ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271601อรรถกถาชาดก 271613
เล่มที่ 27 ข้อ 1613อ่านชาดก 271625อ่านชาดก 272519
อรรถกถา ภัททสาลชาดก
ว่าด้วย การบำเพ็ญประโยชน์แก่ญาติ

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า กา ตฺวํ สุทฺเธหิ วตฺเถหิ ดังนี้.
เรื่องพิสดารมีว่า การฉันเป็นประจำของภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นไปอยู่ในนิเวศน์ของท่านอนาถปิณฑิกะ ณ พระนครสาวัตถี โดยทำนองนั้น ในนิเวศน์ของนางวิสาขา และในพระราชวังของพระเจ้าโกศล. ก็ในพระราชนิเวศน์นั้น เจ้าหน้าที่ย่อมถวายโภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ โดยแท้ ถึงอย่างนั้น ใครๆ ที่เป็นผู้คุ้นเคยกันของภิกษุไม่มีอยู่เลย เหตุนั้น พวกภิกษุจึงไม่ค่อยฉันในพระราชนิเวศน์ ภิกษุเหล่านั้นรับภัตพากันไปสู่เรือนของท่านอนาถปิณฑิกะ หรือนางวิสาขา หรือมิฉะนั้น ก็เรือนของคนที่คุ้นเคยกันอื่นๆ แล้วจึงฉัน.
วันหนึ่ง พระราชาทรงส่งบรรณาการที่คนนำมาไปสู่โรงฉันว่า พวกเจ้าจงถวายแก่พวกภิกษุ. ครั้นราชบุรุษกราบทูลว่า ในโรงฉันไม่มีภิกษุ ตรัสสั่งถามว่า ท่านไปที่ไหนเสียเล่า ทรงสดับว่า พากันไปนั่งฉันที่เรือนของคนที่คุ้นเคยแห่งตน พระเจ้าข้า. พอเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จ เสด็จไปสำนักพระศาสดา ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าโภชนะ มีอะไรเป็นยอดเยี่ยม.
ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร โภชนะมีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม เพราะแม้มาตรว่า จะเป็นข้าวตังข้าวปลายเกรียน ที่คนคุ้นเคยกันให้ ก็ย่อมมีรสอร่อย.
ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความคุ้นเคยของพระภิกษุจะมีกับคนพวกใดเล่า พระเจ้าข้า.
ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มีได้กับหมู่ญาติ หรือกับสกุลแห่งพระเสขะ มหาบพิตร.
ครั้งนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า เราต้องเชิญธิดาแห่งศากยะนางหนึ่งมาแต่งตั้งเป็นอัครมเหสี ด้วยวิธีนี้ความคุ้นเคยอย่างยอดเยี่ยมฉันญาติของพวกภิกษุกับเรา คงมีเป็นแน่ พระองค์เสด็จลุกจากอาสนะไปพระนิเวศน์ของพระองค์ ทรงส่งทูตไปสู่บุรีกบิลพัสดุ์ ด้วยพระดำรัสว่า ข้าพเจ้าขอร้อง เจ้าศากยะจงให้ธิดาแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการความเป็นญาติกับพวกท่าน.
เจ้าศากยะสดับคำพูดแล้วประชุมปรึกษากันว่า พวกเราอยู่ในถิ่นฐานอันเป็นไปในอาณาของพระเจ้าโกศล ถ้าพวกเราไม่ให้ทาริกา จักมีเวรอย่างใหญ่หลวง ถ้าให้เล่า เชื้อสายของพวกเราก็จะสลาย ควรจะทำอย่างไรดีเล่า.
ครั้งนั้น ท้าวมหานามตรัสกะพวกศากยะนั้นว่า อย่าร้อนใจกันไปเลย ธิดาของฉันชื่อวาสภขัตติยา เกิดในท้องทาสีชื่อนาคบุณฑา อายุได้ ๑๖ ปี มีรูปร่างเฉิดฉาย ถึงความงามเลิศเท่ากับเป็นเผ่ากษัตริย์ ด้วยอำนาจของบิดา พวกเราจะส่งนางไปให้แก่พระเจ้าโกศลนั้นว่า เป็นขัตติยกัญญา.
เจ้าศากยะทั้งหลายต่างรับว่า ดีจริง ได้เรียกพวกทูตมากล่าวว่า เป็นการดีละ พวกข้าพเจ้าจักถวายทาริกา พวกท่านจงรับนางไปบัดนี้ ทีเดียวเถิด. พวกทูตฟังคำนั้นแล้ว คิดกันว่า ธรรมดาว่า ศากยราชเหล่านี้ถือตัวยิ่งนักเพราะอาศัยชาติ พึงกล่าวว่า นางนี้เสมอกับพวกเรา แล้วให้นางที่ไม่เสมอกันก็ได้ พวกเราจักยอมรับแต่ นางที่ร่วมบริโภคกับพวกเหล่านี้เท่านั้น ทูตเหล่านั้นพากันทูลอย่างนี้ว่า เมื่อพวกข้าพระองค์จะรับไป จักขอรับนางที่เสวยร่วมกับพระองค์ไป เจ้าศากยะทั้งหลายจึงให้ที่พักแก่พวกทูต คิดกันว่า จักทำอย่างไรเล่า.
ท้าวมหานามตรัสว่า พวกเธออย่าร้อนใจไปเลย ฉันจักทำอุบายในเวลาที่ฉันกำลังบริโภค พวกเธอจงตกแต่งนางวาสภขัตติยาพามา พอฉันหยิบคำข้าวเพียงคำเดียวเท่านั้น พวกเธอก็ส่งหนังสือให้ดู บอกว่า พระราชาพระองค์โน้นทรงส่งหนังสือ เชิญดูสาส์นนี้ เสียก่อน. พวกนั้นพากันรับคำว่า สาธุ. เมื่อท้าวเธอกำลังเสวย ก็ตกแต่งกุมาริกา. ท้าวมหานามตรัสว่า พวกเธอจงพาธิดาของฉันมาเถิด นางจงบริโภคร่วมกับฉันเถิด.
ครั้งนั้น เจ้าศากยะพากันตกแต่งนาง ทำเป็นชักช้าอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วพามา. นางคิดว่า จักบริโภคร่วมกับพระบิดา จึงหย่อนหัตถ์ลงในถาดเดียวกัน ท้าวมหานามทรงถือปั้นข้าวปั้นหนึ่งร่วมกับนาง แล้วทรงเปิบด้วยพระโอฐ พอทรงเอื้อมพระหัตถ์เพื่อคำที่ ๒ พวกศากยะก็น้อมหนังสือเข้าไป ถวายว่า ขอเดชะ พระราชาทรงพระนามโน้น ทรงส่งหนังสือมา เชิญพระองค์ทรงสดับสาส์นนี้ก่อนเถิด พระเจ้าข้า. ท้าวมหานามตรัสว่า แม่หนู เจ้าจงบริโภคเถิด ทรงวางพระหัตถ์ขวาไว้ในถาดนั้นแล ทรงรับหนังสือด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงทอดพระเนตรหนังสือ เมื่อท้าวเธอกำลังทรงหนังสืออยู่นั้นเอง นางก็เสวยเสร็จ เวลาที่นางบริโภคเสร็จ ท้าวเธอจึงล้างพระหัตถ์บ้วนพระโอฐ.
พวกทูตเหล่านั้นเห็นแล้ว พากันปลงใจว่า นางนั้นเป็นพระธิดาแห่งท้าวมหานามนี้ โดยปราศจากข้อคลางแคลงทีเดียว ต่างไม่สามารถจะรู้ความในนั้นได้เลย ท้าวมหานามทรงส่งพระธิดาไปด้วยบริวารขบวนใหญ่ พวกทูตเหล่านั้นก็พานางสู่นครสาวัตถี ต่างกราบทูลว่า กุมารีนี้สมบูรณ์ด้วยชาติ เป็นธิดาของท้าวมหานาม.
ครั้งนั้น พระราชาทรงสดับเรื่องนั้น ทรงดีพระหฤทัย ให้ตกแต่งพระนครทั้งสิ้น ให้นางสถิตเหนือกองแก้ว ทรงให้อภิเษกสถาปนาในตำแหน่งอัครมเหสี นางได้เป็นที่รักจำเริญของพระราชา. อยู่มาไม่ช้าไม่นาน นางก็ตั้งครรภ์ พระราชาได้ประทานเครื่องบริหารครรภ์ ครบกำหนดทศมาส นางประสูติพระราชบุตร มีผิวพรรณเพียงดังทอง.
ครั้นในวันขนานพระนามของพระกุมารนั้น พระราชาทรงส่งข่าวไปสู่สำนักของพระอัยกาของพระองค์ว่า ธิดาของศากยะราชวาสภขัตติยา ประสูติพระราชบุตร จะทรงขนานนามแก่บุตรนั้นอย่างไร. ก็อำมาตย์ผู้เชิญพระราชสาส์นนั้นไปค่อนข้างจะหูตึง เข้าไปถึงตำหนักนั้นแล้วกราบทูลแด่พระอัยกาของพระราชา ท้าวเธอทรงสดับพระราชสาส์นนั้นแล้ว ตรัสว่า นางวาสภขัตติยา แม้จะยังไม่คลอดพระโอรส ยังครอบงำคนทั้งหมดได้ คราวนี้ละ ก็ต้องเป็นตัวโปรดอย่างล้นเหลือของพระราชา. อำมาตย์หูตึงฟังคำว่า วัลลภา ไม่ชัดเจน กำหนดว่า วิฏฏุภะ. ครั้นเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ ดังข้าพระพุทธเจ้าได้ยินมา ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงขนานนามพระกุมารว่า วิฏฏุภะ เถิดพระเจ้าข้า. พระราชาทรงพระดำริว่า คงเป็นชื่อที่ตระกูลให้ไว้เก่าก่อนของพวกเรา ได้ทรงขนานพระนามพระโอรสนั้นว่า วิฏฏุภะ.
ตั้งแต่นั้น พระกุมารก็จำเริญด้วยกุมารบริหาร ถึงคราวมีอายุได้ ๗ ขวบ เห็นรูปช้าง และรูปม้าเป็นต้น ที่คนนำมาจากตระกูลพระเจ้ายาย ถวายแก่พระกุมารอื่นๆ ก็ถามมารดาว่า แม่ ของบรรณาการจากตระกูลท่านตา คนนำมาให้เด็กอื่นๆ ที่ฉันไม่มีผู้ส่งอะไรมาให้เลย แม่ไม่มีพระมารดาพระบิดาหรือ. ครั้งนั้น นางกล่าวลวงเขาว่า พ่อเอ๋ย บรรดาศากยราชเป็นเจ้าตาเจ้ายายของเธออยู่ไกล. เหตุนั้น ท่านเหล่านั้นจึงไม่ส่งอะไรๆ มา.
ต่อมาถึงเวลามีอายุได้ ๑๖ เขากล่าวว่า แม่ฉันจะไปเยี่ยมตระกูลเจ้าตาเจ้ายาย แม้จะถูกนางห้ามว่า อย่าเลย พ่อเอ๋ย เจ้าจักกระทำอะไรในที่นั้น ก็คงอ้อนวอนบ่อยๆ ครั้งนั้น มารดาของเขารับคำว่า ถ้าอย่างนั้น ก็ไปเถิด. เขากราบทูลพระบิดา ออกไปด้วยบริวารมาก นางวาสภขัตติยาส่งหนังสือไปก่อนว่า หม่อมฉันอยู่สบายดี ณ ที่นี้ เจ้าข้า. ข้าแต่เจ้า พระองค์โปรดอย่าทรงแสดงความในอะไรๆ แก่เขา พระเจ้าข้า.
เจ้าศากยะทั้งหลายรู้เรื่องการมาของวิฏฏุภะ คิดกันว่า พวกเราไม่สามารถจะไหว้เขาได้ เหตุนั้น จึงพากันส่งพระกุมารเด็กๆ ไปสู่ชนบท. เมื่อถึงกบิลพัสดุ์ พวกศากยะพากันประชุม ณ สัณฐาคาร. กุมารไปถึงสัณฐาคาร ได้หยุดยืนอยู่.
ครั้งนั้น พวกเหล่านั้นพากันกล่าวกะเขาว่า พ่อเอ๋ย ท่านผู้นี้เป็นเจ้าตาของเธอ ท่านผู้นี้เป็นเจ้าลุงของเธอ เขาต้องเที่ยวไหว้เรื่อยไปทุกคน เขาต้องไหว้เสียจนหลังขดหลังแข็ง ไม่เห็นผู้ไหว้ตน สักคนเดียว จึงถามว่า ผู้ที่ไหว้ฉัน ทำไมไม่มีเลยเล่า. พวกศากยะพากันบอกว่า พ่อเอ๋ย กุมารที่เป็นน้องๆ ของเธอ พากันไปชนบทเสีย. กระทำสักการะแก่เขาอย่างขนานใหญ่ เขาพักอยู่ ๒-๓ วัน แล้วกลับไปด้วยบริวารมาก.
ครั้งนั้น ทาสีนางหนึ่งด่าว่า แผ่นกระดานนี้เป็นแผ่นกระดานที่ ลูกอีทาสีวาสภขัตติยามันนั่งไว้ แล้วล้างแผ่นกระดานที่เขานั่งในสัณฐาคารด้วยน้ำนม. บุรุษผู้หนึ่งลืมอาวุธของตน หวนกลับจะหยิบอาวุธ ได้ยินเสียงด่าวิฏฏุภกุมารนั้น จึงถามนางในระหว่างนั้น ทราบว่า วาสภขัตติยาเกิดในท้องของนางทาสีแห่งท้าวมหานามศากยราช ก็ไปเล่าแถลงแก่หมู่พล.
เกิดเกรียวกราวกันขนานใหญ่ว่า ได้ยินว่า นางวาสภขัตติยาเป็นลูกทาสี.
กุมารฟังคำนั้น ตั้งใจว่า ปล่อยให้พวกนี้ล้างแผ่นกระดานที่กูนั่งด้วยน้ำนม ไปก่อนเถิด คอยดูนะ พอกูเสวยราชแล้วเถอะ กูจะเอาเลือดที่คอของพวกนี้ ล้างแผ่นกระดานที่กูนั่งให้ได้.
เมื่อเข้ากรุงสาวัตถี พวกอำมาตย์พากันกราบทูลประพฤติเหตุทั้งปวงแด่พระราชา พระราชาทรงสดับเรื่องนั้น กริ้วเจ้าศากยะทั้งหลายว่า ให้ธิดาทาสีแก่เราได้. ทรงตัดการบริหารที่พระราชทานแก่นางวาสภขัตติยา และโอรสหมดเลย. พระราชทานเพียงเท่าที่ พวกทาสและทาสีจะได้รับกันเท่านั้น.
จากนั้นล่วงไปได้ ๒-๓ วัน พระศาสดาเสด็จไปสู่พระนิเวศน์ประทับนั่ง พระราชาถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกญาติของพระองค์พากันให้ธิดานางทาสีแก่หม่อมฉันเสียได้ เหตุนั้น หม่อมฉันจำต้องตัดการบริหารของนางพร้อมทั้งลูก คงได้ให้เพียงการบริหาร เท่าที่พวกทาสและทาสี จะพึงได้กันเท่านั้น.
พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร พวกศากยะทำไม่สมควรเลยทีเดียว ธรรมดาว่า เมื่อจะให้ก็ต้องให้นางที่มีชาติเสมอกัน ก็แต่ว่า มหาบพิตร อาตมาขอถวายพระพรกะบพิตร นางวาสภขัตติยาเป็นราชธิดา ได้อภิเษกในพระราชวังของขัตติยราช ถึงวิฏฏุภะเล่าก็เกิดเพราะอาศัยขัตติยราชเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าโคตรของมารดาจักกระทำอะไรได้ โคตรของบิดาต่างหากเป็นประมาณ บัณฑิตแต่ครั้งโบราณ ได้ให้ตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงเข็ญใจหาฟืน แต่กุมารที่เกิดในท้องของนาง ครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี อันมีบริเวณ ๑๒ โยชน์ ทรงพระนามว่า กัฏฐหาริกราช แล้วตรัส กัฏฐหาริกชาดก พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดา ทรงดีพระหฤทัยว่า โคตรของบิดาเท่านั้นเป็นประมาณ โปรดประทานการบริหารเช่นเดิมแก่มารดาและโอรสทันที.
กล่าวถึงท่านเสนาบดีของพระราชา นามว่าพันธุละ ส่งภริยาของตน ชื่อมัลลิกา ผู้เป็นหมันไปสู่กรุงกุสินารา ด้วยคำว่า เธอจงไปสู่เรือนแห่งสกุลของเธอเถิด. นางคิดว่า เราจักเฝ้าพระศาสดาแล้วจึงไป เข้าไปสู่พระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ได้รับสั่งถามว่า เธอจะไปไหน. กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามีของหม่อมฉันจักส่งคืนไปสู่เรือนแห่งสกุลเจ้า. ตรัสว่า เพราะเหตุไร กราบทูลว่า หม่อมฉันเป็นหมัน ไม่มีบุตร เจ้าค่ะ. ตรัสว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ต้องไปดอก กลับเถิด. ดีใจ ถวายบังคมพระศาสดา ได้ไปสู่นิเวศน์ทันที. ครั้นถูกสามีถามว่า เหตุไร เธอจึงกลับมาเล่า. บอกว่า พระทศพลรับสั่งให้ดิฉันกลับนี่ เจ้าค่ะ นาย.
ท่านเสนาบดีกล่าวว่า พระตถาคตต้องทรงเห็นเหตุการณ์เป็นแน่.
ไม่ช้าไม่นานเลย นางก็มีครรภ์เกิดแพ้ท้อง จึงบอกว่า ดิฉันเกิดแพ้ท้องแล้วละ. ถามว่า แพ้ท้อง อย่างไรเล่า. บอกว่า นายเจ้าขา ดิฉันปรารถนาจะลงอาบน้ำดื่มน้ำในสระโบกขรณีอันเป็นมงคล ซึ่งเป็นที่อภิเษกสรงแห่งคณะราชสกุลในพระนครเวสาลี เจ้าค่ะ. ท่านเสนาบดีกล่าวว่า ดีละ ถือธนูพันแรง อุ้มนางขึ้นสู่รถ ออกจากพระนครสาวัตถี ขับรถเข้ากรุงเวสาลี.
ก็ในกาลนั้น เจ้ามหาลิพระเนตรบอด เคยเรียนศิลปะร่วมอาจารย์เดียวกันกับพระเจ้าโกศลและพันธุลเสนาบดี สอนอรรถธรรมแก่มวลเจ้าลิจฉวี ประทับอยู่ใกล้ประตูนั้นเอง ท่านทรงฟังเสียงรถกระแทกธรณี กล่าวว่า นั่นเสียงรถ อันเป็นพาหนะของเจ้ามัลละนามว่าพันธุละ วันนี้ ภัยคงจักเกิดแก่มวลเจ้าลิจฉวี การระวังรักษาสระโบกขรณีแข็งแรงทั้งภายในและภายนอก ข้างบนมีตาข่ายขึง ตลอดช่องลอดแม้ของฝูงนกก็ไม่มี.
ก็ท่านเสนาบดีลงจากรถ ฟาดฟันฝูงคนที่เฝ้าด้วยพระขรรค์ให้หนีไป ตัดตาข่ายโลหะ ให้ภรรยาลงในสระโบกขรณีอาบดื่ม แม้ตนเองก็อาบบ้าง แล้วอุ้มนางมัลลิกาขึ้นใส่รถออกจากเมือง ไปตามทางที่มานั้นแล พวกคนเฝ้าพากันไปกราบทูลแด่มวลเจ้าลิจฉวี เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นพากันกริ้ว ขึ้นทรงรถ ๕๐๐ คัน ทรงยกออกไปด้วยทรงดำริว่า พวกเราต้องจับเจ้ามัลละชื่อพันธุละ ให้ได้ พากันไปเล่าเรื่องนั้นแด่เจ้ามหาลิ เจ้ามหาลิกล่าวว่า พวกเธออย่าไปเลย เขาจักฆ่าพวกเธอเสียหมดทีเดียว ฝ่ายพวกนั้นพากันกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าต้องไปให้ได้ กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พวกเธอเห็นล้อรถจมลงไปถึงดุมละก็พากันกลับเสีย เมื่อไม่กลับตอนนั้น จักได้ยินเสียงคล้ายฟ้าผ่าข้างหน้า พึงกลับกันจากที่นั้น เมื่อยังไม่กลับตอนนั้น พวกเธอจักเห็นช่องในแอกรถของพวกเธอ อย่าได้พากันไปต่อไปเป็นอันขาด.
พวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ไม่ยอมกลับตามคำของท้าวเธอ พากันติดตามท่านพันธุละนั้นไปจนได้ นางมัลลิกาเห็นแล้วกล่าวว่า นาย เจ้าขา รถปรากฏหลายคัน. ท่านพันธุละกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เธอคอยบอกฉัน ในเวลาที่รถปรากฏเป็นคันเดียวกัน. ในเมื่อรถทุกๆ คันปรากฏเป็นดุจคันเดียว นางมัลลิกาจึงบอกว่า นายเจ้าขา หัวรถปรากฏแล้ว ท่านพันธุละส่งสายบังเหียนให้นางว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงถือสายบังเหียนเหล่านี้ไว้ ยืนอยู่บนรถนั้นแลโก่งธนู เสียงได้เป็นเหมือนเสียงฟ้าผ่า ท่านพวกนั้นไม่ยอมกลับ แม้จากที่นั้น พากันกวดตามเรื่อยไป ท่านพันธุละยืนบนรถยิงลูกศรไปลูกหนึ่ง ลูกศรนั้นทำหัวรถทั้ง ๕๐๐ คันให้เป็นช่อง แทงทะลุที่หุ้มเกราะของพระราชาทั้ง ๕๐๐ แล้วจมดินไป.
เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นไม่ทราบความที่ตนถูกยิงแล้ว คงตรัสอยู่ว่า หยุดเจ้าตัวร้าย หยุดเจ้าตัวร้าย. ติดตามเรื่อยไป ท่านพันธุละจอดรถกล่าวว่า พวกท่านเป็นคนตายแล้ว ไม่มีธรรมเนียมเลยที่ข้าพเจ้าจะรบกับคนตาย. เจ้าลิจฉวีพากันตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าคนตายแล้วเป็นเช่นอย่างพวกเราไม่มีดอก. กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น จงเปลื้องเกราะของท่านผู้อยู่สุดท้ายเพื่อนซี. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นพากันเปลื้อง เจ้าองค์นั้นพอเปลื้องเกราะเสร็จเท่านั้น ล้มลงสิ้นพระชนม์เลย. ครั้งนั้น ท่านพันธุละกล่าวกะเจ้าเหล่านั้นว่า พวกท่านแม้ทั้งหมดก็เป็นรูปนั้น พวกท่านจงพากันไปสู่เรือนของตนๆ จัดเตรียมการที่ควรจัดการ สั่งเสียลูกเมีย แล้วค่อยเปลื้องเกราะ เจ้าเหล่านั้นพากันทำตามนั้น ถึงชีพตักษัยทุกคน.
ฝ่ายท่านพันธุละก็พานางมัลลิกามาสู่นครสาวัตถี นางคลอดบุตรชายแฝด ๑๖ ครั้ง บุตรชาย แม้ทุกคนล้วนเก่งกล้า สมบูรณ์ด้วยกำลัง ต่างเรียนสำเร็จในศิลปะทุกประการ คนหนึ่งๆ ได้มีบริวารพันคน ท้องพระลานหลวงแน่นขนัดไปด้วยพวกนั้นผู้ไปสู่พระราชนิเวศน์กับบิดาทีเดียว.
อยู่มาวันหนึ่ง พวกมนุษย์ที่ถูกตัดสินให้แพ้คดีอย่างโกงในที่วินิจฉัย เห็นท่านพันธุละกำลังเดินมา ก็ร้องเอะอะ บอกการตัดสินคดีโกงของอำมาตย์ผู้ทำการวินิจฉัยแก่ท่าน ท่านไปสู่ที่วินิจฉัยพิจารณาคดีนั้น ได้กระทำเจ้าของให้คงเป็นเจ้าของ ผู้มิใช่เจ้าของก็กระทำคงเป็นผู้มิใช่เจ้าของ มหาชนพากันแซ่ซ้องสาธุการด้วยเสียงอันดัง.
พระราชารับสั่งถามว่า นี้เรื่องอะไรกัน ทรงสดับความนั้น ทรงยินดี ตรัสให้ถอดอำมาตย์เหล่านั้นเสียทั้งหมด มอบการวินิจฉัยให้แก่ท่านพันธุละผู้เดียว. จำเดิมแต่นั้น ท่านตัดสินโดยชอบ.
ครั้งนั้น พวกผู้ตัดสินความเก่าๆ เมื่อไม่ได้สินบน ต่างมีรายได้น้อย พากันยุแหย่ในราชสกุลว่า พันธุละปรารถนาราชสมบัติ พระราชาทรงสดับถ้อยคำของพวกนั้นไม่สามารถจะข่มพระทัยได้ ทรงดำริว่า เมื่อเราจะให้ฆ่าพันธุละนี้ในพระนครนี้ทีเดียวเล่า ความครหาจักบังเกิดได้ ทรงพระดำริต่อไปว่า ต้องแต่งคนให้ไปปล้นชายแดน แล้วส่งให้ไปปราบพวกนั้น เวลายกกลับก็ให้คนฆ่าเสียทั้งพวกลูกในระหว่างทาง.
ครั้นทรงดำริแล้วรับสั่งให้หาท่านพันธุละมาเฝ้า ตรัสสั่งใช้ว่า ข่าวว่า ชายแดนกำเริบ ท่านกับบุตรของท่านจงไปจับพวกโจรทีเถิด แล้วทรงให้มหาโยธา แม้เหล่าอื่นที่สามารถไปกับท่านพันธุละและบุตรเหล่านั้น ด้วยทรงดำรัสว่า พวกเจ้าจงตัดศีรษะของเขากับลูกทั้ง ๓๒ คนเสีย ณ ที่นั้นให้จงได้ แล้วนำมาเถิด. ครั้นท่านไปถึงชายแดนเท่านั้น พวกโจรที่แต่งไปพากันกล่าวว่า ได้ยินข่าวว่า ท่านเสนาบดีกำลังยกมา พากันหนีไปสิ้น ท่านจัดการให้ประเทศสงบราบคาบ ตั้งชนบทได้แล้วยกกลับ. ครั้งนั้น เหล่าโจรนั้นพากันตัดศีรษะของท่านกับลูกๆ เสียในที่ไม่ไกลจากเมือง.
วันนั้น นางมัลลิกานิมนต์พระอัครสาวกกับภิกษุ ๕๐๐ รูป. ตอนเช้า มีคนนำหนังสือมาให้นางว่า สามีกับบุตรถูกโยธาเหล่านั้นตัดศีรษะเสียแล้ว. นางทราบเรื่องนั้นแล้วไม่พูดอะไรแก่ใครๆ เก็บหนังสือไว้ในชายพก คงอังคาสพระภิกษุอยู่เรื่อยไป.
ครั้งนั้น พวกคนใช้ของนางถวายภัตตาหารแด่ภิกษุ แล้วยกถาดเนยใสมา ทำถาดแตกต่อหน้าพระเถระทั้งหลาย พระธรรมเสนาบดีกล่าวว่า อุบาสิกา สิ่งที่มีความแตกเป็นธรรมดา แตกไปแล้ว ไม่ต้องเสียใจ. นางนำหนังสือออกมาจากชายพก กราบเรียนว่า คนนำหนังสือนี้มาให้ดิฉัน พ่อกับลูก ๓๒ คนถูกตัดศีรษะเสียแล้ว ดิฉันแม้จะได้ฟังเรื่องนี้ยังไม่เสียใจเลย ก็เมื่อถาดเนยใสนี้แตกไปจะต้องเสียใจทำไม เจ้าค่ะ.
พระธรรมเสนาบดีกล่าวคำ มีอาทิว่า (ชีวิต มรณ) ไม่มีนิมิตไม่มีใครรู้ แสดงธรรม แล้วลุกจากอาสนะไปพระวิหาร. ฝ่ายนางให้เรียกลูกสะใภ้ ๓๒ นาง มาสั่งสอนว่า สามีของพวกเธอปราศจากความผิด ต่างได้รับผลแห่งกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนของตน พวกเธออย่าเศร้าโศกเลย อย่ากระทำใจประทุษร้ายในพระราชาเลย. จารบุรุษของพระราชาฟังคำนั้น พากันกราบทูลความที่ คนเหล่านั้นหาโทษมิได้แก่พระราชา.
พระราชาทรงสลดพระทัย เสด็จไปสู่ที่อยู่ของนาง ทรงขอขมาโทษกะนางมัลลิกาและสะใภ้ของนาง แล้วประทานพรแก่นางมัลลิกา. นางกราบทูลว่า พระพรเป็นอันหม่อมฉันรับพระราชทานใส่เกล้าใส่กระหม่อม พะยะค่ะ. เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว จัดถวายมตกภัตร สนานกาย เข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์ผู้สมมติเทพเจ้า พระองค์พระราชทานพรแก่หม่อมฉันไว้ หม่อมฉันมิได้มีความต้องการอย่างอื่น ขอพระองค์ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ หม่อมฉันและสะใภ้ ๓๒ คนไปสู่ตระกูลเดิมเถิด พระเจ้าข้า. พระราชาทรงรับคำของนาง นางส่งลูกสะใภ้ ๓๒ คน ไปสู่ตระกูลของตนๆ ตนเอง ก็ได้ไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตน ณ กุสินารานคร.
ฝ่ายพระราชาก็พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่หลานของท่านพันธุละเสนาบดี ชื่อ ฑีฆการายนะ. ส่วนเขาดำริว่า พระราชาองค์นี้ฆ่าลุงของเราเสีย คอยหาช่องแก้แค้นแก่พระราชาอยู่เรื่อย. พระราชา ตั้งแต่รับสั่งให้ฆ่าท่านพันธุละผู้ปราศจากความผิดแล้วก็ทรงมีแต่ความเร่าร้อนพระหฤทัย มิทรงได้รับความชื่นใจ ไม่ทรงได้ความสุขในราชสมบัติเลย
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงอาศัยนิคม ชื่อว่าเวตตนุปปันนกุละ ประทับอยู่. พระราชาเสด็จไป ณ นิคมนั้น ทรงตั้งค่ายพักไม่ไกลพระอาราม เสด็จไปสู่พระวิหารด้วยราชบริพารมาก ด้วยทรงพระดำริจะถวายบังคมพระศาสดา ประทานเบญจราชกกุธภัณฑ์แก่ทีฆการายนะ ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี เรื่องทั้งหมดพึงทราบตามแนว ธัมมเจติยสูตร นั้นแล.
ครั้นพระองค์เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ทีฆการายนะถือเอาราชกกุธภัณฑ์เหล่านั้น กระทำวิฏฏฺภกุมารให้เป็นพระราชา ทิ้งม้าไว้ตัวหนึ่ง หญิงที่จะปรนนิบัติผู้หนึ่ง สำหรับพระราชา ได้ไปสู่พระนครสาวัตถี. พระราชาทรงตรัสปิยกถากับพระศาสดา แล้วเสด็จออกไม่ทรงเห็นกองทหาร ตรัสถามหญิงนั้น ทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เราต้องไปชวนหลานเรามาจับวิฏฏฺภะให้ได้ เสด็จไปสู่พระนครราชคฤห์.
ถึงเวลาค่ำมืด ประตูเขาปิดหมดแล้ว ไม่ทรงสามารถจะเข้าสู่พระนครได้ ทรงบรรทมในศาลาหลังนั้น ทรงกรากกรำด้วยลมและแดด ตอนกลางคืนเลยสวรรคตในศาลานั้นเอง.
ครั้นรุ่งสว่างแล้ว ฝูงคนฟังเสียงคร่ำครวญของหญิงนั้นผู้พร่ำรำพันอยู่ว่า โอ้ พระทูลกระหม่อมจอมนรชนโกศลรัฐ บัดนี้ พระองค์ไร้ที่พึ่งเสียแล้ว พากันกราบทูลแด่พระราชา.
พระราชานั้นตรัสสั่งให้กระทำสรีรกิจของพระมาตุลาธิราช ด้วยสักการะอย่างใหญ่หลวง.
ฝ่ายเจ้าวิฏฏุภะได้ราชสมบัติ ระลึกถึงเวรนั้น ดำริว่า กูต้องฆ่าเจ้าศากยะให้ตายให้หมดเลย เสด็จออกด้วยแสนยานุภาพอันใหญ่โต.
วันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นความพินาศของหมู่พระญาติ ทรงพระดำริว่า ควรจะกระทำการสงเคราะห์ญาติไว้ ทรงโปรดสัตว์ในตอนเช้า เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงสำเร็จสีหไสยาในพระคันธกุฎี เวลาเย็นเสด็จไปทางอากาศ ประทับนั่ง ณ โคนไม้อันมีเงาห่างต้นหนึ่ง ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์
ณ ที่ไม่ไกลจากตรงนั้น ในรัชสีมาแห่งเจ้าวิฏฏุภะ มีต้นไทรใหญ่เงาร่มชิด. เจ้าวิฏฏุภะเห็นพระศาสดา เข้าไปเฝ้าถวายบังคม แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาร้อนเห็นปานนี้ เหตุไร พระองค์จึงทรงประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้ อันมีเงาห่างต้นนี้ เชิญพระองค์ประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้มีเงาร่มชิดต้นหนึ่งเถิด พระเจ้าข้า.
ครั้นมีพระดำรัสว่า ช่างเถิด มหาบพิตร ธรรมดาว่าร่มเงาของหมู่ญาติเย็นสบาย. ก็ดำริว่า พระศาสดาคงเสด็จมาเพื่อป้องกันหมู่ญาติไว้ ถวายบังคมพระศาสดา เสด็จกลับคืนสู่พระนครสาวัตถีทันที. แม้พระศาสดาก็เสด็จเหาะไปสู่พระวิหารเชตวันดุจกัน.
พระราชาทรงระลึกถึงโทษของหมู่ศากยะได้ ก็ยกพลออก แม้ครั้งที่ ๒ คงพบพระศาสดาตรงนั้นเหมือนกัน เสด็จกลับเสียอีก. ในวาระที่ ๓ ทรงยกพลออก คงพบพระศาสดาตรงนั้น นั่นแหละต้องกลับ.
แต่ในวาระที่ ๔ เมื่อท้าวเธอยกพลออกไป พระศาสดาทรงตรวจดูบูรพกรรมของหมู่ศากยะ ทรงทราบความที่กรรมอันเป็นบาป คือ การโปรยยาพิษใส่ในแม่น้ำ ของศากยะเหล่านั้น นั้นเป็นกรรมที่จะป้องกันมิได้ ไม่เสด็จไปในวาระที่ ๔. ราชาวิฏฏุภะฆ่าเจ้าศากยะเสียทั้งหมด ตั้งแต่เด็กที่กำลังดื่มนม เอาเลือดที่คอล้างแผ่นกระดานที่ตนนั่ง แล้วเสด็จกลับมา.
ก็แล เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับจากการที่เสด็จในวาระที่ ๓. รุ่งขึ้น เสด็จไปโปรดสัตว์ เสวยเสร็จ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี. ถึงเวลาเย็น พวกภิกษุประชุมกันนั่งในธรรมสภา พากันกล่าวแถลงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาทรงแสดงพระองค์ให้พระราชากลับเสีย ทรงเปลื้องหมู่ญาติจากมรณภัย พระศาสดาทรงประพฤติประโยชน์แก่หมู่พระญาติอย่างนี้.
พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้ พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร. เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว.
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตประพฤติประโยชน์แก่หมู่ญาติ แม้ในครั้งก่อน ก็ได้ประพฤติแล้วเหมือนกัน.
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล ครั้งพระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัต มิได้ทรงละเมิดทศพิธราชธรรม ดำรงราชย์โดยธรรม ในพระนครพาราณสี. วันหนึ่ง ทรงพระดำริว่า บรรดาพระราชาในพื้นชมพูทวีป พากันอยู่ในปรางค์ปราสาท มีเสามาก. เหตุนั้น อันการสร้างพระปราสาทด้วยเสามากๆ จึงไม่เป็นข้ออัศจรรย์. ถ้ากระไร เราลองสร้างปราสาทเสาเดียวดูบ้าง ด้วยอย่างนี้ เราคงเป็นราชาผู้เลิศกว่าพระราชาทั้งปวงได้ ท้าวเธอจึงมีรับสั่งเรียกช่างไม้มาเฝ้า ตรัสว่า พวกเจ้าจงสร้างปราสาทเสาเดียว อันถึงความงามเลิศแก่เรา. ช่างไม้เหล่านั้นรับพระดำรัสว่า สาธุ. พากันเข้าป่า พบต้นไม้ทั้งตรงทั้งใหญ่เหมาะที่จะสร้างปราสาทเสาเดียวเป็นอันมาก คิดกันว่า ต้นไม้เหล่านี้ใช้ได้อยู่ แต่หนทางไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถจะชักลงได้ พวกเราต้องพากันกราบทูลพระราชา ได้กระทำอย่างนั้น.
พระราชาตรัสว่า จะค่อยๆ ชักลงมา ตามแต่จะมีอุบายไม่ได้หรือ. ครั้นพวกนั้นพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ พระผู้สมมติเทพเจ้า จะใช้อุบายอะไรๆ ก็สุดสามารถที่จะชักลงได้ พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น จงสำรวจดูต้นไม้ต้นหนึ่งในอุทยานของเราซิ. พวกช่างไม้พากันไปสู่อุทยาน เห็นต้นรังอันเป็นมิ่งมงคลต้นหนึ่ง เปลาตรง ชาวบ้านชาวตำบลพากันบูชา ได้พลีกรรมแม้จากราชสกุล พากันไปสู่ราชสำนัก กราบทูลเนื้อความนั้น.
พระราชาตรัสว่า ธรรมดาต้นไม้ในอุทยานของเรา เป็นของที่เราได้เฉพาะ ไปเถิด พากันโค่นต้นไม้นั้นเถิด. ช่างไม้เหล่านั้นพากันรับพระดำรัสว่า สาธุ. แล้วต่างคนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปสู่อุทยาน กระทำการเจิม ๕ นิ้วด้วยแป้งหอมที่ต้นไม้ วงด้ายห้อยพวงดอกไม้ จุดประทีป ทำพลีกรรม ร้องบอกกล่าวว่า ในวันคำรบ ๗ จากวันนี้ พวกเราจะพากันมาตัดต้นไม้ พระราชาทรงอนุมัติให้ตัดได้ เชิญเทพยดาผู้บังเกิด ณ ต้นไม้นี้ ไป ณ ที่อื่น โทษจะไม่มีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย.
ครั้งนั้น เทพยดาผู้เกิดที่ต้นไม้นั้นฟังถ้อยคำนั้น คิดว่า ไม่ต้องสงสัยเลย ช่างไม้เหล่านี้คงตัดต้นไม้นี้ วิมานของเราต้องฉิบหาย ก็แลชีวิตของเราเล่านะ สุดสิ้นกันที่วิมานเท่านั้นเอง หมู่วิมานเป็นอันมาก แม้แห่งฝูงเทวดาผู้เป็นญาติของเราที่พากันเกิดแล้ว ณ ต้นรังหนุ่มๆ อันตั้งล้อมต้นไม้นี้ จักต้องฉิบหายกัน ก็แลความวินาศของตนจะไม่เบียดเบียนเราได้เลย เหมือนกับที่จะไม่เบียดเบียนฝูงญาติได้ เหตุนั้น ควรที่เราจะให้ทานชีวิตแก่หมู่ญาติเหล่านั้น. ครั้นเวลากลางคืน ประดับกายด้วยอลังการอันเป็นทิพย์ เข้าไปสู่ห้องอันทรงสิริของพระราชา กระทำห้องทุกส่วนให้สว่างจ้าเป็นอันเดียวกัน ได้ยืนร้องไห้อยู่ ณ เบื้องพระเศียร.
พระราชาทอดพระเนตรเห็นเทวดานั้น ทรงตระหนกพระหฤทัย เมื่อทรงปราศรัยกับท่าน ตรัสคาถาเป็นปฐมว่า
ท่านเป็นใคร มีผ้าอันสะอาดหมดจด มายืนอยู่บนอากาศ เพราะเหตุไร น้ำตาของท่านจึงไหล ภัยมาถึงท่านแต่ที่ไหน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กา ตฺวํ ความว่า พระราชาตรัสถามว่า ในบรรดาอมนุษย์มีนาค ยักษ์ ครุฑและท้าวสักกะเป็นต้น ท่านชื่อว่า เป็นอะไร.
บทว่า วตฺเถหิ นี้เป็นเพียงถ้อยคำเท่านั้น. ที่จริง ตรัสมุ่งหมายเอาเครื่องประดับเป็นทิพย์ แม้ทั้งหมดทีเดียว.
บทว่า อเฆ แปลว่า ไม่มีที่ติดขัด ได้แก่อากาศ.
บทว่า เวหาสยํ นี้เป็นไวพจน์ของอากาศ นั้นแล.
บทว่า เกน ตยสฺสูทิ ความว่า น้ำตาของท่านไหลหลั่งพรั่งพรู ด้วยเหตุไร.
บทว่า กุโต ความว่า พระราชาตรัสถามว่า ภัยมาถึงท่าน เพราะอาศัยเรื่องอะไร บรรดาอนัตถะ มีความพลัดพรากจากญาติและความพินาศแห่งทรัพย์ เป็นต้น.

เทวราชฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อหม่อมฉันได้รับการบูชาอยู่ ๖๐,๐๐๐ ปี ชนทั้งหลายรู้จักหม่อมฉันว่าภัททสาละ ในแว่นแคว้นของพระองค์นี้แล.
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในทิศ พระราชาพระองค์ก่อน เมื่อสร้างพระนคร อาคารและปราสาทต่างๆ พระราชาเหล่านั้นบูชาหม่อมฉันฉันใด แม้พระองค์ก็จงบูชาหม่อมฉันฉันนั้นเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติฏฺฐโต ความว่า เทวราชแสดงว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อหม่อมฉันอันชาวกรุงพาราณสีทั่วหน้า และชาวบ้าน ชาวนิคมทั้งพระองค์บูชา ได้รับพลีกรรมและสักการะเป็นนิตย์ ดำรงอยู่ในอุทยานแห่งนี้ และประมาณถึงเท่านี้ ผ่านไป.
บทว่า นครานิ ความว่า กระทำปฏิสังขรณ์เมือง.
บทว่า อคาเร จ ได้แก่ เรือนบนแผ่นดิน.
บทว่า ทิสมฺปติ ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่แห่งทิศ.
บทว่า น มนฺเต ความว่า ท่านเหล่านั้น คือพระราชาแต่ครั้งก่อนในพระนครนี้ เมื่อทรงกระทำการซ่อมพระนครเป็นต้น ไม่ทรงดูหมิ่น ไม่กล้ำกลาย คือไม่เบียดเบียนหม่อมฉัน หมายความว่า มิได้ทรงตัดต้นไม้อันเป็นที่อยู่ของหม่อมฉัน ทำกรรมของตน แต่คงกระทำสักการะแก่หม่อมฉันถ่ายเดียว นี้เป็นคำพูดเทวดา.
บทว่า ยเถว ความว่า เหตุนั้น พระราชาแต่ครั้งก่อนเหล่านั้นพากันบูชาหม่อมฉัน แม้พระองค์เดียวก็มิเคยรับสั่งให้ตัดต้นไม้ฉันใด แม้พระองค์เล่าก็ทรงบูชา อย่าตัดต้นไม้ของหม่อมฉันเสียเลยฉันนั้นเหมือนกัน.

ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
ก็ข้าพเจ้ามิได้เห็นต้นไม้อื่นๆ ที่จะใหญ่โตเหมือนท่านโดยประมาณ ท่านเป็นไม้งามแต่กำเนิดด้วยย่านและปริมณฑล.
ข้าพเจ้าจะให้นายช่างทำปราสาท มีเสาเดียวเป็นที่รื่นรมย์ใจ ข้าพเจ้าจะเชื้อเชิญท่านมาอยู่ที่ปราสาทนั้น. ดูก่อนเทวดา ชีวิตของท่านจักยั่งยืน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเยน แปลว่าโดยประมาณ. ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นต้นไม้อื่นๆ ที่ไหนใหญ่โต โดยขนาดเหมือนต้นนั้นของท่าน ก็แล ต้นไม้ของท่านนั่นแล มีท่าทีงดงาม คือถึงส่วนแห่งความงาม เหมาะแก่ปราสาทเสาเดียว โดยที่สูงโปร่งเปลาตลอด และโดยชาติ คือเกิดแล้วดี มีสัณฐานกลมและตรงเป็นข้อสำคัญ เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงให้คนตัดสร้างปราสาททีเดียว. ดูก่อนเทวราชผู้สหาย ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าจักเชื้อเชิญท่านเข้าไปอยู่ในปราสาทนั้น ท่านนั้น เมื่ออยู่ร่วมกับข้าพเจ้า ได้รับของหอมและดอกไม้เป็นต้นอย่างเลิศ ร่ำรวยด้วยสักการะ จักเป็นอยู่อย่างสบาย ท่านอย่าร้อนใจเลยว่า ความพินาศจักมีแก่เรา เพราะไม่มีที่อยู่ ชีวิตของท่านจักยืนนานไปนะ ท่านเป็นที่บูชา.
เทวราชฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ถ้าพระองค์ทรงดำริอย่างนี้ ก็จำต้องพลัดพรากจากต้นรัง อันเป็นร่างกายของหม่อมฉัน พระองค์จงตัดหม่อมฉันทำเป็นท่อนๆ ให้มากเถิด.
พระองค์จงตัดปลายก่อนแล้ว จงตัดท่อนกลาง ภายหลังจึงตัดที่โคน เมื่อหม่อมฉันถูกตัดอย่างนี้ ถึงจะตายลงก็ไม่เป็นทุกข์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ จิตฺตํ อุทปาทิ ความว่า ถ้าว่า ความคิดอย่างนี้เกิดแก่พระองค์แล้ว.
บทว่า สริเรน วินาภาโว ความว่า ถ้าความพลัดพรากจากสรีระของหม่อมฉัน คือต้นรังงาม พระองค์ได้ทรงตั้งไว้แก่หม่อมฉัน.
บทว่า ปุถุโส ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ครั้นทรงตัดต้นรังงามนั้นโดยมาก.
บทว่า วิกนฺเตตฺวา แปลว่า ตัดแล้ว.
บทว่า ขณฺฑโส ความว่า ครั้นตัดแล้ว โปรดทอนเป็นท่อนๆ โดยลำดับ.
บทว่า อคฺเค จ ความว่า ครั้นตัดแล้ว จงตัดปลายก่อน ต่อแต่นั้น ตัดส่วนกลาง หลังเขาทั้งหมดจงตัดราก เมื่อหม่อมฉันถูกตัดอย่างนี้ ไม่พึงมีความทุกข์ถึงตาย ยังจะพอมีความสุขได้เป็นตอนๆ ทั้งนี้ เทวราชวิงวอน.
ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
ราชบุรุษตัดมือและเท้า ตัดหูและจมูก ภายหลังจึงตัดศีรษะของโจรผู้เป็นอยู่ ความตายนั้น ชื่อว่า ตายเป็นทุกข์.
ดูก่อนต้นรังผู้เป็นเจ้าป่า เขาตัดเป็นท่อนๆ เป็นสุขหรือหนอ ท่านมีเหตุอะไร มั่นใจอย่างไร จึงปรารถนาให้ตัดเป็นท่อนๆ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถปาทํ แปลว่า ซึ่งมือแลเท้า.
บทว่า ตํ ทุกฺขํ ความว่า เมื่อโจรถูกตัด โดยลำดับอย่างนี้ พึงมีความทุกข์แทบประดาตาย.
บทว่า สุขํ นุ ความว่า ดูก่อนไม้รังผู้สหาย โจรที่ต้องโทษประหาร ปรารถนาจะตายโดยความสุข ย่อมขอร้องให้ตัดศีรษะ ไม่ขอร้องให้ตัดทีละท่อนกันเลย แต่ท่านขอร้องอย่างนี้ เหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า จะมีสุขไฉน ที่ถูกตัดทีละท่อน.
บทว่า กึ เหตุ ความว่า ขึ้นชื่อว่า การตัดทีละท่อนไม่มีความสุขเลย แต่ในเรื่องนี้คงมีเหตุ.

พระราชา เมื่อตรัสถามดังนี้ กะเทวราชานั้น จึงได้ตรัสอย่างนี้.
ลำดับนั้น เทพดาไม้รังงาม เมื่อจะบอกแก่พระองค์ จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันยึดมั่นเหตุอันใด อันเป็นเหตุประกอบด้วยธรรม ปรารถนาให้ตัดเป็นท่อนๆ ขอพระองค์จงทรงสดับเหตุนั้น.
หมู่ญาติของหม่อมฉันเจริญอยู่ด้วยความสุข เกิดแล้วใกล้ต้นรังข้างหม่อมฉัน พึงเข้าไปเบียดเบียนหมู่ญาติเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หม่อมฉันชื่อว่าเข้าไปสั่งสมสิ่งที่มิใช่ความสุขให้แก่คนเหล่าอื่น เหตุนั้น หม่อมฉันจึงปรารถนาให้ตัดเป็นท่อนๆ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เหตุธมฺมูปสญฺหิตํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉันยึดมั่น ปรารถนา คือมุ่งหมายเหตุ อันสมควรแก่ความจริงทีเดียว มิใช่เพียงเหตุอันเหมาะ ทูลว่า หม่อมฉันปรารถนาจะให้ตัดทีละท่อน เชิญพระองค์ทรงเงี่ยพระโสต สดับต้นเหตุนั้นเถิด พระเจ้าข้า.
บทว่า ญาติ เม ความว่า หมู่เทพยดาผู้เป็นญาติของหม่อมฉัน พากันเติบโตอย่างเป็นสุข ในร่มเงาแห่งสาลพฤกษ์ อันงามของหม่อมฉัน.
บทว่า มม ปสฺเส ความว่า บังเกิด ณ สาลพฤกษ์หนุ่มๆ ได้ชื่อว่า เกิด ณ ที่อับลม เพราะหม่อมฉันช่วยต้านทานลมไว้ มีอยู่. เมื่อหม่อมฉันมีกิ่งและคาคบกว้างขวางถูกตัดที่โคนโค่นลงอยู่ พึงรังแกพวกญาติได้ คือกระทำให้วิมานหักลู่แหลกลาญได้.
บทว่า ปเรสํ อสุโขจิตํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความไม่สุข คือความทุกข์เป็นอันหม่อมฉันกอบโกยให้เพิ่มพูนให้แก่คนอื่น คือหมู่เทพยดาผู้เป็นญาติเหล่านั้น ก็แล หม่อมฉันมิได้ปรารถนาความทุกข์แก่พวกนั้นเลย เหตุนั้น หม่อมฉันจึงขอปรารถนาให้ตัดต้นรังงามทีละท่อน พระเจ้าข้า.

พระราชาทรงสดับเทวาธิบายนั้นแล้ว ทรงยินดีว่า เทวบุตรนี้เป็นผู้ดำรงธรรมจริงเทียว มิได้ปรารถนาจะทำลายวิมานของหมู่ญาติ แม้เพราะความพินาศแห่งวิมานของตน ประพฤติประโยชน์แก่หมู่ญาติ เราต้องให้อภัยแก่เธอ.
ตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
ดูก่อนต้นรังผู้เป็นเจ้าแห่งป่า ท่านย่อมคิดสิ่งที่ควรคิด ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์แก่หมู่ญาติ ดูก่อนสหาย ข้าพเจ้าให้อภัยแก่ท่าน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เจตยรูปํ เจเตสิ ความว่า ดูก่อนภัททสาลผู้สหาย ท่านคิดเรื่องที่ชื่อว่าควรคิด เพราะมีจิตอ่อนในหมู่ญาติทีเดียว. บาลีว่า เจตยรูปํ เฉเทสิ ดังนี้ก็มี. คำนั้นมีอธิบายว่า เมื่อท่านปรารถนาให้ตัดทีละท่อน เป็นอันให้ตัดถูกต้องตามที่ควรตัด ทีเดียว.
บทว่า อภยํ ความว่า พระราชาตรัสว่า ดูก่อนสหาย ข้าพเจ้าเลื่อมใสในคุณของท่านนี้ ขอให้อภัยแก่ท่าน ข้าพเจ้าไม่ต้องการปราสาทละ ข้าพเจ้าจักไม่ให้เขาโค่นต้นไม้นั้นละ เชิญท่านไปเถิด ขอท่านผู้มีหมู่ญาติแวดล้อม ได้รับสักการะ ได้รับเคารพ ดำรงชีพเป็นสุขๆ เถิด.
เทวราชแสดงธรรมถวายพระราชา แล้วได้กลับไป.
พระราชาดำรงพระองค์ในโอวาทของท่าน ทรงกระทำบุญมีถวายทานเป็นต้น ทรงทำทางสวรรค์เต็มที่.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ได้ประพฤติญาตัตถจริยาแล้ว ดุจกันอย่างนี้ ทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
ฝูงเทวดาผู้เกิด ณ ไม้รังหนุ่มๆ ได้มาเป็น พุทธบริษัท
ส่วนภัททสาลเทวราช ได้มาเป็น เราตถาคต แล.

จบอรรถกถาภัททสาลชาดกที่ ๒
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา ภัททสาลชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271601อรรถกถาชาดก 271613
เล่มที่ 27 ข้อ 1613อ่านชาดก 271625อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=6417&Z=6447
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]