ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. มหาปทานสูตร (๑๔)
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กุฎี ใกล้ไม้กุ่มน้ำ ณ พระวิหาร- *เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่ง ประชุมกันในโรงกลมใกล้ไม้กุ่มน้ำ เกิดสนทนาธรรมกันขึ้นเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาสว่า บุพเพนิวาส บุพเพนิวาส ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับถ้อยคำเจรจาอันนี้ของภิกษุเหล่านั้น ด้วย พระทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังโรงกลมใกล้ ไม้กุ่มน้ำ ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับนั่ง แล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนาอะไรกัน เรื่องอะไรที่พวกเธอพูดค้างไว้ เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ไม้กุ่มน้ำ แล้วเกิด สนทนาธรรมกันขึ้นเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาสว่า บุพเพนิวาส บุพเพนิวาส ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระองค์พูดค้างไว้ พอดีพระองค์เสด็จ มาถึง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอปรารถนาหรือไม่ ที่จะฟังธรรมีกถาซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาส ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มี- พระภาค เป็นการสมควรแล้วที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงกระทำธรรมีกถาซึ่งเกี่ยว ด้วยบุพเพนิวาส ข้าแต่พระสุคต เป็นการสมควรแล้วที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรง กระทำธรรมีกถาซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาส ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มี- *พระภาคแล้ว จักได้ทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้า อย่างนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นับแต่นี้ไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก นับแต่นี้ไป ๓๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกัปที่ ๓๑ นั่นเอง พระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า เวสสภู ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในภัททกัปนี้แหละ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในภัททกัปนี้แหละ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ใน ภัททกัปนี้แหละ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในภัททกัปนี้แหละ เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบัดนี้อุบัติขึ้นแล้วในโลก ฯ [๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ ทรงอุบัติในขัตติยสกุล พระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ได้เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ ทรงอุบัติในขัตติยสกุล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ได้เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ ทรงอุบัติในขัตติยสกุล พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ได้เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ ทรงอุบัติ ในพราหมณสกุล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ได้เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ ทรงอุบัติในพราหมณสกุล พระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ได้เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ ทรงอุบัติ ในพราหมณสกุล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ได้เป็น กษัตริย์โดยชาติ อุบัติในขัตติยสกุล ฯ [๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เป็นโกณฑัญญโคตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี เป็นโกณฑัญญโคตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู เป็นโกณฑัญญโคตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ เป็นกัสสปโคตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ เป็นกัสสปโคตร พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เป็นกัสสปโคตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้อรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้าในบัดนี้ เป็นโคตมโคตร ฯ [๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ประมาณ ๗๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุ ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ชนมายุของเราในบัดนี้มีประมาณน้อยนิดเดียว ผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างนาน ก็เพียง ๑๐๐ ปี บางทีก็น้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง ฯ [๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ- *นามว่าวิปัสสี ตรัสรู้ที่ควงไม้แคฝอย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ตรัสรู้ที่ควงไม้กุ่มบก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ตรัสรู้ที่ควงไม้สาละ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ตรัสรู้ที่ควงไม้ซึก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ตรัสรู้ที่ควงไม้มะเดื่อ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ตรัสรู้ที่ควงไม้ไทร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ตรัสรู้ที่ควงไม้โพธิ์ ฯ [๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ นามว่าวิปัสสี มีพระขัณฑะและพระติสสะเป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี มีพระอภิภู และพระ- *สัมภวะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู มีพระโสนะและพระอุตตระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ มีพระวิธูระ และพระสัญชีวะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ มีพระภิยโยสะ และ พระอุตตระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ มีพระติสสะ และพระภารทวาชะ เป็นคู่ พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราในบัดนี้ มีสารีบุตร และโมคคัลลานะ เป็นคู่อัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ ฯ [๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งสาวกของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้มีสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีพระสาวก ประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนหกหมื่นแปดพันรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุม กันเป็นจำนวนภิกษุแสนรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แปดหมื่นรูป สาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ซึ่งได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ นามว่าสิขี ได้มีสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแปดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุเจ็ดหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ซึ่งได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มี- พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ได้มีสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแปดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวก ประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุเจ็ดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุหกหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ซึ่งได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุสี่หมื่นรูป พระสาวก ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ซึ่งได้ประชุม กันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกัน แห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวนภิกษุสามหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวน ภิกษุสองหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ- *นามว่ากัสสปะ ที่ได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การประชุมกันแห่งสาวกของเราในบัดนี้ ได้มีครั้งเดียว มีจำนวน ภิกษุหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูป สาวกของเรา ซึ่งได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น ฯ [๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าอโสกะ เป็นอัครอุปัฏฐากของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ภิกษุชื่อว่าเขมังกระ เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี ภิกษุชื่อว่าอุปสันตะ เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ภิกษุชื่อว่าวุฑฒิชะ เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ภิกษุชื่อว่าโสตถิชะ เป็นอัคร- *อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ภิกษุชื่อว่า สัพพมิตตะ เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชื่อว่าอานนท์ ได้เป็น อัครอุปัฏฐากของเราในบัดนี้ ฯ [๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระนามว่าพันธุมา เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าพันธุมดี เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี พระนครชื่อว่าพันธุมดีได้เป็นราชธานีของ พระเจ้าพันธุมา พระราชาพระนามว่าอรุณะเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าปภาวดี เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า สิขี พระนครชื่อว่าอรุณวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าอรุณะ พระราชาพระนามว่า สุปปตีตะ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่ายสวดี เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้า ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู พระนครชื่อว่า อโนมะ ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าสุปปตีตะ พราหมณ์ชื่อว่าอัคคิทัตตะ เป็น พระชนก พราหมณีชื่อว่าวิสาขา เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ ภิกษุทั้งหลาย ก็พระราชาพระนามว่า เขมะ ได้มีแล้วโดยสมัยนั้นแล พระนครชื่อว่าเขมวดี ได้เป็นราชธานีของ พระเจ้าเขมะ พราหมณ์ชื่อว่ายัญญทัตตะ เป็นพระชนก พราหมณีชื่อว่าอุตตรา เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โกนาคมนะ ก็พระราชาพระนามว่าโสภะ ได้มีแล้วโดยสมัยนั้นแล พระนครชื่อว่า โสภวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ พราหมณ์ชื่อว่าพรหมทัตตะ เป็น พระชนก พราหมณีชื่อธนวดี เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ก็พระราชาพระนามว่ากิงกี ได้มีแล้ว โดยสมัยนั้นแล พระนครชื่อว่าพาราณสี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระนามว่าสุทโธทนะ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่า มายา เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของเราในบัดนี้ พระนครชื่อว่า กบิลพัสดุ์ ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าสุทโธทนะ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสดั่งนี้แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าพระวิหาร ฯ [๑๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุ เหล่านั้นได้สนทนากันขึ้นในระหว่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ไม่เคย มีแล้ว ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตต้องทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จึงจักทรง ระลึกได้ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรมเครื่อง ทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มีวัฏฏะอันตัดแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพทุกข์แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณแห่ง พระชนมายุ แม้โดยคู่แห่งพระสาวก แม้โดยประชุมแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วย เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึงได้มีพระชาติเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มี- *พระภาคเหล่านั้น จึงได้มีพระนามเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึงได้มีพระโคตรเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงได้มีศีลเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงได้มีธรรมเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มี- พระภาคเหล่านั้นจึงได้มีพระปัญญาเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึงได้มีวิหารธรรมเช่นนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึงได้มีวิมุตติเช่นนี้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นอย่างไรหนอแล พระตถาคตพระองค์เดียวจึงทรงแทง ตลอดธรรมธาตุนี้ เพราะเหตุที่พระตถาคตทรงแทงตลอดธรรมธาตุแล้ว ฉะนั้น จึงทรงระลึกได้ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรม เครื่องทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มีวัฏฏะอันตัดแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพ ทุกข์แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณ แห่งพระชนมายุ แม้โดยคู่แห่งพระสาวก แม้โดยประชุมแห่งสาวกว่า แม้ด้วย เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงได้มีพระชาติเช่นนี้ มีพระนามเช่นนี้ มีพระโคตร เช่นนี้ มีศีลเช่นนี้ มีธรรมเช่นนี้ มีพระปัญญาเช่นนี้ มีวิหารธรรมเช่นนี้ มีวิมุตติ เช่นนี้ ดังนี้ หรือว่า เพราะความข้อนี้ พวกเทวดาได้กราบทูลแด่พระตถาคต พระตถาคตจึงทรงระลึกได้ถึงพระพุทธเจ้าที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรม เครื่องทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มีวัฏฏะอันตัดแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพ ทุกข์แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณ แห่งพระชนมายุ แม้โดยคู่แห่งพระสาวก แม้โดยประชุมแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วย เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงได้มีพระชาติเช่นนี้ มีพระนามเช่นนี้ มีพระโคตร เช่นนี้ มีศีลเช่นนี้ มีธรรมเช่นนี้ มีพระปัญญาเช่นนี้ มีวิหารธรรมเช่นนี้ มีวิมุตติ เช่นนี้ ก็ภิกษุเหล่านั้นยังค้างการสนทนากันอยู่ตรงนี้ ฯ [๑๑] ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่ประทับพักผ่อนในเวลา เย็น เสด็จตรงไปยังโรงใกล้หมู่ไม้กุ่มน้ำ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ นั่งประชุมสนทนาอะไรกัน เรื่องอะไรที่พวกเธอพูดค้างไว้ เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสถามดังนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์ได้สนทนากันขึ้นใน ระหว่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ไม่เคยมีแล้ว ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตจะต้องทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จึงจักทรงระลึกได้ถึงพระพุทธเจ้า ทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มีวัฏฏะ อันตัดแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพทุกข์ได้แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้ โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณแห่งพระชนมายุ แม้โดยคู่แห่ง พระสาวก แม้โดยประชุมแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่า นั้น จึงได้มีพระชาติเช่นนี้ ฯลฯ มีวิมุตติเช่นนี้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นอย่างไร หนอแล พระตถาคตพระองค์เดียว จึงทรงแทงตลอดธรรมธาตุนี้ เพราะเหตุที่ พระตถาคตทรงแทงตลอดธรรมธาตุแล้วฉะนั้น จึงทรงระลึกได้ถึงพระพุทธเจ้า ทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรมเครื่องทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มี วัฏฏะอันตัดแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพทุกข์แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณแห่งพระชนมายุ แม้โดยคู่ แห่งพระสาวก แม้โดยประชุมแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค เหล่านั้น จึงได้มีพระชาติเช่นนี้ มีพระนามเช่นนี้ มีพระโคตรเช่นนี้ มีศีลเช่นนี้ มีธรรมเช่นนี้ มีพระปัญญาเช่นนี้ มีวิหารธรรมเช่นนี้ มีวิมุตติเช่นนี้ หรือว่าเพราะ ความข้อนี้ พวกเทวดาได้กราบทูลแด่พระตถาคต พระตถาคตจึงทรงระลึกได้ถึง พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรมเครื่องทำให้เนิ่น ช้าได้แล้ว มีวัฏฏะอันตัดแล้ว ครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพทุกข์แล้ว แม้โดย พระชาติ แม้โดยพระนาม ฯลฯ แม้โดยประชุมแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วยเหตุ นี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึงได้มีพระชาติเช่นนี้ มีพระนามเช่นนี้ ฯลฯ มี วิมุตติเช่นนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระองค์พูดค้างไว้ พอดีพระ ผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ตถาคตแทงตลอด ธรรมธาตุแล้ว ฉะนั้น ตถาคตจึงระลึกได้ถึงพระพุทธเจ้าที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปริ- *นิพพานแล้ว ตัดธรรมเครื่องทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มีวัฏฏะอันตัดแล้ว ครอบงำ วัฏฏะแล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณ แห่งพระชนมายุ แม้โดยคู่แห่งพระสาวก แม้โดยการประชุมกันแห่งพระสาวก ว่า แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงได้มีพระชาติเช่นนี้ มีพระนามเช่น นี้ ฯลฯ มีวิมุตติเช่นนี้ ความข้อนี้ แม้พวกเทวดาก็ได้กราบทูลแด่ตถาคต ตถาคต จึงระลึกได้ ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งปรินิพพานแล้ว ตัดธรรม เครื่องทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว มีวัฏฏะอันตัดแล้ว ครอบงำวัฏฏะแล้ว ล่วงสรรพทุกข์ แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม ฯลฯ แม้โดยการประชุมกันแห่ง พระสาวกว่า แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงได้มีพระชาติเช่นนี้ มี พระนามเช่นนี้ มีวิมุตติเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอปรารถนาหรือไม่ที่จะฟัง ธรรมีกถาซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาสโดยยิ่งกว่าประมาณ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นกาลสมควรแล้ว ข้าแต่พระสุคต เป็นกาลสมควรแล้วที่ พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงกระทำธรรมีกถาซึ่งเกี่ยวด้วยบุพเพนิวาส โดยยิ่งกว่า ประมาณ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วจักได้ทรงจำไว้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นับแต่นี้ไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เสด็จอุบัติแล้วในโลก พระองค์เป็นกษัตริย์โดย พระชาติ เสด็จอุบัติแล้วในขัตติยสกุล เป็นโกณฑัญญโดยพระโคตร มีพระชนมายุ ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ควงไม้แคฝอย มีพระขัณฑะ และ พระติสสะ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ การประชุมแห่งพระสาวกของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้มีแล้วสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนหกหมื่นแปดพันรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุแปดหมื่นรูป ภิกษุทั้งหลาย พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ซึ่งได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนเป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อว่าอโสกะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี พระราชาพระนามว่าพันธุมา เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าพันธุมดี เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระองค์ พระนครชื่อว่าพันธุมดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา ฯ [๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี จุติจากชั้นดุสิตแล้ว มีพระสติสัมปชัญญะ เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ เมื่อใดพระโพธิสัตว์จุติจาก ชั้นดุสิต เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เมื่อนั้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ แสง สว่างอันยิ่งไม่มีประมาณปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ช่องว่าง ซึ่งอยู่ที่สุดโลก มิได้ถูกอะไรปกปิดไว้ ที่มืดมิดก็ดี สถานที่ที่พระจันทร์และ พระอาทิตย์เหล่านี้ ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากปานนี้ส่องแสงไปไม่ถึงก็ดี ในที่ ทั้งสองชนิดนั้น แสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดา ทั้งหลาย ถึงสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสถานที่เหล่านั้นก็จำกันและกันได้ ด้วยแสงนั้น ว่า พ่อเฮ้ย ได้ยินว่า ถึงสัตว์พวกอื่นที่เกิดในนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน ทั้งหมื่นโลก ธาตุนี้ ย่อมหวั่นไหว สะเทื้อนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณย่อม ปรากฏในโลกล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา เทวบุตร ๔ องค์ ย่อมเข้าไปรักษาทิศทั้ง ๔ โดยตั้งใจว่า ใครๆ คือ มนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ตามอย่าเบียดเบียนพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดา ของพระโพธิสัตว์นั้นได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์โดยปรกติทรงศีล งดเว้น จากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้น จากการกล่าวเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความ ประมาท ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่เกิดมานัส ซึ่งเกี่ยวด้วยกามคุณในบุรุษทั้งหลาย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมเป็นหญิงที่ บุรุษใดๆ ซึ่งมีจิตกำหนัดแล้วจะล่วงเกินไม่ได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมได้กามคุณ ๕ พระนางเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับบำเรออยู่ ข้อนี้เป็นธรรมดา ในเรื่องนี้ ฯ [๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา อาพาธใดๆ ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของ พระโพธิสัตว์เลย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทรงสำราญ ไม่ลำบากพระกาย และพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเสด็จอยู่ ภายในพระครรภ์มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง ขาวหรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น บุรุษผู้มีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นี้นั้นวางไว้ในมือแล้ว พิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่าง เจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวล ร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน กันแล ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา อาพาธใดๆ ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรง สำราญ ไม่ลำบากพระกาย และพระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทอดพระเนตร เห็นพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จอยู่ ณ ภายในพระครรภ์ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มี อินทรีย์ไม่บกพร่อง ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ แล้วได้ ๗ วัน พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทิวงคตเสด็จเข้าถึงชั้นดุสิต ข้อนี้ เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ หญิงอื่นๆ บริหารครรภ์ ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด พระมารดาของพระโพธิสัตว์หาเหมือนอย่างนั้น ไม่ พระมารดาของพระโพธิสัตว์บริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน ถ้วน จึงประสูติ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่ประสูติเหมือนหญิงอื่นๆ ซึ่งนั่งหรือนอนคลอด ส่วนพระมารดาของ พระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติพระโพธิสัตว์ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา พวกเทวดารับก่อน พวกมนุษย์รับทีหลัง ข้อนี้ เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ ออกจากพระครรภ์พระมารดาและยังไม่ทันถึงแผ่นดิน เทวบุตร ๔ องค์ประคองรับ พระโพธิสัตว์นั้นแล้ววางไว้เบื้องหน้าพระมารดา กราบทูลว่า ขอจงมีพระทัยยินดีเถิด พระเทวี พระโอรสของพระองค์ที่เกิดมีศักดิ์ใหญ่ นี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ ออกจากพระครรภ์พระมารดา เสด็จออกอย่างง่ายดายทีเดียว ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยโลหิต ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วมณีอันบุคคล วางลงไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ แก้วมณีย่อมไม่ทำผ้ากาสิกพัสตร์ให้เปรอะเปื้อนเลย ถึงแม้ผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำแก้วมณีให้เปรอะเปื้อน เพราะเหตุไรจึงเป็นดังนั้น เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของบริสุทธิ์ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน แล ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เสด็จออกอย่าง ง่ายดายทีเดียว ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปรอะเปื้อน ด้วยโลหิต ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา ธารน้ำย่อมปรากฏจากอากาศสองธาร เย็นธาร หนึ่ง ร้อนธารหนึ่ง สำหรับกระทำอุทกกิจ แก่พระโพธิสัตว์และพระมารดา ข้อนี้ เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้ว ได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้าน ทิศอุดร เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว และเมื่อฝูงเทพดากั้นเศวตฉัตรตามเสด็จอยู่ ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่า เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้ มี ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ เมื่อใด พระโพธิสัตว์ เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ แสงสว่างอันยิ่ง ไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ช่องว่างซึ่งอยู่ที่สุด โลกมิได้ถูกอะไรปกปิด ที่มืดมิดก็ดี สถานที่ที่พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านี้ ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากปานนี้ส่องแสงไปไม่ถึงก็ดี ในที่ทั้งสองชนิดนั้น แสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ถึง สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสถานที่เหล่านั้นก็จำกันและกันได้ ด้วยแสงสว่างนั้นว่า พ่อเฮ้ย ได้ยินว่าถึงสัตว์พวกอื่นที่เกิดในนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน และหมื่นโลกธาตุนี้ ย่อมหวั่นไหวสะเทื้อนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ [๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้วแล พวกอำมาตย์ได้กราบทูลแด่พระเจ้าพันธุมาว่า ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ ประสูติแล้ว ขอพระองค์จงทอดพระเนตร พระราชโอรสนั้นเถิด ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรเห็นพระวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่งเรียกพวก พราหมณ์ผู้รู้นิมิตมาแล้วตรัสว่า ขอพวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตผู้เจริญจงตรวจดู พระราชกุมารเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตได้เห็นพระวิปัสสีราชกุมาร นั้นแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมานั้นดังนี้ ขอเดชะ ขอพระองค์จงดีพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่ทรง เกิดแล้วมีศักดิ์ใหญ่ ข้าแต่มหาราช เป็นลาภของพระองค์ ผู้เป็นเจ้าของสกุล อันเป็นที่บังเกิดแห่งพระราชโอรส เห็นปานดังนี้ ขอเดชะ พระองค์ได้ดีแล้ว เพราะพระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ซึ่งมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่ เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชา โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มี ราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์ มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ฯ ขอเดชะ ก็พระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เหล่าไหน อันเป็นเหตุให้มีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจักได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มี มหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้วมีพระราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วย แก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ฯลฯ ครอบครองแผ่นดินมีสาคร ๔ เป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ฯ [๒๙] ๑. ขอเดชะ ก็ พระราชกุมารนี้มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี (เรียบเสมอ) ข้าแต่สมมติเทพ การที่พระราชกุมารนี้มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี นี้เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษนั้น ฯ ๒. ณ พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระราชกุมารนี้ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ข้าแต่สมมติเทพ แม้ การที่พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระราชกุมารนี้มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง นี้ก็เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษนั้น ฯ ๓. มีส้นพระบาทยาว ฯ ๔. มีพระองคุลียาว ฯ ๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ฯ ๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ฯ ๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ฯ ๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย ฯ ๙. เสด็จสถิตยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึง พระชาณุทั้งสอง ฯ ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ฯ ๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณแห่งทองคำ คือ มีพระตจะประดุจหุ้มด้วย ทอง ฯ ๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ใน พระกายได้ ฯ ๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆ ฯ ๑๔. มีพระโลมชาติที่มีปลายช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอก อัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ ฯ ๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหม ฯ ๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน ฯ ๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ ฯ ๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็ม ฯ ๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์ พระกายของพระองค์เท่ากับวาของพระองค์ ฯ ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน ฯ ๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี ฯ ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ฯ ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ฯ ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ฯ ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง ฯ ๒๖. มีพระทาฐะขาวงาม ฯ ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ ฯ ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกการวิก ฯ ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท (ดำคม) ฯ ๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค ฯ ๓๑. มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างแห่งขนง มีสีขาวอ่อนควร เปรียบด้วยนุ่น ฯ ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้าแต่สมมติเทพ แม้ การที่พระราชกุมารนี้ มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ ก็เป็นมหาปุริส ลักษณะของมหาบุรุษนั้น ฯ [๓๐] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เหล่า นี้ ซึ่งมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายาแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้อง ใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออก ผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้วในโลก ฯ [๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาโปรดให้พวก พราหมณ์ผู้รู้นิมิตนุ่งห่มผ้าใหม่แล้ว เลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกสิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งตั้งพี่เลี้ยงนางนมแก่พระวิปัสสี ราชกุมาร หญิงพวกหนึ่งให้เสวยน้ำนม หญิงพวกหนึ่งให้สรงสนาน หญิงพวกหนึ่ง อุ้ม หญิงพวกหนึ่งใส่สะเอว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ราชบุรุษทั้งหลาย ได้กั้นเศวตฉัตรเพื่อพระวิปัสสี ราชกุมารผู้ประสูติแล้วนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน หญ้า ละออง หรือน้ำค้าง อย่าได้ต้องพระองค์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล เป็นที่รักเป็นที่ เจริญใจของชนเป็นอันมาก ดอกอุบล ดอกประทุม หรือดอกปุณฑริก เป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก แม้ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมารก็ได้เป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พระวิปัสสีราชกุมาร นั้นอันบุคคลผลัดเปลี่ยนกันอุ้มใส่สะเอวอยู่เสมอ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล เป็นผู้มีพระสุร เสียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน และเป็นที่ตั้งแห่งความรัก หมู่นกการวิก บนหิมวันตบรรพตมีสำเนียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน และเป็นที่ตั้งแห่งความ ปรีเปรม ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีพระสุรเสียง กลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิพยจักษุอันเกิดแต่กรรมวิบาก อันเป็นเหตุให้เห็นได้ ไกลโดยรอบโยชน์หนึ่งทั้งกลางวันและกลางคืน ได้ปรากฏแก่พระวิปัสสีราชกุมาร ผู้ประสูติแล้วแล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล ไม่กะพริบ พระเนตรเพ่งแลดู ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไม่กะพริบเนตรเพ่งแลดู แม้ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่กะพริบพระเนตรเพ่ง แลดู ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมญาว่า วิปัสสี ดังนี้แล ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่ พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาประทับนั่งในศาลสำหรับ พิพากษาคดี ให้พระวิปัสสีราชกุมารนั่งบนพระเพลาไต่สวนคดีอยู่ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พระวิปัสสีราชกุมารประทับนั่งบนพระเพลา ของพระชนก ณ ศาลสำหรับพิพากษาคดีนั้น ทรงสอดส่องพิจารณาคดีแล้ว ทรงทราบ ได้ด้วยพระญาณ พระราชกุมารสอดส่องพิจารณาคดีแล้ว ย่อมทรงทราบได้ด้วย พระญาณ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สมญาว่า วิปัสสี ดังนี้แล ได้บังเกิดขึ้นแล้ว แก่พระวิปัสสีราชกุมารนั้น โดยยิ่งกว่าประมาณ ลำดับนั้นแล พระเจ้าพันธุมา ได้โปรดให้สร้างปราสาทสำหรับพระวิปัสสีราชกุมาร ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับ ประทับในฤดูฝน หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูหนาว อีกหลังหนึ่งสำหรับประทับ ในฤดูร้อน โปรดให้บำรุงพระราชกุมารด้วยเบญจกามคุณ ได้ยินว่า พระวิปัสสี ราชกุมารได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในปราสาท สำหรับประทับในฤดูฝน ในบรรดาปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น มิได้เสด็จลงสู่ปราสาท ชั้นล่างเลย ดังนี้แล ฯ
จบภาณวารที่หนึ่ง
-----------------------------------------------------
[๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี หลาย ร้อยปี หลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า นายสารถี ผู้สหาย เธอจงเทียมยานที่ดีๆ เราจะไปสวนเพื่อชมพื้นที่อันสวยสด ภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว เทียมยานที่ดีๆ เสร็จแล้ว จึง กราบทูลแด่พระวิปัสสีราชกุมารว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้เทียมยานที่ดีๆ เสร็จแล้ว บัดนี้ พระองค์ทรงกำหนดเวลาอันสมควรเถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานอันดี เสด็จ ประพาสพระอุทยาน พร้อมกับยานที่ดีๆ ทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมาร ขณะเมื่อ เสด็จประพาสพระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรชายชรา มีซี่โครงคดเหมือนกลอน หลังงอ ถือไม้เท้า เดินงกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ชายผู้นี้ ถูกใครทำอะไรให้ แม้ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ร่างกายของเขาก็ไม่ เหมือนของคนอื่นๆ ฯ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนชรา ฯ นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนชรา ฯ ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนชรา บัดนี้ เขาจักพึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ฯ นายสารถี ถึงตัวเราก็จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ ไปได้หรือ ฯ ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้า ล้วนแต่จะต้องมีความแก่เป็น ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ฯ นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับภายในบุรีจากสวนนี้เถิด ฯ นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จกลับไปยัง ภายในบุรีจากพระอุทยานนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้นพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภายใน บุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัยทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อ ว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่ จักปรากฏแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ [๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งหานายสารถี มาตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารได้อภิรมย์ ในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารพอพระทัย ในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถี กราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงพอพระทัยในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน ดังนี้ ตรัส ถามต่อไปว่า ดูกรนายสารถีผู้สหาย ก็ราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสสวนได้ ทอดพระเนตรอะไรเข้า ฯ นายสารถีได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรชายชรามีซี่โครงคดเหมือนกลอน หลังงอ ถือไม้เท้า เดินงกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น ครั้นได้ทอดพระเนตร แล้ว ได้มีรับสั่งถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ชายผู้นี้ถูกใครทำอะไร ให้ แม้ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ร่างกายของเขาก็ไม่เหมือนของ คนอื่นๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แล เรียกว่า คนชรา พระองค์ ได้ตรัสถามย้ำว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนชรา เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนชรา บัดนี้เขาจักพึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน พระราชกุมารได้ตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความแก่เป็น ธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้หรือ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ แก่ไปได้ พระองค์ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับ ภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปภายในบุรีจากสวนนี้ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า รับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมาร แล้วได้นำเสด็จกลับไปภายในบุรีจากพระอุทยาน นั้น ขอเดชะ พระราชกุมารนั้นแล เสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้า พระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของ น่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏแก่ผู้ที่เกิด มาแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมา ทรงพระดำริว่า วิปัสสี ราชกุมารอย่าไม่เสวยราชย์เสียเลย วิปัสสีราชกุมารอย่าออกผนวชเป็นบรรพชิตเลย ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์อย่าพึงเป็นความจริงเลย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้บำรุงบำเรอ พระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ ยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยอาการที่จะให้พระวิปัสสี ราชกุมารเสวยราชย์ โดยอาการที่จะไม่ให้พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จออกผนวช เป็นบรรพชิต โดยอาการที่จะให้ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์เป็นผิด ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับ การบำรุงบำเรออยู่ ฯ [๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี พระ วิปัสสีราชกุมาร ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมาร ขณะเมื่อเสด็จประพาส พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรคนเจ็บ ถึงความลำบาก เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่ ในมูตรและกรีสของตน คนอื่นๆ ต้องช่วยพยุงให้ลุก ผู้อื่นต้องช่วยให้กิน ครั้น ทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ชายนี้ถูกใคร ทำอะไรให้ แม้ตาทั้งสองของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ศีรษะของเขาก็ไม่ เหมือนของคนอื่นๆ ฯ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บ ฯ นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนเจ็บ ฯ ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บ ไฉนเล่าเขาจะพึงหายจากความเจ็บ นั้นได้ ฯ นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความเจ็บไปได้หรือ ฯ ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้า ล้วนจะต้องมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ฯ นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปยังภายในบุรีจากสวนนี้เถิด ฯ นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จกลับไปยัง ภายในบุรี จากพระอุทยานนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภาย ในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความ แก่จักปรากฏ ความเจ็บจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งหานายสารถี มาตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารได้อภิรมย์ในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารพอพระทัยในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถี กราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงพอพระทัยในภูมิภาคแห่งพระอุทยานดังนี้ ตรัสถาม ต่อไปว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสสวนได้ทอดพระเนตร อะไรเข้า ฯ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรคนเจ็บ ถึงความลำบาก เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่ ในมูตรและกรีสของตน บุคคลอื่นๆ ต้องช่วยพยุงให้ลุก ผู้อื่นต้องช่วยให้กิน ครั้นทอดพระเนตรแล้ว ได้รับสั่งถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย ชาย คนนี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ตาทั้งสองของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ศีรษะ ของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แล เรียกว่า คนเจ็บ พระองค์ได้ตรัสถามย้ำว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนเจ็บ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บ ไฉน เล่าเขาจะพึงหายจากความเจ็บนั้นได้ พระราชกุมารได้ตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย แม้ถึงตัวเราก็จะต้องมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้หรือ แต่พอ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมี ความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ พระองค์ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรา กลับไปยังภายในบุรีจากสวนนี้ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารับรับสั่งของพระวิปัสสี- *ราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จกลับไปภายในบุรีจากพระอุทยานนั้น ขอเดชะ พระราช- *กุมารนั้นแล เสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์ เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า ความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏ ความเจ็บป่วยจักปรากฏแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า วิปัสสี ราชกุมาร อย่าไม่เสวยราชเสียเลย วิปัสสีราชกุมารอย่าออกผนวชเป็นบรรพชิต เลย ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์อย่าพึงเป็นความจริงเลย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้บำรุงบำเรอ พระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ ยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยอาการที่จะให้พระวิปัสสี ราชกุมารเสวยราชย์ โดยอาการที่จะไม่ให้พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จออกผนวช เป็นบรรพชิต โดยอาการที่จะให้ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์เป็นผิด ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับ การบำรุงบำเรออยู่ ฯลฯ [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส พระอุทยานได้ทอดพระเนตรหมู่มหาชนประชุมกัน และวอที่ทำด้วยผ้าสีต่างๆ ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถีผู้สหาย หมู่มหาชน เขาประชุมกันทำไม และเขาทำวอด้วยผ้าสีต่างๆ กันทำไม นายสารถีได้กราบทูล ว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนตาย พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสสั่งว่า นายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้ ขับรถไปทางคนตายนั้น ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตร คนตายไปแล้ว ได้ตรัสเรียกนายสารถีมารับสั่งถามว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือ เรียกว่าคนตาย ฯ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนตาย บัดนี้ มารดาบิดา หรือญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นเขา แม้เขาก็จักไม่เห็นมารดาบิดาหรือญาติ สาโลหิตอื่นๆ ฯ นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้หรือ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ จัก ไม่เห็นเราหรือ แม้เราก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติ สาโลหิตอื่นๆ หรือ ฯ ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมีความตายเป็น ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติ สาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จะไม่เห็น พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับ ภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปภายในบุรีจากสวนนี้เถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำ เสด็จกลับไปภายในบุรี จากพระอุทยานนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึง ภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยิน ว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏ ความเจ็บจักปรากฏ ความตายจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งหานายสารถี มาตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่งสวน แลหรือ นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารพอพระทัยในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่ง พระอุทยาน ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงพอพระทัยในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน ดังนี้ ตรัสถามต่อไปว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสสวน ได้ทอดพระเนตรอะไรเข้า ฯ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรหมู่มหาชนประชุมกันและวอที่ทำด้วยผ้าสีต่างๆ แล้ว ได้ตรัสถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย หมู่มหาชนประชุมกันทำไม เขา กระทำวอด้วยผ้าสีต่างๆ กันทำไม เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า นี้แลเรียกว่า คนตาย พระองค์ได้ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง คนตายนั้น ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้ขับรถ ไปทางคนตายนั้น ขอเดชะ พระราชกุมารได้ทอดพระเนตรคนตายเข้าแล้วได้ตรัส- *ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่าคนตาย เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนตาย บัดนี้ มารดาบิดาและญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นเขา แม้เขาก็จักไม่เห็นมารดาบิดาหรือญาติสาโลหิตอื่นๆ ดังนี้ พระองค์ ได้ตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้หรือ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็น เราหรือ แม้เราก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเทวีหรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ หรือ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้อง มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือ พระญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ ดังนี้ พระองค์ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปในบุรีจาก สวนนี้ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จ กลับไปภายในบุรีจากพระอุทยานนั้น ขอเดชะ พระราชกุมารนั้น เสด็จถึงภายในบุรี แล้วทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า ความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะเมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏ ความ เจ็บจักปรากฏ ความตายจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า วิปัสสี- *ราชกุมารอย่าไม่พึงเสวยราชย์เลย วิปัสสีราชกุมารอย่าออกผนวชเป็นบรรพชิตเลย ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์ทั้งหลายอย่าเป็นความจริงเลย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาได้รับสั่งให้บำรุงบำเรอ พระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ ยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยอาการที่จะให้พระวิปัสสี- *ราชกุมารเสวยราชย์ โดยอาการที่จะไม่ให้พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จออกผนวชเป็น บรรพชิต โดยอาการที่จะให้ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์เป็นผิด ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเพียบพร้อม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับการบำรุงบำเรออยู่ ฯ [๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี หลาย ร้อยปี หลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า นายสารถี ผู้สหาย เธอจงเทียมยานที่ดีๆ เราจะไปในสวนเพื่อชมพื้นที่อันสวยสด ภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้วเทียมยานที่ดีๆ เสร็จ แล้ว ได้กราบทูลแด่พระวิปัสสีราชกุมารว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเทียมยาน ที่ดีๆ เสร็จแล้ว บัดนี้ พระองค์ทรงกำหนดเวลาอันสมควรเถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานที่ดีเสด็จ ประพาสพระอุทยานพร้อมกับยานที่ดีๆ ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมาร ขณะเมื่อเสด็จประพาสพระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรบุรุษบรรพชิตศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถี ผู้สหาย บุรุษนี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ศีรษะของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่นๆ แม้ผ้า ทั้งหลายของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่นๆ นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าบรรพชิต ฯ นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า บรรพชิต ฯ ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า บรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การ ประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็น ความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี ฯ นายสารถีผู้สหาย ดีละ ที่บุคคลนั้นได้นามว่า บรรพชิต การประพฤติ ธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์ เป็นความดี นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางบรรพชิตนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ขับรถ ไปทางบรรพชิตนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิต นั้นว่า สหาย ท่านถูกใครทำอะไรให้ แม้ศีรษะของท่านก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ผ้าทั้งหลายของท่านก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ ฯ บรรพชิตนั้นได้ทูลว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพแลชื่อบรรพชิต ฯ สหาย ก็ท่านหรือชื่อบรรพชิต ฯ ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อบรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญ เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี ฯ ดีละสหาย ที่ท่านได้นามว่าบรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญ เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนาย สารถีมาสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับไปภายในบุรี จากสวนนี้ ส่วนเราจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็น บรรพชิต ณ สวนนี้แหละ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้พา รถกลับไปยังภายในบุรี จากสวนนั้น ส่วนพระวิปัสสีราชกุมารได้ทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว ณ พระอุทยานนั้นเอง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชนในพระนครพันธุมดีราชธานีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้สดับข่าวว่า พระวิปัสสีราชกุมารได้ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตเสียแล้ว ดังนี้ ครั้นแล้ว มหาชนเหล่านั้น ได้ดำริดังนี้ว่า ก็พระวิปัสสีราชกุมารได้ทรงปลงพระเกศาและ พระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตในพระธรรม วินัยใด พระธรรมวินัยนั้นคงไม่เลวทรามเป็นแน่ บรรพชานั้นคงไม่เลวทราม เป็นแน่ แต่พระวิปัสสีราชกุมารยังทรงปลง พระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้า กาสาวพัสตร์เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตได้ พวกเราทำไมจึงจักบวชไม่ได้เล่า ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล หมู่มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้พากัน โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จพระวิปัสสี โพธิสัตว์แล้ว ได้ยินว่าพระวิปัสสีโพธิสัตว์อันบริษัทนั้นห้อมล้อม เสด็จเที่ยวจาริก ไปในบ้าน นิคม ชนบท และราชธานี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์เสด็จหลีกออกเร้นอยู่ ในที่ลับ ได้ทรงพระปริวิตกเช่นนี้ว่า การที่เราเป็นผู้ปะปนอยู่เช่นนี้ ไม่สมควรเลย ไฉนหนอ เราพึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว ภิกษุทั้งหลาย ครั้นสมัยต่อมา พระ วิปัสสีโพธิสัตว์ได้เสด็จหลีกออกจากหมู่ประทับอยู่แต่พระองค์เดียว บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูป ได้พากันไปทางหนึ่ง พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้เสด็จไปทางหนึ่ง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ผู้เสด็จหลีกออกเร้นอยู่ ในที่ลับ ได้ทรงพระปริวิตกเช่นนี้ว่า โลกนี้ถึงความยาก ย่อมเกิด แก่ ตาย และ เวียนตาย เวียนเกิด เออก็แหละบุคคลไม่รู้ชัดถึงอุบายเครื่องพ้นทุกข์ คือ ชราและ มรณะนี้ การพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ จักปรากฏได้เมื่อไรเล่า ฯ [๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชราและมรณะจึงมี ชราและมรณะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุ ทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี ชรา- *และมรณะมีเพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์เพราะทรง กระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ ชาติจึงมี ชาติมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัส รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพมีอยู่ชาติจึงมี ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่ พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ ภพจึงมี ภพมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานมีอยู่ภพจึงมี ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มี แล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็น ปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย อันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การ ตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนามีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอัน- *แยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย อันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อสฬายตนะมีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัยภิกษุทั้งหลายครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะนามรูป เป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร มีอยู่หนอ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็น ปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดย อุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า วิญญาณ นี้ย่อมกลับเวียนมาแต่นามรูป หาใช่อย่างอื่นไม่ โดยความเป็นไปเพียงเท่านี้ สัตว์ โลกพึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุปบัติบ้าง ความเป็นไปนั้นคือ วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย สฬายตนะ มีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เวทนามีเพราะ ผัสสะเป็นปัจจัย ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรามรณะโสกปริเทวทุกข โทมนัสและอุปายาสย่อมมีพร้อมเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า สมุทัยๆ (เหตุเกิดขึ้นพร้อมๆ ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรม ทั้งหลายที่พระองค์มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย ฯ [๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ได้ทรงพระ ดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะ จึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและ มรณะย่อมไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสี โพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพไม่มีชาติย่อมไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ดังนี้ ได้มี แล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานไม่มี ภพย่อมไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย อันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ อุปาทานจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานย่อมไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหาจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาย่อมไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหา จึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย อันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนาจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาย่อมไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนา จึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะย่อมไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ สฬายตนะจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะย่อมไม่มี เพราะนาม รูปดับ สฬายตนะจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำ ไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปย่อมไม่มี เพราะวิญญาณดับ นาม รูปจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย โดยอุบายอันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร ไม่มีเล่าหนอ วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณย่อมไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณ จึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย อันแยบคาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า หนทาง เพื่อความตรัสรู้นี้เราได้บรรลุแล้วแล คือเพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับโดย ไม่เหลือ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า นิโรธๆ (ความดับๆ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์ มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย ฯ [๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้นสมัยอื่น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพิจารณา เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า ดังนี้รูป ดังนี้เหตุ เกิดแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป ดังนี้เวทนา ดังนี้เหตุเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา ดังนี้สัญญา ดังนี้เหตุเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่ง สัญญา ดังนี้สังขาร ดังนี้เหตุเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ความดับแห่งสังขาร ดังนี้ วิญญาณ ดังนี้เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ เมื่อพระองค์ ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นแล ฯ
จบภาณวารที่สอง
-----------------------------------------------------
[๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ- *เจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงพระดำริว่า ไฉนหนอเราพึงแสดงธรรม ดูกรภิกษุ ทั้งหลายลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรง พระดำริว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ส่วนหมู่สัตว์นี้ มีอาลัย เป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็อันหมู่สัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่- *ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะนี้ คือ ปัจจัย แห่งสภาวธรรมอันเป็นที่อาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะ แม้นี้คือพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์ ก็และเราพึงแสดงธรรม แต่สัตว์เหล่าอื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา นั้นพึงเป็นความลำบากแก่เรา นั้นพึง เป็นความเดือดร้อนแก่เรา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า คาถาทั้งหลายที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักซึ่งพระองค์ มิได้เคยสดับมาแล้วแต่ก่อน ได้แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ- *เจ้าพระนามว่าวิปัสสี ดังนี้ บัดนี้ ไม่ควรเลยที่จะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุ แล้วโดยแสนยาก ธรรมนี้อันสัตว์ที่ถูกราคะและ โทสะครอบงำแล้ว ไม่ตรัสรู้ได้โดยง่าย สัตว์ที่ถูก ราคะย้อมไว้ ถูกกองแห่งความมืดหุ้มห่อไว้แล้ว จักเห็นไม่ได้ซึ่งธรรมที่มีปรกติไปทวนกระแส อันละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู ฯ [๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี พิจารณาเห็นดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม ฯ [๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งได้ ทราบพระปริวิตกในพระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสีด้วยใจ แล้วจึงดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะฉิบหายเสียละหนอ ผู้เจริญ ทั้งหลาย โลกจะพินาศเสียละหนอ เพราะว่า พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อยเสียแล้ว มิได้น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมนั้นหายไปในพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เหมือนบุรุษที่มีกำลัง เหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่ ได้เหยียดออกไว้ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมกระทำผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกชาณุมณฑลเบื้องขวาลงบนแผ่นดินประนมมือไปทางที่พระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูล กะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระสุคต จงทรงแสดงธรรม ในโลกนี้สัตว์ที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะ มิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นกราบทูลเช่นนี้ พระผู้มีพระ- *ภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ตรัสกะท้าวมหาพรหมนั้นว่า ดูกรพรหม แม้เราก็ได้ดำริแล้วเช่นนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงแสดงธรรม ดูกรพรหม แต่เรานั้นได้คิดเห็นดังนี้ว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ส่วนหมู่สัตว์นี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็อันหมู่สัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ยาก ที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะนี้ คือ ปัจจัยแห่งสภาวะธรรมอันเป็นที่อาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะแม้นี้คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับ แห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความ- *กำหนัด ดับทุกข์ ก็และเราพึงแสดงธรรม แต่สัตว์เหล่าอื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรม ของเรา นั้นพึงเป็นความลำบากแก่เรา นั้นพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา ดูกรพรหม คาถาที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งเรามิได้สดับมาแล้วแต่ก่อนหรือได้แจ่มแจ้งแล้วดังนี้ บัดนี้ ไม่ควรเลยที่จะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยแสนยาก ฯลฯ ดูกรพรหม เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมไปเพื่อจะแสดงธรรม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ท้าวมหาพรหมนั้นก็ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีดังนั้น... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ท้าวมหาพรหมนั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้ มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรม ในโลกนี้สัตว์ที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะมิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมีอยู่ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ทรงทราบการทูลเชิญของพรหมแล้วทรงอาศัยพระกรุณาใน หมู่สัตว์ จึงได้ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุก็ได้ทรงเห็น หมู่สัตว์ บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีใน จักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ง่าย บางพวกจะพึงให้รู้แจ้ง ได้ยาก บางพวกเป็นภัพพสัตว์ บางพวกเป็นอภัพพสัตว์ บางพวกมักเห็นปรโลก และโทษโดยความเป็นภัย ฯ ในกออุบล หรือกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่า ยังจมอยู่ภายในน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำมิได้ติดใบ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ- *นามว่าวิปัสสีทรงตรวจดูด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นก็ฉันนั้นเหมือนกัน บางพวกมีกิเลส เพียงดังธุลีในจักษุน้อย บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์ แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ง่าย บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ยาก บางพวกเป็นภัพพสัตว์ บางพวกเป็นอภัพพสัตว์ บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมทราบพระปริวิตกในพระทัย ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ด้วยใจ แล้วจึง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ด้วยคาถา ทั้งหลายความว่า [๔๕] ผู้ที่ยืนอยู่ยอดภูเขาสิลาล้วน พึงเห็นประชุมชน ได้โดยรอบ ฉันใด ท่านผู้มีเมธาดีมีจักษุโดยรอบ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จแล้วด้วย ธรรม เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ทรงพิจารณา เห็นประชุมชนผู้เกลื่อนกล่นไปด้วยความเศร้าโศก ถูกชาติและชราครอบงำแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ผู้ชนะสงครามแล้ว เป็นนายพวก ปราศจากหนี้ ขอพระองค์จงเสด็จลุกขึ้น เปิดเผยโลก ขอผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมี ฯ [๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นได้กราบทูลแล้ว ดังนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี จึงได้ตรัสกะท้าว- *มหาพรหมนั้นด้วยพระคาถาว่า เราได้เปิดเผยประตูอมตะไว้สำหรับท่านแล้ว ผู้มีโสต จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เรารู้สึกลำบาก จึงมิได้กล่าวธรรมอันประณีตซึ่งเราให้คล่องแคล่วแล้ว ในหมู่มนุษย์ ดังนี้ ฯ [๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมคิดว่าเราเป็นผู้มี โอกาส อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรง กระทำแล้ว เพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ [๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงพระดำริว่า เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อน เล่าหนอ ใครจะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็วพลันทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงพระดำริว่า พระ- *ราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ นี้ ผู้อาศัยอยู่ใน พระนครพันธุมดีราชธานี เป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีกิเลสเพียง ดังธุลีในจักษุเบาบางสิ้นกาลนาน ไฉนหนอ เราพึงแสดงธรรมแก่พระราชโอรส พระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะก่อน คนทั้งสองนั้นจักรู้ทั่วถึง ธรรมนี้ได้รวดเร็วทีเดียว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้หายพระองค์ที่ควงโพธิพฤกษ์ไปปรากฏพระองค์ ณ มฤค- *ทายวันชื่อว่าเขมะ ในพระนครพันธุมดีราชธานี เปรียบเหมือนบุรุษที่กำลังเหยียด ออกซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่ได้เหยียดออกไว้ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ตรัสเรียกคนเฝ้าสวนมฤคทายวันมาว่า มานี่ นายมฤคทายบาล เธอจงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี แล้วบอกกะพระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จถึงพระนครพันธุมดีราชธานีแล้ว กำลังประทับอยู่ที่ มฤคทายวันชื่อว่าเขมะ พระองค์ทรงพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายมฤคทายบาลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีแล้ว เข้าไปยังพระนครพันธุมดี แล้ว แจ้งข่าวกะพระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จถึงพระนคร พันธุมดีราชธานีแล้ว กำลังประทับอยู่ที่มฤคทายวันชื่อว่า เขมะ พระองค์ทรง พระประสงค์ที่จะพบท่านทั้งสอง ฯ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตร ปุโรหิตชื่อว่าติสสะ สั่งให้บุรุษเทียมยานที่ดีๆ แล้วขึ้นสู่ยานที่ดีๆ ออกจาก พระนครพันธุมดีราชธานี พร้อมกับยานดีๆ ทั้งหลาย ขับตรงไปยังมฤคทายวัน ชื่อว่าเขมะ ไปด้วยยานตลอดภูมิประเทศเท่าที่ยานจะไปได้แล้ว ลงจากยานเดินตรง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ถึงที่ประ ทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่ท่านทั้งสองนั้น คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกบวช เมื่อ พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่าท่านทั้งสองนั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศ จากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงได้ทรงประกาศธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า ทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตา เห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระราชโอรส พระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่าติสสะ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่ สะอาด ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น ท่านทั้งสองนั้น เห็นธรรม ถึงธรรม รู้แจ้งธรรม หยั่งทราบธรรม ข้ามความสงสัย ปราศจากความ เคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์ก็แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคและพระธรรมว่าเป็น ที่พึ่ง ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักของพระผู้มี- *พระภาค ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิต ชื่อว่าติสสะ ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ นามว่า วิปัสสี ได้ทรงยังท่านทั้งสองนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจ หาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วประกาศโทษของสังขารอันต่ำช้าเศร้าหมองและ อานิสงส์ในการออกบวช จิตของท่านทั้งสองนั้นผู้อันพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น ฯ [๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชนชาวพระนครพันธุมดีราชธานี ประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จถึงพระนครพันธุมดีราชธานีโดยลำดับแล้ว ประทับอยู่ ณ มฤคทายวัน ชื่อ เขมะ ข่าวว่าพระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อ ติสสะ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต ณ สำนักของพระ ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม วิปัสสี แล้ว ดังนี้ คนเหล่านั้นครั้น ได้ฟังแล้วต่างคิดเห็นกันว่า ก็พระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อ ว่า ติสสะ ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระ ธรรมวินัยใด พระธรรมวินัยนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน บรรพชานั้นคงไม่ต่ำ ทราม แต่พระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ ยังปลง ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตได้ ไฉนพวกเราจึงจัก ออกบวชเป็นบรรพชิตบ้างไม่ได้เล่า ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล หมู่มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คนได้ชวน กันออกจากพระนครพันธุมดีราชธานีเข้าไปทางเขมมฤคทายวัน ที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่ชนเหล่านั้น คือทรงประ กาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ใน การออกบวช เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า ชนเหล่านั้น มีจิตคล่อง มีจิต อ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงได้ทรงประกาศพระธรรม เทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่หมู่มหาชน ๘๔,๐๐๐ คน นั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่ง นั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจาก มลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น ชนเหล่านั้น เห็นธรรม ถึงธรรม รู้แจ้งธรรม หยั่งทราบธรรม ข้ามความสงสัยปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้าพระนามว่า วิปัสสี ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นักข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงาย ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วย คิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดย อเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึง พระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชน ๘๔,๐๐๐ คนเหล่านั้น ได้บรรพชา ได้ อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี แล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ทรงยัง ภิกษุเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมี กถาแล้ว ทรงประกาศโทษของสังขารที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ในพระ นิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้น ผู้อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่น เริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น ฯ [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้สดับข่าว ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จถึงพระ นครพันธุมดีราชธานีโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ มฤคทายวันชื่อว่า เขมะ และมี ข่าวว่า กำลังทรงแสดงธรรมอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้พากันไปทางพระนครพันธุมดีราชธานีทางมฤคทายวันชื่อว่า เขมะ ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ประทับอยู่ ครั้น ถึงแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี แล้วพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่บรรพชิตเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ ในการออกบวช เมื่อทรงทราบว่า บรรพชิตเหล่านั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปนั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควร รับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น บรรพชิตเหล่านั้นเห็นธรรม ถึงธรรม รู้แจ้งธรรม หยั่ง ทราบธรรม ข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้าพระนามว่า วิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงาย ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนก ปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ ขอถึงพระ ผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า พระองค์พึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้นได้บรรพชาได้ อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าวิปัสสีแล้ว พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงยังภิกษุเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ทรงประกาศโทษของสังขาร ที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ในพระนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้น ผู้อันพระ ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถา ไม่นานนักก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น ฯ [๕๑] ก็สมัยนั้น ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ มากประมาณหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันรูป ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้เสด็จเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความ รำพึงในพระทัยว่า บัดนี้ ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่เป็น จำนวนมาก ประมาณหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันรูป ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากเพื่อ ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป เธอ ทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกนี้ที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แต่ว่าโดยหกปีๆ ล่วงไป พวกเธอพึงกลับมายังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงพระปาติโมกข์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ได้ทราบความ รำพึงในพระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ด้วย ใจแล้ว จึงได้หายตัวที่พรหมโลก ไปปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระ ภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลัง เหยียด ออกซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกไว้ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทันใดนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นกระทำผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ในพระนครพันธุมดีราชธานีมี ภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันรูป ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายเถิดว่า ภิกษุทั้งหลาย พวก เธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอัน มาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จง ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ใน โลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็จักกระทำโดยที่จะให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายังพระนครพันธุมดีราช- *ธานี เพื่อแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวมหาพรหมนั้นได้กราบทูลดังนี้แล้วถวายบังคมพระ ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี กระทำประทักษิณแล้ว หาย ไป ณ ที่นั้นเอง ฯ [๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ในเวลาเย็น เสด็จออกจากที่เร้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า ภิกษุทั้งหลาย วันนี้เราไปเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความรำพึงในใจว่า ใน พระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากประมาณหนึ่งแสน หกหมื่นแปดพันรูป ถ้ากระไรเราพึงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจง เที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและ มนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้ง อรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลส เพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสีย ไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แต่ว่า โดยหกปีๆ ล่วงไปพวกเธอพึงกลับมายัง พระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ ภิกษุทั้งหลาย ทันใดนั้นแล ท้าว มหาพรหมองค์หนึ่ง ได้ทราบความรำพึงในใจของเราด้วยใจ แล้วจึงได้หายตัวที่ พรหมโลก มาปรากฏเฉพาะหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลังเหยียดออกซึ่ง แขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกไว้ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย ที่นั้น ท้าว มหาพรหมนั้น กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลีมาทางเราแล้ว พูดกะเราว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่าง นั้น บัดนี้ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ หนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันรูป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุญาตภิกษุ ทั้งหลายเถิดว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็น อันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกัน สองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะ ไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญแม้ข้าพระองค์ก็จักกระทำโดยที่จะให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายังพระนคร พันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ภิกษุทั้งหลาย ท้าว มหาพรหมนั้นพูดกะเรา ดังนี้แล้วไหว้เรา กระทำประทักษิณ แล้วหายไปในที่นั้นเอง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อ ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไป ทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีใน จักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมสัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึง ธรรมได้ยังจักมี แม้เราก็จักกระทำ โดยที่ให้พระนครพันธุมดีเป็นสถานที่อันเธอ ทั้งหลายพึงกลับมาแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ดังนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายได้เที่ยวจาริกไปในชนบท โดยวันเดียวเท่านั้นโดยมาก ฯ [๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ในชมพูทวีปมีอาวาสอยู่ ๘๔,๐๐๐ อาวาส เมื่อล่วงไปได้พรรษาหนึ่งแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ทั้งหลาย ล่วงไปพรรษาหนึ่งแล้ว บัดนี้ ยังเหลือห้าพรรษา โดยอีกห้าพรรษา ล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อสวดพระปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปได้สองพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้ นิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปสองพรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือสี่พรรษา โดยอีก สี่พรรษาล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานีเพื่อสวดพระ ปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปได้สามพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้า แต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปสามพรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือสามพรรษา โดย อีกสามพรรษาล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อสวด พระปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปได้สี่พรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้า แต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปสี่พรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือสองพรรษา โดย อีกสองพรรษาล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อ สวดพระปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปได้ห้าพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปห้าพรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือพรรษาเดียว โดยอีกพรรษาเดียวล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อ สวดพระปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปได้หกพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ล่วงไปหกพรรษาแล้ว บัดนี้ถึงเวลาละ ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดี ราชธานี เพื่อสวดพระปาติโมกข์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น บางพวกไปด้วยอิทธา- *นุภาพของตน บางพวกไปด้วยอิทธานุภาพของเทวดา เข้าไปยังพระนครพันธุมดี ราชธานี โดยวันเดียวนั้น เพื่อสวดพระปาติโมกข์ ฯ [๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุม พระภิกษุสงฆ์ดังนี้ ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวม ในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ [๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงไม้พญาสาลพฤกษ์ ใน ป่าสุภวัน ใกล้อุกกัฏฐนคร ภิกษุทั้งหลายเมื่อเรานั้นไปเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความ รำพึงในใจว่า ชั้นสุทธาวาสซึ่งเรามิได้เคยอยู่เลย โดยเวลาอันยืดยาวนานนี้ นอกจากเทวดาเหล่าสุทธาวาสแล้ว ไม่ใช่โอกาสที่ใครๆ จะได้โดยง่าย ถ้า กระไรเราพึงเข้าไปหาเทวดาเหล่าสุทธาวาสจนถึงที่อยู่ ภิกษุทั้งหลายทันใดนั้น เรา ได้หายไปที่ควงไม้พญาสาลพฤกษ์ ในป่าสุภวันใกล้อุกกัฏฐนคร ไปปรากฏใน พวกเทพดาเหล่าอวิหา เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลัง เหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกไว้ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นแล เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหา ไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น เทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับแต่นี้ ไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เสด็จ อุบัติในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในขัตติยสกุล เป็นโกณ- *ฑัญญะโดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณแปดหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ควงไม้ แคฝอยมีพระขันฑเถระ และพระติสสเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อัน เจริญ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้มีแล้วสามครั้ง ครั้งหนึ่งมีพระ สาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนหกหมื่นแปดพันรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวก ประชุมกันเป็นจำนวนแสนรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนแปด- *หมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ที่ได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ข้าแต่พระองค์ผู้ นิรทุกข์ ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่ออโสกะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี พระราชาพระนามว่าพันธุมา เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่า พันธุมดีเป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระองค์ พระนครชื่อว่า พันธุมดี เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การออก มหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้การประกาศ พระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค พระนามว่าวิปัสสี คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้วจึงได้ บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอัน มาก ได้เข้ามาหาเราครั้นเข้ามาหา ไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น เทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์นับ แต่นี้ไป ๓๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี เสด็จ อุบัติในโลก พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในขัตติยสกุล เป็น โกณฑัญญะโดยโคตร มีพระชนมายุประมาณเจ็ดหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ควงไม้ กุ่มบก มีพระอภิภูเถระและพระสัมภวเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ นามว่าสิขี ได้มีแล้วสามครั้ง ครั้งหนึ่งมีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุ แสนรูป อีกครั้งหนึ่ง มีพระสาวกประชุมกัน เป็นจำนวนภิกษุแปดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่งมีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุเจ็ดหมื่นรูป ข้าแต่พระองค์ผู้ นิรทุกข์ พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ที่ ได้ประชุมกันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุผู้อุปัฏฐาก ชื่อเขมังกระ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี พระราชาพระนามว่าอรุณะ เป็นพระชนก พระเทวีพระ- *นามว่าปภาวดี เป็นพระชนนี บังเกิดเกล้าของพระองค์ พระนครชื่อว่าอรุณวดี เป็น ราชธานีของพระเจ้าอรุณ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศพระธรรมจักร ของพระ ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี เป็นอย่างนี้ๆ พวกข้า พระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ นามว่าสิขี คลายกามฉันทะในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้าหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น เทวดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ได้ เสด็จอุบัติในโลก พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในขัตติยสกุล เป็นโกณฑัญญะโดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณหกหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ ที่ควงไม้สาลพฤกษ์ มีพระโสนเถระและพระอุตตรเถระเป็นคู่พระอัครสาวกซึ่งเป็น คู่อันเจริญ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู ได้มีแล้วสามครั้ง ครั้งหนึ่ง มีสาวกประชุมกันเป็นจำนวนแปดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่งมีสาวกประชุมกันเป็น จำนวนภิกษุเจ็ดหมื่นรูป อีกครั้งหนึ่งมีสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุหกหมื่นรูป สาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู ที่ได้ประชุม กันทั้งสามครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อว่าอุปสันตะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู พระราชาพระนามว่า สุปปตีตะ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสวดี เป็น พระชนนีบังเกิดเกล้าของพระองค์ พระนครชื่อว่าอโนมะ เป็นราชธานีของพระเจ้า สุปปตีตะ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศพระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเวสสภู เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้ นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่า เวสสภู คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ได้ เสด็จอุบัติในโลก พระองค์เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในพราหมณสกุล เป็นกัสสปะโดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณสี่หมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ ควงไม้ซีก มีพระวิธูรเถระและพระสัญชีวเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่ อันเจริญ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ได้มีแล้วครั้งเดียว เป็นจำนวน ภิกษุสี่หมื่นรูป ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ที่ได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนแต่เป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อว่า วุฑฒิชะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ พราหมณ์ชื่อ อัคคิทัตตะ เป็นพระชนก พราหมณีชื่อว่า วิสาขา เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของ พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็เวลานั้น พระเจ้าเขมะ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระนครชื่อว่า เมมวดี เป็นราชธานี ของพระเจ้าเขมะ การเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศ พระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้นประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้ บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทวดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ ได้เสด็จอุบัติในโลก พระองค์เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในพราหมสกุล เป็นกัสสปะโดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณสามหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ ควงไม้มะเดื่อ มีพระภิยโยสเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่ง เป็นคู่อันเจริญ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งสาวกของพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ ได้มีแล้วครั้งเดียว เป็น จำนวนภิกษุสามหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โกนาคมนะ ที่ได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ ทั้งสิ้น ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อโสตถิชะ เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโกนาคมนะ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พราหมณ์ชื่อว่า ยัญญทัตตะ เป็นพระชนก พราหมณีชื่อว่า อุตตรา เป็นพระชนนี บังเกิดเกล้าของพระองค์ ก็ครั้งนั้น พระเจ้าโสภะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระนคร ชื่อว่าโสภวดี เป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การเสด็จ ออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศ พระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทวดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้ เสด็จอุบัติในโลก พระองค์เป็นพราหมณ์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในพราหมณสกุล เป็นกัสสปะโดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณสองหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ ที่ควงไม้ไทร มีพระติสสเถระและพระภารทวาชเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่ง เป็นคู่อันเจริญ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้มีแล้วครั้งเดียว เป็น จำนวนภิกษุสองหมื่นรูป ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระสาวกของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ที่ได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อว่า สัพพมิตะ ได้เป็น อัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ พราหมณ์ชื่อ พรหมทัตต์ เป็นพระชนก พราหมณีชื่อ ธนวดี เป็นพระชนนี บังเกิดเกล้าของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ครั้งนั้นพระเจ้ากิงกี เป็น พระเจ้าแผ่นดิน พระนครพาราณสี เป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การ ตรัสรู้ การประกาศพระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะ คลายกามฉันท์ใน กามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทวดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติ ในโลก พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในขัตติยสกุล เป็นโคตมโดย พระโคตร ประมาณพระชนมายุของพระผู้มีพระภาคน้อยนิดเดียว เร็วพลัน ผู้ที่มี ชีวิตอยู่นานก็เป็นอยู่ได้เพียงร้อยปี บางทีก็มีชีวิตอยู่น้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ที่ควงไม้โพธิ์ มีพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลาน เถระ เป็นคู่พระอัครสาวกซึ่งเป็นคู่อันเจริญของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาค ได้มีแล้วครั้งเดียว เป็นจำนวนภิกษุหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูป ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สาวกของ พระผู้มีพระภาคที่ได้ประชุมกันครั้งเดียวนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ภิกษุ ผู้อุปัฏฐากชื่ออานันทะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้ นิรทุกข์ พระราชาพระนามว่า สุทโธทนะ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่า มายา เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาค พระนครชื่อกบิลพัสดุ์ เป็น ราชธานี ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศพระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาค เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้นประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เราพร้อมด้วยเทพดาเหล่าอวิหาได้เข้าไปหา เทพดาเหล่าอตัปปา ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เราพร้อมด้วยเทพดาเหล่าอวิหา และเหล่าอตัปปา ได้เข้าไปหาเทพดาเหล่าสุทัสสา ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เราพร้อมด้วยเทพดาเหล่าอวิหา เหล่าอตัปปา และเหล่าสุทัสสา ได้เข้าไปหา เทพดาเหล่าสุทัสสี ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เราพร้อมด้วย เทพดาเหล่าอวิหา เหล่าอตัปปา เหล่าสุทัสสา และเหล่าสุทัสสี ได้เข้าไปหาเทพดาเหล่า อกนิฏฐาแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับถอยหลังแต่นี้ไปได้ ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ- *นามว่า วิปัสสี เสด็จอุบัติในโลก พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จ อุบัติในขัตติยสกุล เป็นโกณฑัญญะโดยพระโคตร มีพระชนมายุประมาณ แปดหมื่นปี พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ควงไม้แคฝอย มีพระขัณฑเถระและพระติสสเถระ เป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประชุมกัน แห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ มีแล้วสามครั้ง ครั้งหนึ่งมีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนหกหมื่นแปดพันรูป อีกครั้งหนึ่งมีพระสาวกประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแสนรูป อีกครั้งหนึ่งมีพระสาวก ประชุมกันเป็นจำนวนภิกษุแปดหมื่นรูป พระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ที่ได้ประชุมกันทั้งหมดครั้งนี้ ล้วนแต่เป็น พระขีณาสพทั้งสิ้น ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อ อโสกะ ได้เป็น อัครอุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี พระราชาพระนามว่า พันธุมา เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่า พันธุมดี เป็น พระชนนีบังเกิดเกล้าของพระองค์ พระนครชื่อพันธุมดี เป็นราชธานีของพระเจ้า พันธุมา ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศพระธรรมจักร ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้- *นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่า วิปัสสี คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับถอยหลังแต่นี้ไป ๓๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิขี ได้เสด็จอุบัติในโลก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิขี คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ใน กัปที่ ๓๑ นั่นเองแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า เวสสภู ได้เสด็จอุบัติในโลก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์นั้น ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค พระนามว่า เวสสภู คลายกามฉันท์ในกามทั้งหลาย แล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ได้เสด็จอุบัติในโลก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กกุสันธะ คลายกามฉันท์ในกาม ทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ ได้เสด็จอุบัติในโลก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์ ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่า โกนาคมนะ คลายกามฉันท์ในกาม ทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้ เสด็จอุบัติในโลก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์ ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะ คลายความพอใจในกาม ทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เทพดานั้นเอง เทพดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ได้เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาไหว้เราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นเทพดาเหล่านั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ใน ภัททกัปนี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติในโลก พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เสด็จอุบัติในขัตติยสกุล เป็นโคตมะโดย พระโคตร ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคน้อยนิดเดียว เร็วพลัน ผู้ที่มีชีวิตอยู่นานก็เป็นอยู่ได้เพียงร้อยปี บางทีก็น้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ที่ควงไม้โพธิ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานเถระเป็นคู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นคู่อันเจริญของพระผู้มีพระภาค การประชุมกันแห่งพระสาวกของพระผู้มีพระภาคได้มีแล้วครั้งเดียว เป็นจำนวน ภิกษุหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบรูป ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระสาวกของพระผู้มี พระภาคที่ได้ประชุมกันแล้วครั้งเดียวนี้ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น ข้าแต่ พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุผู้อุปัฏฐากชื่อว่า อานันทะ ได้เป็นอัครอุปัฏฐากของ พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระราชาพระนามว่า สุทโธทนะ เป็น พระชนก พระเทวีพระนามว่า มายา เป็นพระชนนีบังเกิดเกล้าของพระผู้มีพระภาค พระนครชื่อกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ การบรรพชา การตั้งความเพียร การตรัสรู้ การประกาศ พระธรรมจักร์ของพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างนี้ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวก ข้าพระองค์ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความพอใจในกาม ทั้งหลายแล้ว จึงได้บังเกิดในที่นี้ ฯ [๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ธรรมธาตุนี้ ตถาคตแทงตลอด แล้วอย่างดีด้วยประการฉะนี้แล ฉะนั้น พระพุทธเจ้าที่ล่วงไปแล้ว ปรินิพพาน แล้ว ตัดธรรมเป็นเหตุทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว ตัดวัฏฏะได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้ แล้ว ล่วงสรรพทุกข์แล้ว ตถาคตย่อมระลึกถึงได้แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณแห่งพระชนมายุ แม้โดยคู่แห่งพระสาวก แม้ โดยการประชุมกันแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึง มีพระชาติอย่างนี้ จึงมีพระนามอย่างนี้ จึงมีพระโคตรอย่างนี้ จึงมีศีลอย่างนี้ จึง มีธรรมอย่างนี้ จึงมีปัญญาอย่างนี้ จึงมีวิหารธรรมอย่างนี้ จึงมีวิมุติอย่างนี้ ฯ แม้พวกเทพดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่ตถาคต ซึ่งเป็นเหตุให้ตถาคตระลึก ถึงได้ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ปรินิพพานแล้ว ตัดธรรมเป็นเหตุทำ ให้เนิ่นช้าได้แล้ว ตัดวัฏฏะได้แล้ว ครอบงำวัฏฏะได้แล้ว ล่วงสรรพทุกข์แล้ว แม้โดยพระชาติ แม้โดยพระนาม แม้โดยพระโคตร แม้โดยประมาณแห่ง พระชนมายุ แม้โดยคู่แห่งพระสาวก แม้โดยการประชุมกันแห่งพระสาวกว่า แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จึงมีพระชาติอย่างนี้ จึงมีพระนามอย่างนี้ จึงมีพระโคตรอย่างนี้ จึงมีศีลอย่างนี้ จึงมีปัญญาอย่างนี้ จึงมีวิหารธรรมอย่างนี้ จึงมีวิมุติอย่างนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชมภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบมหาปทานสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------
๒. มหานิทานสูตร (๑๕)
[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ กุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ นามว่า กัมมาสทัมมะ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลความข้อนี้กะ พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้งสุดประมาณ และปรากฏเป็นของลึก ก็แหละถึงจะ เป็นเช่นนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นของตื้นนัก ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก ดูกรอานนท์ เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์นี้ จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจ ด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นผู้เกิดมาเหมือนหญ้ามุง กระต่ายและหญ้าปล้อง จึงไม่พ้นอุบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ดูกรอานนท์ เมื่อเธอถูกถามว่า ชรามรณะ มีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ชรามรณะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีชาติเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า ชาติมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ชาติมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีภพเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า ภพมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอ พึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ภพมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีอุปาทานเป็น ปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า อุปาทานมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขา ถามว่า อุปาทานมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีตัณหาเป็นปัจจัย เมื่อเธอ ถูกถามว่า ตัณหามีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ตัณหามี อะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีเวทนาเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า เวทนามี สิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า เวทนามีอะไรเป็นปัจจัย เธอ พึงตอบว่า มีผัสสะเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า ผัสสะมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอ พึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ผัสสะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูป เป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า นามรูปมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้า เขาถามว่า นามรูปมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีวิญญาณเป็นปัจจัย เมื่อ เธอถูกถามว่า วิญญาณมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า วิญญาณมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูปเป็นปัจจัย ดูกรอานนท์ เพราะนามรูปเป็นปัจจัยดังนี้แล จึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิด นามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิด เวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็น ปัจจัย จึงเกิดชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ [๕๘] ก็คำนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ เรากล่าวอธิบาย ดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ ดูกรอานนท์ ก็แลถ้าชาติมิได้ มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ มิได้มีเพื่อความเป็นเทพแห่งพวก เทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์แห่งพวกคนธรรพ์ เพื่อความเป็นยักษ์แห่งพวกยักษ์ เพื่อความเป็นภูตแห่งพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์แห่งพวกมนุษย์ เพื่อความเป็น สัตว์สี่เท้าแห่งพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นปักษีแห่งพวกปักษี เพื่อความเป็น สัตว์เลื้อยคลานแห่งพวกสัตว์เลื้อยคลาน ดูกรอานนท์ ก็ถ้าชาติมิได้มีเพื่อความ เป็นอย่างนั้นๆ แห่งสัตว์พวกนั้นๆ เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติ ดับไป ชราและมรณะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชรามรณะ ก็คือชาตินั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เรากล่าวอธิบายดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบข้อความนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าภพมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เมื่อภพไม่มีโดย ประการทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชาติ ก็คือภพนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เรากล่าวอธิบายดัง ต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าอุปาทานมิได้มี แก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เมื่ออุปาทานไม่มี โดยประการทั้งปวง เพราะ อุปาทานดับไป ภพจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งภพ ก็คืออุปาทานนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เรากล่าวอธิบายดัง ต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน ดูกรอานนท์ ก็ถ้าตัณหามิได้มี แก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ ตัณหาดับไป อุปาทานจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งอุปาทาน ก็คือตัณหานั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เรากล่าวอธิบายไว้ ดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าเวทนามิได้มี แก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เมื่อเวทนาไม่มี โดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานั่นเอง ฯ [๕๙] ดูกรอานนท์ ก็ด้วยประการดังนี้แล คำนี้ คือ เพราะอาศัย เวทนาจึงเกิดตัณหา เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา เพราะอาศัยการแสวงหา จึงเกิดลาภ เพราะอาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ เพราะอาศัยการตกลงใจจึงเกิดการ รักใคร่พึงใจ เพราะอาศัยการรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง เพราะอาศัยการพะวง จึงเกิดความยึดถือ เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ เพราะอาศัยความ ตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน เพราะอาศัยการป้องกันจึงเกิดเรื่องในการป้องกันขึ้น อกุศลธรรมอันชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การ แก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ย่อมเกิดขึ้น คำนี้เรากล่าวไว้ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความ ข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าวว่า เรื่องในการป้องกันอกุศลธรรม อันชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การ วิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ย่อมเกิดขึ้น ดูกรอานนท์ ก็ถ้าการป้องกันมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีการป้องกันโดยประการทั้งปวง เพราะหมดการป้องกัน อกุศลธรรมอัน ชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ จะพึงเกิดขึ้นได้ บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการเกิด ขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันชั่วช้าลามกเหล่านี้ คือ การถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การ แก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การกล่าวคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ก็คือการป้องกันนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน เรากล่าวอธิบาย ดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ ตระหนี่มิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความตระหนี่ โดยประการทั้งปวง เพราะหมดความตระหนี่ การป้องกันจะพึงปรากฏได้ บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการ ป้องกัน ก็คือความตระหนี่นั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ เรากล่าวอธิบาย ดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ ยึดถือมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความยึดถือโดย ประการทั้งปวง เพราะดับความยึดถือเสียได้ ความตระหนี่จะพึงปรากฏ ได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งความ ตระหนี่ ก็คือความยึดถือนั้นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดความยึดถือ เรากล่าวอธิบาย ดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดความยึดถือ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าการพะวงมิ ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีการพะวงโดยประการ ทั้งปวง เพราะดับการพะวงเสียได้ ความยึดถือจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งความ ยึดถือ ก็คือการพะวงนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง เรากล่าวอธิบาย ดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้ กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยความรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ รักใคร่พึงใจมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความรัก ใคร่พึงใจโดยประการทั้งปวง เพราะดับความรักใคร่พึงใจเสียได้ การพะวงจะพึง ปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการพะวง ก็คือความรักใคร่พึงใจนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความตกลงใจจึงเกิดความรักใคร่พึงใจ เรากล่าว อธิบายดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะอาศัยความตกลงใจจึงเกิดความรักใคร่พึงใจ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ ตกลงใจมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความตกลงใจ โดยประการทั้งปวง เพราะดับความตกลงใจเสียได้ ความรักใคร่พึงใจจะพึงปรากฏ ได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยความรักใคร่ พึงใจ ก็คือความตกลงใจนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยลาภจึงเกิดความตกลงใจ เรากล่าวอธิบายดังต่อไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะอาศัยลาภจึงเกิดความตกลงใจ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าลาภมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีลาภโดยประการทั้งปวง เพราะหมดลาภ ความตกลงใจจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งความ ตกลงใจ ก็คือลาภนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ เรากล่าวอธิบายดังต่อ ไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เรา ได้กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าการแสวงหา มิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีการแสวงหาโดย ประการทั้งปวง เพราะหมดการแสวงหาลาภจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยของลาภ ก็คือ การแสวงหานั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา เรากล่าวอธิบายดังต่อ ไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าตัณหามิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เมื่อ ไม่มีตัณหาโดยประการทั้งปวง เพราะดับตัณหาเสียได้ การแสวงหาจะพึงปรากฏ ได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยของการ แสวงหาก็คือตัณหานั่นเอง ฯ [๖๐] ดูกรอานนท์ ธรรมทั้งสองเหล่านี้ รวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนา โดยส่วนสอง ด้วยประการดังนี้แล ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เรากล่าวอธิบายดังต่อ ไปนี้ ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าผัสสะมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหา- *สัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เมื่อไม่มีผัสสะโดยประการทั้งปวง เพราะ ดับผัสสะเสียได้เวทนาจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งเวทนา ก็คือผัสสะนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เรากล่าวอธิบายดังต่อ ไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศ นั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ การบัญญัติรูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบ จะพึง ปรากฏในนามกายได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อ ก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบก็ดี จะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เรากล่าวอธิบายดังต่อ ไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป ดูกรอานนท์ ก็วิญญาณจักไม่หยั่งลง ในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดาได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วจักล่วงเลยไป นามรูปจักบังเกิดเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่ จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือวิญญาณนั่นเอง ฯ ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เรากล่าวอธิบายดังต่อ ไปนี้- ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณจักไม่ได้ อาศัยในนามรูปแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรามรณะและกองทุกข์ พึงปรากฏ ต่อไปได้บ้างไหม ฯ ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูปนั่นเอง ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ อานนท์ วิญญาณและนามรูป จึงยังเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุปบัติ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ ทางแห่งบัญญัติ ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและวัฏฏสังสาร ย่อมเป็นไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ๆ ความ เป็นอย่างนี้ ย่อมมีเพื่อบัญญัติ คือนามรูปกับวิญญาณ ฯ [๖๑] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ประมาณเท่าไร ก็เมื่อบุคคลจะบัญญัติอัตตา มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร เมื่อบัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้ เมื่อบัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาวจร เมื่อบัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อม บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ฯ ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปเป็น กามาวจรนั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือ มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่ เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่าอัตตาเป็นกามาวจร ย่อมติดสันดานผู้มีรูปที่ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้มีบัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุด มิได้นั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือมี ความเห็นว่า เราจักยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้อันมีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมติดสันดานผู้มีรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็น กามาวจรนั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือ มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่ เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่าอัตตาเป็นกามาวจร ย่อมติดสันดานผู้มีอรูป ที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ส่วนผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูป ทั้งหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือมีความเห็นว่า เราจักยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้อันมีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพ ที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมติดสันดาน ผู้มีอรูป เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตาย่อมบัญญัติด้วยเหตุมีประมาณเท่า นี้แล ฯ [๖๒] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุ มีประมาณเท่าไร อานนท์ ก็เมื่อบุคคลไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่ บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีรูปอันหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้ หรือเมื่อไม่บัญญัติอัตตาไม่มี รูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาจร เมื่อไม่ บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ อานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจรนั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความ เห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาเป็นกามาวจร ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีรูปที่เป็น อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือ ไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอัน ไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร กล่าวไว้ด้วย ส่วนผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจรนั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาล บัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพ อันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาเป็นกามาวจร ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีอรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร กล่าวไว้ด้วย ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอัน ไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีอรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร กล่าวไว้ด้วย ฯ ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุมีประมาณ เท่านี้แล ฯ [๖๓] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นด้วยเหตุมี ประมาณเท่าไร ก็บุคคลเมื่อเล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นว่า เวทนาเป็น อัตตาของเรา ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา อานนท์ หรือเล็งเห็นอัตตา ดังนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย จะว่าอัตตา ของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะฉะนั้น อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา อานนท์ บรรดาความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าว อย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา เขาจะพึงถูกซักถามอย่างนี้ว่า อาวุโส เวทนา มี ๓ อย่างนี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา ๓ ประการนี้ ท่านเล็งเห็นอันไหนโดยความเป็นอัตตา อานนท์ ในสมัยใด อัตตา เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในสมัยใดอัตตาเสวยทุกขเวทนาไม่ได้ เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว เท่านั้น ในสมัยใด อัตตาเสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ดูกรอานนท์ เวทนาแม้ที่เป็นสุขก็ดี แม้ที่เป็นทุกข์ก็ดี แม้ที่เป็นอทุกขม- *สุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มีความสิ้นความเสื่อม ความ- *คลาย และความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเขาเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่อสุขเวทนาอันนั้นดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเรา ดับไปแล้ว เมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่อ ทุกขเวทนาอันนั้นแลดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว เมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่ออทุกขมสุขเวทนา อันนั้นแลดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรานั้น เมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นเวทนาอันไม่เที่ยง เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็น อัตตาในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะ เล็งเห็นว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา แม้ด้วยคำดังกล่าวแล้วนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา เขาจะพึง ถูกซักอย่างนี้ว่า ในรูปขันธ์ล้วนๆ ก็ยังมิได้มีความเสวยอารมณ์อยู่ทั้งหมด ใน รูปขันธ์นั้น ยังจะเกิดอหังการว่าเป็นเราได้หรือ ฯ ไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า ถ้าเวทนา ไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา แม้ด้วยคำดังกล่าว แล้วนี้ ส่วนผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่ ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของ เรามีเวทนาเป็นธรรมดา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็เพราะเวทนาจะต้อง ดับไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เหลือเศษ เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ เวทนาดับไป ยังจะเกิดอหังการว่า เป็นเราได้หรือ ในเมื่อขันธ์นั้นๆ ดับ ไปแล้ว ฯ ไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนา ไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาเลยก็ไม่ใช่ อัตตาของ เรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา แม้ด้วยคำ ดังกล่าวแล้วนี้ ฯ [๖๔] ดูกรอานนท์ คราวใดเล่า ภิกษุไม่เล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ไม่ เล็งเห็นอัตตาว่าไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ ไม่เล็งเห็นว่าอัตตายังต้องเสวยเวทนา อยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา ภิกษุนั้น เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก และเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่ สะทกสะท้านย่อมปรินิพพานได้เฉพาะตน ทั้งรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อานนท์ ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ทิฐิว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์ยังมีอยู่ ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์ไม่มีอยู่ ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วย ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้ กะภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ การ กล่าวของบุคคลนั้นไม่สมควร ฯ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ ชื่อ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ บัญญัติ ทางแห่งบัญญัติ การแต่งตั้ง ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญา วัฏฏะยังเป็นไปอยู่ตราบใด วัฏฏสงสาร ยังคงหมุนเวียนอยู่ตราบนั้น เพราะรู้ยิ่ง วัฏฏสงสารนั้น ภิกษุจึงหลุดพ้น ข้อที่มี ทิฐิว่า ใครๆ ย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็นภิกษุผู้หลุดพ้น เพราะรู้ยิ่งวัฏฏสงสารนั้น นั้นไม่สมควร ฯ [๖๕] ดูกรอานนท์ วิญญาณฐิติ ๗ อายตนะ ๒ เหล่านี้ วิญญาณฐิติ ๗ เป็นไฉน คือ- ๑. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์ และพวกเทพ บางพวก พวกวินิบาตบางพวก นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑ ๒. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพผู้นับเนื่อง ในชั้นพรหมผู้บังเกิดด้วยปฐมฌาน และสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณ ฐิติที่ ๒ ๓. สัตว์มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกเทพชั้นอาภัสสร นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓ ๔. สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพ ชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔ ๕. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุด มิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆะสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕ ๖. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุด มิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖ ๗. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗ ส่วนอายตนะอีก ๒ คือ อสัญญีสัตตายตนะ (ข้อที่ ๑) และข้อที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ดูกรอานนท์ บรรดาวิญญาณฐิติทั้ง ๗ ประการนั้น วิญญาณฐิติข้อที่ ๑ มี ว่า สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์และพวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก ผู้ที่รู้ชัดวิญญาณฐิติข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณ และโทษ แห่งวิญญาณฐิติข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติ ข้อนั้น เขายังจะควรเพื่อเพลิดเพลินวิญญาณฐิตินั้นอีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ
ฯลฯ ฯลฯ
วิญญาณฐิติที่ ๗ มีว่า สัตว์ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการ ว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงชั้นวิญญาณณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ผู้ที่รู้ชัด วิญญาณฐิติข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณและโทษ แห่งวิญญาณฐิติ ข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติข้อนั้น เขายังจะควร เพลิดเพลินวิญญาณฐิตินั้นอีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ ส่วนบรรดาอายตนะทั้ง ๒ นั้นเล่า ข้อที่ ๑ คือ อสัญญี- *สัตตายตนะ ผู้ที่รู้ชัดอสัญญีสัตตายตนะข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณ และโทษ แห่งอสัญญีสัตตายตนะข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจาก อสัญญีสัตตายตนะข้อนั้น เขายังจะควรเพื่อเพลิดเพลินอสัญญีสัตตายตนะนั้น อีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ ส่วนข้อที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ผู้ที่รู้ชัดเนวสัญญานา- *สัญญายตนะข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณและโทษแห่งเนวสัญญานา- *สัญญายตนะข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ข้อนั้น เขายังจะควรเพื่อเพลิดเพลินเนวสัญญานาสัญญายตนะข้อนั้นอีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ เพราะภิกษุมาทราบชัดความเกิดและความดับทั้งคุณและโทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ เหล่านี้ ตามเป็น จริงแล้ว ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ เพราะไม่ยึดมั่น อานนท์ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ ฯ [๖๖] ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ๑. ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๑ ๒. ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปในภายนอก นี้เป็น วิโมกข์ข้อที่ ๒ ๓. ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงาม นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๓ ๔. ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดย ประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๔ ๕. ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๕ ๖. ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วง วิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๖ ๗. ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗ ๘. ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล วิโมกข์ ๘ ประการ ภิกษุเข้าวิโมกข์ ๘ ประการ เหล่านี้ เป็นอนุโลมบ้าง เป็นปฏิโลมบ้าง เข้าทั้งอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้าง ออกบ้าง ตามคราวที่ต้องการ ตามสิ่งที่ปรารถนา และตามกำหนดที่ต้องประสงค์ จึงบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป เพราะ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน อานนท์ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้ที่จะยิ่งหรือประณีตไป กว่าไม่มี พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ยินดี ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบมหานิทานสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)
[๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวก เจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความ วอดวาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ มาตรัสสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จงถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา ทูล ถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับ อยู่สำราญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูล ถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่าพระกำลัง การประทับ อยู่สำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอ รับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จัก ให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ดังนี้ และพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ ท่านอย่างไร ท่านพึงจำข้อนั้นมาบอกเรา พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำที่ไม่ จริงเลย ฯ วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ รับพระราชดำรัสของ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร แล้วเทียมยานที่ดีๆ ขึ้น ยานออกจากพระนครราชคฤห์ตรงไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดภูมิประเทศเท่าที่ยาน จะไปได้ จึงลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐนั่ง เรียบร้อยแล้วทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียร เกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับอยู่สำราญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่ง อย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้ แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ฯ [๖๘] ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาค อยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆ หรือ ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึง หวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำหรือ ฯ ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกัน เลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวัง ได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้ บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของ เก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วหรือ ฯ ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอน สิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้ แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการเคารพนับถือบูชา ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นหรือ ฯ ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ ของพวกเจ้าวัชชี และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือ กุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ ฯ ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้ อยู่ร่วมด้วยอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการะเคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปหรือ ฯ ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของ พวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคย กระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่ง ความอารักขาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็น ผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้หรือ ฯ ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกัน คุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ [๖๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ ผู้ใหญ่ในมคธรัฐว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมือง เวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหา- *นิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี และพวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหา- *นิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ ในมคธรัฐได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วยอปริหา- *นิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วย กล่าวไปไยถึงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุ ให้แตกกันเป็นพวก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมาก จะขอลาไปในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมทราบกาลอัน ควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ชื่นชม ยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ฯ [๗๐] ครั้งนั้น เมื่อวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐหลีกไป ไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงไป จงสั่งให้ภิกษุทุกรูปซึ่งอยู่อาศัยพระนครราชคฤห์ ให้มาประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา ท่านพระอานนท์รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว สั่งให้ภิกษุทุกรูปซึ่งอยู่อาศัย พระนครราชคฤห์ให้ประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐาน- *ศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นประทับนั่งแล้ว รับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อม เพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงกระทำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุ ผู้เป็นเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟัง ถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหาอันจะก่อให้เกิด ภพใหม่ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งสติไว้ในภายในว่า ไฉนหนอ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังมิได้มา พึงมาเถิดและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุก ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด หมู่ภิกษุพึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ [๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับ- *พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการงาน ไม่ยินดีแล้ว ในการงาน ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการคุย ไม่ยินดีแล้ว ในการคุย ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการคุย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดี แล้วในการนอนหลับ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดี แล้วในความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบความคลุกคลีด้วย หมู่ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่ ลุอำนาจแก่ความปรารถนาอันลามก อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ไม่มีมิตรชั่ว ไม่มีสหายชั่ว ไม่คบคนชั่ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง เพราะ การบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ [๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๑. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีศรัทธา... ๒. ...มีใจประกอบด้วยหิริ... ๓. ...มีโอต- *ตัปปะ... ๔. ...เป็นพหูสูตร... ๕. ...ปรารภความเพียร... ๖. ...มีสติตั้งมั่น... ๗. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีปัญญา อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ [๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๑. พวกภิกษุจักเจริญสติสัมโพชฌงค์...., ๒. ...ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์.... ๓. ...วิริยสัมโพชฌงค์... ๔. ...ปีติสัมโพชฌงค์... ๕. ...ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์... ๖. ...สมาธิสัมโพชฌงค์... ๗. พวกภิกษุจักเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อยู่ เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความ เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ [๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๑. พวกภิกษุจักเจริญอนิจจสัญญา... ๒. ...อนัตตสัญญา... ๓. ...อสุภสัญญา... ๔. ...อาทีนวสัญญา... ๕. ...ปหานสัญญา ๖. ...วิราคสัญญา... ๗. พวก ภิกษุจักเจริญนิโรธสัญญา อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ [๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๖ อีกหมวดหนึ่ง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วย เมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วย เมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้แบ่งปันลาภอันเป็นธรรม ที่ได้ มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้มาตรว่าอาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภค กับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลาย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักมีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหม- *จรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในทิฐิอันประเสริฐนำออกไปจากทุกข์ นำผู้ ปฏิบัติตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร- *ราชคฤห์แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญา อบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นอาสวะโดยชอบ คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๗๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในพระนคร ราชคฤห์ แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังอัมพลัฏฐิกา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงอัมพลัฏฐิกาแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาแม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจาก อาสวะโดยชอบ คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๗๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัม- *พลัฏฐิกา แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังบ้านนาฬันทคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านนาฬันทคาม แล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้านนาฬันทคาม นั้น ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตร นั่งเรียบร้อยแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มี- *พระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในทางสัมโพธิญาณมิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ฯ พ. ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระ- *สัมโพธิญาณมิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ดูกรสารีบุตร พระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ซึ่งได้มีแล้วในอดีตกาล อันเธอ กำหนดซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น มีศีลอย่างนี้แล้ว แม้เพราะ เหตุนี้มีธรรมอย่างนี้แล้ว มีปัญญาอย่างนี้แล้ว มีวิหารธรรมอย่างนี้แล้ว มีวิมุตติ อย่างนี้แล้ว แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ ส. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรสารีบุตร ก็พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ซึ่ง จักมีในอนาคตกาล อันเธอกำหนดซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จักเป็นผู้มีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรม อย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรสารีบุตร ก็เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ อันเธอกำหนด ซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรสารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้ซึ่งในใจพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบัดนี้ อย่างไรเล่า เธอจึงได้กล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือ พราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ มิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้ซึ่งใจในพระ- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน แต่ว่า ข้าพระองค์ รู้แนวธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปัจจันตนครของพระราชามีประตูมั่นคง มีกำแพง และเสาระเนียดมั่นคง มีประตูช่องเดียว คนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นคนฉลาด เฉียบแหลมมีปัญญา ห้ามคนที่ไม่รู้จัก ปล่อยคนที่รู้จักให้เข้าไปได้ เขาเดินตรวจ ดูหนทางตามลำดับโดยรอบพระนครนั้น ไม่เห็นที่หัวประจบแห่งกำแพงหรือช่อง- *กำแพง โดยที่สุดแม้เพียงแมวลอดออกได้ เขาพึงมีความรู้สึกว่า สัตว์ที่ตัวโต ทุกชนิดจะเข้าออกนครนี้ ย่อมเข้าออกโดยประตูนี้ แม้ฉันใด แนวแห่งธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์รู้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้มีแล้วในอดีตกาลทุกพระองค์ ทรงละนิวรณ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมอง แห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้ว ในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญ โพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตกาลทุกพระองค์ จักทรง ละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัย ตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มี พระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้านนาฬันทา แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้ สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๗๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในบ้าน นาฬันทคาม แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามนั่ง เรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง รับเรือนสำหรับพักของพวกข้าพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้น พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณกลับไปยังเรือน สำหรับพัก ครั้นเข้าไปแล้วปูลาดเรือนสำหรับพักอย่างเรียบร้อยทั่วทุกแห่ง แต่งตั้ง อาสนะ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีปไว้แล้ว จึงกลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปูลาดเรือนสำหรับพักอย่างเรียบร้อย ทั่วทุกแห่งแล้ว แต่งตั้งอาสนะไว้ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีปไว้แล้ว ขอพระผู้มี- *พระภาคจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังเรือนสำหรับพัก ครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว ทรงล้าง พระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก ประทับนั่งพิงเสากลาง บ่ายพระพักตร์ ไปทางบูรพทิศ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหลัง บ่ายหน้าไปทางบูรพทิศแวดล้อมพระผู้มีพระภาค ส่วนพวกอุบาสกชาวปาฏลิคาม ล้างเท้าแล้ว เข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหน้า บ่ายหน้าไปทางปัจฉิมทิศ แวดล้อมพระผู้มีพระภาค ฯ [๗๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการ เป็นไฉน ฯ ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วในโลกนี้ ย่อมเข้าถึง ความเสื่อมแห่งโภคะอย่างใหญ่อันมีความประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นโทษข้อที่หนึ่ง แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง กิตติศัพท์อันชั่วของคนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วย่อมกระฉ่อนไป อันนี้เป็นโทษข้อที่สองแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติย- *บริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมครั่นคร้าม เก้อเขิน อันนี้เป็นโทษข้อที่สามแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว ย่อมหลงกระทำกาละ อันนี้เป็นโทษ ข้อที่สี่แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันนี้เป็นโทษข้อที่ห้าแห่งศีลวิบัติของคน ทุศีล ฯ ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้แล ฯ [๘๐] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมได้รับ กองโภคะใหญ่ อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่หนึ่ง แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อม ขจรไป อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สอง แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขิน อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สาม แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ อันนี้ เป็นอานิสงส์ข้อที่สี่ แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ห้า แห่งศีลสมบัติ ของคนมีศีล ฯ ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการ เหล่านี้แล ฯ [๘๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามให้เห็น- *แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีแล้ว ทรงส่ง ไปด้วยพระดำรัสว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ราตรีสว่างแล้ว พวกท่านจงทราบกาลอันควร ในบัดนี้เถิด พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว ลำดับนั้น เมื่ออุบาสกชาวปาฏลิคามหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่สุญญา- *คารแล้ว ฯ [๘๒] ก็สมัยนั้น สุนีธะ และวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ก็สมัยนั้นเทวดาเป็นอันมากนับเป็น พันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคาม เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ในส่วนใด จิตของ พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็น้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและพระราชมหาอำมาตย์ ชั้นกลาง ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นต่ำหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำ ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นนับเป็นพันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นในเวลาปัจจุสสมัยแห่งราตรี ตรัส เรียกพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ใครหนอจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม ฯ อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ จะสร้างเมืองปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ฯ ดูกรอานนท์ สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐจะสร้างเมือง ในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ก็เปรียบเหมือนท้าวสักกะทรงปรึกษา กับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ในที่นี้ เราได้เห็นเทวดาเป็นอันมากนับเป็นพันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เทวดาผู้มี ศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ในส่วนใด จิต ของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นกลาง ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นต่ำหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำ ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น ดูกรอานนท์ ที่นี้จักเป็นที่อยู่อันประเสริฐ เป็นทางค้าขาย เป็นนครอันเลิศ ชื่อว่า ปาฏลีบุตร เป็นที่แก้ห่อภัณฑะ นคร ปาฏลีบุตรจักมีอันตราย ๓ ประการ คือ ไฟ น้ำ หรือการยุให้แตกพวก ฯ [๘๓] ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรง รับภัตของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ทราบว่าพระผู้มีพระภาค ทรงรับแล้ว จึงเข้าไปยังที่พักของตนๆ ครั้นแล้วจัดแต่งของเคี้ยวของฉันอัน ประณีตในที่พักของตนๆ แล้วให้ทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่าน พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้วภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของสุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ใน มคธรัฐ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ ในมคธรัฐ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำ เพียงพอด้วย ของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตนๆ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ วางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สุนีธะและวัสสการะถืออาสนะต่ำ นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อสุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ นั่งเฝ้าอยู่อย่าง นี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า [๘๔] บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่าน ผู้มีศีล ผู้สำรวมแล้วประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศ นั้น ได้อุทิศทักษิณาทานให้แก่เทวดาที่มีอยู่ ณ ที่นั้น เทวดา เหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา ได้รับความนับถือ แล้ว ย่อมนับถือตอบเขา แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือน มารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อกฉะนั้น บุรุษผู้อันเทวดาอนุ- *เคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ ฯ [๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนากะสุนีธะและวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ก็สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ต่างตามเสด็จพระผู้มี- *พระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ด้วยคิดว่า วันนี้พระสมณโคดมจักเสด็จออกทาง ประตูใด ประตูนั้นจักมีนามว่าประตูโคดม จักเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาทางท่าใด ท่านั้นจักมีนามว่าท่าโคดม ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกทางประตูใด ประตู นั้นได้นามว่าประตูโคดมแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังแม่น้ำคงคา แล้ว ก็สมัยนั้น แม่น้ำคงคาเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ พวกมนุษย์ผู้ประสงค์ จะข้ามฟาก บางพวก เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์ทรงหายไป ณ ที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏตน ที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ไว้ หรือคู้แขนที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรมนุษย์เหล่านั้น ผู้ประสงค์จะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่นอยู่ พระองค์ทรงทราบ เนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า เหล่าชนที่จะข้ามสระ คือ ตัณหาอันเวิ้งว้าง ต้องสร้างสะพาน คือ (อริยมรรค) พ้นเปือกตม ก็และขณะที่ชนกำลังผูกทุ่นอยู่ หมู่ชนผู้มีปัญญา ข้ามได้แล้ว ฯ
จบภาณวารที่หนึ่ง ฯ
[๘๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปโกฏิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงโกฏิคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามนั้น ณ ที่ นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้ง แทงตลอดอริยสัจ ๔ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นไฉน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปตลอดกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่รู้แจ้งแทง- *ตลอด ทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ทุกขนิโรธอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ตัณหาในภพ เราถอนเสีย แล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึง ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๘๗] เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง เราและพวกเธอ จึงท่องเที่ยวไปในชาตินั้นๆ สิ้นกาลนาน เราได้เห็นอริยสัจ ๔ เหล่านั้นแล้ว เราถอนตัณหาอันจะนำไปสู่ภพเสียได้แล้ว มูลแห่งทุกข์เราตัดได้ขาดแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ดังนี้ ฯ [๘๘] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามแม้นั้น ทรง- *กระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่าง นี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไป ยังนาทิกคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนาทิกคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐที่นาทิกคามนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนามว่าสาฬหะ มรณภาพแล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเธอเป็นไฉน ภิกษุณีนามว่า นันทา มรณภาพแล้วใน นาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเธอเป็นไฉน อุบาสกนามว่า สุทัตตะ ... อุบาสิกา นามว่า สุชาดา ... อุบาสกนามว่า กกุธะ ... อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ... อุบาสก นามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ... อุบาสก นามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ ทำกาละ แล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเขาเป็นไฉน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุนามว่าสาฬหะ กระทำให้ แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งของตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ภิกษุณีนามว่า นันทา เพราะสังโยชน์ เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลก นั้นเป็นธรรมดา อุบาสกนามว่า สุทัตตะ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะ ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ อุบาสิกานามว่า สุชาดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เป็น พระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า อุบาสกนามว่า กกุธะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพาน ในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ... อุบาสกนามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ เพราะ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมา จากโลกนั้นเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม อีก ๕๐ คน กระทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่ กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๙๖ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๕๑๐ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะพึงทำกาละนั้นไม่อัศจรรย์ เมื่อผู้นั้นๆ ทำกาละแล้ว พวกเธอจักเข้าไปเฝ้าพระตถาคต แล้วทูลถามเนื้อความ นั้น อันนี้เป็นความลำบากแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น เราจักแสดงธรรมปริยาย ชื่อธรรมาทาส สำหรับที่จะให้อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรต- *วิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ก็ธรรมปริยายชื่อว่า ธรรมาทาส นั้น เป็นไฉน ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบ ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น ยิ่งไปกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็น ผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวใน พระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะ- *ตน ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปด นี้พระสงฆ์สาวกของ พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันพระอริยะ ใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ แล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ฯ ดูกรอานนท์ อันนี้แลคือธรรมปริยายชื่อว่าธรรมาทาส สำหรับที่จะให้ อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก สิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมี อันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญา อันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อม หลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๙๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในนาทิกคาม แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยัง เมืองเวสาลี ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองเวสาลีแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในอัมพปาลีวัน เขตเมืองเวสาลีนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ อยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณา เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่าย อุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับเธอ ฯ [๙๑] นางอัมพปาลีคณิกา ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงเมือง- *เวสาลี ประทับอยู่ ณ อัมพวันของเรา เขตเมืองเวสาลี ครั้งนั้น นางอัมพปาลีคณิกา สั่งให้จัดยานที่ดีๆ แล้ว ขึ้นยานออกจากเมืองเวสาลีตรงไปยังอารามของตน จน ตลอดภูมิประเทศเท่าที่ยานจะไปได้ ลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มี- *พระภาคทรงยังนางอัมพปาลีคณิกาผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา นางอัมพปาลีคณิกา อันพระผู้มีพระภาคทรง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ลำดับ นั้น นางอัมพปาลีคณิกาทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว ฯ [๙๒] พวกเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ ถึงเมืองเวสาลี ประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวันเขตเมืองเวสาลี ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวี รับสั่งให้จัดยานที่ดีๆ แล้วเสด็จขึ้นยานออกจากเมืองเวสาลีไปแล้ว ในพวกเจ้า- *ลิจฉวีนั้น บางพวก เขียวล้วน คือมีวรรณะเขียว มีผ้าเขียว มีเครื่องประดับเขียว บางพวกเหลืองล้วน คือมีวรรณะเหลือง มีผ้าเหลือง มีเครื่องประดับเหลือง บางพวกแดงล้วน คือมีวรรณะแดง มีผ้าแดง มีเครื่องประดับแดง บางพวกขาว- *ล้วน คือมีวรรณะขาว มีผ้าขาว มีเครื่องประดับขาว ครั้งนั้น นางอัมพปาลีคณิกา ให้เพลารถกระทบเพลารถ ล้อรถกระทบล้อรถ แอกกระทบแอก ของพวกเจ้าลิจฉวี หนุ่มๆ พวกเจ้าลิจฉวีได้พูดกะนางอัมพปาลีคณิกาว่า แน่ะนางอัมพปาลี เหตุไร ท่านจึงให้เพลารถกระทบเพลารถ ล้อรถกระทบล้อรถ แอกกระทบแอก ของพวก- *เจ้าลิจฉวีหนุ่มๆ ฯ อ. ข้าแต่ลูกเจ้า จริงอย่างนั้น หม่อมฉันทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับภัตในวันพรุ่งนี้ ฯ ล. แน่ะนางอัมพปาลี เจ้าจงให้ภัตนี้โดยราคาแสนหนึ่งเถิด ฯ ข้าแต่ลูกเจ้า ก็พวกท่านจักให้เมืองเวสาลีพร้อมทั้งชนบทแก่หม่อมฉัน แม้อย่างนั้น หม่อมฉันก็จักไม่ให้ภัตอันใหญ่ได้ ฯ ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวีปรบนิ้วมือว่า ดูกรท่านทั้งหลาย นางอัมพปาลี ชนะพวกเราแล้วหนอ พวกเราถูกนางอัมพปาลีลวงแล้วหนอ จึงพวกเจ้าลิจฉวีได้ ไปยังอัมพปาลีวันแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นพวกเจ้าลิจฉวีมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงรับสั่งกะพวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่ยังไม่เคยเห็นพวกเทวดา ชั้นดาวดึงส์ จงดูพวกเจ้าลิจฉวี จงจ้องดูหมู่เจ้าลิจฉวี จงนำเข้าไปเปรียบหมู่เจ้า ลิจฉวี ให้เหมือนกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯ ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวีไปด้วยยานจนสุดภูมิประเทศที่ยานจะไปได้ ลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพวกเจ้าลิจฉวีนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้นแล พวกเจ้าลิจฉวีอันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับภัต ของ พวกข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพวกเจ้าลิจฉวี เราได้ รับภัตของนางอัมพปาลีคณิกาไว้ในวันพรุ่งนี้เสียแล้ว ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวี ปรบนิ้วมือว่า นางอัมพปาลีคณิกาชนะพวกเราแล้วหนอ พวกเราถูกนางอัมพปาลี- *คณิกาลวงแล้วหนอ พวกเจ้าลิจฉวีชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วลุก จากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว ฯ ครั้งนั้น นางอัมพปาลีคณิกา ให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอารามของตนคืนยังรุ่ง เสร็จแล้วสั่งให้กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ ลำดับนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังที่พักชั่วคราวของนางอัมพปาลีคณิกา ประทับนั่ง บนอาสนะที่เขาจัดถวาย นางอัมพปาลีคณิกา อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน ครั้น พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ วางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว นางอัมพปาลีคณิกาถือ อาสนะต่ำนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอมอบอารามนี้แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว ทรงยังนางอัมพปาลีคณิกาให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถา เสด็จลุกจากอาสนะหลีก ไปแล้ว ฯ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อัมพปาลีวัน เขตเมืองเวสาลีนั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอัน สมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อม หลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๙๓] ครั้นนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยใน อัมพปาลีวันแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังบ้านเวฬุวคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านเวฬุวคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ในบ้านเวฬุวคามนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบ เมืองเวสาลี ตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคยคบกันเถิด ส่วนเรา จะจำพรรษาในบ้านเวฬุวคามนี้แหละ พวกภิกษุทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้ว จำพรรษารอบเมืองเวสาลีตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคย คบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาในบ้านเวฬุวคามนั้นแหละ ครั้งนั้นเมื่อ พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก เกิดเวทนาอย่างร้ายแรง ถึงใกล้จะปรินิพพาน ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่ อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราพึงใช้ความ เพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้น ทรงดำรง ชีวิตสังขารอยู่แล้ว อาพาธของพระองค์สงบไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงหาย ประชวร คือหายจากความเป็นคนไข้ไม่นาน เสด็จออกจากวิหารไปประทับนั่ง บนอาสนะที่ภิกษุจัดถวายไว้ที่เงาวิหาร ฯ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้า ไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่าน พระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นความสำราญของพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพระองค์เห็นความอดทน ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่า เพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของ ข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่า ข้าพระองค์มามีความเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จ ปรินิพพาน จนกว่าจะได้ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด อย่างหนึ่ง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราได้แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในมีนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ จะเชิดชูเราดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ดูกรอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่า ภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้ว กล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ในคราวหนึ่ง ดูกรอานนท์ บัดนี้ เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดย ลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ เพราะการ ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใด กายของตถาคต ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฯ ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะ ไม่ทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของ ตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่ มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่เถิด ฯ ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มี เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็น ที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่ง อื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็น ยอดยิ่ง ฯ
จบคามกัณฑ์ในมหาปรินิพพานสูตร ฯ
จบภาณวารที่สอง ฯ
[๙๔] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและ จีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมืองเวสาลี ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตแล้ว เวลา ปัจฉาภัตเสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ เธอจงถือเอาผ้านิสีทนะไป เราจักเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ เพื่อพักผ่อน ตอนกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถือเอาผ้า นิสีทนะตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ครั้นเสด็จเข้าไป แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูลาดถวาย ฝ่ายท่านพระอานนท์ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่ง เรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกะท่านว่า ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลี น่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์ โคตมเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ ปาวาลเจดีย์ ต่างน่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกร อานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็น ดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต นั้น เมื่อจำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป แม้เมื่อ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำนิมิตอันหยาบ โอภาสอันหยาบอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ ก็มิอาจรู้ทัน จึงมิได้ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อ ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้ เพราะถูกมารเข้าดลใจแล้ว แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกะท่าน พระอานนท์ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกะท่านพระอานนท์ ฯลฯ ท่านพระอานนท์ก็มิอาจรู้ทัน ... เพราะถูกมารเข้าดลใจแล้ว ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า เธอจงไปเถิด อานนท์ เธอรู้กาลอันควรในบัดนี้ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วไปนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล ฯ [๙๕] ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง มารผู้มีบาปยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ พระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจา นี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับ แนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยัง บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดง ธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุผู้เป็นสาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็น พหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อย โดยสหธรรมได้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอ พระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุณีผู้สาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุณีผู้สาวิกาของ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ... แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่ บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอ พระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสกผู้เป็นสาวกของ เรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสกผู้เป็นสาวก ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ... แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาท ที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอ พระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกา ของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสิกาผู้เป็น สาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตาม- *ธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรม มีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้ เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอ พระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้ จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่ง พวกเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคนี้สมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งพวกเทวดาและ มนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคต จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ฯ เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรมารผู้ มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระสติสัมปชัญญะทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ และเมื่อพระผู้มี- *พระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ และขนพองสยองเกล้า น่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า [๙๖] มุนีปลงเสียได้แล้วซึ่งกรรมที่ชั่งได้ และกรรมที่ชั่งไม่ได้ อันเป็นเหตุสมภพ เป็นเครื่องปรุงแต่งภพ และได้ยินดีในภายใน มีจิตตั้งมั่น ทำลายกิเลสที่เกิดในตนเสีย เหมือนนักรบ ทำลายเกราะฉะนั้น ฯ [๙๗] ครั้งนั้น พระอานนท์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ เหตุไม่เคยมีมามีขึ้น แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้จริงๆ ความ ขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัยสำหรับให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้น เข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น ท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีขึ้น แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวได้จริงๆ ความ ขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย สำหรับให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ [๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพระอานนท์ เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการเหล่านี้แล เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ๘ ประการเป็นไฉน ฯ ดูกรอานนท์ มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ สมัยที่ลมใหญ่พัด เมื่อลมใหญ่พัดอยู่ย่อมยังน้ำให้ไหว น้ำไหวแล้ว ย่อมยัง แผ่นดินให้ไหว อันนี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยข้อที่หนึ่ง เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญใน ทางจิต หรือว่าเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เขาเจริญปฐวีสัญญาเพียง เล็กน้อย เจริญอาโปสัญญาอย่างแรงกล้า เขาย่อมยังแผ่นดินนี้ให้สะเทือนสะท้าน หวั่นไหวได้ อันนี้เป็นปัจจัยข้อที่สอง เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่สาม เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจาก พระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่สี่ เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ห้า เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตให้อนุตรธรรมจักรเป็นไป เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่หก เพื่อให้ แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุ สังขาร เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็น ปัจจัยข้อที่เจ็ด เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส- *นิพพานธาตุ เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือนสะท้านหวั่นไหว อันนี้เป็นเหตุเป็น- *ปัจจัยข้อที่แปด เพื่อให้แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ ดูกรอานนท์ เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการ เหล่านี้แล เพื่อให้ แผ่นดินไหวใหญ่ปรากฏ ฯ [๙๙] ดูกรอานนท์ บริษัท ๘ พวกเหล่านี้แล ๘ พวกเป็นไฉน คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท พรหมบริษัท ฯ ดูกรอานนท์ เรายังจำได้ว่า เราเข้าไปยังขัตติยบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเรา เคยนั่งเคยปราศรัย เคยเข้าสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น วรรณะของพวกนั้นเป็น เช่นใด ของเราก็เป็นเช่นนั้น เสียงของพวกนั้นเป็นเช่นใด ของเราก็เป็นเช่นนั้น เรายังพวกนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา เมื่อเราพูดอยู่ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอพูดอยู่ จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ครั้นเรายังพวกนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วหายไป เมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอ หายไปแล้ว จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ดูกรอานนท์ เรายังจำได้ว่า เราเข้าไปยังพราหมณบริษัท หลายร้อยครั้ง ... คฤหบดีบริษัทหลายร้อยครั้ง ... สมณบริษัทหลายร้อยครั้ง ... จาตุมหาราชิกบริษัทหลายร้อยครั้ง ... ดาวดึงสบริษัทหลายร้อยครั้ง ... มารบริษัท หลายร้อยครั้ง ... พรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ... ทั้งเราเคยนั่ง เคยปราศรัย เคยเข้าสนทนาในพรหมบริษัทนั้น วรรณะของพวกนั้นเป็นเช่นใด ของเราก็เป็น เช่นนั้น เสียงของพวกนั้นเป็นเช่นไร ของเราก็เป็นเช่นนั้น เรายังพวกนั้นให้ เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา เมื่อเราพูดอยู่ก็ไม่มี ใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอพูดอยู่ จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ครั้นเรายังพวกนั้นให้ เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ใช้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้วหายไป เมื่อเรา หายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นี้คือใครหนอ หายไปแล้ว จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ดูกรอานนท์ บริษัท ๘ เหล่านี้แล ฯ [๑๐๐] ดูกรอานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการ เหล่านี้แล ๘ ประการ เป็นไฉน คือ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็กซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่หนึ่ง ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่สอง ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่สาม ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณ ดีและมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่สี่ ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอก อันเขียว มีวรรณะ เขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ดอกผักตบอันเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงเขียว มี วรรณะเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ฉันนั้น เหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่ห้า ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณะ เหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง ดอกกรรณิการ์อันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสอง เกลี้ยงเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง แม้ฉันใด ผู้หนึ่ง มีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความ สำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่หก ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง ดอกหงอนไก่อันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสีมีส่วนทั้งสองเกลี้ยงแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่เจ็ด ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว ดาวประกายพฤกษ์อันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสีมีส่วนทั้งสองเกลี้ยงขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่แปด ฯ ดูกรอานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการ เหล่านี้แล ฯ [๑๐๑] ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้แล ๘ ประการ เป็น- *ไฉน คือ ภิกษุเห็นรูป อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่หนึ่ง ฯ ภิกษุมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอก อันนี้เป็นวิโมกข์ ข้อที่สอง ฯ ภิกษุน้อมใจไปว่า สิ่งนี้งาม อันนี้ เป็นวิโมกข์ข้อที่สาม ฯ เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจ ซึ่งนานัตตสัญญา ภิกษุเข้าถึงอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ ดังนี้ อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่สี่ ฯ เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึง วิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้ อยู่ อันนี้เป็น วิโมกข์ข้อที่ห้า ฯ เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึง อากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า น้อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ ข้อที่หก ฯ เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง ภิกษุเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่เจ็ด ฯ เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง ภิกษุ เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่แปด ฯ ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้แล ฯ [๑๐๒] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราแรกตรัสรู้ พักอยู่ที่ต้นไม้ อชปาลนิโครธแทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นมาร ผู้มีบาปยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลา ปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรมาร ผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่ แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ ดูกรมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดามนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ดูกรอานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้เอง มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเราที่ปาวาลเจดีย์ ครั้นเข้ามาหาแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มารผู้มีบาปครั้นยืนเรียบร้อย แล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพาน ในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกา ของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... อุบาสกผู้เป็นสาวกของเราจักยัง ไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กัน โดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้วเพียงใด เรา จักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มี- พระภาคสมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานใน บัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของ พระผู้มีพระภาค ฯ ดูกรอานนท์ เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดย ล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ดูกรอานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้ ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขารแล้ว ที่ปาวาลเจดีย์ ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรง ดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็น อันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เวลานี้อย่าเลย อย่าวิงวอนตถาคตเลย บัดนี้มิใช่เวลาที่จะวิงวอนตถาคต แม้ครั้งที่สอง ... แม้ ครั้งที่สาม ... ท่านพระอานนท์ ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อ ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ดูกรอานนท์ เธอเชื่อความตรัสรู้ของตถาคตหรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เชื่อ ฯ ดูกรอานนท์ เมื่อเชื่อ ไฉนเธอจึงแค่นได้ตถาคตถึงสามครั้งเล่า ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาได้รับมา เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรม แล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้ เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ฯ ดูกรอานนท์ เธอเชื่อหรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เชื่อ ฯ ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว เพราะว่า เมื่อตถาคตทำนิมิตอันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคตว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจา เธอ เสียสองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว ฯ [๑๐๓] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร- *ราชคฤห์ ณ ที่นั้น เราเรียกเธอมาบอกว่า ดูกรอานนท์ พระนครราชคฤห์ น่ารื่นรมย์ ภูเขาคิชฌกูฏ น่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือ เกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดี แล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป เมื่อ ตถาคตทำนิมิตอันหยาบ โอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอน ตถาคตว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสียสองครั้ง เท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้ จึงเป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว ฯ [๑๐๔] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมนิโครธ เขตพระนคร- *ราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่เหวเป็นที่ทิ้งโจร เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ถ้ำ สัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่เงื้อมชื่อสัปปโสณฑิก ณ สีตวัน เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ นั้น ... เราอยู่ที่เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ ชีวกัมพวัน เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตพระนคร ราชคฤห์นั้น ณ ที่นั้น เราเรียกเธอมาบอกว่า ดูกรอานนท์ พระนครราชคฤห์ น่ารื่นรมย์ ภูเขาคิชฌกูฏน่ารื่นรมณ์ โคตมนิโครธ เหวที่ทิ้งโจร ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ เงื้อมชื่อว่า สัปปโสณฑิกสีตวัน ตโปทาราม เวฬุวันกลันทกวิวาปสถาน ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมฤคทายวัน ต่างน่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำ ให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป เมื่อตถาคตทำนิมิตอันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคตว่า ขอพระผู้มี- *พระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อ ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอ วิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสีย สองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอ ผู้เดียว ฯ [๑๐๕] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่อุเทนเจดีย์ เขตเมืองเวสาลี นี้เอง ณ ที่นั้น เราเรียกเธอมาบอกว่า ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป เมื่อตถาคตกระทำนิมิต อันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคตว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสียสองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอ ผู้เดียว ฯ [๑๐๖] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมกเจดีย์ เขตเมืองเวสาลี นี้เอง ... เราอยู่ที่สัตตัมพเจดีย์ เขตเมืองเวสาลีนี้เอง ... เราอยู่ที่พหุปุตตเจดีย์ เขตเมืองเวสาลีนี้เอง ... เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตเมืองเวสาลีนี้เอง ... วันนี้ เมื่อกี้นี้เอง เราบอกเธอที่ปาวาลเจดีย์ว่า ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทน เจดีย์ โคตมกเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันททเจดีย์ ปาวาลเจดีย์ ต่างน่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป เมื่อตถาคตกระทำนิมิต อันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคตว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสียสองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอ ผู้เดียว ฯ ดูกรอานนท์ เราได้บอกเธอไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่ง แล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะจะมีได้ ก็สิ่งใดที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว วางแล้ว อายุสังขารตถาคตปลงแล้ว วาจาที่ตถาคตกล่าวไว้โดยเด็ดขาดว่า ความ ปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จัก ปรินิพพาน อันตถาคตจะกลับคืนยังสิ่งนั้น เพราะเหตุแห่งชีวิต ดังนี้ มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ มาไปกันเถิดอานนท์ เราจักเข้าไปยังกูฏาคารสาลาป่ามหาวัน ท่าน พระอานนท์รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยท่านพระอานนท์เสด็จเข้าไปยังกูฏาคารสาลาป่ามหาวัน ครั้นแล้ว รับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า ไปเถิดอานนท์ เธอจงให้ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยเมืองเวสาลี อยู่ มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี- *พระภาคแล้ว จึงให้ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยเมืองเวสาลีอยู่ มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์ยืน เรียบร้อยแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอ พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ [๑๐๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่ง บนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรม เหล่านั้น พวกเธอเรียนแล้ว พึงซ่องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชน เป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ธรรมที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ... เหล่านั้นเป็นไฉน คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่เรา แสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ... ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยัง ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดย ล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๐๘] คนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่าง หม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ฯ พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละ พวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล อันดีเถิด จงเป็นผู้ มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใด จักเป็นผู้ ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้ ฯ
จบภาณวารที่สาม ฯ
[๑๐๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังเมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมือง เวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทอดพระเนตรเมืองเวสาลี เป็นนาคาวโลก แล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ การเห็นเมืองเวสาลี ของตถาคตครั้งนี้ จักเป็นครั้งสุดท้าย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจักไปยังบ้าน ภัณฑคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านภัณฑคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านภัณฑคามนั้น ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้ง แทงตลอดธรรม ๔ ประการ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ๔ ประการเป็นไฉน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดศีลอันเป็นอริยะ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไป สิ้นกาลนาน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดสมาธิอันเป็นอริยะ ... ปัญญาอันเป็นอริยะ ... วิมุตติอันเป็นอริยะ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดศีลอันเป็นอริยะสมาธิอันเป็น อริยะ ปัญญาอันเป็นอริยะ วิมุตติอันเป็นอริยะแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๑๑๐] ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อันยอดเยี่ยม อันพระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว ดังนั้น พระพุทธเจ้า จึงตรัสบอกธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง พระศาสดา ผู้กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ มีพระจักษุ ปรินิพพานแล้ว ฯ [๑๑๑] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับ ณ บ้านภัณฑคามนั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญา อันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๑๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในบ้าน ภัณฑคามแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์ เรา จักไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนคร แล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ในโภคนครนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง มหาประเทศ ๔ เหล่านี้ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้ [๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงใน พระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่งนี้ไว้ ฯ [๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของ พระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียง ในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตร ไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของ พระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้ง คำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระ สูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของ พระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ ฯ [๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ ผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็น ธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึง คัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความ ตกลงในข้อนี้ว่านี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลง ในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น จำมาถูก ต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ ฯ [๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ ผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรง วินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบ สวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียง ในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของ พระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำ มหาประเทศทั้ง ๔ เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล ฯ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ในโภคนครนั้น ทรงกระ- *ทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ [๑๑๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในโภคนครตามความพอ พระทัยแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจัก ไปยังเมืองปาวา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงเมืองปาวาแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร ในเมืองปาวานั้น ฯ ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง เมืองปาวา ประทับอยู่ ณ อัมพวันของเราในเมืองปาวา จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นนายจุนทกัมมารบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตร อันพระผู้มีพระภาคให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาค ทรงรับด้วยดุษณีภาพ ฯ ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว นายจุนท- *กัมมารบุตรให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะ ๑- เป็นอันมาก ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้นไป ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่ง บนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะนายจุนท กัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสุกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉัน อย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้ นายจุนท กัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงอังคาสพระผู้มีพระภาค ด้วยสุกรมัททวะที่ตนตระเตรียมไว้ อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่น ที่ตนตระเตรียมไว้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกร นายจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก @๑. เป็นชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งปรุงด้วยเห็ดอย่างหนึ่งซึ่งเห็ดชนิดนั้นหมูชอบกิน พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต นาย จุนทกัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือ เสียในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคยังนายจุนทกัมมารบุตรผู้นั่งเรียบร้อยแล้วให้เห็น แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จหลีกไป ฯ ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะ นิพพาน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนา เหล่านั้นไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยังเมืองกุสินารา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว ฯ [๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย ภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่าง หนัก ใกล้จะนิพพาน เมื่อพระศาสดาเสวยสุกรมัททวะแล้ว การประชวรอย่างหนักได้บังเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคลงพระบังคน ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา ดังนี้ ฯ (คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนา) [๑๑๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป ยังโคนไม้ต้นหนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง บนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียน บดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรง สรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อยถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำ กกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส จืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มี พระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ แล้วจักทรงสรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมา ให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น ครั้งนั้น แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวไหลไปอยู่ ท่าน พระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่ พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อย ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้าไปใกล้กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ ฯ ท่านพระอานนท์ตักน้ำมาด้วยบาตรแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อกี้นี้ แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อข้า พระองค์เข้าไปใกล้ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค จงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำแล้ว ฯ [๑๒๐] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ เป็นสาวกของ อาฬารดาบสกาลามโคตร ออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไกลไปยังเมืองปาวา ปุกกุสมัลลบุตรได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อโอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พวกบรรพชิต ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ เรื่องเคยมีมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางไกล แวะออกจากหนทางนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้น เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ได้ผ่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ติดกันไป บุรุษคนหนึ่งซึ่งเดินทางตามหลังหมู่เกวียนมา เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร ถึงที่พัก ครั้นเข้าไปหาแล้วถามท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปบ้างหรือ ฯ อ. ท่านผู้มีอายุ เรามิได้เห็น ฯ บ. ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ เราไม่ได้ยิน ฯ ท่านหลับหรือ ฯ เรามิได้หลับ ฯ ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ ฯ อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ ท่านยังมีสัญญา ตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าของท่านเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลีบ้างหรือ ฯ อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์ หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่านผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วหลีกไป ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสมัลลบุตรว่า ดูกรปุกกุสะ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างหนึ่ง ทั้งสอง อย่างนี้ อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน ปุกกุสมัลล บุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม ๗๐๐ เล่ม ๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม จักกระทำอะไรได้ ผู้ที่ยังมี สัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างนี้แหละ ทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า ฯ [๑๒๑] ดูกรปุกกุสะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา สมัยนั้น เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด ในที่ใกล้โรงกระเดื่อง ลำดับนั้น หมู่มหาชน ในเมืองอาตุมา พากันออกมา แล้วเข้าไปหาชาวนาสองพี่น้องนั้น และโคพลิพัท สี่ตัว ซึ่งถูกสายฟ้าฟาด สมัยนั้นเราออกจากโรงกระเดื่อง จงกรมอยู่ในที่แจ้ง ใกล้ประตูโรงกระเดื่อง ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง ออกมาจากหมู่มหาชนนั้น เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาแล้ว อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเราได้กล่าวกะบุรุษนั้น ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั้นประชุมกันทำไมหนอ ฯ บ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด หมู่มหาชน ประชุมกัน เพราะเหตุนี้ ก็ท่านอยู่ในที่ไหนเล่า ฯ เราอยู่ในที่นี้เอง ฯ ก็ท่านไม่เห็นหรือ ฯ เราไม่ได้เห็น ฯ ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ เราไม่ได้ยิน ฯ ก็ท่านหลับหรือ ฯ เราไม่ได้หลับ ฯ ก็ท่านยังมีสัญญาหรือ ฯ อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ ก็ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้า ผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และ ไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ ดูกรปุกกุสะ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่าน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้ เห็น และไม่ได้ยินเสียงบุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำ ประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุกกุสมัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์โปรยความเลื่อมใสในอาฬารดาบส กาลามโคตร ลงในพายุใหญ่ หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก ทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วัน นี้เป็นต้นไป ฯ ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนาย ท่านจงช่วยนำ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลล บุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุส มัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวาย แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีนี้ เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์ ทรงรับคู่ผ้านั้นของข้า พระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้เราครอง ผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง ปุกกุสมัลลบุตรรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้ว ยังพระผู้มีพระภาคให้ทรงครองผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากอาสนะ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ [๑๒๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่ นาน ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกาย ของพระผู้มีพระภาค ผ้าที่ท่านพระอานนท์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค นั้น ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค ย่อมปรากฏ ดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ในกาลทั้งสอง กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ในกาลทั้งสองเป็นไฉน คือ ในราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ในราตรีที่ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ ในกาลทั้งสองนี้แล กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดูกรอานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้แล ความ ปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันอันเป็นที่แวะพัก ของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ในเมืองกุสินารา มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยัง แม่น้ำกกุธานที ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ [๑๒๓] ปุกกุสะนำผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีเข้าไปถวายพระศาสดา ทรงครองคู่ผ้านั้นแล้ว มีพระวรรณดังทอง งดงามแล้ว ฯ [๑๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ ไปยังแม่น้ำกกุธานที ครั้นแล้วเสด็จลงสู่แม่น้ำกกุธานที ทรงสรงแล้ว เสวย แล้ว เสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน ตรัสเรียกท่านพระจุนทกะมารับสั่งว่า ดูกร จุนทกะ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จัก นอนพัก ท่านพระจุนทกะทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อนกันเป็นสี่ชั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัส เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาทมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการ อุฏฐานสัญญา ส่วนท่านพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ในที่นั้นแหละ ฯ [๑๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดา ผู้พระตถาคต หาผู้เปรียบมิได้ในโลก ทรงเหน็ดเหนื่อย เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที มีน้ำใส จืด สะอาด เสด็จลงแล้วทรงสรงและเสวยน้ำแล้ว อันหมู่ภิกษุแวดล้อม เสด็จไปในท่ามกลาง พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดาทรงแสวงหาคุณ อันยิ่งใหญ่ ทรงเป็นไปในธรรมนี้เสด็จถึงอัมพวันแล้ว รับสั่ง กะภิกษุนามว่าจุนทกะว่า เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็น สี่ชั้นให้เรา เราจะนอน พระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาคผู้ อบรม พระองค์ทรงเตือนแล้ว รีบปูผ้าสังฆาฏิพับเป็นสี่ชั้น ถวาย พระศาสดาทรงบรรทมแล้ว หายเหน็ดเหนื่อย ฝ่าย พระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น ฯ [๑๒๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีใครๆ จะทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ มิใช่ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของ ท่านเป็นครั้งสุดท้ายเสด็จปรินิพพานแล้ว ดังนี้ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจ ของนายจุนทกัมมารบุตรเสียอย่างนี้ว่า ดูกร นายจุนทะ เป็นลาภของท่าน ท่าน ได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เสด็จปรินิพพาน แล้ว เรื่องนี้เราได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต สองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก บิณฑบาตสองคราวเป็นไฉน คือ ตถาคตเสวย บิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างหนึ่ง ตถาคตเสวย บิณฑบาตใดแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างหนึ่ง บิณฑบาต สองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรก่อสร้างแล้ว เป็น ไปเพื่ออายุ ... เป็นไปเพื่อวรรณะ ... เป็นไปเพื่อความสุข ... เป็นไปเพื่อยศ ... เป็นไปเพื่อสวรรค์ ... เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่ยิ่ง ดูกรอานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทา ความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตร เสียด้วยประการฉะนี้ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า [๑๒๗] บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาด เทียว ย่อมละกรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป ฯ
จบภาณวารที่สี่ ฯ
[๑๒๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดีเมืองกุสินารา และสาลวัน อันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้ มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยัง ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวก เจ้ามัลละ ครั้นแล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยตั้งเตียง ให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหน็ดเหนื่อยแล้ว จัก นอน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียร ไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัส เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ฯ [๑๒๙] สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้ เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอก มณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่น โปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของ ทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยัง พระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อ บูชาพระตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต ฯ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของ ตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอก มณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่ง จันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่น โปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ใน อากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตาม ธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ [๑๓๐] สมัยนั้น ท่านพระอุปวาณะยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาค เฉพาะพระพักตร์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านพระอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ท่านอุปวาณะ รูปนี้เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็และเมื่อเป็นเช่นนั้น ใน กาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ดังนี้ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ให้พระผู้มี พระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอุปวาณะรูปนี้ เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็แลเมื่อ เป็นเช่นนั้น ในกาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคยังทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกร ภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ดังนี้ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอ เป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เทวดาในหมื่นโลกธาตุมา ประชุมกันโดยมาก เพื่อจะเห็นตถาคต เมืองกุสินารา สาลวัน อันเป็นที่แวะพัก แห่งพวกเจ้ามัลละเพียงเท่าใด โดยรอบถึง ๑๒ โยชน์ ตลอดที่เพียงเท่านี้ จะหา ประเทศแม้มาตรว่าเป็นที่จรดลงแห่งปลายขนทราย อันเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ไม่ถูก ต้องแล้วมิได้มี พวกเทวดายกโทษอยู่ว่า พวกเรามาแต่ที่ไกลเพื่อจะเห็นพระตถาคต พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว ใน ปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ พระตถาคตจักปรินิพพาน ก็ภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่ รูปนี้ ยืนบังอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกเราไม่ได้เห็นพระตถาคตใน กาลเป็นครั้งสุดท้าย ฯ อ. ข้าแต่องค์ผู้เจริญ ก็พวกเทวดาเป็นอย่างไร กระทำไว้ในใจ เป็น ไฉน ฯ มีอยู่ อานนท์ เทวดาบางพวกสำคัญอากาศว่าเป็นแผ่นดิน สยายผม ประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุใน โลก จักอันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ เทวดาบางพวกสำคัญแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดิน สยายผมประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาด แล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จ ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จักอันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ ส่วนเทวดาพวกที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้น โดยธรรมสังเวช ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้แต่ ที่ไหน ฯ [๑๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาใน ทิศทั้งหลายย่อมมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่ง ใกล้ภิกษุเหล่านั้นผู้ให้เจริญใจ ก็โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาค พวกข้าพระ องค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พวกภิกษุผู้ให้เจริญใจ ฯ ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของ กุลบุตรผู้มีศรัทธา สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นไฉน คือ ๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ ฯ ๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ฯ ๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ ฯ ๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในที่นี้ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ฯ ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จ ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยว จาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ [๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในมาตุคาม อย่างไร ฯ การไม่เห็น อานนท์ ฯ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อการเห็นมีอยู่ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ การไม่เจรจา อานนท์ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ พึงตั้งสติไว้ อานนท์ ฯ [๑๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติใน พระสรีระของพระตถาคตอย่างไร ฯ ดูกรอานนท์ พวกเธอจงอย่าขวนขวาย เพื่อบูชาสรีระตถาคตเลย จงสืบ ต่อพยายามในประโยชน์ของตนๆ เถิด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของ ตนๆ มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ผู้เลื่อมใสยิ่งในตถาคตมีอยู่ เขา ทั้งหลายจักกระทำการบูชาสรีระตถาคต ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาทั้งหลาย จะพึงปฏิบัติในพระสรีระของ ตถาคตอย่างไร ฯ ดูกรอานนท์ พึงปฏิบัติในสรีระตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระ พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ฯ ดูกรอานนท์ เขาห่อพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้ว เชิญพระสรีระลงในรางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็กอื่น แล้วกระทำ จิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน ถวายพระเพลิงพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ สร้างสถูป ของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้า จักรพรรดิ ด้วยประการฉะนี้แล พวกกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นต้น พึงปฏิบัติใน สรีระตถาคตเหมือนที่เขาปฏิบัติพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างสถูปของ ตถาคตไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ชนเหล่าใดจักยกขึ้นซึ่งมาลัยของหอมหรือจุณ จักอภิวาท หรือจักยังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น การกระทำเช่นนั้น จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ฯ [๑๓๔] ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวก หนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง สาวกของพระตถาคต เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง ฯ ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระตถาคตอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้ เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้ เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ ข้อนี้แล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สาวกของพระตถาคต จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของสาวก ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใส ในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล สาวกของพระตถาคตจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็น ถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระธรรมราชา ผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล ฯ [๑๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวย ร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่ง เป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถาม พวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวยร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้ อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า เธอจงไปเถิดภิกษุ จงบอกอานนท์ตามคำของเราว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา รับสั่งหาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่ใกล้ ครั้นเข้าไปหาแล้วบอกว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา รับสั่งหาท่าน ท่านพระอานนท์รับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าเศร้าโศก ร่ำไรไปเลย เราได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่ หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของ ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่ง ใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนา ว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ เธอได้ อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่ง เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอ ได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มี อาสวะโดยฉับพลัน ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด ได้มีแล้วในอดีตกาล ภิกษุผู้เป็น อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้นอย่างยิ่ง ก็เพียงนี้เท่านั้น คือเหมือน อานนท์ของเรา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด จักมีในอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น อย่างยิ่งก็เพียงนี้เท่านั้น คือ เหมือนอานนท์ของเรา อานนท์เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ว่า นี้เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้า พระตถาคต นี้เป็นกาลของพวกภิกษุ นี้เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี้เป็นกาลของ พวกอุบาสก นี้เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี้เป็นกาลของพระราชา นี้เป็นกาล ของราชมหาอำมาตย์ นี้เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี้เป็นกาลของพวกสาวก เดียรถีย์ ฯ [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มี อยู่ในอานนท์ อัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุ บริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้า อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดงธรรม ภิกษุบริษัทนั้นก็ ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น ถ้าภิกษุณีบริษัท ... อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น อุบาสิกาบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วย การแสดง อุบาสิกาบริษัทนั้นก็ยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อม นิ่งไปในเวลานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในอานนท์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในพระเจ้า จักรพรรดิ ถ้าขัตติยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า ขัตติย- *บริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชดำรัสในขัตติยบริษัทนั้น แม้ด้วย พระราชดำรัส ขัตติยบริษัทนั้นก็ยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงนิ่งไปในเวลานั้น ถ้าพราหมณ์บริษัท ... คฤหบดีบริษัท ... สมณบริษัท เข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า สมณบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้า พระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชดำรัสในสมณบริษัทนั้น แม้ด้วยพระราชดำรัส สมณ- *บริษัทนั้นก็ยินดี สมณบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนิ่งไปใน เวลานั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ มีอยู่ใน อานนท์ ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้ เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วย การแสดง ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไป ในเวลานั้น ถ้าภิกษุณีบริษัท ... อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัท เข้าไปเพื่อ จะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น อุบาสิกาบริษัทนั้น ย่อมยินดี ถ้าอานนท์ แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดง อุบาสิกาบริษัทนั้นก็ยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในอานนท์ ฯ [๑๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบ ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ ปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดี มหาศาลที่เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น จักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็น พระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรง ชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา และทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศทักษิณและทิศอุดร ๗ โยชน์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ ง่าย ดูกรอานนท์ อาลกมันทาราชธานีแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้ฉันใด กุสาวดี ราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานีมิได้เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ประการ ทั้ง กลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปใน เมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปกัน เถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานใน คามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาลครั้งสุดท้าย ท่าน พระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว สมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ประชุม กันอยู่ที่สัณฐาคารด้วยกรณียกิจบางอย่าง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยัง สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ครั้นแล้วได้บอกแก่พวกเจ้ามัลละเมือง กุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักเสด็จปรินิพพานในปัจฉิมยาม แห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจใน ภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้า พระตถาคตในกาลเป็นครั้งสุดท้าย พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสาและปชาบดีได้ สดับคำนี้ของท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ ใจ บางพวกสยายพระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือก ไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จปรินิพพาน เสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จักอันตรธานเสียเร็วนัก ฯ ครั้งนั้น พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสา ปชาบดี เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ เสด็จเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของเจ้ามัลละ ทั้งหลาย เสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ถ้า เราจักให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทีละองค์ๆ พวก เจ้ามัลละเมืองกุสินาราจักมิได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทั่วกัน ราตรีนี้จักสว่าง เสีย ถ้ากระไร เราควรจะจัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มี- *พระภาคโดยลำดับสกุลๆ ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมี นามอย่างนี้พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัทและอำมาตย์ ขอถวายบังคมพระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคม พระผู้มีพระภาคโดยลำดับสกุล ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละ มีนามอย่างนี้ พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์ ขอถวายบังคม พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า โดยอุบายเช่นนี้ ท่าน พระอานนท์ ยังพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ให้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเสร็จ โดยปฐมยามเท่านั้น ฯ [๑๓๘] ก็สมัยนั้น ปริพาชกนามว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา สุภัททปริพาชกได้สดับว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันนี้แหละ สุภัททปริพาชกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็เราสดับถ้อยคำของพวก ปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว พระสมณโคดมจัก ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่ เราเลื่อมใสในพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา โดยประการที่เราจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัย นี้ได้ ฯ ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของพวกเจ้า มัลละ เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์ กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระ- *สมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าโดย ประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านอานนท์ ขอโอกาส เถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่า เบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง สุภัทท- *ปริพาชก ... แม้ครั้งที่สาม สุภัททปริพาชกก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์ กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสใน พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า โดยประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ขอโอกาสเถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์ ก็ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต เลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่าน พระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่า เลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหา อย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน อนึ่ง เราอัน สุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อ ความนั้นโดยฉับพลันทีเดียว ฯ ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า ไปเถิดสุภัททะ พระผู้มีพระภาคทรงทำโอกาสแก่ท่าน สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่านี้ใด เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี คือบูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ หรือว่าทั้งหมด ไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด ดูกรสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว สุภัททปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระ- *อรหันต์ทั้งหลาย ฯ [๑๓๙] ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้ เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอก แต่ธรรมวินัยนี้ ฯ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะ ผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ [๑๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภัททปริพาชก ได้กราบ- *ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือน กัน ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุ ทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่า เรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ฯ สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญ- *เดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความ เป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี เมื่อล่วงสี่ปี ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทเถิด ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว สุภัททปริพาชกได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านอานนท์ ผู้มีอายุ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระศาสดาทรงอภิเษกด้วยอันเตวาสิกา- *ภิเษก ในที่เฉพาะพระพักตร์ในพระศาสนานี้ สุภัททปริพาชกได้บรรพชา อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค ก็ท่านสุภัททปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตร ทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญา อันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบ แล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ท่านสุภัททะ ได้เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์ สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค ฯ
จบภาณวารที่ห้า
[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัย อันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดูกรอานนท์ บัดนี้ พวกภิกษุยัง เรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส ฉันใด โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกัน ฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ โดยกาลล่วงไป แห่งเรา พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุ ท่านพระอานนท์กราบทูลถามว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมทัณฑ์เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ฉันนภิกษุพึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่า ไม่พึงกล่าว ไม่พึง สั่งสอน ฯ [๑๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใน มรรค หรือในข้อปฏิบัติ จะพึงมีบ้างแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ยังมิอาจ ทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันนิ่ง แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาครับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระ ธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติจะพึงมีบ้างแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง พวก เธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเรา แล้ว เรายังมิอาจทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ แม้ครั้งที่สามภิกษุ เหล่านั้น ก็พากันนิ่ง ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บางทีพวกเธอไม่ถาม แม้เพราะความเคารพในพระศาสดา แม้ภิกษุผู้เป็นสหาย ก็จงบอกแก่ภิกษุผู้สหายเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกนั้น พากันนิ่ง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือใน ข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ เธอพูดเพราะความเลื่อมใสตถาคตหยั่งรู้ในข้อนี้เหมือนกันว่า ความสงสัย เคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิ ได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุรูปที่ต่ำที่สุด ก็เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ [๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต ฯ [๑๔๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌานออกจากปฐมฌาน แล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจาก ตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจาย- *ตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจาก วิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตน- *สมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตน- *สมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่าพระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานแล้วหรือ ท่านพระอนุรุทธะตอบว่าอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระ ภาคยังไม่เสด็จปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรง เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรง เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญ- *จายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออก จากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน แล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก ทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน พระ ผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับ (แห่งการพิจารณา องค์จตุตถฌานนั้น) ฯ [๑๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้ง กลองทิพย์ก็บันลือขึ้น ฯ [๑๔๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถานี้ ความว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จักต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แต่พระ- *ตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะเปรียบเทียบมิได้ใน โลก เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระกำลัง ยังเสด็จปรินิพพาน ฯ [๑๔๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสพระคาถานี้ความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น ธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขาร เหล่านั้น เป็นสุข ฯ [๑๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ท่านพระอนุรุทธะ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ความว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะของพระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น คงที่ ไม่ หวั่นไหว ทรงปรารภสันติ ทรงทำกาละ มิได้มีแล้ว พระองค์ มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงอดกลั้นเวทนาได้แล้ว ความพ้นแห่งจิต ได้มีแล้ว เหมือนดวงประทีปดับไปฉะนั้น ฯ [๑๔๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ได้กล่าวคาถานี้ ความว่า เมื่อพระสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงเสด็จ ปรินิพพานแล้ว ในครั้งนั้นได้เกิดความอัศจรรย์น่าพึงกลัว และ เกิดความขนพองสยองเกล้า ฯ [๑๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุทั้งหลาย นั้น ภิกษุเหล่าใด ยังมีราคะไม่ไปปราศแล้ว ภิกษุเหล่านั้น บางพวกประคอง แขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก อันตรธานเสียเร็วนัก ส่วนภิกษุเหล่าใดที่มีราคะไป ปราศแล้วภิกษุเหล่านั้นมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นโดยธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้แต่ที่ไหน ฯ [๑๕๑] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลย อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็น อย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของ ชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้วมีแล้วปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็น ธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พวกเทวดาพากันยกโทษอยู่ ท่านพระอานนท์ถามว่า ท่าน อนุรุทธะ พวกเทวดาเป็นอย่างไร กระทำไว้ในใจเป็นไฉน ท่านพระอนุรุทธะ ตอบว่า มีอยู่ อานนท์ผู้มีอายุ เทวดาบางพวกสำคัญอากาศว่าเป็นแผ่นดิน สยาย ผมประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพาน เสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก อันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ เทวดา บางพวกสำคัญแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดินสยายผมประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้ม ลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน เสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก อันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ ส่วนเทวดาที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นโดยธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะ พึงได้ในสังขารนี้แต่ที่ไหน ฯ ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระอานนท์ ยังกาลให้ล่วงไปด้วย ธรรมีกถาตลอดราตรีที่ยังเหลืออยู่นั้น ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะสั่งท่านพระ อานนท์ว่า ไปเถิด อานนท์ผู้มีอายุ ท่านจงเข้าไปเมืองกุสินารา บอกแก่พวก เจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน แล้ว ขอพวกท่านจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์รับคำท่านพระ อนุรุทธะแล้ว เวลาเช้านุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว ฯ [๑๕๒] สมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคาร ด้วยเรื่องปรินิพพานนั้นอย่างเดียว ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปยังสัณฐาคาร ของพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ครั้นเข้าไปแล้ว ได้บอกแก่พวกเจ้ามัลละเมือง กุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ขอท่าน ทั้งหลายจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสาและ ประชาบดี ได้ทรงสดับคำนี้ของท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยม ไปด้วยความทุกข์ในใจ บางพวกสยายพระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุ ในโลกอันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตรัสสั่ง พวกบุรุษว่า ดูกรพนาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมของหอมมาลัยและเครื่อง ดนตรีทั้งปวง บรรดามีในกรุงกุสินาราไว้ให้พร้อมเถิด พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ทรงถือเอาของหอมมาลัยและเครื่องดนตรีทั้งปวงกับผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยัง สาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ และเสด็จเข้าไปถึงพระสรีระพระผู้มี- *พระภาค ครั้นเข้าไปถึงแล้วสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและของหอม ดาดเพดานผ้า ตกแต่ง โรงมณฑล ยังวันนั้นให้ล่วงไปด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมือง กุสินาราได้มีความดำริว่า การถวายพระเพลิงพระสรีระพระผู้มีพระภาคในวันนี้ พลบค่ำเสียแล้ว พรุ่งนี้เราจักถวายพระเพลิงพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้า มัลละเมืองกุสินาราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและของหอม ดาดเพดานผ้า ตกแต่ง โรงมณฑล ยังวันที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ให้ล่วงไป ครั้นถึงวันที่เจ็ด พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราได้มีความดำริว่า เราสักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและของหอม จักเชิญไปทางทิศทักษิณแห่งพระนคร แล้วเชิญไปภายนอกพระนคร ถวายพระเพลิง พระสรีระพระผู้มีพระภาคทางทิศทักษิณแห่งพระนครเถิด ฯ [๑๕๓] สมัยนั้น มัลลปาโมกข์ ๘ องค์ สระสรงเกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักยกพระสรีระพระผู้มีพระภาค ก็มิอาจจะยกขึ้นได้ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า ข้าแต่ท่านอนุรุทธะ อะไร หนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ให้มัลลปาโมกข์ ๘ องค์นี้ ผู้สระสรงเกล้าแล้ว ทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งใจว่า เราจักยกพระสรีระพระผู้มีพระภาคก็มิอาจยกขึ้นได้ ฯ อ. ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกท่านอย่างหนึ่ง ของพวก เทวดาอย่างหนึ่ง ฯ ม. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ความประสงค์ของพวกเทวดาเป็นอย่างไร ฯ ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกท่านว่า เราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัย และของหอม จักเชิญไปทางทิศทักษิณแห่งพระนคร แล้วเชิญไปภายนอกพระนคร ถวายพระเพลิงพระสรีระพระผู้มีพระภาคทางทิศทักษิณแห่งพระนคร ความประสงค์ ของพวกเทวดาว่า เราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและของหอมอันเป็นทิพย์ จักเชิญ ไปทางทิศอุดรแห่งพระนคร แล้วเข้าไปสู่พระนครโดยทวารทิศอุดร เชิญไปท่าม- *กลางพระนคร แล้วออกโดยทวารทิศบูรพา แล้วถวายพระเพลิงพระสรีระพระผู้มี- *พระภาค ที่มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศบูรพาแห่งพระนคร ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด ฯ สมัยนั้น เมืองกุสินาราเดียรดาษไปด้วยดอกมณฑารพโดยถ่องแถวประมาณ แค่เข่า จนตลอดที่ต่อแห่งเรือน บ่อของโสโครกและกองหยากเยื่อ ครั้งนั้น พวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระ พระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม มาลัยและของหอม ทั้งที่ เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เชิญไปทางทิศอุดรแห่งพระนคร แล้วเข้าไปสู่ พระนครโดยทวารทิศอุดร เชิญไปท่ามกลางพระนคร แล้วออกโดยทวารทิศบูรพา แล้ววางพระสรีระพระผู้มีพระภาค ณ มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศ บูรพาแห่งพระนคร ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ พวกข้าพเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรในพระสรีระพระผู้มีพระภาค ฯ อ. ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พวกท่านพึงปฏิบัติในพระสรีระพระตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น ฯ ข้าแต่ท่านอานนท์ ก็เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ฯ ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย เขาห่อพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้ว ซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วย ผ้า ๕๐๐ คู่แล้ว เชิญพระสรีระลงในรางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วย รางเหล็กอื่น แล้วกระทำจิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน ถวายพระเพลิงพระสรีระ พระเจ้าจักรพรรดิแล้ว สร้างสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วยประการฉะนี้แล พวกท่านพึงปฏิบัติ ในพระสรีระพระตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างสถูป ของพระตถาคตไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ชนเหล่าใดจักยกขึ้นซึ่งมาลัยของหอมหรือ จุณ จักอภิวาท หรือจักยังจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น การกระทำเช่นนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ฯ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตรัสสั่งพวกบุรุษว่า ดูกรพนาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมสำลีไว้ให้พร้อมเถิด พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ห่อพระสรีระพระผู้มีพระภาคด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระผู้มีพระภาคด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็ก อันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็กอื่น แล้วกระทำจิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน แล้วจึงเชิญพระสรีระพระผู้มีพระภาคขึ้นสู่จิตกาธาร ฯ [๑๕๔] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากเมืองปาวามาสู่เมืองกุสินารา ลำดับนั้น ท่าน พระมหากัสสปแวะออกจากทางแล้วนั่งพักที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ฯ สมัยนั้น อาชีวกคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพในเมืองกุสินารา เดินทางไกล มาสู่เมืองปาวา ท่านพระมหากัสสปได้เห็นอาชีวกนั้นมาแต่ไกล จึงถามอาชีวกนั้นว่า ดูกรผู้มีอายุ ท่านยังทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างหรือ อาชีวกตอบว่า อย่างนั้น ผู้มีอายุ เราทราบอยู่ พระสมณโคดมปรินิพพานเสียแล้ว ได้ ๗ วันเข้าวันนี้ ดอก มณฑารพนี้เราถือมาจากที่นั้น บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใด ยังไม่ปราศจาก ราคะ ภิกษุเหล่านั้น บางพวกประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือก ไปมาดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก อันตรธาน เสียเร็วนัก ดังนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด ปราศจากราคะแล้ว ภิกษุเหล่านั้น มีสติ สัมปชัญญะ อดกลั้นด้วยธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้แต่ที่ไหน ฯ [๑๕๕] สมัยนั้น บรรพชิตผู้บวชเมื่อแก่ นามว่าสุภัททะ นั่งอยู่ในบริษัท นั้นด้วย ครั้งนั้น สุภัททวุฒบรรพชิตได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเรา ปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น ฯ ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปเตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้ ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้ แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯ [๑๕๖] สมัยนั้น มัลลปาโมกข์ ๔ องค์ สระสรงเกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งใจว่า เราจักยังไฟให้ติดจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ก็มิอาจให้ติดได้ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า ข้าแต่ท่าน อนุรุทธะ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ที่ให้มัลลปาโมกข์ทั้ง ๔ องค์นี้ ผู้สระสรงเกล้าแล้ว ทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งใจว่า เราจักยังไฟให้ติดจิตกาธาร ก็มิอาจให้ติดได้ ฯ อ. ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกท่านอย่างหนึ่ง ของ พวกเทวดาอย่างหนึ่ง ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ความประสงค์ของพวกเทวดาเป็นอย่างไร ฯ ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกเทวดาว่า ท่านพระมหากัสสป นี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากเมืองปาวามาสู่ เมืองกุสินารา จิตกาธารของพระผู้มีพระภาคจักยังไม่ลุกโพลงขึ้น จนกว่าท่าน พระมหากัสสปจะถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยมือของตน ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด ฯ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ในเมืองกุสินารา และถึงจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วกระทำจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธาร ๓ รอบ แล้วเปิดทางพระบาท ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านั้น ก็กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อท่านพระมหา- *กัสสปและภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นถวายบังคมแล้ว จิตกาธารของพระผู้มีพระภาคก็โพลง ขึ้นเอง เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคถูกเพลิงไหม้อยู่ พระอวัยวะส่วนใด คือ พระฉวี พระจัมมะ พระมังสะ พระนหารู หรือพระลสิกา เถ้า เขม่า แห่งพระอวัยวะส่วนนั้น มิได้ปรากฏเลย เหลืออยู่แต่พระสรีระอย่างเดียว เมื่อ เนยใสและน้ำมันถูกไฟไหม้อยู่ เถ้า เขม่า มิได้ปรากฏ ฉันใด เมื่อพระสรีระ ของพระผู้มีพระภาคถูกเพลิงไหม้อยู่ พระอวัยวะส่วนใด คือ พระฉวี พระจัมมะ พระมังสะ พระนหารู หรือพระลสิกา เถ้า เขม่าแห่งพระอวัยวะส่วนนั้น มิได้ ปรากฏเลย เหลืออยู่แต่พระสรีระอย่างเดียวฉันนั้นเหมือนกัน และบรรดาผ้า ๕๐๐ คู่ เหล่านั้น ไฟไหม้เพียง ๒ ผืนเท่านั้น คือ ผืนในที่สุด กับผืนนอก เมื่อพระสรีระ พระผู้มีพระภาคถูกไฟไหม้แล้ว ท่อน้ำก็ไหลหลั่งมาจากอากาศดับจิตกาธารของ พระผู้มีพระภาค น้ำพุ่งขึ้นแม้จากไม้สาละ ดับจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ดับจิตกาธารของพระผู้มีพระภาคด้วยน้ำหอมล้วนๆ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารากระทำสัตติบัญชรในสัณฐาคารแวดล้อมด้วย ธนูปราการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาคตลอดเจ็ดวัน ด้วยการฟ้อนรำ ด้วยการขับ ด้วยการประโคม ด้วยพวงมาลัย ฯ [๑๕๗] พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตรได้ทรงสดับ ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินาราจึงทรงส่งทูตไปหาพวก เจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควร จะได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลีทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรได้ส่วนพระสรีระพระผู้มี พระภาคบ้าง แม้พวกเราก็จักได้ทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ... พระผู้มีพระภาคเป็นพระญาติอันประเสริฐ ของพวกเรา ... พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ... พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ ... พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ... พระผู้มีพระภาคเป็น กษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ ... พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ... พระผู้มี- *พระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นพราหมณ์ ... พวกกษัตริย์มัลละเมืองปาวา ได้ ทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา จึงทรงส่งทูต ไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาค เมื่อกษัตริย์และพราหมณ์ว่ามาดังนี้แล้ว พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราได้ตรัสตอบหมู่คณะเหล่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานใน คามเขตของพวกเรา พวกเราจักไม่ให้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาค ฯ [๑๕๘] เมื่อพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตรัสอย่างนี้แล้ว โทณพราหมณ์ ได้พูดกะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำอันเอกของข้าพเจ้า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ การ จะสัมประหารกันเพราะส่วนพระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้เป็น อุดมบุคคลเช่นนี้ ไม่ดีเลย ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอม พร้อมใจยินดีแบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วนเถิด ขอพระสถูป จงแพร่หลายไปในทิศทั้งหลาย ชนผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุมีอยู่มาก ฯ [๑๕๙] หมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่าน นั่นแหละจงแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อย เถิด โทณพราหมณ์รับคำของหมู่คณะเหล่านั้นแล้ว แบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าวกะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ [๑๖๐] พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระ พระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้ แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้น นำพระ อังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ [๑๖๑] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์ พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มี พระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมือง อัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมือง อัลกัปปะ พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้ กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวก เจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและ การฉลองตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการ ฉลองพระอังคารในเมืองปิปผลิวัน ฯ พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ เป็นสิบแห่งทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและ การก่อพระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ [๑๖๒] พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนาน หนึ่งของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวก นาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธาร บุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีก องค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ ฯ ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้า นั้นแหละ แผ่นดินนี้ชื่อว่า ทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่า อันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงประนม มือถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ ๔๐ องค์ บริบูรณ์ พระเกศา และ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำ ต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ
จบมหาปรินิพพานสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๑-๓๙๑๕ หน้าที่ ๑-๑๕๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1&Z=3915&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=10&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-162] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=10&item=1&items=162              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-162] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=10&item=1&items=162              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/dn14/en/sujato https://suttacentral.net/dn14/en/tw-caf_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :