ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร
ว่าด้วยทรงแสดงเรื่องไฟแก่ปริพาชกชื่อวัจฉโคตร
ทิฏฐิ ๑๐ ประการ
[๑๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อวัจฉโคตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า '‘ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่าน พระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วัจฉะ เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกมีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกมีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกไม่มีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกไม่มีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะ๑- กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” @เชิงอรรถ : @ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (Soul) (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

“เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง'' “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคต๑- เกิดอีก นี้เท่านั้น จริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่ เกิดอีก๒- นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” “เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” “ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่๓- นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๒๒ (จูฬมาลุงกยสูตร) หน้า ๑๓๓ ในเล่มนี้ @ คำว่า เกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้ หมายถึงลัทธิชื่อเอกัจจสัสสตวาทะ เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยงเป็น @บางอย่าง (ม.ม.อ. ๒/๑๘๗/๑๔๕) และดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๓๘-๕๐/๑๖-๒๑ @ คำว่า จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้ หมายถึงลัทธิชื่ออมราวิกเขปวาทะ ความเห็นหลบเลี่ยง @ไม่แน่นอน (ม.ม.อ. ๒/๑๘๗/๑๔๕) และดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๖๑-๖๖/๒๔-๒๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๒๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

“วัจฉะ เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะ ว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง” [๑๘๘] วัจฉโคตรปริพาชกทูลถามว่า “เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘วัจฉะ เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกมีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘โลกมีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกไม่มี ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิ อย่างนั้นว่า ‘โลกไม่มีที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ สรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๒๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก ตายแล้วตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก ตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น ไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก ตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ ตรัสตอบว่า ‘เราไม่มีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงมี ทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ หรือ’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘วัจฉะ เราไม่มีทิฏฐิ อย่างนั้นว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงยอมรับ ทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวง เช่นนี้” [๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วัจฉะ ทิฏฐิว่า ‘โลกเที่ยง’ นั้น เป็น รกชัฏคือทิฏฐิ เป็นกันดารคือทิฏฐิ เป็นเสี้ยนหนามคือทิฏฐิ เป็นความดิ้นรนคือทิฏฐิ เป็นสังโยชน์คือทิฏฐิ ก่อให้เกิดความทุกข์๑- ความลำบาก ความคับแค้น และความ เร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน ทิฏฐิว่า ‘โลกไม่เที่ยง’ ฯลฯ ‘โลกมีที่สุด’ ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ ความทุกข์ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ที่เกิดจากกิเลส และทุกข์ที่เกิดจากผลของกรรมชั่ว (ม.ม.อ. ๒/๑๘๙/๑๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๒๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

‘โลกไม่มีที่สุด’ ฯลฯ ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน’ ฯลฯ ‘ชีวะกับสรีระเป็นคนละ อย่างกัน’ ฯลฯ ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ ‘หลังจากตายแล้วตถาคต ไม่เกิดอีก’ ฯลฯ ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ฯลฯ ทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ นั้น เป็นรกชัฏ คือทิฏฐิ เป็นกันดารคือทิฏฐิ เป็นเสี้ยนหนามคือทิฏฐิ เป็นความดิ้นรนคือทิฏฐิ เป็น สังโยชน์คือทิฏฐิ ก่อให้เกิดความทุกข์ ความลำบาก ความคับแค้น และความ เร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน วัจฉะ เราเห็นโทษนี้จึงไม่ยอมรับทิฏฐิเหล่านั้นโดยประการทั้งปวง อย่างนี้” “ท่านพระโคดมทรงมีทิฏฐิบางอย่างหรือไม่” “วัจฉะ คำว่า ‘ทิฏฐิ’ นั้น ตถาคตกำจัดได้แล้ว ตถาคตเห็นแล้วว่า ‘รูปเป็น ดังนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิด แห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้ สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดแห่ง สัญญาเป็นดังนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้ สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร เป็นดังนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้ วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ เป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้’ เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคต หลุดพ้นแล้วด้วยความไม่ถือมั่น เพราะความสิ้นไป เพราะความคลายไป เพราะ ความดับ เพราะความสละ เพราะความสละคืน เพราะความไม่ถือมั่น อหังการ มมังการ และมานานุสัย๑- ทั้งปวง ที่เข้าใจแล้ว ย่ำยีได้แล้วทั้งหมด”
ปัญหาเรื่องความหลุดพ้น
[๑๙๐] วัจฉโคตรปริพาชกทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ จะเกิด ณ ที่ไหน” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วัจฉะ คำว่า ‘เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้” “ถ้าเช่นนั้น ภิกษุนั้นจะไม่เกิดหรือ ท่านพระโคดม” @เชิงอรรถ : @ อหังการ หมายถึงทิฏฐิ มมังการ หมายถึงตัณหา มานานุสัย หมายถึงมานะ (ม.ม.อ. ๒/๑๘๙/๑๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๒๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร

“คำว่า ‘ไม่เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้” “ถ้าเช่นนั้น ภิกษุนั้นเกิดและไม่เกิดหรือ ท่านพระโคดม” “คำว่า ‘เกิดและไม่เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้” “ถ้าเช่นนั้น ภิกษุนั้นจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ ท่าน พระโคดม” “คำว่า ‘จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ นำมาใช้ไม่ได้” “เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว อย่างนี้ จะเกิด ณ ที่ไหน’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘คำว่า ‘เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ภิกษุนั้นจะไม่เกิดหรือ ท่านพระ- โคดม’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘คำว่า ‘ไม่เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ภิกษุนั้นเกิดและไม่เกิดหรือ ท่าน พระโคดม’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘คำว่า ‘เกิดและไม่เกิด’ นำมาใช้ไม่ได้’ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามดังนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ภิกษุนั้นจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่า ไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ ท่านพระโคดม’ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ‘คำว่า ‘จะว่าเกิดอีก ก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ นำมาใช้ไม่ได้’ ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ ข้าพระองค์ไม่รู้แล้ว ในข้อนี้ ข้าพระองค์หลง ไปแล้ว ความเลื่อมใสซึ่งมีอยู่บ้างจากการสนทนาปราศรัยกับท่านพระโคดมใน ตอนแรก บัดนี้ได้หมดสิ้นไปแล้ว” “วัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้๑- ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก @เชิงอรรถ : @ ธรรมนี้ ในที่นี้หมายถึงธรรมคือปัจจยาการ ๑๒ ประการ [คือ @(๑) อวิชชา ความไม่รู้ในอริยสัจจ์ (๒) สังขาร สภาพที่ปรุงแต่ง @(๓) วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์ (๔) นามรูป เวทนา สัญญา เจตนา ผัสส มนสิการ + รูป @(๕) สฬายตนะ อายตนะภายใน ๖ (๖) ผัสสะ ความกระทบ (สัมผัส ๖) @(๗) เวทนา ความเสวยอารมณ์ (๘) ตัณหา ความทะยานอยาก (ตัณหา ๖) @(๙) อปาทาน ความยึดมั่น (อุปาทาน) (๑๐) ภพ ภาวะที่ดำรงชีวิต @(๑๑) ชาติ ความเกิด (๑๒) ชรา มรณะ ความแก่และความตาย] @(ม.ม.อ. ๒/๑๙๐/๑๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๒๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=219&pages=6&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=6106 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=6106#p219 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]