ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
มูลสูตร
[๕๐๙] ๗๐. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โลภอกุศลมูล ๑ โทสอกุศลมูล ๑ โมหอกุศลมูล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลภะจัดเป็นอกุศล บุคคลผู้โลภ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้น ก็เป็นอกุศล บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภกลุ้มรุม ย่อม ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมากที่เกิดเพราะความโลภ มี ความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นแดนเกิด มีความโลภเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมี แก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะจัดเป็นอกุศล บุคคล ผู้โกรธ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้ โกรธ ถูกโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดย ไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือด้วยการ ขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็น อกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมากที่เกิดเฉพาะความโกรธ มีความโกรธเป็น เหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด มีความโกรธเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมหะจัดเป็นอกุศล บุคคลผู้หลง กระทำ กรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้หลงถูกโมหะครอบ งำ มีจิตอันโมหะกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการ เบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามก เป็นอันมาก ที่เกิดเพราะความหลง มีความหลงเป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิด มีความหลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิง อรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิง อรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย จริงอย่างนั้น บุคคลนี้ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ใน กำลัง และเขาเมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็กล่าวคำปฏิเสธ ไม่ยอมรับรู้ เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง กลับไม่พยายามที่จะปฏิเสธเรื่องนั้น แม้ เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึง เรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่ อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่ เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะความโลภครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ใน ปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะความ โกรธครอบงำ ฯลฯ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะโมหะครอบงำ มีจิต อันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะโลภะครอบงำ ... เมื่อแตกกายตายไป ทุคติ เป็นอันหวังได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อ ที่ถูกเครือ เถาย่านทราย ๓ ชนิดคลุมยอด พันรอบต้น ย่อมถึงความเสื่อม ความพินาศ ความ ฉิบหาย ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อโลภกุศลมูล ๑ อโทสกุศลมูล ๑ อโมหกุศลมูล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อโลภะก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดย ความไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศล ธรรมเป็นอันมากที่เกิดเพราะความไม่โลภ มีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภ เป็นแดนเกิด มีความไม่โลภเป็นปัจจัย ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อโทสะก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โกรธ กระทำกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบ งำ มีจิตอันความโกรธไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียนหรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมาก ที่เกิดเพราะความไม่โกรธ มีความไม่โกรธเป็นเหตุ มีความไม่โกรธเป็นแดนเกิด มีความไม่โกรธเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้อโมหะก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่หลง กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอัน ความหลงไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการ เบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมากที่ เกิดเพราะความไม่หลง มีความไม่หลงเป็นเหตุ มีความไม่หลงเป็นแดนเกิด มีความไม่หลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิง อรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง ก็เพราะเหตุไร บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัย บ้าง จริงอย่างนั้น บุคคลนี้ย่อมไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการ เบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง และเมื่อเขาถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็ยอมรับ ไม่กล่าวคำปฏิเสธ เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง ก็พยายาม ที่จะปฏิเสธข้อที่ถูกกล่าวหานั้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่จริง เพราะเหตุนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริง บ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล เห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโลภะได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำ ให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อม อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบัน นี้เอง บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโทสะได้แล้ว ฯลฯ ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโมหะได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็น สุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบกหรือต้นสะคร้อ ถูกเครือ เถาย่านทราย ๓ ชนิดคลุมยอด พันจนรอบ คราวนั้น บุรุษพึงถือเอาจอบและ ตะกร้ามา เขาตัดเครือเถาย่านทรายนั้นที่ราก แล้วพึงขุดจนรอบ แล้วถอนเอาราก ขึ้นโดยที่สุดแม้เพียงเท่าต้นหญ้าคา เขาพึงหั่นเครือเถาย่านทรายนั้นให้เป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย แล้วผ่า แล้วเอารวมกันเข้าแล้วผึ่งที่ลมและแดด แล้วพึ่งเอาไฟเผา แล้วทำให้เป็นเขม่าและพึงโปรยที่ลมพาลุ หรือพึงลอยเสียในแม่น้ำที่มีกระแสไหล เชี่ยว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครือเถาย่านทรายเหล่านั้น ถูกบุรุษนั้นตัดรากขาด ทำ ให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแต่ โลภะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ที่เกิดแต่โทสะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มี ทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ที่เกิดแต่โมหะ บุคคลเห็นปานนี้ ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด ขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล ๓ อย่างนี้แล ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๕๓๒๐-๕๔๒๐ หน้าที่ ๒๒๘-๒๓๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=5320&Z=5420&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=20&A=5320&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=114              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=509              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=20&A=5435              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4947              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=20&A=5435              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4947              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i501-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an03/an03.069.than.html https://suttacentral.net/an3.69/en/sujato https://suttacentral.net/an3.69/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]