ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา มโหสถชาดก
พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๑๒ / ๑๒.

จบมหาอุมมังคกัณฑ์

พระนางปัญจาลจันทีได้เป็นที่รัก เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราช. ในปีที่ ๒ พระนางเจ้านั้นประสูติพระโอรส ครั้นพระราชโอรสนั้นมีพรรษาได้ ๑๐ ปี พระเจ้าวิเทหราชผู้พระชนกสวรรคต. มโหสถโพธิสัตว์ได้ถวายราชสมบัติแด่พระกุมารนั้น แล้วทูลลาว่า ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์จักไปอยู่ราชสำนักพระเจ้าจุลนีพระอัยกาของพระองค์. พระราชานั้นตรัสว่า แน่ะบัณฑิต ท่านอย่าทิ้งข้าพเจ้าผู้ยังเด็กไปเสีย ข้าพเจ้าตั้งท่านไว้ในที่บิดา จักทำสักการบูชา แม้พระนางเจ้าปัญจาลจันทีผู้พระชนนี ก็ตรัสวิงวอนพระโพธิสัตว์ว่า แน่ะบัณฑิต ในกาลเมื่อท่านไปเสียแล้ว ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี ขอท่านอย่าไปเลย. มโหสถทูลว่า ข้าพระองค์ได้ถวายปฏิญาณไว้แด่พระเจ้าจุลนี ข้าพระองค์ไม่สามารถเพื่อจะไม่ไป. เมื่อมหาชนคร่ำครวญอยู่อย่างน่าสงสาร มโหสถก็พาพวกอุปัฏฐากของตนออกจากพระนคร ไปถึงอุตตรปัญจาลราชธานี. พระเจ้าจุลนีทรงทราบว่า มโหสถมาถึง ก็เสด็จต้อนรับให้มโหสถเข้าพระนครด้วยบริวารเป็นอันมาก ประทานเคหสถานใหญ่ให้มโหสถอยู่ แล้วประทานบ้าน ๘๐ บ้านที่ประทานแล้วแต่แรก และโภคสมบัติอื่นๆ มโหสถก็รับราชการ ณ ราชสำนักนั้น.
ในกาลนั้น มีปริพาชิกาคนหนึ่งชื่อเภรี เคยเข้าไปฉันในพระราชนิเวศน์ นางเป็นบัณฑิตฉลาด นางยังไม่เคยเห็นมโหสถ ได้สดับกิตติศัพท์ว่า ได้ยินว่า มโหสถบำรุงพระราชา. แม้มโหสถก็ยังไม่เคยเห็นปริพาชิกา ได้ยินแต่กิตติศัพท์ว่า ได้ยินว่า ปริพาชิกาชื่อเภรี ฉันในราชสถาน.
ฝ่ายพระนางนันทาเทวีไม่ชอบพระหฤทัยในพระโพธิสัตว์ว่า มโหสถทำปิยวิปโยคให้เราลำบาก. พระนางจึงตรัสสั่งเหล่าสตรีที่สนิทราว ๕๐๐ คนว่า เจ้าทั้งหลายจงพยายามหาโทษของมโหสถ สักอย่างหนึ่ง. แล้วทูลยุยงระหว่างพระราชาให้แตกกัน. สตรีเหล่านั้นเที่ยวมองหาโทษของมโหสถอยู่.
วันหนึ่ง ปริพาชิกานั้นฉันแล้วออกไป ได้เห็นพระโพธิสัตว์มาสู่ราชุปัฏฐาน ณ พระลาน. พระโพธิสัตว์ไหว้ปริพาชิกา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ปริพาชิกาคิดว่า ได้ยินว่า มโหสถนี้เป็นบัณฑิต เราจักรู้ความที่เธอเป็นบัณฑิต หรือไม่ใช่บัณฑิตก่อน. เมื่อจะถามปัญหาด้วยเครื่องหมายแห่งมือ จึงแลดูมโหสถ แล้วแบมือออก ได้ยินว่า นางถามปัญหาด้วยใจว่า พระเจ้าจุลนีนำมโหสถมาแต่ประเทศอื่น เดี๋ยวนี้ทรงบำรุงเช่นไร หรือไม่ได้ทรงบำรุง. พระโพธิสัตว์รู้ว่า นางเภรีปริพาชิกาถามปัญหาเราด้วยเครื่องหมายแห่งมือ. เมื่อจะแก้ปัญหา จึงกำมือ ได้ยินว่า มโหสถแก้ปัญหาด้วยใจว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า พระราชาทรงรับปฏิญาณของข้าพเจ้าแล้วให้เรียกมา เดี๋ยวนี้เป็นผู้เหมือนกับกำพระหัตถ์ไว้มั่น ยังไม่พระราชทานอะไรๆ ที่พระองค์ยังไม่เคยพระราชทานแก่ข้าพเจ้า. นางเภรีรู้ถ้อยคำของมโหสถ จึงยกมือขึ้นลูบศีรษะของตน นางแสดงข้อความนี้ด้วยกิริยานั้นว่า แน่ะบัณฑิต ถ้าท่านลำบาก เหตุไร ท่านจึงไม่บวชเหมือนอาตมาเล่า. พระมหาสัตว์รู้ความนั้น จึงลูบท้องของตน แสดงข้อความนี้ด้วยกิริยานั้นว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า บุตรและภรรยา ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูมาก เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้ายังไม่บวช. นางเภรีถามปัญหาด้วยเครื่องหมายแห่งมือ แล้วไปสู่อาวาสของตน. ฝ่ายมโหสถไหว้นาง แล้วไปสู่ราชุปัฏฐาน.
พวกสตรีคนสนิทที่พระนางนันทาเทวีประกอบ ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เห็นกิริยานั้น. จึงไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี ทูลยุยงว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถอยู่ในที่เดียวกับนางเภรีปริพาชิกา เป็นผู้ใคร่จะชิงราชสมบัติ ย่อมเป็นศัตรูของพระองค์. พระราชาได้ทรงสดับคำนั้น จึงตรัสว่าพวกเจ้าได้เห็นหรือได้ฟังอะไร. สตรีเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่มหาราช ปริพาชิกาฉันแล้วลงจากปราสาท เห็นมโหสถ แล้วเหยียดมือออกหมายให้รู้ความว่า ท่านสามารถจะทำพระราชาให้เป็นดังฝ่ามือ หรือให้เป็นดังลานนวดข้าวให้เสมอ แล้วทำราชสมบัติให้ถึงเงื้อมมือตน. ฝ่ายมโหสถเมื่อแสดงอาการจับดาบ ได้กำมือเข้า หมายให้รู้ว่า เราจะตัดศีรษะพระราชาโดยวันล่วงไปเล็กน้อยแล้ว ทำราชสมบัติให้ถึงเงื้อมมือตน. ปริพาชิกายกมือของตนขึ้นลูบศีรษะ หมายให้รู้ว่า ท่านจะตัดศีรษะพระราชาเท่านั้นหรือ. มโหสถลูบท้อง หมายให้รู้ว่า เราจะตัดกลางตัวเสียด้วย. ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงไม่ประมาท ควรที่พระองค์จะฆ่ามโหสถเสียก่อน. พระเจ้าจุลนีได้ทรงฟังถ้อยคำของสตรีเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า มโหสถไม่อาจจะประทุษร้ายในเรา. เราจักถามปริพาชิกา ก็จักรู้ความ.
อีกวันหนึ่ง ในกาลเมื่อปริพาชิกาฉันแล้ว พระองค์เข้าไปหานางตรัสถามว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นเจ้าพบมโหสถบ้างหรือ. นางทูลว่า เมื่อวานนี้ อาตมะฉันแล้วออกไป จากที่นี้ได้พบเธอ. ตรัสถามว่า ได้เจรจาสนทนาอะไรกันบ้าง. นางทูลว่า หาได้พูดอะไรกันไม่ เป็นแต่อาตมะได้ยินว่า เธอเป็นนักปราชญ์ จึงถามปัญหาเธอด้วยเครื่องหมายแห่งมือ ด้วยมนสิการว่า ถ้าเธอเป็นนักปราชญ์ เธอจักรู้ปัญหานี้ จึงได้แบมือออก ให้สำคัญรู้ว่า พระราชาของท่านเป็นผู้มีพระหัตถ์แบหรือมีพระหัตถ์กำ คือได้ทรงสงเคราะห์อะไรท่านบ้างหรือมิได้ทรงสงเคราะห์. มโหสถได้กำมือให้หมายรู้ว่า พระราชารับปฏิญาณของข้าพเจ้าไว้ แล้วตรัสเรียกมา เดี๋ยวนี้ยังไม่ได้พระราชทานอะไร. ทีนั้น อาตมะจึงลูบศีรษะ ให้หมายความว่า ถ้าท่านลำบาก ทำไมท่านไม่บวชดังอาตมะเล่า. ฝ่ายมโหสถลูบท้องของตนให้ทราบว่า บุตรภรรยาอันข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูมีมากเกิน จะต้องให้เต็มท้องกันมิใช่น้อย เหตุนี้จึงยังบวชไม่ได้. พระราชาจึงตรัสถามต่อไปว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า มโหสถเป็นนักปราชญ์หรือ. นางเภรีทูลว่า บุคคลอื่นชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ เช่นมโหสถย่อมไม่มีในพื้นแผ่นดิน. พระราชาได้ทรงฟังถ้อยคำแห่งนางเภรีแล้ว ทรงนมัสการแล้วอาราธนาให้กลับ. ในกาลเมื่อนางเภรีไปแล้ว มโหสถได้เข้าไปสู่ราชุปัฏฐาน.
ว่าด้วย ปัญหาทกรักขสะ (ผีเสื้อน้ำ)
ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามมโหสถว่า ดูก่อนบัณฑิต เจ้าได้พบนางเภรีปริพาชิกาบ้างหรือ. มโหสถกราบทูลโดยนิยมแห่งข้อความที่นางทูลแล้วว่า เมื่อวานนี้ นางออกไปจากพระราชนิเวศน์ ข้าพระองค์ได้พบนาง. นางถามปัญหาข้าพระองค์ด้วยเครื่องหมายแห่งมืออย่างนั้น แม้ข้าพระองค์ก็ได้แก้ปัญหาของนางอย่างนั้น. พระราชาทรงเลื่อมใส พระราชทานที่เสนาบดีแก่มโหสถในวันนั้น ให้มโหสถรับราชกิจทั้งปวง. มโหสถก็มีเกียรติยศใหญ่ ในระหว่างอิสริยยศที่ได้รับพระราชทาน. มโหสถคิดว่า พระราชาพระราชทานอิสริยยศยิ่งใหญ่ในคราวเดียว ก็แต่พระราชาทั้งหลาย แม้ทรงใคร่จะยังเราให้ตาย ก็ย่อมทรงทำอย่างนี้เอง. ไฉนหนอ เราจะทดลองพระราชาว่า เป็นผู้มีพระหฤทัยดีต่อเราหรือหาไม่ ก็แต่บุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ นางเภรีปริพาชิกาผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญานั้นแหละ จักรู้ได้โดยอุบาย.
ครั้นคิดฉะนี้ แล้วจึงถือของหอม มีดอกไม้เป็นต้นเป็นอันมากไปสู่อาวาสปริพาชิกา บูชาไหว้นาง แล้วจึงกล่าวว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า ตั้งแต่วันที่ท่านกล่าวคุณกถาของข้าพเจ้าแด่พระราชา พระราชาพระราชทานยศยิ่งใหญ่แก่ข้าพเจ้า ราวกะว่าจะทับถม แต่ข้าพเจ้าหาทราบยศที่พระราชทานนั้นไม่ว่า พระราชทานโดยปกติหรือโดยพิเศษ ดีแล้ว ท่านพึงรู้ความที่พระราชาโปรดปรานข้าพเจ้าละหรือ โดยอุบายอันหนึ่ง. นางเภรีรับคำ.
อีกวันหนึ่ง เมื่อไปสู่พระราชนิเวศน์ ได้คิดปัญหาชื่อว่าทกรักขสปัญหา.
ดังได้สดับมา ความปริวิตกอย่างนี้ได้เกิดมีแก่นางเภรีว่า เราเป็นเหมือนคนสอดแนม จักทูลถามพระราชาโดยอุบาย ก็จักรู้ว่า พระองค์มีพระหฤทัยดีต่อมโหสถ หรือหาไม่. นางไปทำภัตกิจ แล้วนั่งอยู่. ฝ่ายพระราชาทรงนมัสการนางเภรี แล้วก็ประทับนั่งอยู่ ความปริวิตกได้เกิดมีแก่นางเภรีว่า ถ้าพระราชาจักเป็นผู้มีพระหฤทัยร้ายต่อ มโหสถ. เราทูลถามปัญหา จักตรัสความที่พระองค์มีพระหฤทัยร้ายในท่ามกลางมหาชน ข้อนั้นจะไม่สมควร. เราจักต้องทูลถามพระองค์ในที่ควรแห่งหนึ่ง. นางจึงทูลว่า อาตมะปรารถนาที่ลับ พระราชาจึงให้ชนทั้งหลายกลับไปเสีย. ลำดับนั้น นางเภรีจึงทูลขอวโรกาสแด่พระราชาว่า อาตมะจักทูลถามปัญหากะพระองค์. พระราชาตรัสอนุญาตว่า ถามเถิดผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารู้ ก็จักกล่าวแก้.
ลำดับนั้น นางเภรีปริพาชิกา เมื่อจะทูลถามทกรักขสปัญหา จึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า
ถ้าว่า ผีเสื้อน้ำผู้แสวงหาเครื่องเส้นมนุษย์ จับเรือของพระนางสลากเทวีพระราชชนนี พระนางนันทาเทวีพระมเหสี พระติขิณมนตรีกุมารพระอนุชา ธนุเสขกุมารพระสหาย เกวัฏพราหมณ์ราชปุโรหิตาจารย์ มโหสถบัณฑิต และพระองค์รวม ๗ ซึ่งแล่นอยู่ในทะเล. พระองค์จะประทานใครอย่างไร ให้เป็นลำดับแก่ผีเสื้อน้ำ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺตนฺนํ ความว่า ของคน ๗ คนเหล่านี้ คือ พระชนนีของพระองค์ ๑ พระนางนันทาเทวี ๑ ติขิณมนตรีกุมาร ๑ ธนุเสขพระสหาย ๑ ปุโรหิต ๑ มโหสถ ๑ และพระราชา ๑. บทว่า อุทกณฺณเว ได้แก่ ในน้ำทั้งลึกทั้งกว้าง. บทว่า มนุสฺสพลิเมสาโน ความว่า แสวงหาเครื่องเส้นด้วยมนุษย์.
บทว่า คณฺเหยฺย ความว่า ผีเสื้อน้ำถึงพร้อมด้วยเรี่ยวแรง โผล่ขึ้นจากน้ำจับเรือนั้นไว้ ก็และครั้นจับแล้วกล่าวว่า ท่านจงให้ชน ๗ คนเหล่านี้แก่ข้าพเจ้า ตามลำดับ ข้าพเจ้าจะปล่อยท่านไป เมื่อเป็นอย่างนี้ พระองค์จะจัดลำดับให้อย่างไร. บทว่า มุญฺเจสิ ทกรกฺขโต ความว่า พึงจัดลำดับคนที่หนึ่งถึงคนที่หกให้อย่างไร.
พระเจ้าจุลนีทรงสดับดังนั้น เมื่อจะทรงสำแดงตามพระราชอัธยาศัย จึงตรัสคาถานี้ว่า
ข้าพเจ้าจักให้พระมารดาก่อน ให้มเหสี กนิษฐภาดา. แต่นั้น ให้สหาย ให้พราหมณ์ปุโรหิตเป็นที่ ๕ ให้ตนเองเป็นที่ ๖ ไม่ให้มโหสถแท้ทีเดียว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉฏฺฐาหํ ความว่า เมื่อผีเสื้อน้ำเคี้ยวกินพราหมณ์เป็นคนที่ ๕ แล้ว. ลำดับนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า พ่อผีเสื้อน้ำ จงอ้าปาก. เมื่อมันอ้าปากแล้ว ข้าพเจ้าจะพันรักแร้ให้มั่น ไม่คำนึงถึงสิริราชสมบัติ กล่าวว่า จงเคี้ยวกินข้าพเจ้าในบัดนี้ แล้วโดดเข้าปากมัน เมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ จะไม่ให้มโหสถบัณฑิตอย่างแน่นอน.
ปัญหานี้จบด้วยกถามรรคเท่านี้

ความที่พระราชามีพระหฤทัยดีในพระมหาสัตว์ อันปริพาชิการู้แล้ว ด้วยประการฉะนี้. แต่คุณของมโหสถบัณฑิตได้ปรากฏด้วยกถามรรคเพียงนี้เท่านั้น ก็หาไม่. เพราะเหตุนั้น ความปริวิตกได้มีแก่นางเภรีว่า เราจะกล่าวคุณของเขานั้นๆ ในท่ามกลางมหาชน พระราชาจักแสดงโทษของเขาเหล่านั้น แล้วทรงสรรเสริญคุณของมโหสถบัณฑิต. คุณของมโหสถบัณฑิตก็จักปรากฏ ดุจดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้าฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้. นางจึงยังมหาชนในเมืองทั้งหมดให้ประชุมกัน แล้วทูลถามปัญหานั้นนั่นแหละกะพระราชาอีก. จำเดิมแต่เบื้องต้น ครั้นพระราชาทรงแสดงอย่างนั้นแล้ว จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์รับสั่งว่า จักประทานพระชนนีก่อน. ก็ธรรมดาว่า มารดามีคุณูปการมาก พระราชมารดาของพระองค์เช่นกับมารดาของชนเหล่าอื่น ก็หาไม่. พระราชมารดาของพระองค์มีพระอุปการะมาก เมื่อจะแสดงพระคุณแห่งพระราชมารดา จึงได้กล่าวสองคาถาว่า
พระราชชนนีของพระองค์เป็นผู้บำรุงเลี้ยง และให้ประสูติ เป็นผู้อนุเคราะห์ ตลอดราตรีนาน. พราหมณ์ชื่อฉัพภิ ประทุษร้ายในพระองค์. พระราชมารดาเป็นผู้ฉลาด เห็นประโยชน์เป็นปกติ. ทำรูปเปรียบอื่นปลดเปลื้อง พระองค์จากการปลงพระชนม์. พระองค์จะประทานพระชนนี ผู้มีพระมนัสคงที่ ประทานพระชนมชีพ ผู้ให้ทรงเจริญระหว่างพระทรวง ทรงไว้ซึ่งพระครรภ์นั้นแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โปเสตา ความว่าง ทรงให้อาบ ให้ดื่มให้บริโภค วันละสองสามครั้ง เลี้ยงดูพระองค์ในเวลายังทรงพระเยาว์. บทว่า ทีฆรตฺตานุกมฺปิกา ความว่า ทรงอนุเคราะห์ด้วยพระหฤทัยอ่อนตลอดกาลนาน. บทว่า ฉพฺภิ ตยิ ปฏฺฐาสิ ความว่า พราหมณ์ชื่อว่าฉัพภิ ประทุษร้ายในพระองค์ ในกาลใด เมื่อพราหมณ์นั้นประทุษร้ายในพระองค์ พระราชมารดานั้นเป็นผู้ฉลาดเห็นประโยชน์เป็นปกติ ได้ทำรูปอื่นเปรียบรูปพระองค์ ปลดเปลื้องพระองค์จากการปลงพระชนม์.
ดังได้สดับมาว่า พระชนกของพระเจ้าจุลนี มีพระนามว่ามหาจุลนี พระนางสลากเทวีเป็นพระมเหสีได้ทำชู้กับพราหมณ์อันมีชื่อว่าฉัพภินั้น ได้ปลงพระชนม์พระเจ้ามหาจุลนี ยกราชสมบัติให้พราหมณ์ เป็นมเหสีแห่งพราหมณ์นั้น. ในกาลเมื่อพระเจ้าจุลนียังทรงพระเยาว์ วันหนึ่ง จุลนีราชกุมารทูลว่า ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันหิว. จึงให้ของควรเคี้ยว พร้อมกับน้ำอ้อยแก่พระโอรส แมลงวันทั้งหลายตอมล้อมพระกุมารนั้น. พระกุมารนั้นทรงคิดว่า เราจักเคี้ยวกินของควรเคี้ยวนี้ไม่ให้มีแมลงวัน จึงเลี่ยงไปหน่อยหนึ่งแล้ว ยังหยาดแห่งน้ำอ้อยให้ตกลงยังพื้น แล้วไล่แมลงวันที่สำนักตนให้หนีไป แมลงวันเหล่านั้นก็พากันไปตอมน้ำอ้อยที่พื้นนั้น. ราชกุมารเสวยของควรเคี้ยวไม่ให้มีแมลงวันแล้ว ล้างพระหัตถ์ทั้งสองบ้วนพระโอฐ แล้วหลีกไป.
พราหมณ์ได้เห็นกิริยาแห่งราชกุมารนั้น จึงคิดว่า กุมารนี้กินน้ำอ้อยไม่มีแมลงวันในบัดนี้ เจริญวัยแล้วจักไม่ให้ราชสมบัติแก่เรา เราจักยังกุมารนั้นให้ตายเสียในเดี๋ยวนี้ทีเดียว. พราหมณ์จึงแจ้งเนื้อความนั้นแก่พระนางสลากเทวี พระนางตรัสตอบว่า ดีแล้ว เทพเจ้า ข้าพระเจ้ายังพระภัสดาของตนให้สิ้นพระชนม์ ด้วยความรักในพระองค์ ต้องการอะไรด้วยกุมารนี้แก่ข้าพระเจ้า ณ บัดนี้. ข้าพระเจ้าจักมิให้มหาชนรู้ ยังกุมารให้ตายโดยความลับ. ตรัสฉะนี้ แล้วลวงพราหมณ์ว่า อุบายนี้ มีอยู่.
พระนางสลากเทวีเป็นผู้มีปรีชาฉลาดในอุบาย จึงให้เรียกพ่อครัวมาตรัสว่า บุตรของข้าจุลนีกุมารกับบุตรของเจ้าชื่อธนุเสขกุมาร เกิดวันเดียวกัน เจริญด้วยกุมารแวดล้อม เป็นสหายที่รักแห่งกัน เดี๋ยวนี้ฉัพภิพราหมณ์ใคร่จะยังบุตรของข้าให้ตาย เจ้าจงให้ชีวิตแก่บุตรของข้า. ครั้นพ่อครัวทูลว่า ดีแล้ว พระเทวี แต่ข้าพระองค์จักทำอย่างไร. จึงรับสั่งว่า บุตรของข้าจงอยู่ในเรือนของเจ้าทุกวัน เจ้าและบุตรของข้าและบุตรของเจ้าจงนอนในห้องเครื่อง เพื่อมิให้ใครสงสัย สิ้นวันเล็กน้อย. แต่นั้น รู้ว่าไม่มีใครสงสัยแล้ว วางกระดูกแพะไว้ในที่นอนของเจ้าทั้งสาม แล้วจุดไฟที่ห้องเครื่องในเวลามหาชนหลับ. แล้วอย่าให้ใครรู้ พาบุตรของข้าและบุตรของเจ้า ออกจากประตูน้อยไปนอกแคว้น อย่าบอกความที่บุตรของข้าเป็นพระราชโอรส แล้วตามรักษาชีวิตบุตรของข้าไว้. พ่อครัวรับพระเสาวนีย์ว่า สาธุ.
ลำดับนั้น พระนางประทานธนสารแก่พ่อครัวนั้น พ่อครัวได้ทำอย่างนั้น พาบุตรของตนและพระราชกุมารไปสู่สากลนครในมัททรัฐ แล้วบำรุงพระเจ้ามัททราช. พระเจ้ามัททราชให้พ่อครัวคนเก่าออก ประทานตำแหน่งนั้นแก่พ่อครัวใหม่นั้น. แม้กุมารทั้งสองนี้ก็ไปสู่พระราชนิเวศกับพ่อครัวนั้น พระราชาตรัสถามว่า กุมารทั้งสองนี้บุตรใคร. พ่อครัวทูลว่า บุตรของข้าพระองค์. พระเจ้ากรุงสากลนครตรัสว่า หน้าตาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่หรือ. พ่อครัวทูลว่า คนละแม่ พระเจ้าข้า.
ครั้นเมื่อกาลล่วงไปๆ จุลนีราชกุมารแลธนุเสขกุมารบุตรพ่อครัวทั้งสอง เป็นผู้คุ้นเคยเล่นด้วยกันกับพระธิดาของพระราชาในพระราชนิเวศน์นั่นเอง. ลำดับนั้น จุลนีราชกุมารกับนันทาราชธิดาของพระเจ้ามัททราชได้เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์กันและกัน เพราะเห็นกันทุกวัน จุลนีราชกุมารให้ราชธิดานำลูกข่างและเชือกบ่วงมาในสถานที่เล่น ราชกุมารตีเศียรราชธิดาผู้ไม่นำมา ราชธิดาก็กันแสง.
ลำดับนั้น พระราชาได้ทรงฟังเสียงพระธิดา จึงตรัสถามว่า ใครตีธิดาของข้า นางนมทั้งหลายมาถามว่า ใครตีแม่เจ้า. นางกุมาริกาคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่า ราชกุมารนี้ตีฉัน พระบิดาของเราจักลงราชทัณฑ์แก่เธอ. คิดฉะนี้ จึงไม่ตรัสว่าราชกุมารตี ด้วยความเสนหาในราชกุมารนั้น จึงตรัสว่า ใครไม่ได้ตีฉันดอก. ลำดับนั้น พระเจ้ามัททราชได้ทอดพระเนตรเห็นจุลนีราชกุมารตี ก็เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเอง ความปริวิตกได้มีแด่พระราชา กุมารนี้ไม่เหมือนพ่อครัว เป็นผู้มีรูปงามน่าเลื่อมใส เป็นผู้ไม่สะดุ้งกลัวเกินเปรียบ กุมารนี้ไม่ใช่บุตรพ่อครัว.
จำเดิมแต่นั้นมา พระราชาก็ทรงสังเกตกุมารนั้น นางนมทั้งหลายนำของควรเคี้ยวมาในที่เล่นถวายราชธิดา ราชธิดาก็ประทานแก่เด็กอื่นๆ เด็กเหล่านั้นคุกเข่าน้อมตัวลงรับ ฝ่ายจุลนีราชกุมารยืนแย่งเอาจากพระหัตถ์แห่งราชกุมารี แม้พระราชาก็ได้ทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้น. ครั้งนั้นในวันหนึ่ง ลูกข่างของจุลนีราชกุมารเข้าไปภายใต้ที่บรรทมน้อยของพระราชา จุลนีราชกุมารเมื่อจะหยิบลูกข่างนั้น เอาไม้เขี่ยออกมาถือเอา ด้วยคิดว่า เราจักไม่เข้าภายใต้ที่บรรทมแห่งพระราชาในปัจจันตประเทศนี้.
ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้นเข้าพระหฤทัยว่า กุมารนี้ไม่ใช่บุตรแห่งพ่อครัวแน่ จึงให้เรียกพ่อครัวมา ตรัสถามว่า กุมารทั้งสองนี้ บุตรใคร. พ่อครัวทูลว่า บุตรของข้าพระองค์ทั้งสองคน พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสคุกคามว่า ข้ารู้ว่าบุตรของเจ้า หรือไม่ใช่บุตรของเจ้า เจ้าจงบอกแต่ความเป็นจริง ถ้าเจ้าไม่บอกความจริง ชีวิตของเจ้าจักไม่มี. ตรัสฉะนี้แล้วเงื้อพระแสงขรรค์ พ่อครัวกลัวแต่มรณภัย จึงทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ต้องการที่ลับ. ครั้นพระราชาประทานโอกาสแล้วจึงขอพระราชทานอภัย แล้วทูลตามความเป็นจริง. พระราชาทรงทราบตามจริงแล้ว จึงให้แต่งพระธิดาของพระองค์ประทานให้เป็นบาทบริจาริกาแก่จุลนีราชกุมาร.
ก็ในวันที่พ่อครัว จุลนีราชกุมารและบุตรพ่อครัวหนีโกลาหลเป็นอันเดียว ได้มีในพระนครอุตตรปัญจาละทั้งสิ้นว่า พ่อครัว จุลนีราชกุมารและบุตรพ่อครัว เมื่อไฟไหม้ห้องเครื่อง ได้ไหม้เสียแล้วในภายในด้วยกัน. พระนางสลากเทวีทรงทราบประพฤติเหตุนั้น จึงแจ้งแก่พราหมณ์ว่า ข้าแต่เทพเจ้า ความปรารถนาของพระองค์ถึงที่สุดแล้ว ได้ยินว่า พ่อครัว จุลนีราชกุมารและบุตรพ่อครัวทั้ง ๓ คนไฟไหม้แล้วในห้องเครื่องนั่นเอง. พราหมณ์ยินดีร่าเริง.
ฝ่ายพระนางสลากเทวีให้นำกระดูกแพะมาแสดงแก่พราหมณ์ว่า อัฐิแห่งจุลนีกุมาร แล้วให้ทิ้งเสีย. นางเภรีปริพาชิกาหมายเอาเนื้อความนี้ กล่าวในคาถาว่า พระราชมารดาทรงทำรูปเปรียบอื่น ปลดเปลื้องพระองค์จากการปลงพระชนม์ ก็พระราชมารดานั้นทรงแสดงกระดูกแพะว่ากระดูกมนุษย์ ปลดเปลื้องพระองค์จากการปลงพระชนม์.
บทว่า โอรสํ ความว่า ผู้ทำพระองค์ไว้ที่พระทรวงให้เจริญแล้วนั้น เป็นที่รักเป็นที่โปรดปราน. บทว่า คพฺภธารินึ ความว่า พระองค์จักประทานพระราชมารดา ผู้ทรงพระองค์ไว้ด้วยพระครรภ์ เห็นปานนี้นั้น แก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.
พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงสดับคำนางเภรีปริพาชิกาดังนั้นแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า คุณของพระชนนีของข้าพเจ้ามีมาก และข้าพเจ้าก็รู้ความที่พระชนนีมีอุปการะแก่ข้าพเจ้า แต่คุณของข้าพเจ้านี่แหละมีมากกว่านั้น.
เมื่อจะทรงพรรณนาโทษของพระมารดา จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
พระมารดาทรงชราแล้วก็ทำเป็นสาว ทรงเครื่องประดับซึ่งไม่ควรประดับ ตรัสซิกซี้สรวลเสเฮฮา กะพวกรักษาประตูและพวกฝึกหัดม้าจนเกินเวลา ยิ่งกว่านั้น พระมารดายังส่งทูตถึงพวกเจ้าผู้ครองนครเสียเอง ข้าพเจ้าจึงให้พระชนนี แก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทหรา วิย ความว่า แม้ทรงชราแล้วก็ยังทรงเครื่องประดับ คือแต่งพระองค์เหมือนคนสาว.
บทว่า อปิลนฺธนํ ได้แก่ ไม่ควรประดับ. ได้ยินว่า พระนางสลากเทวีนั้นทรงประดับสายรัดเอวทองเต็มไปด้วยเพชร ทรงดำเนินไปๆ มาๆ ในเวลาที่พระราชาประทับ ณ มหาปราสาทกับเหล่าอมาตย์ ทั่วพระราชนิเวศน์ได้ดังก้องเป็นอันเดียวกัน ด้วยเสียงของสายรัดเอว.
บทว่า ปชคฺฆติ ความว่า ทรงเรียกพวกคนเฝ้าประตูและพวกฝึกช้างฝึกม้าเป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ไม่สมควรจะบริโภค แม้อาหารอันเป็นเดนของพระนาง มาสรวลเสเฮฮากับพวกเหล่านั้นจนเกินเวลา.
บทว่า ปฏิราชานํ ได้แก่ พวกเจ้าครองนคร.
บทว่า สยํ ทูตานิ สาสติ ความว่า ทรงพระอักษรเองว่า เป็นคำของข้าพเจ้าแล้วส่งทูตไปว่า พระชนนีของเราตั้งอยู่ในวัยที่บุคคลควรใคร่ เจ้านั้นๆ จงมานำพระชนนีไป. พวกเจ้าครองนครเหล่านั้นส่งราชสาสน์ตอบมาว่า พวกข้าพระองค์เป็นอุปัฏฐากของพระองค์ เหตุไร พระองค์จึงตรัสแก่พวกข้าพระองค์อย่างนี้ เมื่อเขาอ่านราชสาสน์นั้นๆ ในท่ามกลางที่ประชุม ได้เป็นเหมือนเวลาที่ตัดเศียรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักให้พระชนนีนั้นแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.
นางเภรีได้ฟังพระราชดำรัสแล้วจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์จะประทานพระราชมารดาด้วยโทษนี้ก็สมควร. แต่พระมเหสีของพระองค์เป็นผู้มีพระคุณ เมื่อจะพรรณนาคุณของพระนางนันทาเทวีมเหสีนั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
พระนางนันทาเทวีเป็นพระมเหสี ผู้ประเสริฐกว่าหมู่บริจาริกานารี มีพระเสาวนีย์เป็นที่รักเหลือเกิน เป็นผู้ประพฤติตามที่ชอบ เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ตามเสด็จ ประดุจพระฉายา ไม่ทรงพิโรธง่ายๆ เป็นผู้มีบุญ เป็นบัณฑิต เห็นประโยชน์ พระองค์จักประทานพระราชเทวีแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิตฺถีคุมฺพสฺส ได้แก่ หมู่สตรี. บทว่า อนุพฺพตา ความว่า จำเดิมแต่เวลาทรงพระเยาว์ เป็นผู้ประพฤติตามที่ชอบคือไปตามที่ควร เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ตามเสด็จประดุจพระฉายา ก็นางเภรีปริพาชิกา เมื่อจะกล่าวคุณของพระนางนันทาเทวีนั้น โดยบทว่า อกฺโกธน เป็นต้น จึงกล่าวคำนี้ว่า ในเวลาประทับอยู่ในสากลนครในมัททรัฐ พระนางนันทาเทวี แม้ถูกพระองค์ตี ก็ไม่ทูลฟ้องพระชนกชนนีด้วยความเสน่หาในพระองค์ เพราะกลัวจะลงอาญาพระองค์ พระนางนั้นเป็นผู้ไม่โกรธ มีบุญ เป็นบัณฑิต เห็นประโยชน์อย่างนี้ ดังนี้ หมายเอาความไม่โกรธเป็นต้น ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์. บทว่า อุพฺพรึ ได้แก่ พระมเหสี. นางเภรีกล่าวว่า พระองค์จักประทานพระนางนันทาเทวีผู้สมบูรณ์ด้วยคุณอย่างนี้ แก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษอะไร.
พระเจ้าจุลนี เมื่อจะทรงแสดงโทษของพระนางนันทาเทวีผู้มเหสีนั้น ได้ตรัสคาถานี้ว่า
พระนางนันทาเทวีนั้นรู้ว่า ข้าพเจ้าถึงพร้อมด้วยความยินดีในการเล่น ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสผู้ทำความพินาศ ก็ขอทรัพย์ คือเครื่องประดับที่ข้าพเจ้าให้แก่บุตรธิดาและชายาอื่นๆ ซึ่งไม่ควรขอกะข้าพเจ้า. ข้าพเจ้านั้นมีความกำหนัดนักแล้ว ก็ให้ทรัพย์ คือเครื่องประดับทั้งประณีตทั้งทราม เป็นอันมาก. ครั้นสละสิ่งที่ไม่ควรสละแล้ว ภายหลังก็เศร้าโศกเสียใจ. ข้าพเจ้าให้พระราชเทวีแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนตฺถวสมาคตํ ความว่า รู้ว่าข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของกิเลสที่ทำความพินาศ เพราะความยินดีในการเล่น คือกามกีฬานั้น.
บทว่า สา มํ ความว่า พระนางนันทาเทวีนั้นรู้ข้าพเจ้า.
บทว่า สกานํ ปุตฺตานํ ความว่า เครื่องประดับอันใดที่ข้าพเจ้าให้แก่บุตรธิดา และภรรยาทั้งหลายของข้าพเจ้า นางขอเครื่องประดับอันนั้นซึ่งไม่ควรจะขอ ว่าจงให้แก่หม่อมฉัน. บทว่า ปจฺฉา โสจามิ ความว่า ในวันที่สอง พระนางกล่าวกะบุตรเป็นต้นของข้าพเจ้าว่า เครื่องประดับเหล่านี้พระราชาประทานแก่เราแล้ว ท่านทั้งหลายจงนำมาให้เรา ดังนี้. เมื่อบุตรเป็นต้นของข้าพเจ้าร้องไห้อยู่ ก็เปลื้องเอาไป. ต่อมาข้าพเจ้าเห็นบุตรเป็นต้นเหล่านั้น ร้องไห้มาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เศร้าโศกภายหลัง. พระนางนันทาเทวีนี้ทำโทษอย่างนี้ ข้าพเจ้าให้นางแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนี้.
ลำดับนั้น ปริพาชิกาเภรีเมื่อจะทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า พระองค์จะประทานพระมเหสีด้วยโทษนี้ก็สมควร แต่ติขิณกุมารพระกนิษฐภาดามีอุปการะแด่พระองค์ พระองค์จักประทานเขาด้วยโทษอะไร ดังนี้ จึงกล่าวคาถาว่า
พระกนิษฐภาดาผู้มีพระนามว่าติขิณราชกุมาร ยังชนบทให้เจริญ เชิญเสด็จพระองค์ผู้ประทับอยู่ ณ สากลนครให้กลับมาสู่ราชธานีนี้ ทรงอนุเคราะห์พระองค์ครอบงำพระราชาทั้งหลายเสีย นำทรัพย์เป็นอันมากมาแต่ราชสมบัติอื่น เป็นผู้ประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย ทรงกล้าหาญกว่าผู้มีความคิดหลักแหลมทั้งหลาย พระองค์จักประทานพระกนิษฐภาดาแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยโนจิตา ได้แก่ ที่ให้เจริญแล้ว. บทว่า ปฏิคฺคหํ ความว่า และที่นำพระองค์ผู้ประทับอยู่ในประเทศอื่น กลับมาสู่พระราชมณเฑียร. บทว่า อภิฏฺฐาย ได้แก่ ครอบงำแล้ว. บทว่า ติขิณมนฺตินํ ได้แก่ ผู้มีปัญญาแหลมคม.
ได้ยินว่า ติขิณราชกุมารนั้นประสูติ ในกาลเมื่อพระราชมารดาอยู่ร่วมกับพราหมณ์. เมื่อพระราชกุมารทรงเจริญแล้ว พราหมณ์ได้ให้พระแสงขรรค์สั่งว่า เจ้าจงถือพระแสงขรรค์นี้เข้าหาข้าได้ พระราชกุมารนั้นก็บำรุงพราหมณ์ ด้วยสำคัญว่าเป็นพระชนกของตน. ลำดับนั้น อมาตย์คนหนึ่งได้ทูลพระราชกุมารว่า ข้าแต่พระราชกุมาร พระองค์มิใช่เป็นพระโอรสแห่งพราหมณ์นี้ ในเวลาเมื่อพระองค์ยังอยู่ในพระครรภ์ พระนางสลากเทวีผู้เป็นพระราชมารดา ให้ปลงพระชนม์พระราชบิดาเสีย แล้วมอบราชสมบัติแก่พราหมณ์นี้. พระองค์เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้ามหาจุลนี. พระราชกุมารได้สดับประพฤติเหตุนั้น ก็กริ้วดำริว่า ช่างเถิด เราจักฆ่าพราหมณ์นั้นเสียด้วยอุบายอย่างหนึ่ง. แล้วเข้าไปสู่ราชสำนัก ประทานพระแสงขรรค์แก่มหาดเล็กใกล้ชิดคนหนึ่ง แล้วตรัสกะมหาดเล็กอีกคนหนึ่งว่า เจ้าจงยืนอยู่แทบประตูพระราชนิเวศน์. กล่าวกะมหาดเล็กที่ถือพระขรรค์นั้นว่า นั่นพระขรรค์ของเรา แล้วพึงก่อวิวาทกับมหาดเล็กคนนั้น. ตรัสสั่งฉะนี้ แล้วเสด็จเข้าข้างใน. มหาดเล็กทั้งสองนั้นได้ทะเลาะกัน พระราชกุมารส่งบุรุษคนหนึ่งไปเพื่อให้รู้ว่า นั่นทะเลาะอะไรกัน. บุรุษนั้นมาทูลว่า ทะเลาะกันด้วยต้องการพระขรรค์.
ลำดับนั้น พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงถามพระราชกุมารว่า เรื่องเป็นอย่างไร. พระราชกุมารกล่าวว่า ได้ยินว่า พระขรรค์ที่พระองค์ประทานแก่หม่อมฉัน เป็นของคนอื่น. พราหมณ์กล่าวว่า พูดอะไรพ่อ ถ้าอย่างนั้น จงให้เขานำมา ฉันจำพระขรรค์นั้นได้. พระราชกุมารให้นำพระขรรค์นั้นมา แล้วชักออกจากฝัก ทำเป็นให้จำได้ ด้วยคำว่า เชิญทอดพระเนตรเถิด เข้าไปใกล้พราหมณ์นั้น แล้วตัดศีรษะพราหมณ์นั้น ให้ตกลงแทบพระบาทของตนด้วยการฟันฉับเดียวเท่านั้น. ต่อแต่นั้น เมื่อนำศพพราหมณ์ออกจากพระราชนิเวศน์ แล้วได้จัดแต่งพระราชนิเวศน์ตกแต่งพระนครอภิเษกพระราชกุมารนั้น. พระชนนีแจ้งว่า จุลนีราชกุมารอยู่ในมัททรัฐ พระราชกุมารทรงสดับดังนั้น แวดล้อมด้วยเสนางคนิกรเสด็จมัททรัฐ นำพระเชษฐาธิราชมาให้ครองราชสมบัติ. จำเดิมแต่นั้นมา ชนทั้งหลายก็รู้จักพระองค์ว่า ติขิณมนตรี. ปริพาชิกาทูลถามว่า พระองค์จะประทานพระกนิษฐภาดาเห็นปานนี้ นั้นแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษอะไร.
พระราชา เมื่อจะตรัสโทษของติขิณกุมารนั้น ตรัสว่า
ติขิณราชกุมารยังชนบทให้เจริญ เชิญเราผู้อยู่ ณ สากลนครให้กลับมาสู่ราชธานีนี้ อนุเคราะห์เรา ครอบงำพระราชาทั้งหลายเสีย. นำทรัพย์เป็นอันมากมาแต่ราชสมบัติอื่น เป็นผู้ประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย กล้าหาญ มีความคิดหลักแหลม.
แต่เธอคุยเสมอว่า พระราชาองค์นี้มีความสุขเพราะข้าพเจ้า เธอสำคัญว่าฉันเป็นเด็กไป ในคราวที่มาเฝ้าเล่า นะพระแม่เจ้า เธอไม่มาเหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้าจึงให้พระกนิษฐภาดาแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรรชฺเชภิ ความว่า ติขิณราชกุมารคุยเสมอว่า เรานำทรัพย์เป็นอันมากมาแต่ราชสมบัติอื่น ถวายแก่พระราชานี้ และเมื่อพระองค์เองประทับอยู่ในราชสมบัติอื่น เราก็นำกลับมาสู่ราชธานีนี้ เราได้ประดิษฐานพระราชานี้ไว้ในยศอันยิ่งใหญ่. บทว่า ยถาปุเร ความว่า เมื่อก่อน เธอมาเฝ้าแต่เช้าทีเดียว แต่บัดนี้เธอไม่มาเหมือนอย่างนั้น ข้าพเจ้าให้เธอแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.
ปริพาชิกาทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โทษของพระกนิษฐภาดาจงยกไว้ก่อน. แต่ธนุเสขกุมารประกอบด้วยคุณ มีความเสน่หาในพระองค์ เป็นผู้มีอุปการะมาก. เมื่อจะกล่าวคุณของธนุเสขกุมาร จึงทูลว่า
พระองค์และธนุเสขเกิดในราตรีเดียวกัน ทั้งสองเป็นชาวปัญจาละ เกิดในพระนครนี้ เป็นสหายมีวัยเสมอกัน มีจริยางามติดตามพระองค์ไป ร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระองค์ ขยันขันแข็งในกิจทั้งปวงของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน จงรักภักดี. พระองค์จะให้พระสหายแก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนุเสขวา ความว่า ชื่อว่า ธนุเสขกุมาร เพราะเป็นผู้ศึกษาธนุศิลป์. บทว่า เอตฺถ ได้แก่ ในพระนครนี้แหละ. บทว่า ปญฺจาลา ความว่า ที่เรียกอย่างนี้ เพราะเกิดในอุตตรปัญจาลนคร. บทว่า สุสมาวยา ได้แก่ มีวัยเสมอกันด้วยดี. บทว่า จริยา ตํ อนุพนฺธิตฺโถ ความว่า ได้ติดตามพระองค์ผู้หลีกไปเที่ยวตามชนบท ในเวลายังทรงพระเยาว์ เหมือนอะไร เหมือนเงาไม่ละพระองค์. บทว่า อุสฺสุกฺโก เต ความว่า ขยันขันแข็ง คือ เกิดความพอใจในกิจทั้งหลายของพระองค์ ทั้งกลางคืนและกลางวัน จงรักภักดีเป็นนิจ. พระองค์จะให้พระสหายนั้นแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร.
ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนี เมื่อจะกล่าวโทษของธนุเสขกุมารนั้น ตรัสว่า
ข้าแต่แม่เจ้า ธนูเสขนี้ประพฤติกระซิกกระซี้ ตีเสมอข้าพเจ้า แม้วันนี้ก็หัวเราะดังเกินขอบเขตแบบนั้น. ข้าแต่แม่เจ้า ข้าพเจ้าอยู่ในที่รโหฐาน ปรึกษากับพระเทวีของข้าพเจ้าอยู่ ไม่ได้เรียกหาก็เข้าไปและไม่แจ้งให้ทราบก่อน. เขาได้พรจากข้าพเจ้าให้เข้าพบได้ทุกที่ทุกเวลา แต่สหายไม่มีความยำเกรง ไม่มีความเอื้อเฟื้อเลย. ข้าพเจ้าให้แก่ผีเสื้อน้ำด้วยโทษนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺชาปิ เตน วณฺเณน ความว่า สหายธนุเสขนี้ เมื่อก่อนเที่ยวติดตามข้าพเจ้า ร่วมกินร่วมนอนกับข้าพเจ้า. ยามตกยาก ตบมือหัวเราะลั่น ฉันใด แม้วันนี้สหายธนูเสขก็หัวเราะ ฉันนั้น แหละยังแลดูข้าพเจ้าเหมือนเวลาตกยาก.
บทว่า อนามนฺโต ความว่า เมื่อข้าพเจ้าปรึกษาอยู่กับพระนางนันทาเทวีในที่ลับ เขาไม่ขออนุญาตก่อน พรวดพราดเข้าไป ข้าพเจ้าให้เขาผู้ไม่มีความยำเกรง ไม่มีความเอื้อเฟื้อแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษนี้.
ลำดับนั้น ปริพาชิกาทูลพระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โทษของพระสหายธนุเสขนี้ยกไว้ก่อน. แต่ปุโรหิตเกวัฏเป็นผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก เมื่อจะกล่าวคุณของปุโรหิตนั้น ทูลว่า
ท่านเกวัฏปุโรหิตาจารย์เป็นผู้ฉลาดในนิมิตทั้งปวง รู้เสียงร้องของสัตว์ทั้งหลาย เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวท รอบรู้ในเรื่องอุบาท เรื่องสุบิน มีความชำนาญในการหาฤกษ์ยกทัพ และการเข้ารบ เป็นผู้บอกฤกษ์ล่างฤกษ์บน ฉลาดในทางแห่งดาวฤกษ์. พระองค์ให้พราหมณ์ปุโรหิตแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ ความว่า เป็นผู้ฉลาดในนิมิตทั้งปวงอย่างนี้ว่า ด้วยนิมิตนี้สิ่งนี้จักมี ด้วยนิมิตนี้สิ่งนี้จักมี. บทว่า รุทญฺญ ความว่า รู้เสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง. บทว่า อุปฺปาเท ได้แก่ เรื่องอุบาทมีจันทรคราสสุริยคราส อุกกาบาตและลำพู่กันเป็นต้น. บทว่า สุปิเน ยุตฺโต ความว่า รอบรู้ในเรื่องสุบินว่าฝันเช่นนี้จะเป็นอย่างนั้น. บทว่า นิยฺยาเน จ ปเวสเน ความว่า รู้ว่า โดยนักษัตรนี้พึงยกทัพ โดยนักษัตรนี้พึงเข้ารบ. บทว่า ปโฐ ภุมฺมนฺตลิกฺขสฺมึ ความว่า เป็นผู้ฉลาดคือสามารถ ได้แก่ สามารถรู้โทษและคุณในพื้นดินและในอากาศ. บทว่า นกฺขตฺตปทโกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาดในส่วนแห่งนักษัตร ๒๘. พระองค์ให้เกวัฎปุโรหิตนั้นแก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร.
พระราชาเมื่อจะตรัสโทษของเกวัฏปุโรหิตนั้น ตรัสว่า
ข้าแต่แม่เจ้า เกวัฏปุโรหิต แม้ในที่ประชุมก็เลิกคิ้วแลดูข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงให้นายพรานผู้เลิกคิ้วแก่ผีเสื้อน้ำเสีย.

เนื้อความของคาถานั้นว่า ข้าแต่แม่เจ้า ปุโรหิตเกวัฏนี้ เมื่อแลดูข้าพเจ้าในท่ามกลางบริษัท ก็ลืมตาแลดูเหมือนคนโกรธ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงให้นายพราน คือนักล่าสัตว์ผู้ทำเป็นเลิกคิ้ว เพราะโทษที่เลิกคิ้วนั้นแก่ผีเสื้อน้ำ.
ต่อนั้น ปริพาชิกาเมื่อจะทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ตรัสว่าจักให้ชน ๕ คนเหล่านี้ มีพระราชมารดาเป็นต้นแก่ผีเสื้อน้ำ และตรัสว่า จักประทานชีวิตของพระองค์แก่มโหสถบัณฑิต โดยไม่คำนึงถึงสิริราชสมบัติ เห็นปานนี้. พระองค์ทรงเห็นคุณของมโหสถบัณฑิตนั้นอย่างไร ดังนี้. จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลมีสมุทรเป็นขอบเขตทุกด้าน พสุธาที่เป็นพระราชอาณาเขต เป็นประหนึ่งกุณฑลที่อยู่ในสาคร ทรงมีอมาตย์แวดล้อมเป็นที่เฉลิมพระราชอิสริยยศ ทรงมีบ้านเมืองแว่นแคว้นใหญ่จดสี่คาบสมุทร ทรงพิชิตชมพูทวีปได้แล้ว ทั้งรี้พลของพระองค์เล่า ก็มากถึง ๑๘ กองทัพ.
พระองค์ทรงเป็นพระราชาเอกแห่งปฐพี พระราชอิสริยยศของพระองค์ถึงความไพบูลย์ เหล่านารีของพระองค์ก็มีถึง ๑๖,๐๐๐ นาง ล้วนสำอางแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองระยับ มาจากชนบทต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ทรงสิริโสภาคย์เปรียบด้วยเทพกัญญา.
พระชนมชีพของพระองค์ เพรียบพร้อมด้วยองค์ประกอบแห่งความสุขอย่างครบครัน. ทุกสิ่งทุกอย่างในแผ่นดิน แม้พระองค์มีพระราชประสงค์ ก็จะสำเร็จสมพระหฤทัยปรารถนาทุกประการ. น่าที่พระองค์จะตรัสว่า ต้องการจะมีพระชนม์อยู่ยาวนาน ตามคติชีวิตที่นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า คนที่มีความสุขทั่วๆ ไป ล้วนต้องการจะมีชีวิตอยู่นานๆ ชีวิตเป็นที่รักยิ่งนักของคนที่มีความสุข. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงป้องกันมโหสถบัณฑิตไว้ ทรงสละพระชนม์ของพระองค์ซึ่งเป็นสิ่งสละได้ยาก ด้วยเหตุอันใด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สสมุทฺทปริสาสํ ได้แก่ ประกอบด้วยเครื่องแวดล้อมคือสมุทร กล่าวคือมีสมุทรเป็นคู. บทว่า สาครกุณฺฑลํ ความว่า เป็นกุณฑลแห่งสาครที่ตั้งแวดล้อมแผ่นดินนั้น. บทว่า วิชิตาวี ได้แก่ ทรงพิชิตสงคราม. บทว่า เอกราชา ความว่า เป็นพระราชาเอกทีเดียว เพราะไม่มีพระราชาอื่นที่เช่นกับพระองค์. บทว่า สพฺพกามสมิทฺธินํ ความว่า ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งวัตถุกามและกิเลสกาม แม้ทุกอย่าง.
บทว่า สุขิตานํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เหล่าสัตว์ที่มีความสุขเห็นปานนี้ ย่อมปรารถนาชีวิตที่สมบูรณ์ ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง อย่างนี้อันเป็นที่รักให้อยู่นานๆ ไม่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่น้อยเลย.
บทว่า ปาณํ ความว่า พระองค์ทรงป้องกันมโหสถบัณฑิต สละชีวิตของพระองค์เห็นปานนี้ เพราะเหตุไร.
ข้าแต่แม่เจ้า มโหสถบัณฑิต แม้จะมาจากบ้านเมืองอื่น ก็มาด้วยมุ่งประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังไม่ทราบถึงความชั่ว แม้สักน้อยของมโหสถผู้เป็นปราชญ์เลย. ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะต้องตายไปก่อน ในกาลไหนๆ ก็ตามเถิด มโหสถก็พึงยังลูกและหลานของข้าพเจ้าให้มีความสุข. มโหสถย่อมเห็นแจ่มแจ้ง ซึ่งความเจริญทุกอย่างทั้งอนาคตและปัจจุบัน. ข้าพเจ้าไม่ยอมให้มโหสถบัณฑิตผู้ไม่มีความผิดเลย แก่ผีเสื้อน้ำ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมฺหิจิ กาเล แปลว่า ในกาลไหนๆ.
บทว่า สุขาเปยฺย ความว่า พึงให้ตั้งอยู่ในความสุขทีเดียว.
บทว่า สพฺพมตฺถํ ความว่า มโหสถย่อมเห็นแจ่มแจ้งซึ่งความเจริญทุกอย่าง ทั้งอนาคตและปัจจุบัน หรืออดีต ราวกะพระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู.
บทว่า อนาปราธกมฺมนฺตํ ความว่า เว้นจากความผิดทางกายกรรมเป็นต้น.
บทว่า น ทชฺชํ ความว่า ข้าแต่แม่เจ้า ข้าพเจ้าจักไม่ให้บัณฑิตผู้มีธุระ ไม่มีใครเสมอเหมือนอย่างนี้ แก่ผีเสื้อน้ำ.
พระเจ้าจุลนีทรงยกเกียรติคุณของพระมหาสัตว์ขึ้นประกาศ ประหนึ่งทรงยกดวงจันทร์ขึ้นฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้. ชาดกนี้มีเนื้อความติดต่อกัน ด้วยประการฉะนี้.
ลำดับนั้น นางเภรีปริพาชิกาคิดว่า เกียรติคุณของมโหสถบัณฑิตปรากฏเพียงเท่านี้ ยังไม่เพียงพอ เราจักกระทำเกียรติคุณของมโหสถบัณฑิต ให้ปรากฏในท่ามกลางชาวเมืองทั้งสิ้นทีเดียว ให้เป็นประหนึ่งว่า รดน้ำมันลงบนผิวแม่น้ำแผ่ขยายไป ฉะนั้น. คิดฉะนี้แล้วจึงเชิญพระเจ้าจุลนีลงจากปราสาท ให้ปูลาดอาสนะที่พระลานหลวงนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว ประกาศให้ชาวเมืองมาประชุมกัน แล้วทูลถามพระเจ้าจุลนีถึงปัญหาผีเสื้อน้ำ ตั้งแต่ต้นอีกในเวลาที่พระเจ้าจุลนีตรัส โดยนัยที่ตรัสแล้วในหนหลัง.
นางเภรีปริพาชิกาได้กล่าวประกาศแก่ชาวเมืองว่า
ชาวปัญจาละทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังพระดำรัสของพระเจ้าจุลนีนี้ พระองค์ทรงปกป้องมโหสถบัณฑิต สละพระชนม์ซึ่งสละได้ยาก. พระเจ้าปัญจาละทรงสละชีวิตของพระชนนี พระมเหสี พระกนิษฐภาดา พระสหาย และพราหมณ์เกวัฏ และแม้ของพระองค์เองเป็น ๖ คนด้วยกัน. ปัญญามีประโยชน์ใหญ่หลวง เป็นสิ่งละเอียด เป็นเหตุให้คนเรามีความคิดในทางที่ดี ย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อความสุขในภายหน้า ด้วยประการฉะนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหตฺถิยา ความว่า ถือเอาประโยชน์ใหญ่ตั้งอยู่. บทว่า ทิฏฐธมฺมหิตตฺถาย ความว่า ย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในอัตภาพนี้ทีเดียว และเพื่อประโยชน์สุขในปรโลก.
นางเภรีปริพาชิกาถือเอายอดธรรมเทศนา ด้วยคุณทั้งหลายของพระมหาสัตว์ ดุจถือเอายอดเรือนแก้วด้วยดวงแก้วมณี ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ปัญหาผีเสื้อน้ำ
จบ อรรถกถามหาอุมมังคชาดกโดยประการทั้งปวง

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงด้วยประการฉะนี้แล้ว เมื่อทรงประกาศอริยสัจ ๔ ประชุมชาดก ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตมีปัญญาย่ำยีวาทะของผู้อื่น แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ตถาคตยังบำเพ็ญจริยาเพื่อประโยชน์โพธิญาณอยู่ ก็มีปัญญาเหมือนกัน ตรัสฉะนี้ แล้วได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
เสนกบัณฑิตในครั้งนั้น คือ กัสสปภิกษุ ในบัดนี้.
กามินทะ คือ อัมพัฏฐภิกษุ
ปุกกุสะ คือ โปฏฐปาทภิกษุ
ปัญจาลจันทกุมาร คือ อนุรุทธภิกษุ
เทวินทะ คือ โสณทัณฑกภิกษุ
พราหมณ์เกวัฏ คือ เทวทัตภิกษุ
พระนางสลากเทวี คือ ถุลลนันทิกาภิกษุณี
พราหมณ์อนุเกวัฏ คือ โมคคัลลานภิกษุ
พระนางปัญจาลจันที คือ สุนทรีภิกษุณี
นางนกสาริกา คือ พระนางมัลลิกาเทวี
พระนางอุทุมพรเทวี คือ โคตมีภิกษุณี
พระเจ้าวิเทหราช คือ กาฬุทายีภิกษุ
นางเภรีปริพาชิกา คือ อุบลวรรณาภิกษุณี
คฤหบดีผู้บิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช
คฤหปตานีผู้มารดา คือ พระสิริมหามายา
นางอมรา คือ พระพิมพาผู้เลอโฉม
ติขิณกุมาร คือ ฉันนภิกษุ
ธนุเสข คือ ราหุลภิกษุ
นกสุวบัณฑิต คือ อานนทภิกษุ
พระเจ้าจุลนี คือ สารีบุตรภิกษุ
มโหสถบัณฑิต คือ เราผู้โลกนาถ
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ อย่างนี้แล.

.. อรรถกถา มโหสถชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑][๑๒]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]