ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280893อรรถกถาชาดก 281045
เล่มที่ 28 ข้อ 1045
อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

หน้าต่างที่   ๗ / ๑๐.

จบมหาวนวรรณนา

ฝ่ายชูชกไปจนถึงฝั่งโบกขรณีสี่เหลี่ยมตามทาง ที่พระอัจจุตดาบสบอก คิดว่า วันนี้เย็นเกินไปเสียแล้ว บัดนี้ พระนางมัทรีจักเสด็จกลับจากไป ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงย่อมกระทำอันตรายแก่ทาน พรุ่งนี้เวลาพระนางเสด็จไปป่า เราจึงไปสู่อาศรมบทเฝ้าพระเวสสันดรราชฤาษี ทูลขอกุมารกุมารีทั้งสอง เมื่อพระนางยังไม่เสด็จกลับ ก็จักพาสองกุมารกุมารีนั้นหลีกไป. จึงขึ้นสู่เนินภูผาแห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลสระนั้นนอน ณ ที่มีความสำราญ.
ก็ราตรีนั้นเวลาใกล้รุ่ง พระนางมัทรีได้ทรงพระสุบิน ความในพระสุบินนั้นว่า มีชายคนหนึ่งผิวดำ นุ่งห่มผ้ากาสายะสองผืน ทัดดอกไม้สีแดงทั้งสองหู ถืออาวุธตะคอกขู่ มาเข้าสู่บรรณศาลาจับพระชฎาของพระนางคร่ามา ให้พระนางล้มหงาย ณ พื้น ควักดวงพระเนตรทั้งสอง และตัดพระพาหาทั้งสองของพระนางผู้ร้องไห้อยู่ ทำลายพระอุระถือเอาเนื้อพระหทัย ซึ่งมีหยาดพระโลหิตไหลอยู่ แล้วหลีกไป. พระนางมัทรีตื่นบรรทมทั้งตกพระหทัยทั้งสะดุ้ง ทรงรำพึงว่า เราฝันร้าย บุคคลผู้จะทำนายฝัน เช่นกับพระเวสสันดรไม่มี เราจักทูลถามพระองค์. ทรงคิดฉะนี้ แล้วเสด็จไปเคาะพระทวารบรรณศาลาแห่งพระมหาสัตว์.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงสดับเสียงเคาะพระทวารนั้น จึงตรัสทักถามว่า นั่นใคร. พระนางทูลสนองว่า หม่อมฉันมัทรี พระเจ้าค่ะ. พระเวสสันดรตรัสว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธอทำลายกติกาวัตรของเราทั้งสองเสียแล้ว เพราะเหตุไร จึงมาในเวลาอันไม่สมควร. พระนางมัทรีกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้มาเฝ้าด้วยอำนาจกิเลส ก็แต่ว่าหม่อมฉันฝันร้าย. พระเวสสันดรตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงเล่าไป. พระนางมัทรีก็เล่าถวาย โดยทำนองที่ทรงสุบินทีเดียว. พระมหาสัตว์ทรงกำหนดพระสุบินนั้น แล้วทรงดำริว่า ทานบารมีของเราจักเต็มรอบ พรุ่งนี้จักมียาจกมาขอบุตรี เราจักยังนางมัทรีให้อุ่นใจ แล้วจึงกลับไป. ทรงดำริฉะนี้ แล้วตรัสว่า แน่ะมัทรี จิตของเธอขุ่นมัว เพราะบรรทมไม่ดี เสวยอาหารไม่ดี เธออย่ากลัวเลย. แล้วตรัสโลมเล้าเอาพระทัยให้อุ่นพระหทัย แล้วตรัสส่งให้เสด็จกลับไป.
ในเมื่อราตรีสว่าง พระนางมัทรีทรงทำกิจที่ควรทำทั้งปวง แล้วสวมกอดพระโอรสพระธิดา จุมพิต ณ พระเศียร แล้วประทานโอวาทว่า แน่ะแม่และพ่อ วันนี้มารดาฝันร้าย แม่และพ่ออย่าประมาท แล้วเสด็จไปเฝ้าพระมหาสัตว์ ทูลขอให้ พระมหาสัตว์ทรงรับพระโอรสและพระธิดา ด้วยคำว่า ขอพระองค์อย่าทรงประมาทในทารกทั้งสอง แล้วทรงถือกระเช้าและเสียมเป็นต้น เช็ดน้ำพระเนตรเข้าสู่ป่า เพื่อต้องการมูลผลาผล.
ฝ่ายชูชกคิดว่า บัดนี้ พระนางมัทรีจักเสด็จไปป่าแล้ว จึงลงจากเนินผามุ่งหน้ายังอาศรม เดินไปตามทางที่เดินได้เฉพาะคนเดียว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เสด็จออกหน้าพระบรรณศาลาประทับนั่ง ดุจสุวรรณปฏิมาตั้งอยู่ ณ แผ่นศิลา ทรงคิดว่า บัดนี้ ยาจกจักมา ก็ประทับทอดพระเนตรทางมาแห่งยาจกนั้น ดุจนักเลงสุราอยากดื่ม ฉะนั้น. พระราชโอรสและพระราชธิดาทรงเล่นอยู่ ใกล้พระบาทมูลแห่งพระราชบิดา พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรทางมา ก็ทอดพระเนตรเห็นชูชกพราหมณ์มาอยู่ ทรงเป็นเหมือนยกทานธุระซึ่งทอดทิ้งมา ๗ เดือน จึงตรัสว่า แน่ะพราหมณ์ผู้เจริญ แกจงมาเถิด ทรงโสมนัส เมื่อตรัสเรียกพระชาลีราชกุมาร จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

แน่ะพ่อชาลี พ่อจงลุกขึ้นยืน การมาของพวกยาจกในวันนี้ ปรากฏเหมือนการมาของพวกยาจกครั้งก่อนๆ พ่อเห็นเหมือนดังพราหมณ์ ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานติ์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โปรณํ วิย ทิสสติ ความว่า การมาของยาจกในวันนี้ ปรากฏเหมือนการมาของยาจกทั้งหลายแต่ทิศต่างๆ ในนครเชตุดรในกาลก่อน. บทว่า นนทิโย มาภิกีรเร ความว่า จำเดิมแต่กาลที่ เราเห็นพราหมณ์นั้นความโสมนัสก็แผ่คลุมเรา เป็นเหมือนเวลารดน้ำเย็น ๑,๐๐๐ หม้อ ลงบนศีรษะของผู้ที่ถูกแดดเผาในฤดูร้อน.

พระชาลีราชกุมารได้ทรงฟังพระราชบิดาตรัสดังนั้น จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่เสด็จพ่อ แม้เกล้ากระหม่อมก็เห็น ผู้นั้นปรากฏเหมือนพราหมณ์ที่เขาจะต้องการอะไรมาอยู่ เขาเป็นแขกของเราทั้งหลาย.


ก็และครั้นกราบทูลฉะนี้แล้ว ได้ทรงทำความเคารพพระมหาสัตว์ เสด็จลุกไปต้อนรับพราหมณ์ชูชก ตรัสถามถึงการจะช่วยรับเครื่องบริขาร. พราหมณ์ชูชกเห็นพระชาลีราชกุมาร คิดว่า เด็กคนนี้จักเป็นพระชาลีราชกุมาร พระราชโอรสของพระเวสสันดร เราจักกล่าวผรุสวาจาแก่เธอเสียตั้งแต่ต้นทีเดียว คิดฉะนี้แล้ว จึงชี้นิ้วมือหมายให้รู้ว่า ถอยไป ถอยไป ดังนี้. พระชาลีกุมารเสด็จหลีกไป ทรงคิดว่า ตาพราหมณ์นี้หยาบเหลือเกิน เป็นอย่างไรหนอ ทอดพระเนตรสรีระของชูชกก็เห็นบุรุษโทษ ๑๘ ประการ ฝ่ายพราหมณ์ชูชกเข้าไปเฝ้าพระโพธิสัตว์ เมื่อจะทำปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า
พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธกระมัง พระองค์มีความผาสุกสำราญกระมัง พระองค์ทรงยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกกระมัง มูลผลาหารมีมากกระมัง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานที่จะมีน้อยกระมัง ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ไม่ค่อยมีกระมัง.


ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เมื่อจะทรงทำปฏิสันถารกับชูชกนั้น จึงตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่ค่อยมีอาพาธ สุขสำราญดี ยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยเสาะแสวงหาผลไม้สะดวกดี และมูลผลาหารก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีบ้างก็เล็กน้อย ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแก่เรา.
เมื่อพวกเรามาอยู่ในป่า มีชีวิตเตรียมตรมตลอด ๗ เดือน เราเพิ่งเห็นพราหมณ์ผู้มีเพศอันประเสริฐ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม ภาชนะสำหรับบูชาเพลิงและหม้อน้ำ.
แม้นี้เป็นครั้งแรก ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาดีแล้วและมาไกลก็เหมือนใกล้ เชิญเข้าข้างใน ขอให้ท่านเจริญเถิด ชำระล้างเท้าของท่านเสีย. ดูก่อนพราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหวด ผลมะซาง และผลหมากเม่า เป็นผลไม้มีรสหวาน เล็กๆ น้อยๆ เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ที่ดีๆ เถิด.
ดูก่อนพราหมณ์ น้ำดื่มนี้เย็น นำมาแต่ซอกเขา ขอเชิญดื่มเถิด ถ้าปรารถนาจะดื่ม.


ก็และครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า พราหมณ์นี้จักไม่มาสู่ป่าใหญ่นี้ โดยไม่มีเหตุการณ์ เราจักถามแกถึงเหตุที่มาไม่ให้เนิ่นช้า จึงตรัสคาถานี้ว่า

ก็ท่านมาถึงป่าใหญ่ด้วยเหตุการณ์ เป็นไฉน เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เราเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วณเณน ได้แก่ ด้วยเหตุ.
บทว่า เหตุนา ได้แก่ ด้วยปัจจัย.

ชูชกทูลตอบว่า
ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมตลอดเวลา ย่อมไม่เหือดแห้ง ฉันใด พระองค์มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ฉันนั้น. ข้าพระองค์มาเพื่อทูลขอพระโอรสพระธิดากะพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระโอรสพระธิดา แก่ข้าพระองค์ผู้ทูลขอเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาริวโห ได้แก่ ห้วงน้ำในปัญจมหานที.
บทว่า น ขียติ ความว่า คนผู้ระหายมาสู่แม่น้ำ ใช้มือทั้งสองบ้าง ภาชนะทั้งหลายบ้างตักขึ้นดื่ม ก็ไม่หมดสิ้นไป
บทว่า เอวนตํ ยาจิตาคญฺฉึ ความว่า ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นผู้มีอย่างนี้เป็นรูปทีเดียว เพราะเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา จึงได้มาทูลขอกะพระองค์.
บทว่า ปุตเต เม เทหิ ยาจิโต ความว่า พระองค์อันข้าพระองค์ทูลขอแล้ว โปรดพระราชทานพระโอรสพระธิดาทั้งสองของพระองค์ เพื่อประโยชน์เป็นทาสของข้าพระองค์

พระเวสสันดรมหาสัตว์ได้ทรงสดับคำของชูชกดังนั้น ก็ทรงโสมนัส ทรงยังเชิงบรรพตให้บันลือลั่น ดุจบุคคลวางถุงเต็มด้วยกหาปณะหนึ่งพันในมือของบุคคลที่เหยียดออกรับ ฉะนั้น ตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เรายกให้ ไม่หวั่นไหว ท่านจงเป็นใหญ่นำไปเถิด พระนางมัทรีราชบุตรีเสด็จไปป่า เพื่อแสวงหาผลาผลแต่เช้า จักกลับมาเวลาเย็น. ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงอยู่ค้างเสียคืนหนึ่งก่อน รุ่งขึ้นเช้าจึงไป พากุมารกุมารีซึ่งพระมารดาของเธอให้สรงแล้ว สูดดมที่เศียรแล้ว ประดับระเบียบดอกไม้ ไปในมรรคาที่ปกคลุม ด้วยนานาบุปผชาติ ประดับด้วยนานาคันธชาติ เกลื่อนไปด้วยมูลผลาหาร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิสสโร ความว่า ท่านจงเป็นใหญ่ คือเป็นเจ้าของพระโอรสพระธิดาทั้งสองของเรา นำเขาไป แต่ยังมีเหตุการณ์นี้. อีกอย่างหนึ่ง คือ พระราชบุตรีมัทรีผู้เป็นพระมารดาของกุมารกุมารีเหล่านี้ ไปหาผลาผลแต่เช้า จักกลับมาจากป่าเวลาเย็น ท่านบริโภคผลาผลอร่อยๆ ที่พระนางมัทรีนั้นนำมา วันนี้พักอยู่คืนหนึ่งในป่านี้แหละ แล้วค่อยพาเด็กทั้งสองไปแต่เช้าทีเดียว.
บทว่า ตสสา นหาเต ได้แก่ พระนางมัทรีสรงให้แล้ว. บทว่า อุปสึฆาเต ได้แก่ สูดดมเศียรแล้ว. บทว่า อถ เน มาลธาริเน ได้แก่ ตกแต่งด้วยระเบียบดอกไม้อันวิจิตร นำระเบียบดอกไม้นั้นไปด้วย. ก็บทว่า อถ เน ท่านเขียนไว้ในคัมภีร์บาลี เนื้อความของบทนั้นท่านมิได้วิจารณ์ไว้. บทว่า มูลผลากิณเณ ความว่า เกลื่อนไปด้วยมูลผลาผลต่างๆ ที่ให้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เสบียงในมรรคา.

ชูชกกล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ไม่ชอบใจอยู่แรม ข้าพระองค์ชอบใจกลับไป แม้อันตรายจะพึงมีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็ต้องไปทีเดียว เพราะว่า สตรีทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอ เป็นผู้ทำอันตราย รู้มนต์ ถือเอาสิ่งทั้งปวงโดยเบื้องซ้าย เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระศรัทธา พระองค์อย่าได้ทรงเห็นพระมารดาของพระปิโยรสทั้งสองเลย พระมารดาจะทำอันตราย ข้าพระองค์จะต้องไปทีเดียว ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสพระธิดาทั้งสองมา พระโอรสพระธิดาทั้งสองอย่าต้องพบพระมารดาเลย.
เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานด้วยพระศรัทธา บุญก็ย่อมเจริญทั่วด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระราชฤาษี ขอพระองค์ตรัสเรียกพระราชบุตรพระราชบุตรีมา พระราชบุตรพระราชบุตรีทั้งสองอย่าต้องพบพระมารดาเลย พระองค์พระราชทานทรัพย์แก่ยาจกเช่นข้าพระองค์แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นํ ในบาทคาถาว่า น เหตา ยาจโยคี นํ นี้ เป็นเพียงนิบาต มีคำอธิบายว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ธรรมดาสตรีเหล่านี้เป็นผู้ไม่ควรจะขอเลย คือย่อมเป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอโดยแท้. บทว่า อนตรายสส การิยา ความว่า ย่อมกระทำอันตรายแก่บุญของทายก กระทำอันตรายแก่ลาภของยาจก. บทว่า มนตํ ความว่า สตรีทั้งหลายย่อมรู้มายา. บทว่า วามโต ความว่า ถือเอาสิ่งทั้งปวงโดยเบื้องซ้าย ไม่ถือเอาโดยเบื้องขวา. บทว่า สทธาย ทานํ ททโต ความว่า เมื่อพระองค์ทรงเชื่อกรรม และผลแห่งกรรมบริจาคทาน. บทว่า มาสํ ความว่า อย่าต้องพบพระมารดาของพระกุมารกุมารีเหล่านั้นเลย. บทว่า กยิรา แปลว่า พึงกระทำ. บทว่า อามนตยสสุ ความว่า ชูชกทูลว่า ขอพระองค์โปรดให้ทราบว่าจะส่งไปกับข้าพระองค์. บทว่า ททโต ได้แก่ เมื่อทรงบริจาค.

พระเวสสันดรตรัสว่า
ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะพบพระมเหสี ผู้มีวัตรอันงามของข้าไซร้ ท่านจงถวายชาลีกุมารและกัณหาชินากุมารีทั้งสองนี้แด่พระเจ้าสญชัยผู้เป็นพระอัยกา พระอัยกาทอดพระเนตรเห็นพระกุมารกุมารีทั้งสองนี้ผู้มีเสียงไพเราะเจรจาน่ารัก จักทรงปีติดีพระทัย พระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยยกสส ได้แก่ แด่พระเจ้าสญชัยมหาราชผู้เป็นพระชนกนาถของเรา. บทว่า ทสสติ เต ความว่า พระเจ้าสญชัยมหาราชพระองค์นั้นจักพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่ท่าน.

ชูชกทูลว่า
ข้าแต่พระราชบุตร ข้าพระองค์กลัวต่อข้อหาชิงพระกุมารกุมารีแล้วจับข้าพระองค์ไว้ ขอพระองค์โปรดฟังข้าพระองค์ พระเจ้าสญชัยมหาราชพึงพระราชทานตัวข้าพระองค์แก่อำมาตย์ทั้งหลาย เพื่อลงราชทัณฑ์ หรือพึงให้ข้าพระองค์ขายพระโอรสพระธิดา หรือพึงประหารชีวิตเสีย ข้าพระองค์ขาดจากทรัพย์ และทาสทาสี นางอมิตตตาปนาพราหมณีจะพึงติเตียน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจเฉทนสส ได้แก่ ต่อข้อหาชิงกุมารกุมารีแล้วจับ. บทว่า ราชทณฑาย มํ ทชชา ความว่า พระเจ้ากรุงสญชัยพึงพระราชทานข้าพระองค์แก่อำมาตย์ทั้งหลาย เพื่อลงราชทัณฑ์ ด้วยข้อหาอย่างนี้ว่า พราหมณ์คนนี้เป็นโจรลักเด็ก จงลงราชทัณฑ์แก่มัน. บทว่า คาเรยหสส พรหมพนธุยา ความว่า และข้าพระองค์จักพึงถูกนางอมิตตตาปนาพราหมณีติเตียน.

พระเวสสันดรตรัสว่า
พระมหาราชเจ้าผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ สถิตอยู่ในธรรม ทอดพระเนตรเห็น พระกุมารกุมารีผู้มีเสียงไพเราะ เจรจาน่ารักนี้ ทรงได้ปีติโสมนัส จักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก.


ชูชกทูลว่า
ข้าพระองค์จักทำตามรับสั่งไม่ได้ ข้าพระองค์จักนำทารกทั้งสองไปให้บำเรอนางอมิตตตาปนาพราหมณี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทารเกว ความว่า ข้าพระองค์ไม่ต้องการทรัพย์อย่างอื่น ข้าพระองค์จักนำสองทารกเหล่านี้ ไปให้บำเรอพราหมณีของข้าพระองค์.

พระชาลีราชกุมารและพระกัณหาชินาราชกุมารี ได้สดับผรุสวาจานั้นของชูชก ก็เกรงกลัว พากันเสด็จไปหลังบรรณศาลา แล้วหนีไปจากที่แม้นั้นซ่อนองค์ที่ชัฏพุ่มไม้ องค์สั่นทอดพระเนตรเห็น พระองค์เหมือนถูกชูชกมาจับไป แม้ในที่นั้น เมื่อไม่สามารถจะดำรงอยู่ ณ ที่ไรๆ ก็วิ่งไปแต่ที่นี้บ้างๆ เลยเสด็จไปถึงสระโบกขรณีสี่เหลี่ยม ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้มั่น ตกพระทัยกลัวลงสู่น้ำ เอาใบบัววางไว้บนพระเศียร เอาน้ำบังองค์ประทับยืนอยู่.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้นพระกุมารกุมารีได้ฟังคำที่ชูชกผู้ร้ายกาจกล่าว ก็สะทกสะท้าน ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินาสององค์ พากันวิ่งไปแต่ที่นั้นๆ.


ฝ่ายชูชกไม่เห็นสองกุมาร จึงพูดรุกรานพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระเวสสันดรผู้เจริญ พระองค์ประทานกุมารกุมารีแก่ข้าพระองค์ บัดนี้ ครั้นข้าพระองค์ทูลว่า ข้าพระองค์จักไม่ไปเชตุดรราชธานี จักนำกุมารกุมารี ไปให้บำเรออมิตตตาปนาพราหมณีของข้าพระองค์ พระองค์ก็ให้สัญญาโบกไม้โบกมือ ให้พระโอรสพระธิดาหนีไปเสีย แล้วนั่งทำเป็นไม่รู้ คนพูดมุสาเช่นพระองค์ เห็นจะไม่มีในโลก.
ฝ่ายพระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นก็ตกพระทัย ทรงดำริว่า เด็กทั้งสองจักหนีไป จึงรับสั่งว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านอย่าคิดเลย เราจักนำตัวมาทั้งสองคน ตรัสฉะนี้ แล้วเสด็จลุกขึ้นไปหลังบรรณศาลา ก็ทรงทราบว่า พระโอรสพระธิดาเข้าไปสู่ป่าชัฏ จึงเสด็จไปสู่ฝั่งสระโบกขรณี ตามรอยพระบาทของสองกุมารกุมารีนั้น ทอดพระเนตรเห็นรอยพระบาทลงสู่น้ำ ก็ทรงทราบว่า พระโอรสและพระธิดาจักลงไปยืนอยู่ในน้ำ จึงตรัสเรียกว่า พ่อชาลี แล้วตรัสคาถาว่า

ดูก่อนพ่อชาลีพระลูกรัก พ่อจงมา จงเพิ่มพูนบารมีของพ่อให้เต็ม จงช่วยโสรจสรงหทัยของพ่อให้เย็นฉ่ำ จงทำตามคำของพ่อ ขอเจ้าทั้งสองจงเป็นดังยานนาวาของพ่อ ไม่หวั่นไหวต่อสาคร คือภพ. พ่อจักข้ามฝั่ง คือชาติ จักยังมนุษย์ทั้งเทวดาให้ข้ามด้วย.


พระชาลีราชกุมารได้ทรงสดับพระดำรัสของพระราชบิดา จึงทรงคิดว่า
ตาพราหมณ์จงทำเราตามใจชอบเถิด เราจักไม่กล่าวคำสองกับพระราชบิดา จึงโผล่พระเศียรแหวกใบบัวออกเสด็จขึ้นจากน้ำ หมอบแทบพระบาทเบื้องขวาแห่งพระมหาสัตว์ กอดข้อพระบาทไว้มั่น ทรงกันแสง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสถามพระชาลีว่า แน่ะพ่อ น้องหญิงของพ่อไปไหน. พระชาลีทูลสนองว่า ข้าแต่พระราชบิดา ธรรมดาว่าสัตว์ทั้งหลาย เมื่อภัยเกิดขึ้น ก็ย่อมรักษาตัวทีเดียว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ก็ทรงทราบว่า ลูกทั้งสองของเราจักนัดหมายกัน จึงตรัสเรียกว่า แม่กัณหา แม่จงมา แล้วตรัสคาถาว่า
ดูก่อนแม่กัณหาธิดารัก แม่จงมา จงเพิ่มพูนทานบารมีที่รักของพ่อ จงช่วยโสรจสรงหทัยของพ่อให้เย็นฉ่ำ จงทำตามคำของพ่อ ขอเจ้าทั้งสองจงเป็นดังยานนาวาของพ่อ ไม่หวั่นไหวต่อสาคร คือภพ. พ่อจักข้ามฝั่ง คือชาติ จักยกขึ้นซึ่งมนุษย์ทั้งเทวดาด้วย.

พระนางกัณหาชินาราชกุมารีได้ทรงสดับพระดำรัสของพระราชบิดา จึงทรงคิดว่า
เราจักไม่กล่าวคำสองกับพระราชบิดา จึงเสด็จขึ้นจากน้ำเหมือนกัน หมอบแทบพระบาทเบื้องซ้ายแห่งพระมหาสัตว์. กอดข้อพระบาทไว้มั่นทรงกันแสง. พระอัสสุชลของสองพระกุมารกุมารี ตกลงยังหลังพระบาทแห่งพระมหาสัตว์. ซึ่งมีพรรณดุจดอกปทุมบาน พระอัสสุชลของพระมหาสัตว์ก็ตกลงบน พระปฤษฎางค์แห่งสองพระกุมารกุมารี ซึ่งเช่นกับแผ่นทองคำ.

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ถึงความกวัดแกว่ง ราวกะว่ามีพระทัยหดหู่ ทรงลูบพระปฤษฎางค์แห่งราชกุมารกุมารี ด้วยฝ่าพระหัตถ์อันอ่อนนุ่ม. ยังพระราชกุมารกุมารีให้ลุกขึ้น ปลอบโยนแล้วตรัสว่า แน่ะพ่อชาลี เจ้าไม่รู้ว่า พ่อวิตกถึงทานบารมีของพ่อดอกหรือ. เจ้าจงยังอัธยาศัยของพ่อให้ถึงที่สุด. ตรัสฉะนี้ แล้วประทับยืนกำหนดราคาราชบุตรราชบุตรี ในที่นั้น. ดุจนายโคบาลตีราคาโค ฉะนั้น.
ได้ยินว่า พระมหาสัตว์ตรัสเรียกพระโอรสมาตรัสว่า
แน่ะพ่อชาลี ถ้าพ่อใคร่เพื่อจะเป็นไท พ่อควรให้ทองคำพันลิ่มแก่พราหมณ์ชูชก จึงควรเป็นไท. ก็กนิษฐภคินีของพ่อเป็นผู้ทรงอุดมรูป ใครๆ ชาติต่ำพึงให้ทรัพย์เล็กน้อยแก่พราหมณ์ ทำกนิษฐภคินีของพ่อให้เป็นไท ทำให้แตกชาติ ยกเสียแต่พระราชาใครจะให้สิ่งทั้งปวงอย่างละ ๑๐๐ ย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น กนิษฐภคินีของพ่ออยากจะเป็นไท พึงให้สิ่งทั้งปวงอย่างละ ๑๐๐ อย่างนี้ คือ ทาสี ทาส ช้าง ม้า โค อย่างละ ๑๐๐ และทองคำ ๑๐๐ ลิ่ม แก่ชูชก แล้วจงเป็นไทเถิด.
พระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงกำหนดราคาพระราชกุมารกุมารีอย่างนี้แล้ว ทรงปลอบโยนแล้วเสด็จไปสู่อาศรม จับพระเต้าน้ำ เรียกชูชกมาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ จงมานี่ แล้วทรงหลั่งน้ำลงในมือชูชก ทำให้เนื่องด้วยพระสัพพัญญุญาณ. ตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ พระสัพพัญญุตญาณย่อมเป็นที่รักยิ่งกว่า บุตรและบุตรีผู้เป็นที่รักกว่าร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า.
เมื่อจะทรงยังปฐพีให้บันลือลั่น ได้พระราชทานปิยบุตรทานแก่พราหมณ์ชูชก.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น พระเวสสันดรราชฤาษีผู้ยังแคว้นของชาวสีพีให้เจริญ ทรงพาพระชาลีราชโอรส และพระกัณหาชินาราชธิดาทั้งสององค์ มาพระราชทานให้เป็นปุตตกทานแก่พราหมณ์ชูชก. แต่นั้น พระเวสสันดรราชฤาษีทรงพาพระชาลีราชโอรส และพระกัณหาชินาราชธิดาทั้งสององค์มา. ทรงปลื้มพระมนัสพระราชทานพระราชโอรส และพระราชธิดาให้เป็นทานอันอุดม แก่พราหมณ์ชูชก.
อัศจรรย์อันให้สยดสยอง และยังโลมชาติให้ชูชัน ในเมื่อพระกุมารกุมารีทั้งสอง อันพระเวสสันดรพระราชทานแก่พราหมณ์ชูชก เมทนีดลก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว ได้เกิดมีแล้ว ในกาลนั้น.
อัศจรรย์อันให้สยดสยอง และยังโลมชาติให้ชูชัน พระเวสสันดรราชฤาษีผู้ยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้เจริญ อันผู้ประชุมชนกระทำอัญชลี ได้พระราชทานพระราชกุมารกุมารีผู้กำลังเจริญในความสุข ให้เป็นทานแก่พราหมณ์ชูชก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตโต ได้แก่ ทรงเกิดพระปีติโสมนัส.
บทว่า ตทาสิ ยํ ภึสนกํ ความว่า ในกาลนั้น แผ่นดินใหญ่หนาแน่นสองแสนสี่หมื่นโยชน์ อึกทึกกึกก้อง คำรามลั่น สั่นสะเทือน เสมือนช้างพลายตกมัน ด้วยเดชแห่งทานบารมี ในกาลนั้น สาครก็กระเพื่อม สิเนรุราชบรรพตก็น้อมยอดลงไปทางเขาวงกตตั้งอยู่ คล้ายหน่อหวายที่ต้มให้สุกดีแล้ว ท้าวสักกเทวราชทรงปรบพระหัตถ์ มหาพรหมได้ประทานสาธุการ เทวดาทั้งหมดก็ได้ให้สาธุการ ได้เกิดโกลาหลเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก ฟ้าคำรามพร้อมกับเสียงปฐพีให้ฝนตกลงชั่วขณะ สายฟ้าแลบ ในสมัยมิใช่กาล สัตว์จตุบาทมีราชสีห์ เป็นต้น ที่อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้บันลือเสียงเป็นอันเดียวกัน ทั่วหิมวันต์ อัศจรรย์อันน่าสยดสยองได้มี เห็นปานฉะนี้ แต่ในบาลีท่านกล่าวเพียงว่า เมทนีสะเทือน เท่านั้นเอง.
บทว่า ยํ แปลว่า ในกาลใด.
บทว่า กุมาเร สุขวจฉิเต ความว่า ได้พระราชทานพระกุมารกุมารีที่เจริญอยู่ในความสุข คืออยู่ในความสุขบริจาคอย่างเป็นสุข.
บทว่า อทา ทานํ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ พระสัพพัญญุตญาณย่อมเป็นที่รักยิ่งกว่าบุตรบุตรีของเรา โดยร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ดังนั้น จึงได้พระราชทานเพื่อประโยชน์พระสัพพัญญุญาณนั้น.

พระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญบุตรทานแล้ว ยังพระปีติให้เกิดขึ้นว่า โอ ทานของเรา เราได้ให้ดีแล้วหนอ. แล้วทอดพระเนตรดูพระกุมารกุมารีประทับยืนอยู่.
ฝ่ายชูชกเข้าไปสู่ชัฏป่า เอาฟันกัดเถาวัลย์ถือมา ผูกพระหัตถ์เบื้องขวาแห่งพระชาลีกุมาร รวมกันกับพระหัตถ์เบื้องซ้ายแห่งพระกัณหาชินากุมารี ถือปลายเถาวัลย์นั้นไว้ โบยตีพาไป.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น พราหมณ์ผู้ร้ายกาจนั้น ก็เอาฟันกัดเถาวัลย์ ผูกพระกรแห่งพระกุมารกุมารี ด้วยเถาวัลย์อีกข้างหนึ่งไว้ แต่นั้น พราหมณ์ถือเถาวัลย์ ถือไม้เฆี่ยนตี นำพระกุมารกุมารีไปต่อหน้าที่นั่งแห่งพระเวสสันดรสีวีราช.


พระฉวีของพระชาลีพระกัณหาชินาแตกตรงที่ที่ถูกตีแล้วๆนั้นๆ พระโลหิตไหล. พระชาลีและพระกัณหาชินาต่างเอาพระปฤษฎางค์ เข้ารับไม้แทนกันและกัน ในเมื่อถูกตี ลำดับนั้น ชูชกพลาดล้มลงในสถานที่ไม่เสมอแห่งหนึ่ง เถาวัลย์อันแข็งเคลื่อนหลุดจากพระหัตถ์อันอ่อนแห่งพระกุมารกุมารี พระกุมารกุมารีทรงกันแสงหนีไปหาพระมหาสัตว์.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระชาลีและพระกัณหาหลีกไปจากที่นั้น พ้นพราหมณ์ชูชก มีพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชล พระชาลีชะเง้อดูพระบิดา องค์สั่นดุจใบอัสสัตถพฤกษ์ อภิวาทพระบาทพระบิดา ครั้นถวายบังคมพระบาทพระบิดาแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
ข้าแต่พระบิดา พระมารดาเสด็จออกไปป่าแล้ว พระบิดาประทานหม่อมฉันทั้งสอง ขอพระบิดาจงประทานหม่อมฉันทั้งสอง ต่อเมื่อหม่อมฉันทั้งสองได้พบพระมารดาก่อนเถิด
ข้าแต่พระบิดา พระมารดาเสด็จออกไปป่าแล้ว พระบิดาประทานหม่อมฉันทั้งสอง ขอพระบิดาอย่าเพิ่งประทานหม่อมฉันทั้งสอง จนกว่าพระมารดาของหม่อมฉันทั้งสองจะเสด็จกลับมา พราหมณ์ชูชกนี้จงขายหรือจงฆ่า ในกาลนั้นแน่แท้.
ชูชกนี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือตีนแบ ๑ เล็บเน่า ๑ มีปลีน่องย้อยยาน ๑ มีริมฝีปากบนยาว ๑ น้ำลายไหล ๑ มีเขี้ยวยาวออกจากริมฝีปากดังเขี้ยวหมู ๑ จมูกหัก ๑ ท้องโตดังหม้อ ๑ หลังค่อม ๑ ตาเหล่ ๑ หนวดสีเหมือนทองแดง ๑ ผมสีเหลือง ๑ เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เกลื่อนไปด้วยกระดำ ๑ ตาเหลือกเหลือง ๑ เอวคด หลังโกง คอเอียง ๑ ขากาง ๑ เดินตีนลั่นดังเผาะๆ ๑ ขนตามตัวดกและหยาบ ๑.
นุ่งห่มหนังเสือเหลือง เป็นดังอมนุษย์น่ากลัว แกเป็นอมนุษย์ หรือยักษ์กินเนื้อและเลือด มาแต่บ้านสู่ป่า ทูลขอทรัพย์พระบิดา. ข้าแต่พระบิดาพระองค์ทอดพระเนตร เห็นหม่อมฉันทั้งสองอันแก ผู้ดุจปีศาจนำไป หรือหนอ พระหฤทัยของพระองค์ ราวกะผูกมั่นด้วยเหล็ก แน่ทีเดียว.
พราหมณ์ชูชกผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้ร้ายกาจเกินเปรียบ ผูกหม่อมฉันทั้งสอง และตีหม่อมฉันทั้งสอง เหมือนตีฝูงโค พระองค์ไม่ทรงทราบหรือ น้องกัณหาจงอยู่ ณ ที่นี้ เพราะเธอยังไม่รู้จักทุกข์สักนิดเดียว.
ลูกมฤคีที่ยังกินนม พรากไปจากฝูงก็ร้องไห้หาแม่เพื่อจะกินนม ฉันใด น้องกัณหาชินา เมื่อไม่เห็นพระมารดา ก็จะกันแสงเหี่ยวแห้งสิ้นชนมชีพ ฉันนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทกขสิ ความว่า ไปสำนักพระมหาสัตว์ หวาดหวั่นไหวแลดูอยู่. บทว่า เวธํ ได้แก่ ตัวสั่น. บทว่า ตวญจ โน ตาต ทสสสิ ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์ได้ประทานหม่อมฉันทั้งสองให้แก่พราหมณ์ ในเมื่อเสด็จแม่ยังมิได้กลับมาเลย ขอเสด็จพ่ออย่าได้ทรงกระทำอย่างนี้เลย โปรดยับยั้งไว้ก่อน พระเจ้าค่ะ จนกว่า หม่อมฉันทั้งสองจะได้เห็นเสด็จแม่ ต่อนั้น พระองค์จึงค่อยประทาน ในกาลที่หม่อมฉันทั้งสองได้เห็นเสด็จแม่แล้ว พระเจ้าค่ะ.
บทว่า วิกกีณาตุ หนาตุ วา ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ในเวลาที่เสด็จแม่เสด็จมา พราหมณ์ชูชกนี้จงขายหรือจงฆ่าหม่อมฉันทั้งสองก็ตาม หรือจงทำตามที่ปรารถนาเถิด.
อนึ่ง พระชาลีราชกุมารได้กราบทูลบุรุษโทษ ๑๘ ประการว่า พราหมณ์กักขฬะหยาบช้านี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลงกปาโท ได้แก่ ตีนแป. บทว่า อทธนโข ได้แก่ เล็บเน่า. บทว่า โอพทธปิณฑิโก ได้แก่ มีเนื้อปลีแข้งหย่อนลงข้างล่าง. บทว่า ทีโฆตตโรฏโฐ ได้แก่ ประกอบด้วยริมฝีปากบนยาวยื่นปิดปาก. บทว่า จปโล ได้แก่ มีน้ำลายไหล. บทว่า กฬาโร ได้แก่ ประกอบด้วยเขี้ยวยื่นออกเหมือนเขี้ยวหมู. บทว่า ภคคนาสโก ได้แก่ ประกอบด้วยจมูกหักคือไม่เสมอกัน. บทว่า โลหมสสุ ได้แก่ มีหนวดมีสีเหมือนทองแดง. บทว่า หริตเกโส ได้แก่ มีผมสีเหมือนทองงอกหยิก. บทว่า วลีนํ ได้แก่ หนังย่นเป็นเกลียวทั่วตัว. บทว่า ติลกาหโก ได้แก่ เกลื่อนไปด้วยกระดำ. บทว่า ปิงคโล ได้แก่ มีตาเหลือกเหลือง คือประกอบด้วยตาทั้งสองคล้ายตาแมว. บทว่า วินโต ได้แก่ มีคดในที่ ๓ แห่ง คือ เอว หลัง คอ. บทว่า วิกโฏ ได้แก่ มีเท้าลั่น. ท่านกล่าวว่า มีที่ต่อกระดูกมีเสียง ก็มี คือประกอบด้วยที่ต่อกระดูกมีเสียงดังเผาะๆ. บทว่า พรหา ได้แก่ ยาว.
บทว่า อมนุสโส ความว่า พราหมณ์นี้มิใช่มนุษย์ เป็นยักษ์ที่เที่ยวไปในป่า ด้วยเพศของมนุษย์เป็นแน่ นะเสด็จพ่อ. บทว่า ภยานโก ได้แก่ น่ากลัวเหลือเกิน. บทว่า มนุสโส อุทาหุ ยกโข ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ถ้าใครๆ เห็นพราหมณ์นี้แล้วถาม ก็ควรจะตอบว่า กินเนื้อและเลือดเป็นอาหาร. บทว่า ธนํ ตํ ตาต ยาจติ ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ พราหมณ์นี้ประสงค์จะกินเนื้อของหม่อมฉันทั้งสอง. จึงทูลขอทรัพย์ คือบุตรต่อพระองค์. บทว่า อุทิกขสิ ได้แก่ เพ่งดู. บทว่า อสมา นูน เต หทยํ ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาบิดามารดาทั้งหลาย ย่อมมีหทัยอ่อนในบุตรทั้งหลาย ไม่ทนดูความทุกข์ของบุตรทั้งหลายอยู่ได้. แต่พระหฤทัยของพระองค์เห็นจะเหมือนแผ่นหิน. อีกอย่างหนึ่ง หฤทัยของพระองค์คงจะใช้เหล็กผูกไว้มั่น ฉะนั้น. เมื่อหม่อมฉันทั้งสองมีความทุกข์เกิดขึ้น เห็นปานฉะนี้. เสด็จพ่อจึงไม่เดือดร้อน. บทว่า น ชานาสิ ความว่า พระองค์ประทับนั่งอยู่เหมือนไม่รู้สึก.
บทว่า อจจายิเกน ลุทเทน ได้แก่ ร้ายกาจเหลือเกิน คือเกินประมาณ. บทว่า โน โย ความว่า พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่า หม่อมฉันสองพี่น้องถูกพราหมณ์ผูกมัดไว้. บทว่า สุมภติ ได้แก่ เฆี่ยนตี. บทว่า อิเธว อจฉตํ ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ น้องกัณหาชินานี้ยังไม่รู้จักความทุกข์ยากอะไรๆ เลย เมื่อไม่เห็นเสด็จแม่ก็จะกันแสง จักเหี่ยวแห้งสิ้นชนมชีพไป เหมือนลูกมฤคีน้อยที่ยังกินนม พรากจากฝูง เมื่อไม่เห็นแม่ ย่อมร้องคร่ำครวญอยากกินนม ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงประทาน หม่อมฉันเท่านั้นแก่พราหมณ์ หม่อมฉันจักไป ขอให้น้องกัณหาชินานี้อยู่ในที่นี้แหละ.

เมื่อพระชาลีราชกุมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็มิได้ตรัสอะไรๆ แต่นั้น พระชาลีราชกุมาร เมื่อทรงคร่ำครวญปรารภถึงพระชนกชนนี จึงตรัสว่า
ทุกข์เห็นปานดังนี้ของลูกนี้ ไม่สู้กระไร เพราะทุกข์นี้ลูกผู้ชายพึงได้รับ แต่การที่ลูกไม่ได้พบพระมารดา เป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์ เห็นปานดังนี้,
พระมารดาพระบิดา เมื่อไม่ทอดพระเนตร เห็นกัณหาชินากุมารีผู้งามน่าดู ก็จะเป็นผู้กำพร้าทรงกันแสง สิ้นราตรีนาน พระมารดาพระบิดา เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นกัณหาชินากุมารีผู้งามน่าดู ก็จะเป็นผู้กำพร้าทรงกันแสง อยู่นานในพระอาศรม พระมารดาพระบิดาจะเป็นผู้กำพร้าทรงกันแสงตลอดราตรีนาน จักเหี่ยวแห้งในกึ่งราตรีหรือตลอดราตรี ดุจแม่น้ำเหือดแห้งไป ฉะนั้น.
วันนี้ เราทั้งสองจะละรุกขชาติต่างๆ เช่นไม้หว้า ไม้ยางทรายซึ่งมีกิ่งห้อยย้อย และรุกขชาติที่มีผลต่างๆ เช่นไม้โพบาย ขนุน ไทร มะขวิด. วันนี้ เราทั้งสองจะละสวนและแม่น้ำซึ่งมีน้ำเย็น ที่เราเคยเล่นในกาลก่อน. วันนี้ เราทั้งสองจะละบุปผชาติต่างๆ บนภูผาซึ่งเคยทัดทรง ในกาลก่อน และผลไม้ต่างๆ บนภูผาซึ่งเคยบริโภคในกาลก่อน. วันนี้เราทั้งสองจะละตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ซึ่งพระบิดาทรงปั้นประทาน ที่เราเคยเล่นในกาลก่อน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุมุนา ความว่า ทุกข์นี้อันบุรุษผู้ท่องเที่ยวอยู่ในภพ พึงได้. บทว่า ตํ เม ทุกขตรํ อิโต ความว่า ทุกข์ของเรา เมื่อไม่ได้เห็นพระมารดานั้นเป็นทุกข์ยิ่งกว่า ทุกข์ที่เกิดแต่ถูกเฆี่ยนตีนี้ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า. บทว่า รุจฉติ ได้แก่ จักทรงกันแสง. บทว่า อฑฒรตเต ว รตเต วา ความว่า ทรงนึกถึงเราทั้งสอง จักทรงกันแสงนานตลอดกึ่งราตรี หรือตลอดราตรี. บทว่า อวสุสสติ ความว่า จักเหี่ยวแห้ง เหมือนแม่น้ำเล็กๆซึ่งมีน้ำน้อย คือจักเหี่ยวแห้งสิ้นพระชนม์ เหมือนแม่น้ำนั้นจักเหือดแห้งทันทีในเมื่ออรุณขึ้น ฉะนั้น พระชาลีราชกุมารกล่าวอย่างนี้ด้วยความประสงค์ด้วยประการฉะนี้. บทว่า เวทิสา ได้แก่ มีกิ่งห้อย. บทว่า ตานิ ความว่า รากไม้ดอกไม้ผลของต้นไม้เหล่าใดที่เราจับเล่นเป็นเวลานาน เราทั้งสองจะต้องละต้นไม้เหล่านั้นไปในวันนี้. บทว่า หตถิกา ได้แก่ ตุ๊กตาช้างที่พระบิดาปั้นให้เราทั้งสองเล่น.

เมื่อพระชาลีราชกุมารทรงคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ กับพระภคินีกัณหาชินา ชูชกก็มาโบยตีกุมารกุมารี พาตัวหลีกไป.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระราชกุมารกุมารีทั้งสอง เมื่อถูกชูชกนำไป ได้กราบทูลคำนี้แด่พระราชบิดาว่า ขอเสด็จพ่อโปรดรับสั่งแก่เสด็จแม่ว่าหม่อมฉันทั้งสองสบายดี และขอให้เสด็จพ่อจงทรงมีความสุขสำราญเถิด.
ขอเสด็จพ่อจงทรงประทานตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว เหล่านี้ของหม่อมฉันทั้งสองแด่เสด็จแม่ เสด็จแม่จักนำความโศกออกได้ ด้วยตุ๊กตาเหล่านี้.
เสด็จแม่ทอดพระเนตรเห็นเครื่องเล่น คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ของหม่อมฉันทั้งสองเหล่านี้นั้น จักทรงบรรเทาความเศร้าโศกเสียได้.


กาลนั้น ความเศร้าโศกมีกำลัง เพราะปรารภพระโอรสพระธิดา ได้เกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ พระหทัยมังสะของพระมหาสัตว์ได้เป็นของร้อน พระองค์ทรงหวั่นไหวด้วยความเศร้าโศก ดุจช้างพลายตกมันถูกไกรสรราชสีห์จับ และดุจดวงจันทร์เข้าไปในปากแห่งราหู ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ ด้วยภาวะของพระองค์ มีพระเนตรนองไปด้วยพระอัสสุชล เสด็จเข้าบรรณศาลา ทรงปริเทวนาการ อย่างน่าสงสาร.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น พระเวสสันดรราชขัตติยดาบสทรงบริจาคปิยบุตรทาน แล้วเสด็จเข้าสู่บรรณศาลา ทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร.


คาถาแสดงการพร่ำรำพันของพระมหาสัตว์มีดังต่อไปนี้
วันนี้ เด็กทั้งสองจะเป็นอย่างไรหนอ หิว กลัว เดินทาง ร้องไห้ เวลาเย็นบริโภคอาหาร. ใครจะให้โภชนาหารแก่เด็กทั้งสองนั้น. เด็กทั้งสองจะร้องขออาหารว่า แม่จ๋า หม่อมฉันทั้งสองหิว ขอเสด็จแม่จงประทานอาหารแก่หม่อมฉันทั้งสอง. เด็กทั้งสองดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ไม่มีรองพระบาท จะดำเนินไปตามหนทาง อย่างไรหนอ. เมื่อเด็กทั้งสองมีพระบาทพองบวมทั้งสองข้าง ใครจักจูงหัตถ์เธอทั้งสองไป ชูชกตีลูกๆ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อหน้าเรา แกช่างไม่อดสูแก่ใจบ้างเลยหนอ แกเป็นอลัชชีแท้ ใครที่มีความอดสูแก่ใจ จักกล้าตีทาสีทาส หรือคนใช้อื่นของเราที่สละให้แล้วได้ ชูชกแกด่าตีลูกๆ ที่รักของเราทั้งเห็นต่อตา ดุจคนหาปลา ตีปลาที่ติดอยู่ในปากแห.


บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า กนวชช ตัดบทเป็น กํ นุ อชช บทว่า อุปรุจเฉนติ ความว่า จักเดินร้องไห้ไปตลอดทาง ๖๐ โยชน์. บทว่า สํเวสนากาเล ได้แก่ เวลามหาชนเข้าเมือง. บทว่า โก เน ทสสติ ความว่า ใครจักให้โภชนาหารแก่ลูกๆ เหล่านั้น. บทว่า กถนนุ ปถํ คจฉนติ ความว่า จักเดินทาง ๖๐ โยชน์ได้อย่างไรหนอ. บทว่า ปตติกา ได้แก่ เว้นจากยาน คือช้างเป็นต้น. บทว่า อุปาหนา ได้แก่ มีเท้าละเอียดอ่อนเว้น แม้เพียงรองเท้าก็ไม่มี. บทว่า คเหสสติ ความว่า ใครจักช่วยประคอง เพื่อบรรเทาความลำบาก. บทว่า ทาสีทาสสฺส ความว่า เป็นทาสีเป็นทาส. บทว่า อญฺโญ วา ปน เปสิโย ความว่า ซึ่งเป็นคนใช้ คือผู้ทำการรับใช้คนที่ ๔ ของเราโดยสืบต่อๆ กันมาของทาสและนายทาสอย่างนี้ว่า เป็นทาสของผู้นั้นบ้าง เป็นทาสของผู้นั้นบ้าง รู้ว่า คนนี้เป็นทาสและนายทาสของพระเวสสันดรพระองค์นั้น ซึ่งทรงสละให้แล้วอย่างนี้. บทว่า โก ลชฺชี ความว่า ใครที่มีความอดสูแก่ใจจะกล้าตีด้วยคิดว่า การตีลูกๆ ของเราผู้ไม่มีความอดสูแก่ใจนั้น ไม่สมควรเลยหนอ. บทว่า วาริชสเสว ความว่า ของเรา เหมือนตีปลาที่ติดอยู่ในปากแห. อ อักษร ในบทว่า อปสฺสโต เป็นเพียงนิบาต ชูชกทั้งด่าทั้งตีลูกๆ ที่รักของเราทั้งเห็นต่อตาทีเดียว โอ ตานี่ทารุณเหลือเกิน.

ครั้งนั้น ความปริวิตกได้เกิดขึ้นแก่พระเวสสันดรมหาสัตว์ ด้วยทรงสิเนหาในพระโอรสและพระธิดาอย่างนี้ว่า พราหมณ์นี้เบียดเบียน ลูกทั้งสองของเราเหลือเกิน เมื่อไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ดังนี้ เราจักติดตามไปฆ่าพราหมณ์เสีย แล้วนำลูกทั้งสองกลับมา แต่นั้น กลับทรงหวนคิดได้ว่า การที่ลูกเราทั้งสองถูกเบียดเบียน เป็นความลำบากยิ่ง นั่นไม่ใช่ฐานะ การบริจาคปิยบุตรทานแล้ว จะเดือดร้อนภายหลัง หาใช่ธรรมของสัตบุรุษไม่.
คาถาแสดงความปริวิตก ๒ คาถาที่ส่องเนื้อความนั้น มีดังนี้ว่า
เราจะถือคันพระแสงศร เหน็บพระแสงขรรค์ไว้เบื้องซ้าย นำลูกทั้งสองของเรากลับมา เพราะการที่ลูกทั้งสองถูกเฆี่ยนตี นำมาซึ่งความทุกข์. แต่ลูกทั้งสองพึงลำบากยากเข็ญนั้น ไม่ใช่ฐานะ ก็ใครเล่ารู้ธรรมของสัตบุรุษ บำเพ็ญทานแล้วจะเดือดร้อนภายหลัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ ได้แก่ ธรรมคือประเพณีของพระโพธิสัตว์ในกาลก่อน ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์นั้นทรงอนุสรณ์ถึงประเพณีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในขณะนั้น แต่นั้น พระองค์ทรงดำริว่า พระโพธิสัตว์ทั้งปวงไม่ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร บริจาคภรรยา หาเคยเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ ก็ตัวเราก็เข้าอยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์เหล่านั้น แม้เราไม่บริจาคบุตรและชายา ก็ไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ทรงดำริฉะนี้แล้ว ยังสัญญาให้เกิดขึ้นว่า แน่ะเวสสันดร เป็นอย่างไร ท่านไม่รู้ความที่บุตรและบุตรีที่ให้ เพื่อเป็นทาสทาสีแก่ชนเหล่าอื่น จะนำมาซึ่งความทุกข์ดอกหรือ เราจักตามไปฆ่าชูชก ด้วยเหตุไรเล่า แล้วทรงดำริต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่า บริจาคทานแล้ว ตามเดือดร้อนภายหลัง หาสมควรแก่เราไม่. ทรงตัดพ้อพระองค์เองอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานสมาทานศีลมั่น โดยมนสิการว่า ถ้าชูชกฆ่าลูกทั้งสองของเรา จำเดิมแต่เวลาที่เราบริจาคแล้ว เราจะไม่กังวลอะไรๆ ทรงอธิษฐานมั่น ฉะนี้แล้ว. เสด็จออกจากบรรณศาลา ประทับนั่ง ณ แผ่นศิลา แทบทวารบรรณศาลา ดุจปฏิมาทองคำ ฉะนั้น.

ฝ่ายชูชกตีพระชาลีและพระกัณหาชินา ต่อหน้าพระที่นั่งแห่งพระมหาสัตว์ นำไป.
ลำดับนั้น พระชาลีราชกุมารตรัสรำพันว่า
ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ผู้ใดไม่มีมารดาของตน ผู้นั้นเหมือนไม่มีทั้งบิดามารดา. แน่ะน้องกัณหา มาเถิด เราจักตายด้วยกันอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ พระบิดาผู้จอมชนได้ประทานเราทั้งสองแก่พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ แกร้ายกาจเหลือเกิน แกตีเราทั้งสองเหมือนนายโคบาลตีฝูงโค. แน่ะน้องกัณหา เราทั้งสองจะละรุกขชาติต่างๆ เช่นไม้หว้า ไม้ยางทราย ซึ่งมีกิ่งห้อยย้อย และรุกขชาติที่มีผลต่างๆ เช่นไม้โพบาย ขนุน ไทร มะขวิด ละสวนและแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำเย็นที่เราเคยเล่นในกาลก่อน. ละบุปผชาติต่างๆ บนภูผา ซึ่งเคยทัดทรงในกาลก่อน. ละผลไม้ต่างๆ บนภูผา ซึ่งเคยบริโภคในกาลก่อน และละตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ที่พระบิดาทรงปั้นประทาน ที่เราเคยเล่นในกาลก่อน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสส ความว่า มารดาของตนไม่มีในสำนักของผู้ใด.

ชูชกพราหมณ์พลาดล้มในสถานที่ไม่เสมอแห่งหนึ่งอีก เถาวัลย์ที่ผูกก็เคลื่อนหลุดจากพระหัตถ์ พระราชกุมารกุมารีทั้งสององค์มีพระกายสั่นดุจไก่ถูกตี หนีมาหาพระราชบิดาโดยเร็วพร้อมกัน.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ชาลีราชกุมารและกัณหาชินาราชกุมาร ทั้งสององค์ที่ถูกชูชกพราหมณ์นำไป พอหลุดพ้นจากแกมาได้ก็วิ่งไปสู่ สำนักพระเวสสันดรราชบิดา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตน เตน ความว่า ได้วิ่งไปหาพระราชบิดาของเธอทั้งสอง ของที่หลุดพ้นจากพราหมณ์ชูชกนั้น. อธิบายว่า วิ่งมาสู่สำนักของพระราชบิดา ทีเดียว.

ฝ่ายชูชกลุกขึ้นโดยเร็วถือเถาวัลย์และไม้ ท่วมไปด้วยความโกรธเหมือนไฟตั้งขึ้นแต่กัลป์ ฉะนั้น. มาแล้วกล่าวว่า หนูทั้งสองฉลาดหนีเหลือเกิน ผูกพระหัตถ์ทั้งสองแล้วนำพระกุมารกุมารีไปอีก.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น พราหมณ์ถือเถาวัลย์ถือไม้เฆี่ยนตี นำกุมารกุมารีไปต่อหน้าที่นั่งแห่งพระเวสสันดรสีวีราช.

เมื่อพระชาลีและพระกัณหาชินา อันชูชกนำไปอยู่อย่างนี้ พระกัณหาชินาเหลียวกลับมาทอดพระเนตรทูลพระราชบิดา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระกัณหาชินาราชกุมารีได้ทูลพระราชบิดาว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ พราหมณ์นี้ตีหม่อมฉันด้วยไม้ เหมือนนายตีทาสีที่เกิดในเรือน ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม แต่ตาพราหมณ์นี้หาเป็นดังนั้นไม่ ยักษ์มาด้วยเพศพราหมณ์ เพื่อจะนำหม่อมฉันสองพี่น้องไปเคี้ยวกิน หม่อมฉันสองพี่น้องอันปีศาจนำไปอยู่ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นหรือหนอ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ได้แก่ พระเจ้าสีวีราชผู้พระชนกซึ่งประทับนั่งทอดพระเนตรดูอยู่นั้น. บทว่า ทาสิยํ ได้แก่ ทาสี. บทว่า ขาทิตุํ ได้แก่ เพื่อต้องการจะเคี้ยวกิน.

พระกัณหาชินาราชกุมารีทรงคร่ำครวญว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ก็ตาพราหมณ์นี้นำหม่อมฉันสองพี่น้อง ไปยังไม่ทันถึงประตูป่าเลย แกมีตาทั้งคู่แดงเป็นเหมือนมีโลหิตไหล เพื่อจะเคี้ยวกิน คือนำไปด้วยหวังว่า จักเคี้ยวกินเสียทั้งหมด พระองค์ก็ทรงเห็น หม่อมฉันสองพี่น้องถูกนำไปเพื่อเคี้ยวกิน หรือเพื่อต้มเสีย ขอพระองค์จงมีความสุขทุกเมื่อเถิด.
เมื่อพระกัณหาชินากุมารีน้อยทรงพิลาปรำพันองค์สั่นเสด็จไปอยู่ พระเวสสันดรมหาสัตว์ทรงเศร้าโศกเป็นกำลัง พระหทัยวัตถุร้อน เมื่อพระนาสิกไม่พอจะระบายพระอัสสาสะปัสสาสะ ก็ต้องทรงปล่อยให้พระอัสสาสะปัสสาสะ อันร้อนออกทางพระโอษฐ์ พระอัสสุเป็นดังหยาดพระโลหิตไหลออกจากพระเนตรทั้งสอง. พระเวสสันดรมหาสัตว์ทรงดำริว่า ทุกข์เห็นปานนี้เกิดเพราะ โทษแห่งความเสน่หา หาใช่เพราะเหตุการณ์อื่นไม่ เพราะฉะนั้น ควรเราเป็นผู้มีจิตมัธยัสถ์วางอารมณ์เป็นกลาง อย่าทำความเสน่หา ทรงดำริฉะนี้แล้ว ทรงบรรเทาความโศกเห็นปานนั้นเสีย ด้วยกำลังพระญาณของพระองค์ ประทับนั่งด้วยพระอาการเป็นปกติ.

พระกัณหากุมารียังเสด็จไม่ถึงประตูป่า ก็ทรงพิลาปรำพันพลาง เสด็จไปว่า
เท้าน้อยๆ ของเราสองพี่น้องนี้ นำมาซึ่งความทุกข์ ทั้งหนทางก็ยาวไกลไปได้ยาก เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงลงต่ำ พราหมณ์ก็ให้เราสองพี่น้องเดินไป ข้าพเจ้าสองพี่น้องขอน้อมนบไหว้ด้วยเศียรเกล้าต่อเทพเจ้าเหล่าที่สิงสถิตอยู่ ณ ภูผาพนาลัย และที่สระปทุมชาติ และแม่น้ำซึ่งมีท่าอันดี ทั้งที่ติณชาติลดาวัลย์ สรรพพฤกษาที่เป็นโอสถอันเกิด ณ บรรพตและแนวไพร ขอเทพเจ้าเหล่านั้นจงทูลแด่พระมารดาว่า หม่อมฉันสองพี่น้องมีความสำราญ.
พราหมณ์นี้กำลังนำหม่อมฉันสองพี่น้องไป ข้าแต่เทพเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ขอเหล่าท่านจงทูลแด่พระมารดาของข้าพเจ้าสองพี่น้อง ผู้มีพระนามว่าพระแม่มัทรี ว่า ถ้าพระมารดาทรงใคร่จะติดตามลูกทั้งสอง จงเสด็จติดตามมาโดยพลัน ทางนี้เป็นทางเดินได้เฉพาะคนเดียว มาตรงไปสู่อาศรม พระแม่เจ้าจงเสด็จตามมาทางนั้น จะได้ทอดพระเนตร เห็นลูกทั้งสองทันท่วงที. โอ ข้าแต่พระแม่ชฏินีผู้ทรงนำมูลผลาผล มาแต่ไพร ความระทมทุกข์จักมีแด่พระแม่เจ้า เพราะทอดพระเนตร เห็นอาศรมนั้นว่างเปล่า มูลผลาผลที่พระแม่เจ้าได้มา ด้วยทรงเสาะหาจนล่วงเวลา คงไม่น้อย พระแม่เจ้าคงไม่ทรงทราบว่า ลูกทั้งสองถูกพราหมณ์ผู้แสวงทรัพย์ ผู้ร้ายกาจเหลือเกิน ผูกไว้ แกตีลูกทั้งสอง เหมือนเขาตีฝูงโค.
เออ ก็ลูกทั้งสองได้ประสบพระแม่เจ้าผู้เสด็จมา แต่ที่ทรงเสาะหามูลผลาผล ณ เย็นวันนี้ พระแม่เจ้าคงประทานผลไม้กับทั้งรวงผึ้งแก่พราหมณ์ พราหมณ์นี้ได้กินอิ่มแล้ว คงไม่ยังลูกทั้งสองให้รีบเดินไป เท้าของลูกทั้งสองบวมพองแล้ว พราหมณ์ก็ยังรีบเดินไป พระชาลีและพระกัณหาปรารถนาจะพบพระมัทรีผู้พระมารดา ก็ทรงพิลาปรำพันในสถานที่นั้น ด้วยประการฉะนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาทุกา ได้แก่ เท้าน้อยๆ. บทว่า โอกนทามหเส ได้แก่ คร่ำครวญ. ข้าพเจ้าสองพี่น้องขอแสดงความนับถือ คือความประพฤตินอบน้อมให้ทราบ. บทว่า สรสส ความว่า ขอกราบไหว้เหล่าเทวดาผู้รักษาสระปทุมนี้ ด้วยเศียรเกล้า. บทว่า สุปติตเถ จ อาปเก ความว่า ขอกราบไหว้แม้เทวดาที่สิงสถิต อยู่ในแม่น้ำซึ่งมีท่าอันดี. บทว่า ติณา ลตา ได้แก่ ติณชาติและลดาชาติที่ห้อยย้อยลง. บทว่า โอสโธฺย ได้แก่ พฤกษชาติที่เป็นโอสถ พระกัณหาชินากุมารีตรัสอย่างนี้ ทรงหมายถึง เหล่าเทวดาที่สิงสถิตอยู่ในที่ทั้งปวง.
บทว่า อนุปติตุกามา ความว่า แม้ถ้าพระแม่เจ้านั้นมีพระประสงค์จะเสด็จมาตาม รอยเท้าของลูกทั้งสอง. บทว่า อปิ ปสเสสิ โน ลหุํ ความว่า ถ้าพระแม่เจ้าเสด็จตามมาทางที่เดินได้ เฉพาะคนเดียวนั้น ก็จะได้พบลูกน้อยทั้งสองของพระองค์ทันท่วงที. ฉะนั้น พระกัณหากุมารีจึงตรัสอย่างนี้ พระกัณหากุมารีตรัสเรียกพระแม่เจ้า ด้วยการเรียกลับหลังว่า ชฏินี. บทว่า อติเวลํ ได้แก่ ทำให้เกินประมาณ. บทว่า อุญฺฉา ได้แก่ มูลผลในป่า ที่ได้มาด้วยการเที่ยวเสาะหา. บทว่า ขุทเทน มิสสกํ ได้แก่ ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย. บทว่า อาสิโต ได้แก่ ได้กิน คือบริโภคผลไม้แล้ว. บทว่า ฉาโต ได้แก่ มีความพอใจแล้ว. บทว่า น พาฬหํ ตรเยยย ความว่า ไม่พึงนำไปด้วยความเร็วจัด. บทว่า มาตุคิทธิโน ความว่า พระชาลีและพระกัณหาชินาประกอบด้วยความรักในพระมารดา มีความเสน่หาเป็นกำลัง จึงได้พร่ำรำพันอย่างนี้

จบกุมารบรรพ

.. อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280893อรรถกถาชาดก 281045
เล่มที่ 28 ข้อ 1045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=6511&Z=8340
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]