ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา เนมิราชชาดก
พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๓.

ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชเสด็จไปทอดพระเนตรสวรรค์
ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถมุ่งไปเทวโลก. พระเจ้าเนมิราช เมื่อเสด็จไปเทวโลก ทอดพระเนตรเห็นวิมานอันประดิษฐานอยู่ในอากาศของเทพธิดา นามว่าวรุณี มียอด ๕ ยอด แล้วไปด้วยแก้วมณี ใหญ่ ๑๒ โยชน์ ประดับด้วยอลังการทั้งปวง สมบูรณ์ด้วยอุทยานและสระโบกขรณี มีต้นกัลปพฤกษ์แวดล้อม และทอดพระเนตรเห็นเทพธิดานั้น นั่งอยู่เหนือหลังที่ไสยาสน์ภายในกูฏาคาร หมู่อัปสรพันหนึ่งแวดล้อม เปิดมณีสีหบัญชรแลดูภายนอก. จึงตรัสคาถาถามมาตลีเทพสารถี แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้พยากรณ์แด่พระองค์
วิมาน ๕ ยอดนี้ปรากฏอยู่ เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ประดับดอกไม้ นั่งอยู่กลางที่ไสยาสน์ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ สถิตอยู่ในวิมานนั้น ความปลื้มใจปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพธิดานี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงได้ถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า ก็เทพธิดาที่พระองค์ทรงหมายถึงนั้น ชื่อวรุณี. เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นทาสี เกิดแต่ทาสีในเรือนของพราหมณ์. นางรู้แจ้งซึ่งแขก คือภิกษุผู้มีกาลอันถึงแล้ว นิมนต์ให้นั่งในเรือนของพราหมณ์ ยินดีต่อภิกษุนั้นเป็นนิตย์ ดังมารดายินดีต่อบุตร ผู้จากไปนานกลับมาถึงฉะนั้น. นางอังคาสภิกษุนั้นโดยเคารพ ได้ถวายสิ่งของของตนเล็กน้อย เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจ ถูปํ ความว่า ประกอบด้วยกูฏาคาร ๕. บทว่า มาลาปิลนฺธา ความว่า ประดับด้วยสรรพาภรณ์ มีเครื่องประดับและดอกไม้เป็นต้น. บทว่า ตตฺถจฺฉติ ความว่า อยู่ในวิมานนั้น. บทว่า อุจฺจาวจํ อิทฺธิวิกุพฺพมานา ความว่า แสดงเทพฤทธิ์มีประการต่างๆ. บทว่า ทิสฺวา ความว่า เราผู้เห็นความเป็นไปนั้นดำรงอยู่. บทว่า วิตฺตี แปลว่า ความยินดี. บทว่า วินฺทติ ได้แก่ ย่อมได้เฉพาะ. อธิบายว่า เรามีความปลื้มใจราวกะว่าของมีอยู่ คืออันความยินดีครอบงำแล้ว. บทว่า อามายทาสี ความว่า เป็นทาสีเกิดในครรภ์ของทาสีในเรือน.
บทว่า อหุ พฺราหฺมณสฺส ความว่า เทพธิดานั้นได้เป็นทาสีของพราหมณ์คนหนึ่ง. ในกาลแห่งพระกัสสปทศพล.
บทว่า สา ปตฺตกาลํ ความว่า พราหมณ์นั้นได้บริจาคสลากภัตแปดแด่พระสงฆ์ พราหมณ์นั้นไปเรือนเรียกภริยามาสั่งว่า แน่ะนางผู้เจริญ พรุ่งนี้ เธอจงลุกขึ้นแต่เช้า จัดสลากภัตแปดทำให้มีราคากหาปณะหนึ่งสำหรับภิกษุรูปหนึ่งๆ พราหมณีปฏิเสธว่า ข้าแต่นาย ขึ้นชื่อว่า ภิกษุทั้งหลายเป็นนักเลง ดิฉันไม่อาจ ธิดาทั้งหลายของพราหมณ์นั้นก็ปฏิเสธอย่างนั้นเหมือนกัน. พราหมณ์กล่าวกะทาสีว่า เจ้าอาจไหม แม่หนู. ทาสีนั้นรับคำว่า อาจ เจ้าค่ะ. แล้วจัดยาคูของเคี้ยวและภัตตาหารเป็นต้น โดยเคารพได้สลากแล้วรู้แจ้งแขกผู้ได้เวลาซึ่งมาแล้ว นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ซึ่งไล้ทาด้วยโคมัยสดทำดอกไม้ยื่นไว้ข้างหน้าในเรือน.
บทว่า มาตาว ปุตฺตํ ความว่า ทาสีนั้นเพลิดเพลินยิ่งตลอดกาลเป็นนิตย์ อังคาสโดยเคารพ ได้ถวายอะไรๆ ซึ่งเป็นของของตน เหมือนมารดาเพลิดเพลินยิ่ง ครั้งเดียวต่อบุตรผู้จากไปนาน กลับมาแล้ว ฉะนั้น.
บทว่า สญฺญมา สํวิภาคา จ ความว่า ทาสีนั้นได้เป็นผู้มีศีลและมีจาคะ เพราะเหตุนั้น จึงบันเทิงอยู่ในวิมานนี้ ด้วยศีลและจาคะนั้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สญฺญมา ความว่า ประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์.

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีได้ขับรถต่อไป แสดงวิมานทอง ๗ ของเทพบุตรชื่อโสณทินนะ. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานเหล่านั้น และสิริสมบัติของโสณทินนเทพบุตรนั้น จึงตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรนั้นได้ทำไว้. แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานทั้ง ๗ โชติช่วง อันบุญญานุภาพตกแต่งส่องแสงสว่างดั่งดวงอาทิตย์อ่อนๆ. เทพบุตรในวิมานนั้นมีฤทธิ์มาก ประดับด้วยสรรพาภรณ์ อันหมู่เทพธิดาแวดล้อม ผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ ทั้ง ๗ วิมาน ความปลื้มใจปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่านเทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงได้ถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีชื่อ โสณทินนะ. เป็นทานบดี ให้สร้างวิหาร ๗ หลัง อุทิศต่อบรรพชิต. ได้ปฏิบัติบำรุง ภิกษุผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้นโดยเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่งผ้าห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป ในท่านผู้ซื่อตรงด้วยจิตเลื่อมใส รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ททฺทฬฺหมานา แปลว่า โชติช่วงอยู่.
บทว่า อาเภนฺติ ความว่า ส่องแสงสว่างดั่งดวงอาทิตย์อ่อนๆ.
บทว่า ตตฺถ ความว่า ในวิมาน ๗ หลังที่ตั้งเรียงรายอยู่นั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่ง ชื่อโสณทินนะ. ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพบุตรองค์นี้ เมื่อก่อนในกาลแห่งพระกัสสปทศพล เป็นคฤหบดีมีนามว่าโสณทินนะ เป็นทานบดี ในนิคมแห่งหนึ่งในกาสิกรัฐ. เขาให้สร้างกุฎีที่อยู่ อุทิศบรรพชิตทั้งหลาย ปฏิบัติบำรุงภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ในวิหารกุฎีนั้นๆ ด้วยปัจจัย ๔ โดยเคารพ และเข้าจำอุโบสถ สำรวมในศีลทั้งหลายเป็นนิตย์. ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว จึงอุบัติในวิมานนี้บันเทิงอยู่.
อนึ่ง บทว่า ปาฏิหาริยปกฺขญฺจ นี้ ในคาถานั้น ท่านกล่าวหมายเอาดิถีที่ ๗ และดิถีที่ ๙ อันเป็นดิถีรับและส่งแห่งอัฏฐมีอุโบสถ และดิถีที่ ๑๓ และปาฏิบทอันเป็นดิถีรับและส่งแห่งจาตุททสีอุโบสถและปัณณรสีอุโบสถ.

ครั้นกล่าวกรรมของโสณทินนเทพบุตรอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วผลึก วิมานแก้วผลึกนั้นสูง ๒๕ โยชน์ ประกอบด้วยเสาซึ่งแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการหลายร้อยต้น ประดับด้วยยอดหลายร้อยยอด ห้อยกระดิ่งเป็นแถวกรอบ มีธงที่แล้วด้วยทองและเงินปักไสว ประดับด้วยอุทยานและวนะวิจิตรด้วยบุปผชาตินานาชนิด ประกอบด้วยสระโบกขรณีน่ายินดี มีไพทีที่น่ารื่นรมย์ เกลื่อนไปด้วยอัปสร ผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้องและประโคม. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานแก้วผลึกนั้น มีพระหฤทัยยินดี. ตรัสถามถึงกุศลกรรมแห่งอัปสรเหล่านั้น. แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้วนี้ เกลื่อนไปด้วยหมู่อัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยยอด บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้อง เปล่งแสงสว่างจากฝาแก้วผลึก ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน อัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า อัปสรเหล่านั้นเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในทาน มีจิตเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยมฺหํ แปลว่า วิมาน มีคำอธิบายว่า ปราสาท. บทว่า ผลิกาสุ ได้แก่ ฝาแก้วผลึก คือฝาที่แล้วด้วยแก้วมณีขาว. บทว่า นารีวรคณากิณฺณํ ได้แก่ เกลื่อนไปด้วยหมู่อัปสรผู้ประเสริฐ. บทว่า กูฏาคารวิโรจิตํ ความว่า สะสม คือรวบรวม คือเจริญด้วยเรือนยอดอันประเสริฐทั้งหลาย. บทว่า อุภยํ ความว่า งดงามด้วยการฟ้อนรำและการขับร้องทั้งสองอย่าง.
บทว่า ยา กาจิ นี้ ท่านกล่าวโดยไม่กำหนดก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็พึงทราบอัปสรเหล่านั้นว่า เป็นอุบาสิกาในกรุงพาราณสี ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า ได้รวมกันเป็นคณะกระทำบุญทั้งหลาย ซึ่งมีประการดังกล่าว แล้วในหนหลังเหล่านั้น จึงถึงสมบัตินั้น.

ลำดับนั้น มาตลีเทพสารถีนั้นขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วมณีวิมานหนึ่งแด่พระเจ้าเนมิราช วิมานแก้วมณีนั้นประดิษฐานอยู่ในภูมิภาคที่ราบเรียบ สมบูรณ์ด้วยส่วนสูง เปล่งรัศมีดุจมณีบรรพต กึกก้องด้วยการฟ้อนรำขับร้องและประโคม เกลื่อนไปด้วยเทพบุตรเป็นอันมาก. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้น แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งแล้วนี้ ประกอบด้วยภูมิภาคน่ารื่นรมย์ จัดสรรไว้เป็นส่วนๆ เปล่งแสงสว่างออกจากฝาแก้วไพฑูรย์. เสียงทิพย์ คือเสียงเปิงมาง เสียงตะโพน การฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี ย่อมเปล่งออก น่าฟัง เป็นที่รื่นรมย์ใจ. เราไม่รู้สึกว่าได้เห็น หรือได้ฟังเสียงอันเป็นไปอย่างนี้ อันไพเราะอย่างนี้ ในกาลก่อนเลย ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถามตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรเหล่านี้ เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้ก่อสร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำและสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะ ในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬฺริยาสุ ได้แก่ ฝาแก้วไพฑูรย์.
บทว่า อุเปตํ ภูมิภาเคหิ ความว่า ประกอบด้วยภูมิภาคน่ารื่นรมย์.
บทว่า อาลมฺพรา มุทิงฺคา จ ความว่า เครื่องดนตรีเหล่านี้ ย่อมเปล่งเสียงในวิมานนี้.
บทว่า นจฺจคีตา สุวาทิตา ความว่า การฟ้อนรำและการขับร้องมีประการต่างๆ และการประโคมดนตรีแม้อื่นๆ ย่อมเป็นไปในวิมานนี้.
บทว่า เอวํ คตํ ได้แก่ ถึงภาวะที่รื่นรมย์ใจอย่างนี้.
บทว่า เย เกจิ แม้นี้ ท่านกล่าวโดยไม่กำหนดก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็พึงทราบเทพบุตรเหล่านั้นว่า เป็นอุบาสกชาวพาราณสี ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รวมกันเป็นคณะทำบุญเหล่านี้ จึงถึงทิพยสมบัตินั้น.
บทว่า ปฏิปาทยุํ ในคาถานั้น ความว่า ให้ถึง คือได้ถวายแด่พระอรหันต์เหล่านั้น.
บทว่า ปจฺจยํ ได้แก่ คิลานปัจจัย.
บทว่า อทํสุ ความว่า ได้ถวายทานมีประการต่างๆ อย่างนี้.

มาตลีเทพสารถีนั้นทูลบอกกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นแด่พระเจ้าเนมิราช ด้วยประการฉะนี้แล้ว ขับรถต่อไปแสดงวิมานแก้วผลึกอีกวิมานหนึ่ง วิมานแก้วผลึกนั้นประดับด้วยยอดมิใช่น้อย ประดับด้วยวนะรุ่น ซึ่งปกคลุมไปด้วยนานาบุปผชาติ แวดล้อมไปด้วยแม่น้ำมีน้ำใสสะอาด กึกก้องไปด้วยฝูงวิหคต่างๆ ส่งเสียงร้อง มีหมู่อัปสรแวดล้อม เป็นสถานที่อยู่ของเทพบุตร ผู้มีบุญองค์หนึ่งนั้นนั่นเอง. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานนั้น มีพระหฤทัยยินดี จึงตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรนั้น แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้วนี้ เกลื่อนไปด้วยหมู่อัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดบริบูรณ์ ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ส่องแสงสว่างจากฝาแก้วผลึก มีแม่น้ำอันประกอบด้วย ไม้ดอกต่างๆ ล้อมรอบ ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีในกรุงมิถิลา เป็นทานบดี ได้สร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยธรรม ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัยและเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นชฺโช เป็นวจนะวิปลาส ความว่า แม่น้ำสายหนึ่งไหลล้อมรอบวิมาน.
บทว่า ทุมายุตา แม่น้ำนั้นประกอบด้วยต้นไม้มีดอกต่างๆ.
บทว่า มิถิลายํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีคนหนึ่งในมิถิลานคร ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า ได้เป็นทานบดี เขากระทำกุศลกรรม มีปลูกอารามเป็นต้นเหล่านี้ จึงถึงทิพยสมบัตินี้.

ครั้นทูลบอกกรรมที่เทพบุตรนั้นกระทำแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วผลึก แม้อีกวิมานหนึ่งวิมานนั้นประกอบด้วยกอวนะรุ่น ซึ่งปกคลุมไปด้วยไม้ดอก ไม้ผลนานาชนิดยิ่งกว่าวิมานก่อน. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานนั้น จึงตรัสถามบุพกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้น แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้วนี้ เกลื่อนไปด้วยอัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยยอด บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ส่องแสงสว่างออกจากฝาแก้วผลึก มีแม่น้ำอันประกอบด้วยไม้ดอกต่างๆ ล้อมรอบ และมีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้ชมพู่ ไม้มะพลับ ไม้มะหาดเป็นอันมาก มีผลเป็นนิตย์ ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีในกรุงมิถิลา เป็นทานบดี ได้สร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นชฺโช ความว่า แม่น้ำสายหนึ่งไหลล้อมรอบวิมานนั้น.
บทว่า ทุมายุตา ความว่า แม่น้ำนั้นประกอบด้วยต้นไม้มีดอกต่างๆ.
บทว่า มิถิลายํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีคนหนึ่งในมิถิลานคร วิเทหรัฐ ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า ได้เป็นทานบดี เขาทำบุญกรรมเหล่านี้ จึงถึงทิพยสมบัตินี้.

ครั้นทูลบอกกรรมที่เทพบุตรแม้นั้นกระทำแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วไพฑูรย์อีกวิมานหนึ่ง เช่นกับวิมานก่อนนั่นแหละ พระเจ้าเนมิราชตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรผู้เสวยทิพยสมบัติในวิมานนั้นกระทำ แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งแล้วนี้ ประกอบด้วยภูมิภาคน่ารื่นรมย์ จัดสรรไว้เป็นส่วนๆ เปล่งแสงสว่างออกจากฝาแก้วไพฑูรย์ เสียงทิพย์ คือเสียงเปิงมาง เสียงตะโพน การฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี ย่อมเปล่งออก น่าฟัง เป็นที่รื่นรมย์ใจ. เราไม่รู้สึกว่าได้เห็น หรือได้ฟังเสียงอันเป็นไปอย่างนี้ อันไพเราะอย่างนี้ ในกาลก่อนเลย ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีในกรุงพาราณสี เป็นทานบดี ได้ก่อสร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะ ในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีลอันประกอบ


มาตลีเทพสารถีนั้นทูลบอกกุศลกรรมแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้ แล้วขับรถต่อไป แสดงวิมานทองซึ่งมีรัศมีเหมือนดวงอาทิตย์อ่อนๆ พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นสมบัติของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานทองนั้น มีพระหฤทัยยินดี จึงตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรนั้นกระทำ แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ทูลบอกแด่พระองค์
วิมานทองอันบุญญานุภาพตกแต่งดีนี้ สุกใส ดุจดวงอาทิตย์แรกอุทัย ดวงใหญ่สีแดงฉะนั้น ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นวิมานทองนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถามตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี เป็นทานบดี ได้สร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำและสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะ ในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล ประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงบันเทิงอยู่ในวิมาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทยมาทิจฺโจ ได้แก่ ดวงอาทิตย์แรกขึ้น.
บทว่า สาวตฺถิยํ ความว่า เทพบุตรนั้นได้เป็นทานบดี ในกรุงสาวัตถี ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า.

ในเวลาที่มาตลีเทพสารถีทูลวิมาน ๘ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า มาตลีประพฤติช้าเกิน จึงส่งเทพบุตรผู้ว่องไว แม้อื่นอีกไปด้วยเทวบัญชาว่า ท่านจงไปบอกแก่มาตลีว่าท้าวสักกเทวราชเรียกหาท่าน. เทพบุตรนั้นไปโดยเร็ว แจ้งแก่มาตลีเทพให้ทราบ มาตลีเทพสารถีได้สดับคำแห่งเทพบุตรนั้น ดำริว่าบัดนี้เราไม่อาจจะชักช้า จึงแสดงวิมานเป็นอันมากพร้อมกันทีเดียว. พระเจ้าเนมิราชตรัสถามถึง กรรมของเหล่าเทพบุตรผู้เสวยทิพยสมบัติในวิมานนั้นๆ. มาตลีเทพสารถีได้ทูลบอกแล้ว
วิมานทองเป็นอันมากเหล่านี้ อันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้ว ลอยอยู่ในนภากาศ ไพโรจน์โชติช่วง ดังสายฟ้าในระหว่างก้อนเมฆฉะนั้น. เทพบุตรทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก ประดับสรรพากรณ์ อันหมู่อัปสรห้อมล้อม ผลัดเปลี่ยนเวียนอยู่ในวิมานนั้นๆ โดยรอบ ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่านเทพบุตรเหล่านี้ได้ทำความดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรเหล่านี้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศรัทธาตั้งมั่นในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าให้รู้แจ้งแล้ว. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา. ข้าแต่พระราชา ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวหายสาเม ความว่า วิมานเหล่านี้ลอยอยู่ในนภากาศ. พระเจ้าเนมิราชตรัสว่า วิมานที่ตั้งอยู่ในอากาศเหล่านี้ ตั้งอยู่ด้วยดีในอากาศนั่นเอง.
บทว่า วิชฺชุวพฺภฆนนฺตเร ความว่า ราวกะว่าสายฟ้าที่เดินอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ.
บทว่า สุวินิฏฺฐาย ความว่า ตั้งมั่นด้วยดีเพราะมาด้วยมรรค.
มีคำอธิบายว่า ข้าแต่มหาราช เทพบุตรเหล่านี้บวชในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ซึ่งเป็นนิยยานิกธรรม ในกาลก่อน. เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ กระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ไม่อาจที่จะยังพระอรหัตให้บังเกิด จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในวิมานทองเหล่านี้. ข้าแต่พระราชา สถานที่เหล่านี้เป็นที่สถิตของสาวกของพระกัสสปพุทธเจ้าเหล่านั้น ซึ่งพระองค์จะทอดพระเนตร ดังนั้น ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า.
มาตลีเทพสารถีนั้นแสดงวิมานที่ลอยอยู่ในอากาศ แด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกระทำอุตสาหะเพื่อเสด็จไป สำนักของท้าวสักกเทวราชจึงทูลว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า สถานที่อยู่ของผู้มีกรรมลามกพระองค์ก็ทรงทราบแล้ว. อนึ่ง สถานที่สถิตของผู้มีกรรมอันงาม พระองค์ก็ทรงทราบแล้ว. ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราช ในบัดนี้เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาวาสํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทอดพระเนตรที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกก่อนแล้ว ทรงทราบสถานที่อยู่ของผู้มีกรรมลามกทั้งหลาย. อนึ่ง เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรวิมานที่ลอยอยู่ในอากาศเหล่านี้ ก็ทรงทราบสถานที่อยู่ของผู้มีกรรมอันงามแล้ว. ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นทอดพระเนตรทิพยสมบัติ ในสำนักของท้าวสักกเทวราชในบัดนี้เถิด.

ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงสัตตปริภัณฑบรรพต ซึ่งตั้งล้อมสิเนรุราชบรรพต. พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นบรรพตเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามมาตลีเทพสารถีให้แจ้งชัด จึงตรัสว่า
พระเจ้าเนมิมหาราชประทับอยู่บนทิพยาน อันเทียมม้าสินธพหนึ่งพันเสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างนทีสีทันดร. ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ได้ตรัสถามเทพทูตมาตลีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหสฺสยุตฺตํ ความว่า เทียมด้วยม้าสินธพพันหนึ่ง.
บทว่า หยวาหึ ความว่า อันม้าทั้งหลายนำไป.
บทว่า ทิพฺพยานมธิฏฺฐิโต ความว่า เป็นผู้ประทับอยู่บนทิพยานเสด็จไป.
บทว่า อทฺทา แปลว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว.
บทว่า สีทนฺตเร ได้แก่ ในระหว่างมหาสมุทรสีทันดร เล่ากันว่า น้ำในมหาสมุทรนั้นละเอียด โดยที่สุดเพียงแววหางนกยูงที่โยนลงไป ก็ไม่อาจลอยอยู่ได้ ย่อมจมลงทีเดียว ฉะนั้น. มหาสมุทรนั้น จึงเรียกกันว่ามหาสมุทรสีทันดร ในระหว่างแห่งมหาสมุทรสีทันดรนั้น.
บทว่า นเค ได้แก่ ภูเขา. บทว่า เก นาม ความว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร.

มาตลีเทพบุตรถูกพระเจ้าเนมิราชตรัสถามอย่างนี้แล้ว จึงทูลตอบว่า
ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ คือ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธระ ภูเขายุคันธระ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ และภูเขาอัสสกัณณะ. ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปโดยลำดับ อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวจาตุมหาราช. ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุทสฺสโน ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ภูเขานี้ชื่อ สุทัสสนบรรพต อยู่ภายนอกภูเขาเหล่านั้นทั้งหมด ถัดภูเขาสุทัสสนะนั้น ชื่อภูเขากรวีกะ ภูเขากรวีกะนั้นสูงกว่าภูเขาสุทัสสนะ. อนึ่ง ทะเลชื่อสีทันดรอยู่ในระหว่าง ๒ ภูเขานั้น ถัดภูเขากรวีกะ ชื่อภูเขาอิสินธระ ภูเขาอิสินธระนั้นสูงกว่าภูเขากรวีกะ. อนึ่ง ทะเลชื่อสีทันดรอยู่ในระหว่าง ๒ ภูเขานั้น ถัดภูเขาอิสินธระ ชื่อภูเขายุคันธระ ภูเขายุคันธระนั้นสูงกว่าภูเขาอิสินธระ. ทะเลชื่อสีทันดรอยู่ในระหว่าง ๒ ภูเขาแม้นั้น ถัดภูเขายุคันธระ ชื่อภูเขาเนมินธระ ภูเขาเนมินธระนั้นสูงกว่าภูเขายุคันธระ. ทะเลชื่อสีทันดรอยู่ในระหว่าง ๒ ภูเขาแม้นั้น ถัดภูเขาเนมินธระ ชื่อภูเขาวินตกะ ภูเขาวินตกะนั้นสูงกว่าภูเขาเนมินธระ. ทะเลชื่อสีทันดรอยู่ในระหว่าง ๒ ภูเขาแม้นั้น ถัดภูเขาวินตกะ ชื่อภูเขาอัสสกัณณะ ภูเขาอัสสกัณณะนั้นสูงกว่าภูเขาวินตกะ. ทะเลชื่อสีทันดรอยู่ในระหว่าง ๒ ภูเขาแม้นั้น.
บทว่า อนุปุพฺพสมุคฺคตา ความว่า ภูเขาทั้ง ๗ เหล่านี้ สูงขึ้นไปโดยลำดับ ในทะเลสีทันดร ดุจคั่นบันไดตั้งอยู่.
บทว่า ยานิ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าวจาตุมหาราช (เทวดาผู้รักษาโลกประจำทิศทั้ง ๔ บางทีเรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล ได้แก่ ท้าวธตรฐ ประจำทิศบูรพา. ท้าววิรุฬหก ประจำทิศทักษิณ. ท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศประจิม. ท้าวกุเวร ประจำทิศอุดร.).

มาตลีเทพสารถีแสดง เทวโลกชั้นจาตุมหาราชแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว ขับรถต่อไป แสดงรูปเปรียบพระอินทร์ ซึ่งประดิษฐานล้อมซุ้มประตูจิตตกูฏแห่งดาวดึงสพิภพ. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นทวารนั้นแล้วตรัสถาม แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
ประตูมีรูปต่างๆ รุ่งเรืองวิจิตรต่างๆ อันรูป เช่นรูปสักรินทรเทวราชแวดล้อมรักษาดีแล้ว ดุจป่าอันเสือโคร่งทั้งหลายรักษาดีแล้วฉะนั้น. ย่อมปรากฏความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นประตูนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไร เป็นประตูที่น่ารื่นรมย์ใจ เห็นได้แต่ไกลทีเดียว.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตตกูฏ เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช เพราะประตูนี้เป็นประตูแห่งเทพนคร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุราช อันงามน่าดูปรากฎอยู่ มีรูปต่างๆ รุ่งเรืองวิจิตรต่างๆ อันรูปเช่นรูปสักรินทรเทวราชแวดล้อมรักษาดีแล้ว ดุจป่าอันเสือโคร่งทั้งหลาย รักษาดีแล้วฉะนั้น ย่อมปรากฏ ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่. ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้ จงทรงเหยียบภูมิภาคอันราบรื่นเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกรูปํ ได้แก่ มีชาติไม่น้อย. บทว่า นานาจิตฺตํ ได้แก่ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ. บทว่า ปกาสติ ความว่า ประตูนี้ปรากฏว่าชื่ออะไร. บทว่า อากิณฺณํ ความว่า แวดล้อมแล้ว.
บทว่า พฺยคฺเฆเหว สุรกฺขิตํ ความว่า ป่าใหญ่อันเสือโคร่งหรือราชสีห์ทั้งหลายรักษาดีแล้ว ฉันใด ประตูนี้อันรูปเช่นรูปพระอินทร์นั่นแลรักษาดีแล้ว ฉันนั้น. ก็ความที่รูปเปรียบพระอินทร์เหล่านั้นเข้าตั้งไว้เพื่อประโยชน์ในการอารักขา. พึงกล่าวในกุลาวกชาดกในเอกนิบาต.
บทว่า กิมภญฺญมาหุ ความว่า เขาเรียกประตูนี้ว่าชื่ออะไร. บทว่า ปเวสนํ ความว่า สร้างไว้อย่างดีเพื่อประโยชน์เสด็จเข้าออก. บทว่า สุทสฺสนสฺส ความว่า เขาสิเนรุซึ่งงามน่าดู. บทว่า ทฺวารํ เหตํ ความว่า ประตูนี้เป็นประตูของเทพนคร กว้างยาวหมื่นโยชน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสิเนรุ. บทว่า ปกาสติ ความว่า ซุ้มประตูย่อมปรากฏ. บทว่า ปวิเสเตน ความว่า ขอเชิญเสด็จเข้านครทางประตูนี้.
บทว่า อรุชํ ภูมิ ปกฺกม ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบ ทิพยภูมิภาคอันราบรื่นล้วนแล้วไป ด้วยทองเงินและแก้วมณี มีบุปผชาตินานาชนิดเกลื่อนกลาด ด้วยยานทิพย์

ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีได้เชิญพระเจ้าเนมิราช เสด็จเข้าเทพนคร เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
พระเจ้าเนมิมหาราชประทับอยู่บนทิพยาน อันเทียมม้าสินธพหนึ่งพัน เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้.


พระเจ้าเนมิราชนั้นประทับอยู่บนทิพยานเสด็จไป ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อ สุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถี. มาตลีเทพสารถีแม้นั้น ก็ได้ทูลบอก
วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งแล้วนี้ ส่องแสงสว่างจากฝาแก้วไพฑูรย์ ราวกะอากาศส่องแสงเขียวสด ปรากฏในสรทกาล ฉะนั้น. ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นวิมานนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไร.
มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา มีนามปรากฏว่าสุธรรมา ตามที่เรียกกัน รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์งามวิจิตร อันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้ว มีเสาทั้งหลาย ๘ เหลี่ยมทำไว้ดีแล้ว ล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ทุกๆ เสา รองรับไว้ เป็นที่ซึ่งเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด มีพระอินทร์เป็นประมุข ประชุมกัน คิดประโยชน์ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ข้าแต่พระราชา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ ที่เป็นที่อนุโมทนาของเทวดาทั้งหลาย โดยทางนี้.


ฝ่ายเทวดาทั้งหลายนั่งคอยพระเจ้าเนมิราชเสด็จมา. เทวดาเหล่านั้นได้ฟังว่า พระเจ้าเนมิราชเสด็จมาแล้ว ต่างก็ถือของหอม ธูป เครื่องอบและดอกไม้ทิพย์ ไปคอยอยู่ที่ทางจะเสด็จมา ตั้งแต่ซุ้มประตูจิตตกูฏ บูชาพระมหาสัตว์ด้วยของหอม และบุปผชาติเป็นต้น นำเสด็จสู่เทวสภาชื่อ สุธรรมา. พระเจ้าเนมิราชเสด็จลงจากรถเข้าสู่เทวสภา เทวดาทั้งหลายในที่นั้นเชิญเสด็จให้ประทับนั่งบนทิพยอาสน์. ท้าวสักกเทวราชเชิญเสด็จให้ประทับนั่งบนทิพยอาสน์ และเสวยทิพยกามสุข.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
เทวดาทั้งหลายเห็น พระเจ้าเนมิราชเสด็จมาถึง ก็พากันยินดีต้อนรับว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว. อนึ่ง เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้ ข้าแต่พระราชา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญประทับนั่ง ในที่ใกล้ท้าวสักกเทวราช ณ บัดนี้เถิด.
ท้าวสักกเทวราช ทรงยินดีต้อนรับพระองค์ผู้เป็นพระราชาแห่งชาววิเทหรัฐ ผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา ท้าววาสวเทวราชทรงเชื้อเชิญให้เสวยทิพยกามารมณ์ และประทับบนทิพยอาสน์ เป็นความดีแล้วที่พระองค์เสด็จมาถึงทิพยสถาน อันเป็นที่อยู่ของเทวดาทั้งหลาย ผู้ยังสิ่งที่ตนประสงค์ให้เป็นไปได้ตามอำนาจ. ขอเชิญประทับอยู่ในหมู่เทวดา ผู้สำเร็จด้วยทิพยกามทั้งมวล. ขอเชิญเสวยทิพยกามารมณ์ ในหมู่เทพเจ้าชาวดาวดึงส์เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏินนฺทึสุ ความว่า ร่วมกันประพฤติเป็นที่รัก คือ ต่างยินดีร่าเริงต้อนรับ. บทว่า สพฺพกามสมิทฺธิสุ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จทิพยกามารมณ์ทั้งปวง.

ท้าวสักกเทวราชเชิญเสด็จพระมหาสัตว์ให้เสวยทิพยกามารมณ์ และให้ประทับบนทิพยอาสน์อย่างนี้. พระเจ้าเนมิราชทรงสดับดังนั้น เมื่อจะดำรัสห้าม จึงตรัสว่า
สิ่งใดที่ได้มาเพราะผู้อื่นให้ สิ่งนั้นเปรียบเหมือนยวดยาน หรือทรัพย์ที่ยืมเขามา ฉะนั้น. หม่อมฉันไม่ปรารถนาสิ่งซึ่งผู้อื่นให้. บุญทั้งหลายที่หม่อมฉันทำเอง ย่อมเป็นทรัพย์ที่จะติดตามหม่อมฉันไป. หม่อมฉันจักกลับไปทำกุศลให้มากในหมู่มนุษย์ ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ ความสำรวม และการฝึกอินทรีย์ ซึ่งทำไว้แล้วจะได้ความสุข และไม่เดือดร้อนในภายหลัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปรโต ทานปจฺจยา ความว่า สิ่งใดที่ได้มาเพราะการให้แต่ผู้อื่น คือของผู้อื่นนั้นเป็นปัจจัย คือเพราะผู้อื่นนั้นให้ สิ่งนั้นย่อมเป็นเช่นกับของที่ยืมเขามา ฉะนั้น. หม่อมฉันจึงไม่ปรารถนาสิ่งนั้น. บทว่า สยํ กตานิ ความว่า ก็บุญทั้งหลายเหล่าใดที่หม่อมฉันกระทำไว้ด้วยตน การกระทำบุญเหล่านั้นของหม่อมฉันนั้นแหละ ไม่สาธารณะแก่คนเหล่าอื่น. บทว่า อาเวนิยํ ธนํ ได้แก่ ทรัพย์ที่ติดตามไป. บทว่า สมจริยาย ได้แก่ ด้วยความประพฤติสม่ำเสมอทางไตรทวาร. บทว่า สญฺญเมน ได้แก่ ด้วยการรักษาศีล. บทว่า ทเมน ได้แก่ ด้วยการฝึกอินทรีย์.

พระมหาสัตว์ทรงแสดงธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะแก่เทวดาทั้งหลายอย่างนี้. เมื่อทรงแสดงประทับอยู่ ๗ วัน โดยการนับในมนุษย์ ยังหมู่เทพเจ้าให้ยินดี ประทับอยู่ท่ามกลางหมู่เทวดานั่นเอง.
เมื่อจะทรงพรรณนาคุณแห่งมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า
มาตลีเทพสารถีผู้เจริญ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่หม่อมฉัน ได้แสดงสถานที่อยู่ของผู้มีกรรมอันงาม และของผู้มีกรรมอันลามก แก่หม่อมฉัน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เม กลฺยาณกมฺมานํ ปาปานํ ปฏิทสฺสยิ ความว่า มาตลีเทพสารถีนี้ได้แสดงสถานที่เป็นที่อยู่ของเทวดาทั้งหลาย ผู้มีกรรมอันงาม และสถานที่ของสัตว์นรกทั้งหลาย ผู้มีกรรมอันลามก แก่หม่อมฉัน.

ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิราชเชิญท้าวสักกเทวราชมาตรัสว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันปรารถนาเพื่อกลับไปมนุษยโลก. ท้าวสักกเทวราชจึงมีเทวโองการสั่งมาตลีเทพสารถีว่า ท่านจงนำพระเจ้าเนมิราชเสด็จกลับไปในกรุงมิถิลานั้นอีก. มาตลีเทพสารถีรับเทวบัญชาแล้ว ได้จัดเทียมรถไว้. พระเจ้าเนมิราชทรงบันเทิงกับหมู่เทวดาแล้ว ยังเหล่าเทวดาให้กลับ. ตรัสอำลาแล้วเสด็จทรงรถ. มาตลีเทพสารถีขับรถไปถึงกรุงมิถิลา ทางทิศปราจีน มหาชนเห็นทิพยรถก็มีจิตบันเทิงว่า พระราชาของพวกเราเสด็จกลับแล้ว. มาตลีเทพสารถีทำประทักษิณกรุงมิถิลา ยังพระมหาสัตว์ให้เสด็จลง ที่สีหบัญชรนั้น แล้วทูลลากลับไปยังที่อยู่ของตนทีเดียว.
ฝ่ายมหาชนก็แวดล้อมพระราชาทูลถามว่า เทวโลกเป็นเช่นไร พระเจ้าข้า. พระเจ้าเนมิราชทรงเล่าถึงสมบัติของเหล่าเทวดาและของท้าวสักกเทวราช. แล้วตรัสว่า แม้ท่านทั้งหลายก็จงทำบุญมีทานเป็นต้น ก็จักบังเกิดในเทวโลกนั้นเหมือนกัน. แล้วทรงแสดงธรรมแก่มหาชน.
ครั้นกาลต่อมา พระมหาสัตว์เนมิราชนั้น เมื่อภูษามาลากราบทูล ความที่พระเกศาหงอกเกิดขึ้น จึงทรงให้ถอนพระศกหงอก ด้วยพระแหนบทองคำ วางในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรเห็นพระศกหงอกนั้นแล้วสลดพระหฤทัย. พระราชทานบ้านส่วยแก่ภูษามาลา. มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช จึงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส. เมื่อพระราชโอรสทูลถามว่า พระองค์จักทรงผนวช เพราะเหตุไร. เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่พระราชโอรส จึงตรัสคาถาว่า
ผมหงอกที่งอกขึ้นบนเศียรของพ่อเหล่านี้ เกิดแล้วก็นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว สมัยนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.
พระเจ้าเนมิราชตรัสคาถานี้แล้ว เป็นเหมือนพระราชาองค์ก่อนๆ ทรงผนวชแล้วประทับอยู่ ณ อัมพวันนั้นนั่นเอง. เจริญพรหมวิหาร ๔ มีฌานไม่เสื่อม ได้เป็นผู้บังเกิดในพรหมโลก.
พระศาสดา เมื่อจะทรงทำให้แจ้งซึ่งความที่พระเจ้าเนมิราชนั้นทรงผนวชแล้ว จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า
พระเจ้าเนมิราชราชาแห่งแคว้นวิเทหะ ผู้ทรงอนุเคราะห์ชาวมิถิลา ตรัสคาถานี้แล้ว ทรงบูชายัญเป็นอันมาก ทรงเข้าถึงความเป็นผู้สำรวมแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ วตฺวา ความว่า ตรัสคาถานี้ว่า อุตฺตมงฺครุหา มยฺหํ ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า ปุถุยญฺญํ ยชิตฺวาน ได้แก่ ถวายทานเป็นอันมาก.
บทว่า สญฺญมํ อชฺฌุปาคมิ ความว่า ทรงเข้าถึงความสำรวมในศีล.

ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าเนมิราชนั้น มีพระนามว่ากาลารัชชกะ ตัดวงศ์นั้น (คือเมื่อถึงคราวพระศกหงอกและทราบแล้ว หาทรงผนวชไม่).

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์. แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ออกมหาภิเนษกรมณ์เหมือนกัน ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศจตุราริยสัจ ประชุมชาดก.
ท้าวสักกราชเทวราช ในครั้งนั้นมาเป็น ภิกษุชื่ออนุรุทธะ ในกาลนี้.
มาตลีเทพสารถี เป็น ภิกษุชื่ออานนท์.
กษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ เป็นพุทธบริษัท.
ก็เนมิราช คือ เราผู้สัมมาพุทธะ นี่เองแล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา เนมิราชชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒][๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]