ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา ภูริทัตชาดก
พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๕.

จบโสมทัตกัณฑ์

พราหมณ์เนสาทคิดว่า โสมทัตจักไปไหน นอกจากเรือนของตน. ครั้นเห็นอาลัมพายน์ไม่พอใจหน่อยหนึ่ง จึงปลอบว่า ดูก่อนอาลัมพายน์ ท่านอย่าวิตกไปเลย เราจักชี้ภูริทัตให้ท่าน. ดังนี้แล้ว ก็พาอาลัมพายน์ไปยัง ที่รักษาอุโบสถแห่งพระยานาค เห็นพระยานาคคู้ขดขนดอยู่ที่จอมปลวก จึงยืนอยู่ในที่ไม่ไกล เหยียดมือออกแล้วกล่าว ๒ คาถาว่า
ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงจับเอานาคใหญ่นั้น จงส่งแก้วนั้นมาให้เรา. นาคใหญ่นั่นมีรัศมีดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง ตัวปรากฏดังกองปุยนุ่น นอนอยู่บนจอมปลวก ท่านจงจับมันเถิดพราหมณ์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อินฺทโคปกวณฺณาภา ความว่า รัศมีเหมือนรัศมีแห่งสีแมลงค่อมทอง.
บทว่า กปฺปาสปิจุรสฺเสว ความว่า เหมือนกองปุยนุ่นที่จัดแจงไว้ดีแล้ว.

พระมหาสัตว์ ลืมเนตรขึ้นแลเห็นพราหมณ์เนสาท จึงคิดว่า เราได้คิดแล้วว่า พราหมณ์คนนี้จะทำอันตรายแก่อุโบสถของเรา. เราจึงพาผู้นี้ไปยังนาคพิภพ แต่งให้มีสมบัติเป็นอันมาก ไม่ปรารถนาเพื่อจะรับแก้วที่เราให้. แต่บัดนี้ไปรับเอาหมองูมา. ถ้าเราโกรธแก่ผู้ประทุษร้ายมิตร ศีลของเราก็จักขาด ก็เราได้อธิษฐานอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๔ ไว้ก่อนแล้ว ต้องให้คงที่อยู่. อาลัมพายน์จะตัด จะเผา จะฆ่า จะแทงด้วยหลาวก็ตามเถิด. เราจะไม่โกรธเขาเลย ถ้าเราจะแลดูเขาด้วยความโกรธ เขาก็จะแหลกเป็นเหมือนขี้เถ้า. ช่างเถอะทุบตีเราเถอะ เราจักไม่โกรธเลย. ดังนี้แล้วก็หลับเนตรลง ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีไว้เป็นเบื้องหน้า ซุกเศียรเข้าไว้ ณ ภายในขนดนอนนิ่ง มิได้ไหวติงเลย.
จบศีลกัณฑ์

ฝ่ายพราหมณ์เนสาท กล่าวว่า ดูก่อนอาลัมพายน์ผู้เจริญ เชิญท่านจับนาคนี้ และจงให้แก้วมณีแก่เราเถิด. อาลัมพายน์เห็นนาคแล้วก็ดีใจ มิได้นับถือในแก้วว่ามีอะไร เปรียบเหมือนเป็นหญ้า โยนแก้วมณีไปที่มือพราหมณ์เนสาท ด้วยคำว่า เอาไปเถิดพราหมณ์ แก้วมณีก็พลาดจากมือพราหมณ์เนสาท ตกลงที่แผ่นดิน. พอตกลงแล้วก็จมแผ่นดินลงไปยังนาคพิภพนั่นเอง. พราหมณ์เนสาทเสื่อมจากฐานะ ๓ ประการ คือเสื่อมจากแก้วมณี เสื่อมจากมิตรภาพกับพระภูริทัต และเสื่อมจากบุตร. เขาก็ร้องไห้รำพันว่า เราหมดที่พึ่งพาอาศัยแล้ว เพราะเราไม่ทำตามคำของบุตร แล้วไปสู่เรือน.
ฝ่ายอาลัมพายน์ ก็ทาร่างของตนด้วยทิพยโอสถ เคี้ยวกินเล็กน้อย กับประพรมกายของตน ก็ร่ายทิพพมนต์ เข้าไปหาพระโพธิสัตว์. จับหางพระโพธิสัตว์คร่ามาจับศีรษะไว้มั่นแล้ว เปิดปากพระมหาสัตว์ เคี้ยวยาบ้วนใส่พร้อมเสมหะ เข้าในปากพระมหาสัตว์. พระยานาคผู้เป็นชาติสะอาด ไม่โกรธไม่ลืมตา เพราะกลัวแต่ศีลจะขาดทำลาย. ลำดับนั้น อาลัมพายน์ก็ใช้ยาและมนต์ จับหางพระมหาสัตว์หิ้วให้ศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำ เขย่า ให้สำรอกอาหารที่มีอยู่แล้ว ให้นอนเหยียดยาวที่พื้นดิน เหยียบย่ำด้วยเท้า เหมือนคนนวดถั่ว กระดูกเหมือนจะแหลกเป็นจุณออกไป. จับหางพระมหาสัตว์หิ้วให้ศีรษะห้อยลงข้างล่างอีก ฟาดลงเหมือนฟาดผ้า. พระมหาสัตว์แม้เสวยทุกขเวทนาถึงปานนี้ ก็ไม่โกรธเลย.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
อาลัมพายน์เอาทิพยโอสถทาตัว และร่ายมนต์ ทำการป้องกันตัวอย่างนี้ จึงสามารถจับพระยานาคนั้นได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺขิ แปลว่า สามารถ. บทว่า สณฺฐาตุ แปลว่า เพื่อจะจับ.

อาลัมพายน์ ครั้นทำพระมหาสัตว์ให้ถอยกำลังดังนั้นแล้ว จึงเอาเถาวัลย์ถักกระโปรง แล้วเอาพระมหาสัตว์ใส่ในกระโปรงนั้น. แต่สรีระของพระมหาสัตว์ใหญ่ เข้าไปในกระโปรงนั้นไม่ได้. ลำดับนั้น อาลัมพายน์จึงใช้ส้นเท้าถีบพระมหาสัตว์ให้เข้าไป. แล้วแบกกระโปรงไปถึงบ้านแห่งหนึ่ง จึงวางกระโปรงลง วางไว้กลางบ้านร้องบอกว่า ผู้ประสงค์จะดูการฟ้อนรำของนาคก็จงมา. ชาวบ้านทั้งสิ้นต่างมาประชุมกัน. ขณะนั้น อาลัมพายน์จึงกล่าวว่า มหานาค เจ้าจงออกมา. พระมหาสัตว์คิดว่า วันนี้เราจะเล่นให้บริษัทร่าเริง จึงจะควรอาลัมพายน์เมื่อได้ทรัพย์มากอย่างนี้ยินดีแล้ว จักปล่อยเราไป. อาลัมพายน์จะให้เราทำอย่างใด เราก็จะทำอย่างนั้น. ลำดับนั้น อาลัมพายน์ก็นำพระมหาสัตว์ออกจากกระโปรง. แล้วกล่าวว่า เจ้าจงทำตัวให้ใหญ่. พระมหาสัตว์ทำตัวให้ใหญ่. อาลัมพายน์บอกให้ทำตัวให้เล็กและให้ขด ให้คลาย ให้แผ่พังพาน ๑ พังพาน ๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐-๑๐๐ ให้สูง ให้ต่ำ ให้เห็นตัว ให้หายตัว ให้เห็นครึ่งตัว ให้สีเขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาทให้พ่นเปลวไฟ พ่นน้ำ พ่นควัน. ในอาการแม้เหล่านี้อาลัมพายน์ บอกให้ทำอาการใดๆ พระมหาสัตว์ก็นิรมิตอัตภาพแสดงอาการนั้นๆ ทุกอย่าง.
ใครๆ เห็นพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาไว้ได้. มนุษย์เป็นอันมากต่างพากันให้สิ่งของต่างๆ มีเงิน ทอง ผ้า และเครื่องประดับเป็นต้น. อาลัมพายน์จึงได้ทรัพย์ในบ้านนั้นประมาณเป็นพันๆ ด้วยอาการอย่างนี้. อาลัมพายน์นั้นจับพระมหาสัตว์ได้ทรัพย์พันหนึ่ง. จึงกล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า จักปล่อยก็จริง. แต่ถึงกระนั้นครั้นได้พันหนึ่งแล้ว ก็คิดว่า แม้ในบ้านเล็กน้อย เรายังได้ทรัพย์ถึงเพียงนี้. ถ้าในพระนครคงจักได้ทรัพย์มากมาย เพราะความโลภในทรัพย์จึงมิได้ปล่อยพระมหาสัตว์ไป. อาลัมพายน์นั้น เริ่มตั้งขุมทรัพย์ขึ้นได้ในบ้านนั้น แล้วจึงให้นายช่างทำกระโปรงแก้ว ใส่พระมหาสัตว์ในกระโปรงแก้วนั้น แล้วก็ขึ้นสู่ยานน้อยอย่างสบาย ออกไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ให้พระมหาสัตว์เล่นไปในบ้านและนิคมเป็นต้น จนถึงกรุงพาราณสีโดยลำดับ แต่อาลัมพายน์ ไม่ให้น้ำผึ้งและข้าวตอกแก่พระยานาค ฆ่ากบให้กิน พระมหาสัตว์ก็มิได้รับอาหาร. พระมหาสัตว์ไม่ได้อาหาร เพราะกลัวอาลัมพายน์จะไม่ปล่อย. อาลัมพายน์จึงให้พระมหาสัตว์เล่นในบ้านนั้นๆ ตั้งต้นแต่หมู่บ้านใกล้ประตูทั้ง ๔ ด้านอีก. ครั้นถึงวันอุโบสถสิบห้าค่ำ อาลัมพายน์จึงขอให้กราบทูลแด่ พระราชาว่า ข้าพระองค์จะให้นาคราชเล่นถวายพระองค์. พระราชา จึงรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศให้มหาชนประชุมกัน ชนเหล่านั้นจึงพากันมาประชุมบนเตียงและเตียงซ้อนกันที่พระลานหลวง.
จบอาลัมพายนกัณฑ์

ก็ในวันที่อาลัมพายน์จับพระมหาสัตว์ไปนั้น พระมารดาของพระมหา สัตว์ ได้เห็นในระหว่างทรงพระสุบินว่า พระนางถูกชายคนหนึ่งตัวดำ ตาแดง เอาดาบตัดแขนขวาของพระนางขาดแล้วนำไปทั้งๆ ที่มีเลือดไหลอยู่. ครั้นพระนางตื่นขึ้น ก็สะดุ้งกลัวลุกขึ้นคลำแขนขวา ทรงทราบว่าเป็นความฝัน. ลำดับนั้น พระนางทรงดำริว่า เราฝันเห็นร้ายแรงมาก บุตรของเราทั้ง ๔ คน หรือท้าวธตรฐ ทั้งตัวเราเองคงจะเป็นอันตราย. ก็อีกอย่างหนึ่งพระนางทรงปรารภคิดถึงพระมหาสัตว์ยิ่งกว่าผู้อื่น. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า นาคนอกนั้นอยู่ในนาคพิภพของตน. ฝ่ายพระมหาสัตว์ เพราะเป็นผู้มีศีลเป็นอัธยาศัย ไปยังมนุษยโลกกระทำอุโบสถกรรม. เพราะเหตุนั้น พระนางจึงทรงคิดถึงพระภูริทัตยิ่งกว่าใครๆ ว่า หมองู หรือสุบรรณ จะพึงจับเอาบุตรของเราไปเสียกระมังหนอ. จากนั้นพอล่วงไปได้กึ่งเดือน พระนางทรงถึงโทมนัสว่า บุตรของเราไม่สามารถจะพลัดพรากจากเราเกินกึ่งเดือนเลย ภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จักเกิดขึ้นแก่บุตรของเราเป็นแน่. ครั้นล่วงไปได้เดือนหนึ่ง พระนางสมุททชาก็ทรงโศกเศร้า หาเวลาขาดน้ำตามิได้. ดวงหฤทัยก็เหือดแห้ง พระเนตรทั้งสองก็บวมเบ่งขึ้นมา. พระนางสมุททชาทรงนั่ง มองหาทางที่พระมหาสัตว์ จะกลับมาถึงเท่านั้นด้วยทรงรำพึงว่า ภูริทัตจักมา ณ บัดนี้ ภูริทัตจักมา ณ บัดนี้.
ครั้งนั้น สุทัสสนะโอรสองค์ใหญ่ของพระนางสมุททชา. ครั้นล่วงไปได้เดือนหนึ่งแล้ว พร้อมด้วยบริษัทเป็นอันมาก มาเยี่ยมพระชนกชนนี พักบริษัทไว้ภายนอกแล้วขึ้นสู่ปราสาท ไหว้พระชนนี แล้วได้ยืนอยู่ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระนางสมุททชานั้น กำลังทรงโศกเศร้าถึงพระภูริทัตอยู่ มิได้เจรจาปราศรัยกับด้วยสุทัสสนะ. สุทัสสนะนั้น จึงคิดว่า พระมารดาของเรา เมื่อเรามาครั้งก่อนๆ เห็นเราแล้วย่อมยินดีต้อนรับ. แต่วันนี้พระมารดาทรงโทมนัสน้อยพระทัย. คงมีเหตุอะไรเป็นแน่.

ลำดับนั้น เมื่อจะทูลถามพระชนนี จึงกล่าวว่า
เพราะได้เห็นข้าพระองค์ ผู้ให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงมาเฝ้า อินทรีย์ของพระแม่เจ้าไม่ผ่องใส พระพักตร์พระแม่เจ้าก็เกรียมดำ เพราะทอดพระเนตรเห็น ข้าพระองค์เช่นนี้ พระพักตร์พระแม่เจ้าเกรียมดำ เหมือนดอกบัวอยู่ในมือถูกฝ่ามือขยี้ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหฏฺฐานิ แปลว่า ไม่ผ่องใส. บทว่า สาวํ ความว่า วันนี้แม้พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ เหมือนสีฝ้ากระจกที่ทำด้วยทอง. บทว่า หตฺถคตํ ความว่า ปิดไว้ด้วยมือ. บทว่า เอทิสํ ความว่า เพราะได้เห็นข้าพระองค์เห็นปานนี้ แม้ผู้มาเฝ้าพระองค์ ด้วยความงาม คือสิริอันใหญ่.

แม้เมื่อสุทัสสนะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระนางสมุททชามิได้ตรัสปราศรัยเลย. สุทัสสนะจึงคิดว่า ใครทำให้พระมารดาโกรธหรือหนอ หรือว่าพึงมีอันตราย. ลำดับนั้น สุทัสสนะ เมื่อจะทูลถามพระมารดานั้น จึงกล่าวคาถาอีกว่า
ใครว่ากล่าวล่วงเกินพระแม่เจ้า หรือพระแม่เจ้ามีเวทนาอะไรบ้าง เพราะทอดพระเนตรเห็น ข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า พระพักตร์ของพระแม่เจ้าเกรียมดำ เพราะเหตุไร?


บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า กจฺจิ นุ เต นาภิสฺสสิ นี้ สุทัสสนะถามว่า ใครกล่าวล่วงเกินพระแม่เจ้าบ้างหรือ หรือว่า เบียดเบียนด้วยการด่า หรือด้วยการบริภาษ.
บทว่า ตุยฺหํ ความว่า เพราะทอดพระเนตรเห็น ข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า ในครั้งก่อนๆ พระพักตร์ของพระแม่เจ้าไม่เป็นเช่นนี้.
ด้วยบทว่า เยน นี้ สุทัสสนะถามว่า เพราะเหตุไร วันนี้พระพักตร์ของพระแม่เจ้าจึงเกรียมดำ พระแม่เจ้าจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์.

ลำดับนั้น พระนางสมุททชา เมื่อจะตรัสบอกแก่สุทัสสนะนั้น จึงตรัสว่า
พ่อสุทัสสนะเอ๋ย แม่ได้ฝันเห็นล่วงมาเดือนหนึ่งแล้วว่า มีชายคนหนึ่งมาตัดแขนของแม่ ดูเหมือนเป็นข้างขวา พาเอาไปทั้งๆ ที่เปื้อนด้วยเลือด เมื่อแม่กำลังร้องไห้อยู่ นับตั้งแต่แม่ได้ฝันเห็นแล้ว เจ้าจงรู้เถิดว่า แม่ไม่ได้รับความสุขทุกวันทุกคืนเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อิโต มาสํ อโธคตํ นี้พระนางสมุททชาแสดงว่า เมื่อแม่ฝันเห็นเจ้า ตั้งแต่วันนั้นจนล่วงมาถึงวันนี้ ได้หนึ่งเดือนแล้ว. บทว่า ปุริโส ความว่า ฝันว่า ยังมีชายคนหนึ่งรูปร่างดำ ตาแดง. บทว่า โรทนฺติยา สติ ความว่า เมื่อแม่กำลังร้องไห้อยู่. บทว่า สุขํ เม นูปลพฺภติ ความว่า ขึ้นชื่อว่า ความสุขของแม่ไม่มีเลย.

ก็แลเมื่อพระนางสมุททชา ตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนลูกรัก น้องของเจ้าหายไปโดยมิได้เห็น ชะรอยว่าภัยคงจะเกิดมีแก่น้องของเจ้า ดังนี้พลางทรงรำพันกล่าวต่อไปว่า
เมื่อก่อนนางกัญญาทั้งหลาย ผู้มีร่างกายอันสวยสดงดงาม ปกคลุมด้วยตาข่ายทอง พากันบำรุงบำเรอภูริทัตใด. บัดนี้ภูริทัตนั้น ย่อมไม่ปรากฏให้เห็น. เมื่อก่อนเสนาทั้งหลายผู้ถือดาบอันคมกล้า งามดังดอกกรรณิการ์ พากันห้อมล้อมภูริทัตใด. บัดนี้ภูริทัตนั้น ย่อมไม่ปรากฏให้เห็น. เอาเถอะ เราจักไปยังนิเวศน์แห่งภูริทัตบัดเดี๋ยวนี้ จักไปเยี่ยมน้องของเจ้า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺผุลฺลา ความว่า เหมือนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง เพราะทรงไว้ซึ่งเครื่องประดับทองคำ. ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ใช้ในอรรถแห่งอุปสรรค พระนางสมุททชาตรัสว่า ไปกันเถิดพ่อ เราจะไปนิเวศน์ของภูริทัต.

ก็แลครั้นพระนางสมุททชา ตรัสอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังนิเวศน์แห่งพระภูริทัต พร้อมด้วยบริษัทของพระสุทัสสนะและบริษัทของพระนาง. ฝ่ายเหล่าภรรยาของพระมหาสัตว์ เมื่อไม่เห็นพระภูริทัตที่จอมปลวกแล้วจึงคิดว่า คงจักอยู่ในนิเวศน์ของมารดา จึงมิได้พากันขวนขวายหา. ภรรยาเหล่านั้น ครั้นทราบว่า ข่าวว่า แม่ผัวมาไม่เห็นบุตรของตน จึงพากันต้อนรับแล้วทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เมื่อพระราชบุตรของพระแม่เจ้าหายไป ล่วงไปหนึ่งเดือนเข้าวันนี้แล้ว. ครั้นแล้วต่างพากันคร่ำครวญรำพัน หมอบลงแทบพระบาทของพระนางสมุททชา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้นจึงตรัสว่า
ภรรยาทั้งหลายของภูริทัต เห็นพระมารดาของภูริทัตเสด็จมา ต่างประคองแขนคร่ำครวญว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันทั้งหลายไม่ทราบเกล้าล่วงมาเดือนหนึ่งแล้วว่า ภูริทัตผู้เรืองยศ โอรสของพระแม่เจ้า สิ้นชีพแล้วหรือว่ายังดำรงชนม์อยู่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺตนฺเตยฺเย ตัดเป็น ปุตฺตํ เต อยฺเย ข้าแต่พระแม่เจ้า โอรสของพระแม่เจ้า. คาถาคร่ำครวญของหญิงเหล่านั้นดังนี้.

พระมารดาของพระภูริทัตเสด็จ พร้อมด้วยหญิงสะใภ้ทรงพากันคร่ำครวญในระหว่างถนน ทรงพาหญิงเหล่านั้น ขึ้นสู่ปราสาทแห่งพระภูริทัตนั้น ตรวจดูที่นอนและที่นั่งของบุตรแล้วคร่ำครวญ จึงตรัสคาถารำพันว่า
เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนนกพลัดพรากจากลูกเห็นแต่รังเปล่า เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนนางหงส์ขาว พลัดพรากจากลูกอ่อน เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนนางนกจากพราก ในเปือกตมอันไม่มีน้ำเป็นแน่. เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยความโศกเศร้า เปรียบเหมือนเบ้าของช่างทอง เกรียมไหม้ในภายใน ไม่ออกไปภายนอกฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปสฺสนฺตี แปลว่า ไม่เห็นอยู่. บทว่า หตจฺฉาปา ความว่าเหมือนนางหงส์ขาว พลัดจากลูกอ่อน. เมื่อพระมารดาพระภูริทัต ทรงรำพันอยู่อย่างนี้ นิเวศน์แห่งภูริทัต ก็แซ่เสียงเป็นอันเดียวกัน ปานประหนึ่งเสียงคลื่นในท้องสมุทรฉะนั้น. แม้นาคสักตนหนึ่ง ก็ไม่อาจทรงภาวะของตนอยู่ ทั่วทั้งนิเวศน์เป็นเหมือนป่าไม้รังถูกลมยุคันธวาต ฉะนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
บุตรและชายาในนิเวศน์ของภูริทัต ล้มนอนระเนระนาด เหมือนต้นรังอันลมฟาดหักลงฉะนั้น.


ในกาลนั้น อริฏฐะและสุโภคะ สองพี่น้องชายไปยังที่อุปัฏฐากของพระมารดาและพระบิดา. ได้ยินเสียงนั้น จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของภูริทัตช่วยกันปลอบพระมารดา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
อริฏฐะ และสุโภคะ ได้ฟังเสียงอันกึกก้องของบุตรธิดา และชายาของภูริทัตเหล่านั้น ในนิเวศน์ของภูริทัต จึงวิ่งไปในระหว่าง ช่วยกันปลอบพระมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยอย่าเศร้าโศกไปเลย เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความตายและความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่อย่างนี้ การตายและการเกิดขึ้นนี้เป็นความแปรของสัตว์โลก.


บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า เอสาสฺส ปริณามตา นี้ อริฏฐะและ สุโภคะกล่าวว่า การจุติและการอุบัตินี้ เป็นความแปรของสัตว์โลกนั้น. สัตว์โลกย่อมเปลี่ยนแปรไปด้วยอาการอย่างนี้แล ใครๆ ชื่อว่าจะพ้นไปจากที่สุด ๒ อย่างนี้ ย่อมไม่มี.

พระนางสมุททชา ตรัสว่า
ดูก่อนพ่อสุทัสสนะ ถึงแม้เรารู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ก็แต่ว่าแม่เป็นผู้อันความเศร้าโศก ครอบงำแล้ว. ถ้าเมื่อแม่ไม่ได้เห็นภูริทัตในคืนวันนี้ เจ้าจงรู้ว่า แม่ไม่ได้เห็นภูริทัต เห็นจะต้องละชีวิตเป็นแน่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺช เจ เม ความว่า ดูก่อนพ่อสุทัสสนะ ถ้าภูริทัตจักไม่มาให้ แม่เห็นในคืนวันนี้ไซร้. ครั้นเมื่อแม่ไม่เห็นภูริทัต แม่เข้าใจว่า แม่จะละชีวิตเป็นแน่.

บุตรทั้งหลายกล่าวว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัย อย่าเศร้าโศกไปเลย ลูกทั้ง ๓ จักเที่ยวแสวงหาภูริทัตไปตามทิศน้อยทิศใหญ่ ที่ภูเขา ซอกเขา บ้านและนิคม แล้วจักนำท่านพี่ภูริทัตมา พระแม่เจ้าจักได้ทรงเห็น ท่านพี่ภูริทัตมาภายใน ๗ วัน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จรํ ความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บุตรทั้ง ๓ คนปลอบใจพระมารดาว่า พวกลูกจักเที่ยวไปแสวงหาพี่ชาย สู่ทิศน้อยทิศใหญ่.

แต่นั้น สุทัสสนะจึงคิดว่า ถ้าเราทั้ง ๓ ไปรวมกัน ก็จักชักช้า. ควรแยกไป ๓ แห่ง คือ ผู้หนึ่งไปเทวโลก ผู้หนึ่งไปหิมพานต์ ผู้หนึ่งไปมนุษย์โลก. แต่ถ้าให้กาณาริฎฐะไปมนุษย์โลก ถ้าไปพบภูริทัตในบ้านและนิคมใด ก็จักเผาบ้านและนิคมนั้นเสียหมด. เพราะกาณาริฎฐะ หยาบช้ากล้าแข็งมาก ไม่ควรให้ไปมนุษย์โลก. ดังนี้จึงส่งอริฏฐะไปเทวโลกว่า ดูก่อนพ่ออริฏฐะ เจ้าจงไปยังเทวโลก. ถ้าว่าเทวดาต้องการฟังธรรม นำภูริทัตไปไว้ในเทวโลกไซร้ เจ้าจงพาเขากลับมา. และส่งสุโภคะให้ไปป่าหิมพานต์ว่า พ่อสุโภคะ เจ้าจงไปยังหิมพานต์ เที่ยวค้นหาภูริทัตในมหานทีทั้ง ๕ พบภูริทัตแล้วจงพามา. ส่วนสุทัสสนะเอง อยากไปมนุษย์โลก แต่มาคิดว่า ถ้าเราจะไปโดยเพศชายหนุ่ม พวกมนุษย์ไม่ค่อยรักใคร่. ควรจะไปด้วยเพศดาบส เพราะพวกบรรพชิตเป็นที่รักใคร่ของพวกมนุษย์. เขาจึงแปลงเพศเป็นดาบส กราบลาพระมารดาแล้วหลีกไป.
ก็ภูริทัตโพธิสัตว์นั้น มีนางนาคน้องสาวต่างมารดาอยู่ตนหนึ่ง ชื่อว่าอัจจิมุขี. นางอัจจิมุขีนั้น รักพระโพธิสัตว์เหลือเกิน. นางเห็นสุทัสสนะจะไปจึงร้องขอว่า ข้าแต่พี่ น้องลำบากใจเหลือเกิน น้องขอไปกับพี่ด้วย. สุทัสสนะกล่าวว่า ดูก่อนน้องไม่สามารถไปกับพี่ได้ พี่จะไปด้วยเพศบรรพชิต. อัจจิมุขีกล่าวว่า ข้าแต่พี่น้องจะกลายเป็นลูกเขียดน้อย นอนไปในชฎาของพี่. สุทัสสนะกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นจงมาไปกันเถิด. นางอัจจิมุขีจึงแปลงเป็นลูกเขียดน้อย นอนไปในชฎาของพี่สุทัสสนะ. จึงคิดว่า เราจักตรวจสอบไปตั้งแต่ต้น ดังนี้แล้วจึงถามถึงที่ๆ พระภูริทัตไปรักษาอุโบสถกะภรรยาพระภูริทัตก่อนแล้ว. จึงไปในที่นั้นแลเห็นโลหิต และที่ถักกระโปรงที่ทำด้วยเถาวัลย์ ในที่ๆ อาลัมพายน์จับพระมหาสัตว์ รู้ชัดว่า หมองูจับภูริทัตไป ก็เกิดความโศกขึ้นทันที มีเนตรนองไปด้วยน้ำตา จึงตามรอยอาลัมพายน์ ไปจนถึงบ้านที่หมออาลัมพายน์ให้พระมหาสัตว์เล่นครั้งแรก. จึงถามพวกมนุษย์ว่า หมองู เอานาคราช ชื่อ เห็นปานนี้มาเล่นในบ้านนี้บ้าง หรือไม่. มนุษย์ตอบว่า อาลัมพายน์เอานาคราช เห็นปานนี้มาเล่น. แต่นั้นถึงวันนี้ ประมาณหนึ่งเดือนแล้ว. สุทัสสนะถามว่า หมองูนั้นได้อะไรบ้างไหม. มนุษย์ตอบว่า ที่บ้านนี้หมองูได้ทรัพย์ ประมาณพันหนึ่งขอรับ. สุทัสสนะถามว่า บัดนี้หมองูไปไหน. มนุษย์ตอบว่า หมองูไปบ้านชื่อโน้น. สุทัสสนะถามเรื่อยไปตั้งแต่บ้านนั้น จนถึงประตูพระราชฐาน.
จบวิลาปกัณฑ์

ขณะนั้นอาลัมพายน์ อาบน้ำสะศีรษะ ลูบไล้ของหอม นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงแล้ว. ให้คนยกกระโปรงแก้วไปยังประตูพระราชฐาน. มหาชนประชุมกันแล้ว. พระราชอาสน์ก็จัดไว้พร้อมเสร็จ. พระราชานั้นเสด็จอยู่ข้างในนิเวศน์ ทรงส่งสาสน์ไปว่า เราจะไปดู ขออาลัมพายน์จงให้นาคราชเล่นไปเถิด. อาลัมพายน์จึงวางกระโปรงแก้ว ลงบนเครื่องลาดอันวิจิตร เปิดกระโปรงออกแล้วให้สัญญาว่า ขอมหานาคออกมาเถิด.
สมัยนั้น สุทัสสนะก็ไปยืนอยู่ท้ายบริษัททั้งปวง. พระมหาสัตว์โผล่ศีรษะแลดูบริษัททั่วไป. นาคทั้งหลายแลดูบริษัทด้วยอาการ ๒ อย่างคือ เพื่อจะดูอันตรายจากสุบรรณอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูพวกญาติอย่างหนึ่ง. นาคเหล่านั้น ครั้นเห็นสุบรรณก็กลัวไม่ฟ้อนรำ. ครั้นเห็นพวกญาติก็ละอายไม่ฟ้อนรำ. ส่วนพระมหาสัตว์ เมื่อแลไปเห็นพี่ชายในระหว่างบริษัท ท่านก็เลื้อยออกจากกระโปรงตรงไปหาพี่ชายทั้งๆ ที่น้ำตานองหน้า.
มหาชนเห็นพระภูริทัตเลื้อย ก็พากันตกใจหลีกออกไป. ยังยืนอยู่แต่สุทัสสนะผู้เดียว. พระภูริทัตไปซบศีรษะร้องไห้ อยู่ที่หลังเท้าของสุทัสสนะ. ฝ่ายสุทัสสนะก็ร้องไห้. พระมหาสัตว์ร้องไห้แล้วก็กลับมาเข้ากระโปรง. อาลัมพายน์เข้าใจว่า ดาบสถูกนาคนี้กัดเอา คิดจะปลอบโยนท่าน จึงเข้าไปหาสุทัสสนะแล้วกล่าวว่า
นาคหลุดพ้นจากมือ ไปฟุบลงที่เท้าของท่านคุณพ่อ มันกัดเอากระมังหนอ คุณพ่ออย่ากลัวเลย จงถึงความสุขเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาภายิ ความว่า ดูก่อนพ่อดาบส เราชื่อว่า อาลัมพายน์ ท่านอย่ากลัวเลย ชื่อว่าการปฏิบัติรักษานั้น เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า.
สุทัสสนะ เพราะมีความประสงค์จะกล่าวกับอาลัมพายน์ จึงกล่าวว่า
นาคตัวนี้ ไม่สามารถจะยังความทุกข์อะไรๆให้เกิดแก่เราเลย หมองูมีอยู่เท่าใดก็ไม่ดียิ่งกว่าเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายจิ ความว่า นาคตัวนี้ไม่มีความสามารถในอันยังทุกข์อะไรๆ แม้มีประมาณน้อยให้เกิดขึ้นแก่เราได้. เพราะขึ้นชื่อว่าหมองูผู้เช่นกับเราย่อมไม่มี.

อาลัมพายน์เมื่อไม่รู้จักว่าผู้นี้คือใคร ก็โกรธกล่าวว่า
คนเซอะอะไรหนอ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาท้าเราในที่ประชุมชน ขอบริษัทจงฟังเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทตฺโต ได้แก่ คนเย่อหยิ่ง คนชั่ว คนลามก คนอันธพาล. บทว่า อวาหยตุ แปลว่า มาท้าทาย. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า คนนี้เป็นใคร เป็นคนโง่ หรือเป็นบ้า มาท้าทายเราด้วยสงคราม ทำตัวเสมอเรามายังบริษัท. บทว่า ปริสา มมํ ความว่า ขอบริษัทจงฟังเรา โทษของเราไม่มี ท่านอย่ามาโกรธเราเลย.

ลำดับนั้น สุทัสสนะ ได้กล่าวกะหมองูว่า
ดูก่อนหมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค เราจะต่อสู้กับท่านด้วยเขียด ในการรบของเรานั้น เราทั้งสองจงมาพนันกันด้วยเดิมพัน ๕,๐๐๐ กหาปณะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาเคน ความว่า ท่านจักรบกับเราด้วยนาค เราจักรบกับท่านด้วยลูกเขียด. บทว่า อา สหสฺเสหิ ปญฺจหิ ความว่า เอาเถอะในการรบของเรานั้น เราจงมาพนันกันด้วยเดิมพัน ๕,๐๐๐ กหาปณะ.

อาลัมพายน์กล่าวว่า
ดูก่อนมาณพ เราเท่านั้นเป็นคนมั่งคั่งด้วยทรัพย์ ท่านเป็นคนจน ใครจะเป็นคนรับประกันท่าน และอะไรเป็นเดิมพันของท่าน เดิมพันของเรามี และคนรับประกันเช่นนั้นก็มี ในการรบของเราทั้งสอง เราทั้งสองมาพนันกันด้วยเดิมพัน ๕,๐๐๐ กหาปณะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ เต ความว่า ใครจะเป็นคนรับประกันของท่านผู้เป็นบรรพชิต มีอยู่หรือ. บทว่า อุปชูตญฺจ นี้ อาลัมพายน์กล่าวว่า อีกอย่างหนึ่ง ทรัพย์อะไรชื่อว่า พึงเป็นของท่านที่ตั้งไว้ในการพนันนี้มีอยู่หรือ ท่านจงแสดงแก่เรา. บทว่า อุปชูตญฺจ เม ความว่า ก็ทรัพย์ที่จะพึงให้แก่เรา หรือที่จะพึงว่าเป็นเดิมพัน หรือใครผู้จะเป็นประกันเช่นนั้นมีอยู่. เพราะฉะนั้นในการรบของเราทั้งสองนั้น เราทั้งสองจะต้องมีทรัพย์เป็นเดิมพันจนถึง ๕,๐๐๐ กหาปณะ.

สุทัสสนะ ครั้นได้ฟังคำของอาลัมพายน์นั้นแล้ว ไม่กล้ายืนยันว่า เอาเถอะพนันกันด้วยทรัพย์ ๕,๐๐๐ กหาปณะ. ดังนี้ก็ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นลุง แล้วกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ เชิญสดับคำของอาตมภาพ ขอความเจริญจงมีแก่มหาบพิตร ขอมหาบพิตรทรงรับประกันทรัพย์ ๕,๐๐๐ กหาปณะของอาตมภาพเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิตฺติมา ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยเกียรติคุณ.

พระราชาทรงพระดำริว่า ดาบสนี้ขอทรัพย์เรามากเหลือเกิน จึงตรัสคาถาว่า
ข้าแต่ดาบส หนี้เป็นหนี้ของบิดา หรือว่าเป็นหนี้ที่ท่านทำเอง เพราะเหตุไร ท่านจึงขอทรัพย์มากมายอย่างนี้ ต่อข้าพเจ้า


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เปตฺติกํ วา ความว่า ชื่อว่า หนี้เป็นของอันบิดาเอาไว้ใช้บริโภคหรือ หรือว่าตนเองทำขึ้นไว้ ทรัพย์อะไรที่บิดาของเราถือเอาจากมือของท่าน หรือว่าอะไรเราถือเอาของท่านไว้มีอยู่. เพราะเหตุไร เจ้าจึงขอทรัพย์เป็นอันมากถึงอย่างนี้กะเรา

เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้ สุทัสสนะจึงได้กล่าวคาถาว่า
เพราะอาลัมพายน์ ปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค อาตมภาพจักให้ลูกเขียดกัด พราหมณ์อาลัมพายน์. ดูก่อนมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ขอเชิญพระองค์ ผู้มีหมู่ทหารดาบเป็นกองทัพ เสด็จทอดพระเนตรนาคนั้นในวันนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชิคึสติ ความว่า ในการสงครามที่ผู้ปรารถนาจะชนะ. ถ้าอาลัมพายน์จักชนะอาตมภาพ อาตมภาพจักต้องให้ทรัพย์ ๕,๐๐๐ กหาปณะแก่เขา. ถ้าอาตมภาพชนะเขาก็จักต้องให้แก่อาตมภาพเหมือนกัน เพราะฉะนั้น. อาตมภาพจึงขอทรัพย์พระองค์เป็นอันมาก.
บทว่า ตํ ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร จงเสด็จไปทอดพระเนตรในวันนี้.

พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เราจักไป จึงเสด็จไปพร้อมกับดาบสนั้นแล. อาลัมพายน์เห็นพระราชาเสด็จมากับดาบส ตกใจกลัวว่า ดาบสนี้ไปเชิญพระราชาออกมา ชะรอยว่า จักเป็นบรรพชิตในพระราชาสำนัก เมื่อจะคล้อยตาม จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่ดาบส เราไม่ได้ดูหมิ่นท่าน โดยทางศิลปศาสตร์เลย ท่านมัวเมาด้วยศิลปศาสตร์มากเกินไป ไม่ยำเกรงนาค.


บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สิปฺปวาเทน อาลัมพายน์กล่าวว่า ดูก่อนมาณพ เราไม่ได้ดูหมิ่นท่านด้วยศิลปศาสตร์ของตนเลย. แต่ท่านมัวเมาด้วยศิลปศาสตร์ของตนมากเกินไป ไม่บูชานาคนี้ คือไม่กระทำความยำเกรงต่อนาคนั้น.

ลำดับนั้น สุทัสสนะได้กล่าว ๒ คาถาว่า
ดูก่อนพราหมณ์ แม้อาตมาก็ไม่ดูหมิ่นท่านในทางศิลปศาสตร์ แต่ว่าท่านล่อลวงประชาชนนัก ด้วยนาคอันไม่มีพิษ. ถ้าชนพึงรู้ว่านาคของท่านไม่มีพิษ เหมือนอย่างอาตมารู้แล้ว. ท่านก็จะไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย จักได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่าหมองู.


ลำดับนั้น อาลัมพายน์โกรธต่อสุทัสสนะ จึงกล่าวว่า
ท่านผู้นุ่งหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ เกล้าชฎารุ่มร่าม เหมือนคนเซอะ เข้ามาในประชุมชน. ดูหมิ่นนาคเช่นนี้ว่าไม่มีพิษ ท่านเข้ามาใกล้แล้ว ก็จะพึงรู้ว่านาคนั้นเต็มไปด้วยเดช เหมือนของนาคอันสูงสุด. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า นาคตัวนี้จักทำท่านให้แหลก เป็นเหมือนเถ้าไปโดยฉับพลัน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุมฺมี ความว่า ท่านนุ่งหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ.
บทว่า อวิโส อติมญฺญสิ ความว่า ท่านดูหมิ่นว่าไม่มีพิษ.
บทว่า อาสชฺช แปลว่า เข้ามาใกล้.
บทว่า ชญฺญาสิ แปลว่า ท่านพึงรู้.

ลำดับนั้น สุทัสสนะ เมื่อกระทำการเย้ยหยัน จึงกล่าวคาถาว่า
พิษของงูเรือน งูปลา งูเขียว พึงมี แต่พิษของนาคมีศีรษะแดง ไม่มีเลยทีเดียว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิลุตฺตสฺส แปลว่า งูเรือน.
บทว่า ทุฑฺฑุภสฺส แปลว่า งูน้ำ. บทว่า สิลาภุโน แปลว่า งูเขียว.
สุทัสสนะ ครั้นแสดงงูไม่มีพิษดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า พิษของงูเหล่านั้นพึงมี แต่พิษของงูมีศีรษะแดงไม่มีเลย.

ลำดับนั้น อาลัมพายน์ได้กล่าวกะสุทัสสนะด้วยคาถา ๒ คาถาว่า
ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้มีตบะ มาว่า ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้ย่อมไปสู่สวรรค์ ท่านมีชีวิตอยู่ จงให้ทานเสียเถิด ถ้าท่านมีสิ่งของที่จะควรให้ นาคนี้มีฤทธิ์มาก มีเดชยากที่ใครๆ จะก้าวล่วงได้. เราจะให้นาคนั้นกัดท่าน มันก็จักทำท่านให้เป็นขี้เถ้าไป.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทาตเว ความว่า ถ้าท่านมีสิ่งไรที่จะควรให้ ท่านจงให้เถิด.

ลำดับนั้น สุทัสสนะกล่าวว่า
ดูก่อนสหาย เราแม้ก็ได้ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้สำรวมมีตบะมาว่า ทายกทั้งหลายให้ทาน ในโลกนี้แล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์. ท่านนั่นแหละเมื่อมีชีวิตอยู่ จงให้ทานเสีย ถ้าท่านมีสิ่งของที่ควรจะให้จงให้. ลูกเขียดชื่อว่า อัจจิมุขีนี้ เต็มด้วยเดชเหมือนของนาคอันสูงสุด. เราจักให้ลูกเขียดนั้นกัดท่าน ลูกเขียดนั้นจักทำท่านให้เป็นขี้เถ้าไป. นางเป็นธิดาของท้าวธตรฐ เป็นน้องสาวต่างมารดาของเรา. นางอัจจิมุขีผู้เต็มไปด้วยเดช เหมือนของนาคอันสูงสุดนั้นจงกัดท่าน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุคฺคสฺส เตชสา ความว่า เต็มไปด้วยพิษอันสูงสุด.

ก็แล สุทัสสนะ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเหยียดมือร้องเรียกน้องหญิง ในท่ามกลางมหาชนนั่นแล ด้วยคำว่า น้องหญิงอัจจิมุขี เจ้าจงออกจากภายในชฎาของพี่ มายืนอยู่ในฝ่ามือของพี่.

นางอัจจิมุขีผู้นั่งอยู่ภายในชฎานั่นแล ได้ยินเสียงเรียกของสุทัสสนะพี่ชาย ยังฝนลูกกบให้ตกถึง ๓ ครั้งแล้ว. จึงออกจากภายในชฎา นั่งอยู่ที่จะงอยบ่ากระโดดจากนั้น ยืนอยู่บนฝ่ามือของสุทัสสนะพี่ชาย แล้วทำหยาดพิษ ๓ หยาด ให้ตกแล้วเข้าไปภายในชฎาของสุทัสสนะอีกตามเดิม. สุทัสสนะยืนถือพิษอยู่แล้ว ประกาศเสียงดังขึ้นว่า ชาวชนบทจักพินาศหนอ. เสียงของสุทัสสนะได้ดังกลบนครพาราณสีถึง ๑๒ โยชน์. ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามเขาว่า ชนบทจักพินาศเพื่ออะไร. สุทัสสนะทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมาไม่เห็นที่หยดของพิษนี้. พระราชา เจ้าจงหยดพิษที่แผ่นดินใหญ่เถิด. ลำดับนั้น สุทัสสนะ เมื่อจะห้ามพระราชาว่า อาตมภาพไม่สามารถ หยดพิษบนแผ่นดินใหญ่นั้น มหาบพิตรจึงกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจัดหยดพิษลงบนแผ่นดินไซร้. มหาบพิตรจงทราบเถิดว่า ต้นหญ้า ลดาวัลย์และต้นยาทั้งหลาย พึงเหี่ยวแห้งไปโดยไม่ต้องสงสัย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติณลตานิ ความว่า หญ้า เถาวัลย์และต้นยาทั้งปวง ที่อาศัยแผ่นดินก็จะพึงเหี่ยวแห้งไป. เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่อาจหยดพิษบนแผ่นดินได้.

พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ถ้าเช่นนั้นท่านจงขว้างขึ้นไปบนอากาศ. สุทัสสนะ เมื่อจะแสดงว่า ถึงในอากาศนั้น ก็ไม่อาจขว้างหยดพิษขึ้นไปได้ จึงกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักขว้างพิษขึ้นบนอากาศ มหาบพิตรจงทราบเถิดว่า ฝนและน้ำค้างจะไม่ตกลงตลอด ๗ ปี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิมํ ปเต ความว่า แม้เพียงหยาดน้ำค้าง ก็จักไม่ตกตลอด ๗ ปี.

พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงหยดพิษลงในน้ำ. สุทัสสนะ เมื่อจะแสดงว่า แม้ในน้ำนั้นก็หยดพิษลงไม่ได้ จึงกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจัดหยดพิษลงในน้ำ. มหาบพิตรจงทราบเถิดว่า สัตว์น้ำมีประมาณเท่าใด ทั้งปลาและเต่าจะพึงตายหมด.


ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะท่านว่า ดูก่อนพ่อ ข้าพเจ้าไม่รู้อะไร ท่านจงช่วยหาอุบายที่จะไม่ให้แคว้นของเราฉิบหายด้วยเถิด. สุทัสสนะทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าเช่นนั้น มหาบพิตรจงรับสั่งให้คนขุดบ่อ ๓ บ่อ ต่อๆ กันไปในที่แห่งนี้. พระราชารับสั่งให้ขุดบ่อแล้ว. สุทัสสนะ จึงบรรจุบ่อแรกให้เต็มด้วยยาต่างๆ. บ่อที่ ๒ ให้บรรจุโคมัย และบ่อที่ ๓ ให้บรรจุยาทิพย์. แล้วจึงใส่หยดพิษลงในบ่อที่ ๑. ขณะนั้นนั่นเองก็เกิดควันไฟลุกขึ้น เป็นเปลวแล้วเลยลามไปจับบ่อโคมัย แล้วลุกลามต่อไปถึงบ่อยาทิพย์ ไหม้ยาทิพย์หมดแล้วจึงดับ. อาลัมพายน์ยืนอยู่ใกล้บ่อนั้น. ลำดับนั้น ไอควันพิษฉาบเอาผิวร่างกายเพิกขึ้นไป ได้กลายเป็นขี้เรื้อนด่าง. อาลัมพายน์ตกใจกลัว จึงเปล่งเสียงขึ้น ๓ ครั้งว่า ข้าพเจ้าปล่อยนาคราชละ. พระโพธิสัตว์ได้ยินดังนั้น จึงออกจากกระโปรงแก้ว นิรมิตอัตภาพอันประดับ ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ยืนอยู่ด้วยท่าทางเหมือนเทวราช. ทั้งสุทัสสนะทั้งอัจจิมุขี ก็มายืนอยู่เหมือนพระโพธิสัตว์นั่นแล. ลำดับนั้น สุทัสสนะจึงทูลถามพระเจ้าพาราณสีว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงรู้จักหรือ ข้าพระองค์ทั้งสามนี้เป็นลูกใคร.
ราชา. ดูก่อนพ่อ เราไม่รู้จัก.
สุทัสสนะ. พระองค์ไม่รู้จักข้าพระองค์ทั้งสามยกไว้ก่อน แต่พระองค์ทรงทราบ เรื่องที่ยกนางสมุททชาราชธิดาพระเจ้ากาสี ซึ่งพระราชทานแก่ท้าวธตรฐหรือไม่เล่า.
ราชา. เออ เรารู้ นางสมุททชาเป็นน้องสาวเรา.
สุทัสสนะ. ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ทั้งสามนี้เป็นลูกของนางสมุททชา พระองค์เป็นพระเจ้าลุงของข้าพระองค์ทั้งสาม.
พระราชาได้ฟังดังนั้น ก็ทรงสวมกอดจุมพิตหลานทั้ง ๓ ตน พลางทรงกรรแสงแล้วพาขึ้นปราสาท ทรงทำสักการะเป็นอันมากแล้ว ทรงกระทำปฏิสันถารแล้วถามว่า ดูก่อนภูริทัต พ่อมีฤทธิ์เดชสูงถึงอย่างนี้ ทำไมอาลัมพายน์จึงจับได้. พระภูริทัตนั้นจึงทูลเรื่องนั้นโดยพิศดารแล้ว เมื่อจะถวายโอวาทพระราชา จึงแสดงราชธรรมแก่พระเจ้าลุงโดยนัยมีอาทิว่า ขอพระราชทาน ธรรมเนียมพระราชาควรจะดำรงราชสมบัติ โดยทำนองอย่างนี้.
ลำดับนั้น สุทัสสนะจึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระเจ้าลุง มารดาของข้าพระองค์ยังไม่พบเจ้าภูริทัต ก็ยังกลัดกลุ้มอยู่. ข้าพระองค์ไม่อาจจะอยู่ช้าได้.
ราชา. ดีละพ่อ จงพากันไปก่อนเถิด แต่ว่าลุงอยากจะพบน้องของเราบ้าง ทำอย่างไรจึงจะได้พบกัน.
สุทัสสนะ. ข้าแต่พระเจ้าลุง พระเจ้ากาสิกราชผู้เป็นพระอัยกาของข้าพระองค์ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนเล่า.
ราชา. ดูก่อนพ่อ พระเจ้ากาสิกราชนั้นต้องพรากจากน้องสาวของลุง แล้วไม่สามารถจะอยู่เสวยราชสมบัติได้. ได้ละราชสมบัติทรงผนวชเสียแล้ว เสด็จไปอยู่ในไพรสณฑ์แห่งโน้น.
สุทัสสนะ. ข้าแต่พระเจ้าลุง มารดาของข้าพระองค์ประสงค์จะพบพระเจ้าลุง และพระอัยกาด้วย. ถึงวันโน้น พระองค์จงเสด็จไปยังสำนักพระอัยกา. ข้าพระองค์จักพามารดาไปยังอาศรมพระอัยกา. พระเจ้าลุงจักได้พบมารดาของข้าพระองค์ ในที่นั้นทีเดียว ดังนั้นทั้ง ๓ ตน จึงกำหนดนัดหมายวันแก่พระเจ้าลุงแล้ว ออกจากพระราชนิเวศน์. พระราชาส่งราชภาคิไนยไปแล้ว ก็ทรงพระกรรแสงแล้วเสด็จกลับ. หลานทั้งสามตน ก็แทรกแผ่นดินลงไปนาคพิภพ.
จบนาคคเวสนกัณฑ์

.. อรรถกถา ภูริทัตชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒][๓] [๔] [๕]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]