ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

อรรถกถา วิธุรชาดก
พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี

หน้าต่างที่   ๒ / ๖.

พระยานาคราชตรัสว่า
บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช. ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว ท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา. ครั้นท่านได้มาโดยธรรมแล้ว อิรันทตีธิดาของเรา จงเป็นภรรยาของท่านเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมลทฺธา แปลว่า ได้มาแล้วโดยธรรม. บทว่า ปาทจราว แปลว่า เป็นหญิงบำเรอ.

ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชดังนี้แล้ว ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้ว ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตน ผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่ประกอบไว้แล้ว มา ณ ที่นี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสํสิ ได้แก่ สั่งบังคับคนใช้ของตน. บทว่า อาชญฺญํ ได้แก่ ม้าสินธพผู้รู้เหตุ และมิใช่เหตุ. บทว่า ยุตฺตํ แปลว่า ประกอบเสร็จแล้ว.

พระโบราณาจารย์กล่าวพรรณนาม้าสินธพนั้นไว้ว่า
ม้าสินธพอาชาไนยนั้น มีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง มีเครื่องประดับอก ล้วนแล้วด้วยทองชมพูนุทอันสุกใส.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาตรูปมยา ความว่า เมื่อจะกล่าวพรรณนาม้าสินธพนั้นนั่นแล จึงได้กล่าวอย่างนั้น. จริงอยู่ ม้าสินธพมโนมัยนั้นมีหูทั้งสอง ล้วนแล้วด้วยทองคำ. บทว่า กาจมหิจมยา ขุรา ความว่า ม้าสินธพนั้น มีกีบล้วนแล้วด้วยแก้วมณี. บทว่า ชมฺโพนทสฺส ปากสฺส ความว่า มีเครื่องประดับอก ล้วนแล้วด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงสุกปลั่ง.

บุรุษคนใช้นั้น นำม้าสินธพมาในขณะนั้นนั่นเอง ปุณณกยักษ์ ขึ้นขี่ม้าสินธพอาชาไนยนั้น. เหาะไปสู่สำนักของท้าวเวสวัณโดยทางอากาศ แล้วพรรณนาภพแห่งนาค แล้วบอกเรื่องนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงได้ตรัสว่า
ปุณณยักษ์ผู้ประดับประดาแล้ว แต่งผมและหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้นกำหนัดแล้วด้วยกามราคะ ปรารถนานางอิรันทตีนาคกัญญา ไปทูลท้าวกุเวรเวสวัณผู้เรืองยศ ซึ่งเป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์ว่า
ภพนาคนั้นเขาเรียกชื่อว่าโภควดีนครบ้าง วาสนครบ้าง หิรัญญวดีนครบ้าง เป็นเมืองที่บุญกรรมนิรมิต ล้วนแต่ทองคำ สำเร็จแก่พระยานาค ผู้บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง ป้อมและเชิงเทิน สร้างโดยสัณฐานคออูฐ ล้วนแล้วด้วยแก้วแดงและแก้วลาย ในนาคพิภพนั้น มีปราสาทล้วนแล้วด้วยหิน มุงด้วยกระเบื้องทองในนาคพิภพนั้น. มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก ไม้การะเกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ไม้ชบา. ไม้ยางทราย ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา และไม้กะเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้ มีกิ่งต่อกันและกัน งามยิ่งนัก. ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผาลัม อันสำเร็จด้วยแก้วอินทนิล มีดอกและผลล้วนไปด้วยทอง เนืองนิตย์.
ท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้ผุดขึ้นเกิดอยู่ในนาคพิภพนั้น. มเหสีของพระยานาคราชนั้น กำลังรุ่นสาว ทรงพระนามว่า วิมลา มีพระรูป พระโฉมอันประกอบด้วยสิริ. งดงามดังก้อนทองคำ. สะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ. พระถันทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับ น่าดูยิ่งนัก. พระฉวีวรรณแดง ดังน้ำครั่ง. เปรียบเหมือนดอกกรรณิการ์อันแย้มบาน. เปรียบดังนางอัปสร ผู้อยู่ในสวรรค์ชั้นไตรทศ. หรือเปรียบเหมือนสายฟ้า อันแลบออกจากกลีบเมฆ.
ข้าพระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์ ทรงปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต. ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลา. เพราะการนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตไปถวายแล้ว. ท้าววรุณนาคราช และพระนางวิมลา จะพระราชทานพระนางอิรันทตีราชธิดาแก่ข้าพระองค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทววาหวหํ ความว่า พาหนะที่จะพึงนำไป ย่อมนำพาหนะ กล่าวคือเทวดาไป. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเทววาหวหะ นำไปด้วยพาหนะเทวดา. บทว่า ยานํ ความว่า ชื่อว่ายาน เพราะเป็นเครื่องนำไป คือเป็นเครื่องไป. บทว่า กปฺปิตเกสมสฺสุ ความว่า แต่งผมและหนวดดีแล้ว ด้วยอำนาจประดับ ถามว่า ก็ธรรมดา การแต่งผมและหนวดของเทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่มี แต่ก็กล่าวถ้อยคำให้วิจิตรไป. บทว่า ชิคึสํ แปลว่า ผู้ปรารถนา. บทว่า เวสฺสวณํ ได้แก่ พระราชาผู้เป็นอิสระแห่งราชธานี ประจำทิศอีสาน. บทว่า กุเวรํ ได้แก่ ผู้มีชื่อว่ากุเวร อย่างนั้น. บทว่า โภควตี นาม ได้แก่ ผู้ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะเป็นมีโภคสมบัติสมบูรณ์. บทว่า มนฺทิเร ความว่า พระราชมนเทียร คือพระราชวัง. บทว่า วาสา หิรญฺญวตี ความว่า ท่านเรียกว่าที่ประทับ เพราะเป็นที่ประทับของพระยานาค และกล่าวว่า หิรญฺญวตี เพราะพระที่นั่งหิรัญญวดี แวดล้อมไปด้วยกำแพงทอง. บทว่า นครํ นิมิตฺตํ แปลว่า มีนครเป็นเครื่องหมาย. บทว่า กาญฺจนมเย แปลว่า สำเร็จแล้วด้วยทอง. บทว่า มณฺฑลสฺส ได้แก่ ประกอบด้วยโภคมณฑล. บทว่า นิฏฺฐิตํ แปลว่า สำเร็จในเพราะการทำ. บทว่า โอฏฺฐคีวิโย ได้แก่ กระทำโดยสัณฐานดังคออูฐ. บาทคาถาว่า โลหิตงฺคสฺส มสารคลฺลิโน ได้แก่ ป้อมและคอหอย อันสำเร็จด้วยแก้วแดง สำเร็จด้วยแก้วตาแมว.
บทว่า ปาสาเทตฺถ นี้ ได้แก่ ปราสาทในนาคพิภพนี้. บทว่า สิลามยา แปลว่า สำเร็จด้วยแก้วมณี.
บทว่า โสวณฺณรตเนน ความว่า มุงด้วยรัตนะ กล่าวคือทอง คือด้วยอิฐอันสำเร็จด้วยทองคำ.
บทว่า สห แปลว่า ทำพร้อมกัน. บทว่า อุปริ ภณฺฑกา ได้แก่ต้นปาริฉัตตกะ.
บทว่า อุทฺทาลกา ได้แก่ ต้นจำปา ต้นกากะทิงและต้นมะลิวัลย์.
บาทพระคาถาว่า ภคินิมาลา อตฺเถตฺถ โกลิยา ความว่า ไม้มะลิลาและต้นกระเบา ย่อมมีในนาคพิภพนี้. บทว่า เอเต ทุมา ปรินามิตา ความว่า ต้นไม้ที่เผล็ดดอก ออกผลเหล่านั้น มีกิ่งเกี่ยวพันน้อมหากันและกันนุงนัง. บทว่า ขชฺชุเรตฺถ ได้แก่ ต้นอินทผาลัม มีในนาคพิภพนี้. บทว่า สิลามยา แปลว่า สำเร็จด้วยแก้วอินทนิล. บทว่า โสวณฺณธุวปุปฺผิตา ความว่า ก็ต้นไม้เหล่านั้น มีดอกอันสำเร็จด้วยทองบานอยู่เป็นนิตย์. บทว่า ยตฺถ วสโตปปาติโก ความว่า พระยานาคผู้เกิดอยู่ในภพนาคใด. บทว่า กาญฺจนเวลฺลิวิคฺคหา ได้แก่ มีพระสรีระเช่นกับหน่อทองคำ. บาทพระคาถาว่า กาฬา ตรุณาว อุคฺคตา ความว่า ผุดขึ้นแล้ว ดังแก้วกาฬวัลลีและแก้วประพาฬ เพราะประกอบด้วยความงาม. บทว่า ปิจุมณฺฑตฺถนี มีพระถันทั้งสองมีสัณฐานดังผลมะพลับ. บทว่า ลาขารสรตฺตสุจฺฉวี นี้.ท่านกล่าวหมายถึง พระฉวีวรรณแห่งพื้นพระหัตถ์และพระบาท. บทว่า ติทิโวกฺกจรา แปลว่า เปรียบเหมือนนางอัปสรในสวรรค์ชั้นไตรทศ. บทว่า วิชฺชุวพฺภฆนา ความว่า เปรียบเหมือนสายฟ้า ที่แลบออกจากกลีบเมฆ คือจากภายในแห่งกลีบเมฆอันหนาทึบ. บทว่า ตํ เนสํ ททามิ ความว่า เราจะให้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตแก่พวกเขา ท่านจงรู้อย่างนี้. ปุณณกยักษ์เรียกพระเจ้าลุงว่า อิสฺสร ผู้เป็นใหญ่.
ปุณณกยักษ์นั้น ท้าวเวสวัณยังไม่ทรงอนุญาต ก็ไม่อาจจะไปได้ จึงได้กล่าวคาถามีประมาณเท่านี้. เมื่อเขาทูลท้าวเวสวัณให้ทรงอนุญาตด้วยประการฉะนี้. ส่วนท้าวเวสวัณไม่ทรงได้ยินถ้อยคำของปุณณกยักษ์นั้น.
มีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร ท้าวเวสวัณจึงไม่ทรงได้ยินถ้อยคำของปุณณกยักษ์? แก้ว่า เพราะว่า ท้าวเวสวัณกำลังตัดสินคดีของเทวบุตร ๒ องค์ เรื่องที่พิพาทกันด้วยวิมาน.
ปุณณกยักษ์ทราบว่า ท้าวเธอมิได้ยินถ้อยคำของตน จึงไปยืนใกล้เทวบุตรผู้ชนะ. ท้าวเวสวัณทรงตัดสินคดีแล้วบังคับเทวบุตรผู้แพ้มิให้ลุกขึ้น ตรัสกะเทวบุตรผู้ชนะว่า ท่านจงไปอยู่ในวิมานของท่าน. ในขณะที่ท้าวเวสวัณตรัสว่า ท่านจงไปดังนี้นั่นแล. ปุณณกยักษ์บอกเทวบุตร ๒-๓ องค์ให้เป็นพยานว่า ท่านทั้งหลายจงทราบว่า พระเจ้าลุงของเราส่งเราไป. แล้วสั่งให้นำม้าสินธพมา เผ่นขึ้นม้าสินธพนั้นเหาะไป โดยนัยที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณกยักษ์นั้นทูลลาท้าวกุเวรเวสวัณผู้เรืองยศ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ แล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงเอาม้าอาชาไนยที่ประกอบแล้วมา ณที่นี้. ม้าสินธพนั้นมีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง เครื่องประดับอกล้วน ด้วยทองคำชมพูนุทอันสุกใส. ปุณณกยักษ์ผู้ประดับประดาแล้วแต่งผม และหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อามนฺตย แปลว่า เรียกมาแล้ว. ปุณณกยักษ์นั้นเหาะไปทางอากาศนั่นเอง. คิดว่า วิธุรบัณฑิตมีบริวารมาก เราไม่อาจจับเอาเธอได้. แต่ว่าพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช พอพระทัยในการทรงสกา เราชนะท้าวเธอด้วยสกาแล้ว. จักจับเอาวิธุรบัณฑิต เออก็แก้วในพระคลัง ข้างที่ของท้าวเธอมีเป็นจำนวนมาก ท้าวเธอคงไม่ทรงสกา ด้วยแก้วที่เป็นของพนันมีค่าเล็กน้อย. บุคคลผู้ชนะพระราชาได้ควรจะนำเอาแก้วมณีมีค่ามากมา พระราชาจักไม่ทรงรับแก้วชนิดอื่น แก้วมณีเป็นเครื่องใช้สอยของพระเจ้าจักรพรรดิราช มีอยู่ในระหว่างแห่งวิบุลบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์. เราต้องเอาแก้วมณี ซึ่งมีอานุภาพมากนั้นมาโลมล่อพระราชา จึงจะชนะพระราชาได้ ปุณณกยักษ์ได้ทำอย่างนั้นแล้ว.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปสู่กรุงราชคฤห์ อันน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก. เป็นนครของพระเจ้าอังคราช อันพวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้. มีภักษาหาร และข้าวน้ำมากมาย. ดังมสักกสารพิภพของท้าววาสวะ เป็นนครกึกก้องด้วยหมู่นกยูงและนกกระเรียน อื้ออึงด้วยฝูงนกต่างๆ ชนิด. เป็นที่เสพอาศัยของฝูงทิชาชาติ มีนกต่างๆ ส่งเสียงร้องอยู่ อึงมี่. ภูมิภาคราบเรียบ ดารดาษไปด้วยบุปผชาติ ดังขุนเขาหิมวันต์.
ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นสู่วิบุลบรรพต อันเป็นภูเขาศิลาล้วน เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่ ได้เห็นดวงแก้วมณีนั้น ณ ท่ามกลางยอดภูเขา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า องฺคสฺส รญฺโญ ความว่า ในกาลนั้น พระเจ้าอังคราชได้ครองมคธรัฐ. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสไว้. บทว่า ทุราสทํ ความว่า อันข้าศึกจะเข้าไปหาได้ยาก. บทว่า มสกฺกสารํ วิย วาสวสฺส ความว่า ดุจพิภพแห่งท้าววาสวะอันได้นามว่ามสักกสาระ เพราะสร้างไว้ใกล้ภูเขาสิเนรุ กล่าวคือมสักกการะ. บทว่า ทิชาภิสํฆุฏฺฐํ ความว่า เป็นที่อยู่กึกก้องลือลั่นไปด้วยฝูงนกอื่นๆ. บทว่า นานาสกุณาภิรุทํ ความว่า ฝูงนกนานาชนิด ส่งเสียงร้องด้วยเสียงอันไพเราะ เซ็งแซ่ อื้ออึงอยู่. บทว่า สุวงฺคณํ ความว่า มีเนินอันสวยงาม มีภาคพื้นราบเรียบเป็นที่น่าฟูใจ. บทว่า หิมวํว ปพฺพตํ แปลว่า เหมือนภูเขาหิมวันต์. บทว่า วิปุลมาภิรุยฺห ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นสู่วิบุลบรรพต เห็นปานนั้น. บทว่า ปพฺพตกูฏมชฺเฌ ความว่า ได้เห็นแก้วมณีนั้นในระหว่างยอดแห่งภูเขา.

ปุณณกยักษ์ ครั้นเห็นแก้วมณีมีรัศมีอันผุดผ่อง เป็นแก้วมณีดีเลิศ ด้วยยศรุ่งโรจน์โชติช่วง ด้วยแก้วมณีเป็นอันมาก. สว่างไสวดังสายฟ้าแลบในอากาศ สามารถนำทรัพย์มาให้ดังใจหวัง. แล้วถือเอาแก้วมโนหรจินดามีค่ามาก มีอานุภาพมากนั้น เผ่นขึ้นม้าสินธพอาชาไนย เหาะไปในอากาศกลางหาว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนาหรํ ความว่า สามารถนำทรัพย์มาได้ตามใจหวัง. บทว่า ททฺทลฺลมานํ แปลว่า รุ่งโรจน์ชัชวาล. บทว่า ยสสา แปลว่า ด้วยหมู่แก้วมณีมีบริวารมาก. บทว่า โอภาสตี ความว่า แก้วมณีนั้นสว่างไสว เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ฉะนั้น. บทว่า ตมคฺคหี ความว่า ได้ถือเอาแก้วมณีนั้น. บทว่า มโนหรนฺนาม ความว่า ได้นามอย่างนี้ว่า สามารถนำมาซึ่งทรัพย์ดังใจนึก.

ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่ากุมภิระ มีพวกยักษ์กุมภัณฑ์แสนหนึ่ง เป็นบริวารรักษาแก้วมณีนั้นอยู่. แต่กุมภิรยักษ์นั้น เมื่อปุณณกยักษ์ทำท่าโกรธถลึงตาดูเท่านั้น ก็สะดุ้งกลัวตัวสั่น หนีไปแอบเขาจักรวาล แลดูอยู่. ปุณณกยักษ์นั้นขับไล่กุมภิรยักษ์ให้หนีไปแล้ว จึงถือเอาแก้วมณี เหาะไปโดยทางอากาศถึงนครนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปยังอินทปัตตนคร ลงจากหลังม้าแล้ว เข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ. ไม่กลัวเกรงพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น กล่าวท้าทายด้วยสกาว่า
บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอ จะทรงชิงเอาแก้วอันประเสริฐ ของข้าพระองค์ได้. หรือว่า ข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ. อนึ่ง ข้าพระองค์จะชิงแก้วอันประเสริฐยิ่ง กะพระราชาพระองค์ไหน หรือพระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์ ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอรุยฺหุปาคญฺฉิ สภํ กุรูนํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์นั้นลงจากหลังม้าแล้ว พักม้าที่มีรูปอันใครไม่เห็นแล้ว. เข้าไปสู่สภาแห่งชาวกุรุรัฐ ด้วยเพศแห่งมาณพน้อย.
บทว่า เอกสตํ ความว่า เป็นผู้ไม่เกรงกลัวพระราชา ๑๐๑ พระองค์. ได้กล่าวท้าทายด้วยสกา โดยนัยมีอาทิว่า พระราชาพระองค์ไหนหนอ. บทว่า โกนีธ ความว่า พระราชาพระองค์ไหนหนอ ในราชสมาคมนี้. บทว่า รญฺญํ ความว่า ในระหว่างพระราชาทั้งหลาย. บทว่า วรมาภิเชติ ความว่า พระราชาพระองค์ไหนที่จะชิงเอาแก้วอันประเสริฐของข้าพเจ้าได้ คืออาจกล่าวได้ว่าเราชนะ ดังนี้. บทว่า กมาภิเชยฺยาม ความว่า หรือว่า พวกเราจะพึงชนะใคร? บทว่า วรทฺธเนน แปลว่า ด้วยทรัพย์อันสูงสุด. บทว่า กมนุตฺตรํ ความว่า ก็พวกเรา เมื่อจะชนะ จงชนะทรัพย์อันประเสริฐ กะพระราชาพระองค์ไหน?
บทว่า โก วาปิ โน เชติ ความว่า ก็หรือว่า พระราชาพระองค์ไหนจะชนะพวกเรา ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ. ปุณณกยักษ์นั้นพูดเคาะพระเจ้าโกรพยราช นั่นแลด้วยบท ๔ บทด้วยประการฉะนี้.

ลำดับนั้น พระเจ้าโกรพยราชทรงพระดำริว่า ก่อนแต่นี้เรายังไม่เคยเห็นใครที่พูดกล้าหาญเช่นนี้ จะเป็นใครหนอแล เมื่อจะรับสั่งถาม จึงตรัสพระคาถาว่า
ชาติภูมิของท่านอยู่ในแว่นแคว้นไหน? ถ้อยคำของท่านนี้ ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย. ท่านมิได้กลัวเกรงเราทั้งปวง ด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ. ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกรพฺยสฺเสว ความว่า ถ้อยคำของท่าน ไม่ใช่ถ้อยคำของคน ผู้อยู่ในแว่นแคว้นกุรุรัฐเลย.

ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า พระราชานี้ย่อมถามชื่อของเราด้วยทาสชื่อปุณณกะมีอยู่คนหนึ่ง ถ้าเราจะทูลบอกว่าชื่อปุณณกะไซร้ ท้าวเธอจักดูหมิ่นได้ว่า เพราะเหตุไร ทาสจึงพูดกะข้าด้วยความคะนองอย่างนี้ อย่าเลย เราจักทูลบอกชื่อของเราในชาติอดีตเป็นลำดับแก่ท้าวเธอ แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพกัจจายนโคตร ชื่อปุณณกะ ญาติและพวกพ้องของข้าพระองค์ อยู่ในนครกาลจัมปากะ แคว้นอังคะ ย่อมเรียกข้าพระองค์อย่างนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์มาถึงในนี้ ด้วยต้องการจะเล่นพนันสกา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนูนนาโม ความว่า ได้กล่าวปกปิดเฉพาะชื่อเต็มเท่านั้น โดยชื่อที่บกพร่องนั้น. บทว่า อิติ มาหุยนฺติ ความว่า พวกญาติย่อมกล่าวย่อมเรียกข้าพเจ้า ดังนี้. บทว่า องฺเคสุ ความว่า อยู่ในนครกาลจัมปากะ ในอังครัฐ. บทว่า อตฺเถน เทวสฺมิ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มาถึงในที่นี้ ด้วยประสงค์จะเล่นสกา.

ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะตรัสถามปุณณกยักษ์นั้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านผู้ที่พระราชาชำนะด้วยสกา จักถวายอะไรแก่พระราชา ท่านมีอะไรหรือ จึงตรัสพระคาถาว่า
พระราชาผู้ทรงชำนาญการเล่นสกา เมื่อชนะท่านจึงพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ แก้วของพระราชามีอยู่จำนวนมาก ท่านเป็นคนเข็ญใจ จะมาพนันกะพระราชาเหล่านั้นได้ ได้อย่างไร.


คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายดังนี้
แก้วเหล่านั้นของมาณพผู้เจริญมีอยู่ หรือ.
บทว่า เย ตํ ชินนฺโต ความว่า พระราชาตรัสว่า ท่านผู้ชำนาญเล่นสกา. เมื่อท่านชำนะเขาแล้ว ท่านกล่าวว่า จงนำมา ดังนี้แล้ว. พึงนำไปแต่แก้วเป็นอันมาก มีอยู่ในพระนิเวศน์ของพระราชาทั้งหลาย. ท่านเป็นคนจน ท่านจะเอาทรัพย์เป็นค่าเดิมพันพนันกะพระราชาเหล่านั้นผู้มีทรัพย์มากอย่างนี้ ได้อย่างไร?

ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ทูลว่า
แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้ ชื่อว่าสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ ดังใจปรารถนา นักเลงเล่นสกาชนะข้าพระองค์แล้ว พึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐ สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ ดังใจปรารถนา และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรูนี้ไป.


ก็ในบาลีโปตถกะ ท่านลิขิตไว้ว่า แก้วมณีของข้าพระองค์นี้มีสีแดง. ก็แก้วมณีนั้นเป็นแก้วไพฑูรย์ เพราะฉะนั้น คำนี้แหละจึงสมกัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาชญฺญํ ความว่า นักเลงผู้ชำนาญเล่นสกาชนะแล้ว พึงนำสิ่งทั้งสองของเรานี้ คือม้าอาชาไนยและแก้วมณีนี้ไป. เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์ เมื่อจะแสดงม้า จึงได้กล่าวอย่างนั้น.

พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้ อนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเดียวจักทำอะไรได้ แก้วของพระราชามีเป็นอันมาก ม้าอาชาไนยมีกำลังรวดเร็วดังลมของพระราชามี มิใช่น้อย.

จบโทหฬินีกัณฑ์

ปุณณกยักษ์นั้นได้สดับพระดำรัสของพระราชาดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสดังนั้น ม้าของข้าพระองค์ตัวเดียวเท่ากับม้าพันตัว. แก้วมณีของข้าพระองค์ดวงเดียวเท่ากับแก้วพันดวง. ม้าทั้งปวงจะเทียมเท่าม้าของข้าพระองค์ตัวเดียว หามิได้. ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูความว่องไวของม้าตัวนี้ก่อน แล้วเผ่นขึ้นม้าขับไป โดยเบื้องบนแห่งกำแพงพระนครที่กว้าง ๗ โยชน์. ได้ปรากฏประหนึ่งว่า ม้าเอาคอจดกันเรียงล้อมพระนคร. ถ้าม้าวิ่งเร็วกว่าลำดับนั้นไป ก็ไม่ปรากฏ. แม้ยักษ์ก็ไม่ปรากฏ มีแต่ผ้าแดงคาดพุงเท่านั้น ได้ปรากฏดังผ้าแดงผืนเดียววงรอบพระนคร. ปุณณกยักษ์ลงจากหลังม้ากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นกำลังเร็วแห่งม้าแล้วหรือ. เมื่อท้าวเธอตรัสบอกว่า เออ มาณพเราเห็นแล้ว. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงทอดพระเนตรดูอีกในกาลบัดนี้ แล้วขับม้าไปบนหลังน้ำ ในสระโบกขรณีที่อุทยานภายในพระนคร. ม้าได้วิ่งไปมิได้ให้ปลายกีบเปียกเลย. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ให้ม้าวิ่งควบไปบนใบบัว ตบมือแล้ว เหยียดมือออก ม้าวิ่งเผ่นมาหยุดอยู่ที่ฝ่ามือ.
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งนรชน ม้าเห็นปานนี้ ควรจะจัดเป็นม้าแก้วหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า. เมื่อพระองค์ตรัสว่า ควรมาณพ. จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ม้าแก้วยกไว้ก่อนเถิด. พระองค์จงทอดพระเนตร ดูอานุภาพแห่งแก้วมณี ดังนี้แล้ว.
เมื่อจะประกาศอานุภาพแห่งแก้วมณีนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดในทวีป ขอพระองค์จงทอดพระเนตร ดูแก้วมณีของข้าพระองค์นี้. รูปหญิงและรูปชาย รูปเนื้อและรูปนกมิใช่น้อย ย่อมปรากฏอยู่ในแก้วมณีนี้. หมู่เนื้อและหมู่นกต่างชนิด ย่อมปรากฏอยู่ในแก้วมณีนี้. พระยานาคและพระยาครุฑก็ปรากฏอยู่ในแก้วมณีนี้. เชิญพระองค์ทอดพระเนตร สิ่งที่น่าอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีนี้ พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิตฺถีนํ ความว่า รูปหญิงมิใช่น้อย ที่ประดับตกแต่งในแก้วมณีนั้น รูปชายก็เหมือนกัน หมู่เนื้อและนกมีประการต่างๆ หมู่เสนาเป็นต้นย่อมปรากฏ เมื่อจะประกาศสิ่งเหล่านั้น จึงได้ทูลอย่างนั้น ด้วยบทว่า นิมฺมิตํ นี้. ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ขอพระองค์จงทอดพระเนตร ดูสิ่งอันน่าอัศจรรย์ เห็นปานนี้. อันธรรมดาสร้างไว้ในแก้วมณีนี้.

เมื่อจะแสดงแม้สิ่งอื่นๆ อีก จึงกล่าวคาถาว่า
ขอพระองค์จงทอดพระเนตรจตุรงคินีเสนา คือกองช้าง กองม้า กองรถ และ กองเดินเท้าอันสวมเกราะ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรพลทหารที่จัดไว้เป็นกรมๆ คือกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลคฺคานิ แปลว่า กองพลนั้นเอง. บทว่า วิยูหานิ ได้แก่ ตั้งด้วยอำนาจกระบวน.

ขอเชิญทอดพระเนตร พระนครอันสมบูรณ์ด้วยป้อม มีกำแพงและค่ายเป็นอันมาก มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นราบเรียบ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเสาระเนียด เสาเขื่อน กลอนประตู ซุ้มประตูกับประตู อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุรํ แปลว่า พระนคร. บทว่า อฏฺฏาลสมฺปนฺนํ ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยป้อมและเชิงเทิน. บทว่า พหุปาการโตรณํ แปลว่า มีกำแพงรั้วค่ายอันสูง. บทว่า สึฆาฏเก แปลว่า ถนนสี่แพร่ง. บทว่า สุภูมิโย ความว่า มีพื้นอันน่ารื่นรมย์วิจิตรด้วยอุปจารแห่งนคร. บทว่า เอสิกา ได้แก่เสาระเนียดที่ตั้งขึ้นที่ประตูพระนคร. บทว่า ปลีฆํ ได้แก่ กลอนเหล็ก อีกอย่างหนึ่งบาลีก็อย่างนี้แล. บทว่า อคฺคฬานิ ได้แก่ ประตูพระนครและหน้าต่าง. บทว่า อฏฺฏาลเก จ แปลว่า ซุ้มประตู.

ขอเชิญทอดพระเนตร ฝูงนกนานาชนิดมากมายที่เสาค่ายและหนทาง คือฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพรากและนกเขา อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตร พระนครอันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ คือนกดุเหว่าดำ ดุเหว่าลาย ไก่ฟ้า นกโพระดกเป็นจำนวนมาก อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โตรณมคฺเคสุ ได้แก่ ที่เสาค่ายและหนทางในพระนครนี้. บทว่า กุณาลกา แปลว่า นกดุเหว่าดำ. บทว่า จิตฺรา ได้แก่ นกดุเหว่าลาย.

ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันแวดล้อมไปด้วยกำแพง เป็นนครน่าอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้า เขาชักธงขึ้นประจำ ลาดด้วยทรายทองอันน่ารื่นรมย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. เชิญทอดพระเนตร ร้านตลาดอันบริบูรณ์ด้วยสินค้าต่างๆ เรือนสิ่งของในเรือน ถนนซอย ถนนใหญ่ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุปาการํ ได้แก่ แวดล้อมไปด้วยกำแพงแก้ว. บทว่า ปณฺณสาลาโย ได้แก่ ร้านตลาดอันพรั่งพร้อมไปด้วยสินค้านานาชนิด. บทว่า นิเวสเน นิเวเส จ ได้แก่ เรือนและสิ่งของในเรือน. บทว่า สนฺธิพฺยูฬเห (๑. บาลีว่า สนฺธิพฺยูเห.) ได้แก่ ที่ต่อแห่งเรือน และตรอกน้อย. บทว่า นิพฺพิทฺธวีถิโย ได้แก่ ถนนใหญ่.

ขอเชิญทอดพระเนตรโรงขายสุรา นักเลงสุรา พ่อครัว โรงครัว พ่อค้า และหญิงแพศยา อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้าช่างทอง และช่างแก้ว อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตร ช่างของหวาน ช่างของคาว นักมหรสพ บางพวกฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสณฺเฑ จ ความว่า โรงสุราอันประกอบด้วยเครื่องประดับคอ และเครื่องประดับหู อันสมควรแก่ตน และนักเลงสุราผู้นั่งจัดแจงที่ดื่มสุรา. บทว่า อาฬาริเก แปลว่า พ่อครัว. บทว่า สูเท แปลว่า ผู้ปรุงอาหาร. บทว่า ปาณิสฺสเร ความว่า ขับร้องด้วยการตบมือ. บทว่า กุมฺภถูนิเก แปลว่า พวกตีฉิ่ง.

ขอเชิญทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก และเครื่องดนตรีทุกอย่าง อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรเปิงมาง กังสดาล พิณ การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่า อันเขาประโคมครึกครื้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรนักกระโดด นักมวยปล้ำ นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม คนเฝ้ายาม และช่างตัดผม อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมตาลํ ได้แก่ ตะโพนที่ทำด้วยไม้ตะเคียนเป็นต้น และกังสดาล. บทว่า ตุริยตาฬิตสํฆุฏฺฐํ ได้แก่ เครื่องดนตรีต่างๆ ที่เขาประโคมไว้อย่างครึกครื้นเป็นอันมาก. บทว่า มุฏฺฐิกา ได้แก่ นักมวยปล้ำ. บทว่า โสภิยา ได้แก่ หญิงงามเมืองและชายรูปงาม. บทว่า เวตาลิเก ได้แก่ ผู้ทำกาลเวลาให้ปรากฏขึ้น. บทว่า ชลฺเล ได้แก่ ช่างตัดผมกำลังปลงผมและหนวดอยู่.

ในแก้วมณีดวงนี้ มีงานมหรสพอันเกลื่อนกล่นไปด้วยชายหญิง ขอเชิญทอดพระเนตรพื้นที่เป็นที่เล่นมหรสพ บนเตียงที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มญฺจาติมญฺเจ ได้แก่ เตียงที่ผูกไว้ข้างบนแห่งเตียงใหญ่. บทว่า ภูมิโย ได้แก่ ภูมิที่แสดงมหรสพอันน่ารื่นรมย์.

ขอพระองค์จงทอดพระเนตรดู พวกนักมวยซึ่งต่อยกันด้วยแขนทั้งสอง อยู่ในสนามเล่นมหรสพ ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมชฺชสฺมึ แปลว่า ในสนามมวย. บทว่า นีหเต แปลว่า ผู้กำจัด คือชนะตั้งอยู่. บทว่า นีหตมาเน แปลว่า ผู้แพ้.

ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ เป็นอันมากที่เชิงภูเขา คือราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาใน เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อ ทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลาก ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ ซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาด อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลสตา แปลว่า เนื้อแรด. บาลีว่า พลสตา ดังนี้ก็มี. บทว่า ควชา แปลว่า โคลาน. บทว่า สรภา ได้แก่ เนื้อชนิดหนึ่ง ระมาดและสุกรบ้าน. บทว่า พหู จิตฺรา ได้แก่ เนื้ออันวิจิตรโดยประการต่างๆ. บทว่า วิฬารา แปลว่า แมวป่า. บทว่า สสกณฺณกา ได้แก่ กระต่ายและกระแต.

ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำอันมีท่า อันราบเรียบลาดด้วยทรายทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย เป็นที่อาศัยแห่งฝูงปลา อนึ่ง ในแม่น้ำนี้มีฝูงจระเข้ มังกร ปลาฉลาม เต่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า ปลาตะเพียน ท่องเที่ยวไปมา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นชฺชาโย แปลว่า แม่น้ำ. บทว่า โสวณฺณพากุลสณฺฐิตา ความว่า มีพื้นตั้งอยู่ราบเรียบลาดด้วยทรายทอง บทว่า กุมฺภิลา ความว่า สัตว์เหล่านี้ มีรูปเห็นปานนี้เที่ยวสัญจรไปมาในแม่น้ำ. เชิญทอดพระเนตรสัตว์แม้เหล่านั้น ที่ธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีนี้.

ขอเชิญทอดพระเนตร ขอบสระโบกขรณีอันก่อสร้างด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬุริยผลกโรทาโย ความว่า ฝูงนกป่าพากันเคาะแผ่นหิน อันล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ส่งเสียงร้องเพราะเสียงแก้วมณีนั้น.

ขอเชิญทอดพระเนตรดูสระโบกขรณี ในแก้วมณีดวงนี้ อันธรรมดาสร้างสรรไว้เรียบร้อยทั้ง ๔ ทิศ เกลื่อนกล่นด้วยฝูงนกต่างชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของปลาใหญ่ๆ ขอเชิญทอดพระเนตรแผ่นดิน อันมีน้ำล้อมโดยรอบ เป็นกุณฑลแห่งสาครประกอบด้วยทิวป่า (เขียวขจี) อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุถุโลมจฺฉเสวิตา แปลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลา. บทว่า วนราเชภิ แปลว่า ด้วยทิวป่าเป็นดังเทริดประดับ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.

เชิญทอดพระเนตรบุพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และชมพูทวีป. ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า. ขอเชิญทอดพระเนตรพระจันทร์และพระอาทิตย์ อันเวียนรอบสิเนรุบรรพต ส่องสว่างไปทั่ว ๔ ทิศ. ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรสิเนรุบรรพต หิมวันตบรรพต สมุทรสาคร แผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวน แผ่นหินและเนินหินอันน่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกกินนร. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
ขอเชิญทอดพระเนตรสวนสวรรค์ คือปารุสกวัน จิตตลดาวัน มิสสกวันและนันทวัน ทั้งเวชยันตปราสาท. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรสุธรรมเทวสภา ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์อันมีดอกแย้มบาน และพระยาช้างเอราวัณซึ่งมีอยู่ในดาวดึงส์พิภพ. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า. ขอเชิญทอดพระเนตรดูเหล่านางเทพกัญญาอันทรงโฉมล้ำเลิศ ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เที่ยวเล่นอยู่ในนันทวันนั้น. อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า. ขอเชิญทอดพระเนตรเหล่าเทพกัญญาผู้ประเล้าประโลมเทพบุตร อภิรมย์เหล่าเทพกัญญาอยู่ในนันทนวันนั้น อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเทเห ได้แก่ บุพวิเทหทวีป. บทว่า โคยานิเย จ ได้แก่ อมรโคยานทวีป. บทว่า กุรุโย ชมฺพูทีปญฺจ ได้แก่ อุตรกุรุทวีปและชมพูทวีป. บทว่า อนุปริยายนฺเต ความว่า ซึ่งพระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้นเวียนรอบภูเขาสิเนรุ. บทว่า ปาฏิเย ความว่า หลังแผ่นหินดุจตั้งลาดไว้.

ขอเชิญทอดพระเนตร ปราสาทมากกว่าพันในดาวดึงส์พิภพ พื้นลาดด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีรุ่งเรือง อันธรรมสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี อันธรรมดาสร้างสรรไว้ในแก้วมณีดวงนี้. ขอเชิญทอดพระเนตรสระโบกขรณีในสวรรค์ชั้นนั้นๆ อันมีน้ำใสสะอาดดารดาษไปด้วยมณฑาลกะ ดอกปทุมและอุบล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโรสหสฺสํ ความว่า ในปราสาทมากกว่าพัน ในภพชั้นดาวดึงส์.

ลายขาว ๑๐ แห่งอันน่ารื่นรมย์ใจ ลายเหลืองอ่อน ๒๑ แห่ง ลายเหลืองขมิ้น ๑๔ แห่ง ลายสีทอง ๒๑ แห่ง ลายสีน้ำเงิน ๒๐ ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ แห่ง มีปรากฏในแก้วมณีนี้ แก้วมณีดวงนี้มีลายดำ ๑๖ แห่ง และลายแดง ๒๕ แห่ง อันเจือด้วยดอกชบาวิจิตรด้วยนิลุบล. ข้าแต่มหาราชาผู้สูงสุดกว่าปวงชน ขอเชิญทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้ อันสมบูรณ์ด้วยองค์ทั้งปวง มีรัศมีรุ่งเรืองผุดผ่องอย่างนี้. ผู้ใดจักชนะข้าพระองค์ด้วยการเล่นสกา แก้วมณีดวงนี้จักเป็นส่วนค่าพนันของผู้นั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทเสตฺถ ราชิโย ความว่า ลายขาว ๑๐ แห่ง มีอยู่ในแท่งแก้วมณีนั้น. บทว่า ฉ ปิงฺคลา ปณฺณรส แปลว่า ลายเหลืองอ่อน ๒๑ แห่ง. บทว่า หลิทฺทา แปลว่า ลายเหลืองขมิ้น ๑๔ แห่ง. บทว่า ตึสติ ความว่า ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ แห่ง. บทว่า ฉ จ ความว่า ลายสีดำ ๑๖ แห่ง. บทว่า มญฺเชฏฺฐา ปญฺจวีสติ ความว่า โปรดทอดพระเนตรลายสีแดง ๒๕ แห่ง. บทว่า มิสฺสา พนฺธุกปุปฺเผหิ ความว่า ขอจงทอดพระเนตรลายสีดำอันวิจิตร ลายสีแดงเจือด้วยดอกเหล่านั้นอันวิจิตร. จริงอยู่ ในแก้วมณีนี้มีลายดำลายสีแดง เจือด้วยดอกชบา วิจิตรด้วยดอกอุบลเขียว. บทว่า โอธิสุงฺกํ แปลว่า เป็นส่วนค่าพนัน. ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ผู้ชำนะเราด้วยการเล่นสกา. แก้วมณีนี้จะเป็นส่วนค่าพนันของผู้นั้น. ก็บาลีในอรรถกถาว่า โหตุ สุงฺกํ มหาราช จงเป็นส่วยของพระมหาราช ดังนี้ก็มี. คำนั้นมีอธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า พระองค์จงทอดพระเนตร แก้วมณีนี้ คือเห็นปานนี้. ข้าแต่มหาราชเจ้า แก้วมณีนี้เป็นส่วยของข้าพระองค์ ผู้ใดชนะข้าพระองค์ด้วยการเล่นสกา แก้วมณีนี้เป็นส่วยของผู้นั้น.
จบมณิกัณฑ์

.. อรรถกถา วิธุรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑][๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]