ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส

สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ บุคคลนั้นรู้เหตุ รู้ผล รู้นิรุตติ (ภาษา) เมื่อรู้เหตุ เหตุย่อมแจ่มแจ้ง เมื่อรู้ผล ผลย่อมแจ่มแจ้ง เมื่อรู้นิรุตติ นิรุตติย่อม แจ่มแจ้ง ญาณในเหตุ ผล และนิรุตติทั้ง ๓ เหล่านี้ ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า ชื่อว่าทรงมีปฏิภาณ ผู้ใดไม่มีปริยัติ ไม่มีปริปุจฉา ไม่มีอธิคม ญาณอะไรเล่าจัก แจ่มแจ้งแก่เขาได้ รวมความว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ [๑๑๙] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า) พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ (๑๘)
ว่าด้วยเทพ ๓
คำว่า ทรงรู้ชัดอธิเทพ อธิบายว่า คำว่า เทพ ได้แก่ เทพ ๓ จำพวก คือ ๑. สมมติเทพ ๒. อุบัติเทพ ๓. วิสุทธิเทพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส

สมมติเทพ เป็นอย่างไร คือ พระราชา พระราชกุมาร และพระราชเทวี เหล่านี้เรียกว่า สมมติเทพ อุบัติเทพ เป็นอย่างไร คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่ พรหม และเทวดาชั้นสูงกว่านั้น เหล่านี้เรียกว่า อุบัติเทพ วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร คือ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ และพระปัจเจก- สัมพุทธเจ้า เหล่านี้เรียกว่า วิสุทธิเทพ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดเหล่าสมมติเทพว่า เป็นอธิเทพ ทรงรู้จักเหล่าอุบัติเทพ ว่าเป็นอธิเทพ ทรงรู้ชัด คือ ทรงทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งเหล่าวิสุทธิเทพว่า เป็นอธิเทพ รวมความว่า ทรงรู้ชัดอธิเทพ คำว่า ทรงรู้ชัดธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอดธรรมที่ทำพระองค์ และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ ธรรมที่ทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างไร คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การ ปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้ บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ เรียกว่า ธรรมที่ทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ ธรรมที่ทำชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างไร คือ การปฏิบัติชอบ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำชน เหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอด ธรรมที่ทำพระองค์และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ทรงรู้ชัด ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส

คำว่า เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงกระทำส่วนสุด คือ ทรงกระทำที่สุดรอบ ทรงกระทำที่กำหนด ทรงกระทำความจบแห่งปัญหาของพราหมณ์ ผู้แสวงหาฝั่ง... ได้แก่ ทรงกระทำ ส่วนสุด กระทำที่สุดรอบ กระทำที่กำหนด กระทำความจบแห่งปัญหาของสภิย- พราหมณ์... แห่งปัญหาของพระปิงคิยเถระ... แห่งปัญหาของท้าวสักกะ... แห่งปัญหา ของท้าวสุยาม... แห่งปัญหาของภิกษุ... แห่งปัญหาของภิกษุณี ... แห่งปัญหาของ อุบาสก ... แห่งปัญหาของอุบาสิกา ... แห่งปัญหาของพระราชา ... แห่งปัญหา ของกษัตริย์ ... แห่งปัญหาของพราหมณ์ ... แห่งปัญหาของแพศย์ ... แห่งปัญหา ของศูทร ... แห่งปัญหาของเทวดา ... แห่งปัญหาของพระพรหม คำว่า เป็นพระศาสดา อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ชื่อว่า พระศาสดา เหมือนบุคคลผู้นำหมู่เกวียน ย่อมนำหมู่เกวียนข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะโจร ที่กันดารเพราะสัตว์ร้าย ที่กันดาร เพราะอดอยาก ที่กันดารเพราะขาดน้ำ ได้แก่ ให้ถึงถิ่นที่ปลอดภัย ฉันใด พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ย่อมทรงนำหมู่ข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ที่กันดารเพราะความกำหนัด ที่กันดารเพราะความขัดเคือง ความลุ่มหลง ความ ถือตัว ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต คือ ความรกชัฏเพราะความกำหนัด ความรกชัฏเพราะ ความขัดเคือง ความรกชัฏเพราะความลุ่มหลง ความรกชัฏเพราะทิฏฐิ ความรกชัฏ เพราะกิเลส ความรกชัฏเพราะทุจริต ได้แก่ ให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นแดนเกษม ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ให้เพ่งประโยชน์ ทรงทำให้ เลื่อมใสได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรค ที่ยังไม่เกิดให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส

มรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระองค์ผู้ดำเนินไปตามมรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า ผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหา ทั้งหลาย คำว่า เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ อธิบายว่า เหล่าชนผู้มี ความสงสัยมาแล้ว ก็หายสงสัยกลับไป ผู้มีความยุ่งยากมาแล้ว ก็หายยุ่งยากกลับไป ผู้มีความคิดสองจิตสองใจมาแล้ว ก็หายความคิดสองจิตสองใจกลับไป ผู้มีความลังเล มาแล้ว ก็หายความลังเลกลับไป ผู้มีราคะมาแล้ว ก็หมดราคะกลับไป ผู้มีโทสะ มาแล้ว ก็หมดโทสะกลับไป ผู้มีโมหะมาแล้ว ก็หมดโมหะกลับไป ผู้มีกิเลสมาแล้ว ก็หมดกิเลสกลับไป รวมความว่า เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ ด้วย เหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกราบทูลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ชัดอธิเทพ ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ [๑๒๐] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า) สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล (๑๙) คำว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ อธิบายว่า อมตนิพพาน เรียกว่า ธรรมเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้น ตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท สภาวะนั้นอันอะไรนำ ไปมิได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส

คำว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ อธิบายว่า นิพพาน อันราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความ เร่าร้อนทุกอย่าง อาสวะทุกชนิด ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเดือดร้อน ทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท นำไปไม่ได้ คือ เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีการไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา รวมความว่า สภาวะนั้นอันอะไร นำไปมิได้ คำว่า ไม่กำเริบ อธิบายว่า อมตนิพพาน ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า (สภาวะ) ไม่กำเริบ ความเกิดขึ้นแห่งนิพพาน ไม่ปรากฏ ความเสื่อมไม่มี ความเป็นอย่างอื่นของ นิพพานนั้น ก็ไม่ปรากฏ นิพพานจึงเป็นสภาวะเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผัน ไปเป็นธรรมดา รวมความว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ คำว่า ใด ในคำว่า สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน คำว่า ไม่มีอะไรๆ... เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีอะไรเปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ในที่ไหน ที่ไรๆ ภายใน ภายนอก หรือ ทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ คำว่า แน่แท้ ในคำว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยใน สภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า เป็นคำกล่าวนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่ สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าว โดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดยไม่ผิด โดยไม่พลาด คำว่า แน่แท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว คำว่า ข้าพระองค์จักถึง ได้แก่ จักถึง คือ จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้ง รวมความว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส

คำว่า ในสภาวะนั้น ในคำว่า ความสงสัย ในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า ความสงสัย คือ ความลังเล ความสองจิตสองใจ ความแคลงใจใน นิพพานไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้า พระองค์ คำว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ไว้ ... ด้วยประการฉะนี้แล ในคำว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้น แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ได้แก่ ขอพระองค์โปรดเข้าไปกำหนดข้าพระองค์ ด้วยประการฉะนี้ คำว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว อธิบายว่า เป็นผู้มีจิตเอนไปใน นิพพานแล้ว โอนไปในนิพพานแล้ว โน้มไปในนิพพานแล้ว น้อมใจไปในนิพพานแล้ว รวมความว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะ นั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกราบทูลว่า สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนานุคีติคาถานิทเทสที่ ๑๘ จบ
ปารายนวรรค จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๙๒}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๓๘๗-๓๙๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=30&A=11179&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=36              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=5120&Z=6138&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=532              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=30&item=532&items=131              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=30&item=532&items=131              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]