ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปฐมปัณณาสก์
ภัณฑคามวรรคที่ ๑
อนุพุทธสูตร
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภัณฑคาม แคว้นวัชชี ณ ที่ นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่า นั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทั้งเรา ทั้งท่านทั้งหลายได้แล่นไปแล้ว ได้ท่องเที่ยวไปแล้ว สิ้นกาลนานอย่างนี้ เพราะยังไม่รู้แจ้ง ไม่แทงตลอดซึ่งธรรม ๔ ประการ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศีลที่เป็นอริยะ ๑ สมาธิที่เป็นอริยะ ๑ ปัญญาที่เป็น อริยะ ๑ และวิมุตติที่เป็นอริยะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ศีลที่เป็นอริยะ สมาธิที่เป็นอริยะ ปัญญาที่เป็นอริยะ และวิมุตติที่เป็นอริยะ อันเราและท่าน ทั้งหลายได้ตรัสรู้ ได้แทงตลอดแล้ว ถอนตัณหาในภพขึ้นได้แล้ว ตัณหาอัน นำไปสู่ภพสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ ซึ่งไม่มี ธรรมอื่นยิ่งกว่า อันพระโคตม ศาสดาผู้มียศได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าผู้พระศาสดามีจักษุทรงกระทำที่สุดทุกข์ ตรัสรู้ พระธรรมแล้ว ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย พระองค์เสด็จ ปรินิพพานแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑
ปปติตสูตร
[๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เราเรียกว่า ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้ ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ศีลที่เป็น อริยะ ๑ สมาธิที่เป็นอริยะ ๑ ปัญญาที่เป็นอริยะ ๑ และวิมุตติที่เป็นอริยะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เราเรียกว่า ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เราเรียกว่า ผู้ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศีลที่เป็นอริยะ ๑ สมาธิที่เป็นอริยะ ๑ ปัญญาที่เป็นอริยะ ๑ และวิมุตติ ที่เป็นอริยะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เราเรียกว่า ผู้ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้ ผู้ที่ตกไปจากธรรมวินัยนี้ ชื่อว่าผู้ตกไป ผู้กำหนัดเพราะราคะ เป็นผู้กลับมาอีก ฉะนั้น ควรทำกิจที่ควรทำ ยินดีใน คุณชาติที่ควรยินดี จะได้บรรลุสุขทั้งโลกียสุขและโลกุตตร สุข ฯ
จบสูตรที่ ๒
ขตสูตรที่ ๑
[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็น คนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ ปราศจากคุณสมบัติ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญ เป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้ว กล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบ คอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวน ให้รอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นคนพาล ไม่ เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณสมบัติ ย่อมเป็นผู้ ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็น อันมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้ หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควร ติเตียน ๑ ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑ ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควร เลื่อมใส ๑ ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะ ที่ควรเลื่อมใส ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ แล เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วย คุณสมบัติ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญ เป็นอันมาก ฯ ผู้ใด ย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควร สรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ ประสบสุขเพราะโทษนั้น ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์ ทั้งหมด พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย การที่ยังใจให้ ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ เป็นโทษใหญ่ กว่า (โทษการพนัน) ผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสนสามสิบหกนิรัพ พุททะ และห้าอัพพุททะ ฯ
จบสูตรที่ ๓
ขตสูตรที่ ๒
[๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปฏิบัติผิดในบุคคล ๔ จำพวก เป็น คนพาล ไม่ฉลาด ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมบริหารตนให้ปราศจากคุณสมบัติ เป็นผู้ ประกอบด้วยโทษ ทั้งนักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก บุคคล ๔ จำพวกใครบ้าง คือ มารดา ๑ บิดา ๑ พระตถาคต ๑ สาวกของ พระตถาคต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปฏิบัติผิดในบุคคล ๔ จำพวกนี้แล เป็นคนพาล ไม่ฉลาด ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมบริหารตนให้ปราศจากคุณสมบัติ เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ ทั้งนักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญ เป็นอันมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในบุคคล ๔ จำพวก เป็น บัณฑิต ฉลาด เป็นสัตบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้เสื่อมเสีย เป็นผู้ไม่มีโทษ ทั้งนักปราชญ์ก็สรรเสริญ และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก บุคคล ๔ จำพวก ใครบ้าง คือ มารดา ๑ บิดา ๑ พระตถาคต ๑ สาวกของพระตถาคต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในบุคคล ๔ จำพวกนี้แล เป็นบัณฑิต ฉลาด เป็นสัตบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้เสื่อมเสีย เป็นผู้ไม่มีโทษ ทั้งนัก ปราชญ์ก็สรรเสริญ และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก นรชนใด ปฏิบัติผิดในมารดา บิดา พระตถาคตสัมมา สัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระตถาคต นรชนเช่นนั้น ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก บัณฑิตทั้งหลายย่อม ติเตียนนรชนนั้น ในโลกนี้ทีเดียว เพราะเหตุที่ไม่ประพฤติ ธรรม ในมารดาบิดา และเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปสู่ อบาย ส่วนนรชนใดปฏิบัติชอบในมารดาบิดา ในพระ ตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระตถาคต นรชนเช่นนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญนรชนนั้นในโลกนี้ทีเดียว เพราะเหตุที่ประพฤติ ธรรมในมารดาบิดา และเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิง ในสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑-๑๐๐. หน้าที่ ๑ - ๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1&Z=100&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]