู่”
๑๑. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย๑-
[๒๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ๒- วิชา๓- จรณะ๔- หรือกรรม๕- โดยประสงค์ว่า ทำอย่างไร ชนทั้งหลายนี้พึงรู้ได้เร็ว พึงปฏิบัติได้เร็ว ไม่พึงลำบากนาน เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระชงฆ์เรียวดังแข้งเนื้อทราย มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้พาหนะ อันคู่ควรแก่พระราชา ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งขบวนทัพของพระราชา เครื่อง ราชูปโภคอันสมควรแก่พระราชาโดยพลัน เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้ปัจจัยอันควร แก่สมณะ อันเป็นองค์ของสมณะ และเครื่องสมณูปโภคอันควรแก่สมณะโดยพลัน เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความ นี้ไว้แล้ว @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๘ @ ศิลปะ หมายถึงวิชาชีพมี ๒ อย่าง คือ (๑) ศิลปะสามัญมีช่างสาน ช่างหม้อ ช่างหูก เป็นต้น (๒) ศิลปะ @อย่างสูงมีช่างลวดลาย นักคำนวณด้วยวิธีการนับนิ้ว (มุททา) และนักคำนวณด้วยวิธีคิดในใจ (คณนา) @(ที.ปา.อ. ๒๑๔/๑๒๐) @ วิชา ในที่นี้หมายถึงวิชาหลายหลากมีวิชาหมองู เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๒๑๔/๑๒๐) @ จรณะ ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ หรือปาฏิโมกขสังวรศีล (ที.ปา.อ. ๒๑๔/๑๒๐) @ กรรม ในที่นี้หมายถึงปัญญาหยั่งรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน (ที.ปา.ฏีกา ๒๑๔/๑๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๑. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

[๒๑๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษทรงปรารถนาอยู่ว่า ‘ทำอย่างไร ชนทั้งหลายจะพึงรู้ ในเรื่องศิลปะ ในเรื่องวิชา ในเรื่องจรณะ ในเรื่องกรรมได้อย่างแจ่มชัดโดยพลัน’ ศิลปะเป็นต้นใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ จะทรงบอกศิลปะเป็นต้นนั้นทันที ด้วยทรงหวังว่า ‘เขาจะไม่ต้องลำบากนาน’ เพราะทรงทำกุศลธรรม มีความสุขเป็นกำไรนั้นแล้ว จึงทรงได้พระชงฆ์เป็นที่พึงใจ กลมได้สัดส่วน งดงามเรียวไปตามลำดับ มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น และมีพระตจะอันละเอียดห่อหุ้มแล้ว บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงมหาบุรุษนั้นว่า ‘มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย’ และกล่าวถึงลักษณะแห่งคุณสมบัติในเรื่องนี้ไว้ทันทีว่า ‘ถ้ามหาบุรุษนี้ไม่ทรงออกผนวช จะได้สิ่งที่พระองค์ปรารถนา อันสมควรแก่การครองเรือนทันที แต่ถ้ามหาบุรุษเช่นนั้นทรงออกผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ มีพระปรีชาเห็นแจ้ง มีพระวิริยะไม่ย่อหย่อน จะทรงได้สิ่งที่เหมาะที่ควรทันที” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๒. ลักษณะพระฉวีละเอียด

๑๒. ลักษณะพระฉวีละเอียด๑-
[๒๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลี ไม่อาจติดพระวรกายได้ มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีปัญญามาก บรรดากามโภคีบุคคล ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีปัญญามาก ทรงมีปัญญากว้างขวาง ทรงมีปัญญา ร่าเริง ทรงมีปัญญาแล่นไป ทรงมีปัญญาเฉียบแหลม ทรงมีปัญญาชำแรกกิเลส บรรดาสรรพสัตว์ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ ไว้แล้ว [๒๑๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ประสงค์จะรู้ทั่วถึง จึงเข้าไปหาบรรพชิต สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งประโยชน์ ไตร่ตรองเรื่องที่เป็นประโยชน์ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๓. ลักษณะพระฉวีสีทอง

อุบัติเป็นมนุษย์ มีพระฉวีละเอียด เพราะกรรมที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญา บัณฑิตผู้ฉลาดในลางและนิมิต ทำนายว่า “พระกุมารเช่นนี้ จะทรงหยั่งรู้อรรถอันลุ่มลึกแล้ว ถ้ามหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้น ไม่ทรงออกผนวชก็จะหมุนจักรให้เป็นไป ปกครองแผ่นดินในการสั่งสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ และในการกำหนดรู้ ไม่มีใครประเสริฐหรือเสมอเท่าพระองค์ ถ้ามหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้นทรงออกผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง ทรงได้พระปัญญาอันพิเศษอันยอดเยี่ยม บรรลุพระโพธิญาณ มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวางดังแผ่นดิน”
๑๓. ลักษณะพระฉวีสีทอง๑-
[๒๑๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ไม่มีความโกรธ๒- ไม่มีความแค้นใจ แม้จะถูกว่ากล่าวอย่างรุนแรงก็ไม่ขัดเคือง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่สำแดงความโกรธ ความคิด ประทุษร้าย และความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาด มีเนื้อดีอ่อนนุ่ม และให้ผ้าห่ม ที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพล เนื้อดี เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีสีทอง คือ คล้ายทองคำ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๑ @ ไม่มีความโกรธ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงละความโกรธได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค แต่หมายถึงสามารถ @บรรเทาความโกรธที่เกิดขึ้นได้เร็วพลัน (ที.ปา.อ. ๒๑๘/๑๒๔, ที.ปา.ฏีกา ๒๑๘/๑๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๓. ลักษณะพระฉวีสีทอง

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้เครื่องลาด เนื้อดีอ่อนนุ่ม และได้ผ้าห่ม ที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดี เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระ พุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้เครื่องลาดเนื้อดีอ่อนนุ่ม และ ได้ผ้าห่มที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดี เมื่อ เป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๑๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษทรงอธิษฐานความไม่โกรธ และได้ให้ทาน คือ ผ้าเป็นอันมากล้วนแต่เนื้อดี มีสีงดงาม ดำรงอยู่ในภพก่อนๆ ทรงเสียสละ เหมือนฝนตกทั่วแผ่นดิน ครั้นทรงทำกุศลกรรมนั้นแล้ว จุติจากโลกมนุษย์ ไปเกิดในเทวโลก เสวยวิบากอันเป็นผลกรรมที่ทรงทำไว้ดี มีพระฉวีคล้ายทอง ปกครองหมู่เทพในเทวโลก ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทวดาฉะนั้น ถ้าทรงครองเรือน ไม่ปรารถนาที่จะทรงออกผนวช ก็จะทรงครอบครองแผ่นดินกว้างใหญ่ ปกครองประชาชนในแผ่นดินนี้ ทรงได้พระฉวีที่ละเอียด งดงามและไม่มีมลทินพร้อมทั้งรัตนะ ๗ ประการ ถ้าทรงออกผนวชก็จะได้ผ้านุ่งและผ้าห่มอย่างดี และทรงได้รับประโยชน์ เสวยผลกรรมที่ทรงกระทำไว้ในภพก่อน ไม่มีความหมดสิ้นไปแห่งผลกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้เลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๔. ลักษณะพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก

๑๔. ลักษณะพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก๑-
[๒๒๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ เป็นผู้นำพวกญาติ มิตรสหาย ผู้มีใจดี ที่หายไปนาน จากกันไปนาน ให้กลับ มาพบกัน คือ นำมารดาให้พบกับบุตร นำบุตรให้พบกับมารดา นำบิดาให้พบ กับบุตร นำบุตรให้พบกับบิดา นำพี่ชายน้องชายให้พบกับพี่ชายน้องชาย นำพี่ชาย น้องชายให้พบกับพี่สาวน้องสาว นำพี่สาวน้องสาวให้พบกับพี่ชายน้องชาย นำพี่สาว น้องสาวให้พบกับพี่สาวน้องสาว ครั้นทำให้พบกันแล้วก็ได้รับความชื่นชม เพราะ ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็น อย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีพระโอรส มาก มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีพระอริยสาวกมาก พระอริยสาวกของพระองค์มีจำนวนหลายพัน เป็นผู้แกล้วกล้า มีความเพียรเป็น คุณสมบัติ กำจัดเสนา(กิเลส)เสียได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๒๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ได้ทรงนำพวกญาติ มิตร ที่หายไปนาน จากกันไปนานให้มาพบกัน ครั้นทรงทำให้พบกันแล้วก็ได้รับความชื่นชม @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๕-๑๖. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร

เพราะกุศลกรรมนั้น พระองค์จึงเข้าไปสู่โลกทิพย์ เสวยความสุขและสมบัติเป็นที่เพลิดเพลินและยินดี จุติจากเทวโลกแล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก ได้องคาพยพ คือ พระคุยหฐาน ที่ควรปกปิดด้วยผ้า เร้นอยู่ในฝัก มหาบุรุษเช่นนั้นมีพระโอรสมาก พระโอรสของพระองค์มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นวีรบุรุษ สามารถให้ศัตรูพ่ายไป ให้ปีติเกิด และทูลถ้อยคำน่ารัก แก่มหาบุรุษที่ยังทรงเป็นคฤหัสถ์ เมื่อมหาบุรุษทรงออกผนวชบำเพ็ญพรต จะมีพระสาวกมากกว่านั้น ล้วนแต่ดำเนินตามพระพุทธพจน์ ลักษณะนั้นย่อมบ่งบอกถึงพระคุยหฐาน ที่เร้นอยู่ในฝักของมหาบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต”
ภาณวารที่ ๑ จบ
๑๕-๑๖. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร
และเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ลูบคลำถึงพระชานุ
ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้๑-
[๒๒๒] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เท่าเทียมกัน รู้จักตนเอง รู้จักฐานะของบุคคล รู้จักความแตกต่างของบุคคล หยั่งทราบว่าบุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๙,๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๕-๑๖. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร

บุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ แล้วทำให้เหมาะกับความแตกต่างในฐานะนั้นๆ ในกาลก่อน เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระวรกายเป็น ปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (๒) เมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรง ลูบคลำถึงพระชานุ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์น่าปลื้มใจ มาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีพระคลังเต็มบริบูรณ์ เมื่อเป็นพระราชาจะทรง ได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก พระองค์จะทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ สัทธาธนะ (ทรัพย์คือศรัทธา) สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล) หิริธนะ (ทรัพย์คือหิริ) โอตตัปปธนะ (ทรัพย์คือโอตตัปปะ) สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ) จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ) ปัญญาธนะ (ทรัพย์คือปัญญา) เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๒๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษเมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ พิจารณาแล้ว สอดส่องแล้ว คิดแล้ว หยั่งทราบว่า ‘บุคคลนี้ ควรกับสิ่งนี้’ แล้วทำให้เหมาะ กับความแตกต่างของบุคคลในฐานะนั้นๆ ในกาลก่อน ก็แล เพราะเศษของผลกรรมที่เป็นสุจริต พระมหาบุรุษเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลง ก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๗-๑๙. ลักษณะมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์

และมีพระวรกายเป็นปริมณฑล ดุจต้นไทรที่งอกงามบนแผ่นดิน มนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญาอันละเอียด รู้จักนิมิตและลักษณะมากอย่าง ทำนายว่า ‘พระกุมารนี้เมื่อยังทรงพระเยาว์ มีพระรูปพระโฉมงดงาม จะได้สิ่งอันคู่ควรแก่คฤหัสถ์มากอย่าง พระกุมารผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในโลกนี้ จะทรงมีกามโภคะซึ่งควรแก่คฤหัสถ์เป็นอันมาก ถ้าพระกุมารนี้ทรงละกามโภคะทั้งปวง จะทรงได้ทรัพย์อันเลิศยอดเยี่ยมสูงสุด”
๑๗-๑๙. ลักษณะมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์
ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ เป็นต้น๑-
[๒๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจาก โยคะแก่คนหมู่มาก ด้วยมนสิการว่า ‘ทำไฉน ชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญ ด้วยศีล เจริญด้วยสุตะ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยธรรม เจริญด้วย ปัญญา เจริญด้วยทรัพย์และธัญชาติ เจริญด้วยนาและสวน เจริญด้วยสัตว์สองเท้า และสัตว์สี่เท้า เจริญด้วยบุตรและภรรยา เจริญด้วยทาสกรรมกรและคนรับใช้ เจริญ ด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง’ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๓ ประการนี้ คือ (๑) มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ (๒) มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน (๓) มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๗,๑๘,๒๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๑๗-๑๙. ลักษณะมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ ทรงมีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา ได้แก่ ไม่เสื่อมจากทรัพย์และธัญชาติ ไม่เสื่อมจาก นาและสวน ไม่เสื่อมจากสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า ไม่เสื่อมจากบุตรและภรรยา ไม่ เสื่อมจากทาสกรรมกรและคนรับใช้ ไม่เสื่อมจากญาติ ไม่เสื่อมจากมิตร ไม่เสื่อม จากพวกพ้อง ไม่เสื่อมจากสมบัติทุกอย่าง เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะมีความไม่เสื่อม เป็นธรรมดา ได้แก่ ไม่เสื่อมจากศรัทธา๑- ไม่เสื่อมจากศีล๒- ไม่เสื่อมจากสุตะ๓- ไม่เสื่อม จากจาคะ ไม่เสื่อมจากปัญญา ไม่เสื่อมจากสมบัติทุกอย่าง เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๒๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษทรงปรารถนา และทรงหวังความสำเร็จประโยชน์ว่า ‘ทำไฉน ชนเหล่าอื่นไม่พึงเสื่อมจากศรัทธา จากศีล จากสุตะ จากพุทธิ จากจาคะ จากธรรม จากสิ่งที่ทำให้สำเร็จประโยชน์มากอย่าง จากทรัพย์และธัญชาติ จากนาและสวน จากบุตรและภรรยา จากสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า @เชิงอรรถ : @ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๒ ระดับ นับจากต่ำไปหาสูง คือ (๑) โอกัปปนสัทธา คือ ความเชื่อที่ปักใจ @เชื่อในสิ่งที่น่าเชื่อ (๒) ปสาทนสัทธา คือ ความเชื่อที่อาศัยความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในสิ่งที่น่าเลื่อมใส @(ที.ปา.อ. ๒๒๕/๑๒๗, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๕/๘๕, ที.ปา.ฏีกา ๒๒๕/๑๔๙) และดูเทียบ @องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๕/๓๔๗ ประกอบ @ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ (ที.ปา.อ. ๒๒๕/๑๒๗) @ สุตะ ในที่นี้หมายถึงการศึกษาที่นำประโยชน์สุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย (ที.ปา.ฏีกา ๒๒๕/๑๑๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๐. ลักษณะมีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี

จากญาติ จากมิตร จากพวกพ้อง จากพละ จากวรรณะ และจากสุขทั้ง ๒ ประการ’ มหาบุรุษนั้น มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด และมีร่องพระปฤษฎางค์เต็มราบเสมอกัน ลักษณะทั้ง ๓ ประการนั้น เป็นบุพนิมิต อันไม่เสื่อมของพระองค์ เพราะกรรมที่ทรงสั่งสม กระทำไว้ในกาลก่อน มหาบุรุษแม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ ทรงเจริญด้วยทรัพย์และธัญชาติ บุตรและภรรยา สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า (ถ้า)ทรงตัดกังวลเสีย ออกผนวช จะบรรลุพระโพธิญาณอันยอดเยี่ยม มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา”
๒๐. ลักษณะมีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี๑-
[๒๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ หรือ ด้วยศัสตรา เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลก นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีเส้นประสาทรับรสพระ กระยาหารได้ดี มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารเกิดที่ลำพระศอและมีปลายชูชัน รับรสพระกระยาหารส่งไปทั่วสรรพางค์ มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีพระโรคาพาธ น้อย มีพระโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๐. ลักษณะมีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี

ไม่ร้อนนัก เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ ทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะมีพระโรคาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ประกอบ ด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะ แก่การบำเพ็ญเพียร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๒๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษเป็นผู้ไม่ทรงเบียดเบียน ไม่ทรงย่ำยีปวงชนด้วยฝ่ามือ และท่อนไม้ ด้วยก้อนดิน ด้วยศัสตรา ด้วยคำสั่งประหาร ด้วยการจองจำ หรือด้วยการข่มขู่ เพราะกรรมนั้นนั่นแหละ มหาบุรุษจึงเข้าถึงสุคติ บันเทิงใจ และเพราะทำกรรมมีผลเป็นสุข จึงได้สุขมากเสด็จมาในโลกนี้ ทรงได้เส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ตั้งอยู่ในที่เหมาะสม ทำให้โอชะแผ่ไปสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์ผู้ฉลาด มีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งทำนายว่า ‘พระกุมารนี้จักมีความสุขมาก’ ลักษณะนั้นย่อมบ่งบอกถึงเส้นประสาท รับรสพระกระยาหารได้ดีนั้น ของมหาบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๑-๒๒. ลักษณะมีดวงพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

๒๑-๒๒. ลักษณะมีดวงพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด๑-
[๒๒๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ไม่ถลึงตาดู๒- ไม่ค้อน ไม่เมิน มองตรง มองเต็มตา และแลดูคนหมู่มากด้วย ดวงตาเปี่ยมด้วยความรัก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจาก เทวโลกแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีดวง พระเนตรดำสนิท (๒) มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ เป็นผู้ที่แลดูน่ารักของคนหมู่มากและเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่แลดูน่ารักของคน หมู่มาก และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๒๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อน ไม่เมิน มองตรง มองเต็มตา แลดูคนหมู่มากด้วยดวงพระเนตรเปี่ยมด้วยความรัก พระองค์เสวยผลวิบากในสุคติทั้งหลาย บันเทิงอยู่ในสุคติเหล่านั้น เสด็จมาในโลกนี้ มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๙,๓๐ @ ไม่ถลึงตาดู ในที่นี้หมายถึงไม่จ้องดูด้วยความโกรธจนตาถลนเหมือนตาปู (ที.ปา.อ. ๒๒๘/๑๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๓. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

และมีดวงพระเนตรดำสนิท มองเห็นได้ชัดเจน พวกมนุษย์จำนวนมากเป็นอภิโยคี๑ มีความรอบคอบ ฉลาดในนิมิต ฉลาดในการทำนายอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะชมเชยพระกุมารนั้นว่า ‘เป็นผู้ที่แลดูน่ารัก’ อนึ่ง แม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ ก็แลดูน่ารัก เป็นที่รักของคนหมู่มาก ถ้าไม่ทรงเป็นคฤหัสถ์ ทรงเป็นพระสมณะ จะทรงเป็นที่รักและดับโศกของคนหมู่มาก”
๒๓. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์๒-
[๒๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์เป็นผู้นำของคนหมู่มากในกุศลธรรม เป็นประมุขของคนหมู่มากในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการจำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในความเกื้อกูลมารดา ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูล พราหมณ์ ในความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรมอันยิ่ง อื่นๆ อีก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้น แล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระเศียรดุจประดับด้วย กรอบพระพักตร์ มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะเป็นผู้ที่คน หมู่มาก คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ @เชิงอรรถ : @ เป็นอภิโยคี ในที่นี้หมายถึงผู้รู้ในลักษณศาสตร์ (ที.ปา.อ. ๒๒๙/๑๒๘) @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๓๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๓. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร ดำเนินตาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่คนหมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ดำเนินตาม เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๓๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษเป็นผู้นำในธรรมทั้งหลายที่เป็นสุจริต ทรงยินดีในธรรมจริยา เป็นผู้ที่คนหมู่มากดำเนินตาม เสวยผลบุญในสวรรค์ มหาบุรุษนั้น ครั้นเสวยผลแห่งสุจริต แล้วเสด็จมาในโลกนี้ ทรงได้ความเป็นผู้มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ พวกที่ทรงความรู้ในเรื่องพยัญชนะและนิมิตทำนายว่า ‘พระกุมารนี้ จักเป็นผู้นำของคนหมู่มาก ในหมู่มนุษย์ ในโลกนี้ ผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ในเบื้องต้น จะมีจำนวนมาก ในกาลนั้น พราหมณ์ทั้งหลายจะทำนายพระองค์ว่า ‘ถ้าทรงเป็นกษัตริย์ จะทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จะทรงได้รับความช่วยเหลือจากคนหมู่มาก ถ้ามหาบุรุษนั้นทรงออกผนวช จะทรงเป็นผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในธรรม คนหมู่มากจะเป็นผู้ยินดียิ่ง ในคุณคือคำสอนของพระองค์และจะเป็นผู้ดำเนินตาม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๔-๒๕. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

๒๔-๒๕. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว
และพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น๑-
[๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือพูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระโลมชาติเดี่ยว (๒) มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาว อ่อนเหมือนนุ่น มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะเป็น ผู้ที่คนหมู่มาก คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และ มหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร ประพฤติตาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็น พระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้ที่คนหมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ประพฤติตาม เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๓๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๓,๓๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๔-๒๕. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

“ในชาติก่อนๆ มหาบุรุษมีสัจปฏิญาณ มีพระวาจาไม่เป็นสอง เว้นคำเหลวไหล ไม่ตรัสให้คลาดเคลื่อนแก่ใครๆ ตรัสตามความจริงแท้ แน่นอน มีพระอุณาโลมสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น เกิดในระหว่างพระโขนง และไม่มีพระโลมชาติเกิดในขุมเดียวกัน ๒ เส้น ทั่วพระสรีระสะพรั่งด้วยพระโลมชาติเดี่ยว พวกผู้รู้พระลักษณะ ฉลาดในลางและนิมิต จำนวนมากมาประชุมกัน แล้วทำนายมหาบุรุษนั้นว่า พระอุณาโลมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่บ่งชัดว่า คนหมู่มากจะประพฤติตามพระองค์ผู้มีลักษณะเช่นนี้ มหาบุรุษแม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ผู้เช่นนี้ มหาชนก็ประพฤติตาม เพราะกรรมที่ทรงกระทำไว้มากในชาติก่อน แม้ทรงเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีความกังวล เป็นบรรพชิตผู้ยอดเยี่ยม ประชาชนก็ประพฤติตาม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๖-๒๗. ลักษณะพระทนต์ ๔๐ ซี่และไม่ห่างกัน

๒๖-๒๗. ลักษณะพระทนต์ ๔๐ ซี่และไม่ห่างกัน๑-
[๒๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความจากฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่คำที่สร้างสรรค์ความสามัคคีกัน เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (๒) มีพระทนต์ไม่ห่าง มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงมี บริษัทที่ไม่แตกแยกกัน บริษัทที่ไม่แตกแยกกันของพระองค์ คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าว มานี้ ฯลฯ เมื่อ เป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีบริษัท ที่ไม่แตกแยกกัน บริษัทที่ไม่แตกแยกกันของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๓๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๓,๒๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๖-๒๗. ลักษณะพระทนต์ ๔๐ ซี่และไม่ห่างกัน

“มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสวาจา ที่ทำให้เกิดการแตกแยกกัน คือ ทำผู้ที่ปรองดองกันให้แตกแยกกัน ทำให้การวิวาทขยายตัวไปสู่การแตกแยกกัน ทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน (และ) ที่ก่อให้เกิดการแตกแยกแก่คนที่ปรองดองกัน ตรัสแต่วาจาอ่อนหวาน คือ ที่ส่งเสริมการไม่วิวาทกัน ที่ก่อให้เกิดสมานฉันท์ระหว่างผู้ที่แตกกัน ขจัดความทะเลาะของชุมชนทำให้สามัคคีกัน และทรงเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับผู้ที่ปรองดองกัน มหาบุรุษนั้น เสวยผลวิบากในสุคติ เสด็จมาในโลกนี้ มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ มีพระทนต์ไม่ห่าง เรียบสนิท ได้สัดส่วน เกิดขึ้นในพระโอษฐ์ ถ้าเป็นกษัตริย์ จะทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จะทรงมีบริษัทไม่แตกแยกกัน ถ้าเป็นสมณะจะทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี และเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังมลทิน บริษัทของพระองค์ จะเป็นผู้ดำเนินตามไม่หวั่นไหว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๒๘-๒๙. ลักษณะพระชิวหาใหญ่ยาวและพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม

๒๘-๒๙. ลักษณะพระชิวหาใหญ่ยาวและพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม๑-
[๒๓๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็น คำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ได้ลักษณะ มหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระชิวหาใหญ่ยาว (๒) มีพระสุรเสียงดุจเสียง พรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี พระวาจาอันชนทั้งหลายยอมรับ ชนทั้งหลาย คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร ยอมรับพระดำรัสของพระองค์ เมื่อเป็นพระราชา จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อทรงเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็น พระพุทธเจ้าจะมีพระวาจาอันชนทั้งหลายยอมรับ ชนทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ยอมรับพระดำรัสของ พระองค์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความ นี้ไว้แล้ว [๒๓๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสคำหยาบรุนแรง คือ ที่ก่อให้เกิดการด่า การบาดหมาง และการเบียดเบียนกัน ที่ก่อให้เกิดความเจ็บแค้น ที่ทำลายชนจำนวนมาก ตรัสแต่คำอ่อนหวาน นุ่มนวล มีประโยชน์ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๗,๒๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์

มหาบุรุษนั้น ตรัสแต่คำเป็นที่ถูกใจ จับใจ เสนาะโสต จึงทรงได้รับผลอันเกิดจากความประพฤติดี เสวยผลบุญในสวรรค์ทั้งหลาย ครั้นเสวยผลอันเกิดจากความประพฤติดีแล้ว เสด็จมาในโลกนี้ ได้ความเป็นผู้มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม เป็นผู้มีพระชิวหาใหญ่ หนา เป็นผู้มีพระดำรัสอันชนทั้งหลายยอมรับ ผลนั้นย่อมสำเร็จแก่มหาบุรุษผู้ตรัสอยู่ แม้เมื่อทรงเป็นคฤหัสถ์ ฉันใด ถ้ามหาบุรุษนั้นทรงออกผนวช หมู่ชนจะเชื่อถือพระดำรัสของพระองค์ ผู้ตรัสสุภาษิตหลากหลายแก่คนหมู่มาก ฉันนั้น”
๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์๑-
[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกกาล พูดแต่คำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ เหมาะแก่เวลา ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทว- โลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระหนุดุจคางราชสีห์ มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะไม่มีข้าศึกศัตรู ที่เป็นมนุษย์คนใดกำจัดพระองค์ได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่มีข้าศึกศัตรูภายในหรือ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์

ภายนอก คือ ราคะ โทสะ หรือโมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลกกำจัดพระองค์ได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระ ผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๓๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อ ไม่ตรัสคำปราศจากหลักฐาน มีครรลองแห่งพระดำรัสไม่สับสน ทรงกำจัดคำที่ไม่เป็นประโยชน์ ตรัสแต่คำที่เป็นประโยชน์ และคำที่เป็นสุขแก่คนหมู่มาก ครั้นทรงทำกรรมนั้นแล้วจุติจากมนุษยโลก เข้าสู่เทวโลก เสวยผลวิบากแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว จุติแล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก ได้ความเป็นผู้มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์สี่เท้า ถ้าเป็นพระราชาจะทรงเป็นจอมมนุษย์ เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ เป็นผู้มีอานุภาพมาก เป็นผู้ที่ใครกำจัดได้ยากยิ่ง เป็นผู้เสมอกับเทพผู้ประเสริฐในเมืองไตรทิพย์ ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทพ ฉะนั้น ผู้มีสภาวะเช่นนั้นเป็นผู้ที่คนธรรพ์ อสูร ท้าวสักกะ และยักษ์ผู้กล้าหาญ กำจัดไม่ได้ง่าย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

ผู้มีพระลักษณะเช่นว่านั้น ย่อมจะเป็นใหญ่ในทิศทั้งหลาย คือทั้งทิศใหญ่และทิศเฉียง ในโลกนี้”
๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม๑-
[๒๔๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น มนุษย์ละมิจฉาอาชีวะแล้ว ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ คือ เว้นขาดจากการโกง ด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม การโกงด้วยเครื่องตวงวัด การรับสินบน การ ล่อลวง การตลบตะแลง การตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน ทำให้กรรมนั้น ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพ เหล่าอื่นในเทวโลกนั้น ด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นใหญ่ทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (๒) มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วย แก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว และมีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้ มีสาครเป็นขอบเขต ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีเขตหมาย ไม่มีรั้วหนาม มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ปลอดภัยสงบ ไร้เสี้ยนหนาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงมีบริวารสะอาด บริวารที่สะอาดของพระองค์ คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ @เชิงอรรถ : @ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๔,๒๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มี กิเลสในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมี บริวารสะอาด บริวารที่สะอาดของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว [๒๔๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ มหาบุรุษนั้นว่า “มหาบุรุษนั้นทรงละมิจฉาอาชีวะ ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ อันสะอาดเป็นธรรม ทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทรงประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นสุขแก่คนหมู่มาก เสวยสิ่งที่มีผลเป็นสุข ที่สัตบุรุษผู้มีปัญญาละเอียด ผู้ฉลาดสรรเสริญแล้ว เป็นผู้เสมอกับเทพผู้ประเสริฐในเมืองไตรทิพย์ เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความยินดีและความเพลิดเพลิน อภิรมย์อยู่ในสวรรค์ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้น ได้ภพที่เป็นมนุษย์ ทรงได้รับผลวิบากแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว คือ มีพระทนต์เรียบ เสมอ สะอาด ขาวผ่อง ด้วยวิบากแห่งกรรมที่เหลือ พวกมนุษย์ผู้ทำนายลักษณะ ที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้ละเอียดรอบคอบจำนวนมาก ประชุมกันแล้วทำนายมหาบุรุษนั้นว่า ‘พระกุมารนี้ จะมีหมู่ชนที่สะอาดเป็นบริวาร มีพระทนต์ที่เกิดทั้ง ๒ ครั้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

สม่ำเสมอ ขาว สะอาด งดงาม เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินใหญ่ จะทรงมีคนหมู่มากเป็นบริวารที่สะอาด และไม่มีการข่มขี่ให้เดือดร้อนในราชอาณาจักร คนทั้งหลายต่างประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นความสุขแก่คนหมู่มาก ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นสมณะ จะปราศจากบาปธรรม มีกิเลสเพียงดังธุลีระงับไป เป็นผู้ไม่มีกิเลส ปราศจากความกระวนกระวายและความลำบาก จะทรงเห็นโลกนี้และโลกอื่น คฤหัสถ์จำนวนมากและพวกบรรพชิต ผู้ที่ทำตามโอวาทของพระองค์ จะกำจัดบาปธรรมที่ไม่สะอาดอันบัณฑิตติเตียนแล้ว มีบริวารที่สะอาด กำจัดสนิมตะปู๑- โทษและกิเลสเสียได้แวดล้อมพระองค์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
ลักขณสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ สนิมตะปู คำ สนิมในที่นี้หมายถึงอกุศลมูลคือราคะ โทสะ โมหะ ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ส่วนคำ ตะปู @หมายถึงอกุศลมูล คือ ราคะ โทสะ โมหะ ที่ตรึงจิตไว้ (ที.ปา.อ. ๒๔๑/๑๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๕๙-๑๙๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=11&siri=7              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3182&Z=3922                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=130              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=11&item=130&items=42              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=2689              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=11&item=130&items=42              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=2689                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu11              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/dn30/en/sujato https://suttacentral.net/dn30/en/tw-caf_rhysdavids



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :