พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


389 ถ้าไม่ระวังจะตกเป็นทางของอายตนะ

ปัญหา ภิกษุที่ไม่สังวรระวังอาตยนะ ย่อมตกเป็นทาสของอายตนะอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้อบรมไม่ได้พัฒนากายคตาสติ จักษุย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พึงพอใจ...หูย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในเสียงอันเป็นที่พอใจ.... จมูกย่อมฉุดไปในกลิ่นอันน่าพอใจ ลิ้นย่อมฉุดไปในรสอันน่าพอใจ กายย่อมฉุดไปในโผฏฐัพพะอันน่าพอใจ ใจย่อมฉุดไปในธรรมารมณ์อันน่าพอใจรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ อันไม่น่าพอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างหาก มีโคจรต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น คือ จับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงขมวดปมไว้ตรงกลาง ปล่อยไป...
“ทีนั้นแล สัตว์ทั้ง ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน พึงดึงไปหาโคจรและวิสัยของตนๆ งูพึงดึงด้วยคิดว่าเราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงด้วยคิดว่าจักลงน้ำ นกพึงดึงด้วยคิดว่าเราจักบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงด้วยคิดว่าเราจักเข้าบ้าง สุนัขจิ้งจอกพึงดึงด้วยคิดว่าเราจักเข้าสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแลสัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของจน ๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ใดมีกำลังกว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไปสู่กำลังแห่งสัตว์นั้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปใน รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ อันน่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาขอบเขตมิได้ ย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต อันเป็นที่ดับไปอย่างสิ้นเชิง แห่งอกุศลกรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแก่เธอตามความเป็นจริง
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งวิสัยต่างกันแล้วผูกด้วยเชือกเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงผูกไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง เมื่อนั้นสัตว์เหล่านั้นพึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบหลักหรือเสานั่นเอง คำว่าเสาหรือหลักเป็นชื่อของกายคตาสติเพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่ากายคตาสติ เราทั้งหลายจักอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานพาหนะ กระทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”

ฉัปปาณสูตร สฬา. สํ. (๓๔๘-๓๕๐)
ตบ. ๑๘ : ๒๔๖-๒๔๙ ตท. ๑๘ : ๒๓๐-๒๓๒
ตอ. K.S. ๔ : ๑๓๐-๑๓๒

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :