ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270079อรรถกถาชาดก 270080
เล่มที่ 27 ข้อ 80อ่านชาดก 270081อ่านชาดก 272519
อรรถกถา ภีมเสนชาดก
ว่าด้วย คำแรกกับคำหลังไม่สมกัน

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยนฺเต ปวิกตฺถิตํ ปุเร ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวคุยโอ่ เย้ยหยัน หลอกลวงในกลุ่มภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งที่เป็นนวกะ และที่เป็นมัชฌิมะด้วยอำนาจสมบัติมีชาติเป็นต้นว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ว่าถึงชาติกันละก็ไม่มีทางที่จะเสมอด้วยชาติของเรา ว่าถึงโคตรก็ไม่มีที่จะเสมอด้วยโคตรของเรา พวกเราเกิดในตระกูลมหากษัตริย์ขึ้นชื่อเห็นปานนี้ ผู้ที่จะได้ชื่อว่าทัดเทียมกับเราโดยโคตรหรือด้วยทรัพย์หรือด้วยถิ่นฐานของตระกูลไม่มีเลย ทองเงินเป็นต้นของพวกเรามีจนหาที่สุดมิได้ เพียงแต่พวกทาสกรรมกรของพวกเราก็พากันกินข้าวสุกที่เป็นเนื้อข้าวสาลี นุ่งผ้าที่มาจากแคว้นกาสีเป็นต้น ผัดเครื่องลูบไล้ที่มาแต่แคว้นกาสี เพราะเป็นบรรพชิตดอก เดี๋ยวนี้ พวกเราถึงบริโภคโภชนะเศร้าหมอง ครองจีวรเลวๆ อย่างนี้.
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งสอบสวนถิ่นฐานแห่งตระกูลของเธอได้แน่นอน ก็กล่าวความที่เธอคุยโอ้อวดนั้นแก่พวกภิกษุ พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภา พากันพูดถึงโทษมิใช่คุณของเธอว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นบวชแล้วในพระศาสนา อันจะนำออกจากทุกข์ได้เห็นปานฉะนี้ ยังจะเที่ยวคุยโอ่เย้ยหยัน หลอกลวงอยู่ได้
พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนั้นเที่ยวคุยโอ่ ถึงในครั้งก่อนก็เคยเที่ยวคุยโอ่ เย้ยหยัน หลอกลวงมาแล้ว ดังนี้แล้ว
ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ ในนิคมคามตำบลหนึ่ง เจริญวัยแล้วเล่าเรียนไตรเพท อันเป็นที่ตั้งแห่งวิชชา ๑๘ ประการ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา ถึงความสำเร็จศิลปะทุกประการได้นามว่า จูฬธนุคคหบัณฑิต. เขาออกจากตักกสิลานคร เสาะแสวงหาศิลปะในลัทธิสมัยทุกอย่าง ลุถึงมหิสกรัฐ
ก็ในชาดกนี้ มีแนวว่า พระโพธิสัตว์มีร่างกายเตี้ยอยู่หน่อย ท่าทางเหมือนค่อม เขาดำริว่า ถ้าเราจักเฝ้าพระราชาองค์ใดองค์หนึ่ง ท้าวเธอจักกล่าวว่า เจ้ามีร่างกายเตี้ยอย่างนี้ จักทำราชการได้หรือ อย่ากระนั้นเลย เราหาคนที่สมบูรณ์ด้วยความสูง ความล่ำสันรูปงามสักคนหนึ่ง ทำเป็นโล่ห์แล้ว ก็เลี้ยงชีวิตอยู่หลังฉากของคนผู้นั้น คิดแล้วก็เที่ยวเสาะหาชายที่มีรูปร่างอย่างนั้น ไปถึงที่ทอหูกของช่างหูกผู้หนึ่ง ชื่อว่า ภีมเสน ทำปฏิสันถารกับเขา พลางถามว่า สหายเธอชื่อไร? เขาตอบว่า ฉันชื่อภีมเสน.
จูฬ. ก็เธอเป็นผู้มีรูปงามสมประกอบทุกอย่าง อย่างนี้จะกระทำงานเลวๆ ต่ำๆ นี้ทำไม?
ภีมเสน. ฉันไม่อาจอยู่เฉยๆ ได้ (โดยไม่ทำงาน)
จูฬ. สหายเอ๋ย อย่าทำงานนี้เลย ในชมพูทวีปทั้งสิ้น จะหานายขมังธนูที่พอจะทัดเทียมกับฉันไม่มีเลย แต่ถ้าเราเข้าเฝ้าพระราชาองค์ไหน ท้าวเธอน่าจะกริ้วฉันได้ว่า เจ้านี่เตี้ยๆ อย่างนี้ จะทำราชการได้อย่างไรกัน เธอพึงไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นนายขมังธนู ดังนี้ พระราชาจักพระราชทานบำเหน็จให้เธอแล้ว พระราชทานเบี้ยเลี้ยงเนืองๆ ฉันจะคอยทำงานที่เกิดขึ้นแก่เธอ ขออาศัยดำรงชีพอยู่เบื้องหลังเงาของเธอ ด้วยวิธีอย่างนี้ เราทั้งสองคนก็จักเป็นสุข ท่านจงทำตามคำของเรา ภีมเสนตกลงรับคำ.
จูฬธนุคคหบัณฑิตจึงพาเขาไปพระนครพาราณสี กระทำตนเองเป็นผู้ปรนนิบัติ ยกเขาขึ้นหน้า หยุดยืนที่ประตูพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชา ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตว่า พากันมาเถิดแล้ว ทั้งสองคนก็เข้าไป ถวายบังคมพระราชา แล้วยืนอยู่
ครั้นมีพระราชดำรัสว่า เจ้าทั้งสองพากันมาทำไม ภีมเสนจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นนายขมังธนู ทั่วพื้นชมพูทวีป จะหานายขมังธนูที่ทัดเทียมกับข้าพระองค์ ไม่มีเลย. รับสั่งถามว่า ดูก่อนพนาย เจ้าได้อะไรถึงจักบำรุงเรา? กราบทูลว่า เมื่อได้พระราชทรัพย์พันกระษาปณ์ ทุกๆ กึ่งเดือน จึงจะขอเข้ารับราชการ พระเจ้าข้า. รับสั่งถามว่า ก็บุรุษนี้เล่าเป็นอะไรของเจ้า? กราบทูลว่า เป็นผู้ปรนนิบัติ พระเจ้าข้า. รับสั่งว่า ดีละ จงบำรุงเราเถิด.
จำเดิมแต่นั้น ภีมเสนก็เข้ารับราชการ แต่ราชกิจที่เกิดขึ้นแล้ว พระโพธิสัตว์จัดทำแต่ผู้เดียว.
ก็โดยสมัยนั้น ที่แคว้นกาสี ณ ป่าแห่งหนึ่ง มีเสือร้ายสกัดทางสัญจรของพวกมนุษย์ จับเอาพวกมนุษย์ไปกินเสียเป็นอันมาก ชาวเมืองพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้ภีมเสนเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า พ่อคุณ พ่ออาจจักจับเสือตัวนี้ได้ไหม? ภีมเสนกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ไม่อาจจับเสือได้ จะได้ชื่อว่า นายขมังธนูได้อย่างไร? พระราชาพระราชทานรางวัลแก่เขาแล้วทรงส่งไป เขาไปถึงเรือนบอกแก่พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดีแล้ว เพื่อนไปเถิด. ภีมเสนถามว่า ก็ท่านเล่าไม่ไปหรือ? พระโพธิสัตว์ตอบว่า ฉันไม่ไปดอก แต่จักบอกอุบายให้. ภีมเสนกล่าวว่า จงบอกเถิดเพื่อน.
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านอย่ารีบไปที่อยู่ของเสือ ลำพังผู้เดียวเป็นอันขาด แต่ต้องประชุมชาวชนบท เกณฑ์ให้ถือธนูไปสักพันหรือสองพัน แล้วไปที่เสืออยู่นั้น พอรู้ว่า เสือมันลุกขึ้น ต้องรีบหนีเข้าพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง นอนหมอบ ส่วนพวกชนบทจะพากันรุมตีเสือจนจับได้ ครั้นพวกนั้นจับเสือได้แล้ว ท่านต้องเอาฟันกัดเถาวัลย์เส้นหนึ่ง จับปลายเดินไปที่นั้น ถึงที่ใกล้ๆ เสือตายแล้ว พึงกล่าวว่า พ่อคุณเอ๋ย ใครทำให้เสือตัวนี้ตายเสียเล่า เราคิดว่า จักผูกเสือด้วยเถาวัลย์ เหมือนเขาผูกวัวจูงไปสู่ราชสำนักให้จงได้ เข้าไปสู่พุ่มไม้เพื่อหาเถาวัลย์ เมื่อเรายังไม่ทันได้นำเถาวัลย์มา ใครฆ่าเสือตัวนี้ให้ตายเสียเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวชนบทเหล่านั้นต้องสะดุ้งกลัว กล่าวว่า เจ้านายขอรับ โปรดอย่ากราบทูลพระราชาเลย จักพากันให้ทรัพย์มาก เสือก็จักเป็นอันแกคนเดียวจับได้ ทั้งยังจักได้ทรัพย์เป็นอันมากจากสำนักพระราชาอีกด้วย
ภีมเสนรับคำว่า ดีจริงๆ แล้วไปจับเสือ ตามแนวที่พระโพธิสัตว์แนะให้นั่นแหละ ทำป่าให้ปลอดภัยแล้ว มีมหาชนห้อมล้อมมาสู่พระนครพาราณสี เข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์จับเสือได้แล้ว ทำป่าให้ปลอดภัยแล้ว.
พระราชาทรงยินดี พระราชทานทรัพย์ให้มากมาย.
ครั้นต่อมาในวันรุ่งขึ้น พวกชาวเมืองพากันมากราบทูลว่า กระบือดุ สกัดทางแห่งหนึ่ง พระราชาก็ส่งภีมเสนไป โดยทำนองเดียวกัน เขาก็จับกระบือแม้นั้นมาได้ ด้วยคำแนะนำที่พระโพธิสัตว์บอกให้ เหมือนกับตอนจับเสือฉะนั้น. พระราชาก็ได้พระราชทานทรัพย์ให้เป็นอันมากอีก. เกิดมีอิสสริยยศใหญ่ยิ่ง เขาเริ่มมัวเมาด้วยความมัวเมาในความใหญ่โต กระทำการดูหมิ่นพระโพธิสัตว์ มิได้เชื่อถือถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ กล่าวคำหยาบคายสามหาว เป็นต้นว่า เราไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพดอก ท่านคนเดียวเท่านั้นหรือที่เป็นลูกผู้ชาย.
ครั้นอยู่ต่อมาไม่กี่วัน พระราชาประเทศใกล้เคียงพระองค์หนึ่ง ยกทัพมาล้อมประชิดพระนครพาราณสีไว้ พลางส่งพระราชสาสน์ถวายพระราชาว่า พระองค์จักยอมถวายราชสมบัติแก่หม่อมฉัน หรือว่าจักรบ. พระราชาทรงส่งภีมเสนออกไปว่า เจ้าจงออกรบ เขาสอดสวมเครื่องรบครบครัน ครองเพศเป็นพระราชา นั่งเหนือหลังช้างอันผูกเครื่องเรียบร้อย. แม้พระโพธิสัตว์ก็สอดสวมเครื่องรบพร้อมสรรพ นั่งกำกับมาท้ายที่นั่งของภีมเสนนั่นเอง เพราะกลัวเขาจะตาย.
พญาช้างห้อมล้อมด้วยมหาชน เคลื่อนขบวนออกโดยประตูพระนครลุถึงสนามรบ ภีมเสน พอได้ฟังเสียงกลองรบเท่านั้น ก็เริ่มสั่นสะท้าน พระโพธิสัตว์คิดว่า น่ากลัวภีมเสนจักตกหลังช้างตายเสียในบัดดล จึงเอาเชือกรัดภีมเสนเข้าไว้แน่น เพื่อไม่ให้ตกช้าง
ภีมเสน ครั้นเห็นสนามรบแล้วยิ่งกลัวตายเป็นกำลัง ถึงกับอุจจาระปัสสาวะราดรดหลังช้าง พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ภีมเสนเอย การกระทำในตอนหลัง ช่างไม่สมกับคำพูดครั้งก่อนๆ ของท่านเสียเลย ครั้งก่อนดูท่านใหญ่โต ราวกับผู้เจนสงคราม เดี๋ยวนี้สิ ประทุษร้ายหลังช้างเสียแล้ว
กล่าวคาถานี้ ใจความว่า :-
"ภีมเสนเอย ที่ท่านคุยโอ่ไว้แต่ก่อน แล้วภายหลัง กลับปล่อยอุจจาระไหลออกมา คำคุยถึงการรบ กับความกระสับกระส่ายของท่าน ดูช่างไม่สมกันเลย"
ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยนฺเต ปวิกตฺถิตํ ปุเร ความว่า คำใดคือคำที่ท่านโอ้อวดกล่าวคำข่มไว้แต่ก่อนว่า แกคนเดียวหรือที่เป็นลูกผู้ชาย ข้าไม่ใช่ลูกผู้ชายหรือ แม้ถึงข้าก็เป็นทหารชำนาญศึก ดังนี้ นี้เป็นคำก่อนหนึ่งละ.
บทว่า อถ เต ปูติสรา สชํ ความว่า ครั้นภายหลัง กระแสมูตรและคูถอันได้นามว่ากระแสเน่า เพราะมันเป็นของเน่าด้วย เป็นของไหลได้ด้วย เหล่านี้นั้นไหลเลอะเทอะออกมา.
บทว่า ปจฺฉา ได้แก่ ในเวลาต่อมาจากที่คุยอวดไว้ก่อนนั้น อธิบายว่า ในบัดนี้ คือที่ สนามรบนี้.
บทว่า อุภยํ น สเมติ ภีมเสน ความว่า ดูก่อนภีมเสน คำทั้งสองนี้ ดูช่างไม่สมกันเลย.
คำไหนบ้าง?
คือคำที่คุยโอ่ถึงการรบ กับความกระสับกระส่ายของท่านนี้ มีอธิบายว่า ได้แก่คำที่กล่าวถึงการรบที่พูดไว้ครั้งก่อน กับความกระสับกระส่าย ความลำบาก คือความคับแค้น ถึงกับปล่อยคูถและมูตรราดรดหลังช้าง ไม่สมกันเลย.

พระโพธิสัตว์ตำหนิเขาอย่างนี้แล้ว ปลอบว่า อย่ากลัวเลย เพื่อนเอ๋ย เมื่อเรายังอยู่ จะเดือดร้อนไปใย ดังนี้แล้ว ให้ภีมเสนลงเสียจากหลังช้าง กล่าวว่า จงไปอาบน้ำเถิด ส่งกลับไป ดำริว่า วันนี้เราควรแสดงตน แล้วไสช้างเข้าสู่สนามรบ บรรลือสีหนาท โจมตีกองพลแตก ให้ล้อมจับเป็นพระราชาผู้เป็นศัตรูไว้ได้ แล้วไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี พระราชาทรงยินดี พระราชทานยศใหญ่แก่พระโพธิสัตว์.
จำเดิมแต่นั้นมา นามว่า จูฬธนุคคหบัณฑิต ก็กระฉ่อนไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น
พระโพธิสัตว์ได้ให้บำเหน็จแก่ภีมเสน แล้วส่งกลับถิ่นฐานเดิม กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วก็ไปตามยถากรรม.

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้คุยโอ้อวด แม้ในกาลก่อนก็ได้คุยโอ้อวดแล้วเหมือนกัน.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
ภีมเสนในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุผู้มักโอ้อวด
ส่วนจูฬธนุคคหบัณฑิตได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาภีมเสนชาดกที่ ๑๐
จบ วรุณวรรคที่ ๘.
-----------------------------------------------------

รวมชาดกที่มีวรรคนี้ คือ
๑. วรุณชาดก ว่าด้วย การทำไม่ถูกขั้นตอน
๒. สีลวนาคชาดก ว่าด้วย คนอกตัญญูมองคนในแง่ร้าย
๓. สัจจังกิรชาดก ว่าด้วย ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู
๔. รุกขธรรมชาดก ว่าด้วย ต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม
๕. มัจฉชาดก ว่าด้วย ปลาขอฝน
๖. อสังกิยชาดก ว่าด้วย เมตตากรุณาทำให้ปลอดภัย
๗. มหาสุบินชาดก ว่าด้วย มหาสุบิน
๘. อิลลีสชาดก ว่าด้วย คนมีรูปร่างเหมือนกัน
๙. ขรัสสรชาดก ว่าด้วย บุตรที่มารดาละทิ้ง
๑๐. ภีมเสนชาดก ว่าด้วย คำแรกกับคำหลังไม่สมกัน
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา ภีมเสนชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270079อรรถกถาชาดก 270080
เล่มที่ 27 ข้อ 80อ่านชาดก 270081อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=520&Z=534
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]