อรรถกถา ลฏุกิกชาดกว่าด้วย คติของคนมีเวร
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วนฺทามิ ตํ กุญฺชรํ สฏฺฐิหายํ ดังนี้ :-
ได้ยินว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตเป็นคนกักขฬะหยาบช้าสาหัส พระเทวทัตนั้นไม่มีแม้แต่ความกรุณาในหมู่สัตว์.
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตนี้ก็เป็นผู้ไม่มีความกรุณาเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้าง เจริญวัยแล้ว มีร่างกายใหญ่น่าเลื่อมใส เป็นจ่าโขลงมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่ในหิมวันตประเทศ.
ครั้งนั้น นางนกไส้ตัวหนึ่งตกฟองไว้ในที่เป็นที่เที่ยวไปของพวกช้าง. ลูกนกทั้งหลายทำลายฟองไข่ที่แก่ๆ ออกมา
เมื่อลูกนกเหล่านั้น ปีกยังไม่งอกไม่สามารถจะบินได้เลย พระมหาสัตว์อันช้างแปดหมื่นห้อมล้อม เที่ยวหาอาหารไปถึงประเทศถิ่นนั้น.
นางนกไส้เห็นดังนั้น จึงคิดว่า พระยาช้างนี้จักเหยียบย่ำลูกทั้งหลายของเราตาย เอาเถอะ เราจักขอการอารักขาอันประกอบด้วยธรรมกะพระยาช้างนั้น เพื่อจะป้องกันลูกน้อยทั้งหลายของเรา.
ครั้นคิดแล้ว นางนกนั้นจึงประคองปีกทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน แล้วยืนอยู่ข้างหน้าพระยาช้างนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ข้าพเจ้าขอไหว้พระยาช้างผู้มีกำลังเสื่อมโดยกาลที่มีอายุได้ ๖๐ ปี ผู้อยู่ในป่าเป็นเจ้าโขลง เพรียบพร้อมด้วยบริวารยศนั้น
ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยๆ ของข้าพเจ้าผู้ยังมีกำลังทุรพลอยู่เลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฏฺฐิหายนํ ได้แก่ ผู้มีกำลังกายเสื่อมโดยเวลามีอายุ ๖๐ ปี.
บทว่า ยสสฺสึ ได้แก่ ผู้เพรียบพร้อมด้วยบริวาร.
บทว่า ปกฺเขหิ ตํ อญฺชลิกํ ความว่า ข้าพเจ้าขอกระทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง.
พระมหาสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนนางนกไส้ เจ้าอย่าได้คิดเสียใจเลย เราจักรักษาบุตรน้อยๆ ของเจ้า แล้วจึงยืนคร่อมอยู่เบื้องบนลูกนกทั้งหลาย
เมื่อช้างแปดหมื่นเชือกผ่านไปแล้วจึงเรียกนางนกไส้มาพูดว่า ดูก่อนนางนกไส้ มีช้างเชือกหนึ่งซึ่งมีปกติเที่ยวไปผู้เดียว จะมาข้างหลังพวกเรา
ช้างนั้นจักไม่กระทำตามคำของเราทั้งหลาย เมื่อช้างนั้นมาถึง เจ้าพึงอ้อนวอนช้างแม้นั้น กระทำความปลอดภัยแก่ลูกน้อยทั้งหลาย ดังนี้แล้วหลีกไป.
ฝ่ายนางนกไส้นั้นก็กระทำการต้อนรับช้างนั้น เอาปีกทั้งสองกระทำอัญชลี
แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ข้าพเจ้าขอไหว้พระยาช้างผู้เที่ยวไปผู้เดียว ผู้อยู่ในป่า เที่ยวหาอาหารกินตามเชิงเขา ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยๆ ของข้าพเจ้า ซึ่งยังมีกำลังทุรพลอยู่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพตสานุโคจรํ ความว่า ผู้หาอาหารที่ภูเขาหินทึบและที่ภูเขาดินร่วน.
พระยาช้างนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
แน่ะนางนกไส้ เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้าเสีย เจ้ามีกำลังน้อยจักทำอะไรเราได้ เราจะขยี้นกไส้อย่างเจ้าตั้งแสนตัวให้ละเอียดด้วยเท้าข้างซ้าย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วธิสฺสามิ เต ความว่า พระยาช้างกล่าวว่า เพราะเหตุไร เจ้าจึงวางลูกน้อยทั้งหลายไว้ในทางเป็นที่เที่ยวไปของเรา เพราะเหตุที่เจ้าวางไว้ ฉะนั้น เราจึงจักฆ่าลูกน้อยทั้งหลายของเจ้า.
บทว่า กึ เม ตุวํ กาหสิ ความว่า เจ้าเป็นผู้ทุรพลจักกระทำอะไรแก่เราผู้มีเรี่ยวแรงมากมาย.
บทว่า โปถเปยฺยํ๑ ความว่า แม้เราจะพึงทำนางนกไส้เช่นเจ้าตั้งแสนตัวให้แหลกละเอียดด้วยเท้าซ้าย ก็จะป่วยกล่าวไปใยถึงเท้าขวา.
____________________________
๑. บาลีเป็น โปถเยยฺยํ.
ก็แล ครั้นช้างนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ทำลูกน้อยของนางนกไส้นั้นให้แหลกละเอียดด้วยเท้า แล้วทำให้ลอยไปด้วยน้ำมูตร ร้องบันลือเสียงแล้วก็หลีกไป.
นางนกไส้จับอยู่ที่กิ่งไม้จึงกล่าวว่า แน่ะช้าง บัดนี้ เจ้าจงบันลือไปก่อน ต่อล่วงไป ๒-๓ วัน
เจ้าจักเห็นการกระทำของเรา เจ้าย่อมไม่รู้ว่ากำลังความรู้ยิ่งใหญ่กว่ากำลังกาย ข้อนั้นจงยกให้เรา เราจักให้เจ้ารู้กำลังความรู้นั้น
เมื่อจะคุกคามช้างนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
กิจที่จะพึงทำด้วยกำลังกายย่อมสำเร็จไม่ได้ในที่ทั้งปวง เพราะกำลังกายของคนพาล ย่อมมีเพื่อฆ่าคนอื่น
แน่ะพระยาช้าง ท่านผู้ใดฆ่าลูกน้อยๆ ของเราผู้มีกำลังทุรพล เราจักทำสิ่งที่ไม่ใช่ความเจริญให้แก่ท่านผู้นั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พเลน ได้แก่ กำลังกาย.
บทว่า อนตฺถํ ได้แก่ ความไม่เจริญ.
บทว่า โย เม ความว่า ท่านผู้ใดฆ่า คือพิฆาตลูกน้อยๆ ผู้ยังทุรพลของเรา.
นางนกไส้นั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงอุปัฏฐากกาตัวหนึ่งอยู่ ๒-๓ วัน อันกานั้นยินดีแล้วจึงกล่าวว่า เราจะกระทำอะไรให้แก่ท่าน
จึงกล่าวว่า นาย กิจอย่างอื่นที่ท่านจะพึงทำแก่ข้าพเจ้าไม่มี แต่ข้าพเจ้าหวังให้ ท่านเอาจะงอยปากประหารนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียวเชือกหนึ่งให้แตก.
นางนกไส้นั้นอันกานั้นรับคำว่า ได้ จึงไปอุปัฏฐากแมลงวันหัวเขียวตัวหนึ่ง อันแมลงวันหัวเขียวแม้นั้นก็กล่าวว่า เราจะทำอะไรให้แก่ท่าน จึงกล่าวว่า
เมื่อนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียว แตกไปเพราะเหตุนี้แล้ว ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านหยอดไข่ขังลงในนัยน์ตาทั้งสองข้างนั้น
เมื่อแมลงวันหัวเขียวแม้นั้นกล่าวว่า ได้ จึงไปอุปัฏฐากกบตัวหนึ่ง อันกบนั้นกล่าวว่า เราจะทำอะไรให้แก่ท่าน จึงกล่าวว่า
ในกาลใด ช้างตัวหนึ่งที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียว เป็นช้างตาบอดแล้วเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ในกาลนั้น ท่านพึงเกาะอยู่ที่ยอดเขาแล้วส่งเสียงร้อง
เมื่อช้างนั้นขึ้นถึงยอดเขา พึงลงมาส่งเสียงร้องอยู่ที่เหว ข้าพเจ้าหวังการกระทำมีประมาณเท่านี้จากสำนักของท่าน. กบนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงรับคำว่า ได้.
อยู่มาวันหนึ่ง กาเอาจะงอยปากทำลายตาทั้งสองข้างของช้างแตกแล้ว. แมลงวันจึงหยอดไข่ขังลงไปที่นัยน์ตา.
ช้างนั้นถูกตัวหนอนทั้งหลายชอนไชอยู่ ได้รับทุกขเวทนา อยากจะดื่มน้ำเป็นกำลัง จึงเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม.
ในกาลนั้น กบจึงเกาะอยู่บนยอดเขาส่งเสียงร้อง ช้างคิดว่า น้ำดื่มจักมี ณ ที่นี้ จึงขึ้นไปยังภูเขา
ลำดับนั้น กบจึงลงมาเกาะอยู่ที่เหวส่งเสียงร้อง ช้างคิดว่า น้ำดื่มจักมี จึงบ่ายหน้าไปทางเหว ได้ลื่นพลัดตกลงไปที่เชิงเขา ถึงสิ้นชีวิต.
นางนกไส้รู้ว่าช้างนั้นตายแล้ว จึงร่าเริงดีใจว่า เราเห็นหลังปัจจามิตรแล้ว จึงเดินไปๆ มาๆ บนร่างของช้างนั้น แล้วก็ตามยถากรรม.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเวร ไม่ควรทำกับใครๆ สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ร่วมกันแล้ว ทำช้างผู้ถึงพร้อมด้วยกำลังให้ถึงสิ้นชีวิตได้
แล้วตรัสอภิสัมพุทธคาถานี้ว่า :-
ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ได้ร่วมใจกันฆ่าช้างเสียได้ ท่านทั้งหลายจงเห็นคติแห่งเวรของคนผู้มีเวรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายอย่าพึงกระทำเวรกับใครๆ แม้ผู้ไม่เป็นที่รักใคร่เลย.
ครั้นตรัสแล้ว จึงทรงประชุมชาดก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺส นี้ เป็นคำเรียกซึ่งไม่กำหนดแน่นอนลงไป. แต่เพราะตรัสหมายเอาภิกษุทั้งหลาย จึงเป็นอันตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเห็น.
บทว่า เอเต ได้แก่ สัตว์ทั้ง ๔ ได้รวมกัน.
บทว่า อฆาเตสุํ ได้แก่ ฆ่าช้างนั้น.
บทว่า ปสฺส เวรสฺส เวรินํ ความว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นคติแห่งเวรของคนที่มีเวรกัน.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
ช้างตัวที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียวในกาลนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
ส่วนช้างจ่าโขลงในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาลฏุกิกชาดกที่ ๗ -----------------------------------------------------.. อรรถกถา ลฏุกิกชาดก จบ.
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=3472&Z=3491 - -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
|