ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์
ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
[๑] ในกัปอันประมาณมิได้นับจากภัทรกัปนี้ไป ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำวิเศษ ๔ พระองค์ คือพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระเมธังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระสรณังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ และพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระชินเจ้าเหล่านั้น เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน [๒] สมัยต่อจากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระะนามว่าโกณฑัญญะ ทรงเป็นผู้นำพระองค์เดียวเสด็จอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๓] อันตรกัปของพระผู้มีพระภาคทีปังกร กับพระศาสดาพระนามว่าโกณฑัญญะ จะคำนวณนับมิได้ [๔] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ทรงเป็นผู้นำ แม้อันตรกัปของพระโกณฑัญญะกับพระมังคลพุทธเจ้านั้น จะคำนวณนับมิได้ [๕] พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระนามว่ามังคละ ๑ พระนามว่าสุมนะ ๑ พระนามว่าเรวตะ ๑ พระนามว่าโสภิตะ ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์

ผู้เป็นมุนี ผู้มีพระจักษุ มีพระรัศมีสว่างไสว ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน [๖] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ได้มีพระมหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี แม้อันตรกัปของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ กับพระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี จะคำนวณนับมิได้ [๗] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ พระนามว่าอโนมทัสสี ๑ พระนามว่าปทุมะ ๑ พระนามว่านารทะ ๑ ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้เป็นมุนี ทำที่สุดความมืดได้แม้เหล่านั้น ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน [๘] สมัยต่อจากพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๙] แม้อันตรกัปของพระผู้มีพระภาคพระนามว่านารทะ กับพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ จะคำนวณนับมิได้ [๑๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) มีพระมหามุนีพระองค์เดียว คือพระปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา [๑๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์ คือพระสุเมธะและพระสุชาตะ [๑๒] ในกัปที่ ๑,๘๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๓ พระองค์ คือพระปิยทัสสี ๑ พระอัตถทัสสี ๑ พระธัมมทัสสี ๑ ล้วนเป็นผู้นำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์

[๑๓] ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้ไม่มีบุคคลเปรียบได้ในโลก เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน [๑๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป ได้มีพระมหามุนีพระองค์เดียวคือพระสิทธัตถะ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นดังศัลยแพทย์ผู้ยอดเยี่ยม [๑๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์ คือพระติสสะ ๑ พระปุสสะ ๑ ผู้ไม่มีบุคคลเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ [๑๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป มีพระพุทธเจ้าทรงนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระกรุณา ทรงเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากเครื่องพันธนาการ [๑๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์ คือพระสิขี ๑ พระเวสสภู ๑ ผู้ไม่มีบุคคลเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ [๑๘] ในภัทรกัปนี้ได้มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ๓ พระองค์ คือพระกกุสันธะ ๑ พระโกนาคมนะ ๑ พระกัสสปะ ผู้ทรงเป็นผู้นำ ๑ [๑๙] บัดนี้ เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรยจักมี(ในอนาคต) แม้พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ก็ทรงเป็นนักปราชญ์อนุเคราะห์สัตว์โลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๗. ธาตุภาชนียกถา

[๒๐] บรรดาพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชาเหล่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นพร้อมด้วยสาวก จักตรัสบอกมรรคนั้นแก่ผู้อื่นหลายโกฏิ แล้วจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน ฉะนี้แล
พุทธปกิณณกกัณฑ์ที่ ๒๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๗๒๑-๗๒๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=218              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=8563&Z=8606                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=207              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=207&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=9476              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=207&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=9476                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :