ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270558อรรถกถาชาดก 270562
เล่มที่ 27 ข้อ 562อ่านชาดก 270566อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สสปัณฑิตชาดก
ว่าด้วย ผู้สละชีวิตเป็นทาน

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการถวายบริขารทุกอย่าง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สตฺต เม โรหิตา มจฺฉา ดังนี้.
ได้ยินว่า ในนครสาวัตถี มีกฎุมพีคนหนึ่งตระเตรียมการถวายบริขารทุกอย่างแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้สร้างมณฑปที่ประตูเรือนแล้วนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้นั่งบนบวรอาสน์ในมณฑปที่ได้จัดแจงไว้ดีแล้ว ถวายทานอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แล้วนิมนต์ฉันอีกตลอด ๗ วัน.
ในวันที่ ๗ ได้ถวายบริขารทั้งปวงแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดา เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก ควรที่ท่านจะกระทำปีติโสมนัส ก็ชื่อว่า ทานนี้เป็นวงศ์ของโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ด้วยว่าโบราณกบัณฑิตทั้งหลายได้บริจาคชีวิตแก่เหล่ายาจกผู้มาถึงเฉพาะหน้าแม้ชีวิตของตนก็ได้ให้แล้ว.
อันอุบาสกนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกระต่ายอยู่ในป่า ก็ป่านั้นได้มีเชิงเขา แม่น้ำและปัจจันตคาม มารวมกันแห่งเดียว.
สัตว์แม้อื่นอีก ๓ ตัวคือ ลิง สุนัขจิ้งจอกและนากได้เป็นสหายของกระต่ายนั้น. สัตว์แม้ทั้ง ๔ นั้นเป็นบัณฑิตอยู่รวมกัน ถือเอาเหยื่อในที่เป็นที่โคจรของตนๆ แล้วมาประชุมกันในเวลาเย็น สสบัณฑิตแสดงธรรมโดยการโอวาทแก่สัตว์ทั้ง ๓ ว่า พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถกรรม.
สัตว์ทั้ง ๓ นั้นรับโอวาทของสสบัณฑิตนั้น แล้วเข้าไปยังพุ่มไม้ อันเป็นที่อยู่อาศัยของตนๆ อยู่.
เมื่อกาลล่วงไปอยู่อย่างนี้ วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์มองดูอากาศเห็นดวงจันทร์ รู้ว่าพรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ จึงกล่าวกะสัตว์ทั้ง ๓ นอกนี้ว่า พรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ แม้ท่านทั้ง ๓ จงสมาทานศีล รักษาอุโบสถ ทานที่ผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ ย่อมมีผลมาก เพราะฉะนั้น เมื่อยาจกมาถึงเข้า ท่านทั้งหลายพึงให้รสอาหารที่ควรกิน แล้วจึงค่อยกิน.
สัตว์ทั้ง ๓ นั้นรับคำแล้วพากันอยู่ในที่เป็นที่อยู่ของตนๆ.
วันรุ่งขึ้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น นากคิดว่าเราจักแสวงหาเหยื่อแต่เช้าตรู่ จึงไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา.
ครั้งนั้น พรานเบ็ดคนหนึ่งตกปลาตะเพียนได้ ๗ ตัว จึงเอาเถาวัลย์ร้อยคุ้ยทรายที่ฝั่งแม่น้ำคงคา เอาทรายกลบไว้ เมื่อจะจับปลาอีกจึงไปยังด้านใต้แม่น้ำคงคา.
นากสูดได้กลิ่นปลา จึงคุ้ยทราย เห็นปลาจึงนำออกมา คิดว่าเจ้าของปลาเหล่านี้มีไหมหนอ จึงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง เมื่อไม่เห็นเจ้าของ จึงคาบปลายเถาวัลย์นำไปเก็บไว้ในพุ่มไม้ อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่า เราจักกินเมื่อถึงเวลา จึงนอนนึกถึงศีลของตนอยู่.
ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกออกเที่ยวแสวงหาเหยื่อได้เห็นเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว และหม้อนมส้ม ๑ หม้อ ในกระท่อมของคนเฝ้านาคนหนึ่ง คิดว่า เจ้าของของสิ่งนี้มีอยู่หรือไม่หนอ จึงร้องประกาศขึ้น ๓ ครั้ง ไม่เห็นเจ้าของ จึงสอดเชือกสำหรับหิ้วหม้อนมส้มไว้ที่คอ เอาปากคาบเนื้อย่างและเหี้ย นำไปเก็บไว้ในพุ่มไม้เป็นที่นอนของตน คิดว่า จักกินเมื่อถึงเวลา จึงนอนนึกถึงศีลของตนอยู่.
ฝ่ายลิงเข้าไปยังไพรสณฑ์ นำพวงมะม่วงมาเก็บไว้ในพุ่มไม้เป็นที่อยู่ของตน คิดว่า จักกินเมื่อถึงเวลา จึงนอนนึกถึงศีลของตน.
ส่วนพระโพธิสัตว์คิดว่า พอถึงเวลาจักออกไปกินหญ้าแพรก จึงนอนอยู่ในพุ่มไม้เป็นที่อยู่ของตนนั่นแหละ คิดอยู่ว่า เราไม่อาจให้หญ้าแก่พวกยาจกผู้มายังสำนักของเรา แม้งาและข้าวสารเป็นต้นของเรา ก็ไม่มี ถ้ายาจกจักมายังสำนักของเราไซร้ เราจักให้เนื้อในร่างกายของเรา.
ด้วยเดชแห่งศีลของพระโพธิสัตว์นั้น ภพของท้าวสักกะได้แสดงอาการเร่าร้อน.
ได้ยินมาว่า ภพนั้นเป็นภพร้อน เพราะท้าวสักกะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ หรือเมื่อสัตว์อื่นผู้มีอานุภาพมากปรารถนาสถานที่นั้น หรือด้วยเดชแห่งศีลของสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
ในกาลนั้น ภพของท้าวสักกะได้เร่าร้อนเพราะเดชแห่งศีล ท้าวสักกะนั้นทรงรำพึงอยู่ ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงดำริว่า เราจักทดลองพระยากระต่ายดู จึงครั้งแรก เสด็จไปยังที่อยู่ของนาก ได้แปลงเพศเป็นพราหมณ์ยืนอยู่.
เมื่อนากกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านมาเพื่อต้องการอะไร?
จึงตรัสว่า ท่านบัณฑิต ถ้าข้าพเจ้าพึงได้อาหารบางอย่าง จะเป็นผู้รักษาอุโบสถ กระทำสมณธรรม.
นากนั้นกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักให้อาหารแก่ท่าน.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ปลาตะเพียนของเรามีอยู่ ๗ ตัวซึ่งนายพรานเบ็ดตกขึ้นจากน้ำ เก็บไว้บนบก
ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีสิ่งนี้อยู่ ท่านจงบริโภคสิ่งนี้ แล้วอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถลมุพฺภตา ความว่า แม้อันนายพรานเบ็ดตกขึ้นจากน้ำเก็บไว้บนบก.
บทว่า เอตํ ภุตฺวา ความว่า ท่านจงปิ้งมัจฉาหาร อันเป็นของเรานี้ บริโภคนั่งที่โคนไม้อันรื่นรมย์ กระทำสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด.

พราหมณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จงยกไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจักรู้ภายหลัง แล้วไปยังสำนักของสุนัขจิ้งจอก. แม้เมื่อสุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า ท่านยืนอยู่ เพื่อต้องการอะไร? ก็ได้กล่าวเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักให้.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

อาหารของคนรักษานาคนโน้น ข้าพเจ้านำเอามาไว้ในตอนกลางคืน
คือเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว นมส้ม ๑ หม้อ.
ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารสิ่งนี้อยู่
ท่านจงบริโภคอาหารสิ่งนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุสฺส เม ความว่า คนผู้รักษานาซึ่งอยู่ในที่ไม่ไกลเรานั่น คือโน้น.
บทว่า อปาภตํ ได้แก่ อาภตํ แปลว่า นำมาแล้ว.
บทว่า มํสสูลา จ เทฺว โคธา ความว่า เนื้อย่าง ๒ ไม้ที่สุกบนถ่านไฟ และเหี้ย ๑ ตัว.
บทว่า ทธิวารกํ ได้แก่ หม้อนมส้ม.
บทว่า อิทํ เป็นต้นไปมีความว่า เรามีสิ่งนี้ คือมีประมาณเท่านี้ ท่านจงปิ้งสิ่งนี้แม้ทั้งหมด โดยการให้สุกตามความชอบใจแล้วบริโภค เป็นผู้สมาทานอุโบสถ นั่งที่โคนไม้อันน่ารื่นรมย์ กระทำสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด.

พราหมณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จงยกไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจักรู้ภายหลัง แล้วไปยังสำนักของลิง แม้เมื่อลิงนั้นกล่าวว่า ท่านยืนอยู่ เพื่อต้องการอะไร? จึงกล่าวเหมือนอย่างนั้น นั่นแหละ.
ลิงกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักให้.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ผลมะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาอันเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ. ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺพปกฺกํ ได้แก่ ผลมะม่วงสุกอันอร่อย.
บทว่า อุทกํ สีตํ ได้แก่ น้ำในแม่น้ำคงคาเย็น.
บทว่า เอตํ ภุตฺวา ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงบริโภคผลมะม่วงนี้ แล้วดื่มน้ำเย็น นั่งที่โคนไม้ อันรื่นรมย์ตามชอบใจ แล้วกระทำสมณธรรมอยู่ในชัฏป่านี้เถิด.

พราหมณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จงยกไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจักรู้ในภายหลัง แล้วไปยังสำนักของสสบัณฑิต แม้เมื่อสสบัณฑิตนั้นกล่าวว่า ท่านมาเพื่ออะไร? ก็กล่าวเหมือนอย่างนั้น นั่นแหละ.
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นก็มีความชื่นชมโสมนัส กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมายังสำนักของเรา เพื่อต้องการอาหาร ได้ทำดีแล้ว วันนี้ ข้าพเจ้าจักให้ทานที่ยังไม่เคยให้ ก็ท่านเป็นผู้มีศีล จักไม่ทำปาณาติบาต ท่านจงไปรวมไม้ฟืนนานาชนิด มาก่อถ่านไฟ แล้วจงบอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักเสียสละตน โดดลงในกลางถ่านไฟ เมื่อร่างกายของข้าพเจ้าสุกแล้ว ท่านพึงกินเนื้อ แล้วกระทำสมณธรรม.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

กระต่ายไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร ท่านจงบริโภคเรา ผู้สุกด้วยไฟนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มมํ ภุตฺวา ความว่า ท่านจงบริโภคเราผู้สุกด้วยไฟที่เราบอกให้ท่านก่อขึ้นนี้ แล้วจงอยู่ในป่านี้. ธรรมดาว่า ร่างกายของกระต่ายตัวหนึ่ง ย่อมจะพอยังชีพของบุรุษคนหนึ่ง ให้เป็นไปได้.

ท้าวสักกะได้ทรงสดับถ้อยคำของสสบัณฑิตนั้นแล้วจึงเนรมิตกองถ่านเพลิงกองหนึ่ง ด้วยอานุภาพของตน แล้วบอกแก่พระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์นั้นลุกขึ้นจากที่นอนหญ้าแพรกของตน แล้วไปที่กองถ่านเพลิงนั้น คิดว่า ถ้าสัตว์เล็กๆ ในระหว่างขนของเรามีอยู่ สัตว์เหล่านั้นอย่าตายด้วยเลย แล้วสะบัดตัว ๓ ครั้ง บริจาคร่างกายทั้งสิ้น ในทานมุขปากทางของทาน กระโดดโลดเต้นมีใจเบิกบาน กระโดดลงในกองถ่านเพลิง เหมือนพระยาหงส์กระโดดลงในกอปทุม ฉะนั้น. แต่ไฟนั้นไม่อาจทำความร้อน แม้สักเท่าขุมขนในร่างกายของพระโพธิสัตว์ ได้เป็นเสมือนเข้าไปในห้องหิมะ ฉะนั้น.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เรียกท้าวสักกะมา กล่าวว่า พราหมณ์ ไฟที่ท่านก่อไว้เย็นยิ่งนัก ไม่อาจทำความร้อน แม้สักเท่าขุมขนในร่างกายของข้าพเจ้า นี่อะไรกัน.
ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านบัณฑิต เรามิใช่พราหมณ์ เราเป็นท้าวสักกะ มาเพื่อจะทดลองท่าน.
พระโพธิสัตว์จึงบรรลือสีหนาทว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ พระองค์จงหยุดพักไว้ก่อนเถิด หากโลกสันนิวาสทั้งสิ้นจะพึงทดลองข้าพระองค์ด้วยทานไซร้ จะไม่พึงเห็นความที่ข้าพระองค์ไม่เป็นผู้ประสงค์จะให้ทานเลย.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสกะพระโพธิสัตว์นั้นว่า ดูก่อนสสบัณฑิต คุณของท่านจงปรากฎอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นเถิด. แล้วทรงบีบบรรพต ถือเอาอาการเหลวของบรรพต เขียนลักษณะของกระต่ายไว้ในดวงจันทร์ แล้วนำพระโพธิสัตว์มาให้นอนบนหลังหญ้าแพรกอ่อน ในพุ่มไม้ป่านั้นนั่นแหละ ในไพรสณฑ์นั้น แล้วเสด็จไปยังเทวโลกของพระองค์ทีเดียว.
บัณฑิตทั้ง ๔ แม้นั้นพร้อมเพรียงบันเทิงอยู่ พากันบำเพ็ญศีล รักษาอุโบสถกรรม แล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ ประชุมชาดก.
ในเวลาจบสัจจะ คฤหบดีผู้ถวายบริขารทุกอย่าง ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
นากในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์
สุนัขจิ้งจอกได้เป็น พระโมคคัลลานะ
ลิงได้เป็น พระสารีบุตร
ท้าวสักกะได้เป็น พระอนุรุทธะ
ส่วนสสบัณฑิตได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสสบัณฑิตชาดกที่ ๖

.. อรรถกถา สสปัณฑิตชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270558อรรถกถาชาดก 270562
เล่มที่ 27 ข้อ 562อ่านชาดก 270566อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=2825&Z=2838
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๕  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]