ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติปทุมิยเถระ
(พระติปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๔๘] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง๑- ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีสาวกผู้ฝึกตนแวดล้อมแล้ว เสด็จออกจากนคร [๔๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นช่างดอกไม้ อยู่ในกรุงหงสวดี ได้ถือดอกปทุม ๓ ดอก ซึ่งเป็นดอกไม้ชั้นดีเยี่ยมในกรุงนั้น @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งปวง หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.อป.อ. ๒/๔๘/๑๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค]

๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน

[๕๐] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส กำลังเสด็จสวนทางมาในระหว่างร้านตลาด พร้อมกับการได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงคิดอย่างนี้ในเวลานั้นว่า [๕๑] ประโยชน์อะไรของเรากับดอกไม้เหล่านี้ ที่เราใช้บำรุงพระราชา เราพึงได้บ้าน คามเขต หรือทรัพย์พันหนึ่งเท่านั้น [๕๒] เราบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ฝึกคนที่มิได้ฝึกตน ผู้มีความเพียร ทรงนำสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งปวง ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกแล้ว จักได้ทรัพย์อันเป็นอมตะ [๕๓] ข้าพเจ้าครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส จับดอกบัวแดง ๓ ดอกโยนขึ้นไปในอากาศ ในครั้งนั้น [๕๔] พอข้าพเจ้าโยนขึ้นไป ดอกบัวแดงเหล่านั้นก็แผ่(ขยายกลีบ)อยู่ในอากาศ ขั้วชี้ขึ้นข้างบน ดอกย้อยลงข้างล่าง กั้นอยู่เหนือพระเศียรในอากาศ [๕๕] หมู่มนุษย์ที่เห็นแล้วพากันโห่ร้องเกรียวกราว ทั้งเทวดาในอากาศก็พากันแซ่ซ้องสาธุการว่า [๕๖] ความอัศจรรย์เกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เราทั้งหมดจักฟังธรรม อานุภาพแห่งดอกไม้ [๕๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่ที่ถนนนั่นเอง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๕๘] เราจักพยากรณ์มาณพผู้ที่ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกบัวแดง ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค]

๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน

[๕๙] มาณพนั้น จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป และจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ ชาติ [๖๐] ครั้งนั้น จักมีวิมานชื่อมหาวิตถาริกะ สูง ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๕๐ โยชน์ [๖๑] ป้อม ๔๐๐,๐๐๐ ป้อม ประกอบด้วยเรือนยอดชั้นดี ประดับด้วยที่นอนใหญ่ ที่บุญกรรมสร้างไว้ดีแล้ว [๖๒] นางเทพอัปสร ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ฉลาดในการฟ้อนรำ การขับร้อง และชำนาญในการประโคม จักแวดล้อมเขา [๖๓] ครั้งนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์สีแดง จักตกลงในวิมานที่ประเสริฐ ซึ่งคับคั่งด้วยหมู่เทพนารี เช่นนั้น [๖๔] ดอกบัวแดงโตประมาณเท่าล้อ จักแขวนอยู่ ที่ตะปูฝา ที่ไม้ฟันนาค ที่บานประตู และที่เสาระเนียด ในครั้งนั้น [๖๕] นางเทพอัปสรทั้งหลายใช้กลีบบัวปูลาดวิมานนี้แล้ว จักนุ่งห่มกลีบบัว นอนกลิ้งเกลือกอยู่ภายในวิมานที่ประเสริฐซึ่งลาดด้วยกลีบบัว [๖๖] ดอกบัวแดงล้วนเหล่านั้น แวดล้อมวิมาน ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ฟุ้งไป ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ [๖๗] มาณพนี้ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๖๘] เขาได้เสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว มีความสวัสดี ไม่มีอุปัทวะ เมื่อภพสุดท้ายมาถึงแล้วจักบรรลุนิพพาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค]

๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน

[๖๙] พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นดีแล้วหนอ พาณิชยกรรม ข้าพเจ้าก็ประกอบแล้ว ข้าพเจ้าใช้ดอกบัว ๓ ดอกบูชาแล้ว ได้เสวยสมบัติ ๓ ประการ [๗๐] ดอกบัวแดงบานงดงาม จักกั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า ผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว หลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวง ในวันนี้ [๗๑] เมื่อพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงแสดงผลกรรมของข้าพเจ้า เหล่าสัตว์หลายร้อย หลายพันได้บรรลุธรรมแล้ว [๗๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกบัว ๓ ดอก [๗๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระติปทุมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติปทุมิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
นาคสมาลวรรคที่ ๘ จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค]

รวมอปทานที่มีในวรรค

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นาคสมาลเถราปทาน ๒. ปทสัญญกเถราปทาน ๓. สุสัญญกเถราปทาน ๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน ๕. เอกสัญญกเถราปทาน ๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน ๗. สูจิทายกเถราปทาน ๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน ๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน และมีคาถา ๗๕ คาถา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๒๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๒๒๓-๒๒๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=32&siri=82              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=2931&Z=2988                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=82              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=82&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=2744              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=82&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=2744                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap82/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :